Thursday 21 August 2014

Morning Phase

BECK REFORM



Beck -Morning Phase ****
วางจำหน่าย-กุมภาพันธ์ 2014
แนวดนตรี- alternative  rock, folk rock
โปรดิวเซอร์-Beck

แสงระยิบยามรุ่งสาง
ความสว่างแทนเงาหม่น
รอคอยค่อยค่อยทน
จนจำนนในความนาน

ลาก่อนความทรงจำ
ไปไกลล้ำเกินคืนบ้าน
ยามเช้าที่พบพาน
ขอซมซานแผ่กายรอ

มิมีใครพบเห็น
ไม่มีเส้นให้ตามต่อ
แต่นั่นอย่าทดท้อ
วันยังรอให้ก้าวไป

ตะเกียงใกล้ม้วยมอด
ที่วายวอดไปพร้อมไฟ
คือทุกสิ่งในใจ
สลายไปในตะวัน

'Morning Phase' คือภาคต่อของ Sea Change อัลบั้มอคูสติก-ออเคสตร้า-บัลลาดป๊อบที่ผู้คนมากมายหลงใหลของเขาที่ออกมาตั้งแต่ปี 2002 แม้เบ็คเองจะไม่ค่อยปลื้มกับคำว่า sequel เท่าไหร่นัก แต่ก็คงต้องจำนนกับหลักฐานที่วางอยู่ตรง
หน้า Morning Phase เดินตามรอย Sea Change ในหลายๆด้าน เมื่อฟังอย่างผิวเผินเราอาจจะแทบแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ทั้งสองอัลบั้มล้วนเป็นความเศร้านิ่มๆที่งดงาม ขมขื่นแต่เปี่ยมล้นด้วยความหวาน ดนตรีเรียบง่ายแต่มิอาจคาดเดา และความประณีตในทุกตัวโน๊ต แต่โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า "แทบแยกไม่ออก" เราจะมาดูกันต่อไปว่ามีจุดสังเกตข้อแตกต่างอย่างไรในสองอัลบั้มพี่-น้องคลานตามกันมา(12ปี!) นี้

เบ็ค แฮนเซ่น หนุ่มวัย 43 ปี ณ ปัจจุบัน สร้างชื่อมาจากการทำดนตรีแนวลูกผสมระหว่างแนวดนตรีที่ไม่น่าไปกันได้ (โฟล์ค-บลูส์-ร็อค-ฮิปฮอป-อีเล็กโทรนิกา-แซมบ้า) และการแซมปลิงอย่างเหนืออัจฉริยะในอัลบั้ม Odelay (1997) ซึ่งนับเป็นมาสเตอร์พีซของเขาอย่างแท้จริง หลังจากนั้นเขาก็ยังอยู่ในช่วงจุดสูงสุดของพลังความคิดสร้างสรรค์ อัลบั้มต่างๆที่ตามมาไม่ว่าจะเป็น Mutations (1998) , Midnite Vultures (1999), Sea Change (2002)  ล้วนแล้วแต่ยอดเยี่ยมและไม่หยุดนิ่ง แต่แล้วก็เหมือนเขาจะวิ่งไปชนกำแพงอะไรบางอย่าง ผลงานหลังจากนั้นของเขาตั้งแต่ Guero (2005) เป็นต้นมาดูธรรมดาๆและวนเวียนไม่ไปไหนอีกทั้งยังขาดพลังหรือแรงบันดาลใจไปเสียดื้อๆ แม้แต่ Modern Guilt (2008) ที่ได้โปรดิวเซอร์สุดร้อน Danger Mouse มาร่วมผลิตก็ออกมาเบๆยังไงชอบกล (เบ็คเพิ่งมาสารภาพเมื่อเร็วๆนี้ว่าอัลบั้มนั้นบันทึกเสียงในขณะที่อาการเจ็บหลัง (spinal injury) ของเขากำเริบสุดขีด เขาแทบจะร้องเพลงด้วยเสียงกระซิบตลอดทั้งอัลบั้ม) แต่ช่วงเวลาหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้นอนปวดหลังอยู่เฉยๆ เรายังได้รับรู้ถึงโครงการดนตรีต่างๆของคุณพ่อลูกสองคนนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการไปรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้ศิลปินอย่าง Charlotte Gainsbourg, Thurston Morre และ Stephen Malkmus & The Jicks, รีมิกซ์งานเก่าๆของเจ้าพ่อมินิมัลลิสม์ Philip Glass หรือโปรเจ็คสนุกๆที่เขาให้นามว่า 'Record Club' ที่เบ็คกับเพื่อนๆมาบันทึกเสียงอัลบั้มเก่าๆระดับคลาสสิกกันแบบยกชุดอย่างสบายๆและเป็นกันเอง อย่างเช่นอัลบั้ม The Velvet Underground & Nico, The Songs of Leonard Cohen หรือ Kick ของ Inxs

แต่ไอเดียที่ถือว่าแหวกแนวหลุดกรอบที่สุดก็คงเป็นงาน Song Reader ในปี 2012 ที่เบ็คแต่งเพลงใหม่เอี่ยมยี่สิบ
เพลง แต่เขาไม่ยอมบันทึกเสียงเอง กลับวางขายเป็นโน๊ตเพลง (sheet music) ให้ใครก็ได้ซื้อไปเล่นกันเองในแบบนักแต่งเพลงยุคอดีตที่เคยมีทำกัน เบ็คยังคงบันทึกเสียงด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องเพียงแต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้นำออกมาขาย เขาปล่อยเพียงซิงเกิ้ลออกมาให้แฟนๆหายคิดถึงอย่าง 'I Won't Be Long' หรือ 'Defriended' ที่ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณที่ดีว่าเบ็คคนเก่ากำลังจะกลับมา รวมทั้งกระแสข่าวลือว่าเขากำลังจะทำอัลบั้มในแบบ Odelay อีกครั้ง แต่เบ็คกลับเลือก option ของตัวเขาในปี 2002 มากกว่าที่จะเป็น 1997

ปี2014 อาการปวดหลังของเบ็คคงทุเลาขึ้นเยอะแล้ว สังเกตจากลีลาคล่องแคล่วของเขาบนเวที และ"ยามเช้า"ก็คงเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นฟื้นขึ้นมาเริ่มต้นใหม่จากราตรีอันปวดร้าวหม่นหมอง ในฐานะแฟนเพลงของเขามาตั้งแต่ยุคก่อน Odelay ต้องยืนยันว่านี่เป็นการคืนฟอร์มของเบ็คอย่างแท้จริง เสียงร้องบาริโทนของเขากลับมาอบอุ่นเต็มเสียงเปี่ยมอารมณ์อีกครั้ง การเขียนเนื้อเพลงที่ใช้คำไม่มากแต่เรียกจินตนาการจากคนฟังได้ดี ที่สำคัญคือความสวยงามของดนตรีที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและไปด้วยกันได้ดีกับอารมณ์ของแต่ละเพลง

มันเป็น 47 นาทีและ 13 เพลงที่อ้อยสร้อยเชื่องช้า ยืนพื้นด้วยกีต้าร์โปร่งและเครื่องสายที่คุมวงโดยคุณพ่อของเบ็คเอง-เดวิด แคมป์เบลล์ แต่ความแตกต่างระหว่าง Morning Phase และ Sea Change ก็คือ ความรู้สึกเหมือนนั่งสมาธิอยู่คนเดียวและเรียนรู้จิตใจของตนใน Morning Phase มันคือการหวนรำลึก,พูดคุยกับตัวเองทั้งในอดีต,ปัจจุบันและอนาคต ส่วน Sea Change นั้นเหมือนความฝันและแฟนตาซี เรื่องราวที่เดินไปบนความปวดร้าวที่ยากที่จะบ่งชี้ว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงฝัน Morning Phase เศร้าแต่ไม่ฟูมฟาย Sea Change งดงามบนความทดท้อ ด้านดนตรีนั้นแม้จะเชียร์เบ็คแค่ไหนก็ต้องบอกว่าเขาทำงานนี้ในแบบที่ไนเจล กอดริชทำเอาไว้ใน Sea Change หลายส่วนอยู่ สุ้มเสียงที่เป็นลายเซ็น
ของไนเจลปรากฏต่อโสตผู้ฟังไม่น้อยทีเดียวในอัลบั้มใหม่นี้ แต่ในขณะที่ Sea Change ละเมียดละไมในแบบดนตรีที่คำนวณสัดส่วนกันไว้แบบระดับทศนิยมสามตำแหน่ง Morning Phase กลับผ่อนคลายและไม่จริงจังเท่า มันไม่ให้ความรู้สึกอลังการเหมือนหลายเพลงใน Sea Change แต่ดนตรีใน Morning Phase ดูจะฉุดและชักชวนเราให้มีความรู้สึกเปี่ยมสุขในแบบ euphoria เสียมากกว่า หรือถ้าจะสรุปอีกที Morning Phase ก็คือ analogue version ของ Sea Change

ราวกับกลัวว่าสุ้มเสียงจะไม่เหมือนเดิมพอ เบ็คชวนเพื่อนๆที่เคยอัดเสียงสมัย Sea Change กลับมาร่วมงานด้วยเกือบยกเซ็ต แถมด้วยมือเบสระดับตำนาน Stanley Clarke ก็มาเล่นอัพไรท์เบสด้วยในบางแทร็ค

แฟนๆของเขาคงทราบดีว่า Sea Change เป็นงานที่มีแรงบันดาลใจจากภาวะล้มเหลวในรัก (เรียกสั้นๆว่าอกหัก) ของหนุ่มเบ็คในช่วงนั้น แต่กับ Morning Phase มันยากที่จะคิดว่าเป็นงานที่มีที่มาจากอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว หรือส่วนหนึ่งอาจจะเป็นในแง่คอมเมอร์เชียลที่ต้นสังกัดใหม่ Capitol Records น่าจะหนุนหลังมากกว่าเพลงแนวฟังยาก แต่อย่างไรก็ตามคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรนัก ตอนนี้เฟสใหม่ของเบ็คก็พร้อมมาให้เราฟังแล้ว ขอต้อนรับสู่ยามเช้าของหนุ่มเบ็คกันครับ

เบ็คเปิดอัลบั้มชุดที่ 12 ของเขาด้วยเพลงบรรเลง interlude ยาว 40 วินาที 'Cycle' ที่คงไม่แปลกถ้าใครๆจะจินตนาการภาพประกอบเป็นแสงแรกแห่งยามเช้าที่เริ่มก่อตัวเข้ามาแตะมือแทนที่ความมืดสนิทและเงียบงันของราตรี มันเชื่อมต่อกับเพลงแรกจริงๆ- 'Morning' ที่เบ็คเปิดด้วยประโยคยอดฮิตในเนื้อเพลงบลูส์ "Woke Up this morning..."แต่ Morning ไม่ใช่บลูส์ แทร็คนี้มีอะไรหลายอย่างที่เหมือน Sea Change มากมาย ตั้งแต่การตีคอร์ดกีต้าร์ จังหวะกลอง และเสียงคีย์บอร์ดกรุ๊งกริ๊งในแบบของไนเจล กอดริช ท่อนฮุคของเพลงเบ็คสารภาพออกมาว่า "This morning.... I lost all my defenses..." มันคือยามเช้าแห่งการสงบศึกวางอาวุธและเจรจา..."Won't you show me the way it used to be?"

'Heart is a Drum' สดใสขึ้นเหมือนยามสายที่พระอาทิตย์เปล่งรังสีเจิดจ้าแต่ไม่ถึงกับร้อนรุ่ม เนื้อเพลงเริ่มมีความเป็นเบ็คแท้ๆมากขึ้นด้วยการใส่อะไรที่เป็นสัญลักษณ์ให้ชวนงงกันพอสมควรว่าอะไรคือเสียงกลองที่หัวใจคุณมักจะเดินตาม เบ็คเล่นกับเสียงร้องประสานอย่างสร้างสรรค์และน่าฟังตลอดเพลง น่าตัดเป็นซิงเกิ้ล! 'Say Goodbye' ฟังเรียบง่ายตรงไปตรงมาและยังอิ่มเอิบด้วยเสียงประสานอันหวานนุ่มคลอไปกับอคูสติกกีต้าร์และโดโบร เบ็คเล่าถึงถ้อยคำต่างๆที่เรามักนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกล่าวคำร่ำลา 'Blue Moon' ซิงเกิ้ลแรก ชื่อเพลงอาจจะพ้องกับเพลงอมตะ แต่นี่เป็นเพลงใหม่ เบ็คร้องเต็มเสียงในเนื้อหาที่เมื่อถอดรหัสแล้วอาจได้แค่ว่า อย่าทิ้งฉันไป ทำอย่างไรก็ได้ให้ฉันได้อยู่กับเธอ อืมม์ ฟังแล้วคิดถึง Nick Drake นะครับแทร็คนี้

'Unforgiven'  จังหวะกลับมาช้าเนิบ เครื่องสายหนาทึบ เอ็คโค่กระจายก้องในเสียงร้อง เนื้อหาเหมือนคำแนะนำให้ใครสักคนที่ผิดหวังอะไรบางอย่างในชีวิตอย่างร้ายแรง หรืออาจเป็นตัวเขาเองที่บอกกับตัวเอง "Somewhere unforgiven, I will wait for you...."

ถ้าเป็นแผ่นไวนีลนี่เป็นเวลาที่คุณต้องเดินไปกลับแผ่นและเมื่อจรดเข็มลงไปก็จะพบกับ 'Wave' เป็นแทร็คแรกในอีกด้านของแผ่นเสียงสีดำ เสียงร้องหลอนๆของเบ็คกลมกลืนไปกับออเคสตร้านัวร์ๆของคุณพ่อ นี่น่าจะเป็นเพลงที่มืดหม่นที่สุดใน Morning Phase "Don't Let It Go" กีต้าร์มาในแนวโฟลค์ แม้คอรัสจะยังคงอารมณ์ฟุ้งล่องลอยอยู่ ถ้าไม่ง่วงเกินไปคุณจะได้เห็นพัฒนาการอันน่าสนใจในช่วงท้ายเพลง รวมทั้งเทคนิค counterpoint ที่เบ็คเอามาใช้ได้จังหวะทีเดียว
"Blackbird Chain" อคูสติกกีต้าร์อินโทรชวนให้คิดถึงเพลงดังของวิงส์ Mull of Kintyre ท่วงทำนองเรียกได้เลยว่าฟังสบาย เปียโนกับเครื่องสายล้อหยอกกันสนุกช่วงท้ายเพลง ส่วนเนื้อหา....ห่ะๆ เหมือนเบ็คจะรู้เรื่องอยู่คนเดียวนะครัส  "Phase" เป็นอินเตอร์ลูดอีกแทร็คหนึ่งอันให้อารมณ์ไม่ต่างจาก Cycle

"Turn Away" กีต้าร์โปร่งหนักแน่นสอดประสานไปกับเสียงร้องที่งดงามและซับซ้อน "Country Down" ไม่มีอะไรลวงให้หลง นี่คือเพลงคันทรี่ดั่งชื่อเพลง แม้จะเป็นคันทรี่ในแบบเบ็คที่ติดดินแบบหลอนๆ รู้สึกดีที่ได้ยินเสียงหีบเพลงปากและโดโบรในแทร็คนี้

และแทร็คสุดท้ายที่เบ็คเก็บของดีไว้ท้ายสุด "Waking Light" มันคือ epic และหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดที่เบ็คเคยทำมา ถ้านี่เป็นสเตตัสของคน เพลงนี้คือภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นยามใกล้รุ่ง เมื่อความทรงจำหรือความฝันกำลังจะสลายไปกับราตรี จงลืมตาขึ้นเพื่อสัมผัสกับแสงแห่งการตื่นเถิด

ถ้าเบ็คออกอัลบั้มนี้ต่อจาก Sea Change เสียงตอบรับคงจะต่างจากนี้ไปมากมาย กาละเทศะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในวงการดนตรี และผมก็เชื่ออย่างบริสุทธืใจว่าศิลปินอย่างเบ็คคงไม่ออกอัลบั้มในแนวนี้อีกในหลายปีข้างหน้า คงอีกนานทีเดียว กว่าเราจะได้ฟังเฟสต่อไปของซีรีส์นี้

หรืออาจจะไม่มีอีกเลย

tracklist:

1.            "Cycle"                 0:40
2.            "Morning"           5:19
3.            "Heart Is a Drum"             4:31
4.            "Say Goodbye"                 3:29
5.            "Blue Moon"      4:02
6.            "Unforgiven"     4:34
7.            "Wave"                3:40
8.            "Don't Let It Go"               3:09
9.            "Blackbird Chain"             4:26
10.          "Phase"                1:03
11.          "Turn Away"      3:05
12.          "Country Down"               4:00
13.          "Waking Light"                  5:02


Monday 18 August 2014

Led Zeppelin II (remastered 2014)


THEY'RE SO HEAVY

Led Zeppelin II *****
deluxe edition 2014
produced by Jimmy Page
remastered by John Davis
original released 1969

อยู่ดีๆใครจะอยากควักสตางค์ซื้ออัลบั้มเก่าหงำที่ออกมาครั้งแรกเมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน? แน่นอนมันต้องมีเหตุผล ที่อาจจะประมวลได้ดังนี้ 1) แฟนเพลงรุ่นกระเตาะที่เคยแต่ได้ยินสมญานามหรือฟังใน youtubeแต่ไม่เคยมีผลงานชิ้นนี้มานอนกอดลูบคลำตัวเป็นๆมาก่อน 2) แฟนเพลงที่สนใจและลุ่มหลงในด้านคุณภาพเสียงหรือเรียกกันว่าเหล่าออดิโอไฟล์ ซึ่งใคร่จะสัมผัสว่าการนำเอามาสเตอร์เก่ามาปัดฝุ่น (remaster)ใหม่ครั้งนี้จะมีการ"ปรับปรุง"หรือแม่แต่แค่ "เปลี่ยนแปลง" จากเวอร์ชั่นเก่าๆ(ที่เขาเองอาจจะไม่แน่ใจว่ามีอยู่ในตู้ที่บ้านอยู่กี่ฟอร์แมทแล้ว)อย่างไรบ้าง 3) เพลงพิเศษแทร็คใหม่ที่เพิ่มเติมมาจาก original version อันนี้ส่วนมากศิลปินหรือต้นสังกัดมักจะขุดกรุเอางานหายากหรือไม่เคยออกวางจำหน่ายเป็นทางการที่ไหนมาก่อนมาปลุกปั่นกิเลส 4) package อันสวยงาม, สร้างสรรค์ และอลังการ ที่อาจจะมี option ให้เลือกมากมายแล้วแต่สถานะทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค 5) ไม่มีเหตุผลกลใดนอกจากเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ไม่มีวันตาย ความจงรักภักดีต่อศิลปินอยู่ในขีดขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะมีผลงานอะไรออกมาก็ต้องขอสนับสนุนโดยปราศจากความลังเล

มองเผินๆเราอาจจะคิดว่าอภิมหาร็อคแบนด์อย่าง Led Zeppelin เป็นวงดนตรีที่นำของเก่ามา recycle,repackage กันเป็นล่ำเป็นสันพอสมควร แต่ความเป็นจริงแล้วในยุคดิจิตัลพวกเขานำผลงานทั้งหมดมารีมาสเตอร์กันอย่างเป็นทางการเพียงครั้งเดียวในยุค 90's  การ reissue ในปี 2014 นี้จึงจัดเป็นการทำ"ดิจิทัลรีมาสเตอร์"ครั้งที่สองของวงเท่านั้น การรีมาสเตอร์ครั้งนี้จะไม่ปล่อยออกมาทีเดียวหมด เริ่มจากล็อตแรกเป็นสามอัลบั้มแรกก่อน โดยในแต่ละชุดจะมีหลายฟอร์แมต ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงแต่ deluxe edition ของซีดีที่จะมี companion disc แนบมาด้วย (ไม่ได้แถม) ซึ่งเพลงในแผ่นเครื่องเคียงนี้ก็จะมีความน่าสนใจในระดับแตกต่างกันออกไป แต่จะเป็นแทร็คที่มีความเกี่ยวข้องกับวงในยุคของอัลบั้มนั้น

ผมขอเลือก Led Zeppelin II มากล่าวถึงใน GM2000 ฉบับนี้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวในความใกล้ชิดสนิทแนบแต่อ้อนออก ส่วนในด้านความยอดเยี่ยมนั้น ทั้งสามอัลบั้มถือว่ามีจุดเด่นจุดด้อยหักลบกันแล้วกินกันไม่ลง สมควรมีไว้ครองทั้งสามอัลบั้ม
จิมมี่ เพจ อดีตนักกีต้าร์ประจำห้องอัดมือฉมังและสมาชิกวง The Yardbirds และลูกวงที่เขาสรรหามาจากสรวงสวรรค์อย่าง โรเบิร์ต แพลนต์, จอห์น พอล โจนส์ และ จอห์น บอนแฮม ได้ประกาศให้โลกรับรู้ตั้งแต่อัลบั้มแรกของพวกเขาในต้นปี 1969 แล้วว่าพวกเขาคือของจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ตั้งแต่วินาทีแรก รากฐานอันหนักแน่นจากเพลงบลูส์และโฟล์ค ฝีมือและพลังอันเชี่ยวกรากของสมาชิกทุกคน และวิสัยทัศน์ทางดนตรีของเพจที่รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย ทำให้ LedZeppelin อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาเป็นปรากฎการณ์แห่งดนตรีร็อค

พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้มแรกกันด้วยเวลาเพียง 30 ชั่วโมง (เพจยืนยันหนักแน่นในข้อมูลตรงนี้ เพราะเขาเป็นคนจ่ายค่าห้องอัดเอง) แต่มันเป็นในช่วงหลังจากที่พวกเขาฟอร์มวงกันมาแล้วระยะหนึ่งและออกทัวร์ยุโรปมาด้วยกันพักหนึ่งแล้ว ฝีมือและความเข้าขาในกันและกันจึงอยู่ในระดับสื่อสารกันทางจิต แต่ก็เหมือนหลายๆศิลปินที่ทำงานชุดแรกออกมาได้อย่างสุดยอด ปัญหาคือพวกเขายังจะมีอะไรที่จะไปต่ออีกไหมในอนาคต ไม่ต้องพูดกันให้ไกล ก็อัลบั้มที่สองนี่แหละ

แววว่างานชุดต่อมาของ Zep น่าจะมีปัญหาก็คือพวกเขาแทบไม่มีเวลาเป็นชิ้นเป็นอันในการทำอัลบั้มนี้เลย ด้วยเวลาทั้งหมดของพวกเขาหมดไปกับการทัวร์คอนเสิร์ตอันหนักหน่วง (และผลพวงพลอยได้พลอยเสียจากการทัวร์นี้ อาทิ สาวๆ เหล้ายาปลาปิ้ง และการทำลายโรงแรม อันเป็นความสามารถระดับตำนานอีกประการหนึ่งของวง) เพจและลูกทีมอาศัยการแต่งเพลงในห้องพักโรงแรม, ไอเดียลูกริฟฟ์ที่มักจะคิดได้ในขณะอิมโพรไวส์เพลง Dazed and Confused บนเวทีเมื่อคืนก่อนหน้า, บันทึกเสียงตามเมืองต่างๆแล้วแต่จะมีเวลาที่ไหนเมื่อไหร่ โดยแต่ละห้องอัดก็มีสภาพแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่โอลิมปิก และ มอร์แกนสตูดิโอในลอนดอน, เอแอนด์เอ็ม,ควอนตัม,มิเรอร์ซาวนด์ในแอลเอ, ห้องอัดเล็กๆที่ขนานนามกันว่า "กระท่อม" ในแวนคูเวอร์ แพลนต์เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างสนุกว่า "มันโคตรจะบ้าบอ, เราแต่งเพลงกันในโรงแรมแล้วก็ไปอัดแบ็คกิ้งแทร็คในลอนดอน, ไปใส่เสียงร้องในนิวยอร์ค,อัดเสียงฮาร์โมนิก้าทับลงไปที่แวนคูเวอร์ แล้วก็มากลับมามิกซ์ตอนสุดท้ายในนิวยอร์ค"

ถ้าพวกเขาจะตั้งชื่อให้อัลบั้มนี้เป็นชื่ออื่นนอกจาก II มันก็อาจจะเป็น Zep On The Move และแม้ว่าจะอัดเสียงกันหลายต่อหลายที่ ซาวนด์ของอัลบั้มกลับฟังดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวไม่แปลกแยก มันไม่ใช่อัลบั้มที่มีซาวนด์เนี้ยบนิ้ง (ในแง่ของ fidelity ผลงานชุดนี้อ่อนด้อยกว่าชุดแรก) แต่ II มีความดิบสดของสุ้มเสียงที่ไม่เหมือนอัลบั้มใดๆของ Zep และความรีบเร่งฉุกละหุกตลอดการผลิต กลับทำให้มันเต็มไปด้วยความทรงพลังและเซ็กซี่ที่ทุกคนสัมผัสได้ทั้งในดนตรีและเนื้อหา

นอกจากเพจเองที่ทำให้สุ้มเสียงของ Led Zeppelin II ออกมาได้ยอดเยี่ยมแบบนี้ก็ต้องของคุณ Eddie Kramer เอ็นจิเนียร์ชื่อดัง (เขาเพิ่งมิกซ์อัลบั้ม Electric Ladyland ให้จิมี่ เฮนดริกซ์) ที่มานั่งมิกซ์กับเพจด้วยสองวันเต็มๆ เครเมอร์เล่าถึงการมิกซ์เสียงในช่วงกลางเพลง WholeLotta Love ที่ทั้งหลอนทั้งพลิ้วกันอุตลุตว่า "ไอ้ตรงช่วงที่ทุกๆอย่างกำลังอลหม่านนั่น จริงๆแล้วก็คือการผนวกพลังของผมกับเพจพล่านกันไปทั่วคอนโซลเล็กๆ หมุนปุ่มทุกปุ่มที่มนุษย์ชาติเคยรู้จักกันมา"

เมื่อพูดถึง Whole Lotta Love มันคือมหากาพย์อีกด้านของ Zep ที่แม้แต่ Stairway To Heavenก็ยังมิอาจสยบ ริฟฟ์สั้นๆของเพจในแทร็คนี้คือความยิ่งใหญ่ของดนตรีฮาร์ดร็อคที่เทียบได้กับสี่โน๊ตในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน, บอนแฮมได้โชว์ฝีมือกลองระดับอัจฉริยะที่ไม่ได้มีแต่ความหนักหน่วงเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ใครเข้าใจ, และแพลนต์..กับ every inch of his love.....อาจจะมีผู้ชายที่ร้องเพลงได้เซ็กซี่มากมายในโลก แต่จะมีใครเซ็กซี่แบบดิบเถื่อนและมีระดับในตัวเองได้เหมือนโรเบิร์ต?  ถ้าเพลงนี้จะมีปมด้อยหรือราคีก็ตรงข้อหาหยิบยกบางส่วนมาจากเพลง You Need Love ของ Willie Dixon แต่ก็ตกลงกันไปนอกศาลเรียบร้อยไปนานแล้ว Led Zeppelin II มีปัญหากับการละเมิดลิขสิทธิ์ตรงนี้อยู่หลายเพลงทีเดียว

เคล็ดลับที่ไม่ลับที่เพจมักกล่าวถึงเสมอคือหลักการ 'light and shade' (มีหนัก...มีเบา) ในการบรรเลงของ Zep และWhat is and What should never be ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่ากันว่าแพลนต์แอบแต่งเพลงนี้ให้กิ๊กคนโปรดของเขา (เพื่อความสมดุลย์กับ Thank You ที่แต่งให้ภรรยาในอีกไม่กี่แทร็คถัดมา) อารมณ์เพลงนี้ออกไปทาง jazzy พลิ้วๆมาก ก่อนที่จะมาลง 'shade' ในช่วงคอรัสให้สมเป็นวงฮาร์ดร็อคสักหน่อย

The Lemon Song ก็เป็นอีกเพลงที่มีแหล่งอ้างอิงจากเพลงบลูส์เก่าๆ คราวนี้เป็น 'Killing Floor' ของHowlin' Wolf และเนื้อร้องบางส่วนจาก Travellin' Riverside Blues ของ Robert Johnson แต่ฝีมือการบรรเลงของพวกเขาในแทร็คนี้ถือว่ามหาเทพ โดยเฉพาะลูกโซโล่ติดสปีดของเพจและการร่ายมนต์เบสสุดล้ำตลอดเพลงของโจนส์

Thank You เพลงช้าหวานที่แพลนต์แต่งเสียเยิ้มให้มัวรีนภรรยาสุดเลิฟ โจนส์เล่นออร์แกนในแทร็คนี้เสียงร้องของโรเบิร์ตบางช่วงฟังคล้ายร็อด สจ๊วต

ถึงตอนนี้ถ้าเป็นแผ่นเสียงก็ต้องพลิกมาเป็นหน้าบีที่เปิดตัวอย่างสุดสะท้านฟ้าด้วย Heartbreaker ช้า,หนัก เหมือนรถตีนตะขาบที่บดขยี้ไปข้างหน้า นี่คือเพลงโชว์เคสของเพจที่มีท่อน unaccompanied (คนอื่นหยุดหมด) มันลือลั่น ก่อนที่จะโซโล่อย่างเมามันส์พร้อมกับผองเพื่อน ต่อกันแบบแทบไม่เว้นช่องไฟด้วย Livin' Lovin' Maid (She's Just A Woman) ที่น่าจะเป็นเพลงที่"โจ๊ะ"ที่สุดของพวกเขา อาจจะดูง่ายไปหน่อยสำหรับ Zep แต่ก็ไม่บ่อยที่จะเห็นพวกเขาสนุกกันแบบนี้ในบทเพลง สมาชิกของวงส่วนมากจะไม่ค่อยชอบเพลงนี้ แต่ผมชอบนะ มันดูสนุกสนานและติดดินในแบบบ้านๆดี ที่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาก็เล่นกันได้

 Ramble On เนื้อหาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของJ.R.R. Tolkien (Lord of The Rings) (จึงไม่น่าประหลาดใจที่เนื้อเพลงดูสละสลวยสวยงามเป็นพิเศษ)  อคูสติกกีต้าร์โดดเด่น และคาแรกเตอร์ของบทเพลงที่ชี้ไปถึงอนาคตของพวกเขาใน Led Zeppein III

น่าเสียดายที่เพลงโชว์กลองของบอนแฮม Moby Dick กลับไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ช่วงโซโล่กลองของเขาดูเหงาๆ แทร็คนี้อาจจะเหมาะกับการเล่นไลฟ์มากกว่า ซึ่งบองโซ่มักจะโชว์การฟาดกลองด้วยมือเปล่า เรียกโลหิตออกมาเป็นขวัญตาผู้ชมเสมอ
และปิดท้ายด้วย Bring It On Home เพลงบลูส์ของ Willie Dixon ที่แพลนต์และเพจนำมาแต่งต่อโดยไม่ได้ให้เครดิตแก่ดิกซันอีกครั้ง นำมาซึ่งการฟ้องร้องอีกครา เป็นแทร็คที่ Zep ชอบนำมาเล่นในคอนเสิร์ตจนกระทั่งปี 1973

ความจริงความคลาสสิกของอัลบั้มนี้นั้นไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอะไรกันมาก แต่ที่น่าขำก็คือนิตยสารRolling Stone เคยสับและแดกดันผลงานชุดนี้ของพวกเขาเอาไว้ไม่น้อยสมัยออกครั้งแรกเมื่อปี 1969 (ปัจจุบันนิตยสารเล่มนี้กลับลำมายกย่องเซพมานานแล้ว)

สุ้มเสียงของการรีมาสเตอร์ครั้งนี้ของจอห์น เดวิส แม้จะไม่แตกต่างจากเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้อย่างฟ้ากับเหว แต่ก็น่าประทับใจ ไม่มีร่องรอยของ loudness war ที่ compress เสียจนไม่เหลือไดนามิก (เหมือนอย่างที่เดวิสทำไว้ใน Mothership อัลบั้มรวมฮิตชุดสุดท้ายของ Zep เมื่อเจ็ดปีก่อน) เบสแน่นและนุ่มนวล บรรยากาศโดยรอบสะอาดเงียบแต่ก็ยังคงทรงพลังและความ"เดอร์ตี้"ที่เป็นซาวนด์เฉพาะตัวของ Led Zeppelin II อยู่ ถ้าใครจะซื้อเพราะการรีมาสเตอร์อย่างเดียว ผมก็ว่าคุ้มค่า

ส่วน companion disc จัดว่าพอใช้ได้เท่านั้น ไม่มีอะไรหวือหวาถึงขั้นนั่งกันไม่ติดโซฟา โดดเด่นที่สุดก็น่าจะเป็น Whole Lotta Love (rough mix with vocals) ที่น่าจะเป็นแบ็คกิ้งแทร็ค + เสียงร้องของแพลนต์ที่เป็นไกด์ แต่บางช่วงก็เหมือนจะไปอยู่ใน master ด้วย ไม่มีเสียงประสานและเสียงโซโลจากเพจ รวมทั้งช่วง 'jungle' กลางเพลงก็ยังไม่สมบูรณ์ ฟังเผินๆก็เหมือนพวกเขาซ้อมกันนั่นเอง แทร็คนี้แค่ได้ฟังเสียงร้องของแพลนต์ก็คุ้มแล้ว

อีกแทร็คที่น่าฟังมากๆก็คือ rough mix with vocal ของ Ramble On ที่เสียงร้องของแพลนต์เปี่ยมชีวา พอๆกับเบสที่เดินอย่างเริงร่าเข้ากับชื่อเพลงของโจนส์

Heartbreaker ในแบบ rough mix ท่านจะได้ฟังโซโลของเพจในอีกแบบหนึ่ง ทำให้สงสัยว่าจริงๆแล้วท่อนโซโลนี้ของเพจไม่น่าจะเป็นการเล่นสดๆโดยไม่ได้ตระเตรียมมาก่อนเหมือนที่เขาชอบเล่าเอาไว้เพราะมันมีเค้าโครงของการประพันธ์เอาไว้พอสมควร

มี backing track เปล่าๆเอาไว้ให้แฟนคาราโอเกะสามเพลงคือ Thank You และ Living Loving Maid (She's Just A Woman) ส่วน Moby Dick ก็เกือบจะเป็น master version ที่ตัดเสียงโซโล่กลองของบองโซ่ออก! แทร็คนี้ทำให้เราทราบว่าท่อนเดี่ยวกลองของบอนแฮมน่าจะเป็นส่วนที่ตัดต่อเข้ามาใส่ภายหลัง

ปิดท้ายด้วยเพลงหน้าใหม่ที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ La La เป็นเพลงบรรเลงยาว 4:07 นาที จากการประพันธ์ของโจนส์และเพจ แทร็คนี้ดูเหมือนจะเป็นมิกซ์ที่มาจากเทป generation สูงๆ (เสียงไม่ค่อยดี) เพลงนำโดยออร์แกนฝีมือของโจนส์ในช่วงแรก รับช่วงต่อด้วยอคูสติกกีต้าร์และกีต้าร์ไฟฟ้าของเพจ มีลูกโซโล่งามๆหนึ่งช่วง ช่วงท้ายเพลงเหมือนเป็นการแจมอย่างสบายอารมณ์ยามบ่าย

แพ็คเกจทำเป็น gatefold สวยงามตามแบบฉบับของ LP ภาพประกอบสวยงามหายาก แต่ไม่มี linernotes อะไรมากมาย นอกจากรายละเอียดแต่ละแทร็คพอสมควร ถือว่าได้มาตรฐาน แต่ไม่ถึงกับงดงามน่าตะลึง

นี่คือประวัติศาสตร์ของดนตรีร็อคในช่วงรอยต่อของสองทศวรรษอันยิ่งใหญ่ 60's และ 70's ที่ Zep เหมือนจะสร้างสัญลักษณ์เอาไว้ ด้วยการนำอัลบั้มชุดที่สองของพวกเขาแผ่นนี้ เขี่ย Abbey Road..swan song ของ The Beatles ลงมาจากอันดับ 1 ของอัลบั้มชาร์ต 45 ปีผ่านมา ความตื่นเต้นของสุ้มเสียงอัลบั้มปกสิน้ำตาลนี้ยังคงมนต์ขลังไม่เสื่อมคลาย กรุณาเป็นเจ้าของมันเสียเถิดครับ ไม่ว่าคุณจะเคยมีมันแล้วหรือยัง!

หมายเหตุ:
1.ส่วนตัวผมซื้ออัลบั้มชุดนี้ด้วยเหตุผลที่ 2 และ 3 ครับ
2.Led Zeppelin และ Led Zeppelin III ถ้ามีโอกาสจะกล่าวถึงในภายหน้า แต่สั้นๆว่า companion disc ของทั้งสองชุดน่าสนใจกว่า II ครับ

tracklist
disc one:
1.Whole Lotta Love
2.What Is and What Should Never Be
3.The Lemon Song
4. Thank You
5.Heartbreaker
6.Living Loving Maid (She's Just A Woman)
7. Ramble On
8.Moby Dick
9.Bring It On Home

companion disc:
1.Whole Lotta Love (Rough Mix with Vocal)
2.What Is and What Should Never Be (Rough Mix with Vocal)
3.Thank You (Backing Track)
4.Heartbreaker (Rough Mix with Vocal)
5.Living Loving Maid (She's Just A Woman) (Backing Track)
6.Ramble On (Rough Mix with Vocal)
7.Moby Dick (Backing Track)
8.Lala (Intro/Outro Rough Mix)