Sunday 9 May 2010

“ฉันคือ เชลบี้ ลีนน์( อีกครั้ง)”



Shelby Lynne-Tears, Lies and Alibis ***1/2

ออกจำหน่าย-เมษายน 2010

แนวดนตรี-Alternative Country, Americana

อัลบั้ม Just A Little Lovin’ เมื่อ 2 ปีก่อนของเชลบี้ ที่เป็นงานอุทิศให้ Dusty Springfield เป็นงานที่ดูเหมือนจะเป็นการจับคู่ของนักร้องและบทเพลงที่น่าสนใจมาก แต่งานออกมากลับจืดชืดและขาดพลังบางอย่างของความเป็นตัวตนเองที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของผู้หญิงคนนี้ แต่อย่างน้อยจากอัลบั้มนั้น เชลบี้ก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่ Phil Ramone

Tears, Lies And Alibis คืออัลบั้มที่ 11 ของนักร้องสาวอเมริกันร่างเล็กวัย 41 ปีผู้นี้ เธอไม่อาจตกลงถึงแนวทางของการบันทึกเสียงกับต้นสังกัด Lost Highway ได้ เชลบี้ตัดสินใจเดินออกมาและเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง กับสังกัดแผ่นเสียงของเธอเอง Everso และจับงานโปรดิวซ์เอง รวมทั้งแต่งเพลงเองทั้ง 10 เพลงในอัลบั้มนี้อีกด้วย ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จทางเชิงพาณิชย์หรือไม่ ผมก็ต้องขอแสดงความยินดีกับเชลบี้ด้วย เพราะนี่คือตัวตนของเธอที่เธอทำได้ดีที่สุดอีกครั้ง เหมือนกับอัลบั้ม I Am Shelby Lynn ที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในปี 2000 และคว้ารางวัลแกรมมี่ไปในฐานะศิลปินหน้าใหม่ ทั้งๆที่เธอมีผลงานมาแล้วหลายปีดีดัก

เชลบี้เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นนักร้องคันทรี่เต็มตัว การบันทึกเสียงครั้งแรกของเธอคือการร้องเพลงคู่กับตำนานคันทรี่ George Jones ในเพลง If I Could Bottle This Up ในปี 1988 จากนั้นเธอก็วนเวียนอยู่ในการทำเพลงคันทรี่ในรูปแบบต่างๆกัน ทั้ง Country-Pop หรือ Big Band Country Swing ในแบบของ Bob Willis เชลบี้ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ดีเสมอ แต่ดูเหมือนเธอจะเป็นได้แค่ศิลปินคันทรี่เงียบๆคนหนึ่งเท่านั้น และหลังจากปี 1995 เธอก็หายเงียบไปจากวงการหลายปี ก่อนจะกลับมาเหมือนกับศิลปินคนใหม่ ด้วยงานที่ประกาศความเป็นตัวเธอ I Am Shelby Lynne เสียงของเธอเปล่งประกายความไพเราะออกมาอย่างถึงที่สุดในบทเพลงอย่าง Your Lies และ Leavin’ ที่เป็นคันทรี่เจือริธีมแอนด์บลูส์ในอารมณ์ของ Northern Soul

แต่แทนที่เธอจะยึดแนวทางนี้เป็นหลัก เชลบี้กับหันไปเล่นกับ Pop Rock เอาใจตลาดมากขึ้น และภาพลักษณ์ที่เซ็กซี่โฉบเฉี่ยวในอัลบั้มถัดมา Love, Shelby ที่มีเพลงสุดดังในบ้านเรา Wall In Your Heart แม้เธอจะร้องเพลงในแนวนี้ได้ไม่เลว แต่มันก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ตัวเธอเลย เชลบี้กลับมาทำเพลงในแบบ singer-songwriter ในอีกสองอัลบั้มถัดมา Identity Crisis, Suit Yourself และประสบความสำเร็จพอสมควรในวงที่ไม่กว้างขวางนัก (ก็ไม่ค่อยดังน่ะแหละ!)

แทบทุกคนที่ได้ฟัง Tears, Lies And Alibis ยืนยันว่านี่คือคลาสสิกเชลบี้ ทุกเพลงในอัลบั้มให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอัตตชีวประวัติของตัวเธอเอง ไม่ว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่ แต่น้ำเสียงของเธอก็ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้นเสมอ นักดนตรีในอัลบั้มก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนๆฝีมือดีของเธอ รวมทั้งยอดฝีมือจาก Muscle Shoals-มือเบส David Hood และคีย์บอร์ด Spooner Oldham ฝีมือของทั้งสองคนนี้มีส่วนอย่างมากในการสร้างเสียงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ของโซลคลาสสิกในแบบงานของ Aretha Franklin ยุค Atlantic แม้ว่าเสียงหลักๆของดนตรีในอัลบั้มจะเป็นอคูสติกกีต้าร์และรึธึ่มเซ็กชั่นในแบบคันทรี่ก็ตาม

ตั้งแต่เพลงแรก Rains Came ที่เป็นเพลงแห่งความสุขบนความเศร้า, Why Didn’t You Call Me การรอคอยที่แสนหวานอมขื่น (นึกสนุกว่าถ้า Dusty Springfield ลุกขึ้นมา duet กับเธอ และดนตรีใส่เครื่องเป่าอีกสักหน่อย คงจะเป็นอะไรที่น่าฟังพิลึก), หรือ Old #7 ที่คงถูกใจคนที่ชอบใช้เพลงคันทรี่ย้อมใจเมามาย จนเพลงสุดท้าย Home Sweet Home อันเงียบสงบและอบอุ่นเหมือนชื่อเพลง ไม่มีเศษเพลงในอัลบั้มนี้ มันเป็นอัลบั้มที่แฟนดั้งเดิมของเธอทุกคนต้องภาคภูมิใจ สำหรับผู้ที่รู้จักเสียงของเธอแค่ในเพลง Wall In Your Heart ขอแนะนำให้ฟังอัลบั้มนี้ คุณจะรู้สึกเหมือนได้นั่งคุยกับเธออย่างใกล้ชิด และเมื่อฟังจบแผ่น อย่าแปลกใจถ้าคุณจะถามตัวเองว่า เดี๋ยวนี้ยังคงมีคนทำอัลบั้มแบบนี้กันอีกหรือ

Tracklist:

Rains Came 2:26

Why Didn't You Call Me 1:40

Like A Fool 3:58

Alibi 4:25

Something To Be Said About Airstreams 3:54

Family Tree 3:45

Loser Dreamer 4:53

Old #7 3:35

Old Dog 5:30

Home Sweet Home 3:33

AC/DC Iron Man 2 ****



ออกจำหน่าย-เมษายน 2010

แนวดนตรี-ฮาร์ดร็อค

โปรดิวเซอร์ -

Robert John "Mutt" Lange, George Young, Harry Vanda, Malcolm Young, Angus Young, Bruce Fairbairn, Brendan O'Brien

เอซีดีซีมีหลายอย่างเหมือนเครื่องดื่มยาคูลต์ ทั้งสองแบนด์และแบรนด์ค้นพบสูตรสำเร็จของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน และพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนสูตรนั้น ทั้ง รสชาติ และวิธีการนำเสนอ เอซีดีซีแก้ปัญหาความเลี่ยนและซ้ำซากด้วย การออกงานมาในปริมาณและช่วงเวลาที่พอเหมาะส่วนยาคูลต์ก็ยังอยู่ในขวดเล็กๆกินเท่าไหร่ก็ไม่เคยพออยู่ร่ำไป และ ยังดูเหมือนว่าตราบใดที่ยังมีสาวยาคูลท์ปั่นจักรยานส่งเครื่องดื่มแลคโตบาซิลลัสนี้ตามบ้านอยู่ แองกัส ยังก็ยังคงใส่ชุดนักเรียนขาสั้นดีดดิ้นพุ่งพล่านบนเวทีไปกับดนตรีบูกี้-เมทัลของวงต่อไป หลายปีผ่านมา มียาคูลต์เทียมออกมาไม่น้อย เช่นเดียวกับวงเมทัลหน้าใหม่ๆที่พยายามเดินตามรอยป๊ะป๋าขาสั้น แต่ก็คงทราบกันว่า ไม่มีอะไรจะเลิศเท่าของแท้และดั้งเดิม

แต่แม้แต่ยาคูลต์ในบางประเทศก็ยังมีหลายรสชาติให้เลือก และขนาดของขวดก็ไม่เท่ากันเสมอไป เอซีดีซีก็คงต้องมีอะไรแปลกใหม่มาให้แฟนๆหายคิดถึงกันบ้าง หลังจากกวาดชื่อเสียงเก่าๆกลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์แบบใน Black Ice (2008) พวกเขามีงานเพลงเก็บตกออกมาในปีถัดมาในชื่อ Backtrack และในปีนี้ กับอัลบั้มที่ใกล้เคียงกับคำว่า Greatest Hits ที่สุดในตำนานของวงร็อคอมตะจากออสเตรเลียวงนี้ เอซีดีซีอาจจะเป็นวงร็อคระดับพรีเมียร์วงเดียวในโลกที่ไม่เคยมีงานรวมฮิตมาก่อน วงอื่นอาจจะออกงานรวมเพลงมาเพื่อโกยเงิน แต่เอซีดีซีมีความสุขกับการขายอัลบั้มหลักของเขาอย่างนิ่มๆไปเรื่อยๆดีกว่า ส่วนตัวคิดว่าเป็นความชาญฉลาดทางธุรกิจของพวกเขา เชื่อได้ว่าถ้าเอซีดีซีมีงานรวมเพลง อัลบั้มอย่าง Back In Black (1980) หรือ For Those About To Rock , We Salute You (1981) คงจะขายไม่ได้มากมายต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้แน่

และอีกอย่าง การมีงานรวมเพลง อาจจะเป็นการประจานตัวเองอ้อมๆ ว่ากี่ปีกี่ชาติ วงนี้ไม่เคยมีพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเพลงเลยสักนิด! เอกลักษณ์ของวงนี้คือเนื้อร้องที่เว้ากันซื่อๆ เป็นเพลงเพื่อชีวิตแท้ๆของลูกผู้ชาย(โฉด) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ การดื่มกิน การต่อสู้ และนรก แต่ทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายถ้าไม่ได้การเล่นกีต้าร์ที่ฟังดูแสนง่ายดายแต่สุดจะเมามันทุกครั้งที่เขาโซโลของแองกัสยัง และห้องเครื่อง ของวงที่หนักแน่นเข้มแข็งราวกับทหารเดินสวนสนาม และนำทัพด้วยเสียงร้องนำที่กรีดทะลุเพดาน

Iron Man 2 คือซาวนด์แทร็คประกอบหนังแอ็คชั่นเรื่องดังที่สร้างจากการ์ตูนของมาร์เวล ประกอบไปด้วย 15 เพลงของ AC/DC ล้วนๆ แค่ไอเดียนี้อย่างเดียวก็ต้องยอมรับว่าเวิร์คมากๆแล้ว เพลงของพวกเขาหลายเพลงราวกับสร้างมาเพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งๆที่จริงแล้ว 15 เพลงนี้เป็นเพลงต่างกรรมต่างวาระ และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหนัง Iron Man 2 แต่อย่างใด เพลงเก่าแก่ที่สุดคือ T.N.T. ย้อนกลับไปในปี 1976 และใหม่ที่สุดคือ War Machine จากอัลบั้มล่าสุด Black Ice เมื่อสองปีก่อน เราคงไม่อาจเรียก Iron Man 2 ว่าเป็นงานรวมเพลงฮิตหรือเพลงเอกของวงได้อย่างเต็มปาก เพราะแม้จะมีเพลงเด็ดๆอย่าง Back In Black, Have A Drink On Me, Highway To Hell แต่ก็ยังมีเพลงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักอย่าง Cold Hearted Man หรือ Rock ‘N’ Roll Damnation และก็ยังขาดเพลงชั้นยอดของวงอีกหลายเพลง ที่น่าเสียดายคือไม่มีเพลงใหม่เอี่ยมเลย ทางวงเคยทำเพลงประกอบหนังมาแล้วครั้งหนึ่งในอัลบั้ม Who Made Who (1986) สำหรับภาพยนตร์ Maximum Overdrive ที่ยังมีเพลงใหม่และเพลงบรรเลงอยู่ถึง 3 เพลง

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะยังมองไม่เห็นว่าซาวนด์แทร็ค-รวมเพลงชุดนี้จะมีคุณค่าใดๆในการแสวงหามาครอบครอง? เอาล่ะ แม้มันจะมีข้อบกพร่องหรือเรื่องน่าเสียดายบางประการดังกล่าว แต่ Iron Man 2 ก็ยังเป็นอัลบั้มฮาร์ดร็อคที่ทรงคุณค่าด้วยตัวบทเพลงเอง ทุกเพลงจัดมาแบบเน้นๆว่าให้แป็นการประกอบหนัง action โดยเฉพาะ ชนิดดูชื่อเพลงก็สอบผ่านแล้ว อาทิ If You Want Blood (You’ve Got It) , Evil Ways หรือ The Razors Edge อานิสงค์อีกประการของอัลบั้มที่บุรุษผู้หนึ่งรับไปเต็มๆคือ Bon Scott นักร้องนำคนแรกของวงที่เสียชีวิตไปหลังจากอัลบั้ม Highway To Hell Iron Man 2 มีเพลงยุคที่ Bon ร้องถึง 7 เพลง แฟน AC/DC ยุคหลังๆอาจจะได้รู้จักเสียงของเขามากขึ้นในคราวนี้ เสียงและลีลาการร้องของ Bon และนักร้องคนปัจจุบัน Brian Johnson มีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย เพียงแต่ Bon อาจะฟังดูกวนทีนส์และมีชีวิตชีวามากกว่า ส่วน Brain นั้นมีพลังเสียงที่แสบสันต์และเลวทราม(ขออภัย)ได้อย่างน่ารักน่าชัง ก็ลองเปรียบเทียบกันดู และการเรียงเพลงดูจะพยายามสลับนักร้องสองคนนี้กันไป-มาอย่างจงใจ อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพเสียงที่ลักหลั่นกันบ้างเป็นธรรมดาของงานรวมเพลงหลายๆยุค แต่ความเมามันส์ของดนตรีก็ช่วยกลบจุดด้อยนี้ไปได้สนิท

ข้อกล่าวหาที่ว่า AC/DC เป็นวงดนตรีประเภท เนื้อเดียว ทำนองเดียว แม้จะมีส่วนถูก แต่ลองฟังเพลงอย่าง Thunderstruck และ The Razors Edge ในอัลบั้มนี้ ถ้าคุณไม่เคยฟังมาก่อน ถ้า แองกัสและผองเพื่อน ต้องการจะทำจริงๆ ผมว่า AC/DC ยังมีดีที่เราไม่เห็นอีก แต่ก็อย่างว่า..ถ้ามันไม่เสีย...แล้วจะซ่อมมันทำไม?

Tracklist:

Shoot To Thrill 5:19

Rock 'n' Roll Damnation 3:38

Guns For Hire 3:26

Cold Hearted Man 3:36

Back In Black 4:17

Thunderstruck 4:54

If You Want Blood (You've Got It) 4:35

Evil Walks 4:25

T.N.T. 3:35

Hell Ain't A Bad Place To Be 4:15

Have A Drink On Me 4:00

The Razor's Edge 4:24

Let There Be Rock 6:08

War Machine 3:11

Highway To Hell 3:29

Saturday 8 May 2010

Jeff Beck-Emotion & Commotion****







ออกจำหน่าย-มีนาคม 2010

แนวดนตรี- Rock, Classical, New Age

โปรดิวเซอร์- Steve Lipson, Trevor Horn


จิมี่ เฮนดริกซ์ราตรีสวัสดิ์ครั้งสุดท้ายไปหลายทศวรรษแล้ว เอริก แคลปตันก็วุ่นวายกับการทำเพลงป๊อบและการเดินตามหาอดีต ส่วน จิมมี่ เพจก็ยังไม่อาจสลัดคำว่า Led Zeppelin ออกจากหัวใจ และแทบจะไม่มีผลงานใหม่ๆออกมาเลย แต่เทพกีต้าร์องค์สุดท้ายจากยุค 60's Jeff Beck ก็ยังคงรักษาสถานะของการเป็น "นักกีต้าร์ขวัญใจนักกีต้าร์" อยู่ไม่เสื่อมคลาย เขาอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงป๊อบปูลาร์เท่าเทพองค์อื่น (ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการที่เขาไม่ร้องเพลง และการทำเพลงตามใจตัวเองเป็นหลัก) แต่ถ้าวัดกันโน้ตต่อโน้ตแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากดวลกับเขาตัวต่อตัวบนสังเวียน...!!! (ความจริงแล้วนักดนตรีระดับนี้เวลาเล่นด้วยกันบนเวทีเขาไม่มาเข่นฆ่ากันหรอกครับ แต่มักจะออกมาในแนวผลัดกันแลกภูมิปัญญาและฝีมืออย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเสียมากกว่า)

Emotion & Commotion คืออัลบั้มในฐานะศิลปินเดี่ยวชุดที่ ๑๐ ของเขา และเป็นงานสตูดิโอชุดแรกในรอบ 7 ปี เจฟฟ์หันเหจากแนวทางกีต้าร์อีเล็กโทรนิกาในสองอัลบั้มก่อน มาเล่นกับดนตรีเน้น soundscape กับออเคสตร้า 64 ชิ้น และลีลากีต้าร์ที่สุขุมอลังการ พร้อมแขกรับเชิญสาวๆสามท่านเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดไปในความเป็นเจฟฟ์ (ใครที่เคยได้ยินเจฟฟ์พยายามร้องเพลงบอกเสียงเดียวกันว่าให้เขาเล่นกีต้าร์อย่างเดียวต่อไปน่ะดีแล้ว!)

น่าเสียดายที่สองเพลงจากการขับร้องของ Joss Stone "I Put A Spell On You" และ "There's No Other Me" แม้จะเป็นโซล-ฟังค์กรู๊ฟที่น่าสนใจ แต่มันเป็นอะไรที่มาขัดจังหวะความต่อเนื่องทางอารมณ์ของอัลบั้ม ผิดที่ผิดทาง ทำให้ Emotion & Commotion ดูด้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย เพลงแรกเป็นการ cover เพลงของ Screamin’ Jay Hawkins ที่ไร้ที่ติ ส่วนอีกเพลงเป็นเพลงใหม่ที่จอสส์ร้องได้สุดคอหอยและ band performance ที่น่าตื่นหูตื่นใจ แต่เพลงกลับจบลงอย่างค้างคาเหมือนทำไม่เสร็จ คาดว่าเจฟฟ์ใส่สองเพลงนี้มาเพื่อขยายฐานแฟนเพลง ก็อาจจะได้ในแง่นั้น แต่ภาพรวมกลับเป็นการทำลายเอกภาพของอัลบั้มไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับตัว Joss Stone นี่เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าตัวเธอคือนักร้องโซล-บลูส์รุ่นใหม่ชั้นยอดที่ยังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แต่ความล้มเหลวในงานส่วนตัวของเธอเองที่ยิ่งออกมาก็ยิ่งดำดิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ทีมงานและตัวเธอเองจะต้องหาคำตอบให้ได้

กลับมาที่อีก 8เพลงที่เหลือใน Emotion & Commotion โปรดิวเซอร์ Steve Lipson และ Executive Producer Trevor Horn ทำสุ้มเสียงออกมาได้ยิ่งใหญ่กึกก้องในแบบที่แฟนของฮอร์นเข้าใจได้ดี เปิดอัลบั้มอย่างโอฬารด้วย Corpus Christi Carol เพลงโบราณจากการประพันธ์ของ Benjamin Britten หนึ่งในสองเพลงจากอัลบั้ม Grace ของ Jeff Buckley ที่เจฟฟ์ เบ็ค นำมาเล่นในอัลบั้มนี้ (เบ็คเพิ่งได้ฟังอัลบั้มนี้เมื่อเร็วๆนี้) ดนตรีนุ่มนวลเปิดกว้างด้วยคีย์บอร์ดและออเคสตร้าปูพรมให้เสียงกีต้าร์ไฟฟ้าอ่อนหวานแช่มช้อยของเจฟฟ์กรีดยาวไปทั่วนภากาศ จะเรียกว่าเป็นเพลงแบบนิว-เอจก็ไม่น่าจะผิดอะไร แต่เจฟฟ์เหมือนจะรู้ว่าแฟนๆคิดถึงการโซโล่แบบถึงพริกถึงขิง (แก่) ของเขา เพลงต่อไป Hammerhead ที่เจฟฟ์แต่งร่วมกับมือคีย์บอร์ด Jason Rebello จึงดุดันขึ้นด้วยริฟฟ์มันส์ๆ เสียงเอ็ฟเฟ็ควาห์-วาห์สุดเก๋าและการบดขยี้สายกีต้าร์อันดุเดือดแม่นยำในแบบของเจฟฟ์ ชื่อเพลงชวนให้คิดถึงฉลามหัวฆ้อนแต่นัยหนึ่งเป็นการให้เกียรติแก่ Jan Hammer อดีตมือคีย์บอร์ดคู่บุญของเจฟฟ์ นี่คือเพลงที่มีความเป็น "กีต้าร์ฮีโร่"ที่สุดในอัลบั้ม Never Alone เพลงถัดมายังคงความต่อเนื่องในแบบไร้ช่องว่างระหว่างเพลง เสียงกลองและเพอร์คัสชั่นโดดเด่นฝีมือ Vinnie Colaiuta และ Luis Jardim เจฟฟ์เล่าให้ฟังว่าพาร์ทคีย์บอร์ดในเพลงนี้เป็นการพยายามเล่นเสียงประสานมนุษย์ในแบบของวง The Swingle Singers แต่คงไม่มีใครสนใจนักในเมื่อเสียงกีต้าร์ของเจฟฟ์ที่เล่นเสียงอ้วนท้วนเน้นอักขระแบบเดวิด กิลมอร์ (Pink Floyd) ดูจะกลบบทบาทของดนตรีชิ้นอื่นหมด บรรยากาศของเพลงเหมือนนั่งรถไฟเดินทางไกลไปในทะเลทรายอันเวิ้งว้าง

เจฟฟ์นำเพลงอมตะจากภาพยนตร์ Wizard Of Oz 'Over The Rainbow' มาเล่นกับคีย์บอร์ดและออเคสตร้า เขาเล่าไว้ใน liner notes ว่าเขาเพิ่งค้นพบว่าทำไมเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ Judy Garland ถึงได้เข้าถึงจิตใจผู้คนมากกว่าที่ใครจะนำไปร้อง...เพราะเสียงของ Judy มีการเล่นลูกคอที่ไม่สม่ำเสมอ (unsteady vibrato)ผมคิดว่าเจฟฟ์พยายามจะให้กีต้าร์ของเขาทำเสียงแบบนั้นในเพลงนี้ นี่คือเพลงที่ไม่ว่าใครจะนำไปร้อง-เล่นก็มักจะน่าฟังเสมอ และเวอร์ชั่นของเจฟฟ์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เสียงกีต้าร์ของเขาลอยสูงและอยู่ไกลเกินเอื้อมอยู่ในที่ไหนสักแห่งเหนือสายรุ้งขึ้นไป

Olivia Safe นักร้องโอเปร่ามาให้เสียงในอัลบั้มนี้สองเพลง ใน Serene เสียงเธอเป็นแบ็คกราวนด์เบาบาง ในเพลงที่มือเบสดาวรุ่ง Tal Wikenfeld ย่ำสายอย่างโดดเด่น ส่วน Jeff เล่นไปกับ effect time blender อย่างเพลิน Olivia มาเด่นมากๆในเพลงสุดท้าย Elegy For Dunrik ที่ยิ่งใหญ่สุดพรรณนา ในขณะที่เจฟฟ์เล่นกับสำเนียงในแบบที่ชวนให้คิดถึงนักกีต้าร์แจ๊ซอย่าง Pat Metheny, Bill Frisell หรือ John Scofieldสาวรับเชิญอีกคนคือ Imelda May ในเพลง Lilac Wine ที่ Jeff Buckley ร้องไว้ใน Grace อีกเพลง เป็นแทร็คที่เด่นมากๆอีกแทร็ค เสียงร้องเธอนุ่มนวลสง่างาม ขณะที่โซโล่ท่อนสุดท้ายของเบ็คนั้นทำให้คนฟังคนนี้แทบลืมหายใจไปหลายวินาที อีกแทร็คที่น่าประทับใจคือ Nessun Dorma ผลงานของ Puccini จากอุปรากร Turandot ที่เบ็คดัดแปลงท่อนเชลโลมาเป็นกีต้าร์ไฟฟ้าได้อย่างเนียนแนบ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสักวันเขาน่าจะมี Guitar Concerto Album ออกมา

อยากจะขมวดบทแนะนำอัลบั้มนี้ด้วยคำเปรียบเปรยเว่อร์ๆว่าเจฟฟ์นั้นถึงขั้นน่าจะเป็นรัฐบุรุษของวงการกีต้าร์ได้แล้ว แต่เกรงว่าไม่เหมาะสมและไม่จำเป็น เขาอาจจะเป็นแค่ผู้ชายอายุ 65 ปี ที่เป็นหนึ่งในหลายล้านคนบนโลกที่ได้ชื่อว่าเป็นนักกีต้าร์อย่างแท้จริง เจฟฟ์ผ่านมาแล้วแทบทุกแนวดนตรีและดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้เขาต้องค้นหาหรือพิสูจน์อีก แต่ Emotion & Commotion กลับแสดงทิศทางใหม่ของการใช้กีต้าร์ไฟฟ้าประกอบกับเครื่องดนตรีคลาสสิกวงใหญ่ แน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนแรก แต่แนวทางของเจฟฟ์นั้นน่าสนใจและมีแนวโน้มว่าจะทำได้สมบูรณ์กว่านี้ในอนาคต พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาร่วมสมัยของนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ครับ

Track listing

"Corpus Christi Carol" (Benjamin Britten)

"Hammerhead" (Jeff Beck, Jason Rebello)

"Never Alone" (Jason Rebello)

"Over the Rainbow" (Harold Arlen, E. Y. Harburg)

"I Put a Spell on You" (featuring Joss Stone) (Screamin' Jay Hawkins)

"Serene" (featuring Olivia Safe) (Jeff Beck, Jason Rebello)

"Lilac Wine" (featuring Imelda May) (James Shelton)

"Nessun Dorma" (Giacomo Puccini)

"There's No Other Me" (featuring Joss Stone) (Jason Rebello, Joss Stone)

"Elegy for Dunkirk" (featuring Olivia Safe) (Dario Marianelli)