Thursday 29 July 2010

Sheryl Crow 100 Miles From Memphis


Sheryl Crow 100 Miles From Memphis ***

แนวดนตรี-Pop, Soul, Country Rock

ออกจำหน่าย-ก.ค. 2010

โปรดิวเซอร์-Doyle Bramhall II และ Justin Stanley

เมื่อไม่กี่ปีก่อนเมื่อมีข่าวว่า Shelby Lynne จะร้องเพลงทริบิวต์ให้ Dusty Springfield ราชินีโซลผิวขาวยกอัลบั้ม ก็ให้รู้สึกตื่นเต้นอยากฟังขึ้นมาทันที แต่พอได้ฟังจริงๆก็ไม่ค่อยจะประทับใจเท่าไหร่นัก แม้ว่า Shelby จะไม่ใช่นักร้องกระจอกๆ ทำให้ตระหนักขึ้นมาได้ว่าการที่จะทำเพลงเมมเฟิสโซลนั้น ไม่ใช่ใครก็คิดอยากทำแล้วจะทำได้ดีเสมอไป คุณต้องมี element อะไรบางอย่างในการที่จะเข้าถึงมัน แต่แล้วความรู้สึกนี้ก็กลับมาอีกครั้งเมื่อทราบข่าวว่า Sheryl Crow (ผู้กำลังโด่งดังจากการที่คนสับสนชื่อเธอกับ Cheryl Cole!) ประกาศจะทำอัลบั้มชื่อเท่ 100 Miles From Memphis นี้ โครว์เกิดที่ Kennett, Missouri ห่างออกจาก Memphis ไปแค่ 100 ไมล์ และมันก็ไม่ไกลเกินไปกว่าที่เชอรีล โครว์ในวัยเยาว์จะได้รับอิทธิพลจากดนตรีแบบเมืองเมมฟิส (เมืองใหญ่ในรัฐเทนเนสซี)

โซลของเมมฟิส หรือจะเรียกว่าเมมฟิสโซลไปเลยก็ได้นี้ เริ่มก่อร่างสร้างตัวกันตั้งแต่ยุคกลาง 60’s และจะฟังตัวอย่างได้ชัดแจ๋วจากงานของ Otis Redding, Al Green, Wilson Pickett และวงแบ็คอัพประจำสังกัด Stax Records- Booker T. and the MGs หรือแม้แต่งานช่วงปลาย 60’s ของ Elvis Presley เมมฟิสโซลจะมีเอกลักษณ์ที่ความพร้อมเพรียงและไพเราะของท่อนเครื่องเป่าและริธึ่มเซ็กชั่น ซึ่งจะต่างออกไปจากโซลของโมทาวน์หรือฟิลาเดิลเฟีย มันคือการเอา Southern Soul มาทำให้กลมกล่อมขึ้น เน้นจังหวะจะโคนแบบ rhythm and blues และหยอดทำนองเพราะๆแบบ gospel ลงไป แน่นอนว่าธรรมชาติโดยตัวตนและน้ำเสียงของเชอรีล เธอไม่ใช่นักร้องโซล แต่มีอะไรบางอย่างที่บอกว่า การที่เธอมาลองของกับดนตรีแนวนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจกว่าฟังเธอร้องคันทรี่-โฟล์ค-ป๊อบแบบเดิมๆ ที่ใครก็รู้ว่าเธอเชี่ยวชาญแค่ไหน ผมหวังมากเสียจนลืมไปแล้วว่าเคยผิดหวังกับ Shelby Lynn เมื่อไม่นานมานี้เอง.....

บุคลกรสำคัญที่เข้ามาช่วยเหลือเชอรีลในอัลบั้มนี้คือสองโปรดิวเซอร์ Justin Stanley (เคยทำงานกับ The Vines และ Mark Ronson) และ Doyle Bramhall II (มือกีต้าร์หนุ่มผู้ยืนข้าง Eric Clapton มาหลายปี) และทีมเครื่องเป่าเล็กๆที่พร้อมจะให้เสียงแบบ Memphis soul กันเต็มที่ และจะด้วยเหตุผลทางการตลาดหรือความเหมาะสมทางศิลปะก็ไม่ทราบได้ ยังมีรายชื่อแขกรับเชิญที่ขายได้แน่ๆอีก 2 หน่อ คือ ท่าน Keith Richards และจอม featuring Justin Timberlake

ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามแผน แม้ว่าจะไม่เกิดสิ่งมหัศจรรย์ดลบันดาลให้เสียงร้องของเชอรีลกลายเป็น Aretha Franklin แต่ด้วยความช่ำชองในการ phrasing และจังหวะในการเข้าทำของเธอ ทำให้นักร้องสาววัย 48 ของเราเอาตัวรอดไปได้สบายๆทั้ง 12 เพลง เพลงใหม่ที่เธอและทีมงานร่วมกันประพันธ์กันขึ้นมาก็ดูกลมกลืนและรับกันได้กับ image ของนักร้องและ style ดนตรี ทีมเครื่องเป่าก็ทำงานกันอย่างคึกครื้นและเฉียบขาด Doyle ก็ได้โชว์กีต้าร์ของเขาพอสมควร มีหลาย lick ที่น่าจะเป็นผลมาจากการทัวร์ยาวนานกับ Clapton และบางช่วงก็ให้นึกถึง Steve Cropper ผู้เป็นเจ้าของเสียงกีต้าร์ในเพลงคลาสสิกมากมายของ Stax

แต่ไม่น่าเชื่อว่า Sheryl Crow และทีมงานจะมาตกม้าตายง่ายๆตรง... ความยาวเพลง ครับ 12 เพลงใน 100 Miles… มีแค่ “I Want You Back” ที่เธอร้องอุทิศให้ไมเคิล แจ็คสันเพลงเดียวเท่านั้นที่สั้นกว่า 4 นาที และ มียาวเกิน 5 นาทีอีกถึง 6 เพลง มันไม่มีกฎห้ามทำเพลงป๊อบหรือโซลยาวๆหรอกครับ แต่แทบทุกเพลงในอัลบั้มนี้แสดงให้เห็นว่าสามารถจบได้ใน 3-4 นาที แต่วงก็ยังทำเพลงยืดยาวออกไปด้วยการแจม ทำให้รู้สึกว่าทำไมมันไม่จบเสียที ผมเชื่อว่าถ้ามีการ edit ให้สั้นลง นี่จะเป็นอัลบั้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมอาจจะถึงขั้นเพิ่มให้ได้อีก 1 ดาวเลยทีเดียว

การใส่เครื่องเป่าลงมามากมาย บวกกับแต่ละเพลงยาวเฟื้อยก็ทำให้แม้แต่คนที่รักเสียง horn ก็ยังล้าไปเหมือนกัน ยังดีที่เชอรีลมีเบรคให้ด้วยเพลงช้าเน้นเปียโน,เครื่องสายและกีต้าร์อย่าง Stop และ Sideways ที่ร้องคู่กับ Citizen Cope โดยเฉพาะ Stop นั้นไพเราะสง่างามพอที่จะเรียกได้ว่าเป็น “Sheryl In Memphis” ได้เลย เธอคอนโทรลเสียงร้องได้ราวกับร้องเพลงแนวนี้มาทั้งชีวิต

แขกรับเชิญ Keef ณ หินกลิ้งในเร็กเก้-โซล “Eye to Eye” และ Justin ในเพลงเก่าของ Terence Trent D’Arby “Sign Your Name” ล้วนทำตัวเป็นแขกที่ดี ไม่กระโตกระตากขโมยซีนเจ้าของอัลบั้ม พูดอีกอย่างคือ ไม่ต้องมาก็คงไม่ต่างอะไรนัก.... เพลงของคีธก็ฟังโยกๆเพลินๆ ส่วนเพลงเก่าของดีอาร์บี้ยังทำได้ไม่ถึงระดับของดั้งเดิมที่ถือเป็นความคลาสสิกของยุค 80’s ไปแล้ว (แนะนำให้หามาฟังกันนะครับ สำหรับอัลบั้มเปิดตัวอันยิ่งใหญ่ของเขา--ก่อนที่จะร่วงวูบหายไปบนท้องฟ้าแห่งดารา)

ไปๆมาๆเพลงที่เธอทำได้ดีที่สุดในอัลบั้มก็คือเพลงแบบ sunshine-summer pop สดใสอย่าง “Summer Day”, “Long Road Home” และ “Peaceful Feeling” ที่หวนคิดถึงสมัยที่มีตู้เพลงหยอดเหรียญในร้านอาหาร มันเป็นเพลงที่คุณพร้อมจะควักเหรียญหยอดฟังแล้วฟังเล่าโดยไม่แคร์ว่าใครอื่นจะเบื่อหน่ายแค่ไหน และมันก็คือเพลงป๊อบแบบเดิมๆของโครว์ที่เพิ่มเสียง soulful female chorus , horns และกีต้าร์บาดๆของ Doyle เข้ามาเท่านั้นเอง... คุณอาจจะนำเพลงดังๆของเธออย่าง “All I Wanna Do” หริอใหม่ๆหน่อยอย่างจากอัลบั้มที่แล้ว “Love Is Free” มาทำทรีทเมนต์อย่างนี้ได้เสมอ

ถ้าคุณยังจำได้ เชอรีลเคยเป็นนักร้องแบ็คอัพให้ไมเคิล แจ็คสันมาก่อนตอนเธอสาวๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เธอจะร้องเพลงให้ราชาเพลงป๊อบผู้ล่วงลับสักเพลงในอัลบั้ม แต่คงไม่มีใครคาดว่าเสียงของเธอในวัยนี้จะไปพ้องกับโทนเสียงของไมเคิลในวัยเยาว์ได้มากมายจนน่าขนลุกขนาดนี้ และทั้งดนตรีและเสียงประสานชี้ไปในทางเดียวกันว่านี่คือการ cover แบบจงใจให้เคารพต้นฉบับที่สุด เพื่อเป็นเกียรติแก่ไมเคิล และ The Jackson 5

เป็นงาน POP ที่น่าฟังอีกชุดหนึ่งของปีนี้ และถือว่าโครว์ยังทำงานได้มาตรฐานเดิมของเธอ Memphis Soul style ในอัลบั้มนี้ถือเป็นแค่การเปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่ได้ทำให้แฟนเก่าๆจำหน้าเธอไม่ได้ และนักฟังดนตรีโซลที่ใจเปิดกว้างก็น่าจะสนุกสนานไปกับหลายเพลงในนี้ได้ แต่ด้วยปัญหาเรื่องความยาวที่มากเกินไปในแต่ละเพลงจึงแนะนำให้อย่าฟังติดต่อกันรวดเดียวทั้งอัลบั้มครับ.

tracklist

Our Love Is Fading 6:21

Eye To Eye 5:33

Sign Your Name 5:37

Summer Day 4:30

Long Road Home 4:13

Say What You Want 4:48

Peaceful Feeling 4:02

Stop 4:39

Sideways 5:09

100 Miles From Memphis 4:59

Roses And Moonlight 6:39

I Want You Back 3:05

Monday 5 July 2010

Rox-Memoirs


“Roxanne”

Rox-Memoirs (Rough Trade ) ****

ออกจำหน่าย-พ.ค. 2010
แนวดนตรี- Modern Soul, Pop, R&B
โปรดิวเซอร์-Shux, TMS Productions, Sun G, Simone Lombardie

ทำท่าจะ out ไปเสียแล้ว สำหรับแนวเพลง Retro-Soul โดยนักร้องสาวรุ่นใหม่ ที่ยอดหญิง Amy Winehouse เปิดประตูไว้ใน Back To Black และเพลง Rehab ของเธอ สัมผัสแรกในงานเปิดตัวของสาวน้อย Rox นี้ คิดถึงแต่ว่าเธอคงจะมาทดแทนความคิดถึงระหว่างที่รออัลบั้มใหม่ของ Amy, Adele และ/หรือ Duffy ได้ แต่เมื่อฟังนานเข้าจึงพบว่า Memoirs ยังมีอิทธิพลของ Lauryn Hill จากอัลบั้ม The Miseducation of…. ซึ่งเป็นงานเดี่ยวของเธอเพียงชุดเดียวจากปี 1999 อยู่ด้วย โดยเฉพาะในครึ่งหลังของอัลบั้ม ใครที่เฝ้ารองานใหม่ของฮิลล์มาข้ามศตวรรษ ผมเชื่อว่าหลายเพลงใน Memoirs จะทำให้คุณคลายความคิดถึงเธอไปได้บ้าง (ส่วนตัวผมยกย่องอัลบั้มนี้ของฮิลล์มากมายอยู่แล้วในฐานะเป็นอัลบั้มแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงฮิปฮอปนั้นมีความน่าฟังตรงไหน!)

Rox คือชื่อเล่นของ Roxanne Tataei ลูกครึ่ง จาไมกัน-อิหร่าน วัย 21 ปี แต่เธอใช้ชีวิตในอังกฤษมาตลอด หนทางก่อนที่จะได้มาเป็นศิลปินคนใหม่ของ Rough Trade (ที่แทบไม่เคยจะมีศิลปินแนวนี้ในสังกัด) นั้นไม่ได้มาทางลัดจากการประกวดคอนเทสต์ใดๆ แต่เธอหล่อหลอมความเป็นนักร้องจากการร้องเพลงในโบสถ์วันเสาร์ทั้งวันเหมือนนักร้องชั้นยอดรุ่นเก่าๆ Rox ได้กีต้าร์ตัวแรกตั้งแต่อายุ 14 ปี และเธอก็เริ่มสนใจในแนวดนตรีหลากหลาย ตั้งแต่ Portishead, Joni Mitchell, Alanis Morissette และ Mary J. Blige

และก็เป็น Joni Mitchell ที่ทำให้หนูน้อย Rox มีความสนใจที่จะทำดนตรีที่มีการเรียบเรียงที่ซับซ้อนและอิงแนวแจ๊ซ เธอตั้งวง Acoustic Jazz ขึ้นในปี 2007 และเริ่มสร้างชื่อเสียงจากลีลาการแสดงบนเวที จนเป็นที่จับตามองของแมวมองหลายสังกัด แต่เธอก็เลือกค่าย Rough Trade ที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้อิสระแก่ศิลปินเต็มที่

สำหรับการทำงานในอัลบั้มนี้ Rox ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ Commissioner Gordon ผู้เคยมีเครคิตในการโปรดิวซ์ให้ Lauryn Hill และ Damian Marley มาก่อน งานนี้เธอได้มีโอกาสแจมกับนักดนตรีขั้นเทพที่เคยร่วมเล่นกับ Bob Marley และ The Skatalites มาแล้ว การบันทึกเสียงในอเมริกานี้เป็น basic tracks ให้หลายเพลงใน Memoirs จากนั้น Rox หอบมาสเตอร์เทปกลับอังกฤษแล้วหันมาใช้บริการของเพื่อนวัยใกล้เคียงกันนาม Al Shux ผู้ร่วมแต่งเพลง Empire State Of Mind อันยิ่งใหญ่ร่วมกับ Jay-Z Rox เล่าว่าการทำงานกับ Shux นั้นทำให้ได้อีกมุมมองหนึ่งของการผลิตดนตรีที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงกับมือเก๋าอย่าง Gordon

นั่นอาจทำให้ Memoirs เป็นอัลบั้มที่ผสมผสานความคลาสสิกลายครามกับความเนี้ยบทันสมัยของการบันทึกเสียงยุคดิจิตัลไว้ได้อย่างเหมาะเจาะ!

‘No Going Back’ เปิดอัลบั้มอย่างคึกโครมยิ่งใหญ่ แม้จะอดคิดไม่ได้ว่าพยายามจะเดินตามรอย Rehab ของ Amy Winehouse อยู่บ้าง Rox ร่วมแต่งทุกเพลงในอัลบั้ม เนื้อหาว่าถึงการบอกตัวเองไม่ให้กลับไปคืนดีกับคนรักเดิม คอรัสเป็นการระเบิดอารมณ์ที่กระหึ่มนัก ‘Do As I Say ‘โซลบัลลาดง่ายๆที่ขายความไพเราะและเสียง falsetto ของเธอ มันเป็นเพลงที่ Norah Jones จะร้องได้ดีในยามเมามาย ‘Page Unfolds’ จังหวะปานกลางที่ Rox ร้องได้ Rock กว่าทุกเพลง คลอด้วยเสียงประสานจาก Gospel choir ‘I Don’t Believe’ และ ‘My Baby Left Me’ (คนละเพลงกับของ Elvis Presley) เป็น Upbeat R&B ที่สนุกสนานแบบไม่เอาสาระในเนื้อหา แต่ดนตรีสดชื่นทรงพลังและเต็มไปด้วย gimmick ที่จะตรึงหูผู้ฟังทั้งเสียงปรบมือ เสียงประสาน และเครีองประดับประดาทางเสียงแพรวพราว สองเพลงนี้ถูกวางเป็นซิงเกิ้ลและดูจะมีความพยายามที่จะให้สไตล์นี้เป็นภาพพจน์ของเธอต่อนักฟัง สาวน้อยผมหั่นสั้นกับเพลงโซลเร้าใจไม่ยี่หระชีวิต

แต่เพลงที่เหลือใน Memoirs นั้นพบว่า Rox เลิกทำตัวเฮฮาปาร์ตี้และหันไปแสดงอิทธิพลทางดนตรีอันกว้างไกลและหลากหลาย เล่นกับอคูสติดในแนวของ India.arie ใน ‘Heart
Ran Dry’, โยกกับจังหวะ Reggae เสียหน่อยไม่ให้เสียชื่อลูกครึ่งจาไมกันใน ‘Rocksteady’, Memphis Soul เนี้ยบๆแบบ Dusty Springfield ใน ‘Breakfast In Bed’ และทำตัวเป็นหลานสาวของ Lauryn Hill ใน ‘Precious Moments’ (เพลงนี้ราวกับเป็นเพลงตกค้างจาก The Miseducation of…) , ‘Oh My’ และ ‘Sad Eyes’ สองเพลงที่ Rox ร้องแบบเน้นๆและสุดเหงาสลับการตะโกนโชว์เรนจ์ ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงอายุแค่ 21 จะประเคนอารมณ์ลงไปในตัวโน้ตได้อารมณ์กระจายขนาดนี้ (มี hidden track ซ่อนไว้อีกเพลง อย่าเพิ่งรีบปิด)

ถึงท่านยังไม่ได้ฟังคงจะพอสรุปได้ว่านี่เป็นอัลบั้มที่จับฉ่ายเหลือเกิน เหมือนคนนู้นคนนี้คนนั้นเต็มไปหมด แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าน้ำเสียง และวิธีการร้องของ Rox นั้นยอดเยี่ยม และเธอก็มีแววจะเป็นนักแต่งเพลงที่สร้างแนวร่วมประชานิยมได้ไม่ยาก น่าติดตามอย่างยิ่งสำหรับอัลบั้มต่อไป ส่วน Memoirs นี้น่าจะเป็นอัลบั้มที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาฟังเพลง Soul กันได้ไม่ยาก เพราะย่อยง่ายฟังไพเราะได้โดยพลันครับ



Tracklist:
1. No Going Back ( 4:15)
2. Do As I Say (3:47)
3. Page Unfolds (3:36)
4. I Don’t Believe (2:36)
5. My Baby Left Me (3:33)
6. Forever Always Wishing (3:13)
7. Heart Ran Dry (4:28)
8. Breakfast In Bed (3:28)
9. Precious Moments (4:49)
10. Rocksteady (3:30)
11. Oh My (4:39)
12. Sad Eyes (8:43)

Sunday 4 July 2010

Rolling Stones: Exile on Main St.


“A Masterpiece of gritty Rock & Roll”


Rolling Stones/Exile on Main St. (deluxe edition) *****

ออกจำหน่าย-พ.ค. 2010 (ต้นฉบับออกเมื่อ พ.ค. 1972)
แนวดนตรี-Rock, blues-rock, country rock, folk, soul, gospel, Boogie-woogie
โปรดิวเซอร์ – Jimmy Miller (Bonus tracks โดย Don Was และ The Glimmer Twins)

พฤติกรรมของคนรักดนตรีที่เกิดไม่ทันงานคลาสสิกที่ออกมาก่อนพวกเขาจะประสีประสาในการฟังเพลงก็คือการออก “ตามล่า” เก็บงานระดับที่วงการยอมรับว่า “ยอดเยี่ยมตลอดกาล” ตามอันดับชาร์ตและโพลล์ต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นนักฟังที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกและรสนิยมของตัวเอง ก็จะพบเป็นประจำว่าหลายครั้งต้องเกาหัวแกรกด้วยความไม่เข้าใจว่างานแบบนี้ล่ะนะที่วงการเขายกย่องกันว่าเหนือชั้นและต้องมีเก็บเอาไว้ ฟังยังไงก็ไม่เห็นจะได้เรื่อง

เหตุการณ์ทุกเหตุย่อมมีคำอธิบายและกรณีอย่างนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อผมคว้า Exile on Main St. ของสโตนส์มาฟังเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน มันเป็น Double LP ที่มีเพลงดังของพวกเขาแค่เพลงเดียว หรืออย่างมากก็สองเพลง ที่เหลือคืออีก 16 เพลงที่บันทึกเสียงกันแบบอู้อี้ ด้วยฝีมือของนักดนตรีที่พร้อมจะเมาหลับหรือไม่ก็ยังไม่สร่าง และบทเพลงบลูส์เก่าๆที่ฟังดูเรื่อยเปื่อยหาจุดโฟกัสไม่ได้

ผมโทษตัวเองก่อนว่าเราคงจะ “หูไม่ถึง” และคงต้องใช้เวลากับมันอีกพอสมควรถึงจะสัมผัสกับความอัจฉริยะที่แท้จริงของ มิค แจ็กเกอร์, คีธ ริชาร์ดส์, มิค เทย์เลอร์, บิล ไวแมน และ ชาร์ลี วัตต์ส ในอัลบั้มนี้ แต่ดูเหมือนเวลาจะไม่ช่วยอะไร กี่ปีผ่าน ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าอัลบั้มนี้มีดีอะไร เมื่อเทียบกับงานอย่าง Sticky Fingers, Let It Bleed หรือ Beggars Banquet ที่ออกมาในยุคที่วงร้อนแรงในขณะนั้น

กุญแจสำคัญที่จะทำให้ฟัง Exile ได้อย่างมีความสุขก็คือ ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ audiophile album ที่บันทึกเสียงอย่างเนี้ยบ มันไม่ใช่อัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงฮิตและท่อนฮุคอย่าง Brown Sugar, Jumpin’ Jack Flash หรือเป็นงานที่ผ่านการโปรดิวซ์และตัดต่ออย่างปราณีตเหมือน เพลง Sympathy For The Devil

ตรงข้าม Exile on Main St. คือมาสเตอร์พีซของงานดิบหยาบ ที่อาจจะถือเป็นต้นธารของดนตรีกรันจ์ งานที่สโตนส์ไม่ใส่ใจจะทำเพลงฮิตเอาไว้เล่นในคอนเสิร์ต มันคือหินกลิ้งในยุคที่ไม่ยึดติดกับอะไร และดำดิ่งไปในรากของแนวดนตรีอเมริกันที่พวกเขารัก โดยเฉพาะบลูส์ คันทรี่ และกอสเพล คุณภาพของการมิกซ์เสียงถือว่าสอบตกถ้าวัดกันด้วยมาตรฐานหูทอง เสียงร้องของมิคถูกกดทับและเบาหวิว ชิ้นดนตรีเบียดกระเสียนกันอย่างไร้มิติราวกับเป็นการบันทึกเสียงแบบโมโน

แต่ทั้งหมดคือเสน่ห์ของอัลบั้มนี้ ที่ไม่เหมือนกับอัลบั้มใดของสโตนส์ และอาจจะไม่เหมือนอัลบั้มใดในโลก! คุณอาจจะทราบมาก่อนว่าส่วนหนึ่งของอัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ชั้นใต้ดินของวิลล่าหรูที่คีธเช่าไว้ในตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่ไม่แปลกถ้าคุณจะคิดว่านี่คืออัลบั้มที่คุณถือเครื่องเล่นเทปเข้าไปแอบอัดด้วยตัวเอง

ดาราร็อคอังกฤษยุคนั้นประสบปัญหาเกี่ยวกับภาษีที่สูงปรี้ดกันถ้วนหน้าและสโตนส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น การอพยพมาบันทึกเสียงกันต่างประเทศหลายๆเดือนก็เป็นทางออกทางหนึ่ง และหลังจากหาสตูดิโอเหมาะๆในฝรั่งเศสไม่ได้ พวกเขาก็เลยตัดสินใจ set up ห้องอัดกันเองที่ Nellcôte แมนชั่นยุคศตวรรษที่ 19 ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศขรึมทะมึนและงดงาม

วงดนตรีชั้นยอดหลายวงทำงานคลาสสิกออกมาจากการย้ายสถานที่มาอัดเสียงในบ้านแบบนี้ อาทิเช่น Led Zeppelin ในงานชุดที่ 4 ของพวกเขา และ Radiohead กับ OK Computer มันอาจจะไม่สะดวกสบายและได้คุณภาพเสียงเทียบเท่าในห้องอัด แต่สิ่งที่ได้คืนมาคืออารมณ์ศิลปินที่พรั่งพรูกว่าอยู่ในห้องอัดมืดๆและซาวนด์แปลกๆที่ได้มาจากฮอลล์ของอาคารเหล่านี้

Stones ไม่ได้พร้อมหน้าพร้อมตาอะไรกันเลยในการทำงานหลายเดือนใน Exile นี้ มิก แจ็กเกอร์ก็เพิ่งแต่งงานกับเบียงก้าและดูจะไม่มีสมาธิกับงานนัก บิล และ ชาร์ลี ก็มีบ้านพักที่อื่นในฝรั่งเศส ส่วนเจ้าบ้านคีธที่ดูเหมือนจะเป็นพระเอกในงานนี้ ก็ต้องขับเคี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ทั้งแฟนสาว ลูกน้อย และการติดเฮโรอีนอย่างหนักของตัวเอง

แต่ Exile ก็เป็นอัลบั้มโปรดตลอดกาลของคีธเสมอ ปกติเขาจะไม่เล่นแผ่นของสโตนส์ แต่ถ้าเจอ Exile ที่ไหน เขาจะขอหยิบยืมมาเปิดทุกครั้งไป แต่ถ้าไปถามมิค แจ็กเกอร์ เขาจะตอบว่านี่ไม่ใช่งานที่สลักสำคัญอะไรนัก

ถ้าคุณเคยฟังแค่ซิงเกิ้ลฮิต Tumbling Dice หนึ่งในเพลงที่มีจังหวะ ‘groove’ หรือ ย้วยยานกวนโอ๊ยได้น่ารักน่าฟังที่สุดของสโตนส์แล้วจะคิดว่านั่นคือตัวแทนของ Exile ก็ขอให้คิดใหม่ เพราะไม่มีเพลงไหนที่ติดหูฟังง่ายในแบบนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับฟังยากฟังเย็นหาความไพเราะกันไม่ได้

ความที่มันเป็น Double LP ทำให้วงมีพื้นที่เล่นในการใส่เพลงแปลกๆลงไปหลายเพลงเหมือนอย่างที่ The Beatles ทำในอัลบั้มปกขาว เราจึงได้ฟังเพลงหลอนๆอย่าง Sweet Virginia หรือ I Just Want To See His Face เพลงเหล่านี้ฟังดูดีเมื่ออยู่ใน Exile เท่านั้น

ทำใจให้ได้กับสไตล์การมิกซ์เสียงแบบดิบไร้มิติ และปูพื้นฐานการฟังเพลงบลูส์ คันทรี่ โซล และ กอสเพล สักนิด ท่านจะได้ฟัง Rolling Stones เล่นดนตรีหลากแนวเหล่านี้ให้ฟัง ในบริบทและอารมณ์ของร็อคแอนด์โรล อีกสุดสายปลายสเปกตรัมของความเนี้ยบและเมโลดี้อ่อนหวานที่ Beatles เคยทำไว้ คงไม่มีประโยชน์นักที่จะมาสาธยายแต่ละเพลงในอัลบั้มกันตรงนี้ โปรดสัมผัสด้วยวิญญาณของท่านเองเถิดครับ ผมคงไม่ต้องเตือนกระมังว่าคนไม่ชอบเพลงร็อค หรือนิยมในความเนี้ยบของตัวโน้ตและการบันทึกเสียง ไม่ควรนำอัลบั้มนี้เข้าใกล้บริเวณบ้านเป็นอันขาด*

ผมเชื่อว่าถ้ามีการ remix ใหม่ Exile น่าจะฟังดีขึ้น แต่ก็คิดว่าพวกเขาตัดสินใจถูกแล้วที่คงมิกซ์เดิมไว้ เพราะมันเสี่ยงที่เดียวที่จะทำลายเสน่ห์ของมัน เพลงบลูส์เท่ๆของโรเบิร์ต จอห์นสันอย่าง Stop Breaking Down Blues อาจจะไม่ต้องการ fidelity อะไรนัก และ เสียงเครื่องเป่าสุดมันส์ใน Rip This Joint ก็ดูจะสมัครใจเป่ากันอย่างเบียดๆอยู่ในมิกซ์แบบเดิมนั่นแหละ แต่การรีมาสเตอร์ในเวอร์ชั่น 2010 นี้ก็ทำให้เสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นคมชัดและทรงพลังขึ้นเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นเก่าๆครับ

ประเด็นหลักที่ทำให้แฟนเก่าที่ซื้อ Exile ไปหลายรอบแล้วต้องควักกระเป๋าอีกครั้งใน Deluxe Edition นี้ก็คือแผ่น Bonus tracks 10 เพลง ที่อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) เพลงเก่าที่พวกเขาไม่ได้ไปทำอะไรเพิ่มเติม แต่เป็นเวอร์ชั่นและตัวเพลงที่ไม่เคยออกขายมาก่อน คือ I’m Not Signifying บลูส์ข้นๆที่น่าฟังมาก, Good Time Woman บูกี้ร็อคที่เป็นเวอร์ชั่นแรกๆของ Tumbling Dice, เพลงบรรเลงสั้นๆชื่อ Title 5 และ alternative version ของ Loving Cup และ Soul Survivor (เวอร์ชั่นนี้คีธร้องแทนที่จะเป็นมิค) สองเพลงหลังทำให้จินตนาการได้ว่าถ้า Exile ได้รับการรีมิกซ์แล้วเสียงจะเป็นอย่างไร (คำตอบ-ฟังดูดีแฮะ) กลุ่ม 2) คือเพลงเก่าที่สโตนส์เอามาแต่งเติมเพิ่มกีต้าร์และเสียงร้องใหม่เข้าไป Plundered My Soul ถึงกับเรียก Mick Taylor กลับมาเล่นกีต้าร์และเป็นซิงเกิ้ลใหม่ของอัลบั้มนี้ด้วย เพลงที่ฉีกไปเลยคือ Following The River ที่ยังกับเป็น Bridge Over Troubled Water ฉบับหินกลิ้ง Pass The Wine ฟังกี้บลูส์ร้อนๆ Dancing In The Light สว่างเหมือนชื่อเพลง อาจจะเป็นเพลงที่ “ใส” ที่สุดใน 28 แทร็คนี้ และ So Divine (Aladdin Story) ที่ใครฟังก็ต้องนึกถึงไบรอัน โจนส์ผู้ล่วงลับ 10 เพลงใน Bonus disc นี้สามารถเป็นงานชั้นยอดของ rock group อื่นได้สบายๆ แต่มันเป็นแค่เพลงที่สโตนส์คัดทิ้ง!

นี่คือการ reissue ที่สมศักดิ์ศรี gritty masterpiece of Rock & Roll อัลบั้มนี้ครับ สมควรและคุ้มค่าแก่การสะสมและศึกษาถ้าคุณไม่อยู่ในข้อแม้ที่ผมกล่าวข้างบน(*)

CD 1:
1. 'Rocks Off'
2. 'Rip This Joint'
3. 'Shake Your Hips'
4. 'Casino Boogie'
5. 'Tumbling Dice'
6. 'Sweet Virginia'
7. 'Torn and Frayed'
8. 'Sweet Black Angel'
9. 'Loving Cup'
10. 'Happy'
11. Turd on the Run'
12. Ventilator Blues'
13. 'I Just Want to See His Face'
14. 'Let It Loose'
15. 'All Down the Line'
16. 'Stop Breaking Down'
17. 'Shine a Light'
18. 'Soul Survivor'

CD 2: (All previously unreleased material)
1. 'Pass the Wine (Sophia Loren)'
2. 'Plundered My Soul'
3. 'I'm Not Signifying'
4. 'Following the River'
5. 'Dancing in the Light'
6. 'So Divine (Alladin Story)'
7. 'Loving Cup' (Alternate Take)
8. 'Soul Survivor' (Alternate Take)
9. 'Good Time Women'
10. 'Title 5'