Wednesday 22 April 2015

๖ เหตุผลที่คุณไม่ควรพลาดการไปชม "โหมโรง เดอะ มิวสิคัล"



หัวค่ำวันพุธที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘ ผมได้รับเกียรติจากคุณ Jack Kanit ให้ได้มีโอกาสเข้าชมการแสดงละครเวทีมิวสิคัลเรื่องนี้ โดยได้คู่ควงในงานนี้เป็นอาจารย์ส่วนตัวของผม: พี่สมบูรณ์ งามสุริยโรจน์ แฟนพันธุ์แท้บีจีส์ และเจ้าของผลงานอมตะ "30 ปี เดอะ บีทเทิลส์" ในสตาร์พิคส์เมื่อ ๒๐ ปีก่อน

รอบนี้เป็นรอบพิเศษ ไม่มีผู้ชมที่แท้จริง (มีแต่พวกดูฟรี เอ๊ย สื่่อมวลชน และทีมงาน) เพราะเป็นคืนที่พวกเขาเล่นเพื่อถ่ายทำวิดีโอไปด้วย และถือเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนการแสดงจริงอีกครั้งในวันที่ ๒๓ หลังจากพักไปหลายวันในช่วงสงกรานต์

คุณแจ็คถามผมกับพี่สงกรานต์ เอ๊ย สมบูรณ์ว่า มีปัญหาอะไรไหม กับการชมในเวอร์ชั่นนี้ เพราะอาจจะไม่ได้บรรยากาศจริงๆของคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน(เวอร์แระ) และต้องรำคาญกับกล้องที่วิ่งไปวิ่งมาบ้าง แต่เราก็ไม่มีปัญหาอะไร ดีเสียอีกที่คนไม่เยอะและได้เห็นเบื้องหลังอะไรๆด้วย

พี่สมบูรณ์บอกกับคุณแจ็คก่อนว่า ไม่เป็นไรหรอก ผมดูเป็นไอเดียเฉยๆ และอย่าว่านะ ถ้าผมจะกลับก่อน

ถ้าท่านเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ที่โด่งดังมากเมื่อหลายปีก่อน ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมาดูอะไรซ้ำซาก เพราะรูปแบบของละครเพลงเวทีทำให้มันมีอะไรแตกต่างไปจากภาพยนตร์จอเงินมากมาย และยังมีเนื้อหาและการตีความที่ได้มุมมองใหม่ๆอีก

แต่แก่นของความเป็น"โหมโรง" ยังอยู่ นั่นคือความสมดุลย์ของเสรีภาพในการแสดงออก, รากของวัฒนธรรม และความทรนงในความเป็นมนุษย์

ท่านควรไปชมละครเวทีเรื่องนี้ไหม ผมคิดว่าควร และนี่คือ ๖ เหตุผลที่ผมพอจะนึกได้

๑.การแสดงของศิลปินแห่งชาติ สุประวัติ ปัทมสูต ที่รับบท "ศร ศิลปบรรเลง" หรือ "หลวงประดิษฐไพเราะ" ในวัยชรา ในวัย ๗๗ ปี ท่านรับบทนี้ได้อย่างเหมาะสมและยิ่งใหญ่ ทั้งบทพูด การร้องเพลง และการแสดงดนตรี ที่ทำให้เราเชื่อไปเลยว่ากำลังดู"ครูศร" เล่นจริงๆ ถ้าผมคิดไม่ผิด มีบางประโยคที่ท่านพูดพลาดตะกุกตะกักไปหน่อย และทีมงานด้านหลังก็คุยกันว่า คงต้องถ่ายซ่อมฉากนี้ (แอบได้ยิน) แต่ผมกลับคิดว่านั่นเป็นความผิดพลาดที่ทำให้ดูเป็นธรรมชาติของคนชราวัยนั้น และสมควรปล่อยมันไว้อย่างนั้น

๒.ฝีมือระนาดของพระเอก "อาร์ม" กรกันต์ สุทธิโกเศศ ที่ท่านต้องไปดูด้วยตาและฟังด้วยหู โดยเฉพาะฉากดวลระนาดเอกกับ"ขุนอิน"ในไคลแมกซ์ของเรื่อง มหัศจรรย์ยิ่ง ยังไม่นับหน้าตาอันหล่อเหลาเอาเรื่อง และเสียงร้องเพลงที่ไม่ธรรมดาอีกต่างหาก

๓.เสียงร้องสะกดโลกของ "แนน" สาธิดา พรหมพิริยะ ที่แม้จะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ทุกครั้งที่เธอเปล่งเสียงหวานกังวานก้องอันสุดจะสมบูรณ์แบบออกมา ทุกอย่างในโรงละครก็หยุดนิ่งและหมดความสำคัญไป

๔. การกำกับศิลป์ที่ทำได้อย่างมีรสนิยม,ได้บรรยากาศ และสร้างสรรค์ รวดเร็วทันใจ ตื่นตาตื่นใจ รวมถึงบทเพลงประพันธ์ใหม่ที่ทั้งเล่าเรื่องและให้ความบันเทิง ทำได้ดีไม่แพ้สากลเลยครับ

๕.การแสดงของตัวประกอบหลายๆคน เด็กๆน่ารักทุกคน "ทิว","เทอด", "พี่เปี๊ยก" ล้วนเรียกเสียงฮาและสร้างสีสันทำให้ "โหมโรง"ดูไม่เครียดเกินไป มีมุกเล็กๆของ"ครูรัก"ที่แฟนๆ AF คงอดฮาไม่ได้หลายตอนเหมือนกัน หลายครั้งที่เกือบๆจะเป็นนักแสดงเหล่านี้ขโมยซีนไปบ้างไม่มากก็น้อยล่ะ

๖. ประการสำคัญที่สุดที่ท่านควรจะพาบุตรหลานไปดู ก็คือละครเรื่องนี้จะทำให้พวกเขาสัมผัสอรรถรสของดนตรีไทยเดิมในแบบสำหรับผู้เริ่มต้นได้เป็นอย่างดี (มีการประสานดนตรีสากลเข้าไปด้วยพองาม) พร้อมๆไปกับแฝงคติธรรมในชีวิตอีกมากมาย ที่ผู้เขียนบทและผู้สร้างนำเสนอแบบมีระดับ ไม่ยัดเยียด เว้นช่องว่างให้คิดต่อ

โหมโรง เดอะ มิวสิคัล คือละครเพลงเวทีที่เต็มไปด้วยความประทับใจ ได้ทั้งความบันเทิง และ ศิลปะ อาจจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ผมเสียไปในการชมเมื่อคืนนี้...น้ำตาที่ไหลซึมในฉากท้ายๆครับ

ผมเดินออกจากโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศในเวลาเกือบห้าทุ่มพร้อมๆพี่สมบูรณ์... ครับ เหมือนเขาจะลืมไปแล้วว่าเคยบอกว่าอาจจะกลับก่อนละครจบ

Wednesday 8 April 2015

Ashes to Ashes

Ashes to Ashes 
David Bowie
from album 'Scary Monsters (and Super Creeps)'
1980
Composed by David Bowie
Produced by David Bowie & Tony Visconti
-----------

"ฉันไม่เคยทำอะไรดีๆ
ฉันไม่เคยทำอะไรเลวๆ
ฉันไม่เคยทำอะไรโดยไม่มีที่มาที่ไป"

----------

ผมได้ยิน Ashes to Ashes ครั้งแรกจากแผ่นเสียงรวมฮิตของเขาชื่อ Changestwobowie ที่ผมเจียดค่าขนมไปถอยมาจาก...(น่าจะ)...เซ็นทรัลลาดพร้าว ในยุคต้นทศวรรษ 80's เคยได้ยินผู้คนกล่าวขวัญกันมากว่ามันเป็นหนึ่งในเพลงที่ยอดเยี่ยมเหลือเกินของพ่อหนุ่มผู้มิอาจหยุดนิ่งผู้นี้ (คำว่า changes เป็นคำๆเดียวที่บรรยายโบวี่ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะภาพลักษณ์และดนตรีของเขาในยุค 70's)

(และก็เป็น LP รวมเพลงที่ผมชอบมากๆ สังกัด RCA เสียงหนานุ่มขอบชีส)

และมันก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวัง Ashes To Ashes เป็นเพลงฟังยากที่จับเข้าที่หัวใจและเกาะหนึบเข้าไปในสมองผมทันควัน ทำนองเอื่อยๆแต่ประดับประดาด้วยเบสดีดดิ้นฟังกี้ เสียงเลเยอร์ของกีต้าร์ที่หนาแน่นมิอาจนับได้ด้วยหูเปล่าๆ (แต่แอบไปค้นมาว่าเล่นโดย Chuck Hammer โดยท่านใช้กีต้าร์ซินธ์ถึง 4 ตัวแต่ละตัวเล่นคอร์ดตรงกันข้ามกัน) และแน่นอน...การร้องที่ไม่ธรรมดาเลยของโบวี่ ที่เขาแสดงความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ได้ในหลายรูปแบบ เปลี่ยนสไตล์ไปในแทบทุกบรรทัด และยังมีเสียงประสานแบบไร้อารมณ์นั่นอีก

อีกหลายปีต่อมากว่าผมจะได้ฟังเพลงนี้ในอัลบั้มแท้ๆที่เป็นบ้านของมัน Scary Monsters (and Super Creeps) ที่ผมคิดว่าเป็นหนึ่งในงานที่เจ๋งที่สุดของเขาทีเดียว (น่าจะติดท๊อป 5 หรือ 3)

โบวี่เคยมีเพลงดังในยุคแรกชื่อ Space Oddity (1969) อันมีตัวละครชื่อ Major Tom และสิบปีต่อมา เขาก็เขียนภาคต่อของเมเจอร์ทอมในเพลงนี้ แต่ในการเขียนเพลงร็อคในยุคนั้นของโบวี่ เขาไมนิยมการเขียนแบบตรงไปตรงมา ดังนั้นเราจึงไม่อาจเข้าใจสารใน Ashes To Ashes ได้ง่ายๆถ้าไม่ตีความและศึกษากันอย่างหนัก ว่ากันว่ามีคำคุย(ไม่แน่ใจว่าจากโบวี่เองหรือสังกัด) ว่าซิงเกิ้ลนี้เป็นอะไรที่มีสารซ่อนเร้นอยู่ในปริมาณต่อวินาทีมากกว่าซิงเกิ้ลใดๆที่ออกมาในปี 1980

การที่จะมานั่งตีความเพลงแบบนี้ ขั้นแรกสุดต้องตัดความคิดที่ว่าผู้แต่งไม่ได้มีความจงใจให้มีความหมายใดๆ แค่เล่นสนุกกับการเอาถ้อยคำมาเรียง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่มันจะทำให้เราดูงี่เง่ามากที่จะมาตีความในสิ่งที่ไม่มีความหมายแต่แรก

ใน Space Oddity เป็นการสื่อสารระหว่างเมเจอร์ทอมกับภาคพื้นดิน ที่สุดท้ายจบด้วยการขาดการติดต่อไปและเมเจอร์ทอมก็ลอยละล่องอยู่ในแคปซูล มองเห็นทั้งดวงจันทร์และโลก เราอาจตีความอะไรๆได้เป็นล้านอย่างจากเนื้อเพลงแบบนี้ แต่ก็อาจเป็นแค่การบรรยายเรื่องราวของนักบินอวกาศคนนึงธรรมดาๆที่โบวี่เขียนขึ้นอย่างตามกระแสก่อนอพอลโล11ลงจอดที่ดวงจันทร์ไม่นาน

แต่ใน Ashes... อะไรๆกลับชวนมึนกว่ามาก มีหลายคำที่ชวนให้คิดถึงยาเสพติด เช่น junkie, high, kick, flash of light....

และจบด้วยคำสรุปของคุณแม่ของผู้ร้องว่า แม่ผมบอกว่าถ้าอยากให้อะไรๆเสร็จเรียบร้อยล่ะก็ อย่าไปยุ่งกับเมเจอร์ทอมดีกว่า?

ถามคนแต่งดีกว่า โบวี่หัวเราะแล้วบอกว่า "มันเป็นอาขยานน่ะ เกี่ยวกับนักบินอวกาศที่กลายไปเป็นขี้ยา"

ช่วยได้เยอะเลย

ผมคงต้องย่อยสลายเพลงนี้ต่อไป แต่กลับไปที่เนื้อเพลงข้างบน มันอาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อเพลงส่วนอื่นๆเลย แต่ผมก็ชอบมันที่สุด

I never done good things
I never done bad things
I never did anything out of the blue

ทุกอย่างมีที่มาที่ไปทั้งนั้น คนจะดีจะชั่วจะโง่หรือฉลาด จะแสนดี จะโกงกิน จะโหดร้าย จะสุดซื่อ จะกล้าหาญ จะยอกย้อน

มันไม่ได้อยู่ดีๆเกิดขึ้นมาเองหรอก ทุกสิ่งที่เกิดให้เราเห็น

แต่สุดท้าย
อะไรที่มาจากเถ้าธุลี ก็จบด้วยเถ้าธุลี
อย่างน้อยก็ที่เราเห็น

----

Do you remember a guy that's been
In such an early song
I've heard a rumour from Ground Control
Oh no, don't say it's true

They got a message
from the Action Man
"I'm happy, hope you're happy too
I've loved
all I've needed to love
Sordid details following"

The shrieking of nothing is killing
Just pictures of Jap girls
in synthesis and I
Ain't got no money and I ain't got no hair
But I'm hoping to kick but the planet it's glowing

[CHORUS]
Ashes to ashes, funk to funky
We know Major Tom's 4
a junkie
Strung out in heaven's high
Hitting an all-time low

Time and again I tell myself
I'll stay clean tonight
But the little green wheels are following me
Oh no, not again
I'm stuck with a valuable friend
"I'm happy, hope you're happy too"
One flash of light
but no smoking pistol

I never done good things
I never done bad things
I never did anything out of the blue,
Want an axe to break the ice
Wanna come down right now

[CHORUS]

My mother said
to get things done
You'd better not mess
with Major Tom

หมายเหตุ -คนยุค80's อาจจะนึกถึงอีกเพลงขึ้นมาตอนนี้ ซิงเกิ้ลสนุกๆของปีเตอร์ ชิลลิ่ง Major Tom (Coming Home) ที่เป็นการเขียนต่อจากสองเพลงนี้เอาดื้อๆ ดังกระฉ่อนในบ้านเราเลยล่ะ

Thursday 2 April 2015

Superstar

"Superstar"
แต่งโดย-Leon Russell, Bonnie Bramlett
โปรดิวเซอร์-Jack Daugherty
สังกัด-A&M
อัลบั้ม-Carpenters (1971)
-------------------------------
Long ago and oh so far away นานแสนนานมาแล้ว.....และโอ...ไกลแสนไกล
I fell in love with you before the second show ฉันหลงรักคุณเข้าเต็มเปาก่อนการแสดงรอบที่สอง
Your guitar, it sounds so sweet and clear เสียงกีต้าร์ของคุณนั้น มันช่างแสนหวานและกระจ่างชัด
But you're not really here แต่บัดนี้,จริงๆแล้วคุณไม่ได้อยู่ที่นี่
It's just the radio มันเป็นเพียงแค่เสียงเพลงจากวิทยุเท่านั้น
[Chorus:]
Don't you remember you told me you loved me baby คุณจำไม่ได้หรอกหรือที่คุณบอกว่ารักฉันน่ะที่รัก?
You said you'd be coming back this way again baby ตอนนั้นคุณพูดว่าคุณจะกลับมาทางนี้อีกครั้ง....จำได้หรือไม่?
Baby, baby, baby, baby, oh, baby, I love you I really do
ที่รัก,ที่รัก,ที่รัก,ที่รัก...โอ้ที่รัก ฉันรักคุณเหลือเกิน....
Loneliness is a such a sad affair ความเดียวดายมันช่างแสนเศร้า
And I can hardly wait to be with you again ฉันแทบรอต่อไปไม่ไหวแล้วที่จะได้อยู่กับคุณอีกครั้ง
What to say to make you come again จะพูดอย่างไรดีให้คุณมาที่นี่อีก
Come back to me again กลับมาหาฉันอีกครั้ง.....
And play your sad guitar และเล่นกีต้าร์เสียงเศร้าๆตัวนั้นของคุณให้ฉันฟังอีกที.....
------------
เมื่อริชาร์ด คาร์เพนเตอร์ได้ยินเพลง "Superstar" จากเสียงร้องของ Bette Midler ในรายการ Tonight Show เขาแทบจะรอไม่ไหวที่จะเรียบเรียงและบันทึกเสียงเพลงนี้ ริชาร์ดคิดว่ามันช่างเหมาะเจาะกับเสียงร้องของน้องสาวของเขา-คาเรน คาร์เพนเตอร์
แต่คาเรนเมื่อเห็นเนื้อเพลงแล้วกลับไม่คิดเช่นนั้น เธอสงสัยว่าพี่ชายของเธอจะเสียสติไปแล้วที่จะให้เธอร้องเพลงเกี่ยวกับกรุ๊ปปี้ (Groupie--กลุ่มแฟนเพลงสาวๆที่ติดตามร็อคสตาร์อย่างทุ่มกายถวายรัก) ที่โหยหาอยากจะนอนกับร็อคสตาร์ มันเป็นอะไรที่ไม่เข้ากับอิมเมจสาวหวานแสนสุภาพของเธอและ Carpenters เอาเสียเลย
แต่ริชาร์ดก็ยังยืนยันว่ามันคือเพลงที่ใช่ และการเปลี่ยนเนื้อเพลงแค่คำเดียวจาก "I can hardly wait to sleep with you again" เป็น "be with you again" ก็ทำให้เพลง Superstar ถูกขยับเรตเข้าไปในช่วงที่แฟนเพลงน่ารักๆของ Carpenters รับได้ทันที
ริชาร์ดเรียบเรียง Superstar อย่างสุดฝีมือ (เขาได้เข้าชิงแกรมมี่จากการเรียบเรียงเพลงนี้) เสียงโอโบในช่วงอินโทรให้อารมณ์ถวิลหาและเสียงประสาน,ฮอร์น และเครื่องสายวงเล็กในช่วงคอรัสก็ทำให้มันกลายเป็น epic song ไปอย่างมหัศจรรย์ ทุกอย่างสอดประสานรองรับการเสียงร้องที่หวานเศร้าและสมบูรณ์แบบอันถ่ายทอดด้วยความนิ่มนวลดุจกำมะหยี่ของคาเรน เธอร้องเพลงนี้เป็นครั้งแรกด้วยการอ่านเนื้อเพลงที่ริชาร์ดปรับปรุงใหม่และเขียนไว้บนกระดาษเช็ดปาก และริชาร์ดก็ไม่ต้องการเทคที่ 2 เพราะมันสมบูรณ์แบบแล้วในความเห็นของเขา เทคแรกและเทคเดียวของเสียงร้องจากคาเรนจึงเป็นสิ่งที่เราได้ยินในเพลงของ Carpenters ในทุกวันนี้
'Superstar' เป็นเพลงแรกในหน้าสองของอัลบั้มที่สามของ Carpenters ที่ใช้ชื่อเดียวกับวงและออกมาในปี 1971 พวกเขาตัดมันออกเป็นซิงเกิ้ลที่สามจากอัลบั้มด้วย เพลงนี้แต่งโดย Leon Russell และ Bonnie Bramlett ศิลปินแรกที่นำไปร้องคือ Delaney & Bonnie โดยใช้ชื่อเพลงว่า Groupie (Superstar) ศิลปินอื่นๆที่นำไปร้องโด่งดังก็มี Bette Midler (ดังกล่าวด้านบน), Cher และ Rita Coolidge รวมทั้ง Sonic Youth ในอีกหลายปีถัดมา ในอัลบั้มทริบิวต์แด่ Carpenters 'If I Were A Carpenter'
หลังจากเปรียบเทียบในหลายๆเวอร์ชั่นของ Superstar ผมขอฟันธงอย่างไม่ฟังเสียงใครว่า เสียงร้องของคาเรนมีศักยภาพสูงสุดที่สุดที่จะทำให้ซุปตาร์คนนั้นใจอ่อนและย้อนกลับมาเล่นกีต้าร์เสียงหวานให้เธอฟังอีกครั้ง และ... be with her again...^^