Wednesday 8 December 2010

Breakfast In America...again


“Englishmen in Hollywood


Supertramp : Breakfast In America (deluxe edition) *****

Original released: March 1979

Deluxe Edition released: October 2010

Genre: Pop, Progressive Rock

Producer: Peter Henderson, Supertramp

Supertramp เป็นวงดนตรีที่มีอิทธิพลต่อการฟังดนตรีของผมมากมาย พวกเขาแตกต่างจากร็อคกรุ๊ปอื่นๆในยุค 70’s จนไม่รู้จะจัดหมวดหมู่ไปรวมกับใครได้ ภาพลักษณ์ที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็น nerd และ hippie ไปด้วยกันได้ดีกับดนตรีที่ซ่อนความซับซ้อนไว้ในท่วงทำนองที่แสนจะติดหู นักร้องนำสองคนที่เสียงต่างกันราวฟ้าดินและหลายครั้งที่มักจะร้องประชันกัน Supertramp ทำเพลงที่ไม่เน้นกีต้าร์มากเท่าคีย์บอร์ดและเปียโน และพวกเขายังเป็นวงร็อคไม่กี่วงที่นำเสนอเครื่องเป่าอย่างแซ็กโซโฟนและคลาริเน็ต

Deluxe Edition ของ Breakfast In America เป็นโอกาสอันดีงามที่ผมจะได้กลับมาสัมผัส masterpiece ชิ้นนี้อีกครั้ง โครงการ deluxe edition ของ Universal music group นั้นมีมาหลายปีแล้ว และมีอัลบั้มที่ออกในรูปแบบนี้มามากกว่า 100 ชุด ส่วนใหญ่จะเป็นอัลบั้มที่มีความสำคัญระดับหนึ่ง ทุกชุดจะออกเป็นอย่างน้อย 2 ซีดี หรืออาจจะมีดีวีดีด้วย โดยจะมีอัลบั้มดั้งเดิมที่ผ่านการรีมาสเตอร์ล่าสุดควบไปกับแผ่นแถม ที่อาจจะเป็น demo, outtakes หรือบันทึกการแสดงสดที่อัดไว้ในยุคที่วงออกอัลบั้มนั้นๆ และไม่ใช่ว่า deluxe edition ทุกชุดจะได้รับคำชื่นชมเสมอไป บางชุดก็โดนแฟนๆสาดเสียเทเสียทั้งในเรื่องของเพลงแถมที่ไม่เข้าท่า หรือคุณภาพเสียงที่รีมาสเตอร์ออกมาได้ห่วยกว่าเดิม

น่าเสียดายที่แผ่นแถมของ Breakfast ไม่ได้มีเพลงแปลกๆอะไรเลย แต่เป็นการรวมบันทึกการแสดงสดในช่วงปี 1979 จากการแสดงที่ Wembley, Miami และ Paris (ไม่ซ้ำกับในอัลบั้ม Paris) เท่านั้น เพลงส่วนใหญ่ก็มาจาก Breakfast….ครึ่งต่อครึ่ง อย่างไรก็ตามมันก็เป็นแผ่นการแสดงสด12เพลงที่ตัดต่อออกมาได้น่าฟัง คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี และ Supertramp ก็เล่นได้เยี่ยมในแบบฉบับของพวกเขา ตัว original album ผ่านการรีมาสเตอร์ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2010 นี้เองโดย Greg Calbi และฟังด้วยหูธรรมดาๆของผมก็รู้สึกว่ามันคมชัดกระจ่างใสถึงรายละเอียด,โทนเสียงอบอุ่นนิ่มนวลและมีความเป็นดนตรีน่าฟังตลอดแผ่นครับ ปกอัลบั้มเป็น gatefold เปิดได้สี่ท่อน เต็มไปด้วยภาพหายากจากยุคนั้นมากมาย และ booklet ที่มี article ยาวเหยียดจากฝีมือการเขียนของบ.ก.นิตยสาร MOJO, Phil Alexander

Breakfast In America คืออัลบั้มชุดที่ 6 ของวงร็อคจากอังกฤษวงนี้ สามอัลบั้มก่อนหน้านี้คือ Crime of the Century, Crisis?, What Crisis? และ Even In The Quietest Moments สร้างชื่อให้พวกเขาในหลายประเทศในฐานะวงร็อคที่เล่นเพลงโปรเกรสซีพป๊อบในแนวทางของตัวเอง และบทเพลงที่มีเนื้อหาทางปรัชญาและจิตวิญญาณ แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่าพวกเขาจะมีอัลบั้มที่เต็มไปด้วยซิงเกิ้ลฮิตและขายดีระเบิดอย่าง Breakfast.. ออกมา พวกเขาย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในอเมริกาในช่วงบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ ประจวบเหมาะเข้ากับเพลงและชื่ออัลบั้มที่ Hodgson แต่งไว้ตั้งแต่อายุ 17 ด้วยความคิดแบบวัยรุ่นอังกฤษที่คิดว่าถ้าได้ไปอยู่อเมริกาแล้วจะหาสาวๆได้ง่าย ชื่อ Breakfast In America ถูกนำมาใช้แทนสองชื่อที่เคยเป็นชื่อชั่วคราวก่อนของอัลบั้มนี้อย่าง Working Title และ Hello Stranger และมันก็เป็นชื่อที่ชี้นำแนวทางของดนตรีในอัลบั้มไปโดยปริยาย นัยหนึ่งมันคือซาวนด์แทร็คของมุมมองคนนอกต่ออเมริกาในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพลวงตาของเมืองมายาในแทร็คเปิดอัลบั้ม Gone Hollywood ชีวิตรักข้ามคืนของร็อคสตาร์กับเหล่ากรุ๊ปปี้สาวๆที่เขียนไว้ได้อย่างเจ็บปวดใน Goodbye Stranger ความกดดันทางจิตใจและความสัมพันธ์ในวงเองที่ริคเขียนไว้ใน Just Another Nervous Wreck และ Casual Conversations

แต่เพลงที่เป็นพระเอกจริงๆของอัลบั้มล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของ Hodgson โดยเฉพาะ The Logical Song ที่เป็นเหมือน Stairway To Heaven ของ Supertramp มันเป็นเพลงตั้งคำถามต่อชีวิตที่อาจจะไพเราะและมีสีสันทางดนตรีที่สุดที่เคยมีมา รวมไปถึงท่อนแซ็กโซโฟนโซโลอมตะของ John Helliwell ที่มีการเปิดเผยเคล็ดลับกันว่าอัดเสียงกันในห้องน้ำ! เพลงดังอีกเพลง-Take The Long Way Home นั้นเหมือนจะเขียนขึ้นมาจากชีวิตที่แปลกแยกในแอลเอของพวกเขา ยังมีบัลลาดที่โชว์เสียงของ Hodgson เน้นๆอย่าง Lord Is It Mine แต่เพลงปิดท้าย Child of Vision กลับหนักหน่วงซับซ้อนยาวเฟื้อยเป็นที่ถูกใจแฟนเพลงที่ค่อนข้างชอบแนวทาง Progressive ของวงมากกว่าป๊อบ

ถ้าคุณเป็นแฟนวงนี้มาก่อนและเคยมีอัลบั้มนี้อยู่แล้ว แพ็กเกจที่สวยงาม,ราคาที่น่าคบหา,แผ่นแสดงสดและคุณภาพในการรีมาสเตอร์ครั้งนี้คงทำให้ตัดสินใจเสียเงินอีกครั้งได้ไม่ยาก และสำหรับผู้คิดจะเริ่มต้นเดินทางไปกับ Supertramp นี่ถือเป็นประตูทางเข้าที่ดีครับ ข่าวว่าปีหน้าอาจจะมี deluxe edition ของอัลบั้ม Crime of the Century ออกมากันอีก ถ้างานออกมาดีอย่างนี้ก็น่าเสียเงินให้กันอีกครับ

Track listing

"Gone Hollywood" – 5:20

"The Logical Song" – 4:10

"Goodbye Stranger" – 5:50

"Breakfast in America" – 2:38

"Oh Darling" – 3:58

"Take the Long Way Home" – 5:08

"Lord Is It Mine" – 4:09

"Just Another Nervous Wreck" – 4:26

"Casual Conversations" – 2:58

"Child of Vision" – 7:25

-------------

Deluxe Edition Disc 2

"The Logical Song" (Live At Pavillon de Paris) - 4:06

"Goodbye Stranger" (Live At Pavillon de Paris) - 6:11

"Breakfast In America" (Live At Wembley) - 3:05

"Oh Darling" (Live In Miami) - 4:21

"Take The Long Way Home" (Live At Wembley) - 4:48

"Another Man's Woman" (Live At Pavillon de Paris) - 7:32

"Even In The Quietest Moments" (Live At Pavillon de Paris) - 5:36

"Rudy" (Live At Wembley) - 7:29

"Downstream" (Live At Pavillon de Paris) - 3:28

"Give A Little Bit" (Live At Pavillon de Paris) - 4:03

"From Now On" (Live At Wembley) - 6:53

"Child Of Vision" (Live At Pavillon de Paris) - 7:32

Tuesday 7 December 2010

"I heard a Rumer"




Rumer-Seasons of My Soul ****
Released: November 2010
Genre: Vocal Pop
Producer: Steve Brown

การนำเสนอชื่อศิลปินด้วยคำๆเดียวไม่มีนามสกุลของนักร้องหญิงนั้นมีมาตั้งแต่สมัย Lulu จนกระทั่งถึงยุคของ Adele และ Duffy มันอาจจะเป็นเหตุผลทางการตลาดเป็นหลัก แต่สำหรับ Sarah Joyce ที่นำชื่อนี้มาจากนักเขียน Margaret Rumer Gordon เจ้าของงานเขียน Black Narcissus (1939) หนังสือเล่มโปรดของคุณแม่ของเธอผู้ล่วงลับไปในปี 2003 เธอเลือกชื่อนี้เพราะเธอรู้สึกว่าชื่อนี้สื่อสารกับเธอได้ และมันเหมือนกับคุณแม่ได้เลือกชื่อใหม่นี้ให้เธอสำหรับช่วงชีวิตใหม่ของผู้หญิงลูกครึ่งอังกฤษ-ปากีสถานวัย31ปีคนนี้ที่ต้องยืนหยัดโดยไม่มีแม่อีกต่อไป

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ยาวไกลกว่าจะมาเป็น Seasons Of My Soul ช่างเป็นอะไรที่กลับตาลปัตรกับการ “เกิด” ของศิลปินข้ามคืนจาก reality show มากมายในทุกวันนี้ (ไม่เว้นแม้แต่ Susan Boyle) Rumer เคยบันทึกเสียงในห้องอัดมาก่อนแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อนในนามของผู้นำวงอินดี้ La Honda และในปี 2005 เธอก็ได้ทำงานร่วมกับ Carly Simon และลูกชายของเธอ Ben Taylor ในอัลบั้ม Another Run Around The Sun แต่แน่นอนว่าแทบไม่มีใครจำอะไรเธอได้ Rumer หายต๋อมไปจากวงการ เธอกลับไปทำงานเลี้ยงชีพในหลายรูปแบบมากมายทั้งสอนหนังสือ,ขายโฆษณา หรือกระทั่งซ่อม iPod แต่ความฝันในการมีเพลงของตัวเอง ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงยังอยู่ในหัวใจเสมอ

Seasons Of My Soul ชื่อนี้ได้มาจากการทำงานอันยาวนานของ Rumer ในอัลบั้มชุดนี้ จนความรู้สึกต่างๆหมุนวนกลับมาซ้ำรอยเดิมเหมือนฤดูกาล....ฤดูแห่งวิญญาณและอารมณ์ เมื่อถูกถามให้บรรยายอัลบั้มนี้ด้วยประโยคสั้นๆ เธอบอกว่ามันคือ “อัลบั้มของนักร้อง-นักแต่งเพลงที่มีอารมณ์ของโซล/แจ๊ซ มันน่าฟังในแบบเดียวกับงานของ Norah Jones และ Diana Krall คุณอาจจะเปิดมันเป็น background music หรือจะชิลเอาท์กับมันแบบแจ๊ซๆก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นแฟนเพลงของศิลปินในแบบ singer-songwriter ดิฉันเชื่อว่าคุณจะเข้าถึงมันได้อย่างลึกซึ้งทั้งทางด้านเนื้อหาและอารมณ์” ให้ตายสิ นี่ช่างเป็นการรีวิวอัลบั้มตัวเองที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินมาจนเราแทบจะไม่ต้องเขียนอะไรต่อ

มันคืออัลบั้มที่หลุดพ้นจากกระแสนิยมและห้วงเวลาปัจจุบันโดยสิ้นเชิง นี่คือดนตรีที่นุ่มนวลเรียบง่ายละเมียดละไมอ่อนหวานในแบบที่ Burt Bacharach เคยทำไว้ในงานของ Dionne Warwick ในแบบที่ Richard Carpenter เคยเรียบเรียงให้น้องสาวเขาขับร้อง ในแบบที่ Carole King เคยนั่งลงประพันธ์กับสามีของเธอ Gerry Goffin แต่นี่ไม่ใช่งาน cover ไม่นับ Goodbye Girl ทุกเพลงเป็นงานประพันธ์ของเธอ นี่ไม่ใช่งานดนตรีแหวกแนวสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆให้วงการ แต่เป็นการกลับไปทำดนตรีเก่าๆด้วยเพลงใหม่ๆอีกครั้ง... ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ Burt Bacharach นักแต่งเพลง-โปรดิวเซอร์ระดับตำนานวัย82ปีจะประทับใจกับเพลงและเสียงร้องของเธอทันทีที่เขาได้ยินซิงเกิ้ลแรก Slow ถึงขั้นติดต่อให้เธอไปร้องเพลงให้ฟังสดๆที่บ้าน เพราะอะไรหลายๆอย่างใน Seasons Of My Soul เต็มไปด้วยลายเซ็นของ Burt ไม่ว่าจะเป็นเมโลดี้ การใช้เสียงประสาน และเครื่องเป่าอย่าง Flugelhorn ที่เป็นเอกลักษณ์ในเพลงคลาสสิกหลายๆเพลงของ Burt (แน่นอนว่ารวมทั้งเสียงเครื่องสายอบอุ่น,เครื่องเคาะจังหวะกรุ๋งกริ๋งและเสียง B4 ออร์แกนที่แสนจะโบราณคร่ำครึแต่ก็แสนจะไพเราะ) แหล่งข่าวแจ้งว่าเชื่อว่าเราคงจะได้เห็นการร่วมงานของ Burt กับ Rumer ในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามผลงานดนตรีอันสวยสดในชุดนี้ก็ต้องยกเครดิตให้โปรดิวเซอร์ Steve Brown ผู้ที่ถือว่าเป็นผู้ “ค้นพบ”เธอด้วยโดยบังเอิญในการแสดงที่คลับแห่งหนึ่งในลอนดอน เขาเป็นผู้เติมความเป็นแจ๊ซในหัวใจที่เต็มไปด้วย Soul ของ Rumer จนเป็นการพบกันครึ่งทางที่ลงตัวสมบูรณ์ยิ่งในอัลบั้มที่ใช้เวลาทำงานถึงสองปีครึ่งนี้

หลายคนพยายามเปรียบเทียบเสียงของ Rumer กับ Karen Carpenter แต่ผมคิดว่าที่เหมือนจริงๆคือ ดนตรีที่ใกล้เคียงกับของ Carpenters และการ phrasing ของ Rumer มากกว่าน้ำเสียงจริงๆ เสียงของ Karen จะใสและลึกกว่า ทุกตัวโน้ตจะแฝงด้วยอารมณ์ผ่องใส ส่วนเสียงของ Rumer นั้นเบาบางหวานพริ้ว และสิ่งที่ได้ยินทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเธอมีความเศร้าโศกลึกๆอยู่ในใจตลอดเวลาที่เธอเปล่งคำร้องเหล่านั้น

Slow ทำให้คู่รักที่แต่งงานกันมาเป็นสิบปีลุกขึ้นมาสโลว์ซบกันอีกครั้ง Aretha ทำให้คุณคิดถึงยามเช้าที่คุณอยากตื่นมานั่งฟังเพลงอยู่คนเดียวในห้องมากกว่าจะไปโรงเรียนที่ไม่มีใครเข้าใจคุณซักคนนอกจากเสียงร้องของนักร้องคนโปรดที่ร้องอยู่ในเฮดโฟน Am I Forgiven จะทำให้คุณหัวเราะในความไร้ฟอร์มของคุณ แต่คุณก็จะทำมันอีกครั้งเพื่อคนที่คุณรัก Rumer เป็นนักร้องรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่ทำให้คุณรู้สึกว่า ที่เธอร้องอยู่นั้น เธอกำลังสบตาคุณอยู่ เธอร้องให้คุณฟัง และสำหรับแฟนเพลงสาวๆ Goodbye Girl คือการกล่าวสวัสดีของพี่สาวหรือคุณแม่ที่สัญญาว่าจะกลับมาร้องเพลงให้ฟังอีกเร็วๆนี้ “Goodbye doesn’t mean forever.” (แต่ผมก็ยังชอบที่ David Gates ร้องมากกว่านะ)

แต่ถ้า Rumer จะไม่มีอัลบั้มใดๆต่อจาก Seasons Of My Soul อีกแล้ว นี่ก็จะยังเป็นงานคลาสสิกงานหนึ่งของวงการดนตรีและโลกก็จะไม่ลืมเธออีกหลังจากได้ยินเธอแล้วอย่างชุ่มชื่นเต็มหัวใจและวิญญาณในครั้งนี้ สำหรับหลายๆคนนี่คือบทเพลงแห่งฤดูกาลสุดท้ายที่เขาหรือเธอจะจดจำตลอดไปสำหรับปี 2010

Tracklist:

1.
"Am I Forgiven?"
3:28
2.
"Come to Me High"
2:49
3.
"
Slow"
3:32
4.
"Take Me As I Am"
3:45
5.
"
Aretha"
3:15
6.
"Saving Grace"
3:20
7.
"Thankful"
3:36
8.
"Healer"
3:14
9.
"Blackbird"
3:55
10.
"On My Way Home"
4:29
11.
"Goodbye Girl"

Friday 5 November 2010

John Lennon & Yoko Ono- Double Fantasy Stripped Down (2010) ***





Producer-Jack Douglas & Yoko Ono, (Stripped Down), John Lennon, Yoko Ono and Jack Douglas (Original 1980 mix)

Genre-Pop Rock

Released-October 2010

นักข่าวถามโยโกะ โอโนะเมื่อเร็วๆนี้ว่าเธอคิดว่าถ้าจอห์นทราบเขาจะคิดยังไงกับสถานะความเป็นไอคอนขั้นเทพของเขาในทุกวันนี้ เธอตอบว่าจอห์นนั้นเป็นไอคอนมาตั้งแต่สมัยบีทเทิลส์แล้ว เขาคงไม่ตื่นเต้นอะไรหรอก

แต่สิ่งที่จอห์นอาจจะตื่นเต้นในวันเกิด 70 ขวบนี้อาจจะเป็นโครงการฉลองที่ภรรยาของเขาจัดให้ที่มีการรีอิชชูงานทั้งหมดของเขาสารพัดรูปแบบ ทั้งรวมฮิตแผ่นเดียว บ๊อกซ์ 4 แผ่น บอกซ์ครบชุดทุกแผ่น (ในแบบ original mix) แต่เกือบทั้งหมดเป็นงานที่เคยออกมาก่อนแล้ว เว้นแต่แผ่น Home Tapes ใน Signature Box ซึ่งรวม demo versions ที่น่าสนใจไว้หลายเพลง และก็แผ่นที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ Double Fantasy Stripped Down ที่ขายแยกออกมาไม่อยู่ในกล่องใดๆ

Double Fantasy Stripped Down หน้าปกเป็นภาพวาดลายเส้นฝีมือของ Sean Lennon บรรจุซีดีสองแผ่น แผ่นแรกเป็น Stripped Down Mix แผ่นที่สองเป็น Original 1980 mix, remastered เมืองนอกขายราคาแผ่นเดียว แต่บ้านเราไม่ใช่นะ

ไอเดียของ Stripped Down คือ เวอร์ชั่นดั้งเดิมในปี 1980 นั้นเต็มไปด้วยเสียงแต่งแต้มที่มากเกินไป ทั้งเสียงร้องประสานและเครื่องดนตรีที่มากชิ้น รวมทั้งการใช้เอ็คโค่กับเสียงร้องของจอห์น สิ่งที่โยโกะและแจ็คทำใน Stripped Down นี้ก็คือการมิกซ์ทุกแทร็คใหม่ ตัดเสียงที่คิดว่ามันเป็นส่วนเกินออก เร่งเสียงจอห์นให้ดังขึ้น เธอไม่เห็นด้วยกับจอห์นที่ไม่มั่นใจในเสียงร้องของตัวเองและมักจะพยายามหมกเสียงตัวเขาด้วยวิธีการต่างๆนาๆ และโยโกะก็ยังคิดว่าโปรดักชั่นในยุค 80 มันล้าสมัยไปเสียแล้ว การ Stripped Down จะทำให้ได้ซาวนด์ที่ทันสมัยและร่วมสมัยมากกว่า

แน่ล่ะ แนวคิดอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดการถกเถียงตามมามากมายถึงความเหมาะสม แต่โยโกะก็ตัดปัญหาด้วยการใส่ original album มาด้วย ทำนองว่าอย่างไรเสียฉันก็ยังไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับของเดิมนะ ถ้าเธออยากฟังแบบเดิมๆก็ยังมีขายมีให้ฟังกันอยู่ แผ่น Stripped Down จึงเหมือนแถมมาให้ฟังกันเล่นๆ

Double Fantasy เป็นงาน ‘come back’ ของจอห์นหลังจากห่างหายจากวงการไปเลี้ยงลูกและทำหน้าที่ ‘househusband’ เสีย 5 ปี เขาแต่งเพลงใหม่อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน มันเป็นอัลบั้มที่เป็นเฟสใหม่ของชีวิต ที่เขาสื่อสารกับคนยุค 60’sที่กำลังก้าวข้ามสู่ 80’s มาด้วยกันกับเขา เพลงทุกเพลงในอัลบั้มเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาและครอบครัว เขาตั้งใจจะให้มันเป็นกึ่งๆบทสนทนาระหว่างเขากับโยโกะ มีเรื่องเล่าว่าหลังจากบันทึกเสียงเสร็จ จอห์นกับแจ็ค ดักลาสโปรดิวเซอร์ก็ช่วยกันเรียงเพลงเสร็จเรียบร้อย โดยมีเพลงของจอห์นทั้งหมดอยู่หน้าเอ และที่เหลือหน้าบีเป็นเพลงของโยโกะ แต่เมื่อภรรยาคนเก่งของจอห์นทราบเรื่องเธอถึงกับเม้งแตกเหวี่ยงกระจายสั่งให้เรียงเพลงใหม่เป็นสลับกันเพลงต่อเพลงทันที ใครๆก็รู้แม้แต่เธอเองว่าถ้าวางคนละหน้าอย่างนั้น ไวนีลด้านบีของ Double Fantasy คงแทบไม่ได้สัมผัสเข็ม

เรียนตรงๆว่ามันก็เลยเป็นอัลบั้มที่ฟังกันด้วยความกระอักกระอ่วน เพราะเพลงของจอห์นในชุดนี้ไพเราะน่าฟังแทบทุกแทร็ค แต่คุณต้องผ่านด่านเพลงคั่นของโยโกะไปก่อนทุกเพลงเหมือนกัน มหกรรมการยกเข็มและกรอเทปตลอดจนการอัดเทปใหม่ไปเลยจึงเริ่มต้นขึ้น แซวกันอีกว่ายุคซีดีมาถึงทำให้การฟัง Double Fantasy ง่ายขึ้นเยอะ

เมื่อทราบว่าการ ‘stripped down’ นี้จะมีการยกระดับเสียงร้องให้ฟังชัดเจนยิ่งขึ้นในแบบราวกับร้องให้ฟังสดๆต่อหน้า หลายคนเริ่มผวา ว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเพลงอย่าง Kiss Kiss Kiss หรือ Give Me Something ของโยโกะ เพราะเวอร์ชั่นดั้งเดิมก็หลบกระสุนเสียงร้องเธอกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าจะมีการยกให้เด่นดังกว่าเดิมอีกจะเป็นอย่างไรนั่น

แต่โชคดีที่โยโกะมีคุณธรรมเพียงพอที่จะไม่ทำร้ายจิตใจคนฟังอย่างนั้น เธอไม่ได้เน้นเสียงร้องของเธอเหมือนกับที่ทำกับจอห์น และเสียงที่ทำร้ายจิตใจมากๆในหลายๆเพลงเหมือนเธอจะตั้งใจมิกซ์ให้เบาลงและรีบๆเฟดหายไป ทั้งหมดทำให้การฟังเพลงของโยโกะใน Double Fantasy ฉบับปลดเปลื้องนี้สบายหูกว่าเดิมมากเลยครับ

แต่ประเด็นสำคัญก็คงอยู่ที่เพลงของจอห์น เสียงร้องของจอห์นชัดแจ๋วและเดียวดายโดดเด่นอย่างที่แทบไม่เคยได้ยินแบบนี้มาก่อนในทุกๆแทร็ค หลายๆเพลงฟังแล้วเหมือนเป็นเดโมหรืองานที่ยังทำไม่เสร็จเนื่องจากสมองเราอดไม่ได้ที่จะนำมันไปเปรียบเทียบกับ final version เดิมที่เราฟังมาสามสิบปี มันเป็นงานที่น่าฟัง การได้ฟังเสียงจอห์นชัดๆแบบนี้เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยม แต่แทบไม่มีเพลงไหนที่ผมคิดว่าภาพรวมมันจะดีไปกว่าเวอร์ชั่นเดิมชนิดที่ว่าแทนกันได้ อาจจะเว้นก็แต่ Cleanup Time ที่ฟังกี้ได้สุดมันส์ในเวอร์ชั่นใหม่นี้จนทำให้ของเก่าน่าเบื่อไปเลย จอห์นร้องได้อร่อยพอๆกับเบสดีดดิ้นของ Tony Levin

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Stripped Down คือบทสนทนา หรือการพูดก่อนเข้าเพลง รวมทั้งท่อนเฟดที่ยาวกว่าเดิม ที่มีให้ได้ยินพอสมควร ให้บรรยากาศเหมือนเราเข้าไปฟังพวกเขาบันทึกเสียงกันจริงๆ

(Just Like) Starting Over เปิดด้วยเสียงจอห์น “This one for Gene, and Eddy and Elvis….and Buddy” แต่เสียง wishing bell หายไป เสียงประสานดูวับถูกตัดออกไป ทำให้เอ็ฟเฟ็คในช่วงที่จอห์นร้องเดี่ยว “Why don’t we take off alone” ไม่ได้อารมณ์เท่าเดิม ตอนท้ายเพลงให้ฟังกันยาวเหยียดกว่าเดิม I’m Losing You ร็อคกว่าเดิมแต่ไม่เท่าเวอร์ชั่นที่ Cheap Trick back up (หาฟังได้ใน Lennon Anthology) ส่วน Woman และ Watching The Wheels ชัดแจ่มแต่โหวงเหวงเหมือนซ้อมกันสนุกๆ มันเป็นเพลงที่ต้องการการแต่งเติมมากกว่านี้ Beautiful Boy (Darling Boy) กับ Dear Yoko ดูจะไม่แตกต่างมากนัก เว้นแต่ท่อนท้ายของเพลงหลังที่จอห์น แร็ป ให้ฟังกันฮาๆ

จินตนาการว่าท่านได้เป็นแขกรับเชิญเข้าไปรับฟังจอห์น เลนนอน บันทึกเสียงที่ The Hit Factory ในวันใดวันหนึ่งก่อนที่จะถึงขั้นตอนสุดท้าย น่าจะเป็นไอเดียที่ดีในการฟัง Stripped Down ครับ สัมผัสได้ถึงความสุขและความกระตือรือร้นในการกลับมาทำงานดนตรีอีกครั้งของเลนนอน ในเพลง Cleanup Time เขาถึงกับร้องในตอนท้ายเพลงว่า คริสต์มาสใกล้เข้ามาอีกครั้งแล้ว แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่า คริสต์มาสสุดท้ายของเขาคือปี 1979

· 1. Just Like Starting Over

· 2. Kiss Kiss Kiss

· 3. Cleanup Time

· 4. Give Me Something

· 5. I'm Losing You

· 6. I'm Moving On

· 7. Beautiful Boy (Darling Boy)

· 8. Watching The Wheels

· 9. Yes I'm Your Angel

· 10. Woman

· 11. Beautiful Boys

· 12. Dear Yoko

· 13. Every Man Has A Woman Who Loves Him

· 14. Hard Times Are Over

Robert Plant - Band of Joy ****



Released -September 2010

Genre -Folk Rock, Blues, Bluegrass

Producer -Robert Plant, Buddy Miller

ขอคารวะหัวใจศิลปินของผู้ชายผู้มีนามเต็มๆว่า Robert Anthony Plant การตัดสินใจบนเส้นทางดนตรีของเขาช่างเด็ดเดี่ยวและไม่อ้างอิงถึงเงินตราหรือชื่อเสียงที่แสนจะยั่วยวน ปัจจัยเดียวที่แพลนต์ดูจะแคร์ก็คือ ก้าวต่อไปของเขา มันตื่นเต้นและทำให้เขารู้สึกถึงการผจญภัยเพียงพอหรือไม่ ดั่งเพลงหนึ่งในอัลบั้มใหม่นี้ที่อาจจะมีความหมายเป็นนัยๆถึงแนวทางของเขา “You Can’t Buy Me Love”

ในวัย 62 ปีและการทำงานในฐานะศิลปินเดี่ยวมาตั้งแต่ปี 1980 แต่สร้อยต่อท้ายชื่อเขาที่ยังไม่อาจสลัดออกไปได้เวลาคนเรียกขานนามก็คือ อดีตนักร้อง Led Zeppelin ผู้ยิ่งใหญ่ แพลนต์กลับมาร่วมงานดนตรีกับ จิมมี่ เพจ และ จอห์น พอล โจนส์ บวกกับ เจสัน บอแนม ลูกชายของ จอห์น บอแนม ผู้ล่วงลับ ในการแสดงครั้งเดียวที่ O2 ในลอนดอนเมื่อปลายปี 2007 เพื่ออุทิศให้ Ahmet Erthegun ผู้เคยเซ็นสัญญาพวกเขาเข้าสู่สังกัด Atlantic มันเป็นการ reunion ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งร็อค และทุกคนดูจะหวังว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาทำเพลงร่วมกันอีกครั้งของ Led Zeppelin รวมทั้งการออกตระเวณแสดงที่มีแฟนนับล้านคอยเฝ้าชมทั่วโลก แต่แพลนต์เป็นคนเดียวที่ไม่แยแสจะทำอะไรในนาม Zep ต่อ เขามองว่ามันเป็นการแสดงครั้งเดียวจบที่มีช่วงเวลาอันน่าประทับใจและไม่มีประโยชน์อะไรที่เขาจะทำในสิ่งที่เขาทำมาแล้วอีกครั้ง ไม่ว่าเพจและโจนส์จะพยายามอ้อนวอนแค่ใดหรือแม้แต่ใช้ลูกขู่ว่าจะหานักร้องคนอื่นมาแทนก็ตามที!

โรเบิร์ต แพลนต์อาจจะมีเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่เขากล่าวมา สังขารก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง การร้องเพลงที่ต้องใช้พลังระดับ Zep ในค่ำคืนเดียว มันคนละเรื่องกับการออกทัวร์และต้องตะเบ็งร้องแบบนั้นทุกคืน เป็นเดือนๆ มัน เป็นอะไรที่นักร้องต้องแบกรับมากกว่ามือกีต้าร์และมือเบสอย่างแน่นอน แพลนต์ตัดสินใจถูกต้องที่เลือกจะร้องเพลงในแนวทางที่เหมาะสมกับวัยตัวเอง ไม่ต้องการพลังและเสียงที่สูงปรี้ด แต่เน้นลีลาในการถ่ายทอดอารมณ์บทเพลง อัลบั้ม Raising Sands ที่เป็นผลงานของเขาคู่กับ Alison Krauss กลายเป็นผลงานสำคัญแห่งชีวิตของทั้งสองศิลปิน เสียงร้องของหนุ่มสาวต่างวัยคู่นี้โอบอุ้มกันไปอย่างงดงามในบทเพลงคันทรี่-บลูส์-รู๊ท ที่โปรดิวซ์โดยมือทองของ ที-โบน เบอร์เน็ตต์ มันเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายของทุกคนโดยสิ้นเชิง ทั้งเงินและกล่อง

แต่แพลนต์ก็ยังไม่คิดจะทำภาคต่อของ Raising Sands หรือแม้แต่กลับไปทำงานกับ The Strange Sensation ที่เคยทำงาน Mighty Rearranger กันออกมาได้ดีมากๆ เขากลับเลือกที่จะย้อนกลับไปสู่ยุคแรกของการทำงานของเขากับจอห์น บอแน่ม สมัยที่ยังไม่มีใครรู้จักคำว่า Led Zeppelin นั่นคือการกลับไปรื้อฟื้นวง ‘Band of Joy’ ขึ้นมาอีกครั้ง แต่มันก็คงเป็นในนามเท่านั้น เพราะสมาชิกของ Band of Joy ยุค 2010 นี้มีเพียงคนเดียวที่เป็น original member ก็คือตัวแพลนต์เอง แพลนต์ได้ บัดดี้ มิลเลอร์ มาเล่นกีต้าร์และช่วยโปรดิวซ์ร่วม เขามีส่วนสำคัญในสุ้มเสียงของอัลบั้มนี้ทีเดียว อีกคนที่หลายคนคงรู้จักคือ แพ๊ตตี กริฟฟิน ที่มาฝากเสียงสวยๆของเธอไว้หลายเพลง ทำให้คิดถึงเสียงของอลิสันเหมือนกัน เพียงแต่แพ๊ตตี้ไม่ได้ร้องประกบกับแพลนต์เหมือนอลิสันใน Raising Sands เพียงแต่เป็นการประสานเสียงหวานๆบางเบาเท่านั้น

Band of Joy เป็นการต่อยอดของแนวทางของ Raising Sands ที่กว้างขวางและเข้มข้นกว่าเดิม มันอาจจะไม่มีเสน่ห์เคลิบเคลิ้มเหมือนอัลบั้มหนุ่มสาวชุดนั้น แต่เซนส์ของการผจญภัยไปในดินแดนดนตรีอันสาบสูญของ Band of Joy นั้นเป็นประสบการณ์ดนตรีที่ท่านไม่ควรจะพลาดจริงๆ หลายเพลงพาคุณหลุดเข้าไปในยุคต้นๆของการก่อตัวของเพลงบลูส์ , บางอารมณ์กระเจิงไปกับอารมณ์รักบริสุทธิ์ของบทเพลงในยุค 50’s แต่บางจังหวะคุณเริ่มเอะใจว่าแพลนต์หักมุมพาคุณหลบหนีพุ่งทะยานสู่อนาคต หรืออย่างน้อยมันก็เป็นดนตรีที่คุณไม่อาจระบุยุคสมัย เสียงร้องของแพลนต์ในอัลบั้มถือว่าอยู่ในฟอร์มสดมากๆ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาได้ร้องในคีย์ที่เขารับมือได้แต่น้ำเสียง,พลัง และลีลาของเสือเก่าก็ยังไม่ส่อแววถดถอยแม้แต่น้อย

เพลงส่วนใหญ่เป็น cover หรือไม่ก็เพลง traditional หรือเพลงที่แพลนต์เอามาต่อยอด

Angel Dance เพลงเก่าอายุสิบขวบของ Los Lobos แพลนต์ชอบลักษณะการเดินเพลงแบบอาขยานของเพลงนี้และเสกมนต์ขลังของอคูสติกบลูส์ในแบบ Led Zeppelin ชุดที่สามเข้าไป ต่อเนื่องทางอารมณ์ในแนว Southern Gothic ในเพลง House of Cards ของริชาร์ด ทอมป์สัน Central Two O Nine เพลงเดียวในอัลบั้มที่เป็นเครดิตการแต่งของแพลนต์และมิลเลอร์ แต่ก็เป็นการต่อยอดจากเพลงบลูส์ของ Lightnin’ Hopkins Band of Joy แจมกันได้สนุกในเพลงนี้

แพลนต์เลือกเพลงของ Low จากอัลบั้ม The Great Destroyer ในปี 2005 มาเล่นในชุดนี้ถึงสองเพลงคือ Silver Rider ที่หลอกหลอนเวิ้งว้างกับ Monkey ที่อึกทึกครึกโครมอลหม่าน สองเพลงนี้กลืนไปกับเพลงบลูส์โบราณรอบๆมันอย่างแนบเนียน

ใครที่อยากฟังแพลนต์ร้องเพลงหวานๆเหมือนสมัย Honey Drippers คงจะได้โอกาสใกล้เคียงใน I’m Falling In Love Again เพลงเก่าจากปี 1966 ของ The Kelly Brothers เป็นดูว็อปที่ออดอ้อนน่าฟังที่ไพเราะไม่แพ้ Sea of Love หรือ Young Boy Blues ต่อกันได้กับ The Only Sound That Matters ของ Milton Mapes ที่เศร้าหวานงดงาม

จากปี 1965 เพลงของ Barbara Lynn ดาวรุ่งอาร์แอนด์บีของเท็กซัสในยุคนั้นในเพลง You Can’t Buy Me Love น่าจะเป็นเพลงที่เรียกเหงื่อแพลนต์ได้มากที่สุด ไม่ถึงกับเป็นเพลงที่ฟังแล้วลุกขึ้นเต้น แต่ก็กระฉึกกระฉักที่สุดในแผ่น แพลนต์บอกว่ามันคือ “Black American Pop จาก New Orleans ปี 1963ร็อคเบาๆตามมาคือ Harms Swift Way ที่ฟังคล้ายงานของ Traveling Wilburys เพลงท้ายๆในชีวิตของ Townes Van Zandt

แพลนต์มักจะพิถีพิถันกับเพลงท้ายๆของอัลบั้มเสมอ และใน Band of Joy ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น Satan Your Kingdom Must Come Down เป็นเพลง traditional blues แบนโจให้เสียงชวนขนลุกคลอไปกับการขับร้องที่ไร้ที่ติของแพลนต์

เพลงสุดท้าย Even This Shall Pass Away ฉีกแนวไปเลยจากเพลงอื่น มันเป็นการนำบทกวีในปี 1867 ของ Theodore Tilton มาใส่ทำนอง การบรรเลงของ Band of Joy ในเพลงนี้ราวกับแพลนต์จะเปิดไฟเขียวให้นักดนตรีทุกคน ใส่ กันได้ตามแต่จะเห็นงาม สุ้มเสียงแปลกๆจึงผุดขึ้นมาเต็มไปหมด หลายช่วงทำให้นึกถึงงานยุค Mighty Rearranger

Robert Plant สามารถทำมาหากินง่ายๆและได้เงินมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการทัวร์สักรอบกับ Led Zeppelin หรือร้องเพลงเก่าๆในแบบ Rod Stewart หรือไม่ก็ไปร้องคู่กับอลิสันอีกซักอัลบั้ม แต่เขากลับเลือกทางที่ดูจะ ขาย ยากที่สุดกับ Band of Joy ผลลัพธ์: มันเป็นงานที่แฟนเพลงและตัวเขาเองควรภาคภูมิใจและเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่เยี่ยมที่สุดแผ่นหนึ่งในปี 2010 ครับ

Tracklist

01 Angel Dance
02 House of Cards
03 Central Two-O-Nine
04 Silver Rider
05. You Can’t Buy my Love
06 I’m Falling In Love Again
07 The Only Sound That Matters
08 Monkey
09 Cindy, I’ll Marry You One Day
10 Harms Swift Way
11 Satan Your Kingdom Must Come Down
12 Even This Shall Pass Away

Tuesday 5 October 2010

Brian Wilson : Reimagines Gershwin


Brian Wilson : Reimagines Gershwin (2010) ****

Release: August 2010

Genre: Traditional Pop

Producer: Brian Wilson


Brian Wilson คือหัวใจของ The Beach Boys และนักสร้างสรรค์เพลงป๊อบชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคของดนตรีร็อค George Gershwinคือเจ้าของผลงาน American Songbook ที่เป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้จากบทเพลงที่เขาประพันธ์ไว้ในทศวรรษที่ 20 และ 30 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 1937 งานของ Gershwin มีผู้นำมา cover มากมายในหลากหลายสไตล์ แต่ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าไบรอันจะทำอัลบั้มอุทิศให้กับ Gershwin ทั้งอัลบั้มอย่างนี้ เพราะแนวทางของทั้งสองดูจะห่างไกลกันอยู่ และโดยปกติไบรอันก็ไม่ค่อยจะบันทึกเสียงเพลงที่คนอื่นประพันธ์บ่อยครั้งนัก

ความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจที่สุดของโครงการนี้อาจจะอยู่ที่การที่มูลนิธิของ Gershwin เปิดโอกาสให้ไบรอันและลูกวงเข้าไปฟังงานที่ยังไม่เคยเผยแพร่และแต่งค้างไว้ของ George Gershwin จำนวน 104 เพลง และนำ 2 เพลงจากในนั้นไป “แต่งต่อ” ให้เสร็จ และนำมาบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้ ก่อนที่จะฟังกันว่าเพลงสองเพลงนี้เป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่านี่เป็นแผนการตลาดที่ยอดเยี่ยม (ไม่ว่าจะตั้งใจให้มันเป็นแผนหรือไม่) มันแตกต่างกันมากกับการที่ไบรอันร้องเพลงเก่าๆของ Gershwin 13 เพลง กับการที่มี 2 เพลงในนั้นเป็นผลงานใหม่เอี่ยมของสุดยอดนักแต่งเพลงอเมริกันสองคนที่อยู่คนละยุคสมัย เหมือนกับตอนที่ Natalie Cole ร้องเพลงคู่กับพ่อของเธอในอัลบั้ม Unforgettable with Love หรือ Free As A Bird ของ Beatles ใน Anthology

ไบรอันแต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรีต่อยอดจากต้นฉบับเดิมของ Gershwin เพลงแรกคือ “The Like in I Love You” ที่เป็น out-take จากมิวสิคัล Lady, Be Good! ในปี 1924 ท่วงทำนองช้าหวานน่าฟัง แต่ยังไม่อาจไปเทียบเพลงคลาสสิกอื่นๆของ Gershwin ได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเนื้อเพลงจากการแต่งของมือกีต้าร์ของไบรอัน Scott Bennett ยังห่างไกลจากความเหนือชั้นของ Ira Gershwin พี่ชายของ George ที่มักจะแต่งเนื้อเพลงให้เสมอ อีกเพลงคือ “Nothing But Love” (จากปี 1929) ที่กว่าจะกลายมาเป็นเวอร์ชั่นนี้เคยเป็นเพลงวอลทซ์มาก่อน แต่ไบรอันบอกว่าไม่ใช่ทางเขา สุดท้ายจึงกลายเป็นเพลงร็อคสนุกๆที่แทบไม่ได้ยินสำเนียงแบบ Gershwin ในเพลงเลย (ทำให้อยากได้ยินจังว่าต้นฉบับของ Gershwin ทำไว้แค่ไหนกัน) และก็เหมือนกับเพลงแรก ที่ความคมคายของเนื้อเพลงยังไม่ถึงระดับ สรุปว่าสองเพลงนี้แค่สอบผ่านหวุดหวิด และถ้าใครหวังไว้มากๆก็น่าจะผิดหวังเลยล่ะ แต่ถ้าไม่คิดมาก จะเอาความไพเราะและละเมียดละไม สองเพลงนี้มีให้แน่นอน แต่แหม Gershwin + Wilson มันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้นี่น่า!

บทเพลงของ Gershwin ที่ไบรอันคุ้นเคยจริงๆก็คืองานอมตะของเขา Rhapsody In Blue ที่ไบรอันเอามาทำเป็นกึ่งอะแคปเปลล่าปิดหัวท้ายอัลบั้ม ส่วนอีก 11 เพลงที่เหลือ เขาและลูกวงก็มานั่งฟังซีดีเก่าๆของ Ella Fitzgerald มั่ง Louis Armstrong มั่ง เพื่อเรียนรู้บทเพลงเหล่านั้น และสุดท้าย 11 เพลงที่ไบรอันคัดมาก็เป็นเพลงดังๆของ Gershwin ทั้งสิ้น

นักวิจารณ์หลายท่านสับอัลบั้มนี้เละ เพราะรับไม่ได้กับการที่ไบรอัน นำเพลงของ Gershwin มาทำให้เป็นเพลงแบบ Beach Boys ซึ่งผมก็อึ้งไปเหมือนกันเมื่อได้ฟังครั้งแรก แต่ก็ต้องถามตัวเองว่า แล้วจะคาดหวังอะไรล่ะ จะให้ไบรอันร้องแบบหลุยส์ อาร์มสตรองหรือไร? นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราน่าจะคาดไว้อยู่แล้ว เพลงอมตะของ Gershwin ร้องด้วยสุ้มเสียงหวานซึ้งและเสียงประสานแบบ Beach Boys มันเป็นอย่างนี้ทั้งอัลบั้ม! ถ้ารับตรงนี้ไม่ได้ไม่ต้องหามาฟังเลยครับ

น้ำเสียงของไบรอันยังเรียกได้ว่าพอไหวสำหรับวัยของเขา และเขาก็ไม่ได้ทำร้ายตัวเองด้วยการเลือกคีย์ที่โหดร้ายอะไร ทุกเพลงเป็นการตีความอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาไม่ได้มีอะไรหลุดโลก สี่เพลงจาก Porgy & Bess สอดคล้องต่อเนื่องอย่างหรูหราและงดงามทุกตัวโน้ตและออเคสตร้าอุ่นๆคอยโอบอุ้ม ตั้งแต่ Summertime, I Loves You, Porgy, I Got Plenty O’ Nuttin’ และ It Ain’t Necessarily So

ไบรอันใส่จังหวะแซมบ้าเนิบๆเข้าไปใน ‘S Wonderful ได้อย่างกำลังดี ส่วน They Can’t Take That Away From Me กลายเป็นร็อคสนุกด้วยเสียงประสานแบบ call and response ไบรอันบอกว่าเพลงนี้มีเนื้อเพลงที่”เหลือเชื่อที่สุดที่เคยได้ยินมา” I’ve Got A Crush On You มาในแบบดู-วอบอย่างแนบเนียน และ I Got Rhythm คือร็อคแอนด์โรลในแบบ Beach Boys เต็มตัว! ผมคิดเอาเองว่าเพลงนี้เหมือนกับไบรอันจะประกาศว่าเขาเป็นเจ้าของอัลบั้มนี้ และจะทำในแบบของเขา ใครรับไม่ได้ก็ถอยไป ส่วนผมล่ะชอบสุดหัวใจไปเลยล่ะครับ เพลงช้าอย่าง Love Is Here To Stay (“หนึ่งในเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีคนเขียนขึ้นมา และผมก็ร้องสุดความสามารถ”-ไบรอัน)และ Someone To Watch Over Me อาจจะไม่ลึกซึ้งนัก แต่ก็สวยงามปลอดโปร่งและเต็มไปด้วยความจริงใจในน้ำเสียงร้องนำของไบรอัน

ถ้าคุณชอบดนตรีในแบบของไบรอัน วิลสัน และ Beach Boys ผมว่าคุณจะรักอัลบั้มนี้เลยล่ะ แต่แฟนเพลงของ Gershwin ก็น่าจะลองฟังดูนะครับ มันอาจจะไม่มีการขับร้องหรือตีความลึกซึ้งเหมือน Ella, Billie Holiday หรือ Sinatra แต่คุณก็ฟังแบบนั้นมาตั้งหลายสิบปีแล้วไม่ใช่หรือ? และกรุณาอย่านำผลงานนี้ไปเทียบกับ American Songbook ของ Rod Stewart เพราะงานของไบรอันทำอย่างประณีตและเคารพผลงานมากกว่ามากมายครับ

อัลบั้มนี้มิกซ์โดย Al Schmitt ที่ชาวหูทองไว้ใจเสมอในด้านคุณภาพเสียงครับ

Tracklist

01 Rhapsody in Blue /Intro
02 The Like in I Love You
03 Summertime
04 I Loves You Porgy
05 I Got Plenty of Nothin

06 It Ain't Necessarily So
07 'S Wonderful
08 They Can't Take That Away from Me
09 Our Love Is Here to Stay
10 I've Got a Crush on You
11 I've Got Rhythm
12 Someone to Watch Over Me
13 Nothing But Love
14 Rhapsody in Blue/Reprise

Tuesday 7 September 2010

Sting-Symphonicities


“Sting ทรงเครื่อง

Sting-Symphonicities ****

แนวดนตรี- Rock, Classical

โปรดิวเซอร์- Rob Mathes, Sting

ออกจำหน่าย-ก.ค.2010

ชื่ออัลบั้ม Symphonicities เป็นการล้อเลียนชื่ออัลบั้มสุดท้ายอันโด่งดังของ The Police –Synchronicity ก่อนที่ Sting จะก้าวออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวในปี 1984 แต่อัลบั้มนี้ไม่ได้มีเพลงใดๆจาก Synchronicity ผู้ที่คาดหวังจะได้ยิน King of Pain หรือ Every Breath You Take ในแบบซิมโฟนิคจึงต้องผิดหวังเล็กน้อย

ครับ นี่คือการนำเอาเพลงเก่าๆของ Sting และ The Police มาเล่น+ร้องใหม่ ร่วมกับ The Royal Philharmonic Concert Orchestra โดยเจ้าของบทเพลง นาย Gordon Matthew Thomas Sumner (ชื่อเต็มๆของ Sting) มาขับร้องเอง และควบคุม project อย่างใกล้ชิด

ฟังดูเผินๆเหมือนกับการเอาของเก่ามาขายหากินของศิลปินสูงวัยที่นึกอะไรไม่ออก แต่ถ้าคุณติดตามการทำงานของ Sting มาพอสมควร คุณจะไม่คิดเช่นนั้น เพราะ Sting ไม่เคยขาดพลังความคิดสร้างสรรค์ และงานของเขามีเป้าหมายสูงส่งเสมอ

งานนี้เกิดขึ้นมาโดยเหตุการณ์ต่อเนื่อง กึ่งๆจะเป็นอุบัติเหตุไม่ได้มีความจงใจแต่เริ่มแรก จากการเป็นแขกรับเชิญของวง Philadelphia Orchestra และ Chicago Symphony Orchestra ที่นำเพลงของเขาไปเล่นในแบบซิมโฟนี Sting ซึ่งเป็นคนรักดนตรีคลาสสิกอยู่แล้วรู้สึกตื่นเต้นและสนุกไปกับการได้เห็นบทเพลงที่เขาแต่งคนเดียวด้วยกีต้าร์ตัวเดียวในห้องเงียบๆ ได้รับการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างอลังการด้วยนักดนตรีออเคสตร้าชุดใหญ่ โครงการ Symphonicities จึงเริ่มขึ้นด้วยการให้นักเขียนสกอร์และเรียบเรียงหลายท่าน นำเพลงของ Sting มาแต่งตัวใหม่ และส่งให้ Sting พิจารณา

สิ่งหนึ่งที่ Sting ย้ำนักย้ำหนาแก่ arranger แต่แรกเริ่มคือ เขาไม่ต้องการสกอร์เครื่องสายที่อ่อนช้อยลากยาวงดงามที่รังแต่จะส่งผู้ฟังเข้าสู่นิทรา แต่ที่เขาอยากจะได้ฟังคือการใช้วงออเคสตร้าอย่างสร้างสรรค์มีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้น ผู้ที่รับหน้าที่นี้คือ Rob Mathes ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับ Sting ด้วย ยกเว้นเพลง “I Hung My Head” ที่เรียบเรียงโดย David Hartley และ “You Will Be My Ain True Love” กับ “When We Dance” ที่เป็นหน้าที่ของ Steven Mercurio

Symphonicities ไม่ใช่การนำเพลงเก่าๆมาใส่เครื่องสายเครื่องเป่าลงไปแล้วก็ทำออกมาขายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการเขียนซิมโฟนีบนเพลงของ The Police บทเพลงส่วนใหญ่ยังมีจังหวะจะโคนและโครงสร้างเหมือนเดิมในแบบที่อยู่ในแผ่นเสียงและซีดีของ The Police และ Sting และ Orchestra ทำหน้าที่ขับเคลื่อน สอดแทรก และหลายครั้งนำพาบทเพลงเหล่านั้นยกขึ้นสู่อีกระดับหนึ่งอย่างงดงาม

และอัลบั้มนี้คงจะไม่มีประเด็นอะไรให้กล่าวถึงนัก ถ้ามันเป็นแค่เพลงบรรเลง เสียงร้องของ Sting คือเพชรเม็ดใหญ่ที่ประดับสูงสุดบนมงกุฏนี้ เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนรักษาสุขภาพตัวเองแค่ไหนด้วยการเล่นโยคะแบบลึกซึ้ง ในวัย 58 จึงไม่พบร่องรอยของความอ่อนล้าในน้ำเสียง เขายังควบคุมมันได้อย่างเหนือชั้น Sting ร้องทุกเพลงอย่างอบอุ่น นุ่มนวล และเมื่อถึงเวลา เขาก็ยัง บิด มันสู่มิติใหม่ๆได้อย่างน่าประทับใจ เช่นในช่วงท้ายเพลง When We Dance

Sting เลือกเพลงที่มีชื่อเสียงและเพลงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเขามาในปริมาณพอๆกัน เพลงของ The Police ดูจะสร้างความแตกต่างและมีอะไรน่าสนใจทุกเพลง Next To You ยังแรงส์...เหมือน original version ขณะที่เครื่องสายสาดใส่สุ้มเสียงลงไปอย่างเร้าอารมณ์ จินตนาการถึงเร็กเก้พังค์ใส่สูทนั่งประชุมในหมู่นักบริหารแต่ยกเท้าพาดบนโต๊ะ Every Little Thing She Does Is Magic อาจจะไม่ครื้นเครงเท่าเดิม แต่ฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ เหมือนจะพยายามตีความคำว่า ‘magic’ ส่วน masterpiece ของเขา Roxanne -Sting ก็ไม่มีทางทำให้เสียของ ออเคสตร้าขับเน้นอารมณ์ดำมืดลึกๆในบทเพลงให้ใสกระจ่างขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ยกให้เป็นการตีความและ performance ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในแผ่น

We Work The Black Seam จากงาน solo ชุดแรก The Dream of The Blue Turtles ที่จำไม่ได้แล้วว่านานแค่ไหนที่ไม่ได้ฟัง ได้รับการ treatment โดยเครื่องเป่าสารพัดฉีกแนวไปจากเพลงอื่นๆในอัลบั้ม I Hung My Head จาก Mercury Falling ในเวอร์ชั่นนี้ดูกลมกลืนและลงตัวราวกับมันถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบนี้แต่แรกมากกว่า

ความสนุกของการฟัง Symphonicities อยู่ที่ความตื่นเต้นในการฟังเพลงที่เราคุ้นหูในรูปแบบที่ต่างกันออกไป ยังมีอีกหลายเพลงที่ผมไม่ได้กล่าวถึงที่ผมขอเก็บไว้ให้ท่านผู้ฟังค้นหากันเอง งานนี้แฟน Sting คงไม่พลาดอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าท่านจะยึดมั่นถือมั่นกับ original version จนไม่อยากค้นหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งผมไม่คิดว่านั่นเป็นธรรมชาติของแฟน Sting นะครับ ส่วนท่านที่ไม่เคยฟังงาน Sting อย่างจริงจังมาก่อน จะเริ่มที่อัลบั้มนี้เลยก็คงไม่ผิดกฎหมายประเทศใด เพียงแต่ท่านควรจะเป็นคนที่รักเสียงแบบ symphonic พอสมควร

Tracklist

"Next to You" – 2:30

"Englishman in New York" – 4:23

"Every Little Thing She Does Is Magic" – 4:56

"I Hung My Head" – 5:31

"You Will Be My Ain True Love" – 3:44

"Roxanne" – 3:37

"When We Dance" – 5:26

"The End of the Game" – 6:07

"I Burn for You" – 4:03

"We Work the Black Seam" – 7:17

"She's Too Good for Me" – 3:03

"The Pirate’s Bride" – 5:02