Tuesday, 24 February 2009

John Lennon ที่ผมระลึกถึง ๒๕ ปีหลังการเสียชีวิต


(บทความนี้เขียนขึ้นในปี 2005)


John Lennon 25 years later
พิธีกรรมรำลึกเลนนอน


วันสุดท้ายของเขา-8 ธันวาคม 1980 จอห์นยังให้สัมภาษณ์อย่างเฮฮาในอีกไม่กี่ชั่วโมงก่อนตาย เขาเล่าว่าวันหนึ่งเขานอนเล่นอยู่บนเตียงกับ Sean ลูกชายวัย 5 ขวบ จอห์นถามลูกว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นอะไร? เด็กน้อยคิดอยู่พักใหญ่ก่อนจะตอบว่า ไม่อยากเป็นอะไร ผมโตขึ้นอยากเป็นแค่แดดดี้ธรรมดาๆ จอห์นเข้าใจความหมายของ Sean 5 ปีแรกของเด็กคนนี้จอห์นไม่จับงานดนตรีเลย เพื่ออยากจะใช้เวลากับลูกให้เต็มที่ เขาไม่เคยได้สิ่งนี้ในวัยเด็กจากพ่อแม่ และกับจูเลียนลูกชายคนแรกที่เกิดกับภรรยาคนแรก-ซินเธีย เขาก็แทบไม่มีเวลาให้ การที่ Sean บอกว่าเขาแค่อยากเป็นแดดดี้ธรรมดาๆ ก็หมายความว่าเขาไม่อยากให้พ่อกลับไปเล่นดนตรีอีก ช่วงสามสี่เดือนนั้น จอห์นหันกลับมาเข้าห้องอัดเพื่อทำเพลงอีกครั้ง จอห์นบอกลูกว่า "ฟังนะ การเล่นดนตรีทำให้พ่อมีความสุขมาก และเมื่อพ่อมีความสุข พ่อก็จะได้มาเล่นกับหนูอย่างสนุกยิ่งขึ้นไงล่ะ"แต่ความสุขทั้งสองอย่างของจอห์นก็ต้องมลายลงในแค่คืนนั้น บทสัมภาษณ์จบลงด้วยการยืนยันว่าเขาจะทำงานต่อไปจนวันตาย และจอห์นมั่นใจว่าวันนั้นยังคงอีกนานจะมาถึง

25 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรกับ โยโกะ โอโนะภรรยาหม้ายของจอห์น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือโยโกะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการคงสถานะอันยิ่งใหญ่ของจอห์น เลนนอนให้ค้างฟ้าอยู่อย่างไม่มีทีท่าจะดับสูญ โยโกะไม่เคย"ขาย"จอห์นถูกๆด้วยการปล่อยเรื่องในแง่ลบของเขาออกมาแม้แต่ครึ่งเรื่อง เธอใจเย็นพอที่จะนำงานเก่าๆของจอห์นออกมารีมาสเตอร์แค่ปีละแผ่นสองแผ่น โดยเธอจะลงมาควบคุมการรีมาสเตอร์ด้วยตัวเองทุกครั้ง และแทบทุกงานที่ออกมามีคุณภาพเสียงที่น่าพอใจมากๆ โยโกะไม่เคยพลาดเมื่อมีการแจกรางวัลต่างๆให้จอห์น เธอพร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ถึงเขาอย่างไม่มีเบื่อหน่าย และวันดีคืนดี เธอก็จะหาเรื่องมาถล่มใส่ พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตคู่หูนักแต่งเพลงในวง Beatles ของจอห์นสักครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าพอลจะไม่อาจขึ้นมาเบียดความเป็นตำนานของจอห์นได้ ผลงานที่ถือเป็นชัยชนะของเธออย่างแท้จริงคือ boxset John Lennon Anthology ที่ออกมาในปี 1998 ทั้งความปราณีตของอาร์ทเวิร์ค และตัวบทเพลงที่คัดแบ่งมาเป็นสี่แผ่นสี่ยุคตั้งแต่ยุคยังอยู่ในอังกฤษ-ย้ายมานิวยอร์ค-ยุค "สุดสัปดาห์ว้าเหว่"ที่เขาและเธอแยกจากกันอยู่หลายเดือน และยุคสุดท้ายที่พวกเขามาพำนักที่ดาโกต้าและออกอัลบั้มสุดท้าย 'Double Fantasy'

แต่ก็ไม่ทุกอย่างที่โยโกะทำให้จอห์นจะเข้าท่าเข้าทางไปหมด ดีวีดี Lennon Legend นั้นเจอข้อหาที่ว่ามีหลายเพลงที่ไม่ได้ใช้วิดีโอคลิปเวอร์ชั่นดั้งเดิม และความพยายามจะเสนอหน้าตัวเธอเองมากเกินเหตุ อัลบั้ม Acoustic ก็ถูกด่าขรม ด้วยคุณภาพเสียงที่ย่ำแย่ แถมเอาเพลงเก่าจาก Anthology มาขายเสียมากเกินครึ่งอัลบั้ม, การพยายามชูตัวจอห์นในแง่การเป็น Working Class Hero ก็ดูจะไม่มีใครเออออกับเธอไปด้วย ล่าสุดอัลบั้ม Peace, Love And Truth ที่มีขายในบ้านเรานั้นก็ออกอาการหนักด้วยการเอาเพลง Give Peace A Chance มาให้นักร้องเอเชียร้องทับลงไปเป็นรีมิกซ์ แต่ท่านผู้อ่านครับ ไอ้ที่ด่าๆกันนี่ แฟนๆก็ยังตามซื้อกันหมดอยู่ดี

ในแง่ดนตรี สิ่งที่จอห์นทำได้ยิ่งใหญ่ที่สุด คือผลงานที่เขาทำไว้กับ The Beatles ในปี 1962-1970 แต่ในแง่ความเป็นตำนานและฮีโร่ มันเป็นผลจากงานและการใช้ชีวิตของเขาในช่วงหลังจากแตกวงแล้ว (และผมเชื่อว่าเกือบ50%มาจากเพลง Imagine) อาจกล่าวได้ว่าจอห์นไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆในแง่ดนตรีเลยในช่วงทศวรรษ70's ความโชติช่วงของจอห์น-ศิลปินเดี่ยวนอกจากงานเพลงแล้ว มีอะไรที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ? อาจสรุปได้ 3 ประการคือ ภาพของนักเรียกร้องสันติภาพในยุคต้น 70's, การใช้ชิวิตที่เหลวแหลกในช่วง 73-74 ที่รู้จักกันในชื่อ 'Lost Weekend' ที่จอห์นถูกโยโกะไล่ (หรืออาจจะหนีออกมาเอง) จากนิวยอร์คมาเมาหัวราเหล้าข้ามปีกับก๊วนๆและเมย์ แพง เล(คู่)ขาที่แอลเอ ก่อนที่จะกลับมาสู่อ้อมกอดเมียรักอีกครั้ง ชีวิตที่เละเทะของเขาในช่วงนี้กลับทำให้จอห์นดู'ติดดิน' เป็นผู้เป็นคนเหมือนเราท่านที่มีโอกาสที่จะเป็นอย่างเขาได้กันทั้งนั้น (สิ่งนี้พอล แมคคาร์ทนีย์ไม่มี แม้เขาจะเคยถึงขั้นติดคุกที่ญี่ปุ่นมาแล้วก็ตามที) และสุดท้ายคือโศกนาฏกรรมของความตายของเขา ในช่วงเวลาที่ทุกคนตื่นเต้นกับการกลับมาของราชาตัวจริงของยุคซิกซ์ตี้ส์

เพื่อระลึกถึงการครบรอบวันตายจอห์น ผมหยิบงานสามอัลบั้มแรกที่จอห์นทำกับโยโกะในแนวอวองการ์ดในช่วงปี 1968-1969 มาฟังในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มันเป็นงานของจอห์นที่ผมยังไม่เคยฟัง ด้วยหวาดผวาในชื่อเสียงอันน่าเกรงขามของมัน Two Virgins ที่มีหน้าปกของสองหนุ่มสาวขี้อาย (จอห์นบอกไว้ว่างั้น) เกินกว่าที่จะใส่อาภรณ์ใดๆ จอห์นและโยโกะบันทึกเสียงงานชุดนี้ที่บ้านของจอห์นในวันที่ซินเธียไม่อยู่ เป็นคืนแรกที่พวกเขาได้อยู่ด้วยกัน และพอทำอัดเสียงเสร็จพวกเขาก็เมกเลิฟกันตอนรุ่งสางพอดี 'เสียง'ที่อยู่ในแผ่นนี้ประกอบไปด้วยเสียงกรีดร้องอันน่าผวาของหญิงโย ส่วนจอห์นก็เล่นเทปย้อนหลังมั่ง อัดเสียงนกนอกหน้าต่างมั่ง บางทีก็ไปดีดเปียโนดึ๋งๆทำท่าจะเป็นเพลงเหมือนกัน ฟังเพลงนี้แล้วเข้าใจเลยว่าทำไมนักวิเคราะห์ดนตรีจึงบอกว่า Revolution 9 เพลงสุดเพี้ยนสไตล์เดียวกันนี้ในอัลบั้ม 'The Beatles'นั้นมีแบบแผนอยู่ในตัว เพราะ Two Virgins นี่สิไร้รูปแบบ(มั่ว)จริงๆ มาแผ่นที่สองชื่อ Unfinished Music No.2 : Life With The Lions เพลงแรกยาวยี่สิบกว่านาที Cambridge 1969 ที่บันทึกจากการแสดงสด โยโกะหอนโต้ตอบกับเสียงหอน (feedback) จากกีต้าร์ของจอห์นตลอดเพลง ระทึกขวัญนัก ส่วนอีกแผ่นแพ็คเกจหวานคลาสสิก พร้อมของชำร่วย Wedding Album นัยว่าเป็นงานฉลองการแต่งงานของพวกเขา โดดเด่นด้วยเพลง John & Yoko ที่ทั้งสองผลัดกันเรียกชื่ออีกฝ่ายสลับกันในลีลาต่างๆ ยาวยี่สิบกว่านาทีเหมือนกัน ว้าว ใครฟังแล้วไม่ยิ้มให้เตะป้าโยได้เลย (แต่ท่านอาจยิ้มไม่ออกเมื่อทราบว่าเสียงจังหวะในเพลงนี้อัดมาจากเสียงหัวใจของลูกในท้องของพวกเขาที่ไม่มีโอกาสได้ลืมตาดูโลก {แท้ง} กรื๋ย!) ฉลากคำเตือนสำหรับสามชุดนี้ : ไม่ควรฟังเกินชีวิตละ1ครั้ง

หลังจากสามอัลบั้มน่าตื่นหูนั้นไปแล้ว ผมก็หยิบงานที่เหลือของจอห์นมาฟังเรียงกันไป เริ่มจากสี่ซิงเกิ้ลแรก Give Peace A Chance, Cold Turkey, Instant Karma! และ Power To The People ทุกเพลงมีพลังในตัวเองอัดแน่น แต่ก็เป็นพลังในช่วงเวลาของมัน, อัลบั้ม Live Peace In Toronto 1969 ครั้งแรกที่จอห์นเล่นดนตรีกับคนอื่นที่ไม่ใช่ Beatles ในรอบหลายปี มีเพลงร็อคแอนด์โรลดีๆหลายเพลงเช่น Blue Suede Shoes, Dizzy Miss Lizzy , Plastic Ono Band (1970) งานเดี่ยวจริงๆชุดแรกที่นักวิจารณ์โปรดปรานนัก จอห์นระบายความกดดันทั้งชีวิตลงไปใน10เพลงนี้ ด้วยดนตรีร็อคที่ดิบดุแต่ minimalist, Imagine (1971) ประสบความสำเร็จที่สุด และสมบูรณ์แบบที่สุด, Sometime In New York City(1972) อัลบั้มคู่ การพยายามมาจับประเด็นการเมืองเต็มตัว ล้มเหลวในทุกๆด้าน มีเพลง Woman Is The Nigger Of The World พอกู้หน้า, Mind Games (1973) กลับมาทำป๊อบอีกครั้ง ฝีมือการแต่งเพลงดูอ่อนล้าไป มีtitle track เยี่ยมอยู่เพลงเดียว, Walls And Bridges (1974) โยโกะไม่มีส่วนในงานนี้ กลับมาเข้าฟอร์มทั้งการแต่งเพลงและการร้อง ดนตรีหลากหลายและสนุก แต่เนื้อหาแอบคิดถึงภรรยาอยู่หลายช่วง, Rock And Roll (1975) รวมเพลงร็อคแอนด์โรลที่เขาชอบ ฟังคึกดี เสียงร้องโหนไปหน่อยทั้งชุด แต่ Stand By Me สุดยอด และ Double Fantasy (1980) ที่ผมอดทนฟังโดยไม่ข้ามแทร็คเพื่อจอห์นโดยเฉพาะ (อัลบั้มนี้จะเป็นเพลงจอห์นสลับกับของโยโกะตลอด) ผมรักทุกเพลงของจอห์นในอัลบั้มนี้ Milk And Honey งานที่จอห์นทำค้างไว้ก่อนตาย โยโกะรวบรวมมันออกมาในปี 1984 หลายเพลงในชุดนี้ชี้ให้เห็นว่าจอห์นน่าจะทำเพลงร็อคมากขึ้นกว่าใน Double Fantasy ซึ่งน่าจะเอาเพลง I'm Stepping Out ติดไปด้วย เพราะเนื้อหาเหมาะมาก ผมเกือบจะหยิบบอกซ์ Anthology มาฟังต่อแต่รู้สึกเหนื่อยเกินไป เก็บเอาไว้ฉลอง 30 ปีดีกว่า

โยโกะให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง กับคำถามที่ว่า เพลงจอห์นที่เธอชอบสุดคือเพลงไหน เธอตอบแบบน่าหมั่นไส้ว่าชอบทุกเพลง แต่ถ้าจะให้บอกตอนนี้ก็คงเป็น 'Watching The Wheels' จาก Double Fantasy เพลงนี้จอห์นเขียนตอบคนที่ชอบหาว่าเขาขี้เกียจไม่ทำอะไรเลยในช่วงที่เขาหยุดไปเลี้ยงลูกห้าปี แต่จอห์นบอกว่าเขามีความสุขดีที่อยู่นอกวงโคจร และชอบที่จะดูมันหมุนไปเรื่อยๆโดยที่เขาไม่ต้องหมุนตามไปด้วย ถ้าวิญญาณเขายังไม่ไปไหน จอห์นคงจะดูเมียรักหมุนกงล้อแห่งเลนนอนไปอย่างชื่นชม
"ฉันเคยถามเขาว่าเธอพอใจกับสิ่งที่ฉันทำไหม? เขาตอบว่าใช่ และฉันคิดว่าเขากำลังยิ้มอยู่ด้วย" โยโกะกล่าวปิดท้าย

อ้าว นี่ผมลืมเปิดไปเพลงนี่ Happy X'mas (War Is Over) สุขสันต์คริสต์มาสผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ สงครามจบลงได้ ถ้าคุณต้องการจริงๆ