Wednesday, 8 April 2009

PICTURES AT AN EXHIBITION


EMERSON, LAKE AND PALMER: PICTURES AT AN EXHIBITION (Deluxe Edition PLATINUM/VICTOR 2008) ****

ออกปี-2008 (ฉบับดั้งเดิมปี 1971)
บันทึกเสียง-มีนาคม 1971
โปรดิวเซอร์-Greg Lake
เอ็นจิเนียร์-Eddie Offord
แนวดนตรี-Progressive/Classical Rock


Platinum บ้านเราผลิตงานชุดนี้ออกมาในแบบ gatefold สองซีดี แพ็คเกจเนี้ยบไม่แพ้ของต่างประเทศ แถมราคายังเท่าซีดีแผ่นเดียว ต้องอย่างนี้สิครับถึงจะฟัดกับพวกของปลอมและการดาวน์โหลดฟรีๆได้ ผมเชื่อว่าถ้ารูปลักษณ์ของสื่องดงามน่าสะสมในราคาขนาดนี้คงไม่มีใครอยากเก็บของเทียมหรือแค่เป็นวิญญาณล่องลอยอยู่ในฮาร์ดดิสก์หรอกครับ Platinum ออกชุดนี้มาพร้อมๆกับ Deluxe Edition ของ Brain Salad Surgery ที่เป็นงานระดับตำนานอีกชุดของวงการร็อคก้าวหน้าและซับซ้อนที่เรียกกันว่า Progressive Rock ที่ผมอาจจะนำมาพูดถึงในโอกาสต่อไป โดยทั่วไปคอลัมน์นี้จะเน้นไปที่งาน new released แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีงานออกใหม่ที่โดดเด่น จึงขอฉวยโอกาสนี้ขุดงานคลาสสิกมาแนะนำกัน (จ้องมานานแล้ว)

ELP คือกลุ่มนักดนตรีสามคนที่ประกอบไปด้วย Keith Emerson อดีตจากวง The Nice พ่อมดคีย์บอร์ดผู้มีลีลาการเล่นซินธ์บนเวทีดุเดือดไม่แพ้ Jimi Hendrix, Greg Lake มือเบสและนักร้องผู้มีเครดิตที่ยิ่งใหญ่มาจาก King Crimson เขามีเสียงที่ก้องกังวานและน่าหลงใหลที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงร็อคยุคนั้น และ Carl Palmer มือกลองและเพอร์คัสชั่นที่ได้ชื่อว่ากระหน่ำกลองได้เร้าใจและสนุกสนานที่สุด เขาเคยอยู่วง Atomic Rootster มาก่อน แม้จะได้ชื่อว่าเป็น Progressive Rock แต่งานบันทึกเสียงของ ELP นั้นมันแตกต่างจากงานที่ซับซ้อนหดหู่หรือชวนปวดหัวอย่างวงอื่นๆในยุคเดียวกัน อดีตนักเขียนดนตรีชื่อดังของบ้านเรา-คุณพัณณาศิสแห่ง Starpics เคยสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า ในขณะที่วงดนตรีอื่นๆอย่าง Yes พยายามทำดนตรีให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ ELP กลับทำในสิ่งตรงข้าม เขานำ serious music อย่างดนตรีคลาสสิกมาทำให้ฟังง่ายขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาทำก็ไม่ได้ถูกใจทุกคนเสมอไป ดีเจชื่อดัง John Peel เคยเอ่ยถึงพวกเขาไว้หลังการแสดงครั้งหนึ่งว่า “ช่างเป็นอะไรที่สูญเปล่าของเวลา,อัจฉริยภาพ และค่าไฟ”

Pictures At An Exhibition คือการนำเอางาน classical music ของ Mussorgsky ในฉบับดัดแปลงโดย Ravel มาตีความใหม่ด้วยการบรรเลงของคีย์บอร์ด กีต้าร์ เบส และ กลอง มันเป็นไอเดียของ Keith หลังจากที่เขาได้ฟังงานชิ้นนี้จากคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งโดยบังเอิญ Keith กำลังมองหาเพลงคลาสสิกดีๆมาเล่นกับวงอยู่พอดี เพราะเขามีความรู้สึกว่า Greg ยังไม่ค่อยจะยอมรับงานประพันธ์ดนตรีของเขาเองเท่าไหร่นัก แต่สำหรับงานนี้ Greg มองเห็นศักยภาพของชิ้นงานทันที และ Pictures At An Exhibition ก็กลายเป็นดนตรีที่พวกเขาใช้ในการแสดงสดเป็นประจำตั้งแต่นั้นมา

มีความพยายามในการบันทึกเสียง Pictures At An Exhibition บนเวทีหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนสมบูรณ์ จนกระทั่งเอ็นจิเนียร์มือเทพ Eddie Offord ลงมาคุมงานด้วยตัวเองในการบันทึกเสียงการแสดงที่ Newcastle City Hall เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1971 คราวนี้มันเป็นการแสดงและการบันทึกเสียงที่เฉียบขาดและสอบผ่านการพิจารณาของสมาชิกทุกคน Keith เล่าให้ฟังว่า นอกจากปัญหาด้านเทคนิคที่ Eddie จัดการได้หมดแล้ว พวกเขาก็ตั้งใจเล่นในคืนนั้นกันเป็นพิเศษ มาถึงที่ฮอลล์และซ้อมกันตั้งแต่เช้าจนแน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาด อีกทั้งผู้ชมในคืนนั้นก็ตอบรับอย่างอบอุ่น การแสดงสดเพลงร็อคที่สมบูรณ์แบบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีของผู้ให้และผู้รับ การบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้ยอดเยี่ยมและชัดเจนจนมีหลายคนสงสัยว่ามีการนำไปแต่งเสียงในห้องอัดกันแค่ไหน แต่ใจผมคิดว่า 90% น่าจะมาจากมาสเตอร์เทปที่ทำได้เยี่ยมอยู่แล้ว (ผมมีเหตุผลอยู่ในใจ)

นอกจากเป็นงานประพันธ์ของคีตกวี Mussorgsky แล้ว ELP ยังแต่งเพลงเพิ่มเสริมเข้าไปอีกบางส่วน เช่น The Sage โดย Lake, Blues Variation โดย Emerson และ The Curse Of Baba Yaga โดย Palmer แต่การแสดงกลับจบด้วยงานของ Tchaikovsky ‘Nutrocker’

Deluxe Edition นี้มีเพลงแถมในซีดีแรก (ต่อจาก original album) คือ Pictures At An Exhibition Medley ยาว 15:26 นาที ที่ไม่มีการให้รายละเอียดว่าเป็นการแสดงที่ไหน แต่คาดว่าน่าจะเป็นการแสดงที่ Isle Of Wight Festival ในวันที่ 29 สิงหาคม 1970 ส่วนซีดีแผ่นสองคือการบันทึกเสียงที่ Lyceum เมื่อเดือนธันวาคม 1970

Pictures At An Exhibition มีความสำคัญในแง่ที่เป็นการนำเพลงคลาสสิกมาตีความเป็นร็อคได้อย่างสร้างสรรค์และได้ประสิทธิผลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มันยังเป็นการบันทึกการแสดงสดของสุดยอดฝีมือร็อคทริโอที่คุณต้องฟังด้วยหูตัวเองถึงจะซาบซึ้งถึงความเป็นอัจฉริยะแห่งการบรรเลงของพวกเขา นั่นคือยุค 70’s ที่มนุษยชาติยังพอมีเวลาเหลือเพียงพอให้กับดนตรีที่สุรุ่ยสุร่ายอย่าง Progressive Rock

Ray Guns are not Just the Future: The Bird And The Bee


The Bird And The Bee: Ray Guns Are Not Just The Future (Blue Note 2009)

ออกเมื่อ-มกราคม 2009
บันทึกเสียง-2008
โปรดิวเซอร์- Greg Kurstin / Inara George
แนวดนตรี-Pop/Electronic/Lounge/Easy Listening/Lite Jazz

Track listing
1. "Fanfare" – 0:29
2. "My Love" – 3:46
3. "Diamond Dave" – 3:14
4. "What's in the Middle" – 3:21
5. "Ray Gun" – 4:42
6. "Love Letter to Japan" – 4:07
7. "Meteor" – 3:21
8. "Baby" – 3:50
9. "Phil" – 0:10
10. "Polite Dance Song" – 3:47
11. "You're a Cad" – 3:10
12. "Witch" – 3:55
13. "Birthday" – 3:48
14. "Lifespan of a Fly" – 3:14

สองปีก่อนอัลบั้ม The Bird And The Bee สร้างความชุ่มฉ่ำในหัวใจให้นักฟังเพลงแนวป๊อบ-แจ๊ส-อีเล็กโทรนิกแบบกระจุ๋มกระจิ๋ม ด้วยเพลงดัง Again & Again ที่ฟังวนไปวนมากันได้ทั้งวันเหมือนชื่อเพลง และอีกแทร็คชื่อหวาดเสียว F_cking Boyfriend เสียงร้องของ “Bird” นั้นช่างหวานใสทรงเสน่ห์ ส่วน “Bee” นั้นก็ช่างคิดช่างปรุงดนตรีได้แพรวพราวน่าฟัง ทั้งๆที่เป็นดนตรีที่สร้างสรรค์จากเครื่องเคราอีเล็กโทรนิกเป็นส่วนใหญ่ อัลบั้มนั้นถือเป็นงานที่ดังเงียบๆและได้รับความชื่นชมเป็นอย่างดีจากนักวิจารณ์ allmusic.com ยกยอว่าเป็นงานที่ “ไม่อาจห้ามใจ(ให้รัก)ได้” เพราะมัน “เต็มไปด้วยเสน่ห์และสดชื่นไปเสียทุกซอกทุกมุม”

The Bird And The Bee คือ Duo จากลอสแองเจอลิส “Bird” คือนักร้องสาวเสียงใส Inara George (ตัวเธอเองก็มี solo albums ออกมาเหมือนกัน) ส่วน “Bee” มีนามว่า Greg Kurstin โปรดิวเซอร์หนุ่มและนักคีย์บอร์ดผู้มีเครดิตการทำงานให้ศิลปินป๊อบยาวเหยียด อาทิ Lily Allen, Beck ,Kylie, The Flaming Lips ยัน Red Hot Chili Peppers เครดิตล่าสุดที่ทำให้คนเริ่มจำชื่อเขาได้คือการเป็นโปรดิวเซอร์เดี่ยวๆ (รวมทั้งการช่วยในด้านการแต่งเพลง) ให้อัลบั้มที่สองของสาวซ่าส์ Lily Allen: It’s Not Me, It’s You (รีวิวไปแล้วใน GM2000 เล่มก่อนครับ)

Ray Guns Are Not Just The Future ออกมาก่อนหน้าอัลบั้มของ Lily Allen สองสัปดาห์ และไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาเปรียบเทียบก็บอกได้ทันทีว่าสองอัลบั้มนี้ต้องมีคน “ทำดนตรี” คนเดียวกันแหงๆ เพราะซาวนด์เหมือนกันชนิดสามารถสลับนักร้องกันได้โดยไม่มีปัญหา (ปัญหาก็คือหลายเพลงที่เสียงของ Lily และ Inara ยังคล้ายๆกันเข้าไปอีก) ถ้าคุณชอบอัลบั้มของ Lily ก็คงจะชอบ Ray Guns… ล่ะครับ เพียงแต่มันมีความเป็นแจ๊ซมากกว่า ซ่าส์น้อยกว่า แต่หลากหลายและลึกซึ้งเป็นผู้ใหญ่กว่า ถ้ามองในแง่ฝีมือในการทำงานแบบโปรดิวเซอร์ต้องถือว่า Greg ยังต้องปรับปรุง เพราะแกใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปเต็มเหนี่ยวเหลือเกิน แต่ไม่ได้หมายความแต่ละเพลงในอัลบั้มจะเหมือนกันไปหมดนะครับอย่าเข้าใจผิด

แต่อย่าไปตั้งแง่มุมอะไรให้มันเสียอารมณ์ เพลงไพเราะและดนตรีดีๆอย่างนี้มีให้ฟังก็ดีแล้ว ทุกเพลงในอัลบั้ม Ray Guns.. สามารถเปิดฟังสบายๆได้ทุกสถานการณ์ตั้งแต่ล้างรถ,ออกกำลังกาย ,เป็นเพลงประกอบ video link หรือทำวิทยานิพนธ์ แต่ถ้ามีเวลาจะใส่หูฟังเพื่อละเมียดเอารายละเอียดก็จะพบอะไรซ่อนเร้นอยู่อีกมาก คงไม่ต้องบรรยายกันทุกเพลงสำหรับอัลบั้มนี้ แต่ถ้าอยากจะลอง download มาฟังเป็นตัวอย่างชิมลาง ก็ขอแนะนำ My Love, Baby, Birthday ในแนวอ้อยสร้อยหวานแหวว แต่ถ้าจะอยากฟังอะไรที่กระชุ่มกระชวยขึ้นมาอีกนิดก็ลอง Love Letter To Japan หรือ Meteor ครับ

อัลบั้มแหววๆนี้อาจจะไม่ cool หรือเท่นักถ้าคุณจะบอกว่ามันเป็นงานที่คุณโปรดปรานให้เพื่อนๆสุดฮิปของคุณฟัง แต่นั่นคือความหมายของ Guilty Pleasure ล่ะครับ สรุปง่ายๆว่าเป็นงานที่เหมาะสำหรับคนชอบฟังเพลงอีเล็กโทรนิกป๊อบที่ขับกล่อมโดยนักร้องสาวเสียงหวาน...ออกแจ๊ซล่องลอยนิดๆ หรือถ้าคุณเป็นนักฟังรุ่นใหญ่ที่หลงใหลเพลงในแนว lounge music มาก่อนก็จะไม่ผิดหวังกับงานนี้แน่นอน ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็กลายเป็นอัลบั้ม “รับแขก” อันดับ 1ของบ้านผมไปแล้วครับ

อัลบั้มในแนวๆเดียวกันที่คุณน่าจะชอบถ้าคุณชอบ Ray Guns… Diana Krall / Quiet Nights, Melody Gardot / My One and Only Thrill, She & Him / Volume One, Santogold / Santogold และถ้าอยากขยายขอบเขตในการฟังขึ้นไปอีกนิดก็แนะนำ Everything That Happens Will Happen Today ของ David Byrne และ Brain Eno ครับ (ชื่อชั้นอาจจะดูน่าสะพรึงกลัว แต่ดนตรีไพเราะและฟังง่ายเกินความคาดหมาย)

(รีวิวนี้เขียนเสร็จตอนรุ่งเช้าวันที่ 8 เมษายน ก็หวังว่า Guns are just the faraway future นะ)