Sunday 25 June 2017

Pepper at 50

ครึ่งศตวรรษที่ยังคงรับประกันความยิ่งใหญ่
-------------
The Beatles :: Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (Super deluxe Edition) *****
Original release :1967
50th Anniversary release : 2017
Original Produced by George Martin
Reissue Produced by Giles Martin
Genre: Rock



คุณมี "อวตาร" ใน facebook ไหม? ถ้ามีคุณจะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เคยมีก็แนะนำให้ลองสร้างดู เมื่อใดที่คุณสวมบทบาทอวตารนั้น แม้ว่าเพื่อนๆจำนวนหนึ่งจะทราบดีว่านั่นคือคุณอยู่ในเบื้องหลัง แต่คุณจะไม่เหมือนเดิม คุณจะมีอิสระในการโพสต์และคอมเมนต์ ถ้อยคำต่างๆที่"ตัวจริง"ของคุณไม่มีทางพิมพ์ลงไปได้ มันพรั่งพรูมาได้อย่างไรก็ไม่ทราบ

นั่นเป็นเหตุผลที่ The Beatles ที่กำลังเอียนในความเป็น The Beatles เต็มทน ต้องสร้างอวตารของพวกเขาขึ้นมา ณ นาทีนั้น พวกเขาไม่ใช่ The Beatles อีกต่อไป แต่นี่คือวง Lonely Hearts Club Band ของจ่า Pepper ผู้สอนให้พวกเขาเล่นดนตรีกันมาตั้งแต่ ๒๐ ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าในปีนี้ มันก็ It was 70 years ago today!

ใช่, ใครๆก็รู้ว่าไอ้วงของ Sgt. Pepper นี้ก็คือ The Beatles นั่นแหละ แต่มันก็ให้อิสรภาพในการแสดงออกของพวกเขาได้อย่างน่าประหลาด พวกเขาแต่งเนื้อแต่งตัวย้อนยุค โพสต์ท่าถ่ายภาพปกร่วมกับ cut outs และหุ่นขี้ผึ้งของเหล่าคนดังที่พวกเขาชื่นชอบ ในบรรยากาศรื่นรมย์บนหลุมศพ (ความจริงคือห้วงเวลาหลังการแสดงจบ) และสร้างอัลบั้มที่เสมือนหนึ่งบันทึกการแสดงฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของวงของจ่าพริกไทยนี้

มันเริ่มต้นด้วยการแนะนำวงดนตรีและความเป็นมา ก่อนส่งต่อให้นักร้องนำเสียงเสน่ห์ "บิลลี่ เชียร์ส" (หรือที่เรารู้จักกันในนามริงโก้ สตาร์) หลังจากนั้นวงของจ่า ก็พาผู้ฟังไปกับแนวดนตรีที่ going in and out of styles ไปตามแต่ความปรารถนาของความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะนำ และยถากรรม (ในแง่บวก) ของคนฟังผู้โชคดีทุกคน หลุดไปในโลกของวันเดอร์แลนด์ใน Lucy In The Sky With Diamonds ย้อนเวลาไปในงานวัดฝรั่งใน Being For The Benefit of Mr. Kite! ลงลึกไปในหัวใจของตนเองกับดนตรีภารตะใน Within You Without You....etc. ก่อนที่วงของจ่าจะย้ำเตือนผู้ชมอีกครั้งว่ากำลังดูคอนเสิร์ตของวงนี้อยู่นะ ในเพลง Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (reprise)

A Day In The Life อาจมองว่าเป็น encore ของการแสดงนี้ของวงจ่า หรือเป็นการกลับสู่โลกแห่งความจริงของความเป็น The Beatles นี่คือเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เล่าเรื่องราวธรรมดาๆของชีวิตในวันหนึ่ง ความไร้สาระที่เป็นสาระแห่งความเป็นมนุษย์ และความฟินที่เรียกกันว่า turn on ผ่านดนตรีร็อคที่เล่นกับวงออเคสตร้าในแบบที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน จบด้วยเสียงเปียโน 10 หลังกระหน่ำพร้อมกัน oh boy!

มันยากที่จะรับมือกับงานที่มีชื่อเสียงก้องจักรวาลระดับนี้ เมื่อคุณมาฟังมันหลังจากห้วงเวลาที่มันออกสู่โลกมาหลายปี ความคาดหวังอันสูงส่ง ความแปลกแยกจากยุคสมัย ที่อาจทำให้มันล้าไปไม่มากก็น้อย และผมก็ยังโชคร้ายที่ดันมาเริ่มกับเทป EMI สมัยนั้น ที่มีการสลับเพลงจากชุดอื่นมาใส่ เพราะปัญหาด้านเนื้อเพลงล่อแหลม คิดดูสิครับ Pepper ที่ไม่มี Lucy และ A Day In The Life อย่าออกมาเลยดีกว่าถ้าจะแบนแบบนี้

แต่คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน หลังจากได้ฟังอัลบั้มในแบบถูกต้องตามหลักอนามัยในเวลาต่อมา ผมก็เริ่มหูสว่าง และยิ่งปรับใจให้รับได้กับยุคสมัยที่แท้จริง เมื่อผนวกกับศึกษาเบื้องหลังอลังการงานสร้างของมัน ผมก็ยิ่งขนลุกขนพองไปกับความมหากาฬของ Sgt. Pepper จากอัลบั้มที่เคยรู้สึกงั้นๆ และไม่เข้าใจว่าทำไมยกย่องกันนักหนา มันค่อยๆไต่อันดับในหัวใจขึ้นมาเรื่อยๆ และแทบไม่รู้ตัวว่าผมฟังมันบ่อยเหลือเกิน
และเมื่อผมคิดว่าไม่มีอะไรจะไปต่อแล้วสำหรับการเสพอัลบั้มนี้ วันหนึ่ง mono version ของ Pepper ก็เดินทางเข้าสู่โสตประสาท (ก่อนหน้านี้ฟัง stereo มาตลอด)
It's getting better!
ผมเคยนึกว่านั่นคือคำตอบสุดท้ายแล้ว สำหรับอัลบั้มนี้ จนกระทั่งปีนี้.....

Sgt. Pepper, มันคืออัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล (greatest album of all time) หรือไม่? สำหรับตำแหน่งนี้ อันเป็นทั้งปัจเจกนิยมและนามธรรม มันจึงไม่มีทางฟันธงลงไปได้ว่า Sgt. Pepper เป็น “สิ่งนั้น” หรือไม่ หรืออัลบั้มไหนในโลกกันแน่ที่คู่ควรกับตำแหน่งอันทรงเกียรติที่สุดนี้ แต่ถ้าเราจะตัดสินด้วยเสียงข้างมาก เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ถ้าวัดกันจากโพลต่างๆตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา Pepper น่าจะเป็นอัลบั้มที่ยึดหัวหาด ได้คะแนนรวมสูงสุด อันที่จริง ในช่วงยี่สิบปีแรกหลังจากมันออกวางตลาด ถ้ามีการจัดโพลด้วยคำถามนี้ Pepper มักจะเป็นอันดับหนึ่งเสมอ จนเมือเวลาผ่านไป ความโด่งดังของมันก็อาจจะเริ่มทำร้ายตัวมันเอง (ความเอียนและเลี่ยนของเหล่านักฟังและนักวิจารณ์) หรืออาจจะเป็นเพราะความหลุดพ้นจากยุคสมัยไปทีละน้อย (เชย)ของดนตรีในอัลบั้ม Pepper จึงเริ่มถดถอยลงมาจากอันดับต้นๆเมื่อผู้คนจะคิดถึงอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ปล่อยให้ Revolver, White Album, Abbey Road ขึ้นมาเป็นตัวแทนของผลงานสุดยอดของสี่เต่าทองแทน

ถ้าคุณลองนำอัลบั้มนี้ไปให้เด็กรุ่นใหม่หรือใครที่ไม่เคยสดับในสุ้มเสียงของมันมาก่อน เป็นไปได้ไม่น้อยที่เขาหรือเธอจะแอบเบ้ปากและกลอกตาวนๆ พวกเขาอาจจะไม่รู้สึกรู้สา หรือเข้าใจว่ามันเลิศเลอตรงไหน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเชยในการมิกซ์และซาวด์ของมันที่ฟังดูเป็นยุค 60’s เกินไปหน่อย (ก็มัน 60’s นี่) แต่เหตุการณ์แบบนั้น น่าจะเปลี่ยนผลลัพธ์ของมันไป ถ้าคุณหยิบยื่นเวอร์ชั่นรีมิกซ์ของมาร์ตินผู้ลูกนี้ให้พวกเขาฟัง

The Beatles อาจเป็นผู้นำมาตลอดในยุคที่พวกเขายังไม่แตกแยกวงกันไป เริ่มตั้งแต่การนำขบวนศิลปินที่แต่งเพลงด้วยตัวเองมาตั้งแต่อัลบั้มแรกๆ, ความกล้าที่จะทดลองอะไรหลายอย่างในการบันทึกเสียงที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน, ไม่ใส่ชื่อศิลปินลงบนปก, เลิกตระเวนแสดงดนตรีแต่กลายมาเป็นวงดนตรีที่มีแต่ผลงานในห้องอัดอย่างเดียว ฯลฯ แต่ในยุคของการ reissue สี่เต่าทองมักจะล้าหลัง และเป็นศิลปินกลุ่มท้ายๆเสมอในการตามขบวน การรีมาสเตอร์ครั้งใหญ่ก็แทบจะทำเป็นวงสุดท้าย เมื่อปี 2009 และการทำงาน “ฉบับพิเศษ” ของแต่ละอัลบั้มก็แทบไม่เคยเกิดขึ้น จะมีก็แต่การฉลองแบบเบาๆในวาระครบรอบ 20 ปีของ Sgt. Pepper นี้เองในปี 1987 และแผ่น 30 ปีของ The Beatles (White Album) ในปี 1998 ซึ่งก็ไม่ถือว่ามีอะไรน่าฮือฮานัก

นี่จึงถือเป็นการ “จัดเต็ม” ครั้งแรกของพวกเขา ในการนำเสนออัลบั้มในตำนาน ซึ่งจะว่าไปก็แทบจะหมายถึงทุกชุดของพวกเขา แต่คงไม่มีงานไหนจะเหมาะสมและคู่ควรมากไปกว่า Sgt. Pepper อีกแล้ว ในฉบับที่วางขายในบ้านเราเป็นแบบ 2 CD อันประกอบไปด้วยแผ่นแรกที่เป็น original album ฉบับรีมิกซ์โดย Giles Martin และอีกแผ่นเป็น alternate versions ของทุกเพลงในอัลบั้ม รวมทั้งเพลงแถมอีกจำนวนหนึ่ง

แต่เมื่อจะฉลองกันทั้งที แนะนำให้ท่านไปกันให้สุดทางกับ Super Deluxe Edition ที่ทุกอย่างบรรจุอยู่ในกล่องขนาดพอๆกับแผ่นเสียง หน้าปกเป็นภาพสามมิติที่ดูจะถูกกาลเทศะและคู่ควรดีกับภาพปกนี้ของ Pepper ด้านในบรรจุด้วยออดิโอซีดีสี่แผ่น, บลูเรย์ 1 แผ่น, ดีวีดี 1 แผ่น หนังสือขนาดใหญ่ 1 เล่ม, โปสเตอร์ 3 แผ่น (ภาพ The Beatles ในชุด Sgt. Pepper, Sgt. Pepper cutouts (เผื่อใครอยากตัดหนวดของจ่าเป๊บเปอร์ไปใส่เล่น), และโปสเตอร์ที่มาของเพลง Being For The Benefit of Mr. Kite!)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1967 สเตอริโอยังจัดว่าเป็นของใหม่ ที่แฟนเพลงทั่วไปยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเล่นมัน โมโนยังถือเป็นมาตรฐานของระบบ The Beatles เองก็โฟกัสไปที่โมโนมิกซ์มากกว่า อันที่จริงสเตอริโอมิกซ์ของอัลบั้มนี้นั้น, ทำกันขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทีมโปรดิวเซอร์และวิศวกรเสียง โดยที่ตัวสี่เต่าทองเองไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีอะไรที่ดูจะไม่เข้าที่เข้าทางนักใน original stereo mix ของ Sgt. Pepper และอีกเหตุผลหนึ่งคือเทคโนโลยีในยุคนั้นที่เป็นข้อจำกัด แต่ในปี 2016-7 Giles Martin บุตรชายของ Sir George Martin ผู้โปรดิวซ์อัลบั้มนี้ในเบื้องแรก มีทั้งเวลาและเทคโนโลยี่ในมือในการที่จะมิกซ์มันให้ออกมาได้ดีที่สุด แต่ The Beatles ก็คงไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้โดยตรงอีกเหมือนเดิม (และถึงอยากมาก็มาไม่ได้, พวกเขาเหลือกันแค่ครึ่งเดียว)

เอาล่ะ, แล้วมิกซ์ใหม่ของไจลส์นี่เป็นอย่างไรบ้าง? มันมีความแตกต่างจาก 1967 mix อย่างฟังได้ไม่ต้องเงี่ยหู มีความเป็น modern ที่ท่านจะนำไปให้เด็กรุ่นใหม่ฟังได้อย่างไม่ขวยเขิน การจัดวางชิ้นดนตรีและเสียงร้องเสียงประสานทำได้อย่างมีรสนิยมและดูถูกหลักอนามัยแห่งการเสพ (กล่าวคือ ไม่มีการวางเสียงร้องและเสียงกลองไว้คนละด้าน) ไดนามิกรุนแรงเข้มข้น (เกือบจะมากเกินไป) เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นชัดเจนและคมกริบกว่าเดิม มัน “ร็อค” อย่างที่ไม่เคยมีใครได้ยินได้ฟัง อย่าแปลกใจถ้าคุณจะได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในอัลบั้มที่คุณฟังมาเป็นร้อยๆครั้งนี้ ทั้งๆที่มันก็อยู่ตรงนั้นมาตลอด ไจลส์ตัดสินใจเลือกใช้ She’s Leaving Home ที่สปีดปกติในแบบ original mono version เพราะนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า (แต่ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องชอบกว่า) โดยทั่วไปถือว่ามิกซ์นี้สอบผ่าน เป็นประสบการณ์การฟังที่สนุก ผมจัดให้เป็นทางเลือก ที่ไม่ถึงกับชนะขาดจนต้องขายเวอร์ชั่นเดิมทิ้ง หรือไม่กลับไปฟังอีกเลย ถ้าจะมีจุดที่น่าหงุดหงิด ก็คือเสียงหัวเราะท้ายเพลง Within You Without  You ที่เร่งเสียงดังขึ้นมาอย่างน่าตกใจ ทำลายบรรยากาศแบบเดิมๆไปไม่น้อย (จุดเล็กๆแบบนี้ บางทีก็ทำลายภาพรวมอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับเสียงคอร์ดแรกในเพลง A  Hard Day’s Night ของฉบับรีมาสเตอร์ 2009 ที่เบาบางขาดพลัง)

บางคนเชียร์ให้ใส่ Strawberry Fields Forever และ Penny Lane ลงไปในแผ่นแรกนี้ด้วย แต่ผมเห็นว่าไม่ใส่น่ะดีแล้วครับ แม้สองเพลงนี้จะดีเลิศแค่ไหน แต่ก็ไม่ควรไปรบกวนอะไรกับประวัติศาสตร์ของอัลบั้ม (สองเพลงนี้ เดิมเป็นซิงเกิ้ลที่ออกมาก่อนอัลบั้มประมาณ 4 เดือน และไม่ได้รวมอยู่ใน original album)

ซีดีออดิโอแผ่นที่สองและสาม คือ Sgt. Pepper Sessions เป็นโอกาสที่ท่านจะได้เห็นพัฒนาการของแต่ละแทร็คกว่าที่จะมาเป็น master สุดท้ายที่เราคุ้นเคย บางเพลงเราอาจจะเคยได้ยินมาก่อนแล้วจาก
Anthology 2 และ Bootleg แต่ส่วนมากจะเป็น unreleased สองแผ่นนี้ อาจจะเหมาะสำหรับ hardcore เท่านั้น การเรียงเพลงในสองแผ่นนี้ ไล่ตามวันเวลาที่บันทึกเสียง และ SFF/Penny Lane ฉบับสมบูรณ์ก็แทรกตัวอยู่ในแผ่นที่สองนี้ จะฟังสองแผ่นนี้ให้สนุก คงต้องอ่านบทความ “Songs and Recording Details”  โดย Kevin Howlett ในหนังสือเล่มใหญ่ที่มากับกล่องนี้ประกอบไปด้วยครับ

รวมเวลาในสองแผ่นนี้ก็ร่วมกว่า 100 นาที ที่คุณเหมือนจะได้เดินเข้าไปใน Abbey Road ในปี 1966-67 เพื่อแอบฟังพวกเขาสรรสร้างมาสเตอร์พีซนี้ ถามว่า นี่มันหมดสิ้นแล้วหรือยัง ต่อไปคงไม่มีอะไรจะขายอีกแล้วใช่ไหม คำตอบคือ ไม่ อย่างน้อยก็ยังไม่มีวี่แววของเพลง Carnival of Light เพลงอวองการ์ดในตำนานที่ใครๆก็อยากได้ยินได้ฟัง แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันคงไม่ได้น่าฟังอะไรนักหนา และอาจทำให้ Revolution9 กลายเป็นเพลงไพเราะไปเลยก็ได้ อนึ่ง, ถ้าพูดถึง outtakes ทั้งหมด มันคงยังเหลืออะไรใน vaults อีกไม่น้อย เพราะพวกเขาใช้เวลาในการบันทึกเสียง Pepper กันถึง 400 ชั่วโมง ใครจะไปรู้ว่าซักวันหนึ่ง อาจจะมีการนำมันออกมาให้ฟังกันทั้งหมดก็ได้

ซีดีแผ่นที่ 4 คือ original 1967 mono mix ที่ฟังแล้วยังคลาสสิกตลอดกาล และเชื่อว่าแฟนๆส่วนใหญ่ยังคงยกให้มันเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดอยู่ แผ่นนี้มีเพลงแถมคือ SFF และ Penny Lane ฉบับออริจินัลโมโน, Unreleased mono mix ของ A Day In The Life, Lucy In The Sky With Diamonds และ She’s Leaving Home, Penny Lane (Capitol Records U.S. Promo Single, mono mix) ที่จัดว่าหายากมาก (ก่อนหน้านี้)

Contents ใน Blu-Ray และ DVD เหมือนกัน ประกอบไปด้วย

1.สารคดี The Making of Sgt. Pepper จากปี 1992 ที่ทรงคุณค่าด้วยบทสัมภาษณ์จากหลายๆคนที่เกี่ยวข้อง นำโดย George Martin, Paul, George, Ringo แค่ได้เห็นได้ฟังมาร์ตินเลื่อน faders ขึ้นลงๆในแทร็คต่างๆของอัลบั้มก็คุ้มแล้ว ภาพคมชัดในระดับหนึ่ง
2.Promo Clips (Music Videos) ของเพลง SFF, Penny Lane และ A Day In The Life
3. 5.1 Surround Mix และ 96/24 high resolution audio ของ Sgt. Pepper’s album แถมด้วย SFF/Penny Lane มิกซ์โดย Giles Martin

ที่ประทับใจมาก คือหนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ หนา 144 หน้า ภาพสวยงามหายากมากมาย เนื้อหาแบ่งเป็น 10 parts ที่เจาะลึกแทบทุกประเด็นที่พันเกี่ยวกับ Sgt. Pepper. แค่หนังสืออย่างเดียว ก็คุ้มไปครึ่งราคาของกล่องแล้ว และมันก็(ยัง)ไม่มีแยกขายเสียด้วยสิ

ไม่มีหรอกครับ คำว่าสมบูรณ์แบบหาที่ติไม่ได้ แม้แต่ตัวอัลบั้ม Sgt. Pepper เอง แต่ในการนำเสนอกล่อง Super Deluxe เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีนี้ ผมถือว่าทำได้ยิ่งใหญ่ สมศักดิ์ศรี และทำให้เราตั้งหน้าตั้งตารอคอย กล่องสีขาวๆในปี 2018 ต่อไปโดยพลัน (ข่าวลือว่า Giles Martin เริ่มลงมือแล้ว)

The Beatles, ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band: Super Deluxe’ Track Listing

CD 1: ‘Sgt. Pepper’ 2017 Stereo Mix

CD 2: Complete early takes from the sessions, sequenced in chronological order of their first recording dates

1. Strawberry Fields Forever [Take 1]
2. Strawberry Fields Forever [Take 4]
3. Strawberry Fields Forever [Take 7]
4. Strawberry Fields Forever [Take 26]
5. Strawberry Fields Forever [Stereo Mix – 2015]
6. When I’m Sixty-Four [Take 2]
7. Penny Lane [Take 6 – Instrumental]
8. Penny Lane [Vocal Overdubs And Speech]
9. Penny Lane [Stereo Mix – 2017]
10. A Day In The Life [Take 1]
11. A Day In The Life [Take 2]
12. A Day In The Life [Orchestra Overdub]
13. A Day In The Life (Hummed Last Chord) [Takes 8, 9, 10 and 11]
14. A Day In The Life (The Last Chord)
15. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band [Take 1 – Instrumental]
16. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band [Take 9 And Speech]
17. Good Morning Good Morning [Take 1 – Instrumental, Breakdown]
18. Good Morning Good Morning [Take 8]

CD 3: Complete early takes from the sessions, sequenced in chronological order of their first recording dates

1. Fixing A Hole [Take 1]
2. Fixing A Hole [Speech And Take 3]
3. Being For The Benefit Of Mr. Kite! [Speech From Before Take 1; Take 4 And Speech At End]
4. Being For The Benefit Of Mr. Kite! [Take 7]
5. Lovely Rita [Speech And Take 9]
6. Lucy In The Sky With Diamonds [Take 1 And Speech At The End]
7. Lucy In The Sky With Diamonds [Speech, False Start And Take 5]
8. Getting Better [Take 1 – Instrumental And Speech At The End]
9. Getting Better [Take 12]
10. Within You Without You [Take 1 – Indian Instruments Only]
11. Within You Without You [George Coaching The Musicians]
12. She’s Leaving Home [Take 1 – Instrumental]
13. She’s Leaving Home [Take 6 – Instrumental]
14. With A Little Help From My Friends [Take 1 – False Start And Take 2 – Instrumental]
15. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (Reprise) [Speech And Take 8]

CD 4: ‘Sgt. Pepper’ and bonus tracks in Mono

(Tracks 1-13: 2017 Direct Transfer of ‘Sgt. Pepper’ Original Mono Mix)

14. Strawberry Fields Forever [Original Mono Mix]
15. Penny Lane [Original Mono Mix]
16. A Day In The Life [Unreleased First Mono Mix]
17. Lucy In The Sky With Diamonds [Unreleased Mono Mix – No. 11]
18. She’s Leaving Home [Unreleased First Mono Mix]
19. Penny Lane [Capitol Records U.S. Promo Single – Mono Mix]

DISCS 5 & 6 (Blu-ray & DVD)

Audio Features (both discs):
– New 5.1 Surround Audio mixes of ‘Sgt. Pepper’ album and “Penny Lane,” plus 2015 5.1 Surround mix of “Strawberry Fields Forever” (Blu-ray: DTS HD Master Audio 5.1, Dolby True HD 5.1 / DVD: DTS Dolby Digital 5.1)
– High Resolution Audio versions of 2017 ‘Sgt. Pepper’ stereo mix and 2017 “Penny Lane” stereo mix, plus 2015 “Strawberry Fields Forever” hi res stereo mix (Blu-ray: LPCM Stereo 96KHz/24bit / DVD: LPCM Stereo)
Video Features (both discs):
– The Making of Sgt. Pepper [restored 1992 documentary film, previously unreleased]
– Promotional Films: “A Day In The Life;” “Strawberry Fields Forever;” “Penny Lane” [4K restored]