Wednesday, 19 December 2018

Bohemian Rhapsody

Bohemian Rhapsody
(รีวิวไว้ตั้งแต่หนังยังไม่ลงโรง)


นี่ไม่ใช่หนังชีวประวัติของควีน
นี่ไม่ใช่ในแนวสารคดีเปํะๆ
แต่นี่คือหนังที่จับช่วงชีวิตของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่มาขยายความ
และทำออกมาด้วยรสนิยมแบบรู้ใจแฟนเพลงของควีน
แน่นอนมันมีเรื่องราวของวงและสมาชิกคนอื่นๆ
แต่หลักใหญ่ใจความก็อยู่ที่ตัวเฟรดดี้นั่นแหละ
เราจะได้เห็นความ "มั่น" อันเกินร้อยของเขาตั้งแต่เฟรดดี้ยังไม่เป็นเมอร์คิวรี่
เราจะได้เห็นความสุดขั้วในชีวิตของเขาในอีกด้านหนึ่งของความเหงาที่คุณไม่คิดว่าคนอย่างเขาจะเหงาได้จับใจขนาดนี้
เราได้ฟังเพลงของควีนในแบบอลังการที่สุดอย่างไม่เคยฟังมาก่อน ไม่ว่าเครื่องเสียงในบ้านคุณจะบึ้มขนาดไหน
เราต้องหันไปบอกเพื่อนข้างๆว่า เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้จริงๆหรือ (วะ)
เพราะมันไม่เห็นเหมือนกับที่เราเคยรู้เคยฟังเคยอ่านมาก่อน
แน่ล่ะ มันไม่ใช่หนังที่ไร้ที่ติ บางบทตอนก็ดูเหมือนจงใจเขียนให้ดราม่าเกินไปราวกับชีวิตของเฟรดดี้และควีนยังไม่ดราม่าเพียงพอ
แต่ถ้าคุณเป็นแฟนควีนจริงๆ คุณคงจะไม่สนใจอะไรเหล่านั้นมากนัก
การแสดงอันเป็นประวัติศาสตร์ของควีนใน Live Aid คือหมุดหมายของหนังเรื่องนี้
และหนังก็วางหมากได้เป็นอย่างดีกว่าที่จะไปถึงจุดนั้นในตอนท้ายเรื่อง
ช่วง 20 นาทีสุดท้ายที่หนัง re-create Live Aid ให้เราดู เป็นอะไรที่สุดๆ และยากที่จะกลั้นน้ำตาไว้
เรียกได้ว่า ถ้าจะได้ประสบการณ์ที่สุดยอดกว่านี้ ก็คือไปดูควีนเล่นที่นั่นจริงๆนั่นแหละ
เรื่องฉากที่เป็นดนตรี เอาเป็นว่าสนุกหายห่วงตลอดเรื่อง
แต่ผมก็ชอบที่หนังให้เวลากับเรื่องชีวิตด้านอื่นของเฟรดดี้พอสมควร
เขาเป็นเกย์ตั้งแต่เกิดหรือ
หรือมันมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาระหว่างการเดินทางจากหนุ่มหล่อผมยาวมาเป็นเกย์หนวดใส่เสื้อกล้ามคนนั้น
ความสัมพันธ์ของเฟรดดี้กับแมรี่ แฟนสาว เป็นอะไรที่แสนเศร้าและสวยงาม อย่างที่โลกควรจะรับรู้
ตัวแสดงหลักทุกคน เลือกเฟ้นมาได้อย่างดี ไม่มีความรู้สึกแบบว่า "ไม่เห็นเหมือนเลยวุ้ย"
มีหลายช่วงที่เราลืมไปเลย ว่ากำลังดูการแสดงของนักแสดง นั่นไม่ใช่ไบรอัน เมย์,จอห์น ดีคอน หรือ โรเจอร์ เทย์เลอร์ จริงๆนะ
โดยเฉพาะ พระ(นาง)เอกของเรา Rami Malek ที่ตีบทเฟรดดี้แตกละเอียด ทุกลีลา การพูด เสียงร้อง ความแรด ความมันส์ และแม้แต่บทอันสุดซาบซึ้ง เขาทำได้ดีมากๆ ทั้งๆที่มันยากเหลือเกินกับการรับคาแรกเตอร์ที่เป็นหนึ่งเดียวแบบนี้
ถ้าคุณชอบควีน คุณต้องดูหนังเรื่องนี้ แม้ว่าคุณอาจจะไม่ชอบทุกอย่างในนั้น
แต่ถ้าคุณไม่ชอบควีนและเฟรดดี้ คุณก็อาจจะชอบเมื่อดูมันจบ
นักวิจารณ์อาจจะสับมันเละ แต่ถ้าคุณไปอ่านดีๆ พวกเขาก็ปฏิเสธมันไม่ได้หรอก ว่ามีความบันเทิงมากมายใน Bohemian Rhapsody
ไปดูเถิดครับ และโปรดไปชมในโรงใหญ่ที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ คุณคงไม่อยากดูควีนผ่านจอเล็กๆหรอก
ป.ล. แมวของเฟรดดี้ น่ารักดี และไม่เคยแก่ลงเลยตลอดเรื่อง

White Album at 50

The Beatles :: The BEATLES (1968) ★★★★★


-----
ในยุค 60's การที่ศิลปินจะออกอัลบัมคู่ (double album) ที่มีแผ่นเสียงสองแผ่นในเซ็ตเดียวไม่ถือเป็นเรื่องปกติ เหตุผลหลักๆคือการมีไอเดียที่พรั่งพรูมหาศาลจนก่อให้เกิดเพลงจำนวนมากที่ไม่อาจจะบรรจุไว้ในลองเพลย์แผ่นเดียวได้ (และศิลปินก็ไม่อยาก"ดอง"เอาไว้ในโอกาสต่อไป) หรืออีกเหตุผลก็คือความปรารถนาจะทำเป็นคอนเซพท์อัลบั้ม ที่ต้องการพื้นที่มากพอที่จะเล่นกับเรื่องราวของคอนเซพท์นั้น
ในกรณีของ The Beatles กับ The White Album (ชื่อเล่นที่ถูกเรียกขานกันจนเป็นชื่อจริงไปแล้ว) น่าจะเป็นเหตุผลแรกเสียมากกว่า พวกเขามีเพลงตุนอยู่ในมือกันมากมายกว่า 30 เพลง หลักๆได้มาจากการไปเล่นกีต้าร์แต่งเพลงกันที่อินเดีย ระหว่างการไปออกค่ายวิปัสสนากับ Maharishi Yogi แม้แต่ริงโก้ สตาร์ ก็ยังมีเพลงมานำเสนอกับเขาด้วย (แต่เพลง Don't Pass Me By ของเขานั้น ริงโก้แต่งมาตั้งแต่ปี 1963 แล้ว) มีการถกเถียงกันไม่เลิกราตั้งแต่สมัยนู้นจนถึงทุกวันนี้ ว่าถ้าพวกเขาเลือกเฉพาะเพลงเด็ดๆซัก 14-15 เพลงมาทำเป็น single LP มันจะเป็นงานที่สมบูรณ์แบบกว่า White Album ในแบบที่เรารู้จักกันนี้ไหม ซึ่งโปรดิวเซอร์ จอร์จ มาร์ติน ดูเหมือนจะยืนอยู่ในฝั่งความเห็นนี้ แต่ พอล แมคคาร์ทนีย์ ไม่คิดเช่นนั้น เขาเคยหล่นวาทะดุดันใส่หน้าคนที่มาถามคำถามแบบนี้ว่า "มันคือไวท์อัลบั้มของบีทเทิลส์โว้ย หุบปากซะ!" (แปลว่า มันเป็นอย่างนี้น่ะดีแล้ว หยุดจินตนาการได้ซะที) แต่, เชื่อผมสิ, ไม่มีแฟนบีทเทิลส์คนไหน ไม่แอบลองจัดเพลงแบบ "แผ่นเดียว" ไว้ในใจหรอก (แล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ง่าย)
ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็น double album เพราะเพื่อสนองความเป็น concept album น่าจะใช้ไม่ได้กับ White Album เพราะถ้าจะมีอัลบั้มไหนที่ไม่มีคอนเซพท์อะไรเลย แต่ละเพลงไปคนละทิศละทาง ก็คงจะต้องยกให้ White Album นี่แหละ แต่ก็อาจจะมีคนแถว่า นี่ไง คอนเซพท์ -- ความหลากหลายไร้กฎเกณฑ์ใดๆ... ก็ว่ากันไป
The Beatles ควรจะถึงจุดพีคในการสร้างสรรค์ผลงานจากสตูดิโอแล้วด้วยอัลบั้ม Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band ในปี 1967 มันเป็นงานหยุดโลกที่ยากเหลือเกินที่พวกเขาจะเอาชนะตัวเองได้ และใน EP + soundtrack ต่อมา Magical Mystery Tour มันก็มีสัญญาณจริงๆว่าพวกเขากำลังอยู่ในขาลง และมีการย่ำรอยตัวเอง ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นกับ The Beatles ตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกคือการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของผู้จัดการวง ไบรอัน เอ็บสไตน์ สี่เต่าทองผู้แทบไม่เคยจับงานบริหารหรือธุรกิจเลย ถึงกับเคว้ง
โชคดีที่ The Beatles ไม่คิดจะทำตัวเป็น Sgt. Pepper... Band อีกครั้ง พวกเขาหันหลังให้กับไซคีดีลิคร็อคอันซับซ้อนโดยสิ้นเชิง 30 เพลงใน White Album คือความหลากหลาย ความสดใหม่ บางเพลงย้อนไปหารากเหง้าของแต่ละสมาชิก บางเพลงคือการเดินทางไปสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีใครย่างกราย มันไม่ใช่ 30 เพลงที่เลอเลิศไปทั้งหมด แต่เมื่อได้รับการจัดเรียงอย่างชาญฉลาด มันได้กลายเป็นเซ็ตเพลงที่ทรงพลังอย่างยิ่ง มันยากเหลือเกินที่คุณจะไม่ชอบสักเพลงในอัลบั้มแผ่นคู่นี้ และมันก็ไม่ง่ายเช่นกันที่คุณจะรักมันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม, คุณต้องทึ่งในความสุดขั้วของมันเมื่อฟังมันจบ, ครั้งแล้วครั้งเล่า
ถ้าใครถามว่า The Beatles เล่นดนตรีแนวไหน โยนอัลบั้มคู่ชุดนี้ให้เขาฟัง แล้วสำทับไปว่า ก็ได้เกือบจะทุกแนวแหละ และยังมีแนวที่นายอาจจะไม่คิดว่าเป็นแนวอีกด้วยนะ!
ถ้า Rubber Soul คือสาวหวานขี้เล่น, Revolver คือหญิงเปรี้ยวฉลาดเฉลียวชอบลองของ, Sgt. Pepper ย่อมเป็นสตรีระดับผู้บริหาร และ Abbey Road คือรุ่นใหญ่ระดับนายกรัฐมนตรีหญิง แล้ว White Album ควรจะเป็นอะไรดี? จากความหลากหลายและหวือหวาสุดขั้วของ 30 เพลงในนี้ วินิจฉัยว่าเธอน่าจะเป็นคนป่วยบุคลิกหลายแบบ (Multiple Personality Disorder) เป็นแน่แท้ คุณพร้อมจะรับมือกับเธอไหม?
วันหนึ่งเธออาจจะคึกคักเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ดั่งใน Back In The USSR , วันต่อมาหวานแหววเรียบร้อยประหนึ่งใน I Will, เซ็กซี่สุดจะคาดเดาเช่นใน Happiness Is A Warm Gun, โรแมนติกลึกล้ำเยี่ยง While My Guitar Gently Weeps, เป็นสาวปาร์ตี้เหมือนใน Birthday หรืออาจจะล่องลอยเพ้อเจ้อ แต่น่าดึงดูดอย่างน่าประหลาด เช่นในความอวองการ์ดของ Revolution 9..... หรือเธออาจจะเป็นทุกอย่างในนี้ในวันเดียว...ก็เป็นได้
และถ้าใครคิดว่า double album มันมากเกินไปสำหรับการฟัง ในปี 2018 นี้ The Beatles เพิ่งออก Super Deluxe Edition ในโอกาสฉลองครบ 50 ปีของอัลบั้มนี้ ด้วยจำนวนเพลงทั้งหมดที่กินความในซีดีได้หกแผ่น, original album ในแบบรีมิกซ์ใหม่ สองแผ่น (โดยรวมเสียงดีมาก) , Esher Demos ที่กึ่งๆจะเป็น Beatles Unplugged ที่พวกเขาซ้อมเพลงใหม่ๆเหล่านี้กันที่บ้านของจอร์จ แฮริสัน ก่อนที่จะเข้าห้องอัดกันจริงจัง, และอีกสามแผ่นที่เป็นเพลงจาก sessions การบันทึกเสียงที่ไม่ได้นำไปใช้จริงในอัลบั้ม (แต่มันไม่ใช่ของเหลือเดนที่ถูกคัดออกแต่อย่างใด จะฟังเพื่อการศึกษาหรือความบันเทิงก็ได้อรรถรสนัก หลายเทคฟังแล้วเฮฮามาก จนคิดว่ามันจริงหรือที่ว่ากันว่าเซสชั่นส์นี้มันเครียดกันเหลือเกิน ) คงจะไม่ต้องเถียงกันอีกแล้วว่าสองแผ่นมันมากหรือน้อยเกินไปกระมัง?

Wednesday, 25 July 2018

Lost & Found


A Great Debut



Jorja Smith : Lost & Found ***1/2

Released : June 2018
Producers:
Genre: R&B, Pop, Trip-Hop, Neo-Soul
Tracklist:  Lost & Found, Teenage Fantasy, Where Did I Go?. February 3rd, On Your Own, The One, Wandering Romance, Blue Lights, Lifeboats (Freestyle), Goodbyes, Tomorrow, Don’t Watch Me Cry

------------------
งานเปิดตัวของสาวน้อยวัย 21 ปีที่วงการจับตามอง และ Lost & Found ก็ไม่ทำให้สายตาทุกคู่ที่จับจ้องนั้นผิดหวัง

ยังจำครั้งแรกที่คุณได้ฟังงานเปิดตัวของสตรีเหล่านี้ได้ไหม

ป๊อบแจ๊สหรูหรา....Sade กับ Diamond Life

คนอะไรสวย เสียงดี แล้วยังเล่นเปียโนพลิ้วราวกับสายคลาสสิก..... Alicia Keys กับ Songs In A Minor

ชื่อชุดถ่อมตัวว่าไร้การศึกษา แต่ความจริงคือชุดแรกนี้ก็บรรลุแล้ว.... Lauryn Hill กับ The Miseducation of Lauryn Hill

เพลงเรียบๆที่แสนทรงเสน่ห์.... Dido กับ No Angel

ความแจ๊สซี่อันแสบสันต์และก๋ากั่น......Frank ของ Amy Winehouse

หรือ 19 ของ Adele กับเสียงร้องแห่งทศวรรษของสาวร่างใหญ่หน้าสวยคนนี้.....

ก่อนหน้าที่จะได้ฟัง debut เหล่านั้น คุณอาจได้เคยฟังเพลงของพวกเธอมาบ้าง หรืออาจจะเคยแค่ได้ยินชื่อเสียง แต่คุณไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลยว่างานเปิดตัวของพวกเธอจะยอดเยี่ยมขนาดนั้น และคุณมั่นใจว่านี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของตำนานศิลปินหญิงคนใหม่ ที่จะฝากผลงานดีๆไว้อีกมากมาย ดีขึ้นไปกว่านี้อีก

แต่ที่สุดแล้วหนทางของแต่ละสาว ก็ไม่ได้เหมือนกัน และคงยากที่จะเป็นไปตามที่ใครคาดเดา แม้แต่พวกเธอเอง

Sade ยังคงมีผลงานออกมาเรื่อยๆ แต่ทิ้งช่วงห่างแต่ละชุดเป็น 10 ปี คล้ายๆกับ Dido (รายหลังไม่ทิ้งห่างนานเท่า) ทั้งคู่รักษาคุณภาพของผลงาน แม้จะไม่ค่อยเห็นพัฒนาการอะไรสักเท่าไหร่ แต่แฟนๆก็ต้อนรับกันเป็นอย่างดีทุกชุดด้วยความโหยหา

Alicia Keys น่าแปลกที่เธอไม่เคยดังถึงขีดสุด ทั้งๆที่ดูเธอจะพร้อมทุกอย่าง ….too perfect?

Lauryn Hill อาการหนักสุด หลังจากงานชุดแรกในปี 1999 เธอก็ไม่สามารถออก studio album ชุดที่สองตามมาจนทุกวันนี้ ด้วยปัญหาชีวิตที่มากมายและซับซ้อน แต่ทุกวันนี้ แฟนๆก็ยังไม่เลิกรองานชุดใหม่ของเธอนะ

Amy Winehouse ก้าวถึงจุดสูงสุดในอัลบั้มต่อมา Back To Black ก่อนที่, อย่างที่เรารู้กันดี, เธอจากโลกไปแล้วจากการถล่มตัวเองด้วยสุราและยาเสพติดที่หนักหนาเกินกว่าชีวิตจะรับได้ น่าเสียดายในอัจฉริยภาพยิ่งนัก

ส่วน Adele ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในอีกสองอัลบั้มที่ล้วนแล้วแต่ตั้งชื่อตามอายุของเธอขณะบันทึกเสียง-- 21 และ 25 แต่ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าเธอจะออกอัลบั้มใหม่อีกเมื่อไหร่ หรือจะมีอีกไหมด้วยซ้ำไป เธอ “ติสต์” ขนาดนั้น

และในปีนี้ ความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นกับอัลบั้มแรกของ Jorja Smith  ศิลปินหญิงชาวอังกฤษวัยเพียง 21 ปีคนนี้ ไม่เคยมี debut album ของ female artist ที่น่าตื่นเต้นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว

และ Lost & Found ก็มีจิตวิญญาณบางส่วนจากทุกอัลบั้มด้านบนที่กล่าวมาอย่างไม่น่าเชื่อ

มันมีความป๊อบติดหูทันทีแต่ไม่เบื่อง่ายของ Sade, ความมั่นใจเหลือล้นในน้ำเสียงในแบบของ Amy Winehouse, อารมณ์หวั่นไหวแต่ทระนงของ Adele, ความพลิ้วในเมโลดี้ในแบบ Alicia Keys, จังหวะจะโคนในการแบ่งวรรคตอนและบีทหนึบๆของ Dido, และความ”เฉียบ” และเร็กเก้ในวิญญาณของ Lauryn Hill

Jorja Smith  ไม่ได้จู่ๆโผล่มาจากมุมมืดด้วย Lost & Found แต่อย่างใด เธอเริ่มสร้างชื่อเสียงมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2016 เมื่อเธอ upload เพลง “Blue Lights” ขึ้นเว็บไซต์ soundcloud ตอนนั้นเธออายุแค่ 18 ตามมาด้วยเพลง “A Prince” และ “Where Did I Go?” ก่อนจะออก EP 4 แทร็ค “Project 11” ปิดท้ายปี 2016 เพลงของเธอโดนใจแรปเปอร์ชื่อดัง Drake และชวนเธอไปออกคอนเสิร์ตด้วยที่เบอร์มิงแฮมและลอนดอน

เข้าปี 2017 Jorja เริ่มกระฉ่อน (น่าจะเป็นเพราะหน้าตาอันน่ารักสะสวยเป็นส่วนประกอบด้วย) ขึ้นหน้าปกนิตยสารหลายฉบับและได้รับการยกย่องจากสื่อให้เป็นศิลปินดาวรุ่งพุ่งแรง รางวัลใหญ่ที่สุดน่าจะเป็น Brit Critic’s Choice Award ในเดือนมกราคม 2018 ซึ่งเป็นรางวัลที่คนในวงการดนตรีอังกฤษคัดเลือกให้ศิลปินหน้าใหม่ที่พวกเขาคิดว่ายอดเยี่ยมที่สุดในปีนั้น (Sam Smith, James Bay และ Adele เคยได้รับรางวัลนี้มาก่อน)

Jorja ยังได้ไปร้องในสองเพลงของอัลบั้ม More Life ของ Drake และในซาวด์แทร็คภาพยนตร์ดังระเบิดของ Marvel:  Black Panther (เพลง “I Am”) อีกด้วย ใครๆก็คงจะคาดได้ว่า มันมีปัญหาเพียงแค่เมื่อไหร่เท่านั้น เราถึงจะได้ฟังอัลบั้มเต็มของ Jorja Smith

และเวลานั้นคือเดือนมิถุนายน 2018

Lost & Found มีภาพปกเป็นภาพระยะใกล้ของหน้าสวยหวานของเจ้าของอัลบั้ม และเล่นกับความเก่าแบบปกแผ่นเสียงที่ความถลอกปอกเปิกของขอบในของปก ตีความได้ถึงความเป็นงานที่แสดงตัวตนของ Jorja และความผูกพันกับดนตรีเก่าๆที่เธอเติบโตขึ้นมา

ในวัยเยาว์ เธอถูกป้อนอาหารทางดนตรีด้วยการเฝ้าฟังบ็อกเช็ตของ Trojan Records, งานของ Curtis Mayfield และ Damien Marley จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะได้ยินเสียงเหล่านี้ในน้ำเสียงของ Jorja โดยเฉพาะความหวานแบบ Marley ในลูกคอนั้น

ผมพูดถึงศิลปินอื่นๆเสียมากมายที่มีอิทธิพลและความเหมือนกับ Jorja Smith จนอาจทำให้คุณเข้าใจไปว่า เธอเป็นนักก็อปที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ตรงกันข้าม อิทธิพลเหล่านั้นกลับหล่อหลอมอย่างเนียนและเป็นธรรมชาติมาเป็นเพลง 12 เพลงใน Lost & Found มันเป็นเพลงในแบบของเธออย่างเต็มตัว (Jorja มีส่วนร่วมประพันธ์ในทุกเพลง)

ทั้ง 12 เพลงมีแต่เพลงจังหวะช้าถึงปานกลาง บีทแบบทริปฮอป (ลืมดนตรีแนวนี้กันไปแล้วหรือยัง?)และฮิปฮอป เมโลดี้สวยงาม โดดเด่นที่สุดก็ไม่พ้นเสียงร้องของเธอ ในวัยเยาว์ Jorja เคยได้รับการเทรนในการร้องแบบเพลงคลาสสิกมาก่อน หลายท่อนในอัลบั้มเธอแสดงให้เห็นเรนจ์ในการร้องอันน่าสะพรึง แต่ดูเหมือนเธอจะสงวนความสามารถนี้เอาไว้ ไม่ได้แสดงออกพร่ำเพรื่อ  มีบางเพลงเป็นเพลงเก่าที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ดูกลมกลืนกับเพลงอื่นๆดี

นอกจาก Blue Lights และ Lifeboat อันมีเนื้อหาสะท้อนสังคมแวดล้อมรอบๆตัวเธอ เพลงที่เหลือเป็นเพลงรักทั้งสิ้น ซึ่งก็ดูเหมาะดีกับผู้หญิงวัยแค่นี้ แต่เพลงรักของเธอไม่ใช่เพลงรักหวานแหววเลี่ยนๆอันดาษดื่น ทั้งหมดเต็มไปด้วยมุมมองอันเติบโตและชวนคิด บทจะหวานเศร้าก็ทำอย่างมีชั้นเชิง หลายเพลงสามารถดึงเนื้อร้องบางท่อนเอาไป quote ทำ meme หรือลง status ได้สบายๆ

เพลงแนะนำที่จะทำให้คุณติดใจได้ในทันที  Lost &  Found (มีความเป็น Lauryn Hill สูง เลิศอลังการสมเป็นไทเทิลแทร็ค) , Teenage Fantasy (ป๊อบ,ติดหู และขี้เล่นที่สุดในชุด) , The One (ซึ้งที่สุด หวานที่สุด)  และสามเพลงสุดท้าย Goodbyes, Tomorrow, Don’t Watch Me Cry ที่ดูจะพร้อมเป็นเพลงปิดอัลบั้มพอๆกันทั้งสามเพลง โดยเฉพาะเพลงสุดท้าย เธอทำเพลงในสไตล์ Adele ได้ถึงใจมากมาย (เกือบดีเท่า Someone Like You ที่ผมถือเป็นไม้วัดอันสูงส่งของเพลงสาวอกหักยุคใหม่) อาจจะมองว่ามันเป็น trilogy เล็กๆท้ายอัลบั้มก็ได้

ไม่ให้ถึงสี่ดาว เพราะโทนเพลงอาจจะคล้ายกันไปหน่อย และฝีมือการแต่งเพลงของเธอยังไล่ไม่ทัน performance ที่แทบจะไร้ที่ติ เชื่อว่าในอนาคตสองสิ่งนี้น่าจะไล่กันทัน

ถ้าคุณชอบชื่อศิลปินหญิงเพียงแค่คนใดคนหนึ่งที่พบในบทความนี้ Lost & Found คืองานที่คุณต้องฟังครับ และถึงตรงนี้แม้จะอยากบอกแค่ไหนว่าเธอน่าจะมีอนาคตทางดนตรีอันสดใส เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงศิลปินหญิงคนอื่นๆที่กล่าวมาด้านบน ก็คงบอกได้แค่ เราคงต้องเฝ้าดูกันต่อไป..... ไม่คาดหวัง แต่เฝ้ารอ.....

Wednesday, 28 February 2018

ข่า-มี๊-ล่ะ



Camila Cabello :: Camila ***



Released : January 2018

Producers: Frank Dukes (also exec.) ,Jarami Skrillex, T-Minus, Bart Schoudel ,The Futuristics, SickDrumz and  Jesse Shatkin
Genre: Pop, Latin

Tracklist

Never Be The Same
All These Years
She Loves Control
Havana
Inside Out
Consequences
Real Friends
Something’s Gotta Give
In The Dark
Into It
Never Be The Same (Radio Edit)

Camila Cabello ยืนยันว่าถ้าจะออกเสียงชื่อเธอให้ได้รสชาติอย่างคิวบันจริงๆต้องแบบหัวเรื่องด้านบนนะครับ นี่คืออัลบั้มเดี่ยวชุดเปิดตัวของสาวน้อยลูกครึ่งคิวบัน-อเมริกันวัย 20 ปี อดีตสมาชิกวงเกิร์ลป๊อบ Fifth Harmony และถือเป็น debut ที่เธอทำได้ไม่เลวทีเดียว แม้จะยังขาดอะไรไปบ้างนิดหน่อยในการที่จะเป็นอัลบั้มระดับยอดเยี่ยม

วง Fifth Harmony แจ้งเกิดมาจากการที่พวกสาวๆเข้าประกวดใน X-Factor ในปี 2012 (และจบลงด้วยการคว้าอันดับ 3 มาครอง) ในการแข่งขันรอบหนึ่งที่พวกเธอเลือกเพลง We are never ever getting back together ของ Taylor Swift มาขับร้อง หนึ่งในคณะผู้ตัดสิน Demi Lovato สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศออกไมค์ว่า เธอเห็นว่าในห้าคนนี้ มีอยู่คนเดียวที่ส่องประกายเจิดจ้าออกมา (shine) และแม้จะอึกอักไม่ยอมบอกว่าใครคือสมาชิกคนนั้นในตอนแรก แต่สุดท้าย Demi ก็ชี้ไปที่สาวน้อยวัย 14 ปี (ในขณะนั้น) : Camila Cabello แถมเดมี่ยังกำชับลงไปอีกดอกว่า ฉันคิดว่าคนอื่นๆในวงน่าจะเรียนรู้อะไรจากเธอได้ บรรยากาศกระอักกระอ่วนพอสมควร แต่ คามีล่า ก็ไวพอที่จะตอบกลับไปว่า ฉันคิดว่าเราก็ส่องประกายกันทุกคน

แต่ความจริงก็คือความจริง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่เธออยู่ในวง ทุกคนรู้ดีว่าคามีล่า มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น ทั้งเสน่ห์ส่วนตัวอันร้อนแรง และพลังการขับร้องที่โดดเด่นแตกต่างจากสมาชิกที่เหลือทั้ง 4 (ไม่ได้หมายความว่าอีก 4 คนจะร้องไม่ดี แต่มันแทบไม่มีอะไรที่จะดึงดูดให้กล่าวขวัญ) ใครๆก็คงจะทำนายได้ไม่ยาก ว่าการออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวของคามีล่านั้น มันมีอยู่แค่คำถามเดียว เมื่อไหร่?

ก่อนจะออกอัลบั้มนี้ คามีล่าเปิดตัวกับงานนอกวงด้วยการไปร้องคู่กับ Shawn Mendes ในเพลง I Know What You Did Last Summer (2015) และไปร่วมงานกับแรปเปอร์ Machine Gun Kelly ในเพลง Bad Things ในปีต่อมา ตามด้วยการไป collaborate กับศิลปินอื่นๆอีกมากมาย เธอออกจาก Fifth Harmony อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2016 ท่ามกลางความไม่เซอร์ไพรซ์ของแฟนเพลง

ซิงเกิ้ลแรกของคามีล่าในปี 2017 “Crying In The Club” กลับไม่เปรี้ยงเท่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดีเธอวางแผนจะออกอัลบั้ม debut ในชื่อ The Hurting. The Healing. The Loving ในเดือนกันยายน แต่ทุกอย่างก็ถูกเลื่อนออกไป หลังจากความสำเร็จระบือโลกของซิงเกิ้ลที่สอง “Havana” (คาดว่าเธอเองก็ไม่คาดคิดว่ามันจะดังขนาดนั้น)

Havana เพลงที่มีผู้แต่งร่วมกันถึง 10 คน ครับ คุณอ่านไม่ผิด และผมก็พิมพ์ไม่ผิด 10 คน และสองใน 10 นั้นก็มีคามีล่า และฟาเรลล์ วิลเลี่ยมส์ร่วมอยู่ด้วย เป็นเพลงที่มีความพิเศษจริงๆ ไม่น่าแปลกใจที่มันจะดังไปทั่วโลก และติดอันดับ 1 บิลบอร์ดอยู่หลายสัปดาห์ จังหวะช้าโยก สัดส่วนของดนตรีคิวบัน (เสียงทรัมเป็ตนั่น) และป๊อบ/แร็ปที่กลมกล่อมลงตัว ใช้เสียงร้องของคามีล่าได้อย่างเปี่ยมประโยชน์ที่สุด มันเซ็กซี่ ติดหู ไพเราะ และทรงคุณค่า โดยส่วนตัวผมจัดให้มันเป็นเพลงป๊อบที่ประเสริฐสุดเพลงหนึ่งในปีที่ผ่านมา

ความสำเร็จของเพลงนี้ ทำให้คามีล่ามั่นใจในความเป็นตัวเธอเองมากขึ้น นั่นทำให้ชื่ออัลบั้มเปลี่ยนไปเป็น ‘Camila’ สั้นๆเท่านั้น รวมทั้งการโละเอาหลายๆเพลงออกจากแทร็คลิสต์ ซิงเกิ้ลที่ออกไปแล้วนอกจาก Havana ไม่ถูกนำมาเสนออีกครั้งในอัลบั้ม ที่มีความยาวเพียงแค่ 10 แทร็คนี้ (ไม่นับโบนัสแทร็ค ที่เป็น radio edit ของเพลง Never Be The Same)

แต่ร่องรอยของ The Hurting. The Healing. The Loving ก็ยังคงอยู่ในชื่อเพลงหลายๆเพลง และคำร้อง ผู้ฟังคงอดคิดกันไม่ได้หรอกว่า นี่คือบันทึกห้วงหนึ่งของชีวิตที่เธอจารึกความรู้สึกของการต้องพลัดพรากจากวงดนตรีวงแรกของเธอ กับทางเดินใหม่ที่.... คงไม่มีทางเหมือนเดิม (Never Be The Same) และเธอคงจะจดจำขวบปีเหล่านั้นไปตลอด (All These Years) การเป็นศิลปินเดี่ยว น่าจะเป็นหนทางที่สาวคนนี้จะทำอะไรได้ตามฝันของตัวเองได้มากกว่าเดิม (She Loves Control) เธออาจจะยังโหยหาว่าในวงการนี้จะหาเพื่อนแท้ได้ไหมนะ (Real Friends) แต่ก็นั่นแหละ ทุกอย่างมีได้ก็ต้องมีเสีย (Something’s Gotta Give) คือถ้าจะคิดมากจริงๆ ก็ดูเหมือนจะโยงไปเกี่ยวกับเรื่องการแยกทางกับ Fifth Harmony ได้เกือบทุกเพลง แต่ผมอาจจะคิดมากไปเองก็ได้มั้ง

ดูจะเริ่มเป็นเทรนด์พอสมควร กับการทำอัลบั้มความยาวสั้นๆ มีเพลงไม่กี่เพลง (ยุคสมัยของการทำเพลงเกือบ 80 นาที ให้เต็มซีดีมันผ่านไปแล้ว) แต่ต้องเป็นเพลงหัวกะทิ ไร้ฟิลเลอร์ Camila ก็มาในแนวนั้น ขาดเพียงแต่ว่า มันยังไม่ใช่หัวกะทิทุกเพลงจริงๆ และมีบางเพลงที่เรียกได้เต็มปากว่า filler อย่าง In The Dark

ความสุดยอดของ Havana ทำให้เพลงอื่นๆหมองไป เพราะฟังยังไงก็ไม่มีแทร็คไหนที่มีคุณภาพใกล้เคียง สุ้มเสียงชอง “Camila” เป็นเพลงป๊อบกระจ่างๆ มีความเป็นอคูสติกและริธึ่มในแบบของ Ed Sheeran และเมื่อมีจังหวะ กลิ่นอายของละตินมิวสิกก็จะโชยเข้ามาเสมอ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีงาม เพราะมันเป็นลีลาดนตรีที่น้ำเสียงของคามีล่าโดดเด่นจริงๆ

เพลงช้าดูจะเยอะไปเสียหน่อย นอกเหนือจาก Havana ก็มีเพียง She Loves Control และ Inside Out เท่านั้นที่ชวนขยับแข้งขยับขาจริงๆ แต่ในความเยอะไปหน่อยของเพลงช้านั้นก็มีเพลงไพเราะมากๆอย่าง Real Friends และ Consequences ที่น่าประทับใจแต่แรกฟัง ผมชอบมากกว่าเพลงเปิดหัวสองเพลงนั่น ที่ดูจะเกร็งและกดดันไปสักนิด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยอดเยี่ยมทั้งหมดก็ยังอยู่ที่เสียงร้องของคามีล่า มันเป็นการร้องเพลงที่ดรามาติก พลิ้ว และรัญจวนใจ แบบที่เราจะฟังได้เต็มอิ่ม ไม่ต้องรอเธอโผล่มานิดๆหน่อยเหมือนใน Fifth Harmony

น่าเสียดายครับ เป็นงานที่เกือบจะดี แต่ก็จบแค่พอใช้ได้เท่านั้น สัดส่วนเพลงดูจะไม่ถูกต้อง (ธรรมชาติของนักร้องละตินวัยรุ่นอย่างเธอ ไม่ควรจะทำเพลงช้ามากมาย) และน่าจะเอาซิงเกิ้ลเก่าๆมาใส่จะดูดีกว่าใส่เพลงแถมที่ซ้ำเดิม สรุปว่าเป็นงานป๊อบที่ฟังได้เพลินๆ และน่าจะถูกลืมไปได้ง่ายๆก่อนสิ้นปี อ้อ แต่เสียงจากนักวิจารณ์เมืองนอกค่อนข้างจะชมนะครับ คามีล่ายังมีเวลาอีกยาวไกลมากในเส้นทางนี้ รอดูงานชิ้นต่อไปของเธอครับ



Thursday, 1 February 2018

พ่อมดเพลงป๊อบ


Bruno Mars :: 24K Magic ****
Released : November 2016
Genre : Pop Soul R&B Funk
Producers: Shampoo Press & Curl (also exec.) The Stereotypes Emile Haynie Jeff Bhasker

Tracklist:

28 มกราคมที่ผ่านมา อัลบั้มชุดที่สามของบรูโน มาร์ส, ศิลปินหนุ่มอเมริกันวัย 32 ปี,ชุดนี้คือพระเอกตัวจริงของการแจกรางวัลแกรมมี่ประจำปี 2018 เฉพาะตัวอัลบั้ม มันได้ไปสามรางวัล, Best Engineered Album (ที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิก), อัลบั้ม R&B ยอดเยี่ยม และ รางวัลใหญ่ อัลบั้มแห่งปี นอกเหนือจากนั้น That’s What I Like แทร็คหนึ่งในอัลบั้มนี้ยังกวาดไปอีกสามรางวัล- เพลงแห่งปี, เพลง R&B ยอดเยี่ยม และ Best R&B performance ยังไม่หมด เพลง 24K Magic ยังได้รับรางวัลเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมอีกด้วย (Record of the year)   แกรมมี่ก็มักจะเป็นอย่างนี้ หลายปีที่จะมีศิลปินหอบรางวัลกลับบ้านเต็มอ้อมกอดอยู่คนเดียว

นั่นทำให้เราต้องมาพูดถึงอัลบั้มนี้กันสักหน่อย แม้มันจะออกมาตั้งแต่ปลายปี 2016 นู่น

บรูโน สร้างชื่อมาตั้งแต่สองชุดแรกของเขา Doo-Wops and Hooligans (2010) และ Unorthodox Jukebox (2012) แล้ว ว่าเป็นคนหนุ่มที่ทำเพลงป๊อบได้หลากหลาย ลากแนวทางเก่าๆของศิลปินอื่นมาเป็นของตัวเองได้อย่างแนบเนียน เป็นหนึ่งในศิลปินไม่กี่คนที่มีแววจะเป็น King of Pop คนต่อไปได้ บรูโนทิ้งช่วงหลังจากอัลบั้มก่อนถึงสี่ปี แต่ก็มีซิงเกิ้ลเขย่าโลกอย่าง Uptown Funk ในปี 2014 ที่เขาไป feat. ในตำแหน่งนักร้องนำในเพลงของ Mark Ronson ออกมาก่อนหน้านี้ ความดังถล่มทลายของมันอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ 24k Magic กลายเป็นงานที่เน้นความย้อนยุคแห่งดนตรีป๊อบผิวสียุค 90’s กันอย่างเต็มตัว แนวเร็กเก้ที่ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในเพลงของเขา-หายไป

ด้วยความยาวเพียงแค่เลยครึ่งชั่วโมงมานิดๆ และจำนวนเพลงเพียงเก้าเพลง ไม่มีแขกรับเชิญ (และยังไม่มีการทำ deluxe edition เพิ่ม extra tracks อย่างที่ใครๆเขานิยมทำกัน) นี่จึงเป็นอัลบั้มที่เน้นเนื้อล้วนๆ ไร้ไขมันส่วนเกิน บรูโนกล่าวไว้ว่า “ถ้าผมเอาคุณไม่อยู่ในเก้าเพลง ต่อให้เพิ่มเป็นสิบสามเพลงผมก็เอาคุณไม่อยู่อยู่ดี” น่าแปลกที่กลับไม่รู้สึกว่ามันสั้นเกินไปแต่อย่างใด เป็นไปได้ว่าความรู้สึกว่าต้องฟังอัลบั้มยาวๆ 50-70 กว่านาทีในยุคซีดีนั้นเริ่มเฟดหายไปแล้ว ผู้ฟังส่วนใหญ่สมาธิสั้นลง และฟังเพลงจากการสตรีมมิ่งกันเสียมากกว่า มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์อัลบั้มที่มีความยาวระดับคอมแพ็คแบบนี้ก็เป็นได้ ไม่ต้องมี fillers จัดแต่เพลงที่คุณคิดว่าเยี่ยมจริงๆมานำเสนอกันเลย อย่าให้คนฟังเสียเวลา

การเขียนเพลงของบรูโน ค่อนข้างจะยึดสูตรสำเร็จของเพลงป๊อบอย่างเคร่งครัด ท่อนเวิร์ส คอรัส พรีคอรัส บริดจ์ มาครบทุกเพลง เนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆใคร่ๆ และความหื่นกระหายในกามคุณของคนหนุ่มกลัดมัน บรูโนยังมีปัญหาในเรื่องการค้นหาสุ้มเสียงของตัวเองอยู่ แม้เขาจะทำเพลงออกมาได้ยอดเยี่ยมเกือบทุกเพลง แต่ทุกเพลงนั้นคนฟังก็พาลคิดไปถึงศิลปินรุ่นพี่คนนู้นคนนี้กันได้เสมอ

เมื่อเราฟัง Perm เราได้ยิน James Brown (ก็มันฟังค์เต็มเหนี่ยวซะอย่างนั้น)

เมื่อเราฟัง That’s What I Like นั่นทำให้นึกถึง Jodeci (หลายคนส่ายหัวกับรางวัลมากมายที่เพลงนี้ได้จากแกรมมี่ แต่เพลงแบบนี้ล่ะครับ ที่คนอเมริกันชอบ)

ในเพลงสุดเซ็กซี่ Versace On The Floor มีคนกระซิบว่าเหมือนนักร้องโซลบัลลาด Freddie Jackson
และไม่แปลกที่คุณจะเห็นหน้าของ Babyface ลอยมา เมื่อฟังไปถึง killer ballad แทร็คสุดท้าย -  Too Good To Say Goodbye ก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะเบบี้เฟซเองมาร่วมแต่งเพลงนี้ด้วย หลังจากมาร์สทำมันไม่เสร็จ ค้างคาอยู่หลายปี แทร็คนี้ผมชอบที่สุดในอัลบั้ม แม้มันจะโคตรที่จะสูตรสำเร็จ แต่ก็เป็นสูตรสำเร็จที่ทำได้ถึงและได้ใจยิ่งนัก

และเพลงอื่นๆอีก ที่ฝากคุณไปหลับตานึกกันเอง

แต่ยังไม่มีเพลงไหน ที่ทำให้เราบอกได้ว่า นี่ไง เพลงแบบบรูโน มาร์ส แท้ๆ

ที่น่าสนใจคือ แม้ 24k Magic จะเป็นงานป๊อบที่อัดแน่นด้วยพลัง และดนตรีที่แทบไม่มีที่ติทุกกระเบียด แต่สิ่งที่หายไปอย่างน่าสงสัยคือ ความ hook หรือ catchy ในท่วงทำนอง อันปกติจะเป็นจุดแข็งในเพลงของบรูโน นอกเหนือจากแทร็คสุดท้ายแล้ว ก็แทบไม่มีเมโลดี้ที่น่าจดจำเอาเสียเลย (ไม่ใช่ไม่ไพเราะเลยนะครับ อย่าเข้าใจผิด) แอบคิดเข้าข้างว่าอาจจะเป็นความจงใจอะไรบางอย่างของแก

การบันทึกเสียงในชุดนี้ดีมาก ทั้งไดนามิก ดีเทล และการแยกชิ้นดนตรี ผิดวิสัยเพลงป๊อบแนวนี้ที่มักจะคอมเพรสและเสียงดังกันจนล้น คงต้องชมเชยทีมงานบันทึกเสียงทุกคน โดยเฉพาะ Charles Moniz ในตำแหน่งเอ็นจิเนียร์ และ Tom Coyne มาสเตอริ่งมือฉมัง (ผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างน่าเสียดาย) สมควรอย่างยิ่งกับรางวัลแกรมมี่สาขาการบันทึกเสียงครับ

ส่วนรางวัลอื่นๆที่บรูโนได้จากแกรมมี่ ไม่มีความเห็นนะครับ เพราะไม่ได้ฟังงานอื่นๆในปีนี้มากพอทีจะมาเปรียบเทียบ แต่ที่น่าเสียดายคือ ในฐานะของผู้นำเพลงป๊อบในปัจจุบัน บรูโน น่าจะสร้างอะไรที่แปลกใหม่ให้วงการได้มากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ได้ฟังใน 24K Magic แม้ในทุกบทเพลงมันจะเนี้ยบไปเสียทุกโน้ต แต่โดยรวม ทั้งหมดก็คือเหล้าเก่าเอามาเล่าใหม่ และเพลย์เซฟมากๆ

มาถึงคำถามสำคัญ บรูโน ยิ่งใหญ่พอจะเทียบกับ ไมเคิล แจ็คสัน ในฐานะราชาเพลงป๊อบหรือยัง


 คำตอบของผมคือ ขอฟังอัลบั้มหน้าอีกสักชุดครับ