Thursday 28 December 2017

“กับไฟในมือที่ยังไม่มอดไหม้”


Robert Plant :: Carry Fire ****



ออกจำหน่าย- 12 ตุลาคม 2017
โปรดิวเซอร์- Robert Plant
แนวดนตรี- World Music, Folk, Rock

Tracklist:
1. "The May Queen"
2. "New World…"
3. "Season’s Song
4. "Dance With You Tonight"
5. "Carving Up The World Again"
6. "A Way With Words"
7. "Carry Fire"
8. "Bones Of Saints"
9. "Keep It Hid"
10. "Bluebirds Over The Mountain"
11. "Heaven Sent"

ร่มเงาของเรือเหาะล่องเวหา วงดนตรีร็อคหนักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ : Led Zeppelin นั้นกว้างไกลเหลือแสน ยากยิ่งนักที่สมาชิกในวงจะวิ่งหนีไปถึงขอบและหลุดพ้นมันไปได้ อย่างไรเสีย คำแรกที่นึกถึงเวลาเอ่ยถึง Robert Plant, Jimmy Page, John Paul Jones หรือ John Bonham (คนหลังคงน้อยหน่อย, เพราะเขาไม่เคยเป็นอดีตสมาชิกวงนี้, แกตายเสียก่อน) ก็คือ พวกเขาเป็นอดีตสมาชิกวง Led Zeppelin ในบรรดาสมาชิกทั้งสามคน มีเพียงแพลนต์คนเดียวที่มีผลงานเดี่ยวออกมาอย่างต่อเนื่อง (ขณะที่เรายังต้องรอ solo อัลบั้มชุดที่ ๒ จากเพจอยู่) และดูเขาจะไม่แยแสว่าดนตรีของเขาจะเหมือนหรือไม่เหมือน Led Zeppelin เขาไม่พยายามหนี เขาไม่พยายามเดินตามรอยเดิม เขาแค่เดินไปในทางที่เขาอยากเดิน นั่นหมายถึงถ้าดนตรีที่เขาจะทำออกมาจะมีความละม้ายคล้ายความเป็นเซพพลินบ้าง เขาก็ไม่เดือดร้อนอะไร

และการเดินทางของนักร้องเสียงมหัศจรรย์ (ฉายาที่ฝรั่งเรียก-- ‘Percy’, ‘Golden God’) ก็มาถึงชุดที่ ๑๑ เข้าไปแล้ว แพลนต์ในวัย 69 ปี ไม่ได้กรีดร้องเสียงสูงอันลือลั่นอย่างในเพลง Immigrant Song (จากผลงานชุด Led Zeppelin III แต่กลับมาดังอีกครั้งในปีนี้ เมื่อถูกนำมาใส่อย่างเหมาะเจาะในภาพยนตร์ Thor : Ragnarok) หรือสุดเหวี่ยงยิ่งกว่านั้นใน Whole Lotta Love ( Led Zeppelin II) มาหลายปีแล้ว แต่เขารู้ในศักยภาพปัจจุบันของเสียงตัวเองและใช้มันอย่างคุ้มค่า ในภาพรวมของดนตรี Carry Fire เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าโรเบิร์ต แพลนต์ ไม่เคยทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน นี่เป็นหนึ่งในงานชิ้นเยี่ยมของเขา (อีกแล้ว)

หลังจากลองผิดลองถูกพอสมควรในยุค 80’s และ 90’s แพลนต์เริ่มค้นพบแนวทางใหม่ในอัลบั้ม Dreamland (2002) ที่เป็นงาน cover เสียครึ่งอัลบั้ม นั่นคือการผสมผสาน world music (รวมทั้งแอฟริกัน,อารบิก,อินเดีย) เข้ากับดนตรีบลูส์ และไซคีดีลิกร็อค งานหลังจากนั้นมาเรียกได้ว่าเข้าฝักมาตลอด ตั้งแต่ Mighty Rearranger (2005), Band of Joy (2010)และล่าสุดก่อนหน้าอัลบั้มนี้  Lullaby and …  the Ceaseless Roar (2014) แม้ว่าความสำเร็จที่พีคมากของเขากลับเป็น Raising Sand (2007) อันเป็นอัลบั้มที่เฮียแกร้องคู่กับนักร้องสาวเสียงนางฟ้า Alison Krauss จนหลายๆคนเชียร์ให้ออกผลงานร่วมกันอีก (หรือเลยเถิดไปจนถึงลือว่าสองคนนี้เป็น “คู่จิ้น” ต่างวัย) แต่แพลนต์ก็ไม่ได้แยแสจะทำอะไรแบบนั้น (ทั้งการออกอัลบั้มคู่กับเคราส์อีกชุด และจิ้นกับเธอ) เขากลับสู่เส้นทางเดิมอย่างรวดเร็ว และมั่นคง โดยไม่ได้สนใจเรื่องการทำเงินอะไรง่ายๆแบบนั้น

อ้อ ปี 2007 ยังมีอีกเหตุการณ์สำคัญคือ การรียูเนี่ยนเพื่อการแสดงครั้งเดียวของ Led Zeppelin ที่ O2 Arena, London ซึ่งแน่นอนว่าตามไปด้วยข่าวลือถึงการออกทัวร์ยาวนาน หรือการทำอัลบั้ม ครั้งแล้วครั้งเล่า หลายปีหลังจากนั้น แต่แพลนต์ก็ยืนยันหนักแน่นว่านั่นคือการแสดงครั้งเดียว จบเป็นจบ ซึ่งถ้าใครมีความซื่อตรงต่อสิ่งที่เห็นจริงๆ ก็คงจะพอเข้าใจได้ไม่ยาก เขาทำทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วในนามวงเก่าวงนั้น และสังขารของมนุษย์วัย 60 กว่า กับเพลงที่ต้องเค้นพลังหนุ่มของ Led Zeppelin ดูจะไปด้วยกันไม่ได้ซักเท่าไหร่ ข่าวลือเหล่านั้นจึงขึ้นมาและก็หายไป เหมือนๆกันทุกครั้ง บางทีก็มีข่าวว่า เพจและโจนส์จะเอาคนนู้นคนนี้มาร้องแทนแพลนต์ แต่ใครๆก็รู้ว่าไม่มีใครแทนแพลนต์ได้

ผมเคยเขียนถึงงานของแพลนต์มาแล้วสองครั้งในอดีต Mighty Rearranger ใน HOOK magazine (R.I.P.) และ Band of Joy ใน GM2000 นี้ ซึ่งทั้งสองชุดผมก็ประเคนคำชมไว้ให้อย่างพอสมควร ใน Carry Fire นี้ก็เช่นกัน

วงแบ็คอัพของแพลนต์ในอัลบั้มนี้ยังคงเป็นวงชื่อเท่ - The Sensational Space Shifters วงเดิมกับที่เล่นใน Lullaby And… The Ceasless Roar วงนี้ประกอบไปด้วย Justin Adams – guitar , Liam "Skin" Tyson – guitar, John Baggott – keyboard, Billy Fuller - bass guitar , Dave Smith – drums  เสริมด้วย Seth Lakeman เล่น Viola และ Fiddle และ Redi Hasa เล่น Cello อยากลงชื่อพวกเขาไว้ให้ผ่านตากัน แม้จะจำไม่ได้ในวันนี้ เพราะเป็นวงที่ฝีมือดีจริงๆ โดยเฉพาะมือกีต้าร์ จัสติน อดัมส์

การใช้ทีมงานเดิมทำให้ Carry Fire มีสุ้มเสียงคล้ายคลึงกับ Lullaby… ในระดับหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นภาค ๒ ของอัลบั้มนั้นก็ได้ไม่ขัดเขิน เพียงแต่ Carry Fire ดูจะละทิ้งความฉูดฉาดหวือหวาในดนตรีบางช่วงไป เพิ่มเติมเข้ามาคือความสุขุมลึกล้ำ ภาพรวมของมันอาจจะดูเนือยเชื่องช้าและชวนง่วงกว่า (ทั้งๆที่ชื่อชุดดุเดือดกว่าชุด “เพลงกล่อมนอน” นั้นเยอะ) Carry Fire เป็นงานที่ต้องฟังด้วยความพินิจพิเคราะห์ ปล่อยอารมณ์ไปกับมัน และมีสมาธิ ไม่ใช่เพลงที่จะเปิดผ่านๆเป็นแบ็คกราวด์แต่อย่างใด

เมื่อเห็นชื่อเพลงแรก “The May Queen” ถ้าคุณไม่คิดถึงเนื้อเพลงท่อนนั้นใน Stairway To Heaven แสดงว่าคุณไม่ใช่แฟน Led Zeppelin แต่ถ้าคุณคิดว่ามันจะเป็นภาคต่อของเพลงมหากาพย์นั้น คุณพลาดแล้ว การอ้างอิงจบเพียงแค่นั้น The May Queen โดดเด่นด้วยบลูส์ริฟฟ์ที่เล่นด้วยกีต้าร์โปร่งโดย Justin Adams มันดูเหมือนจะเป็นเพลงรัก ถ้าคุณไม่ตีความเนื้อเพลงของแพลนต์หลายตลบนัก และเป็นการเปิดอัลบั้มที่เข้มขลังมลังเมลือง, “New World” เป็นร็อคเกอร์หนักช้า (อยากให้บอนแฮมมาตีจัง) ที่กล่าวถึงจุดวิกฤตของภาวการณ์อพยพของผู้คน เสียงของแพลนต์ ใส และโดดเด่นในมิดเรนจ์อันคมกริบ, “Season’s Song” เพลงรักหวานที่สุดในอัลบั้ม และถ้าจอห์น เลนนอนไม่เคยมีเพลงชื่อนี้มาก่อน แพลนต์ก็น่าจะตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Oh My Love ไปเสียเลย เพราะมันเป็นคำที่เขาพร่ำถึงตลอดเพลง, “Dance With You Tonight” บัลลาดในแบบของแพลนต์ยุคหลัง เนื้อเพลงชวนให้ครุ่นคิดว่าคำว่า dance น่าจะมีความหมายมากกว่าแค่การเต้นรำกันธรรมดา ผมอาจจะคิดมากไปเอง

กระชับจังหวะเร่งเร้าขึ้นมาหน่อยในเพลงอิงการเมือง  “Carving Up The World Again… A Wall And Not A Fence”  แพลนต์ร้องได้คึกคักด้วยหางเสียงประชดประชัน เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สมศักดิ์ศรีความเป็นยอดนักร้อง กีต้าร์โซโล่ของอดัมส์โดดเด่นมากในแทร็คนี้, พลิกกลับไปในแนว trippy jazz ในเพลงต่อไป “ A Way With Words” ดนตรีโปร่งโล่ง เสียงของแพลนต์เปลือยเปล่า ประดับบางๆด้วยเสียงเปียโนและเชลโล จัดเป็นเพลงทีฉีกแนวความเป็นโรเบิร์ต แพลนต์ไปได้อย่างสวยงาม

แพลนต์เก็บเพลงเด็ดๆไว้ในช่วงหลังของอัลบั้ม ไทเทิลแทร็ค “Carry Fire” สำเนียงตะวันออกกลางและอินเดียมาเต็ม มันมีความลึกลับทรงเสน่ห์ในแบบของ Kashmir (แต่ไม่ได้หมายความว่าเพลงเหมือนกัน) สมบูรณ์แบบครับ เป็นเพลงที่ดีที่สุดเพลงหนึ่งในงานเดี่ยวของเขาเลย “Bones of Saints” แพลนต์คงรู้ ว่ายังไงเสียก็ต้องมีแฟนเพลงกลุ่มหนึ่ง เฝ้าคอยหาเพลงในสไตล์ของ Zep เขาจัดให้ในเพลงนี้ครับ รวมทั้งเป็นเพลงที่เจ้าของอัลบั้มเดินทางออกจากคอมฟอร์ตโซนของเรนจ์ในการร้องของเขาในยุคนี้เข้าสู่ระดับเสียงสูงที่แทบจะไม่ได้ยินในเพลงอื่น (แพลนต์ขึ้นชื่อในสมัยก่อนในด้านการเป็นนักร้องสองเสียงในคนเดียวกัน) สารภาพครับ ว่าอยากให้จิมมี่ เพจมาริฟฟ์ในแทร็คนี้เสียจัง  สรุปว่าคงไม่ถึงกับเป็นเพลงที่ทำให้แฟนเซพลุกขึ้นยืนด้วยความตื่นเต้น แต่ก็ใกล้เคียงที่สุดแล้ว, “Keep It Hid” ให้ฟีลของอัลบั้มก่อน เพราะมีเสียงอีเล็คโทรนิคเป็นพระเอกในดนตรีที่เป็นอาร์แอนด์บีตรงไปตรงมานั้น

มีเพลง cover เพียงเพลงเดียวในอัลบั้มนี้ และถ้าคุณไม่รู้มาก่อน ก็คงยากที่จะบอกว่า “Bluebirds Over The Mountain” เพลงเก่าของ Ersel Hickey จากยุค 50’s เพลงนี้เป็นเพลง cover ได้ Chrissie Hynde มาร่วมร้องด้วย และแพลนต์ก็ทำให้มันเป็นเพลงของเขาไปแบบชิวๆ

โรเบิร์ต แพลนต์ปิดท้ายอัลบั้ม Carry Fire ด้วยบัลลาดเงียบๆแต่อารมณ์เหมือนไฟกรุ่นๆที่ยังปะทุอยู่ในตะกอน “Heaven Sent”

หลังจากฟังอัลบั้มนี้จบไปหลายรอบ สิ่งที่ผมคิดคือ มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องบรรจุชื่อของเขาลงใน Rock And Roll Hall Of Fame ในฐานะศิลปินเดี่ยว? ถ้ายัง, จะให้เขาทำอะไรอีกหรือ

Saturday 23 December 2017

5 ชอบ 5 ไม่ชอบ 2017




ชอบ

1. จ็อกกิ้งทุกวัน

โอเค แค่เกือบๆ และก็ไม่ได้มากมายนัก แต่ก็เป็นการวิ่งที่สม่ำเสมอและต่อเนื่องที่สุดในรอบหลายปี (อาจจะในชีวิต) จนเริ่มจะเสพติดล่ะ แต่สิ่งดีๆไม่น่าจะเรียกว่าเสพติดนะ

2. ECM ปล่อยสตรีม / Box Set Season Awards / Beatles Sgt. Pepper Box

ชอบเพลงแจ๊สผสมคลาสสิกผสมนิวเอจของค่ายนี้มานาน แต่ได้ฟังน้อยกว่าความปรารถนานัก เพราะค่ายท่านค่อนข้างหวงแหนผลงาน กว่าจะยอมปล่อยสตรีมได้ก็แทบจะเป็นค่ายท้ายๆของโลก แถมซีดีก็ราคาสูงอีก พอปล่อยทั้งทีก็หมดกรุ ฟังกันไม่ทันอีก เป็นพันๆชุด

กล่องของสีสัน เป็นอะไรที่เหลือเชื่อว่าจะเกิดกับเพลงไทยได้ ทำให้เราที่ไม่ได้ติดตามเพลงไทยมาใกล้ชิดเท่าไหร่ได้ฟังเพลงอะไรดีๆที่ข้ามผ่านไปอีกเยอะมาก

ส่วนกล่องของ Pepper อลังการสมราคา เคยรีวิวไปแล้ว

3. Star Wars : The Last Jedi

ถ้ามองในแง่ว่าแฟนดั้งเดิมแท้ๆ จะไม่ค่อยชอบอิพิโซดนี้ ก็ไม่แปลกใจที่ผม,ซึ่งมักจะหลับประจำกับไตรภาคคลาสสิก (Ep. 4-6) จะสนุกไปกับ The Last Jedi ค่อนข้างมาก จะว่าไป 3 ภาคล่าสุดที่ทำกันออกมานี่ละ คือหนังสตาร์วอร์สอย่างที่ผมต้องการ แม้แต่ความรู้สึกว่าภาคนี้จะยังไม่พีค ก็ยังอุตส่าห์คิดเข้าข้างไว้ว่า น่าจะเก็บเอาไว้พีคใน Episode IX

4. Thor: Ragnarok / Wonder Woman

ความบันเทิงเต็มรูปแบบ เป็นความสนุกใกล้เคียงกับหนังอุลตร้าแมนยามเยาว์วัย

5. The Great Gatsby

อ่านจบจนได้! ทึ่งมากกับอักษราแสนวิจิตรของ เอ็ฟ สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ มิน่านักอ่านถึงชื่นชมกันมานานขนาดนี้


ไม่ชอบ

1.การลอยนวลของคนทำผิดข้อตกลงของสังคม ไม่ว่าจะเลเวลไหน

2. การล่มสลายของตลาดหนังสือ และ ซีดี สองสิ่งที่เรารัก

3. ตัวเอง : การตัดสินใจหลายๆอย่างที่อ้างอิงกับความสบายของตัวเองเป็นหลัก น่าจะทำได้ดีกว่านี้

4. อันนี้น่าจะอยู่ใน 3 ได้ แต่แยกออกมาให้เห็นชัด การดองหนังสือ!

5. ความหยาบคายโดยไม่มีความจำเป็นใดๆรองรับ ในการใช้ภาษาใน Social Media.

Monday 27 November 2017

Reputation

Taylor Swift : reputation ***
Genre: Electronic Pop
Producers: Taylor Swift (also exec.) / Jack Antonoff / Max Martin /  Shellback / Ali Payami / Oscar Görres / Oscar Holter
Release: November 2017



เราทุกคนล้วนมี reputation ที่อาจจะแปลเป็นคำไทยสั้นๆว่า “ชื่อเสียง” แต่ถ้าจะขยายความถึงความหมายที่แท้จริงของมันก็ต้องกล่าวว่า มันคือ “ความเชื่อหรือความเห็นที่คนส่วนใหญ่มีต่อใครบางคนหรืออะไรบางสิ่ง” ใช่ครับ ในความหมายของมัน ไม่มีอะไรที่บ่งชี้ว่า reputation เป็น “ความจริง” แต่อย่างใด (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่”จริง”เสมอไป)

สำหรับสตรีวัย 27 ที่หายใจอยู่บนโลกใบนี้ ณ เวลาปัจจุบัน เทย์เลอร์ สวิฟท์ ย่อมมีความซาบซึ้งในคำว่า reputation ไม่น้อยกว่าใคร เธอเริ่มเป็นจุดสนใจของสังคมบันเทิงตั้งแต่อายุ 15 ปี นับแล้วก็เกือบๆจะครึ่งชีวิต และมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องราวทางดนตรีและบทเพลงเท่านั้นที่เป็นเป้าหมาย- ชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องรักๆใคร่ๆก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนรักเทย์เลอร์ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง (จริงหรือ) ถ้าไม่ใช่แฟนกันจริงๆ คงยากที่จะจำว่าเธอมี boyfriends มากี่นาย และเรียงลำดับก่อนหลังอย่างไร

เคยเขียนถึงเธอครั้งหนึ่งในนิตยสารเล่มนี้เมื่อหลายปีก่อน สมัยเธอยังสะพายกีต้าร์ ทำผมบลอนด์หยิกลอนใหญ่ และเป็นความหวังสำคัญของดนตรีคันทรี่ ในอัลบั้ม Fearless  เพลานั้น ได้บังอาจทำนายไว้ว่า ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งเธอให้ไม่ก้าวไปสู่อนาคตอันยิ่งใหญ่ได้ แต่ สาบาน ไอ้ความยิ่งใหญ่ในชื่อเสียงที่ผมคิดไว้ตอนนั้น มันเล็กกว่าที่เธอได้รับจริงๆมากนัก

ถ้าเธอยังทำเพลงคันทรี่แบบเดิมๆต่อไป ชื่อเสียงของเทย์เลอร์ สวิฟท์ ก็คงไม่ขยับขยายมากนัก แต่สาวน้อยจากเพนซิลวาเนียคนนี้ มีความฉลาดและกล้าพอที่จะละทิ้งแนวดนตรีที่สร้างเธอ (หรือเธอสร้าง) มา และก้าวเข้าสู่พรมแดนใหม่แห่งป๊อบมิวสิก การเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะค่อยเป็นค่อยไป และมาก้าวกระโดดและอำลาคันทรี่ไปโดยสิ้นเชิงในอัลบั้มบันลือโลก – “1989” (ออกมาเมื่อสามปีก่อน) ที่ทำให้เทย์เลอร์เป็นศิลปินป๊อบอันดับ 1 ของโลก ในหลายๆมาตรวัดที่เป็นตัวเลข อันไม่มีใครจะโต้แย้งได้

แต่ถึงจะป๊อบและดังแค่ไหน ถึงแม้จะเปลี่ยนคู่ควงเป็นว่าเล่นยังไง เทย์เลอร์ก็ยังเป็น sweetheart ขวัญใจประชาชนเสมอมา เพลง และ ตัวเธอเอง ดูจะเข้าถึงแฟนๆได้ทุกเพศทุกวัย หลายครั้งที่เธอแสดงออกมาว่าเอาใจใส่แฟนๆเป็นการส่วนตัวในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นการบุกไปเยี่ยมบ้านแฟนเพลงเอาดื้อๆ แม้แต่แมวที่เทเลี้ยง ก็อาจจะกลายเป็นแมวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกไปแล้ว
ใช่, ยังไง เทย์เลอร์ ก็ยังคงเป็นสาวใสๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแนวดนตรี หรือ เปลี่ยนแฟนไปกี่คนก็ตาม

แต่แล้วจู่ๆ เทย์เลอร์ สวิฟท์ ก็หายไปจากเรดาร์แห่งกอซซิป เราแทบไม่ได้ข่าวคราวอะไรจากเธอมาเป็นปี ก่อนที่เธอจะเผยลุคใหม่ใน reputation มันไม่ใช่สวิฟท์แบบที่เราคุ้นเคย มันจะมีความซีเรียสๆหน่อย มันจะมีความดาร์คๆนิดๆ ก็ยากนะ ที่จะตัดสินว่านี่คือแนวทางการตลาดใหม่ที่จะฉีกแนวเดิมๆอันอาจจะถึงจุดที่น่าจะซ้ำซากแล้วของความเป็นสาวน้อยใสๆ หรือว่ามันเป็นสิ่งที่เทรู้สึกและอยากแสดงออกจริงๆในวัยนี้ หรืออาจจะทั้งสองอย่าง?

วัย 27 ในยุคหนึ่งถือเป็นวัยอันตรายของศิลปินดัง ที่ต้องสูญเสียกันไปจนสามารถตั้งเป็น Club 27 ได้ (Jimi Hendrix, Janis Joplin, Jim Morrison, Amy Winehouse, etc.) แต่อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นวัยที่เป็นความพีคทางศิลปะของศิลปิน เมื่อประสบการณ์, ความคิดสร้างสรรค์มาบรรจบกัน ขณะที่พลังยังมีเต็มเปี่ยม สำหรับเทย์เลอร์ มันน่าจะเป็นนัยยะหลังนี้มากกว่า เธอไม่เคยมีอะไรที่ทำให้เราคิดว่าจะเป็นพวกทำลายตัวเองในวัย 27 ปีแม้แต่น้อย

Reputation มีหลายเพลงที่เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในการเขียนเพลง (เนื้อหา) ของเทย์เลอร์ มีความเป็น bad girl มีความ sexy อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่นั่นถือเป็นเรื่องเล็กไป เมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงทางดนตรี

จริงอยู่ reputation ก็ยังคงเป็น production ของโปรดิวเซอร์เกรดเอทีมเดิม (แม็กซ์ มาร์ติน,เชลล์แบ็ค ฯลฯ) แต่ sound ของมันต่างออกไปจาก 1989 จนน่าตกใจ ความหนักหนาสาหัสของพลังเสียงเบสและโปรแกรมมิ่ง อิทธิพลของแร็ป และ EDM โดดเด่นเหลือเกินในหลายๆเพลง เสียงร้องที่เคยสดใสโดดเด้งของเท ก็ถูกลดโทนลงและกลืนลงไปกับมิกซ์มากกว่าเดิม เหล่านี้, มันอาจจะทำให้หลายๆคนรับไม่ได้กับ reputation เอาเลย (ส่วนตัวผมพอรับได้ แต่ก็เรียกว่าเหนื่อย อะไรมันจะหนักหนาถาโถมกันขนาดนี้) แต่ถ้าคุณสามารถสนุกไปกับ sound ของคนรุ่นใหม่แบบนี้ได้ ข่าวดีก็คือ เพลงของเทย์เลอร์ ก็ยังมีเสน่ห์ด้านความไพเราะของเมโลดี้เหมือนเดิม และถ้าคุณอยากฟังเทย์เลอร์คนเดิม (แม้จะมีเนื้อเพลงบางเพลงบอกว่าเทย์เลอร์คนเก่าตายไปแล้ว) แนะนำให้ฟังช่วงครึ่งหลังของอัลบั้มก่อน

คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่ละเพลง แต่ถ้าจะให้เลือกสักสามแทร็คที่น่าประทับใจ – Getaway Car, Dress และ End Game (ได้เพื่อนรัก Ed Sheeran และ Future มาช่วยกันแร็ป)

มีไม่กี่คนที่ทำได้ในยุคนี้ ที่จะออกอัลบั้มใหม่แล้วหวังพึ่งยอดขายซีดีและดาวน์โหลดอย่างเดียวโดยรั้งการปล่อยให้ฟังทางสตรีมไว้ก่อน และเทย์เลอร์ก็ทำมันอีกครั้งใน reputation ณ เวลาที่เขียนอยู่นี่ ยังไม่มีกำหนดว่าเธอจะ”ปล่อยสตรีม” เมื่อไหร่

Reputation เป็นงานที่ฉีกแนวเดิมของตัวเอง มีความเติบโตทั้งทางด้านเนื้อหาและดนตรี และถึงตอนนี้ก็คงจะเห็นได้แล้วว่า ความกล้าที่จะฉีกนี้ได้รับการตอบสนองอย่างไรจากแฟนเพลง อย่างไรก็ตาม สิ่งทีเทย์เลอร์ทำก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ของวงการดนตรี เธอแค่ทำในสิ่งที่เธอ (ยัง) ไม่เคยทำเท่านั้น ในฐานะ ศิลปินป๊อบอันดับ 1 ของวงการ เราจะหวังอะไรมากกว่านี้ได้ไหมนะ? คงจะขึ้นอยู่กับเทล่ะ ว่าจะอยากขยายความของ ‘reputation’ ของเธอออกไปในแง่มุมไหน

Tracklist:


…Ready For It?
End Game (featuring Ed Sheeran and Future)
I Did Something Bad
Don’t Blame Me
Delicate
Look What You Made Me Do
So It Goes…
Gorgeous
Getaway Car
King of My Heart
Dancing With Our Hands Tied
Dress
This Is Why We Can’t Have Nice Things
Call It What You Want
New Year’s Day

Sunday 24 September 2017

เสียงอึกทึกอันแสนหวาน

Alvvays : Antisocialites ***1/2
Released : September 2017
Genre: Indie Rock, Noise Pop, Dream Pop
Producer: John Congleton
--------------------







เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งเกี่ยวกับวง Alvvays แฟนเพลง(ชาย) คนหนึ่ง บุกขึ้นไปบนเวที และพยายามที่จะจุมพิตนักร้องนำสาว- Molly Rankin ที่กำลังร้องและเล่นกีต้าร์อยู่ แต่โชคดีที่เขาช้าเกินไปหรือมอลลี่ก็เร็วเพียงพอ การขโมยจูบครั้งนั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าการกระทำเยี่ยงนั้นย่อมไม่สมเหตุสมผลด้วยประการไหนๆ และยังทำให้คิดถึงการรักษาความปลอดภัยที่ย่ำแย่ ถ้ามีอะไรรุนแรงกว่านี้ก็เชื่อได้ว่าป้องกันไม่ได้ แต่อีกนัยหนึ่ง มันก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นมาเสมอ เมื่อวงร็อคสักวง มีนักร้องนำสตรีผู้โดดเด่นทั้งรูปโฉมและสุ้มเสียง คนอื่นๆในวงก็เป็นเพียงแค่นักดนตรีประจำวงที่ใครๆก็จำชื่อไม่ได้สักที คงมีโอกาสน้อยที่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆใน Alvvays

สมาชิกคนอื่นๆในวงที่คุณคงจะจำชื่อไม่ได้ไปอีกนานก็มี Kerri MacLellan เธอเล่นคีย์บอร์ด, Alec O’Hanley กีต้าร์, Brain Murphy เบส และกลองโดย Sheridan Riley ล้วนแล้วแต่ชื่อ-สกุลที่ยากแก่การจดจำทั้งการออกเสียงและสะกด

ชื่อวงนี้ก็อ่านว่า ออล-เวย์ส นั่นแหละ ที่ต้องใช้ตัว V สองตัวแทน W นั้นก็ด้วยเหตุแค่ว่ามีวงใช้ชื่อนี้ไปก่อนพวกเค้าแล้วเท่านั้นเอง Alvvays เป็นวงแคนาเดียนจาก Toronto ฟอร์มวงในปี 2011 Antisocialites เป็นอัลบั้มที่สอง

อัลบั้มแรก “Alvvays” ออกมาในปี 2014 และจัดว่าประสบความสำเร็จพอสมควรในแวดวงดนตรีอินดี้ มันขึ้นไปได้ถึงอันดับ 1 ใน US college charts มีเพลงฮือฮาอย่าง “Archie, Marry Me” , “Adult Diversion” และ “Party Police”
แนวดนตรีของพวกเค้านั้นก็อาจจะนำเสนอกันได้หลายมุม มอลลี่เองเคยบอกไว้ว่า ถ้ามีรุ่นใหญ่มาถาม เธอจะบอกว่าวงเธอมีสุ้มเสียงคล้ายๆ The Cranberries แต่ถ้าเป็นหนุ่มสาวถาม เธอจะบอกว่า มันเรียกว่า jangle pop แต่ถ้าพวกเด็กพังค์มาถามล่ะ เธอจะบอกว่ามันคือดนตรีป๊อบดีๆนี่เอง (ช่างเป็นคำอธิบายที่ชาญฉลาด)

เพลงของ Alvvays มีส่วนคล้าย Best Coast, Camera Obscura และ Teenage Fanclub ในระดับส่วนผสมที่แตกต่างกันไปนิดหน่อยในแต่ละเพลง อาจจะกล่าวได้ว่ามันมีอารมณ์เหมือนขับรถเปิดประทุนรับลมในแบบ Best Coast, ความหวานน่ารักของ Camera Obscura และกีต้าร์เจ๋งๆ+ท่วงทำนองสุด catchy ของ Teenage Fanclub

บางคนเรียกดนตรีของ Alvvays ว่าเป็น ‘noise pop’ ซึ่งก็เป็นนิยามที่ไม่เลว มันเป็นแนวหนึ่งภายใต้หลังคาของ alternative rock ดนตรีป๊อบฟุ้งๆหลอนๆที่อยู่ตรงกลางระหว่างบับเบิ้ลกัมและอวอง-การ์ด เต็มไปด้วยเสียงฟีดแบ็คครืดคราดของกีต้าร์
อย่างที่บอก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ Alvvays คือ Molly Rankin นอกจากเสียงร้องของเธอที่มีอารมณ์พังค์หน้าตายของ Chrissie Hynde (The Pretenders) และความหวานใสของ Elizabeth Fraser (Cocteau Twins) อันมักจะได้รับการใส่รีเวิร์บมหาศาลในแทบทุกแทร็ค แล้วก็ยังมีฝีมือการแต่งเพลงของเธอที่เหนือชั้นกว่าวัยวุฒิและความธรรมดาๆของดนตรีแนวนี้ (โดยทั่วไป) ไปอีกระดับหนึ่ง

พวกเค้าหายไปนานเหมือนกัน สามปีระหว่างชุดแรกและชุดต่อมาถือว่านานเกินไปเล็กน้อยสำหรับวงที่กำลังสร้างชื่อ แต่ก็เป็นการทิ้งช่วงให้แฟนๆรอคอยที่คุ้มค่า Antisocialites ได้ John Congleton (เคยทำงานกับ St. Vincent, Wild Beasts และ Cloud Nothings) มาโปรดิวซ์ให้ และมันก็มีความแตกต่างจากชุดแรกพอสมควร

อารมณ์ Noise Pop อันเป็นที่รักใคร่จากชุด debut ไม่ได้หายไปไหน แต่ใน Antisocialites ทางวงและ Congleton ได้แสดงให้เห็นว่าดนตรีแนวนี้ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอในแบบ lo-fi รกหูเสมอไป การมิกซ์ให้มีมิติและแยกชิ้นดนตรีรวมถึงการขัดเกลาคุณภาพเสียงโดยรวมไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของ Noise Pop ลดลง ตรงข้ามมันกลับทำให้มีความน่าฟังและหลากหลายมากกว่าเดิมเสียอีก แต่นี่คือการพูดเชิงสัมพัทธ์ Antisocialites อย่างไรก็ไม่ใช่งานระดับอ้างอิงเรื่อง sound quality แต่อย่างใด

เนื้อหาของ Antisocialites ก็ไม่พ้นเรื่องรักๆเลิกๆของหนุ่มสาว แต่ Molly เข้าใจสรรหาคำและเนื้อหามาแต่งเพลงได้ไม่น่าเบื่อซ้ำซาก จากความล้มเหลวของรักที่ไม่หวนกลับใน “In Undertow” แทร็คแรก, ความกระดี้กระด๊าที่แฝงความปวดร้าวของการเป็นโสดอีกครั้งใน “Not My Baby” ความรักที่ซับซ้อนและทับซ้อนกับความหลงใหลในฮีโร่ส่วนตัวใน “Lollipop (Ode To Jim)” จนถึงแทร็คสุดท้าย “Forget About Life” ที่มีเนื้อเพลงอันแสนโรแมนติกในแบบอินดี้อินดี้ ชวนกันตกหลุมรักแบบลืมทุกอย่างในชีวิต นี่เป็นงานที่แนะนำให้ฟังไปดูเนื้อเพลงไปด้วยครับ

ทั้งหมดทั้งสิ้น Antisocialites จึงเป็นหลายๆอย่างที่น่าสนใจ ในยุคที่มีดนตรีออกมาให้ฟังกันไม่หวาดไม่ไหวในแต่ละวันคืน และบอกได้เลยว่าพวกเราต้องจับตาล็อคไว้ที่อนาคตของสาว Molly Rankin กันอย่างจดจ่อ เธออาจไปได้ไกลกว่าที่คุณจะคาดคิด
และทางวงคงต้องระวังการบุกขึ้นมาขโมยจูบบนเวทีกันให้ดีกว่านี้มากๆ

Tracklist:

01 In Undertow
02 Dreams Tonite
03 Plimsoll Punks
04 Your Type
05 Not My Baby
06 Hey
07 Lollipop (Ode to Jim)
08 Already Gone
09 Saved by a Waif
10 Forget About Life

Thursday 27 July 2017

Something To Tell You

Haim :: Something To Tell You ***1/2
Genre: Pop Rock
Release : July 2017
Producers: Haim,  Ariel Rechtshaid,  BloodPop,  Rostam Batmanglij,  George Lewis, Jr.




สำหรับวงป๊อบร็อคหน้าใหม่ที่เปิดตัวได้อย่างฟู่ฟ่าสุดปัง การทิ้งช่วงระหว่างอัลบั้มแรกกับชุดต่อมาถึง 4 ปี จัดว่านานเกินไป โมเมนตัมจากงาน debut แทบจะถูกกลืนหายไปในมหาสมุทรของงานมากมายของศิลปินทั้งเก่าและใหม่ในช่วงนั้น แม้ว่าผมจะชื่นชมกับ Days Are Gone อัลบั้มแรกของ Haim ขนาดไหน (รีวิวไว้ยาวเฟื้อยใน GM2000 ช่วงปลายปี 2013) แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้ถึงกับตั้งหน้าตั้งตารอคอยอัลบั้มใหม่ของสามสาวพี่น้องอะไรกันนัก โลกนี้มีอะไรให้ฟังมากมายเกินกว่าที่จะทำอย่างนั้น ยิ่งในยุคสตรีมมิ่ง ที่วลีที่ว่า “เสี่ยงลองซื้อมาฟัง” แทบจะหายไปจากสารบบ ยกเว้นคุณจะตั้งใจทำมันเอง

ถ้าคุณยังจำได้ ผมชม Days Are Gone ไว้หลายพะเรอเกวียน (สี่ดาว) จริงอยู่ว่าไม่มีอะไรใหม่เอี่ยมอ่องในดนตรีของ Haim แต่จะหาวงดนตรีป๊อบหน้าใหม่ที่ผสมผสานแนวดนตรีเก่าๆเข้ากับเอกลักษณ์ในการนำเสนอของตัวเองได้อย่างมีพลัง, สนุกสนาน และเต็มไปด้วยวิญญาณอย่างพวกเธอนั้น..... ยากยิ่งนัก พวกเธอรังเกียจที่ใครๆจะมาเรียก Haim ว่าเป็นเกิร์ลแบนด์หรือกรุ๊ป มันเหมือนจะเป็นการหมิ่นหยาม พวกเธอต้องการให้ตัดสินความยอดเยี่ยมของวงในระดับเดียวกับวงดนตรีอื่นๆโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเพศแต่อย่างใด โอเค เราจะทำอย่างนั้น แต่เราก็อดที่จะชื่นชมความสดใสน่ารักของพวกเธอไม่ได้อยู่ดี คงไม่ผิดใช่ไหม

Days Are Gone ให้คำสัญญาที่ไม่ได้เขียนเป็นอักษรแก่คนฟังไว้ว่า พวกเธอมีดีอีกมาก มากกว่าที่จะแค่ทำเพลงป๊อบสนุกๆ โดยเฉพาะเพลงท้ายๆของอัลบั้มที่สาวสาวสาว”ปล่อยของ”กันไม่ยั้งมือ เมื่อได้ยินเพลงแรกจาก Something To Tell You ในรูปแบบของวิดีโอคลิป ผมบอกตัวเองทันทีว่า “เอาแล้ว” เพราะนี่คือเพลงช้า,กดดัน อันไม่ใช่เพลงที่เอาใจตลาดเอาเสียเลย เรียกว่าทำใจรับของหนักจาก Haim กันล่ะ แต่สุดท้ายเมื่อได้ฟังครบทุกเพลงในอัลบั้ม ผลก็คือ Haim ไม่ได้ทำอะไรท้าทายขนาดนั้น พวกเธอยังคงมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่พวกเธอทำได้ดีจากอัลบั้มแรกอยู่ นั่นคือ soft rock ในสไตล์ 70’s อันมีความละม้ายและอิทธิพลจาก Fleetwood Mac มากที่สุด (อย่าคิดว่าทำดนตรีและเพลงแบบ Fleetwood Mac เป็นเรื่องง่ายเชียว) ผสมผสานด้วย R&B และ 80’s Pop อีกพองาม ปั้มลายเซ็นด้วยการเล่นกับจังหวะกระตุกๆในเนื้อร้องที่แทบจะมีในทุกเพลงของ Haim และเพลง Right Now ที่ดูจะฟังยากเย็นขณะพบเจอมันครั้งแรกเพลงเดียว เมื่อมาอยู่ใน context ของ album กลับดูดีอย่างน่าประหลาด (น่าจะเป็นผลจากการจัดเรียงเพลง)

แน่นอน, เสียงร้องของหญิงกลาง Danielle Haim ยังคงเป็นนางเอกตลอดกาลตลอดอัลบั้ม คุณสามารถนั่งถกกันได้เป็นวันๆว่าในเพลงนั้นตรงนี้เสียงของเธอเหมือนนักร้องรุ่นเก่าคนใด นี่คือเสียงร้องแบบที่เมโลดี้ของทุกเพลงใฝ่หาอยากจะถูกขับร้องจากปากของเธอ เพราะมันการันตีความไพเราะไปกว่าครึ่งแล้วด้วยน้ำเสียงนั้นของ Danielle ส่วน Alana และ Este ก็มิต้องน้อยใจ การประสานเสียงในแบบ “ลูกคู่ขานรับ”ของพวกเธอนั้นกลมกล่อมและคึกคักมากมาย ไม่ต้องกลัวเลยว่า Danielle จะหนีไปออกงานเดี่ยวในเร็วๆนี้ เพราะเธอจะหาเสียงประสานแบบนี้จากใครอื่นได้เล่า ถ้าไม่ใช่พี่น้องคู่นี้

มาถึงคำถามสำคัญ Something To Tell you ดีสู้ Days Are Gone ได้ไหม? ในความเห็นของผม ตัวบทเพลงเองมิอาจเทียบงานชุดแรกได้ เพราะ Days Are Gone นั้นเกลื่อนกลาดไปด้วยท่อนฮุค และเพลงระดับ killer เพียบ (การที่มีการตัดซิงเกิ้ลถึง 6 แผ่นก็คงบอกอะไรได้ระดับหนึ่ง) ขณะที่ใน Something To Tell You แม้จะมีหมัดฮุคไม่น้อย แต่ก็ไม่หนัก ไม่น็อคเท่า กระนั้นการบันทึกเสียงและฝีมือของพวกเธอดูจะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ Something To Tell You ฟังด้อยกว่าเล็กน้อยก็คือความตื่นเต้นของเราต่อเสียงของพวกเธอที่,เป็นธรรมดา ก็ต้องน้อยลง เพราะเรารู้แล้วว่านี่คือเสียงแบบ Haim

ในการวางลำดับเพลง พวกเธอยังคงใช้ยุทธวิธีเดิมเหมือนใน Days Are Gone ด้วยการเปิดอัลบั้มด้วยเพลงระดับตีหัวเข้าบ้านสามเพลงรวด Want You Back, Nothing’s Wrong และ Little Of Your Love อันล้วนเป็นเพลงป๊อบระดับมือสังหารไร้ที่ติ (ถ้าคุณยังเฉยๆกับสามเพลงนี้ เป็นไปได้สูงว่าคุณไม่ใช่คนฟังของ Haim)  ก่อนที่จะผ่อนคลายและเล่นสนุกกับความซนในดนตรีของตัวเองบ้าง เช่นเอา Linn Drum ที่พรินซ์ชอบใช้มาเล่นใน Ready For You, ว่าพวกเราเหมือน Fleetwood Mac หรือ? ใน You Never Knew นี่ขาดไปแค่เสียงร้องและกีต้าร์ของ Lindsey Buckingham ก็เอาไปใส่ในอัลบั้มอย่าง Mirage หรือ Tango In The Night ได้เลย ส่วน Walking Away มันคือการสดุดีให้ sexy R&B จากทศวรรษเก้าสิบ อันนี้แล้วแต่คุณเลยว่าจะอยากคิดถึง Janet Jackson หรือ Mariah Carey เมื่อได้ฟังเพลงนี้ ปิดท้ายด้วย Night So Long ที่อ้างว้างโหยหวน ราวกับเป็นเพลงของ Sarah McLachlan ยุคแรกที่กำลังร้องเพลงต่อหน้าวง Pink Floyd

ครับ, มันยากเสมอล่ะในการทำงานต่อจากชุดแรกที่ดีมากๆ แต่ผมไม่อาจจับสัญญาณได้นะว่า Haim กดดันอะไร พวกเธอก็ยังสนุกของเธอกันไป ทำเพลงในแบบที่อยากทำ และจากปก,ที่เป็นอีกครั้งที่พวกเธอใส่แว่นกันแดดอยู่ท่ามกลางความสดใสเจิดจ้าของแอลเอ, และชื่ออัลบั้ม-- มันราวกับว่า พวกเธอมีอะไรจะบอกเรานะ ก็นี่ล่ะ Haim และมันก็ยังคงเป็น pop rock ยุคใหม่ที่ยอดเยี่ยมเช่นเคย

Tracklist

Want You Back
Nothing’s Wrong
Little Of Your Love
Ready For You
Something To Tell You
You Never Knew
Kept Me Crying
Found It In Silence
Walking Away
Right Now
Night So Long

Sunday 25 June 2017

Pepper at 50

ครึ่งศตวรรษที่ยังคงรับประกันความยิ่งใหญ่
-------------
The Beatles :: Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (Super deluxe Edition) *****
Original release :1967
50th Anniversary release : 2017
Original Produced by George Martin
Reissue Produced by Giles Martin
Genre: Rock



คุณมี "อวตาร" ใน facebook ไหม? ถ้ามีคุณจะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เคยมีก็แนะนำให้ลองสร้างดู เมื่อใดที่คุณสวมบทบาทอวตารนั้น แม้ว่าเพื่อนๆจำนวนหนึ่งจะทราบดีว่านั่นคือคุณอยู่ในเบื้องหลัง แต่คุณจะไม่เหมือนเดิม คุณจะมีอิสระในการโพสต์และคอมเมนต์ ถ้อยคำต่างๆที่"ตัวจริง"ของคุณไม่มีทางพิมพ์ลงไปได้ มันพรั่งพรูมาได้อย่างไรก็ไม่ทราบ

นั่นเป็นเหตุผลที่ The Beatles ที่กำลังเอียนในความเป็น The Beatles เต็มทน ต้องสร้างอวตารของพวกเขาขึ้นมา ณ นาทีนั้น พวกเขาไม่ใช่ The Beatles อีกต่อไป แต่นี่คือวง Lonely Hearts Club Band ของจ่า Pepper ผู้สอนให้พวกเขาเล่นดนตรีกันมาตั้งแต่ ๒๐ ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าในปีนี้ มันก็ It was 70 years ago today!

ใช่, ใครๆก็รู้ว่าไอ้วงของ Sgt. Pepper นี้ก็คือ The Beatles นั่นแหละ แต่มันก็ให้อิสรภาพในการแสดงออกของพวกเขาได้อย่างน่าประหลาด พวกเขาแต่งเนื้อแต่งตัวย้อนยุค โพสต์ท่าถ่ายภาพปกร่วมกับ cut outs และหุ่นขี้ผึ้งของเหล่าคนดังที่พวกเขาชื่นชอบ ในบรรยากาศรื่นรมย์บนหลุมศพ (ความจริงคือห้วงเวลาหลังการแสดงจบ) และสร้างอัลบั้มที่เสมือนหนึ่งบันทึกการแสดงฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของวงของจ่าพริกไทยนี้

มันเริ่มต้นด้วยการแนะนำวงดนตรีและความเป็นมา ก่อนส่งต่อให้นักร้องนำเสียงเสน่ห์ "บิลลี่ เชียร์ส" (หรือที่เรารู้จักกันในนามริงโก้ สตาร์) หลังจากนั้นวงของจ่า ก็พาผู้ฟังไปกับแนวดนตรีที่ going in and out of styles ไปตามแต่ความปรารถนาของความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะนำ และยถากรรม (ในแง่บวก) ของคนฟังผู้โชคดีทุกคน หลุดไปในโลกของวันเดอร์แลนด์ใน Lucy In The Sky With Diamonds ย้อนเวลาไปในงานวัดฝรั่งใน Being For The Benefit of Mr. Kite! ลงลึกไปในหัวใจของตนเองกับดนตรีภารตะใน Within You Without You....etc. ก่อนที่วงของจ่าจะย้ำเตือนผู้ชมอีกครั้งว่ากำลังดูคอนเสิร์ตของวงนี้อยู่นะ ในเพลง Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (reprise)

A Day In The Life อาจมองว่าเป็น encore ของการแสดงนี้ของวงจ่า หรือเป็นการกลับสู่โลกแห่งความจริงของความเป็น The Beatles นี่คือเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เล่าเรื่องราวธรรมดาๆของชีวิตในวันหนึ่ง ความไร้สาระที่เป็นสาระแห่งความเป็นมนุษย์ และความฟินที่เรียกกันว่า turn on ผ่านดนตรีร็อคที่เล่นกับวงออเคสตร้าในแบบที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน จบด้วยเสียงเปียโน 10 หลังกระหน่ำพร้อมกัน oh boy!

มันยากที่จะรับมือกับงานที่มีชื่อเสียงก้องจักรวาลระดับนี้ เมื่อคุณมาฟังมันหลังจากห้วงเวลาที่มันออกสู่โลกมาหลายปี ความคาดหวังอันสูงส่ง ความแปลกแยกจากยุคสมัย ที่อาจทำให้มันล้าไปไม่มากก็น้อย และผมก็ยังโชคร้ายที่ดันมาเริ่มกับเทป EMI สมัยนั้น ที่มีการสลับเพลงจากชุดอื่นมาใส่ เพราะปัญหาด้านเนื้อเพลงล่อแหลม คิดดูสิครับ Pepper ที่ไม่มี Lucy และ A Day In The Life อย่าออกมาเลยดีกว่าถ้าจะแบนแบบนี้

แต่คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน หลังจากได้ฟังอัลบั้มในแบบถูกต้องตามหลักอนามัยในเวลาต่อมา ผมก็เริ่มหูสว่าง และยิ่งปรับใจให้รับได้กับยุคสมัยที่แท้จริง เมื่อผนวกกับศึกษาเบื้องหลังอลังการงานสร้างของมัน ผมก็ยิ่งขนลุกขนพองไปกับความมหากาฬของ Sgt. Pepper จากอัลบั้มที่เคยรู้สึกงั้นๆ และไม่เข้าใจว่าทำไมยกย่องกันนักหนา มันค่อยๆไต่อันดับในหัวใจขึ้นมาเรื่อยๆ และแทบไม่รู้ตัวว่าผมฟังมันบ่อยเหลือเกิน
และเมื่อผมคิดว่าไม่มีอะไรจะไปต่อแล้วสำหรับการเสพอัลบั้มนี้ วันหนึ่ง mono version ของ Pepper ก็เดินทางเข้าสู่โสตประสาท (ก่อนหน้านี้ฟัง stereo มาตลอด)
It's getting better!
ผมเคยนึกว่านั่นคือคำตอบสุดท้ายแล้ว สำหรับอัลบั้มนี้ จนกระทั่งปีนี้.....

Sgt. Pepper, มันคืออัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล (greatest album of all time) หรือไม่? สำหรับตำแหน่งนี้ อันเป็นทั้งปัจเจกนิยมและนามธรรม มันจึงไม่มีทางฟันธงลงไปได้ว่า Sgt. Pepper เป็น “สิ่งนั้น” หรือไม่ หรืออัลบั้มไหนในโลกกันแน่ที่คู่ควรกับตำแหน่งอันทรงเกียรติที่สุดนี้ แต่ถ้าเราจะตัดสินด้วยเสียงข้างมาก เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ถ้าวัดกันจากโพลต่างๆตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา Pepper น่าจะเป็นอัลบั้มที่ยึดหัวหาด ได้คะแนนรวมสูงสุด อันที่จริง ในช่วงยี่สิบปีแรกหลังจากมันออกวางตลาด ถ้ามีการจัดโพลด้วยคำถามนี้ Pepper มักจะเป็นอันดับหนึ่งเสมอ จนเมือเวลาผ่านไป ความโด่งดังของมันก็อาจจะเริ่มทำร้ายตัวมันเอง (ความเอียนและเลี่ยนของเหล่านักฟังและนักวิจารณ์) หรืออาจจะเป็นเพราะความหลุดพ้นจากยุคสมัยไปทีละน้อย (เชย)ของดนตรีในอัลบั้ม Pepper จึงเริ่มถดถอยลงมาจากอันดับต้นๆเมื่อผู้คนจะคิดถึงอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ปล่อยให้ Revolver, White Album, Abbey Road ขึ้นมาเป็นตัวแทนของผลงานสุดยอดของสี่เต่าทองแทน

ถ้าคุณลองนำอัลบั้มนี้ไปให้เด็กรุ่นใหม่หรือใครที่ไม่เคยสดับในสุ้มเสียงของมันมาก่อน เป็นไปได้ไม่น้อยที่เขาหรือเธอจะแอบเบ้ปากและกลอกตาวนๆ พวกเขาอาจจะไม่รู้สึกรู้สา หรือเข้าใจว่ามันเลิศเลอตรงไหน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเชยในการมิกซ์และซาวด์ของมันที่ฟังดูเป็นยุค 60’s เกินไปหน่อย (ก็มัน 60’s นี่) แต่เหตุการณ์แบบนั้น น่าจะเปลี่ยนผลลัพธ์ของมันไป ถ้าคุณหยิบยื่นเวอร์ชั่นรีมิกซ์ของมาร์ตินผู้ลูกนี้ให้พวกเขาฟัง

The Beatles อาจเป็นผู้นำมาตลอดในยุคที่พวกเขายังไม่แตกแยกวงกันไป เริ่มตั้งแต่การนำขบวนศิลปินที่แต่งเพลงด้วยตัวเองมาตั้งแต่อัลบั้มแรกๆ, ความกล้าที่จะทดลองอะไรหลายอย่างในการบันทึกเสียงที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน, ไม่ใส่ชื่อศิลปินลงบนปก, เลิกตระเวนแสดงดนตรีแต่กลายมาเป็นวงดนตรีที่มีแต่ผลงานในห้องอัดอย่างเดียว ฯลฯ แต่ในยุคของการ reissue สี่เต่าทองมักจะล้าหลัง และเป็นศิลปินกลุ่มท้ายๆเสมอในการตามขบวน การรีมาสเตอร์ครั้งใหญ่ก็แทบจะทำเป็นวงสุดท้าย เมื่อปี 2009 และการทำงาน “ฉบับพิเศษ” ของแต่ละอัลบั้มก็แทบไม่เคยเกิดขึ้น จะมีก็แต่การฉลองแบบเบาๆในวาระครบรอบ 20 ปีของ Sgt. Pepper นี้เองในปี 1987 และแผ่น 30 ปีของ The Beatles (White Album) ในปี 1998 ซึ่งก็ไม่ถือว่ามีอะไรน่าฮือฮานัก

นี่จึงถือเป็นการ “จัดเต็ม” ครั้งแรกของพวกเขา ในการนำเสนออัลบั้มในตำนาน ซึ่งจะว่าไปก็แทบจะหมายถึงทุกชุดของพวกเขา แต่คงไม่มีงานไหนจะเหมาะสมและคู่ควรมากไปกว่า Sgt. Pepper อีกแล้ว ในฉบับที่วางขายในบ้านเราเป็นแบบ 2 CD อันประกอบไปด้วยแผ่นแรกที่เป็น original album ฉบับรีมิกซ์โดย Giles Martin และอีกแผ่นเป็น alternate versions ของทุกเพลงในอัลบั้ม รวมทั้งเพลงแถมอีกจำนวนหนึ่ง

แต่เมื่อจะฉลองกันทั้งที แนะนำให้ท่านไปกันให้สุดทางกับ Super Deluxe Edition ที่ทุกอย่างบรรจุอยู่ในกล่องขนาดพอๆกับแผ่นเสียง หน้าปกเป็นภาพสามมิติที่ดูจะถูกกาลเทศะและคู่ควรดีกับภาพปกนี้ของ Pepper ด้านในบรรจุด้วยออดิโอซีดีสี่แผ่น, บลูเรย์ 1 แผ่น, ดีวีดี 1 แผ่น หนังสือขนาดใหญ่ 1 เล่ม, โปสเตอร์ 3 แผ่น (ภาพ The Beatles ในชุด Sgt. Pepper, Sgt. Pepper cutouts (เผื่อใครอยากตัดหนวดของจ่าเป๊บเปอร์ไปใส่เล่น), และโปสเตอร์ที่มาของเพลง Being For The Benefit of Mr. Kite!)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1967 สเตอริโอยังจัดว่าเป็นของใหม่ ที่แฟนเพลงทั่วไปยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเล่นมัน โมโนยังถือเป็นมาตรฐานของระบบ The Beatles เองก็โฟกัสไปที่โมโนมิกซ์มากกว่า อันที่จริงสเตอริโอมิกซ์ของอัลบั้มนี้นั้น, ทำกันขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทีมโปรดิวเซอร์และวิศวกรเสียง โดยที่ตัวสี่เต่าทองเองไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีอะไรที่ดูจะไม่เข้าที่เข้าทางนักใน original stereo mix ของ Sgt. Pepper และอีกเหตุผลหนึ่งคือเทคโนโลยีในยุคนั้นที่เป็นข้อจำกัด แต่ในปี 2016-7 Giles Martin บุตรชายของ Sir George Martin ผู้โปรดิวซ์อัลบั้มนี้ในเบื้องแรก มีทั้งเวลาและเทคโนโลยี่ในมือในการที่จะมิกซ์มันให้ออกมาได้ดีที่สุด แต่ The Beatles ก็คงไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้โดยตรงอีกเหมือนเดิม (และถึงอยากมาก็มาไม่ได้, พวกเขาเหลือกันแค่ครึ่งเดียว)

เอาล่ะ, แล้วมิกซ์ใหม่ของไจลส์นี่เป็นอย่างไรบ้าง? มันมีความแตกต่างจาก 1967 mix อย่างฟังได้ไม่ต้องเงี่ยหู มีความเป็น modern ที่ท่านจะนำไปให้เด็กรุ่นใหม่ฟังได้อย่างไม่ขวยเขิน การจัดวางชิ้นดนตรีและเสียงร้องเสียงประสานทำได้อย่างมีรสนิยมและดูถูกหลักอนามัยแห่งการเสพ (กล่าวคือ ไม่มีการวางเสียงร้องและเสียงกลองไว้คนละด้าน) ไดนามิกรุนแรงเข้มข้น (เกือบจะมากเกินไป) เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นชัดเจนและคมกริบกว่าเดิม มัน “ร็อค” อย่างที่ไม่เคยมีใครได้ยินได้ฟัง อย่าแปลกใจถ้าคุณจะได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในอัลบั้มที่คุณฟังมาเป็นร้อยๆครั้งนี้ ทั้งๆที่มันก็อยู่ตรงนั้นมาตลอด ไจลส์ตัดสินใจเลือกใช้ She’s Leaving Home ที่สปีดปกติในแบบ original mono version เพราะนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า (แต่ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องชอบกว่า) โดยทั่วไปถือว่ามิกซ์นี้สอบผ่าน เป็นประสบการณ์การฟังที่สนุก ผมจัดให้เป็นทางเลือก ที่ไม่ถึงกับชนะขาดจนต้องขายเวอร์ชั่นเดิมทิ้ง หรือไม่กลับไปฟังอีกเลย ถ้าจะมีจุดที่น่าหงุดหงิด ก็คือเสียงหัวเราะท้ายเพลง Within You Without  You ที่เร่งเสียงดังขึ้นมาอย่างน่าตกใจ ทำลายบรรยากาศแบบเดิมๆไปไม่น้อย (จุดเล็กๆแบบนี้ บางทีก็ทำลายภาพรวมอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับเสียงคอร์ดแรกในเพลง A  Hard Day’s Night ของฉบับรีมาสเตอร์ 2009 ที่เบาบางขาดพลัง)

บางคนเชียร์ให้ใส่ Strawberry Fields Forever และ Penny Lane ลงไปในแผ่นแรกนี้ด้วย แต่ผมเห็นว่าไม่ใส่น่ะดีแล้วครับ แม้สองเพลงนี้จะดีเลิศแค่ไหน แต่ก็ไม่ควรไปรบกวนอะไรกับประวัติศาสตร์ของอัลบั้ม (สองเพลงนี้ เดิมเป็นซิงเกิ้ลที่ออกมาก่อนอัลบั้มประมาณ 4 เดือน และไม่ได้รวมอยู่ใน original album)

ซีดีออดิโอแผ่นที่สองและสาม คือ Sgt. Pepper Sessions เป็นโอกาสที่ท่านจะได้เห็นพัฒนาการของแต่ละแทร็คกว่าที่จะมาเป็น master สุดท้ายที่เราคุ้นเคย บางเพลงเราอาจจะเคยได้ยินมาก่อนแล้วจาก
Anthology 2 และ Bootleg แต่ส่วนมากจะเป็น unreleased สองแผ่นนี้ อาจจะเหมาะสำหรับ hardcore เท่านั้น การเรียงเพลงในสองแผ่นนี้ ไล่ตามวันเวลาที่บันทึกเสียง และ SFF/Penny Lane ฉบับสมบูรณ์ก็แทรกตัวอยู่ในแผ่นที่สองนี้ จะฟังสองแผ่นนี้ให้สนุก คงต้องอ่านบทความ “Songs and Recording Details”  โดย Kevin Howlett ในหนังสือเล่มใหญ่ที่มากับกล่องนี้ประกอบไปด้วยครับ

รวมเวลาในสองแผ่นนี้ก็ร่วมกว่า 100 นาที ที่คุณเหมือนจะได้เดินเข้าไปใน Abbey Road ในปี 1966-67 เพื่อแอบฟังพวกเขาสรรสร้างมาสเตอร์พีซนี้ ถามว่า นี่มันหมดสิ้นแล้วหรือยัง ต่อไปคงไม่มีอะไรจะขายอีกแล้วใช่ไหม คำตอบคือ ไม่ อย่างน้อยก็ยังไม่มีวี่แววของเพลง Carnival of Light เพลงอวองการ์ดในตำนานที่ใครๆก็อยากได้ยินได้ฟัง แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันคงไม่ได้น่าฟังอะไรนักหนา และอาจทำให้ Revolution9 กลายเป็นเพลงไพเราะไปเลยก็ได้ อนึ่ง, ถ้าพูดถึง outtakes ทั้งหมด มันคงยังเหลืออะไรใน vaults อีกไม่น้อย เพราะพวกเขาใช้เวลาในการบันทึกเสียง Pepper กันถึง 400 ชั่วโมง ใครจะไปรู้ว่าซักวันหนึ่ง อาจจะมีการนำมันออกมาให้ฟังกันทั้งหมดก็ได้

ซีดีแผ่นที่ 4 คือ original 1967 mono mix ที่ฟังแล้วยังคลาสสิกตลอดกาล และเชื่อว่าแฟนๆส่วนใหญ่ยังคงยกให้มันเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดอยู่ แผ่นนี้มีเพลงแถมคือ SFF และ Penny Lane ฉบับออริจินัลโมโน, Unreleased mono mix ของ A Day In The Life, Lucy In The Sky With Diamonds และ She’s Leaving Home, Penny Lane (Capitol Records U.S. Promo Single, mono mix) ที่จัดว่าหายากมาก (ก่อนหน้านี้)

Contents ใน Blu-Ray และ DVD เหมือนกัน ประกอบไปด้วย

1.สารคดี The Making of Sgt. Pepper จากปี 1992 ที่ทรงคุณค่าด้วยบทสัมภาษณ์จากหลายๆคนที่เกี่ยวข้อง นำโดย George Martin, Paul, George, Ringo แค่ได้เห็นได้ฟังมาร์ตินเลื่อน faders ขึ้นลงๆในแทร็คต่างๆของอัลบั้มก็คุ้มแล้ว ภาพคมชัดในระดับหนึ่ง
2.Promo Clips (Music Videos) ของเพลง SFF, Penny Lane และ A Day In The Life
3. 5.1 Surround Mix และ 96/24 high resolution audio ของ Sgt. Pepper’s album แถมด้วย SFF/Penny Lane มิกซ์โดย Giles Martin

ที่ประทับใจมาก คือหนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ หนา 144 หน้า ภาพสวยงามหายากมากมาย เนื้อหาแบ่งเป็น 10 parts ที่เจาะลึกแทบทุกประเด็นที่พันเกี่ยวกับ Sgt. Pepper. แค่หนังสืออย่างเดียว ก็คุ้มไปครึ่งราคาของกล่องแล้ว และมันก็(ยัง)ไม่มีแยกขายเสียด้วยสิ

ไม่มีหรอกครับ คำว่าสมบูรณ์แบบหาที่ติไม่ได้ แม้แต่ตัวอัลบั้ม Sgt. Pepper เอง แต่ในการนำเสนอกล่อง Super Deluxe เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีนี้ ผมถือว่าทำได้ยิ่งใหญ่ สมศักดิ์ศรี และทำให้เราตั้งหน้าตั้งตารอคอย กล่องสีขาวๆในปี 2018 ต่อไปโดยพลัน (ข่าวลือว่า Giles Martin เริ่มลงมือแล้ว)

The Beatles, ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band: Super Deluxe’ Track Listing

CD 1: ‘Sgt. Pepper’ 2017 Stereo Mix

CD 2: Complete early takes from the sessions, sequenced in chronological order of their first recording dates

1. Strawberry Fields Forever [Take 1]
2. Strawberry Fields Forever [Take 4]
3. Strawberry Fields Forever [Take 7]
4. Strawberry Fields Forever [Take 26]
5. Strawberry Fields Forever [Stereo Mix – 2015]
6. When I’m Sixty-Four [Take 2]
7. Penny Lane [Take 6 – Instrumental]
8. Penny Lane [Vocal Overdubs And Speech]
9. Penny Lane [Stereo Mix – 2017]
10. A Day In The Life [Take 1]
11. A Day In The Life [Take 2]
12. A Day In The Life [Orchestra Overdub]
13. A Day In The Life (Hummed Last Chord) [Takes 8, 9, 10 and 11]
14. A Day In The Life (The Last Chord)
15. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band [Take 1 – Instrumental]
16. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band [Take 9 And Speech]
17. Good Morning Good Morning [Take 1 – Instrumental, Breakdown]
18. Good Morning Good Morning [Take 8]

CD 3: Complete early takes from the sessions, sequenced in chronological order of their first recording dates

1. Fixing A Hole [Take 1]
2. Fixing A Hole [Speech And Take 3]
3. Being For The Benefit Of Mr. Kite! [Speech From Before Take 1; Take 4 And Speech At End]
4. Being For The Benefit Of Mr. Kite! [Take 7]
5. Lovely Rita [Speech And Take 9]
6. Lucy In The Sky With Diamonds [Take 1 And Speech At The End]
7. Lucy In The Sky With Diamonds [Speech, False Start And Take 5]
8. Getting Better [Take 1 – Instrumental And Speech At The End]
9. Getting Better [Take 12]
10. Within You Without You [Take 1 – Indian Instruments Only]
11. Within You Without You [George Coaching The Musicians]
12. She’s Leaving Home [Take 1 – Instrumental]
13. She’s Leaving Home [Take 6 – Instrumental]
14. With A Little Help From My Friends [Take 1 – False Start And Take 2 – Instrumental]
15. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (Reprise) [Speech And Take 8]

CD 4: ‘Sgt. Pepper’ and bonus tracks in Mono

(Tracks 1-13: 2017 Direct Transfer of ‘Sgt. Pepper’ Original Mono Mix)

14. Strawberry Fields Forever [Original Mono Mix]
15. Penny Lane [Original Mono Mix]
16. A Day In The Life [Unreleased First Mono Mix]
17. Lucy In The Sky With Diamonds [Unreleased Mono Mix – No. 11]
18. She’s Leaving Home [Unreleased First Mono Mix]
19. Penny Lane [Capitol Records U.S. Promo Single – Mono Mix]

DISCS 5 & 6 (Blu-ray & DVD)

Audio Features (both discs):
– New 5.1 Surround Audio mixes of ‘Sgt. Pepper’ album and “Penny Lane,” plus 2015 5.1 Surround mix of “Strawberry Fields Forever” (Blu-ray: DTS HD Master Audio 5.1, Dolby True HD 5.1 / DVD: DTS Dolby Digital 5.1)
– High Resolution Audio versions of 2017 ‘Sgt. Pepper’ stereo mix and 2017 “Penny Lane” stereo mix, plus 2015 “Strawberry Fields Forever” hi res stereo mix (Blu-ray: LPCM Stereo 96KHz/24bit / DVD: LPCM Stereo)
Video Features (both discs):
– The Making of Sgt. Pepper [restored 1992 documentary film, previously unreleased]
– Promotional Films: “A Day In The Life;” “Strawberry Fields Forever;” “Penny Lane” [4K restored]