Wednesday 8 December 2010

Breakfast In America...again


“Englishmen in Hollywood


Supertramp : Breakfast In America (deluxe edition) *****

Original released: March 1979

Deluxe Edition released: October 2010

Genre: Pop, Progressive Rock

Producer: Peter Henderson, Supertramp

Supertramp เป็นวงดนตรีที่มีอิทธิพลต่อการฟังดนตรีของผมมากมาย พวกเขาแตกต่างจากร็อคกรุ๊ปอื่นๆในยุค 70’s จนไม่รู้จะจัดหมวดหมู่ไปรวมกับใครได้ ภาพลักษณ์ที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็น nerd และ hippie ไปด้วยกันได้ดีกับดนตรีที่ซ่อนความซับซ้อนไว้ในท่วงทำนองที่แสนจะติดหู นักร้องนำสองคนที่เสียงต่างกันราวฟ้าดินและหลายครั้งที่มักจะร้องประชันกัน Supertramp ทำเพลงที่ไม่เน้นกีต้าร์มากเท่าคีย์บอร์ดและเปียโน และพวกเขายังเป็นวงร็อคไม่กี่วงที่นำเสนอเครื่องเป่าอย่างแซ็กโซโฟนและคลาริเน็ต

Deluxe Edition ของ Breakfast In America เป็นโอกาสอันดีงามที่ผมจะได้กลับมาสัมผัส masterpiece ชิ้นนี้อีกครั้ง โครงการ deluxe edition ของ Universal music group นั้นมีมาหลายปีแล้ว และมีอัลบั้มที่ออกในรูปแบบนี้มามากกว่า 100 ชุด ส่วนใหญ่จะเป็นอัลบั้มที่มีความสำคัญระดับหนึ่ง ทุกชุดจะออกเป็นอย่างน้อย 2 ซีดี หรืออาจจะมีดีวีดีด้วย โดยจะมีอัลบั้มดั้งเดิมที่ผ่านการรีมาสเตอร์ล่าสุดควบไปกับแผ่นแถม ที่อาจจะเป็น demo, outtakes หรือบันทึกการแสดงสดที่อัดไว้ในยุคที่วงออกอัลบั้มนั้นๆ และไม่ใช่ว่า deluxe edition ทุกชุดจะได้รับคำชื่นชมเสมอไป บางชุดก็โดนแฟนๆสาดเสียเทเสียทั้งในเรื่องของเพลงแถมที่ไม่เข้าท่า หรือคุณภาพเสียงที่รีมาสเตอร์ออกมาได้ห่วยกว่าเดิม

น่าเสียดายที่แผ่นแถมของ Breakfast ไม่ได้มีเพลงแปลกๆอะไรเลย แต่เป็นการรวมบันทึกการแสดงสดในช่วงปี 1979 จากการแสดงที่ Wembley, Miami และ Paris (ไม่ซ้ำกับในอัลบั้ม Paris) เท่านั้น เพลงส่วนใหญ่ก็มาจาก Breakfast….ครึ่งต่อครึ่ง อย่างไรก็ตามมันก็เป็นแผ่นการแสดงสด12เพลงที่ตัดต่อออกมาได้น่าฟัง คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี และ Supertramp ก็เล่นได้เยี่ยมในแบบฉบับของพวกเขา ตัว original album ผ่านการรีมาสเตอร์ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2010 นี้เองโดย Greg Calbi และฟังด้วยหูธรรมดาๆของผมก็รู้สึกว่ามันคมชัดกระจ่างใสถึงรายละเอียด,โทนเสียงอบอุ่นนิ่มนวลและมีความเป็นดนตรีน่าฟังตลอดแผ่นครับ ปกอัลบั้มเป็น gatefold เปิดได้สี่ท่อน เต็มไปด้วยภาพหายากจากยุคนั้นมากมาย และ booklet ที่มี article ยาวเหยียดจากฝีมือการเขียนของบ.ก.นิตยสาร MOJO, Phil Alexander

Breakfast In America คืออัลบั้มชุดที่ 6 ของวงร็อคจากอังกฤษวงนี้ สามอัลบั้มก่อนหน้านี้คือ Crime of the Century, Crisis?, What Crisis? และ Even In The Quietest Moments สร้างชื่อให้พวกเขาในหลายประเทศในฐานะวงร็อคที่เล่นเพลงโปรเกรสซีพป๊อบในแนวทางของตัวเอง และบทเพลงที่มีเนื้อหาทางปรัชญาและจิตวิญญาณ แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่าพวกเขาจะมีอัลบั้มที่เต็มไปด้วยซิงเกิ้ลฮิตและขายดีระเบิดอย่าง Breakfast.. ออกมา พวกเขาย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในอเมริกาในช่วงบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ ประจวบเหมาะเข้ากับเพลงและชื่ออัลบั้มที่ Hodgson แต่งไว้ตั้งแต่อายุ 17 ด้วยความคิดแบบวัยรุ่นอังกฤษที่คิดว่าถ้าได้ไปอยู่อเมริกาแล้วจะหาสาวๆได้ง่าย ชื่อ Breakfast In America ถูกนำมาใช้แทนสองชื่อที่เคยเป็นชื่อชั่วคราวก่อนของอัลบั้มนี้อย่าง Working Title และ Hello Stranger และมันก็เป็นชื่อที่ชี้นำแนวทางของดนตรีในอัลบั้มไปโดยปริยาย นัยหนึ่งมันคือซาวนด์แทร็คของมุมมองคนนอกต่ออเมริกาในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพลวงตาของเมืองมายาในแทร็คเปิดอัลบั้ม Gone Hollywood ชีวิตรักข้ามคืนของร็อคสตาร์กับเหล่ากรุ๊ปปี้สาวๆที่เขียนไว้ได้อย่างเจ็บปวดใน Goodbye Stranger ความกดดันทางจิตใจและความสัมพันธ์ในวงเองที่ริคเขียนไว้ใน Just Another Nervous Wreck และ Casual Conversations

แต่เพลงที่เป็นพระเอกจริงๆของอัลบั้มล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของ Hodgson โดยเฉพาะ The Logical Song ที่เป็นเหมือน Stairway To Heaven ของ Supertramp มันเป็นเพลงตั้งคำถามต่อชีวิตที่อาจจะไพเราะและมีสีสันทางดนตรีที่สุดที่เคยมีมา รวมไปถึงท่อนแซ็กโซโฟนโซโลอมตะของ John Helliwell ที่มีการเปิดเผยเคล็ดลับกันว่าอัดเสียงกันในห้องน้ำ! เพลงดังอีกเพลง-Take The Long Way Home นั้นเหมือนจะเขียนขึ้นมาจากชีวิตที่แปลกแยกในแอลเอของพวกเขา ยังมีบัลลาดที่โชว์เสียงของ Hodgson เน้นๆอย่าง Lord Is It Mine แต่เพลงปิดท้าย Child of Vision กลับหนักหน่วงซับซ้อนยาวเฟื้อยเป็นที่ถูกใจแฟนเพลงที่ค่อนข้างชอบแนวทาง Progressive ของวงมากกว่าป๊อบ

ถ้าคุณเป็นแฟนวงนี้มาก่อนและเคยมีอัลบั้มนี้อยู่แล้ว แพ็กเกจที่สวยงาม,ราคาที่น่าคบหา,แผ่นแสดงสดและคุณภาพในการรีมาสเตอร์ครั้งนี้คงทำให้ตัดสินใจเสียเงินอีกครั้งได้ไม่ยาก และสำหรับผู้คิดจะเริ่มต้นเดินทางไปกับ Supertramp นี่ถือเป็นประตูทางเข้าที่ดีครับ ข่าวว่าปีหน้าอาจจะมี deluxe edition ของอัลบั้ม Crime of the Century ออกมากันอีก ถ้างานออกมาดีอย่างนี้ก็น่าเสียเงินให้กันอีกครับ

Track listing

"Gone Hollywood" – 5:20

"The Logical Song" – 4:10

"Goodbye Stranger" – 5:50

"Breakfast in America" – 2:38

"Oh Darling" – 3:58

"Take the Long Way Home" – 5:08

"Lord Is It Mine" – 4:09

"Just Another Nervous Wreck" – 4:26

"Casual Conversations" – 2:58

"Child of Vision" – 7:25

-------------

Deluxe Edition Disc 2

"The Logical Song" (Live At Pavillon de Paris) - 4:06

"Goodbye Stranger" (Live At Pavillon de Paris) - 6:11

"Breakfast In America" (Live At Wembley) - 3:05

"Oh Darling" (Live In Miami) - 4:21

"Take The Long Way Home" (Live At Wembley) - 4:48

"Another Man's Woman" (Live At Pavillon de Paris) - 7:32

"Even In The Quietest Moments" (Live At Pavillon de Paris) - 5:36

"Rudy" (Live At Wembley) - 7:29

"Downstream" (Live At Pavillon de Paris) - 3:28

"Give A Little Bit" (Live At Pavillon de Paris) - 4:03

"From Now On" (Live At Wembley) - 6:53

"Child Of Vision" (Live At Pavillon de Paris) - 7:32

Tuesday 7 December 2010

"I heard a Rumer"




Rumer-Seasons of My Soul ****
Released: November 2010
Genre: Vocal Pop
Producer: Steve Brown

การนำเสนอชื่อศิลปินด้วยคำๆเดียวไม่มีนามสกุลของนักร้องหญิงนั้นมีมาตั้งแต่สมัย Lulu จนกระทั่งถึงยุคของ Adele และ Duffy มันอาจจะเป็นเหตุผลทางการตลาดเป็นหลัก แต่สำหรับ Sarah Joyce ที่นำชื่อนี้มาจากนักเขียน Margaret Rumer Gordon เจ้าของงานเขียน Black Narcissus (1939) หนังสือเล่มโปรดของคุณแม่ของเธอผู้ล่วงลับไปในปี 2003 เธอเลือกชื่อนี้เพราะเธอรู้สึกว่าชื่อนี้สื่อสารกับเธอได้ และมันเหมือนกับคุณแม่ได้เลือกชื่อใหม่นี้ให้เธอสำหรับช่วงชีวิตใหม่ของผู้หญิงลูกครึ่งอังกฤษ-ปากีสถานวัย31ปีคนนี้ที่ต้องยืนหยัดโดยไม่มีแม่อีกต่อไป

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ยาวไกลกว่าจะมาเป็น Seasons Of My Soul ช่างเป็นอะไรที่กลับตาลปัตรกับการ “เกิด” ของศิลปินข้ามคืนจาก reality show มากมายในทุกวันนี้ (ไม่เว้นแม้แต่ Susan Boyle) Rumer เคยบันทึกเสียงในห้องอัดมาก่อนแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อนในนามของผู้นำวงอินดี้ La Honda และในปี 2005 เธอก็ได้ทำงานร่วมกับ Carly Simon และลูกชายของเธอ Ben Taylor ในอัลบั้ม Another Run Around The Sun แต่แน่นอนว่าแทบไม่มีใครจำอะไรเธอได้ Rumer หายต๋อมไปจากวงการ เธอกลับไปทำงานเลี้ยงชีพในหลายรูปแบบมากมายทั้งสอนหนังสือ,ขายโฆษณา หรือกระทั่งซ่อม iPod แต่ความฝันในการมีเพลงของตัวเอง ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงยังอยู่ในหัวใจเสมอ

Seasons Of My Soul ชื่อนี้ได้มาจากการทำงานอันยาวนานของ Rumer ในอัลบั้มชุดนี้ จนความรู้สึกต่างๆหมุนวนกลับมาซ้ำรอยเดิมเหมือนฤดูกาล....ฤดูแห่งวิญญาณและอารมณ์ เมื่อถูกถามให้บรรยายอัลบั้มนี้ด้วยประโยคสั้นๆ เธอบอกว่ามันคือ “อัลบั้มของนักร้อง-นักแต่งเพลงที่มีอารมณ์ของโซล/แจ๊ซ มันน่าฟังในแบบเดียวกับงานของ Norah Jones และ Diana Krall คุณอาจจะเปิดมันเป็น background music หรือจะชิลเอาท์กับมันแบบแจ๊ซๆก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นแฟนเพลงของศิลปินในแบบ singer-songwriter ดิฉันเชื่อว่าคุณจะเข้าถึงมันได้อย่างลึกซึ้งทั้งทางด้านเนื้อหาและอารมณ์” ให้ตายสิ นี่ช่างเป็นการรีวิวอัลบั้มตัวเองที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินมาจนเราแทบจะไม่ต้องเขียนอะไรต่อ

มันคืออัลบั้มที่หลุดพ้นจากกระแสนิยมและห้วงเวลาปัจจุบันโดยสิ้นเชิง นี่คือดนตรีที่นุ่มนวลเรียบง่ายละเมียดละไมอ่อนหวานในแบบที่ Burt Bacharach เคยทำไว้ในงานของ Dionne Warwick ในแบบที่ Richard Carpenter เคยเรียบเรียงให้น้องสาวเขาขับร้อง ในแบบที่ Carole King เคยนั่งลงประพันธ์กับสามีของเธอ Gerry Goffin แต่นี่ไม่ใช่งาน cover ไม่นับ Goodbye Girl ทุกเพลงเป็นงานประพันธ์ของเธอ นี่ไม่ใช่งานดนตรีแหวกแนวสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆให้วงการ แต่เป็นการกลับไปทำดนตรีเก่าๆด้วยเพลงใหม่ๆอีกครั้ง... ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ Burt Bacharach นักแต่งเพลง-โปรดิวเซอร์ระดับตำนานวัย82ปีจะประทับใจกับเพลงและเสียงร้องของเธอทันทีที่เขาได้ยินซิงเกิ้ลแรก Slow ถึงขั้นติดต่อให้เธอไปร้องเพลงให้ฟังสดๆที่บ้าน เพราะอะไรหลายๆอย่างใน Seasons Of My Soul เต็มไปด้วยลายเซ็นของ Burt ไม่ว่าจะเป็นเมโลดี้ การใช้เสียงประสาน และเครื่องเป่าอย่าง Flugelhorn ที่เป็นเอกลักษณ์ในเพลงคลาสสิกหลายๆเพลงของ Burt (แน่นอนว่ารวมทั้งเสียงเครื่องสายอบอุ่น,เครื่องเคาะจังหวะกรุ๋งกริ๋งและเสียง B4 ออร์แกนที่แสนจะโบราณคร่ำครึแต่ก็แสนจะไพเราะ) แหล่งข่าวแจ้งว่าเชื่อว่าเราคงจะได้เห็นการร่วมงานของ Burt กับ Rumer ในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามผลงานดนตรีอันสวยสดในชุดนี้ก็ต้องยกเครดิตให้โปรดิวเซอร์ Steve Brown ผู้ที่ถือว่าเป็นผู้ “ค้นพบ”เธอด้วยโดยบังเอิญในการแสดงที่คลับแห่งหนึ่งในลอนดอน เขาเป็นผู้เติมความเป็นแจ๊ซในหัวใจที่เต็มไปด้วย Soul ของ Rumer จนเป็นการพบกันครึ่งทางที่ลงตัวสมบูรณ์ยิ่งในอัลบั้มที่ใช้เวลาทำงานถึงสองปีครึ่งนี้

หลายคนพยายามเปรียบเทียบเสียงของ Rumer กับ Karen Carpenter แต่ผมคิดว่าที่เหมือนจริงๆคือ ดนตรีที่ใกล้เคียงกับของ Carpenters และการ phrasing ของ Rumer มากกว่าน้ำเสียงจริงๆ เสียงของ Karen จะใสและลึกกว่า ทุกตัวโน้ตจะแฝงด้วยอารมณ์ผ่องใส ส่วนเสียงของ Rumer นั้นเบาบางหวานพริ้ว และสิ่งที่ได้ยินทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเธอมีความเศร้าโศกลึกๆอยู่ในใจตลอดเวลาที่เธอเปล่งคำร้องเหล่านั้น

Slow ทำให้คู่รักที่แต่งงานกันมาเป็นสิบปีลุกขึ้นมาสโลว์ซบกันอีกครั้ง Aretha ทำให้คุณคิดถึงยามเช้าที่คุณอยากตื่นมานั่งฟังเพลงอยู่คนเดียวในห้องมากกว่าจะไปโรงเรียนที่ไม่มีใครเข้าใจคุณซักคนนอกจากเสียงร้องของนักร้องคนโปรดที่ร้องอยู่ในเฮดโฟน Am I Forgiven จะทำให้คุณหัวเราะในความไร้ฟอร์มของคุณ แต่คุณก็จะทำมันอีกครั้งเพื่อคนที่คุณรัก Rumer เป็นนักร้องรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่ทำให้คุณรู้สึกว่า ที่เธอร้องอยู่นั้น เธอกำลังสบตาคุณอยู่ เธอร้องให้คุณฟัง และสำหรับแฟนเพลงสาวๆ Goodbye Girl คือการกล่าวสวัสดีของพี่สาวหรือคุณแม่ที่สัญญาว่าจะกลับมาร้องเพลงให้ฟังอีกเร็วๆนี้ “Goodbye doesn’t mean forever.” (แต่ผมก็ยังชอบที่ David Gates ร้องมากกว่านะ)

แต่ถ้า Rumer จะไม่มีอัลบั้มใดๆต่อจาก Seasons Of My Soul อีกแล้ว นี่ก็จะยังเป็นงานคลาสสิกงานหนึ่งของวงการดนตรีและโลกก็จะไม่ลืมเธออีกหลังจากได้ยินเธอแล้วอย่างชุ่มชื่นเต็มหัวใจและวิญญาณในครั้งนี้ สำหรับหลายๆคนนี่คือบทเพลงแห่งฤดูกาลสุดท้ายที่เขาหรือเธอจะจดจำตลอดไปสำหรับปี 2010

Tracklist:

1.
"Am I Forgiven?"
3:28
2.
"Come to Me High"
2:49
3.
"
Slow"
3:32
4.
"Take Me As I Am"
3:45
5.
"
Aretha"
3:15
6.
"Saving Grace"
3:20
7.
"Thankful"
3:36
8.
"Healer"
3:14
9.
"Blackbird"
3:55
10.
"On My Way Home"
4:29
11.
"Goodbye Girl"