Thursday, 26 February 2009

The Beatles LOVE เหล้าเก่า-ชงใหม่





ผมไม่ทราบชัดว่าทำไมจอร์จ มาร์ตินที่ประกาศแขวนสตั๊ด..เอ๊ย หูฟังไปแล้วถึงยอมกลับมารับงานนี้อีก เพราะมันเป็นการเสี่ยงไม่น้อยที่ท่านเซอร์จะเอาชื่อมาทิ้งตอนแก่ -กับงานรีมิกซ์ตัดต่อเพลงเก่าของ Beatles เพื่อประกอบโชว์มิวสิคัลกึ่งกายกรรมในลาสเวกัส!

อาจจะเป็นเพราะจอร์จต้องการให้ LOVE เป็นบันไดส่งลูกชายของเขา ไกลส์ มาร์ติน (ที่เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมในอัลบั้มนี้)เข้าสู่วงการให้เป็นที่ยอมรับ หรืออาจเป็นเพราะจอร์จคิดว่างานของเขายังไม่จบ เขาอาจอยากจะฝากชื่อไว้อีกครั้งก่อนตายในอัลบั้มใหม่ของสี่เต่าทองมากกว่างาน In My Life ของเขาเอง

อีกข้อหนึ่งที่มาร์ตินอาจจะค้างใจอยู่ คือเขารู้สึกเสียใจที่ในยุค Beatles เขาให้ความสำคัญแก่จอร์จ แฮริสันน้อยเกินไป ใน LOVE จอร์จได้ไถ่บาปนี้แล้ว เขาได้ทำให้ดนตรีของแฮริสันเจิดจรัสไม่น้อยไปกว่าเพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ (เท่าไหร่)ในที่สุด เพลงเอก Something และ Here Comes The Sun ถูกเรียบเรียงและวางโพสิชัน(ลำดับเพลง) อย่างโดดเด่น รวมทั้งการเขียนสกอร์เครื่องสายในเวอร์ชั่นเดโมของ While My Guitar Gently Weeps ที่มาร์ตินยืนยันว่านี่คงเป็นงานสกอร์ครั้งสุดท้ายที่เขาจะทำให้Beatles ลีลาสกอร์ของมาร์ตินในเพลงนี้ยังยอดเหมือนเคย-มีคลาส,เศร้า และไม่น้ำเน่า (แต่น้ำตาไหลครับ)

ถ้างานนี้เซอร์จอร์จจะทำเพื่อเป็นป๋าดัน ก็ต้องบอกว่าบรรลุ Love ทำให้โลกยอมรับว่าไกลส์ มาร์ติน มีหู,เทสต์ และฝีมือทางดิจิตัลที่เฉียบคม จะมีใครคิดได้ว่าเพลงแขกอ้อยสร้อย Within You Without You จะสามารถเซิร์ฟไปได้อย่างสง่างามบนยอดคลื่นจังหวะเชี่ยวกราดของ Tomorrow Never Knows ท่ามกลางเสียงเจี้ยวจ้าวของเทปลูปที่เปิดถอยหลังพวกนั้น? ใครจะไปทราบว่าเมื่อเอาเสียงโซโลกลองของริงโกจาก The End มาเป็นอินโทรให้ Get Back แล้วจะร้อนเร้าใจขนาดนั้น? และเมื่อเขาจะทำ medley สนุกๆแบบ Stars On 45 ใน Drive My Car/The Word/What You’re Doing ก็ต้องยอมรับว่า Beatles ทำได้ดีกว่าวงดิสโก้จากฮอลแลนด์นั่นเสียอีก(ฮา) งาน mash-up พวกนี้ถ้าจะว่าไปเด็กที่เก่งคอมหน่อยก็ทำได้ถมไป งานนี้วัดกันที่ไอเดียและเทสต์ รายละเอียดที่ว่าเพลงไหนมีอะไรบ้างความจริงไม่อยากเล่ามาก(กว่านี้) ความสนุกอยู่ที่ความเซอร์ไพรซ์

นอกจากเรื่องความสร้างสรรค์ในการตัดต่อแล้วเรื่องคุณภาพเสียงก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง นี่เป็นครั้งแรกที่มีการรีมิกซ์งานของ Beatles อย่างจริงจัง และซีดีของสี่เต่าทองก็ไม่เคยเสียงดีเท่านี้มาก่อน ลองฟังกีต้าร์ดิบกร้านแต่สะอาดเคลียร์ใน Revolution เสียงกีต้าร์ของจอห์นและจอร์จที่เคยม้วนพันกันอยู่ถูกแยกออกสองแชนเนลหรือ I Am The Walrus ที่เสียงสารพัดเบียดกันเอี้ยดแทบทะลัก คุณภาพเสียงอันสุดๆของ LOVE ทำให้ครั่นหูอยากให้ทีมนี้รีมาสเตอร์งานทั้งหมดของ Beatles ออกมาซักพรุ่งนี้เช้า

Love ยังเป็นซีดีแผ่นแรกที่คุณควรหยิบยื่นให้เด็กๆที่อยากลองฟัง Beatles ด้วย เพราะมันเป็นแผ่นเดียวที่รวบรวมความเป็นBeatles ไว้ได้หลากหลายที่สุด ไม่ใช่มีแต่เพลงฮิตหรือเพลงยุคใดยุคหนึ่งเพียงอย่างเดียว

LOVE คู่ควรแล้วกับการเป็นงานทิ้งทวน (Swan Song) ของอัครโปรดิวเซอร์—เซอร์ จอร์จ มาร์ติน (แต่ถ้าท่านยังว่าง....)

Rod Stewart-One Night Only พ่อแหบกับคอนเสิร์ตสบายๆ



DVD review
Rod Stewart
One Night Only! Rod Stewart Live At Royal Albert Hall





สามปีที่ผ่านมา ร็อด สจ๊วตทำแจ็คพ็อตแตกกับอัลบั้มรวมเพลงอมตะนิรันดร์กาล ‘The Great American Songbook’ ที่ตอนนี้ไปถึง Volume สามแล้ว และยังมีท่าทีจะมีต่อไปอีก ( Volume III ไปได้ถึงอันดับ1ในบิลบอร์ดด้วยซ้ำ) ดูจากชุดสูทสุดเนี้ยบบนปกและสถานที่ที่ร็อดเปิดการแสดงในดีวีดีชุดนี้ทำให้พาลคิดไปว่างานนี้คงได้ฟังเพลงแสตนดาร์ดกันเต็มเหยียดแน่ๆ แต่โชคดีครับ ร็อดคงทราบดีว่าถ้าเขาทำอย่างนั้นแฟนๆคงหลับกันคา Royal Albert Hall แหงๆ One Night Only! จึงออกมาเป็นโชว์รวมฮิตของร็อดขุดกันมาตั้งแต่เพลงเก่าสุดๆในยุคเซเวนตี้ส์ แขกรับเชิญอีกสองสามคนช่วยสร้างสีสันให้พองาม

One Night Only! เป็นดีวีดีที่ไม่มีความแหวกแนวสร้างสรรค์อะไรให้ท่าน แต่เหนืออื่นใดมันเป็นคอนเสิร์ตที่ดูสนุก! ร็อดในวัย 60 ปียังดูแข็งแรงใช้ได้ แม้จะเคลื่อนไหวน้อยลง แต่เสน่ห์และลีลาของเขายังกุมสายตาและหัวใจคนดูได้นิ่งสนิทในทุกวินาทีบนเวที นับตั้งแต่เพลงแรก ‘You Wear It Well’ จากอัลบั้มNever A Dull Moment (1972) คนดูก็ลุกขึ้นโยกย้ายส่ายสะโพกกันทั้งฮอลล์อย่างพร้อมเพรียง ร็อดดูผ่อนคลายและเป็นกันเองในชุดกางเกงยีนส์เสื้อกล้ามไนกี้คลุมด้วยเชิ้ตปลดกระดุมอีกที แค่เพลงที่สองเท่านั้นบรรยากาศของคอนเสิร์ทก็ peak ด้วยเพลง tribute ให้ Robert Palmer เพื่อนซี้คู่ดื่มของเขาที่เพิ่งจากไปก่อนการแสดงนี้ไม่นาน ร็อดเล่น ‘Some Guys Have All The Luck’ เมดเลย์ต่อด้วย funky masterpiece ของ Palmer-‘Addicted To Love’

ร็อคเบรกอารมณ์ด้วย ‘Handbags and Gladrags’ จาก Rod Stewart Album (1972) และต่อด้วย ‘Reason To Believe’ จากอัลบั้มสุดยอด Every Pictures Tell A Story (1971) ที่ผู้ชมทั้งฮอลล์เป็นคอรัสให้พ่อแหบโดยเขาไม่ต้องเสียสตางค์จ้าง, Ron Wood เพื่อนเก่าแก่โผล่ขึ้นมาเป็นแขกรับเชิญใน ‘Stay With Me’ (วู้ดทักทายสจ๊วตอย่างน่ารักด้วยการโดดถีบบั้นท้ายพ่อแหบ) โก๋แก่วู้ดสไลด์กีต้าร์ได้ไม่เสียยี่ห้อหินกลิ้งก่อนที่ร็อดจะเชิญเพื่อนกลับเข้าไปหลังเวที เพื่อที่จะโชว์ตัวแฟนสาวคนล่าสุด Penny Lancaster (สูง 6.1 ฟุต และแน่นอน, บลอนด์) ออกมาเดินพาเหรดปี่สก็อตใน ‘Rhythm Of My Heart’ ที่ก่อนเริ่มเพลงร็อดพูดเสียซาบซึ้งว่าอุทิศให้เหล่าทหารหาญ แต่พอแม่เพนนีออกมาดูเหมือนจะไม่มีใครคิดถึงเรื่องนั้นอีก

Hightlight ของการแสดงอยู่ที่ ‘Hot Legs’ Boogie-woogie Rock & Roll สุดมันส์จากปี 1977 ที่ร็อดและแบนด์ทุ่มเทพลังงานลงไปเต็มที่ ลีลาสวิงขาท่าเตะฟุตบอลของเขายังเจ๋งเหมือนเดิม ร็อดจบเซกชั่นแรกด้วย ‘You’re In My Heart’ ที่ผู้ชมร้องกันกระหึ่มราวกับเชียร์บอลเอฟเอคัพ

ร็อดกลับไปเปลี่ยนเป็นทักซิโด้ออกมาพร้อมกับนักดนตรีออเคสตร้าวงใหญ่ เขาร้องแค่ 5 เพลงจาก Great American Songbooks (แม้แต่ร็อดเองก็ยังกลัวผู้ชมจะหลับ) คริสซี่ ไฮนด์มา duet ด้วยในเพลงจาก Casablanca ‘As Time Goes By’

Ron Wood ออกมาร็อคอีกครั้งกับเพลงแจ้งเกิดของเขาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ‘Maggie May’ และคอนเสิร์ตก็จบลงด้วยเพลงดังที่สุดของเขา (อีกเพลง) ‘Sailing’

ถ้าคุณชอบร็อด สจ๊วตคุณต้องชอบ One Night Only! และถ้าคุณไม่เคยฟังหรือดูเขามาก่อน นี่เป็น Introduction ที่ดีมากๆครับ คุณภาพของภาพและเสียงอยู่ในระดับเยี่ยม

Paranoid Android แอนดรอยด์จิตผวา






มีเพลงร็อคจากยุค 90 ไม่กี่เพลงที่กลายมาเป็นเพลงโปรดตลอดกาลของผม และ Paranoid Android จากอัลบั้ม OK Computer ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมรักมันตั้งแต่แรกฟังครั้งแรกในปี 1997 (สมัยนั้นยังซื้อเทปอยู่)ความยิ่งใหญ่ของอัลบั้มนี้มันคล้ายๆกับตอนฟัง Dark Side Of The Moon ของ Pink Floyd เป็นครั้งแรกคือทราบว่ามันเจ๋ง และก็รู้ว่าคงต้องใช้เวลาศึกษาอีกนาน (จนตอนนี้เกือบสิบปีแล้วก็ยังศึกษาไม่ทั่วถึงครับ) ยุคนั้นอัลบั้มนี้ฮือฮากันจริงๆ แต่คงไม่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นงานขึ้นหิ้งระดับยอดเยี่ยมตลอดกาลอย่างที่ยกย่องกันในทุกวันนี้ แต่ Paranoid Android ไม่ใช่เพลงฟังยาก มันมีความ Catchy ติดหูง่ายอยู่ในความซับซ้อนของมัน ลักษณะการวางรูปแบบที่เหมือนเอาหลายๆเพลงมาต่อกันคล้ายๆกับที่ John Lennon ทำไว้ในปี 1968 กับเพลง Happiness Is A Warm Gun ในอัลบั้มThe Beatles (หรือชือเล่นที่รู้จักกันว่า White Album) คือแต่ละท่อนดูจะเป็นเอกเทศต่อกัน ไม่ได้ blend เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเหมือนเพลงที่มีหลาย part ทั่วๆไป ทอม ยอร์ค นักร้องนำมือกีต้าร์และนักแต่งเพลงของ Radiohead ได้ไอเดียในการแต่ Paranoid Android มาจากค่ำคืนหนึ่งที่เขาเข้าไปลุยบาร์ในแอลเอ แล้วถูกพวกปิศาจราตรีรุมทึ้ง เขาเก็บบรรยากาศและอารมณ์นั้นมาแต่งเพลงนี้ พวก Radiohead ซ้อมเพลงนี้อยู่หลายเดือน แต่กว่าทอมจะได้เนื้อเพลงที่สมบูรณ์ก็ล่วงเลยมาจนถึงตีห้ากว่าๆของเช้าวันหนึ่ง ทอมนอนไม่หลับเพราะมีเสียง(ในหัวเขา) ร้องเรียกที่ไม่ปล่อยให้เขาสงบ มันเป็นเสียงของผู้คนที่เขาได้พบในบาร์วันนั้น ท่อนโซโลอันยิ่งใหญ่จากฝีมือกีต้าร์ของ จอนนี่ กรีนวู้ดตอนท้ายเพลงนั้นแรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะเอามาใส่ในเพลงนี้ แต่พวกเขาต้องการอะไรบางอย่างเพื่อ "ปิด" ท้ายเพลง และบังเอิ๊ญบังเอิญที่ท่อนกีตาร์นี้ของจอนนี่มีคีย์และจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะ บางส่วนของการโซโล่นี้เป็นการเล่นถอยหลังซะด้วย ชื่อเพลงนี้ได้มาจากชื่อของตัวละครในหนังสือของ ดักลาส อดัมส์ 'The Hitchhiker's Guide To The Galaxy ตัวละครนั้นมีชื่อว่า Marvin The Paranoid Android Radiohead เล่น Paranoid Android ในคอนเสิร์ทช่วงปี1996 อยู่นานกว่าที่พวกเขาจะบันทึกเสียงกัน เมื่อพวกเขาเล่นเพลงนี้บนเวที โดยมากมักจะลากยาวกันถึง 15 นาที สถานีวิทยุจำนวนมากขอร้องให้วงออกเวอร์ชั่นสั้นๆสำหรับเปิดทางวิทยุ แต่ทางวงปฎิเสธที่จะทำให้
************************************************************************************
Please could you stop the noise, I'm trying to get some restFrom all the unborn chicken voices in my headWhat's this? (I may be paranoid, but not an android)What's this? (I may be paranoid, but not an android)When I am king, you will be first against the wallwith your opinion which is of no consequence at allWhat's this? (I may be paranoid, but no android)What's this? (I may be paranoid, but no android)Ambition makes you look pretty uglyKicking, squealing, gucci little piggyYou don't rememberYou don't rememberWhy don't you remember my name?Off with his head, manOff with his head, manWhy don't you remember my name? I guess he does...Rain down, rain downCome on rain down on meFrom a great heightFrom a great height... height...Rain down, rain downCome on rain down on meFrom a great heightFrom a great height... height...Rain down, rain downCome on rain down on meThat's it sirYou're leavingThe crackle of pigskinThe dust and the screamingThe yuppies networkingThe panic, the vomitThe panic, the vomitGod loves his children, God loves his children, yeah!

Def Leppard-Hysteria




อัลบั้ม Pyromania เมื่อปี 1983 ของ Def Leppard นั้นทำให้แฟนเพลงเฮฟวี่จับตามองวงนี้ไม่กะพริบ มันเป็นซาวดน์ใหม่ที่เป็นความหวังของเมทัลในการบุกป๊อบชาร์ท ด้วยโปรดักชั่นของยอดโปรดิวเซอร์ โรเบิร์ท จอห์น "มัท" แลงก์ ที่กำลังรุ่งสุดขีด จับวงไหนหรือศิลปินใดก็ทำได้ดีไปหมด (และก็สุ้มเสียงออกมาคล้ายๆกันด้วย) Pyromaniaมีความดุดันแบบสะอาดสะอ้านที่ฟังกันได้ทั้งครอบครัว 'Foolin'', 'Photograph' ,'Rock Of Ages' คือเพลงฮิตที่ออกมาเป็นชุด แต่ Hysteria ไม่ได้เดินตามรอย Pyromania อย่างง่ายดาย แลงก์ปฏิเสธการกลับมาโปรดิวซ์ เพราะกำลังง่วนอยู่กับการทำ Heartbeat City ให้วงป๊อบ-ร็อค The Cars (แน่นอนว่าอัลบั้มนี้ก็ดังอีก) พวกเดฟเลยติดต่อไปที่ จิม สไตน์แมน (Bat Out Of Hell) และเริ่มทำงานกันในฮอลแลนด์ในปี 1984 แต่ในที่สุดก็ไปกันไม่ได้ ต้องแยกทางกันไป เดฟ เลพพาร์ดหันไปเรียก ไนเจล กรีน ที่เคยเป็นเอ็นจิเนียร์ให้พวกเขาในอัลบั้ม High 'n' Dry มาก่อนแต่แล้วในช่วง New Year's Eve ของปี 1984 ริก อัลเลน มือกลองอนาคตไกลประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เขาต้องสูญเสียแขนของเขาไปหนึ่งข้าง (ซ้าย) ใครๆรวมทั้งผมก็คิดว่างานนี้เตรียมหามือกลองใหม่ได้เลย แต่ไม่น่าเชื่อ ริกกลับมาได้ในปีถัดมาด้วยแขนขวาข้างเดียวของเขา กับกลองชุดที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ (แต่นับแต่นั้นมา Def Leppard ก็ไม่เคยร็อคได้ในแบบเดิมอีก) งานนี้ทางวงได้ใจแฟนเพลงทั่วโลกที่ไม่ยอมทิ้งเพื่อนร่วมวงในยามที่สาหัสที่สุดของเขา


1985 แลงก์เสร็จงานและกลับมาคุมเกมอีกครั้ง เขารับไม่ได้กับงานที่วงทำกันเอาไว้ และสั่งการให้ทำใหม่ทุกอย่าง ตั้งแต่ต้น! การบันทึกเสียงเป็นไปอย่างยาวนานตลอดปี 1986ในที่สุด Hysteria ก็ออกมาสู่โลกในปี 1987 พร้อมกับซิงเกิ้ลแรก 'Woman' น่าใจหายที่มันทำยอดขายได้ไม่ดีเลย 'Animal' เป็นซิงเกิ้ลที่สอง ค่อยทำงานดีขึ้น ก่อนที่วงจะออกซิงเกิ้ลใน Hysteria ตามมาอีกห้าแผ่น รวมทั้งบัลลาด Love Bites ที่ติดอันดับ 1 บิลบอร์ดยอดขาย12ล้าน6แสนแผ่น ออกเมื่อ ก.ค. 1987

Travis-The Man Who สุข-หวาน-เศร้า



Travis: The Man Who (1999)

Writing To Reach You
The Fear
As You Are
Driftwood
The Last Laugh Of The Laughter
Turn
Why Does It Always Rain On Me?
Luv
She's So Strange
Slide Show
The Man Who ช่วยปิดท้ายการฟังเพลงของศควรรษที่20ของผมได้อย่างสมบูรณ์ ผมซื้อมันมาโดยไม่เคยฟังมาก่อน น่าจะเป็นนิตยสาร Q ของอังกฤษที่เชียร์มันสุดๆ อัลบั้มที่สองต่อจาก Good Feeling ซึ่งผมไปหามาฟังทีหลังและมันแตกต่างกันราวกับคนละวง การเข้ามาในฐานะโปรดิวเซอร์ของไนเจล กอดริชเป็นส่วนสำคัญ บางคนว่านี่คือ Ok Computer Ladies & Kids' edition (ไนเจลเพิ่งสร้างชื่อจากการโปรดิวซ์อัลบั้มมหากาพย์นั้นให้ Radiohead มาเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น)โทนรวมของอัลบั้มนี้เยือกเย็นเศร้าหวานเหมือนกับภาพปกและภาพด้านใน เสียงร้องของฟราน ฮีลลีย์และบทเพลงของเขาแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของอัลบั้ม ไม่มีเพลงร็อคเขย่าสเตเดี้ยมเหมือนในอัลบั้มแรกสักเพลงเดียว แต่แม้จะเป็นเพลงในแนว Bittersweet เหมือนกันหมด รายละเอียดของมันในแต่ละแทร็คก็ต่างกันออกไป ฟรานเขียนเมโลดี้ได้สุดยอด (ในสองอัลบั้มต่อมาของ Travis เขาเขียนเพลงในระดับนี้ได้ไม่กี่เพลงเท่านั้น)

Writing To Reach You เปิดประเด็นความเศร้าเหงา จดหมายที่ไม่มีวันส่ง แต่ยังไงก็อยากจะเขียน "Cause I'm writing to reach you, but I might never reach you..." ฟรานใช้ถ้อยคำธรรมดาๆในการบรรยายความปั่นป่วนในอารมณ์ได้เป็นอย่างดี "Becaue my inside is outside, my left side's on the right side...."The Fear เสียงกลองเชื่อมต่อแทร็ค และเนื้อหาก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวกับ Writing... ฟรานดูจะสนุกกับการหาคำมาสัมผัสกับคำว่า Fear ตลอดเพลง fear...here.... year.... clear... the tear is here...

As You Are อารมณ์เศร้าแบบหงอยๆพัฒนามาเป็นเศร้าแบบก้าวร้าว ฟรานตะโกนร้องท่อนคอรัสด้วยอารมณ์เหมือนคนที่ถึงที่สุดแล้ว แต่วินาทีต่อมาดนตรีก็ดึงเขาลงมาอ้อยสร้อยเหมือนเดิม... พอจะสรุปได้ว่า"เธอ"ในเพลงนี้ช่างเป็นคนที่ร้ายกาจเหลือแสนแต่"ฉัน"ก็ไม่มีทางเลือก ก็มันรักนี่ แม้ว่ามันจะไม่สนุกเท่าไหร่กับการอยู่กับคนแบบนี้Driftwood เพลงที่ upbeat ที่สุดในอัลบั้ม ถ้าเป็นผมจะตัดเป็นซิงเกิ้ลแรกเลย (ไม่รู้จริงๆพวกเขาตัดมันหรือเปล่า?) 'Im sorry that you turned to driftwood. But you've been drfiting for a long, long time...' Driftwood ในที่นี้ฟรานเปรียบเทียบเหมือนคนที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำแล้วแต่จะพาไป เหมือนท่อนไม้ที่ไร้การบังคับ และสุดท้ายก็ต้องถูกกระแทกแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่คนแบบนี้จะไปแนะนำอะไรเขาได้ ก็เขาล่องลอยอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

Why Does It Always Rain On Me? เป็นหนึ่งในเพลงที่เยี่ยมที่สุดในอัลบั้ม เนื้อเพลงเอาใจ loser เต็มที่ เป็นการพยายามหาเหตุผลที่ไม่น่าเป็นไปได้ในความเป็นผู้แพ้ของตน (สายฝนเป็นตัวแทนของความปวดร้าว)สามแทร็คใน The Man Who ที่ไนเจลไม่ได้โปรดิวซ์คือเพลงนี้, Turn และ She's So Strange ซึ่งฟังดูแล้วจะไม่มีซาวนด์แบบกรุ๊งกริ้งที่ไนเจลชอบใส่ (ได้ยินชัดใน The Last Laugh Of The Laughter) แต่ซาวนด์ก็ไม่หนีกันมาก เพราะเขาก็เป็นคนมิกซ์ทั้งสามเพลงนี้อยู่ดี อ้อ สามเพลงนี้คนโปรดิวซ์คือ Mike HedgesLuv เป็นเพลงที่ทำให้หนึ่งในพี่น้องกัลลาเกอร์ (จำไม่ได้ว่าคนไหน) น้ำตาพรากมาแล้ว เมื่อฟรานเล่นและร้องสดๆให้เขาฟัง เนื้อหาว่ากันตรงๆ ฮาร์โมนิกากระชากใจเหลือเกิน เป็นเพลงปลอบใจคนร้องทีเอาไว้ร้องเวลาจะเห็นเธอจาก แต่หากกระนั้น มันกลับทำให้เขาสำนึกว่าเขายังคงรักเธออยู่มากมายแค่ไหน....

Turn... ร็อคช้าๆที่เหมาะสำหรับ Live ที่สุดในอัลบั้ม (ตัดเป็นซิงเกิ้ล) เนื้อหา-- เรามักจะอยากทำอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ทำสักที บางทีสิ่งที่เราต้องทำก็แค่การขยับหักมุมสักครั้งเดียว Turn..Turn..Turn...เนื้อเวิร์สสองนี่งามจริงๆ ยกมาให้ดู
So where's the stars?
Up in the sky
And what's the moon
A big balloon
We'll never know
Unless we grow
There's so much world
Outside the door....
Slide Show เป็นเพลงปิดอัลบั้มหมองๆนี้ได้สมบูรณ์แบบ และถ้าคุณอารมณ์ค้าง นั่งนิ่งไม่ยอมเดินไปปิดซีดี อีกพักใหญ่ๆต่อมา (ซักหกนาทีกว่ามั้ง) คุณจะได้ยินเสียงเพลงร็อคค่อนข้างอึกทึกค่อยๆดังขึ้นมา นั่นละครับ hidden track 'Blue Flashing Light' ยุคนั้น hidden track ไม่ใช่ของเกร่อแบบทุกวันนี้ และสำหรับผมกว่าจะเจอมันก็เล่นไปหลายรอบเหมือนกัน Blue... เป็นเพลงที่ต่างออกไปจากทุกเพลงใน The Man Who มันคล้ายๆบางเพลงใน Ok Computer ผสมกีต้าร์รกรุงรังแต่น่าฟังแบบ Oasis ในสองชุดแรก สำหรับผม hidden track ก็เหมือน Encore ในลีลาหนึ่ง...วันนี้ฟัง 'As You Are' อีกรอบ ทำให้คิดว่าการที่ผมพ่นไปว่านี่เป็นเพลงรัก อาจจะเป็นการตีกรอบที่ตื้นเขิน(โง่)ไปหน่อย You ในที่นี้อาจหมายถึง (และน่าจะเป็นไปได้มากกว่า) พ่อแม่หรือนักการเมืองผู้บริหารบ้านเมือง หรือใครก็ตามที่คุมเขาอยู่....


ปีสุดท้ายของแต่ละทศวรรษ ผมมักจะได้อัลบั้มสุดโปรดสุดรักมาเสมอ ผ่านมาห้าสิบปีแล้วก็ยังไม่พลาด นี่กำลังรออีก4ปีข้างหน้าอย่างใจจดจ่อ1959 Miles Davis Kind Of BLue1969 The Beatles Abbey Road1979 Pink Floyd The Wall1989 The Stone Roses1999 Travis The Man Who2009 ??? Chinese Democracy ????




Brain Salad Surgery


Brain Salad Surgery Emerson, Lake & Palmer 1973 Manticore*****





ชื่ออัลบั้มที่ชวนค้นหานี้เป็น slang ของนักดนตรีบลูส์ในความหมายของคำว่า 'blowjob' นี่คืออัลบั้มที่เยี่ยมที่สุดของโปรเกรสซีพทริโอวงนี้ พวกเขาคือซุปเปอร์กรุ๊พวงแรกของ Prog-Rock คีธ อีเมอร์สัน คีย์บอร์ด จาก The Nice, เกร็ก เล็กมือเบส กีต้าร์ และนักร้องนำจาก King Crimson และมือกลอง คาร์ล พาล์มเมอร์ จาก Atomic Roosterจอห์น พีล ดีเจชื่อดังเคยวิจารณ์อีแอลพีไว้เสียๆหายๆหลายครั้ง เช่นบอกว่าการแสดงของพวกเขาเป็น "การสูญเปล่าอย่างเหลือแสนของเวลา,ความสามารถ และ ไฟฟ้า" และพีลยังเคยวิจารณ์การนำดนตรีคลาสสิกมานำเสนอในแบบอีเลคโทรนิคร็อคของพวกเขาว่าเปรียบเสมือนการ "นำเอามะเขือเทศมาแปะไว้ด้านหลังหวี" (????)แต่อย่างน้อยพวกเขาก็นำเด็กๆเข้าสู่โลกของดนตรีคลาสสิกได้หลายคน อย่างน้อยก็ผมคนนึงล่ะ ที่ฟังคอนแชร์โตของคีธมาก่อนของบีโธเฟนหรือบาร์หมส์ และเลคก็ยังชี้แจงว่า "พีลไม่ค่อยชอบขี้หน้าเรา แต่ผมอยากจะบอกว่า การนำดนตรีคลาสสิกมาเล่นด้วยเครื่องดนตรีอีเลคโทรนิกนั้นคุณจะได้สีสันดนตรีที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ผมจึงคิดว่ามันเป็นการ re-interpretaion ที่คุ้มค่าที่จะทำ"มีแค่ห้าเพลงในอัลบั้มชุดนี้ (หน้าปกเป็น gatefold ที่งามมากจากฝีมือการออกแบบของ HR Giger ผู้ออกแบบตัว Alien) Jerusalem ออร์แกนของคีธฟังแล้วยิ่งใหญ่สุดๆในเพลงของ William Blake เพลงนี้ออกเป็นซิงเกิ้ล (บีบีซีแบนเพลงนี้ด้วยเหตุผลที่ว่ามันลดคุณค่าของเพลงดั้งเดิม) Toccata เป็นการตีความ movement ที่สี่ของ Piano Concerto No.1 ของ Ginastera คีธโชว์เทคนิคซินธ์อันโฉบเฉี่ยว แต่ผมชอบการรัวกลองเป็นปืนกลของคาร์ลเป็นพิเศษ (เป็นลีลาเฉพาะตัวของเขา), Still, You Turn Me On ผมคิดว่าเป็นอคูสติกบัลลาดที่ไพเราะที่สุดของเกร็ก (เกร็กเล่าว่าคีธพยายามล็อบบี้ไม่ให้มันได้ออกเป็นซิงเกิ้ลแม้ทุกคนจะรู้ดีว่ามันน่าจะเป็นที่สุด-ด้วยความริษยา) Benny The Bouncer เพลงเปียโนบอลรูมแบบโบราณที่น่าจะเป็น weakest link เหมือนการเตรียมตัวเข้าสู่ sci-fi rock opera อันยิ่งใหญ่ Karn Evil 9 ที่ยาวเหยียด แบ่งเป็นสาม Impressions โดยอิมเพรสชั่นแรกแบ่งเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกเป็นแทร็คสุดท้ายของหน้าเอของแผ่นเสียง ที่เหลืออยู่เต็มหน้าแผ่นเสียงหน้าบี และมันคือ The Greatest ELP songs ever! (ผมให้มันเจ๋งเท่า Close To The Edge แต่ด้วยลีลาที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าใครอยากฟังว่า Yes กับ ELP ต่างกันอย่างไรก็น่าจะให้เวลาสักนิดฟังสองแทร็คนี้เปรียบเทียบ... แต่มันก็ไม่นิดเท่าไหร่นะ ร่วมชั่วโมงได้)ผมได้ฟัง Brain ครั้งแรกจากแผ่นเสียงในยุค 80's ปัจจุบันก็ฟังจากซีดีรีมาสเตอร์ ที่ทำแพ็คเกจเหมือนแผ่นเสียงเด๊ะ


(ข้อมูลบางส่วนเอามาจาก MoJO ฉบับ Prog Rock ขอรับ)


  • คีธ-ออร์แกน เปียโน ฮาร์พซีคอร์ด แอคคอร์เดียน มู๊กซินธ์สั่งทำพิเศษ และ มู๊กโพลีโพนิค อองซองเบลอ
  • เกร็ก-ร้อง เบส กีต้าร์ และกีต้าร์สิบสองสาย
  • คาร์ล -กลองและเพอร์คัสชั่น

The Yes Album




เยสเป็นวงดนตรีแนวซิมโฟนิคโปรเกรสซีพร็อคและเป็นหนึ่งในห้าของวงดนตรีที่เป็นเสาหลักของวงการดนตรีโปรเกรสซีพ อัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ลอนดอนในหน้าหนาวของปี 1970และออกจำหน่ายในปี 1971 โปรดิวซ์โดย เยสและเอ็ดดี้ ออฟฟอร์ด ชื่ออัลบั้มดูเหมือนจะเป็นอัลบั้มแรกของพวกเขา แค่ความจริงเป็นอัลบั้มที่สาม การตั้งชื่ออย่างนี้แสดงความมั่นใจในผลงานชุดนี้ และมันก็เยี่ยมจริงๆเป็นอัลบั้มคลาสสิกชุดแรกของพวกเขาก่อนที่จะมีงานเด็ดๆตามมาอีกหลายแผ่น Peter Banks มือกีต้าร์ (เขาเป็นคนคิดชื่อวงด้วยหลักการที่ว่าชื่อยิ่งสั้นยิ่งพริ้นท์บนหน้าปกได้ตัวใหญ่ขึ้น-ลองดูหน้าปกแรกของพวกเขาสิครับ) ถูกเชิญออกจากวงด้วยข้อหาไม่ขยันมาซ้อมเท่าที่ควร โรเบิร์ต ฟริปป์แห่ง King Crimson ได้รับเทียบเชิญแต่ฟริปป์ปฏิเสธ ตำแหน่งนี้สุดท้ายจึงมาตกที่ Steve Howeสตีฟเป็นมือกีต้าร์ที่เหมาะสำหรับดนตรีของเยสเป็ฯที่สุด เขาเล่นได้มหากาฬทั้งบู๊และบุ๋น ริฟฟ์แบบฮาร์ดร็อค คันทรี่โฟล์คแบบเช็ต แอทกินส์ หรือ คลาสสิคัลกีต้าร์ก็ไม่ยั่น ขอให้บอกมาเถอะ เยสให้เกียรติเขาด้วยการปล่อยให้สตีฟโชว์เดี่ยวในเพลง The Clap (เวอร์ชั่นเป็นทางการในอัลบั้มเป็นการแสดงสด แต่ในเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์เมื่อปี 2003 จะมีเพลงแถมในแบบสตูดิโอเวอร์ชั่น-ตลกดี) เยสชุดนี้ถึงแม้จะไม่ใช่ยุคคลาสสิกไลน์อัพ เพราะขาดพ่อมดคีย์บอร์ด ริค เวคแมนไป (เขาจะมาในอัลบั้มหน้า) โทนี่ เคย์ เล่นคีย์บอร์ดในชุดนี้ แม้เขาจะไม่มีลีลาที่น่าตื่นตะลึงหรือเทคนิคในการใช้ซินเธอะไซเซอร์ได้ล้ำเท่าริค แต่ผมก็ชอบสไตล์โบราณของเขานะ การใช้ Moog ของเขาก็ฟังดูเข้ากับบทเพลงดี แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะฟังว่าถ้าริคมาเล่นเพลงในชุดนี้จะเป็นอย่างไรก็สามารถหาฟังได้ในเวอร์ชั่นแสดงสดที่จะออกตามมา อาทิเช่นใน Yessongs 5เพลงในหกจากชุดนี้เป็นเพลงคลาสสิคของเยสที่พวกเขานำมาเล่นในการแสดงสดอย่างสม่ำเสมอ แม้ทุกวันนี้


  • Yours Is No Disgrace เยสเปิดอัลบั้มด้วยเพลงยาว9นาที41วินาที สตีฟ โทนี่ และ บิล ดวลเครื่องมือกันอย่างสนุกถึงสองช่วง ดนตรีน่าตื่นเต้นตลอดความยาว

  • Starship Trooper ผู้เชี่ยวชาญยกให้นี่เป็นเพลงระดับชั้นเลิศเพลงแรกของเยส ความยาวเก้านาทีกว่าเช่นกัน แบ่งเป็นสามท่อนที่แต่งโดยสามสมาชิก เนื้อหาได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์ เบสของคริส สไควร์เด่นตลอด (เขาเป็นมือเบสที่เล่น melodic ได้ไพเราะที่สุดคนหนึ่ง) ผมชอบท่อนสอง-Disillusion ที่คริสแต่งที่สุดครับ (แต่ในทอ่นนี้สตีฟกลับเด่นสุดในการสับคอร์ดอคูสติกกีต้าร์)

  • I've Seen All Good People เพลงที่ฟังง่ายที่สุดในชุด ยาว(แค่) เฉียดเจ็ดนาที ทำนองเด่น ประสานเสียงไพเราะ และจังหวะที่ไม่ซับซ้อนเท่าเพลงอื่น

  • A Venture เปียโนแบบบาร็อค ท่วงทำนองสไตล์พอล แมคคาร์ทนีย์ แต่ซ่อนเงื่อนกว่าหลายปม จอห์น แอนเดอร์สันแต่งครับ

  • Perpetual Change งานของจอห์นและคริส ปิดท้ายอัลบั้มอย่างยิ่งใหญ่ที่ความยาว 8.50 นาที


จอห์น แอนเดอร์สัน ร้อง/เพอร์คัสชั่นคริส สไควร์ เบส/ร้องสตีฟ ฮาว กีต้าร์/ vachalia/ ร้องโทนี่ เคย์ เปียโน/ออร์แกน/มู๊กบิล บรูฟอร์ด กลอง/เพอร์คัสชั่น



ผมได้ฟังสามเพลงจากชุดนี้เป็นครั้งแรกจาก Classic Yes (งานรวมฮิตที่มีหน้าปกสวยที่สุดจากฝีมือโรเจอร์ ดีน) และมาได้ฟังเต็มๆจากซีดีฝีมือการทำมาสเตอร์ของ โจ กาสเวิร์ทนิตยสาร MOJO ยกให้นี่เป็นหนึ่งใน30อัลบัมโปรเกรสซีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา สำหรับผมนี่คือ Yes ที่ผมชอบที่สุดครับ (ชอบมากกว่า Fragile หรือ Close To The Edge นิดหน่อย)

Love, Elvis




Elvis Presley-Love, Elvis(Sony-BMG) ****


“Are you lonesome tonight? Well then, you’ve come to the right place.”Liner note ในซีดีแผ่นนี้จั่วหัวว่าอย่างนั้น....รวมเพลงรัก...ของเอลวิส เพรสลีย์...ครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ...ครั้งล่าสุดน่าจะเป็นประมาณสามปีก่อน อัลบั้มคู่...The 50 Greatest Love Songs ที่ฟังกันเต็มอิ่มจริงๆย้อนไปก่อนหน้านั้นก็มี Heart and Soul และ Love Songsความฮือฮาที่สุดของ Love, Elvis ในต่างประเทศก็เห็นจะเป็นภาพปกที่เป็นภาพของราชาร็อคในปี1956 กำลัง “เล่นลิ้น” กับแฟนเพลงสาวคนหนึ่งน่าเสียดายที่ภาพนี้ไม่ได้เป็นปกในบ้านเรา คงเป็นเพราะความหวือหวาเกินไปเลยกลายเป็นภาพเก็กหล่อผมเรียบแปล้อย่างที่เห็น (ก่อนหน้าที่แผ่นนี้จะวางแผง ทางต้นสังกัดก็ได้ออกแบบสอบถามมาทางสื่ออยู่ว่าจะเลือกปกแบบไหนดี ผมก็ตอบไปว่า ถ้าอยากจะให้อื้อฉาวล่ะก็เลือกภาพ ‘The Kiss’ นั่นแหละ รับรองดังแน่ แต่ไม่รับรองว่าจะขายหรือเปล่านะ)อีกจุดขายหนึ่งของ Love,Elvis ก็คือการทำมาสเตอร์โดย Vic Anesini ที่ฝากฝีมือไว้ได้อย่างน่าทึ่งในอัลบั้ม Elvis 56, Ultimate Gospel และ Close-Up แต่แผ่นนี้ไม่ได้มีการระบุว่าใช้เทคโนโลยี DSD ที่หลายคนชื่นชอบนะครับ และใน Love, Elvis เขาก็ทำได้ดีเช่นเดิม ฟังเสียงประสานของ The Jordanaires ใน Can’t Help Falling In Love สิครับ...(หมายเหตุ Elvis Presley อาจจะเป็นศิลปินที่มีงานที่ถูกนำมารีมาสเตอร์มากที่สุดในโลก... คุณว่าไหม?)ซีดี Love, Elvis มีให้ฟังกันจุใจถึง 24 เพลง รวมกว่า 72 นาที ในซีดีแผ่นเดียว แน่นอนว่าต้องมีเพลงที่เป็นสุดยอดเพลงรักของเขาอย่าง Are You Lonesome Tonight, Love Me Tender, Can’t Help Falling In Love, It’s Now Or Never.. ครบครัน แต่ Ernst Mikael Jorgensen และ Roger Semon สองนักทำแคตาล็อคเอลวิสผู้ยิ่งใหญ่ก็คงจะกลัวความซ้ำซาก ท่านจึงได้ใส่เพลงรักที่น่าฟังแต่ไม่ค่อยได้ถูกนำมารวมในงานที่ผ่านๆมา เช่น Anyway You Want Me, Fever เข้ามาด้วยและที่ถูกใจผมมากคือ Doin’ The Best I Can จากภาพยนตร์เรื่อง G.I. Blues หนึ่งในเพลงเอลวิสที่ผมรักที่สุด (ไม่น่าเชื่อว่าในรวมเพลงรักของเขาสามชุดก่อนหน้านี้เพลงนี้ถูกมองข้ามไปโดยตลอด) สำหรับแฟนที่ชอบตามเก็บทุกเพลงทุกเทค ในอัลบั้มนี้มี For The Good Times เทค3ที่ไม่เคยออกที่ไหนมาก่อนมายั่วกิเลส ฟังดูก็แตกต่างจาก master พอสมควร...เรียกว่าคุ้มค่าที่จะหามาเก็บการเรียงเพลงใน Love, Elvis ทำได้ดี ไม่ได้เรียงตาม chronological แต่เน้นอารมณ์ความต่อเนื่อง ซึ่งผมชอบแบบนี้มากกว่า (บางคนอาจจะรู้สึกทะแม่งๆกับเพลง HawaiianWedding Song หรือ If I Can Dream ที่ดูจะหลุดๆคอนเซ็พท์ไปหน่อย แต่ก็ยังดีกว่า Old Shep –เพลงรักหมา ที่อยู่ใน 50 Greatest Love Songs ล่ะน่า..)แฟนเพลงเริ่มรับรู้ความสามารถในการร้องเพลงบัลลาดของเขาตั้งแต่ปี 1956 ด้วยเพลง ‘Love Me Tender’ และเกือบห้าสิบปีต่อมา ผมก็ยังคิดว่านี่เป็นเพลงรักที่เรียบง่ายและยิ่งใหญ่ที่สุดเพลงหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีการร้องเพลงรักกันมา....(เพลงนี้เวอร์ชั่นใน Love, Elvis เป็น stereo เสียด้วยนะครับ...)ได้ซีดีนี้มาเมื่อไหร่ กรุณาดับไฟก่อนเปิดแทร็คแรก ‘Are You Lonesome Tonight’ นะครับ เพราะตำนานเล่าว่า ขณะที่บันทึกเสียงเพลงนี้ เอลวิสก็สั่งให้ดับไฟในห้องอัดหมดเช่นกันและยัง “ว่ากันว่า” ถ้าฟังดีๆ จะได้ยินเสียงเอลวิสเดินชนขาตั้งไมค์ด้วย....มันมืดขนาดนั้น...!!!

John Lennon-รวมฮิตชุดสุดท้าย?




ศิลปินใหญ่ระดับ เลนนอนมีหรือจะไม่เคยออกงานรวมเพลงเอกมาก่อน Working… เป็นชุดที่สี่ของเขาเข้าไปแล้ว และจะเป็นชุดที่ห้าถ้ารวม Imagine Soundtrack ในปี 1988 เข้าไปด้วย (แผ่นนั้นจะเป็นการรวมงานของจอห์นในยุคที่อยู่กับ Beatles ด้วย-ผมคิดว่าเป็นงานที่แสดงความเป็น “จอห์น เลนนอน” ได้เต็มชีวิตดีกว่าแผ่นอื่นๆที่เป็น “จอห์น โอโนะ เลนนอน” เสียมากกว่า) สามชุดก่อนคือ Shaved Fish (1975), Collection (1982) และ Lennon Legend (1997) ล้วนเป็นซีดีแผ่นเดียว Working… เป็นครั้งแรกที่เราจะได้งานรวมเพลงอย่างเต็มอิ่มที่ความยาวรวมกว่าสองชั่วโมงครึ่ง เวลาขนาดนี้ไม่น่าจะมีเพลงสำคัญเพลงใดของจอห์นตกหล่น จำได้ว่าสมัยเด็กๆอัดเทปรวมเพลงจอห์นเล่นๆ แค่เทป C-90 ก็กำลังพอดีๆแล้วด้วยชื่อรองที่น่าเกรงขาม The Definitive Lennon ทำให้ผมมั่นใจว่านี่ต้องเป็นงานรวมเพลงที่สมบูรณ์แบบ หักหน้า Wingspan ของ Paul McCartney ที่ทำออกมาได้ลักลั่นเมือสามสี่ปีก่อน แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง Working… ไม่ถึงกับเลวอนาถ แต่มันน่าจะดีกว่านี้ ขอติเป็นชุดๆตามประสาคนรักโยโกะดังนี้ หน้าปก: ทำราวกับว่าจอห์นเป็นโรเบิร์ต จอห์นสันที่ทั้งชีวิตถ่ายรูปไว้แค่สองภาพไปได้ ภาพฝีมือเอียน แมคมิลลานนี้ไม่เถียงหรอกว่าสวยและแสดงความเป็น “เลนนอน” ได้ดีมาก แต่มันใช้ไปกี่ครั้งแล้ว?การเรียงเพลง: เอาละ งานรวมฮิตทุกชุดของจอห์นที่ผ่านมาก็ไม่ได้เรียงตามวันเวลาเป๊ะๆอยู่แล้ว แต่การที่มี scope ใหญ่ๆอย่างสองซีดีนี้ เป็นโอกาสดีในการที่จะไล่เรียงเพลงให้เห็นพัฒนาการและภาพรวมของดนตรีของจอห์น ซึ่งในยุคหลัง Beatles เป็นต้นมา เพลงของเขาเหมือนเป็นบันทึกแห่งชีวิตในช่วงเวลานั้นๆ การจับเรียงเพลงใหม่ใน Working นี้พอจะมองออกว่าหวังผลในแง่ความราบรื่นในการฟังและการกระจายเพลง “น่าฟัง” ของจอห์นให้ไปทั่วๆแผ่น และหลีกเลี่ยงความน่าเบื่อกับการที่จะต้องเริ่มอัลบั้มด้วย Give Peace A Chance และจบด้วย Grow Old With Meความ “พลาด” ที่ไม่น่าเชื่อของผู้รวมเพลง (โยโกะ?) อีกประการคือการขาดเพลงสำคัญอย่าง How Do You Sleep? จากอัลบั้ม Imagine จะเป็นว่าเพื่อลบความบาดหมางระหว่างจอห์นและพอลเพราะเพลงนี้จอห์นแต่งมาเพื่อด่าเพื่อนรักโดยเฉพาะก็ไม่น่าเป็นไปได้ ที่น่าเสียดายคือนี่คือเพลงที่มีดนตรีที่เฉียบขาดที่สุดเท่าที่จอห์นเคยทำมาในยุค Post-Beatles เวลา 11 ปี (1969-1980) ในการทำงานของจอห์นใน 38 แทร็คในอัลบั้มนี้ท่านจะได้ฟังจอห์นในหลายๆแบบสลับกันไป อาทิ จอห์นนักประท้วงและสันติภาพ-Give Peace A Chance, Imagine, Power To The People จอห์นแฟมิลี่แมน – (Just Like) Starting Over, Beautiful Boy จอห์นคนมีปม-Mother, God จอห์นเดอะร็อกเกอร์-New York City, Stand By Me หรือจอห์นปากหวาน - Woman, Jealous Guy, Oh My Love (ไม่น่าเชื่อว่าเพลงนี้ไม่เคยอยู่ในรวมฮิตใดมาก่อน)ทุกเพลงผ่านการรีมาสเตอร์อย่างจริงจังตลอดห้าปีที่ผ่านมา ในแง่ความคุ้มค่าไม่มีปัญหาครับ แนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มฟังจอห์น เลนนอนทุกท่าน ส่วนแฟนเก่าที่ไม่เคยซื้องานของเขามาหลายปี (ก่อนปี 2000) ก็น่าจะลองฟังสุ้มเสียงของมันกันดู

Paul McCartney-ความอลหม่านและการสร้างสรรค์ที่สวนหลังบ้านของเขา


อัลบั้มใหม่ในรอบสี่ปีของพอล แมคคาร์ทนีย์ และเป็นอัลบั้มที่ 20 ในรอบ 35 ปี หลังจาก The Beatles เลิกรากันไปในปี 1970 ผมออกจะตื่นเต้นเมื่อทราบว่าศิลปินคนโปรดจะมาจับมือกับโปรดิวเซอร์ที่ผมชื่นชมในการทำงานชุดนี้ ไนเจล ก็อดริช คือชื่อของเขา เครดิตของพี่เค้าในการเป็นผู้ควบคุมการผลิตอัลบั้ม OK Computer (Radiohead), Mutations (Beck), The Man Who (Travis) รับประกันความยิ่งใหญ่ ในอดีตพอลเคยออกอัลบั้มที่เขาเหมาเล่นดนตรีทุกชิ้นมาสองแผ่นคือ McCartney (1970) และ McCartney II (1980) และใน Chaos… มันก็เกือบจะเป็น McCartney III เขาเล่นดนตรีเกือบทุกชิ้น อาจจะเว้นก็แต่พวกเครื่องสายและกีต้าร์บางพาร์ทเท่านั้น นี่เป็นไอเดียของไนเจล เขามองว่าการที่พอลใช้วงแบ็คอัพที่เขาทัวร์ด้วยกันมาตลอดมาเล่นบันทึกเสียง มันง่ายเกินไปและไม่ท้าทาย ไนเจลยังชอบการตีกลองของพอลอีกด้วย แต่ Chaos ไม่ได้มีซาวนด์เหมือนเดโมที่น่าจะเก็บไว้เปิดให้เมียฟังอย่าง McCartney หรือเต็มไปด้วยเสียงสังเคราะห์กระป๋องแตกอย่างใน McCartney II ตรงข้าม มันมีการบันทึกเสียงที่ปราณีตอลังการ ไม่ต่างจากงานทุกชิ้นที่ไนเจลเคยโปรดิวซ์มา 14เพลงใน Chaos แทบไม่มีเพลงร็อคเกอร์ แต่มันบรรจุไปด้วยเพลงที่ครุ่นคิดอ้อยอิ่ง สรรพเสียงที่ซ้อนทับถักทออย่างละเมียด ด้วยฝีมือการบรรเลงของผู้ชายวัย 63 คนนี้แทบจะคนเดียว มันไม่ใช่อัลบั้มที่ฟังแล้วติดหูทันที คุณต้องให้เวลากับมัน เสียงแบบไนเจลมีให้ได้ยินอย่างไม่ต้องเพ่งใน Chaos แต่โดยรวมๆนี่ก็ยังเป็นงานแบบพอล แมคคาร์ทนีย์อยู่ให้แฟนจำได้ไม่ผิดตัว Chaos ไม่มีเศษเพลงหรือ filler ทุกเพลงแตกต่างและมีคุณค่าในตัวเอง พอลร้องได้ดีกว่าในหลายอัลบั้มที่ผ่านมาของเขา ในแง่ของการควบคุมน้ำเสียง อักขระ ที่ดูตั้งใจมาก แต่มันก็ฟังออกจะเกร็งๆกว่าพอลในแบบเดิมๆอยู่ด้วยเพลงเด่น Fine Line ซิงเกิ้ลแรก สไตล์เหมือนใน Flaming Pie (1997) ท่อนที่ดึงดนตรีช้าให้กีต้าร์โซโลทำได้งามมาก, Jenny Wren “น้องสาว Blackbird” คือคำจำกัดความที่พอลให้ไว้เอง สไตล์การปิกกิ้งและเนื้อหาคือความเกี่ยวดอง, Too Much Rain เพลงที่ดีที่สุดในแผ่น ความเป็นก็อดริชและแมคคาร์ทนีย์มาบรรจบกันพอดีที่เพลงนี้ ทำนองสุดยอด พอลยังเป็นราชาแห่งเมโลดี้เหมือนกับที่เขาเคยเป็น เนื้อหาราวกับจะแต่งมาเพื่อปลอบประโลมชาวอเมริกันที่ประสบภัยจากเฮอริเคนแคทรีน่าซะงั้น, Riding To Vanity Fair มีความเป็นไนเจลมากที่สุดและก็มีความเข้มข้นทางดนตรีที่สุดในแผ่นด้วย ถ้าเอา Beck มาร้องแทนก็ไปใส่ใน Sea Change ได้ทันที แต่พอลก็ร้องแนวนี้เอาเรื่องได้ไม่แพ้หนุ่มๆนะครับ ,English Tea เปียโนบวกเครื่องสายวงเล็ก ทำนองเยี่ยมอีกแล้ว ทำให้นึกถึง Eleanor Rigby หรือ Martha My Dear ยาวแค่สองนาทีกว่า ,Friends To Go ป๊อบสไตล์ Beatles ยุค A Hard Day’s Night พอลตีฉิ่ง…เอ๊ย…ฉาบได้น่ารักมาก ,Anyway บัลลาดอลังการปิดอัลบั้ม เสียงเปียโนอิ่มสุดลิ่มหวานสุดใจไปเลย (แหม แต่อินโทรทำไมไพล่ไปเหมือน ‘People Get Ready’ ของ Curtis Mayfield ได้ล่ะครับ?) ผมไม่คิดว่า Chaos จะขายดีอะไรนัก เพราะมันฟังไม่ง่าย แต่ในแง่ศิลปะ มันคือ Creation ชิ้นสำคัญอีกครั้งจากพอล แมคคาร์ทนีย์ ขอบคุณไนเจลด้วยครับ

Led Zeppelin: Life Before Led (3-final)




มกราคม 1965 Eric Clapton ลาออกจาก The Yardbirds และ จิมมี่ เพจก็ได้รับคำเชิญจากวงเป็นครั้งแรกให้มาเล่นกีต้าร์แทน เพจปฏิเสธ และแนะนำ Jeff Beck แทน แต่เมื่อเขาถูกเชิญอีกครั้งหลังจากความผิดหวังในการรวมตัวกับนักดนตรีที่เล่นใน Beck’s Bolero ไม่นาน คราวนี้เพจไม่รีรอ เขาเริ่มต้นกับ Yardbirds ด้วยการเล่นเบสแทนที่ Paul Samwell-Smith แต่ไม่นาน เขาก็เปลี่ยนมาเล่นกีต้าร์คู่กับเบ็ค พวกเขามักจะเล่นริฟฟ์ไปพร้อมๆกันและผลัดกันโซโล สไตล์ของเจฟฟ์ดูจะไฮเปอร์กว่าของเพจที่เต็มไปด้วยความสุขุม,มั่นใจ
เจฟฟ์ เบ็ค ออกจาก The Yardbirds ไปหลังจากการทัวร์อเมริกาในปี 1966 จิมมี่ เพจควบตำแหน่งกีต้าร์ต่อคนเดียว เขาทำหน้าที่ประคองวงต่อไปได้อย่างไม่เลว จนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิของปี 1968 พวกเขาก็สลายวง ทั้งๆที่ยังมีสัญญาทัวร์แถบสแกนดิเนเวียอยู่ ปีเตอร์ แกรนต์ผู้จัดการวงของ Yardbirds ในตอนนั้น (เขากลายมาเป็นผู้จัดการของ Led Zeppelin ในเวลาต่อมา) แจ้งให้เพจทราบว่า เขายังมีสิทธิใช้ชื่อวง Yardbirds อยู่
และเพจก็ยังต้องการจะใช้สิทธินั้น สิ่งที่เขาต้องหามาโดยด่วนก็คือ มือเบส (Chris Deja มือเบสคนเก่าของ Yardbirds ยังสองจิตสองใจอยู่ว่าจะเล่นต่อหรือไม่) นักร้อง และ มือกลอง สำหรับวง Yardbirds “ใหม่” นี้




Note: ผลงานบันทึกเสียงที่เพจทำไว้ร่วมกับ The Yardbirds มีดังนี้


ซิงเกิ้ล Happenings Ten Years Time Ago / Psycho Daisies (ตุลาคม 1966) เป็นซิงเกิ้ลเดียวที่ออกมาในยุคที่มีทั้งเพจและเบ็ค เบ็คเล่นลีดกีต้าร์ในทั้งสองเพลง Happenings… นั้นเพจเล่นริธึ่มกีต้าร์ (และอาจจะเล่นโซโลบางท่อน) ส่วนใน Psycho… เพจเล่นเบส (และอาจจะกีต้าร์ด้วย)


Yardbirds ในยุคเพจ/เบ็ค ยังบันทึกเสียงเพลง ‘Stroll On’ สำหรับซาวนด์แทร็คหนัง ‘Blow Up’ ด้วย(เพลงนี้ได้ไอเดียมาจากเพลง ‘The Train Kept A-Rollin’’


ลองเพลย์ ‘Little Games’ ออกมาในปี 1967 ยุคนี้เพจเล่นลีดคนเดียว เพราะเบ็คออกไปแล้ว เขานำ bow (คันชักไวโอลิน)มาเล่นในอัลบั้มนี้สองเพลงคือ Tinker Tailor Soldier Sailor และ Glimpses


อัลบั้ม The Yardbirds: "LIVE YARDBIRDS! FEATURING JIMMY PAGE” ออกมาในปี 1971 จากการแสดงในนิวยอร์คเมื่อปี 1968 เพจสั่งระงับการผลิตอัลบั้มนี้ในเวลาค่อมา อาจจะเป็นเพราะมันเต็มไปด้วยเสียงปรบมือปลอมๆที่อัดทับลงไป


The Yardbirds “BBC Sessions” ออกมาในปี 1997 แต่มีแค่ 6 เพลงที่มีเพจเล่นด้วย


ค่ำคืนหนึ่งในเซสชั่นการบันทึกเสียงอัลบั้ม Hurdy Gurdy Man ของ Donovan จอห์น พอล โจนส์ ในฐานะนักเรียบเรียงเสียงประสานในวันนั้น ได้เอ่ยปากขอเข้าร่วมวง ‘The New Yardbirds’ กับ จิมมี่ เพจที่มาเล่นกีต้าร์ในวันนั้นพอดี โจนส์อาจจะไม่ได้ต้องการเพจมากไปกว่าที่จะหา “ที่” ที่เขาจะสามารถแสดงฝีมือออกมาได้เต็มที่เหมือนกับเพจในช่วงก่อนหน้านั้น ด้วยฝีมือระดับโจนส์ที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง จับแนวดนตรีได้กว้างขวาง แถมยังอะเรนจ์เพลงได้อีก เพจจึงรับเขามาเป็นสมาชิกของวงคนที่สอง (ต่อจากเขา) ทันทีบีเจ วิลสัน แห่ง Procol Harum และ Clem Cattini อดีตวง Tornadoes คือสองมือกลองที่เพจสนใจจะจีบมาเข้าก๊วน แต่ทั้งสองคนก็ไม่เล่นด้วย เทอรี่ รีด...(ยังจำเขาได้ไหม นักร้องที่แพล็นต์ยกย่อง) คือคนต่อไปที่ถูกหมายหัว เพจอยากได้เขามาร้องนำและเป็นกีต้าร์มือสอง แต่รีดเพิ่งเซ็นสัญญากับมิคกี้ โมสต์ไปไม่นานนี้เอง อย่างไรก็ตาม เทอรี่ได้แนะนำเพจให้ลองไปคุยกับโรเบิร์ต แพลนต์ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีดู ตอนนั้นแพลนต์ตะบันไมค์อยู่กับวง Hobbstweedle จิมมี่ เพจจับรถขึ้นเหนือเดินทางไปเบอร์มิงแฮมเพื่อชมการแสดงของ Hobbstweedle ด้วยตาตัวเอง คืนนั้นแพลนต์และวงเล่นที่โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งหนึ่งที่คนดูนั่งดูอย่างเซ็งๆ แต่ลีลาของเขานั้นสุดจะไดนามิค แพลนต์ดูจะเป็นแฟนตัวเอ้ของ Moby Grape และคืนนั้นพวกเขาก็เล่นกันแต่เพลงเวสต์โคสต์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก สิ่งหนึ่งที่แล่นอยู่ในสมองของจิมมี่ก็คือ ไอ้หนุ่มผมทองคนนี้มันต้องมีปัญหาด้านบุคลิกภาพหรือเป็นคนที่ทำงานกับใครไม่ได้แหงๆ เพราะลีลาระดับนี้และก็ร้องมาสองสามปีแล้ว มันทำไมยังไม่ดังกระฉ่อนเกาะอีก? แน่นอนว่าเพจลากแพลนต์ลงใต้มาได้อย่างง่ายดาย และโชคซ้ำซ้อน แพลนต์ช่วยแก้ปัญหาเรื่องมือกลองให้เพจอีกด้วย แม้ว่าจะมีมือกลองมาขอออดิชั่นมากมาย แต่แพลนต์ก็แนะว่าลองไปฟังนาย จอห์น บอนแฮมตีดูก่อนเถิด เพจเคยได้ยินชื่อเสียงของเขามาก่อนแล้ว เพจไม่มีปัญหาใดๆในการมองทะลุว่าบอนแฮมคือขุมพลังสุดท้ายที่เขาค้นหา แต่บองโซก็ยังอิดออด เพราะเสียดายค่าจ้าง 40 ปอนด์/สัปดาห์ที่เขาได้ประจำจากการเล่นแบ็คอัพให้นักร้องอเมริกันโฟล์ค ทิม โรส แต่แพลนต์ก็ยืนยันว่ายังไงก็ต้องเอาเพื่อนเก่าของเขาคนนี้มาตีกลองให้ได้ “เขาเป็นมือกลองคนเดียวทีผมเห็นว่าเยี่ยม.” และสุดท้าย บองโซก็ทะยานขึ้นลำเรือเดียวกับ เพจ, แพลนต์ และ โจนส์ พวกเขาซ้อมกันครั้งแรกที่ชั้นใต้ดินของอาคารใน Gerrad Street, London ก่อนที่จะออกเดินทางสู่สแกนดิเนเวีย เพื่อเล่นในทัวร์ที่ Yardbirds มีสัญญาเอาไว้ นั่นคือเดือนกันยายน 1968 ทัวร์ของพวกเขาสร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้ชมสแกนดิเนเวียนทุกผู้ในทุกการแสดง และนาทีนั้น เพจสำนึกว่าวงดนตรีที่เขารวบรวมขึ้นมาใหม่นี้มีคุณค่าในตัวเองเกินกว่าที่จะใช้ชื่อเดิมๆของ Yardbirds พวกเขายิ่งใหญ่พอที่จะมีนามของตัวเอง และในวันที่ 15 ตุลาคม 1968 สี่หนุ่มก็ขึ้นเวทีที่มหาวิทยาลัยSurreyด้วยชื่อที่ครั้งหนึ่งคีธ มูนเคยแนะเอาไว้แบบขำๆ อาจจะเป็นในวงเหล้าหลังจาก Beck’s Bolero sessions : LEAD ZEPPELIN แต่เพื่อป้องกันความสับสนในการออกเสียง พวกเขาตัดตัวเอออกไป (ไอเดียของปีเตอร์ แกรนต์)



Ladies and Gentleman….Led Zeppelin !

Led Zeppelin: Life Before Led (2)






ในเวลาเดียวกัน จิมมี่ เพจก็เดินหน้าสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองในฐานะมือกีต้าร์ห้องอัดชั้นนำของอังกฤษ เขาเล่นในเพลง Twist And Shout ของ Brian Pools & The Tremeloes (อันดับ 4 ในอังกฤษ, 4 กรกฎาคม 1963) , ฝากฝีมือการเล่นในแบบของ Eddie Cochran ไว้ในเพลง Just Like Eddie ของ Heinz ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เพลงนี้ติดอันดับ 5 ในอังกฤษ ปีต่อมาเขาเล่นในเพลง Heart Of Stone ของ The Rolling Stones และเพลง Shout ของ Lulu (เพลงนี้เป็นเพลงแจ้งเกิดของเธอ ติดอันดับ7ในเดือนมิ.ย. 1964) เขามีส่วนสำคัญในเพลง Tobacco Road ของ The Nashville Teens (อันดับ6 ก.ค. 1964) เล่นในเพลงฮิตที่สุดของ Dave Berry – The Crying Game (อันดับ5 สิงหาคม 1964) และแม้แต่ทอม โจนส์ ก็ยังใช้บริการของจิมมี่ในเพลงอันดับ1เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1965 ของเขา-- It’s Not Unusual
งานเซสชั่นที่กล่าวมาข้างบนอาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แต่ก็มีอยู่หลาย sessions ที่เพจเล่นกีต้าร์ไว้ให้ที่กลายเป็นตำนานร็อคไปแล้ว เพลงอันดับ1 เพลงแรกของ The Kinks ‘You Really Got Me’ (มันอาจจะเป็นเพลงเฮฟวี่/ฮาร์ดร็อคเพลงแรกๆของโลก) และเสียงกีต้าร์ที่ได้ยินในเพลงนี้ก็อาจจะเป็นฝีมือของเพจ (เดฟ เดวี่ส์แห่ง The Kinks ยืนยันว่าแม้เพจจะอยู่ในห้องอัดวันนั้น แต่เสียงกีต้าร์นั้นเป็นของเขา แต่ ริทชี่ แบลคมอร์แห่ง Deep Purple กลับบอกว่าเป็นเพจแน่ๆ เพราะเพื่อนของเขา Jon Lord เล่นคีย์บอร์ดในเพลงนี้ และลอร์ดก็มั่นใจว่าเขาไม่เห็นศีรษะของเดฟแต่อย่างใด-สรุปว่ายังสรุปไม่ได้)มกราคม 1965 เพจเล่นในเพลง Baby Please Don’t Go ของวงไอริชชื่อดังที่กำลังสร้างชื่อในอังกฤษ Them ที่มีนักร้องชื่อ แวน มอริสัน เพลงนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นฝีมือเพจแน่ๆ แต่บิลลี่ แฮริสันมือกีต้าร์ของ Them ก็ยังอ้างว่า อย่างน้อยเขาก็เป็นคน “คิด” ท่อนริฟฟ์นี้เอง เพจยังไปโผล่ในซิงเกิ้ลแรกของ The Who ‘I Can’t Explain’ อีกด้วย พีท ทาวน์เซนต์มือกีต้าร์ของ Who ยังจำวันนั้นได้ดี เขาถามเพจ (ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน) ว่านายมาทำไมที่นี่วะ เพจตอบอย่างนิ่มนวลว่า เขามาเพื่อ “ให้น้ำหนักแก่เสียงกีต้าร์อีกนิดหน่อย กันจะมาเล่นริธึ่มเสริมลงไปแค่นั้น” และเพจก็ยังลามไปเล่นใน “Bald Headed Woman’ ที่เป็นหน้าบีของซิงเกิ้ลด้วยจอห์น พอล โจนส์ ก็วิ่งเข้าห้องอัดวุ่นวายไม่แพ้เพจจี้ แถมบางวันพวกเขายังเดินชนกันในสตูดิโอด้วยซ้ำ อย่างเช่นในการบันทึกเสียงเพลงเก่าของสโตนส์ As Tears Go By โดย แมรี่แอน เฟธฟูล โจนซี่เล่นเบสและเพจจี้เล่นกีต้าร์ ซิงเกิ้ลแรกของร็อด สจ๊วตในฐานะศิลปินเดี่ยว ‘Good Morning Little School Girl’ (กันยายน 1964)โจนส์ก็ไปช่วยเล่นด้วย เขายังอุตส่าห์หาเวลาไปออกงานเดี่ยวได้1แผ่นซิงเกิ้ล ‘A Foggy Day In Vietnam’ ในปีนั้น ยอดขายมันหายไปกับสายหมอก นอกจากเล่นเบสแล้วโจนส์ยังเป็น Musical Director ร่วมกับ Mickie Most ในเซสชั่นต่างๆมากมาย อาทิของ Rolling Stones, Nico, Tom Jones, Wayne Fontana และ The Walker Brothers เป็นต้นขณะที่โจนส์มี มิคกี้ โมสต์เป็นคู่หู เพจก็จับคู่กับโปรดิวเซอร์/ผู้จัดการของหินกลิ้ง Andrew Loog Oldham แอนดรูว์มีสังกัดของตัวเองชื่อ Immediate และเพจก็ปักหลักเป็นโปรดิวเซอร์และมือกีต้าร์ประจำสังกัดตั้งแต่สิงหาคม 1965แม้งานจะมาไม่ขาดสาย แต่เพจก็ยังรู้สึกว่าเขายังขาดอะไรไปอยู่ในชีวิตการเป็นนักดนตรี สิ่งนั้นก็คือการที่เขาจะแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา เพจลองออกงานเดี่ยวเป็นโซโลซิงเกิ้ลเมื่อต้นปี 1965 She Just Satisfies แต่มันก็ยังไม่เพียงพอกับความปรารถนาในจิตใจและไฟสร้างสรรค์ที่เดือดพล่านของนักกีต้าร์หนุ่ม
------
16 พฤษภาคม 1966 เป็นวันที่จิมมี่ เพจเริ่มได้กลิ่นทิศทางใหม่ที่เขาจะหลุดพ้นไปจากงานเซสชั่นแบบเดิมๆ ที่ IBC Studios ในลอนดอน เพจ. โจนส์. นิคกี้ ฮอปกินส์ (เปียโน) และ คีธ มูน มือกลองราชาปาร์ตี้แห่ง The Who มารวมหัวกันเพื่อจะเล่นดนตรีให้ Jeff Beck ในเพลง Beck’s Bolero มันเป็นเซสชั่นที่ยอดเยี่ยมเหลือเชื่อ ทุกคนเล่นกันได้เข้าขาและเฉียบขาดแม้จะไม่เคยซ้อมกันมาก่อน หลังจากเซสชั่นนี้จบลง ทุกคนประทับใจกับปฏิกิริยาอันเข้มข้นที่เกิดขึ้นในห้องอัด ถึงกับมีการพูดคุยจะตั้งวงกันเป็นการถาวร จอห์น พอล โจนส์ เป็นคนเดียวที่ไม่แสดงท่าทีจะเข้าร่วม เพจเล่าว่า พวกเขากะว่าจะตั้งชื่อวงว่า ‘Led Zeppelin’ ชื่อที่มาจากคำประชดประชันของมูน ว่าวงคงจะร่วงไม่เป็นท่าเหมือนเรือเหาะที่ระเบิดกลางหาวลำนั้น แต่วงในฝันนี้ก็ไม่ได้เกิด ตำนานเล่าว่าสาเหตุใหญ่คือพวกเขาหานักร้องนำไม่ได้ (สองตัวเลือกที่ปฏิเสธตำแหน่งไปคือ Steve Winwood ซึ่งกำลังจะฟอร์มวง Traffic และ Steve Marriott ของ The Small Faces) Beck’s Bolero กลายเป็นหน้าบีของซิงเกิ้ลดังของเบ็คในปี 1967 Hi-Ho Silver Lining และเพจก็คงยังต้องค้นหาหนทางและที่ๆที่เขาจะแสดงผลงานของเขาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป