Thursday 24 December 2015

25


Adele 25 ***1/2
Genre: Pop-Soul-R&B
Released: November 2015

·         Danger Mouse
·         Samuel Dixon
·         Paul Epworth
·         Greg Kurstin
·         Max Martin
·         Ariel Rechtshaid
·         Shellback
·         The Smeezingtons
·         Ryan Tedder

Tracklist
1. Hello
2. Send My Love (To Your New Lover)
3. I Miss You
4. When We Were Young
5. Remedy
6. Water Under The Bridge
7. River Lea
8. Love In The Dark
9. Million Years Ago
10. All I Ask
11. Sweetest Devotion

เมื่อสี่ปีก่อนตอนผมเขียนถึงอัลบั้ม 21 ของเธอ มันก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่คิดหรอกว่ามันจะกลายเป็นอัลบั้มประวัติศาสตร์แห่งยุคในแง่ของยอดขายขนาดนั้น ทำให้ Adele กลายเป็นนักร้องรุ่นใหม่หมายเลข 1 ของวงการดนตรีป๊อบไปอย่างไม่มีใครเทียบ ความสำเร็จนี้เป็นดาบสองคม คมแรกที่หันออกคือแง่บวกต่อศิลปิน เธอมีกำลังใจสูงส่งและพลังอำนาจในการที่จะผลิตงานใหม่ๆ แต่คมที่หันเข้าหาเธอก็คือความกดดันขั้นสูงสุด ถ้าตั้งเป้าจะทำให้ดีกว่าหรือเทียบเท่าความสำเร็จของ 21

ระหว่าง 21 กับ 25 Adele แต่งงาน มีลูกชาย และคิดจะวางมือจากวงการดนตรีไปดื้อๆ ด้วยแนวคิดที่จะจากไปในขณะที่ยิ่งใหญ่ โชคดีที่เธอเปลี่ยนความคิดนี้ และเปลี่ยนจากการเกษียณตัวเองไปตลอดกาลเป็นการพักผ่อนยาวๆแทน เธอเริ่มกลับมาทำงานดนตรีอีกครั้งในปี 2013 เมื่อลูกชายของเธออายุขวบกว่าๆ แต่อะไรๆมันไม่ง่ายอย่างนั้น ชีวิตของเธออาจจะลงตัวและมีความสุขเกินไป Adele เกิดอาการตีบตันในการเขียนเพลงอย่างแรง ก็น่าเห็นใจนะครับ เพราะ 21 เป็นอัลบั้มอกหักที่ผลักดันโดยความปวดร้าวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเธอ แต่เมื่อไม่มีพลังแบบนั้นแล้ว เธอจะหาแรงบันดาลใจจากที่ไหน Adele พยายามแต่งเพลงจากชีวิตความเป็นคุณแม่มือใหม่ของเธอ แต่สักพักเธอก็ขยำโครงการนี้ขว้างทิ้ง ด้วยเหตุผลว่ามันแสนจะน่าเบื่อ

เธอเข้าๆออกๆสตูดิโอกับนักเขียนเพลงและโปรดิวเซอร์หลายคน แต่ก็ยังไม่ได้ผลิตผลอะไรเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งปลายปี 2013 การนั่งทำเพลงกับ Greg Kurstin (โปรดิวเซอร์คนโปรดของผม) ก็ทำให้ Adele ทำลายกำแพงแห่งความตีบตันนั้นสำเร็จ ด้วยเพลง “Hello” แต่กระนั้นมันก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็พรั่งพรู Adele มีส่วนร่วมแต่งเพลงทุกเพลงในชุดนี้ กับนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ระดับกระบี่มือหนึ่งแห่งพิภพป๊อบ ถ้าจะให้เดาว่าอะไรทำให้ Adele กลับมาแต่งเพลงได้ยอดเยี่ยมอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นการตระหนักรู้ว่านักแต่งเพลงที่ดี ไม่จำเป็นต้องเขียนเพลงจากชีวิตตัวเอง100%เสมอไป บทเพลงใน 25 คงจะมีหลายๆอย่างที่สะท้อนชีวิตของผู้หญิงคนนี้ แต่เชื่อว่าคงไม่ใช่ทั้งหมด เราคงยากที่จะแบ่งแยกว่าอะไรเป็นอะไรในเนื้อหาเหล่านั้น แต่ก็ต้องชมว่า”ฉาก”ที่ Adele รังสรรค์ขึ้นมาในบทเพลงเหล่านั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวที่โดนใจ ทั้งถ้อยคำและภาพเสมือนที่มันก่อตัวขึ้นในมโนของพวกเราผู้ฟัง

25 เป็นอัลบั้มที่เป็นความหวังสำคัญของธุรกิจดนตรี มันเป็นงานที่พวกเขาหวังว่าจะกระชากคนให้เดินเข้าร้านซีดีอีกครั้ง (หรืออาจจะแค่กดสั่งออนไลน์ หรืออย่างน้อยก็ดาวน์โหลดแบบเสียเงิน) ในยุคที่การต้องจ่ายแบบนั้นใกล้เคียงกับการเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่มีใครเขาทำเข้าไปทุกที และถึงตอนที่ท่านอ่านอยู่นี้ ท่านก็คงทราบแล้วว่า 25 ทำได้ ได้อย่างเหลือเชื่อเสียด้วย และอย่าแปลกใจถ้ามันจะทำได้ดีเท่าหรือมากกว่า 21

ภาพรวมของดนตรีใน 25 มีความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งจาก 21 คือการใช้เสียงอีเล็กโทรนิคส์มากขึ้น ไม่เหมือน 21 ที่จะเป็นดนตรีสด แต่ไม่ต้องห่วง เสียงเปียโนที่เป็นเอกลักษณ์ในเพลงของเธอยังคงอยู่ คิดว่าเธอคงอยากให้ได้สุ้มเสียงที่แตกต่างจากเดิม และอาจจะเจาะตลาดได้มากขึ้น (ถ้าเป็นอย่างหลัง ไม่ค่อยเห็นด้วย) โปรดิวเซอร์หน้าเดิมอย่าง Paul  Epworth และ Ryan Tedder ยังคงมาร่วมงานใน 25 แต่ก็มีหน้าใหม่ๆมาเสริมอีกหลายคน Adele คุมเกมอยู่ ไม่ทำให้รู้สึกว่าทั้งอัลบั้มเป็นงานที่มากหมอมากความ หรือกระจัดกระจายไปคนละทิศทางแต่อย่างใด

ถ้าจะมีธีมหลักสักธีมใน  25 ก็คงเป็นคำว่า nostalgia หลายๆเพลงมีคำว่า “เมื่อเรายังเด็ก” จนน่าจะเอาไปเป็นชื่ออัลบั้มได้ และไม่ว่าอย่างไรเกือบทั้ง 11 เพลงก็เป็นแง่มุมต่างๆของความรัก

เมื่อได้ข่าวว่า Adele ทำการผ่าตัดเส้นเสียงในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ให้รู้สึกเป็นห่วงว่ามันจะส่งผลต่อคุณภาพและพลังเสียงของเธอหรือไม่ เมื่อฟัง 25 จบ และตามดูการแสดงสดของเธอจากคลิปต่างๆก็บอกได้เลยว่าสบายใจได้ว่ามันไม่มีผลอะไรเลย เธอยังมีเสียงที่แหบนิดๆแต่บรรจุด้วยพลังยิ่งใหญ่ที่พร้อมระเบิดแบบเดิมอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่า ความปราดเปรื่องในการใช้เสียงนั้นของเธอ Adele เป็นอัจฉริยะแห่งการร้องเพลงป๊อบแห่งยุคในหลายๆด้าน ที่โดดเด่นที่สุดคือการเว้นคำรวบคำ (phrasing) จังหวะจะโคนในการปลดปล่อยพลังเสียง การใช้เสียงหลบ (falsetto) ลูกคอเพราะๆ.... ผมคงชมไปได้เรื่อยๆจนหมดหน้ากระดาษ มันเป็นความหฤหรรษ์อย่างยิ่งในการเฝ้าฟังเธอร้องเพลง

น่าเสียดายที่ production ในอัลบั้มนี้ ทำร้ายเสียงสวยๆเธอไปพอสมควร หลายเพลงฟังดูดีกว่าเมื่อเธอร้องสด

แม้ว่ามันจะไม่ใช่เพลงที่ผมคิดว่าดีที่สุดในอัลบั้ม แต่ ‘Hello’ ก็เหมาะสมแล้วที่จะเป็นแทร็คแรกในอัลบั้มและซิงเกิ้ลแรก แฟนเพลงตอบสนองการกลับมาทักทายครั้งนี้ของเธออย่างปลื้มปิติล้นพ้น แต่เนื้อหาจริงๆมันเป็นเพลงรักที่ซับซ้อน มันคือความพยายามที่จะติดต่อคนรักเก่าที่ห่างหายกันไปอีกครั้ง เพียงเพื่อจะบอกลาไปตลอดกาล แต่ก็ดูเหมือนเขาจะไม่เคยรับโทรศัพท์ของเธอ ‘Send My Love (To Your New Lover)’ มันคือ Someone Like You ในแบบคนผ่านชีวิตมาอีกระดับหนึ่ง เพลงอัพบีทที่สดใสที่สุดของอัลบั้ม ซึ่งแนวนี้จะมีใครแต่งและโปรดิวซ์ได้ดีไปกว่าคุณเจ้าพ่อเพลงป๊อบแห่งยุค Max Martin อีกเล่า (ร่วมโปรดิวซ์โดย Shellback)

อัลบั้ม Goon ของ Tobias Jesso, Jr. เป็นงานของศิลปินหน้าใหม่ที่ไพเราะที่สุดในรอบปี เขาร่วมแต่งและเล่นเปียโนใน ‘When We Were Young’ แทร็คที่ดีที่สุดใน 25 (บอกเลย) ราวกับว่าเธอได้เจอคนรักเก่า (อีกแล้ว)อีกครั้งในงานรียูเนียนของวิทยาลัย และได้จ้องตา,พูดคุยกันอีกครั้ง “You look like a movie. You sound like a song.” เป็นท่อนฮุคที่มหัศจรรย์ เพลงนี้ค่อยๆก่อร่างสร้างตัวจนพีคในนาทีท้ายๆ แหมนี่ถ้าเป็นซิงเกิ้ลแรกก็ไม่เลวเลยนะ (แต่ในแง่มุมของความแน่นอน ก็คงต้องยอมให้ ‘Hello’) เพลงนี้โปรดิวซ์โดยจอมเนี้ยบ Ariel Rechtshaid (ผลงาน-Vampire Weekend)

กลายเป็นว่าเพลงที่ทำกับมือเก่าที่เคยทำงานกับเธอมาแล้วอย่าง Epworth และ Tedder กลับอยู่ในระดับธรรมดาๆเท่านั้น อย่างI Miss You, Remedy และ Sweetest Devotion มันไม่ซาบซ่านอย่างงานของ Kurstin ที่นอกจากจะมี ‘Hello’ แล้ว ก็ยังมีเพลงจังหวะปานกลางที่มีเนื้อหาอ้อนรักอย่างที่ไม่คุ้นเคยในเพลงของ Adele อย่าง ‘Water Under The Bridge’ และ acoustic โชว์เสียงร้องเนื้อๆใน ‘A Million Years Ago’ ส่วนนาย Danger Mouse ได้โควต้ามาแทร็คเดียว ‘River Lea’ แต่ก็ขโมยซีนได้ไม่น้อย ด้วยซาวนด์หนืดๆของแกอันเป็นเอกลักษณ์ Samuel Dixon อาจจะเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดังน้อยสุดในกลุ่มนี้ แต่ ‘Love In The Dark’ ของเขากลับโดดเด้ง เสียงเครื่องสายรายล้อมและประดับประดาเสียงร้องของ Adele ได้อย่างเลิศหรู

ลึกๆคงมีคำถามกันในหมู่ทีมงานที่ทำ 25 ว่า เพลงไหนจะเป็น ‘Someone Like You’ ในอัลบั้มนี้ (แทร็คสุดดังจาก 21) ถ้าจะมี มันก็คงจะต้องเป็น ‘All I Ask’ ที่เธอทำร่วมกับทีมงานของ Bruno Mars ที่จับอะไรก็เป็นทองไปหมด เนื้อเพลงรีดน้ำตาเหลือเกิน ฉากคือ คืนสุดท้ายของคนที่กำลังจะเลิกรักกัน เธอยอมรับว่า คงไม่มีพรุ่งนี้อีกแล้วสำหรับรักเรา แต่.....

Look, don't get me wrong
I know there is no tomorrow
All I ask is...

If this is my last night with you
Hold me like I'm more than just a friend
Give me a memory I can use
Take me by the hand while we do what lovers do
It matters how this ends
'Cause what if I never love again?

ว่ากันตรงๆ มันก็ยังไม่โดนเท่า Someone Like You ล่ะ แต่ก็เยี่ยมมากๆ

ถ้าจะมีอะไรที่ 25 บอกกับเรา ก็คือ มันไม่ผิดที่จะมองย้อนหลังไปในอดีต แต่จงแน่ใจว่าขาของคุณยังก้าวไปข้างหน้า และถ้าเป็นไปได้-- เมื่อมีโอกาส.. ก็จงเคลียร์อะไรที่ค้างคานั้นเสียให้หมด 25 อาจจะไม่ใช่งานที่สมบูรณ์แบบ แต่ในเพลงที่มันลงตัวก็แทบจะหาจุดด้อยไม่ได้ ได้แต่หวังว่าตัวเลขของอัลบั้มต่อไปของ Adele คงไม่สูงนักนะ



Monday 7 December 2015

อย่างนี้สิบลูส์



Buddy Guy | Born To Play Guitar *****
Release: July 2015
Genre: Electric Chicago Blues
Producer: Tom Hambridge

ผมเกิดที่ลุยเซียน่า
ตั้งแต่สองขวบ
แม่บอกพ่อว่า
“ไอ้หนูของเรามันมีแววบลูส์นะ”
ผมเติบโตอย่างรวดเร็ว
และจากนั้น,ได้เดินทางมาแสนไกล
มีอย่างหนึ่งที่โคตรจะแน่นอนก็คือ
ผมนั้นเกิดมาเพื่อเล่นกีต้าร์
ผมสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง
และทุกๆคนก็รู้จักชื่อผม
ผมเกิดมาเล่นกีต้าร์
พี่น้องเอ๋ย, ผมมีบลูส์ในสายเลือด
เหล่าสาวๆในชิคาโก้
พวกหล่อนรักผมปานจะกลืนกิน
แต่ด้วยความรักในกีต้าร์
มันทำให้ผมต้องออกจากบ้านไปแสนไกล
ผมสร้างชื่อ
ใครๆก็รู้จักผม
ผมเกิดมาเล่นกีต้าร์
และมีบลูส์วิ่งพล่านในสายเลือด
สายกีต้าร์ทั้งหก
ขึงตึงเรียบร้อยเตรียมพร้อมอยู่ในเจ้าเครื่องจักรตัวแสบของผม
จ่ายให้ผมสิ
แล้วผมจะทำให้ไอ้เจ้านี่กรีดร้องให้คุณฟัง
ผมจะเล่นมันต่อไปเรื่อยๆ
และในวันสิ้นลม
กีต้าร์ลายจุดนี้จะวางสงบบนหลุมศพของผม
ผมสร้างชื่อมาตั้งแต่ยังละอ่อน
และทุกคนรู้จักชื่อผม
“บัดดี้กาย, นั่นแหละเขา”
คุณก็รู้ว่าผมเกิดมาเพื่อเล่นกีต้าร์
ผมมีบลูส์วิ่งพล่านในสายเลือด

   และแล้วเราก็มาอยู่ในยุค Post-B.B. King แต่โชคดีเรายังมีบัดดี้ กาย  Muddy  Waters สั่งเสียกายไว้ด้วยประโยคสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิตว่าให้กาย “รักษาดนตรีบลูส์เอาไว้ต่อไป” และกายก็นำประโยคนี้มาใช้อีกครั้งหลังการจากไปของ B.B. King  (เขาพูดไว้ในการให้สัมภาษณ์หลังคิงตาย) ครับ,เราจะมาฟังกันว่า ผู้ชายวัย 79 คนนี้จะยังถือคบเพลิงแห่งบลูส์ต่อไปได้หรือไม่
   เนื้อเพลงด้านบนถอดความมาจากไทเทิลแทร็คของอัลบั้มที่ 28 ของเขา “Born To Play Guitar” และมันก็แทบจะเป็นชีวประวัติในเพลงบลูส์ของเขาที่สรุปความเป็นบัดดี้ กายไว้ได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที จากเพลงนี้,กายทำให้เราอุ่นใจว่าเขายังแข็งแรงในน้ำเสียงอันดุดันและเผ็ดร้อน รวมทั้งเสียงจาก ’57 Stratocaster ของเขาก็ยังครบเครื่องเช่นเดิม กายได้โปรดิวเซอร์ที่ร่วมงานกันมานานตั้งแต่ยุค Skin Deep (2008) อย่าง Tom Hambridge มารับหน้าที่อีกครั้ง ทอมยังช่วยแต่งเพลงในอีกหลายแทร็คด้วย
   Born To Play Guitar ดูจะไม่มีคอนเซพท์อะไรพิเศษ ต่างจากอัลบั้มหลังๆของกาย กล่าวคือมันก็เป็นเพียง 14 เพลงในแนวทางของบัดดี้ กายที่โลดแล่นไปกับอารมณ์บลูส์ผสานไปกับแนวดนตรีต่างๆที่ไม่ทำให้มันเป็นงานบลูส์ซ้ำซากอย่างที่บางคนตราหน้ามันไว้ (และมันก็เป็นจริงในหลายกรณี) แต่ทีเด็ดของมันคือ ทั้ง 14 เพลงล้วนเป็นเพลงที่แต่งมาได้อย่างเด็ดดวงและเล่นด้วยฝีมือระดับ... น่าจะดีที่สุดในโลกแล้ว
   เสียงร้องของกายฟังดูสั่นเทาขึ้นเล็กน้อยแทบจับไม่ได้ เมื่อเทียบกับงานเก่าๆ แต่สำหรับดนตรีบลูส์ มันเป็นอะไรที่พิเศษที่ความชราภาพกับไม่ใช่ปัญหาใดๆในการแสดงออก แทร็คแรกเป็น straight blues ที่เรียบเรียงอย่างโปร่งบาง เปิดโอกาสให้กายโชว์อารมณ์ลุ่มลึกทั้งเสียงร้องและกีต้าร์ ก็ได้แต่หวังว่าวันที่กีต้าร์ลายจุดของเขาจะถูกวางบนหลุมฝังศพของเจ้าของจะยังคงอีกนานกว่าจะมาถึง ‘Wear You Out’ บูกี้บลูส์ระดับพรีเมี่ยมที่ได้แขกรับเชิญจาก ZZ Top-Billy Gibbons มาร่วมสังฆกรรม เสียงแหบกร้านและริธึ่มกีต้าร์อันเมามันส์ทำให้เพลงนี้ดุเดือดสุดๆ Kim Wilson จาก Fabulous Thunderbirds มาเป่าฮาร์โมนิก้าให้สองเพลงใน “Too Late’ และ ‘Kiss Me Quick’ (คนละเพลงกับของเอลวิส) และมันก็ช่วยเสริมส่งเสียงกีต้าร์ของกายเป็นอย่างดี (หีบเพลงปากเป็นเครื่องดนตรีที่กายชอบประชันด้วยมาแต่ไหนแต่ไร) ‘Back Up Mama’ เนื้อหาอย่างฮาแบบรุ่นเดอะ ทำนองว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นกายจึงไม่คิดว่ามันเป็นความผิดอะไรที่เขาจะมี “มาม่าสำรอง” ไว้อีกคน ในอีกเมืองนึง เผื่อมาม่านัมเบอร์วันไม่อยู่ เพลงนี้ยังมีท่อนโซโล่ที่สวยงามที่สุดในอัลบั้มอีกด้วย
   ในโลกของบลูส์นั้น มันไม่ใช่สถานที่ของความสะอาดสะอ้านหรือจรรยาใดๆ และนอกเหนือจากความเห็นเรื่องมาม่าสำรองแล้ว การบำบัดความทุกข์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นเรื่องชอบธรรมใน Blues World เสมอ ในอัลบั้มนี้กายนำเสนอแบบเผื่อให้เลือกตามใจชอบเลยด้วย ‘Whiskey, Beer & Wine’ แถมกำชับอีกว่ามันเป็นตัวยาของเขาที่จะแก้ได้ทุกปัญหาในชีวิต! ‘Crying Out In One Eye’ เสียงร้องแบบซื่อๆของกายในเพลงนี้เด็ดมาก พอๆกับเนื้อหาที่มีท่อนฮุคที่”การร่ำไห้ด้วยตาข้างเดียว” ใช่ครับ กายกำลังถูกแม่สาวหลอกบีบน้ำตาว่าอาลัยเขาเหลือแสน แต่จริงๆแล้วเขากำลังจะถูกทิ้ง เสียงทีมเครื่องเป่ามาถูกที่ถูกเวลา ทำให้อารมณ์ลัพธ์กระหึ่มขึ้นไปอีก แต่ใน ‘Thick Like Mississippi Mud’ กายใช้เครื่องเป่าเต็มที่เสียยิ่งกว่า ให้ความรู้สึกแน่นเหนียวเหมือนโคลนในมิสซิสซิปปี้จริงๆ เจ้าแม่แขกรับเชิญร้องคู่ Joss Stone กรีดกรายมากรุ้มกริ่มกับพี่กายของเราใน ‘(Baby) You’ve Got What It Takes’ ที่เป็นอีกครั้งที่หนูจอสส์ร้องได้สุดๆทั้งจังหวะจะโคนและน้ำเสียงอันยั่วยวนแต่ทรงพลัง ในขณะที่พี่กายดูจะลดวัยลงไปประมาณ 40 ปีในการ duet กับชี ฟังแล้วก็บ่นในใจอีกครั้งว่าเมื่อไหร่จอสส์จะทำเพลงแนวนี้แบบเน้นๆในอัลบั้มตัวเองเสียที (ล่าสุดออกไปแนวเร็กเก้แล้ว) ‘Turn Me Wild’, ‘Crazy World’ และ ‘Smarter Than I Was’ เป็นสามเพลงโชว์ฝีมือที่ต้องฟังกันนานๆหน่อย โดยเฉพาะเพลงหลังนี่ดาร์คเอาเรื่อง และโดดเด่นด้วยการประชันกีต้าร์กันสามตัว (กาย,Bob Britt และ Rob McNelley)

   แขกรับเชิญคนสุดท้ายคือ Van Morrison ที่มาร่วมขับร้อง ‘Flesh and Bone’ อันเป็นเพลงที่กายอุทิศให้ B.B. King ชีวิตเป็นอะไรที่มากไปกว่าเนื้อหนังและกระดูก แม้จะตายไปแล้วแต่วิญญาณนั้นยังดำรง ท่อนโซโลสั้นๆก่อนจบเพลงนั้นฟังดูเหมือนกายจะเล่นในสไตล์ของคิงเป็นการทำความเคารพครั้งสุดท้าย ปิดท้ายด้วย ‘Come Back Muddy’ ที่เขียนถึง Muddy Waters ผู้มีศักดิ์เป็นอาจารย์ของกาย

   นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมเขียนถึงกายใน GM2000 และคราวนี้ผมไม่มีอะไรจะติติงเขาได้ ห้าดาวเต็มๆครับ สำหรับ Born To Play Guitar และถ้าคิงและวอเตอร์สมีโอกาสได้ฟังงานชุดนี้ไม่ว่าในทางใด เขาทั้งสองคงสบายใจว่ายังไงเสีย This damn blues is still alive แน่นอนในมือของ Buddy Guy

Tracklist:

01 Born To Play Guitar
02 Wear You Out feat. Billy Gibbons
03 Back Up Mama
04 Too Late feat. Kim Wilson
05 Whiskey, Beer & Wine
06 Kiss Me Quick feat. Kim Wilson
07 Crying Out Of One Eye
08 (Baby) You Got What It Takes feat. Joss Stone
09 Turn Me Wild
10 Crazy World
11 Smarter Than I Was
12 Thick Like Mississippi Mud
13 Flesh & Bone with Van Morrison (Dedicated to B.B. King)
14 Come Back Muddy   


Tuesday 24 November 2015

“ปิศาจน้อย D.I.Y.”


“ปิศาจน้อย D.I.Y.”
Grimes | Art Angels ****
Released: November 2015
Producer: Claire Boucher
Genre: Electronic Art Pop
Tracklist:


1.
"laughing and not being normal"  
1:47
2.
"California"  
3:18
3.
"SCREAM" (featuring Aristophanes)
2:20
4.
4:24
5.
"Belly of the Beat"  
3:25
6.
"Kill V. Maim"  
4:06
7.
"Artangels"  
4:07
8.
"Easily"  
3:03
9.
"Pin"  
3:32
10.
"REALiTi" (excluded from cassette and vinyl pressings)
5:06
11.
"World Princess, Pt. II"  
5:05
12.
"Venus Fly" (featuring Janelle Monáe)
3:45
13.
"Life in the Vivid Dream"  
1:27
14.
"Butterfly"  
4:12


ต้นทศวรรษ 2000 ในยุครุ่งเรืองของการทำเพลงลงในเว็บไซต์ myspace สาวน้อย Claire Boucher รู้สึกสับสนในการที่จะต้องกรอกประเภทดนตรีในงานที่เธอสร้างสรรค์เองและกำลังจะอัพขึ้นเว็บไซต์สุดฮ็อท (ในยุค) นั้น เธอกวาดสายตามองในตัวเลือก และจิ้มไปที่ 'Grimes Music' แทบจะทุกครั้งที่เธอโพสต์เพลงใหม่ ทั้งๆที่ตอนนั้นเธอไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าดนตรีแนว Grimes นี่มันเป็นยังไง และนั่นคือที่มาของนามปากกา 'Grimes' หรือจะเรียกเท่ๆว่า alter-ego ก็ได้ ที่แคลร์ใช้ในการนำเสนอดนตรีของเธอ (และถ้าจะจัดหมวดหมู่ให้ดนตรีของเธอ-ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย-มันก็น่าจะไม่อยู่ในหมวดหมู่ Grimes Music นี้) ถ้าจะสรุปดนตรีของเธอให้ง่ายสั้นที่สุด ส่วนผสมหลักในความเป็น Grimes ก็คือ....ความระห่ำและปราดเปรื่องของ Bjork + อาร์แอนด์บีและป๊อบในยุครุ่งเรืองของ Mariah Carey + ความหวานล่องลอยดั่งนางพรายของ Enya

'Art Angels' เป็นผลงานชุดที่ 4 ของ Grimes มันเป็นการก้าวกระโดดยาวๆจากงานสร้างชื่อของเธอใน 'Visions' เมื่อปี 2012 มันมีความเป็นป๊อบ,เข้าถึงวิทยุมากขึ้น (ถ้าสิ่งนี้ยังมีอยู่?) แต่ก็ไม่ได้ผ่อนคลายความดีเดือดและซุกซนอย่างบ้าคลั่งในการที่จะโลดแล่นและคลุกเคล้าดนตรีสารพัดแนวเข้าด้วยกันในแบบ maximalism ของเธอ ในยุคที่ศิลปินหญิงจำนวนหนึ่งต้องพึ่งโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงมากมายในการทำงานแต่ละอัลบั้ม แคลร์เป็นอะไรที่ตรงกันข้าม เธอเหมาหมดทุกตำแหน่งดังกล่าว แถมเล่นเครื่องดนตรีเองทุกชิ้นอย่างสบายๆ นอกจากซินธ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นอาวุธประจำกายของเธอแล้ว ในรอยต่อระหว่างอัลบั้มก่อนกับชุดนี้ แคลร์ยังเพิ่มศักยภาพให้ตัวเองด้วยการหัดเล่นกีต้าร์, ukulele และไวโอลินเพิ่มเข้ามาอีกด้วย

Claire Boucher เกิดเมื่อปี 1988 (แก่กว่า Taylor Swift 1 ปี) ที่แวนคูเวอร์,แคนาดา การเรียนรู้ทางดนตรีบทแรกๆในชีวิตของเธออาจจะเป็นการเรียนบัลเลต์ต่อเนื่องถึง 11 ปี (ยังคงร่องรอยไว้ในรูปร่างอันเพรียวบางและลีลาการเต้นที่สวยงามและน่าประหลาดตาในเอ็มวีต่างๆ) ก่อนที่จะไปเรียนมหาวิทยาลัยในสาขา วิทยาศาสตร์ทางระบบประสาทที่ McGill University แคลร์เริ่มใช้ชื่อ Grimes ในการแสดงดนตรีและบันทึกเสียงในช่วงนี้   Grimes ออกอัลบั้มเปิดตัว Geidi Primes ในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์ สังกัด Arbutus Records ในปี 2010 และอัลบั้มที่สอง Halfaxa ตามอออกมาในปีเดียวกัน ปีถัดมาเธอก้าวขึ้นไปอีกขั้นด้วยการได้เป็นศิลปินเปิดการแสดงให้ Lykke Li ในการออกทัวร์อเมริกาเหนือ แคลร์เซ็นสัญญากับ 4AD Records ตอนต้นปี 2012 และออกอัลบั้ม Visions มาอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม มันเป็นงานที่ทำให้โลกได้รู้จักเธอ นักวิจารณ์แซ่ซ้องกันอึงมี่ นิตยสาร NME ถึงกับยกให้มันเป็นหนึ่งใน 500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล Pitchfork ยกให้ ‘Oblivion’ เป็นเพลงอันดับ 1 ในลิสต์เพลงที่ดีที่สุดในทศวรรษนี้ แต่เบื้องหลังของการบันทึกเสียงนี้กลับไม่โสภา Grimes ใช้กระบวนการทุกข์กิริยา ทรมานตัวเองสารพัดขณะอัดเสียง ปิดหน้าต่างเงียบเป็นวันๆเพื่อแต่งเพลง เสพ Amphetamines ไม่หลับไม่นอนไม่กินสามสัปดาห์ ผลที่ได้อาจจะคุ้มค่า แต่ระยะยาว Grimes คงรู้ตัวดีว่าไม่น่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง โชคดีที่เธอผ่านจุดนั้นมาแล้ว และไม่ได้ทำตัวอย่างนั้นในการทำ Art Angels

Visions มองเผินๆอาจจะเป็นงานซินธ์ป๊อบที่เต็มไปด้วยเสียงร้องแหลมหลอนของแคลร์ฉวัดเฉวียนไปมา แต่เมื่อฟังจนได้ที่ผู้ฟังแทบทุกท่านจะรู้สึกได้ถึงความอัศจรรย์ที่กลั่นจากสมองและฝีมือของเธอที่เยี่ยมไม่แพ้เสียงระดับ super-soprano นั้น คุณอาจจะเต้นรำไปกับ Visions ได้ แต่มันย่อมไม่เหมือนกับการเต้นกับเพลงของ Lady Gaga อย่างแน่นอน

Grimes ต้อนรับแฟนๆในปี 2014 ด้วยการปล่อยเพลงใหม่’Go’ ในเดือนมิ.ย. ด้วยแนวทางที่เป็นมิตรกับคนฟังในวงกว้างมากขึ้นเล็กน้อย สร้างกระแสในการรอคอยอัลบั้มชุดที่ 4 อย่างแรง (แต่แฟนพันธุ์แท้จำนวนหนึ่งออกอาการไม่พอใจ) แต่แล้ว Grimes ก็โยนอัลบั้มชุดนั้นที่กำลังทำอยู่ทิ้งกลางคันเอาดื้อๆ ด้วยเหตุผลที่ว่ามัน “หดหู่เกินไป” และเธอไม่อยากจะตระเวณแสดงกับงานแบบนั้น แต่ในเดือนมีนาคม 2015 Grimes ก็ยังอุตส่าห์ปล่อย MV เพลง REALiTi ที่เป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้มที่ถูกเก็บเข้ากรุนี้ออกมา แน่นอนว่าแฟนๆและนักวิจารณ์มองไม่เห็นว่ามันจะแย่หรือหดหู่ตรงไหน (Grimes กำกับเอ็มวีนี้เอง และเพลงที่ใช้ก็เป็นแค่เดโม) และตอบสนองเอ็มวีเพลงนี้กันในแง่บวก

Grimes ปล่อยซิงเกิ้ลแรกจาก Art Angels ‘Flesh Without Blood / Life in the Vivid Dream’ ออกมาในวันที่ 26 ตุลาคม 2015 และ Album Art Angels ในแบบดิจิตัลในเดือนพ.ย. ด้วยภาพปกแสบสันต์และไม่เหมือนใครจากฝีมือเธอเอง (แคลร์โชว์ฝีมือทางศิลปะวาดภาพทาง tumblr ของเธอเป็นประจำ)

Art Angels ยังคงเป็น Claire Boucher โชว์เดี่ยวตลอดรายการเช่นเคย เว้นแต่สองแทร็คที่มีแขกรับเชิญมาร่วมขับร้อง ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจาก Visions คือเสียงกลองที่หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น, เมโลดี้ที่ลดหลอนแต่เพิ่มความ catchy และการใช้เสียงร้องอันน่าทึ่งของเธอที่พัฒนายิ่งกว่าเดิมไปอีก เรามาฟังพร้อมๆกัน

 laughing and not being normal เพลงอินโทรสั้นๆที่เหมือนนิวเอจยุคแรกหลอมกับสตริงควอเต็ตยุคบาร็อคและเสียงร้องสูงเสียดฟ้า California เพลงประชดเว็บไซต์วิจารณ์เพลง pitchfork ที่ชอบตีความเพลงเธอผิดๆ แต่ถ้าไม่บอกก่อนก็คงจะตีความเพลงนี้เองเป็นอื่นได้มากมาย บางคนเอาไปเปรียบกับ Welcome to New York เพลงเปิดอัลบั้ม 1989 ของ Taylor Swift (Grimes ทำอัลบั้มชุดนี้ใน LA.) เครื่องเสียงและ/หรือหูฟังดีๆจะถ่ายทอดให้ท่านได้ยินอย่างชัดเจนเลยว่า Grimes จัดเข้าไปกี่ layers ในแทร็คๆเดียวนี้ Scream แขกรับเชิญคนแรก ‘Aristophanes’ (ชื่อจริง Pan Wei-Ju) แร็ปเปอร์ชาวไต้หวันมาแร็ปเป็นภาษาจีนตลอดเพลง ส่วนแคลร์เองปักหลักรับหน้าที่... scream เพียงอย่างเดียว  (เนื้อเพลงเมื่อแปลออกมาแล้วติดเรทใช้ได้) Flesh Without Blood ซิงเกิ้ลแรกที่ชวนแดนซ์เป็นอย่างยิ่ง ส่วนเอ็มวีนั้นก็หลอนเอาเรื่อง แม้เพลงจะไม่มี blood แต่เอ็มวีไม่คิดอย่างนั้น นี่เป็นอีกแทร็คที่หลายคนคิดว่าเป็นเพลงอกหัก แต่แคลร์ยืนยันว่าไม่มีเพลงรักใน Art Angels Belly of the Beat สำเนียง bollywood dance ที่มาดอนน่าหรือพี่เบิร์ดน่าจะอยากนำไปร้อง Kill V. Maim เพลงที่ crazy ได้สุดเหวี่ยงที่สุดในชุดนี้ แคลร์บอกว่าเนื้อเพลงนี้เป็นมุมมองของอัลปาชิโนในบทที่เขาเล่นใน The Godfather II เพียงแต่อัลคนนี้สามารถเปลี่ยนเพศและเดินทางผ่านอวกาศได้ (!) หวังว่า Grimes จะทำเอ็มวีเพลงนี้นะ (ชอบการแหกปากเท่ๆและคอรัสเสียงแหลมจี๊ดที่มันส์สุดๆ)  Artangels (เขียนติดกันเมื่อเป็นชื่อเพลง) แคลร์บอกตรงๆในการให้สัมภาษณ์ว่าเพลงนี้แต่งให้ Montreal เบสและบีทโดดเด้งดีดดิ้น ทำนองอย่างเพราะ และเธอก็ใส่ดนตรีสารพัดเสียงไม่ยั้งตลอดเพลง Easily สมชื่อ เพลงนี้ช้าหวานและ simple จนเราสงสัยว่านี่เธอจะมาไม่ไหน แถมมีโชว์ของเล่นใหม่-ไวโอลิน จากฝีมือเธอเองด้วย Venus Fly ได้ Janelle Monáeมาร่วมร้อง ออกจะธรรมดาไปหน่อยสำหรับมือระดับเธอสองคนกับเพลงสไตล์ปอม-ปอมแบบนี้ Realiti แทร็คนี้แคลร์นำมารีมิกซ์ใหม่ไม่เหมือนกับในเอ็มวีที่เราได้ชมกันไปก่อนหน้านี้ ฟังแล้วอยากให้เธอไปเชิญวง Arcade Fire มา featuring… (แทร็คนี้จะมีเฉพาะใน digital version)

เพลงสุดท้าย Butterfly ที่เธอแต่งในมุมมองของผีเสื้อในอะเมซอนขณะที่ป่ากำลังถูกตัด......

Art Angels คือชัยชนะของผู้หญิงคนหนึ่งในการทำเพลงป๊อบสุดขั้วสักชุดให้ตามใจตัวเองสุดเหวี่ยงแต่ก็ยังเรียกคนมาร่ายระบำบนแดนซ์ฟลอร์ไปกับเพลงของเธอได้ ขอคารวะจากใจ แม่ปิศาจน้อย DIY….. Claire Boucher