Friday, 27 February 2009

Snoppy & Jazzy DAVID BENOIT Jazz For Peanuts






Jazz เป็นดนตรีที่น่าอัศจรรย์ วันหนึ่งมันอาจเป็นซาวนด์แทร็คประกอบหนังฟิล์มนัวร์อันแสนดำมืด แต่วันรุ่งขึ้นคุณก็อาจจะได้ยินมันโลดแล่นเป็นแบคกราวน์ให้การ์ตูนน่ารักๆอย่าง Peanuts ที่มีตัวเอกคือ Snoopy ที่ชาวไทยรู้จักกันดี

Jazz For Peanuts เป็นงาน retrospective ของดนตรีแจ๊สที่เป็นส่วนหนึ่งของการ์ตูนอมตะเรื่องนี้ ตั้งแต่ยุคของ Vince Guaraldi ที่รับหน้าที่ทำเพลงประกอบให้ในตอนแรกๆ และ 20 ปีหลังที่ David Benoit รับไม้ต่อ

ในเมื่อมันเป็นแจ๊ซประกอบการ์ตูนใสๆอย่าง Peanuts คุณจึงไม่ต้องหวังว่าจะได้ฟังการ improvise อย่างหน้าดำคร่ำเคร่ง หรือจังหวะและตัวโน๊ตที่ซับซ้อนเกินวัย Jazz For Peanuts คือแจ๊ซที่เหมาะสำหรับเด็กๆและผู้คิดจะเริ่มลองของกับดนตรีแนวนี้อย่างแท้จริง เพราะมันเต็มไปด้วยบทเพลงที่น่ารัก สดใส ฟังไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้หวานแหววเรื่อยเจื้อยจนหาความเป็นแจ๊ซไม่เจออย่างดนตรีของ Kenny G แต่จะว่าไปตาหัวฟูตลอดกาลก็ยังมาฝากฝีมือไว้ในอัลบั้มกะเค้าด้วยหนึ่งเพลง ซึ่งก็เป็นเหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมาที่พอ G ไปทำงานนอกเค้ามักจะผ่อนคลายและเล่นได้เยี่ยมกว่าในอัลบั้มของตัวเองเสมอ

น่าเสียดายที่มีแค่ 10 เพลง แต่ก็เป็น 10 เพลงที่เยี่ยมยอดน่าฟังทุกเพลง Benoit ไม่ได้ขายของเก่าอย่างเดียว เขานำเพลงเก่ามาบรรเลงใหม่หลายเพลงตั้งแต่เพลงแรก You’re In Love, Charlie Brown ที่แต่งโดย Guaraldi เดวิดปล่อยให้เสียงเครื่องเป่าของ Christian Scott (Trumpet) และ And Suzuki (Tenor Sax) โดดเด่น ก่อนที่เขาจะมาเก็บตกบน Steinway Piano อย่างเพราะพริ้ง อีกสองเพลงที่เป็นเพลงเก่าของ Guaraldi ที่ Benoit นำมาบรรเลงใหม่คือ The Great Pumpkin Waltz และ Be My Valentine เพลงแรกให้ข้อมูลไว้ในซีดีว่าเป็นการบรรเลงของทริโอ เปียโน เบส กลอง แต่กลับมีกีต้าร์ออกมาอิมโพรไวส์หน้าตาเฉย (ผมว่าน่าจะสลับข้อมูลกับ Wild Kids เพลงถัดมาที่ไม่ได้ยินเสียงกีต้าร์แต่มีลิสต์ว่าเล่นโดย Pat Kelley) เพลงที่ Benoit แต่งเองอย่าง Rollerblading, Re-Run’s Theme และ Wild Kids ที่แต่งร่วมกับ Dave Grusin ดูจะมีรายละเอียดทางดนตรีมากกว่าที่ Guaraldi แต่ง แต่ก็ไม่มีเสน่ห์กระจุ๋มกระจิ๋มเท่า โดยเฉพาะเมื่อปิดอัลบั้มด้วยแทร็คอมตะ Linus And Lucy ที่ Benoit ตัดสินใจใช้เวอร์ชั่นเก่าของ Vince Guaraldi Trio เสียเลย (จากตอน A Charlie Brown Christmas ที่ผมแนะนำให้หาซีดีชุดนี้มาฟังด้วยครับ แต่ต้องเป็นเวอร์ชั่นก่อน remaster นะครับ เพราะรีได้เน่ามาก)

นอกจากงานของ Benoit และ VGT แล้วยังมีแทร็คจากแขกอย่าง Wynton Marsalis ใน The Buggy Ride (วินตันเคยมีงานทริบิวต์ให้การ์ตูนเรื่องนี้ในปี 1995-Joe Cool’s Blues) และ Dave Brubeck ในเพลง Benjamin ที่บรูเบ็คโชว์ฝีมือชั้นครู (มาจากตอน NASA Space Station) เพลงที่ตา Kenny G มาวาดลวดลายโซปราโนฉ่ำๆชื่อ Breadline Blues แต่งโดยเจ้าพ่อ GRP Dave Grusin

หาซื้อได้ในเมืองไทยในราคาไม่แพงครับ

The Beatles | Hey Jude เพลงยาวมหากาพย์ของสี่เต่าทอง





Hey Jude เริ่มต้นด้วยเสียงร้องของผู้ชายหนึ่งคนและเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่
7 นาทีต่อมา มันจบลงด้วยเสียงกึกก้องของเครื่องดนตรี 50 ชิ้น
มันเป็นซิงเกิ้ลที่มีความยาวมากที่สุดและขายดีที่สุดของวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ผมได้ยิน Hey Jude ครั้งแรกจากอัลบั้ม 1967-1970 เมื่อประมาณพ.ศ. 2524 มันเป็นเพลงที่ไม่เคยอยู่ในอัลบั้มปกติของพวกเขามาก่อน เพราะในปี 1968 นี่เป็นเพลงที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นซิงเกิ้ลโดยเฉพาะ (เกือบทุกซิงเกิ้ลของ Beatles เป็นอย่างนั้น เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้แฟนๆเสียเงินซ้ำซากหลายครั้ง!) ท่วงทำนองและเสียงร้องของพอล แมคคาร์ทนีย์สร้างความประทับใจให้ผมทันที แต่ว่าท่อนสุดท้ายของมัน ที่เป็นคำร้องเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า(18ครั้ง)ยาวกว่าสามนาทีก็ทำให้ผมมึนไปเหมือนกันว่าพวกเขาทำอะไรกันอยู่(วะ) แต่ในปัจจุบันท่อน na na na นี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามันทำให้ Hey Jude กลายเป็นเพลง sing along สำหรับ stadium ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพลงหนึ่งของโลก

ชีวิตการแต่งงานของจอห์น และ ซินเธีย เลนนอนกำลังอยู่ในช่วงใกล้ล่มสลายในตอนต้นปี 1968 จอห์นต้องการหย่าจากซินเธียเพื่อไปใช้ชีวิตกับคนรักใหม่ของเขา ศิลปินสาวชาวญี่ปุ่น-โยโกะ โอโนะ จอห์นกับซินเธียมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน-จูเลียน เลนนอน จูเลียนถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงรุ่งอรุณของ Beatlemania ในปี 1963 พอล แมคคาร์ทนีย์สนิทกับครอบครัวของจอห์นพอสมควร และเรื่องนี้ก็ทำให้ “อาพอล” เห็นใจซินเธียและจูเลียนยิ่งนัก บ่ายวันหนึ่งเขาขับรถออกนอกเมืองเพื่อไปเยี่ยมสองแม่ลูก ระหว่างทางนี้เองที่พอลแต่งเพลงนี้ขึ้นมาจากการฮัมปากเปล่า

เดิมทีพอลตั้งชื่อเพลงว่า Hey Jules (ใช่แล้วครับ ย่อมาจาก Julian) แต่ภายหลังเขาเปลี่ยนเป็น Jude เพราะว่ามัน “ฟังดูเป็นคันทรี่ตะวันตกกว่า”

เนื้อหาของ Hey Jude โดยรวมก็เป็นการให้กำลังใจแก่ Julian ล้วนๆ ประเด็นของมันก็คือให้ทำความเศร้าโศกให้เป็นพลังในการที่จะต่อสู้โลกต่อไป Take A Sad Song And Make It Better, don’t make it bad, don’t let me down… แม้ว่าพอลจะยืนยันมาตลอดว่าเพลงนี้แต่งให้จูเลียน แต่ก็ยังมีคนคิดไปเป็นอื่น หนึ่งในนั้นคือ จอห์น เลนนอน เขายืนยันว่าพอลแต่งเพลงนี้ให้เขาโดยตัวเองก็ยังไม่รู้ตัว (จิตใต้สำนึก) ในความหมายของจอห์นนี่เป็นเพลงที่เชียร์ให้เขารีบออกไปอยู่กับโยโกะเร็วๆ (Remember to let her into your heart, then you can start to make it better.) และก็ยังมีพวกคิดมากบางกลุ่มไพล่คิดไปว่านี่เป็นเพลงยาเสพติดอีกเพลงของ Beatles ท่อน Remember to let her under your skin, then you begin to make it better จะเป็นอื่นไปได้หรือนอกจากการกล่าวถึงการฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น! ท่อน The movement you need is on your shoulder เป็นท่อนที่จอห์นชอบที่สุดทั้งๆที่พอลคิดว่ามันห่วยจะตาย แต่จอห์นยืนยันว่า “เอามันไว้อย่างงั้นแหละ ไอเข้าใจความหมายของมัน”
ไม่ว่าจะมองว่ามันเป็นเพลงบัลลาด บลูส์ หรือกอสเพล นี่เป็นหนึ่งในเมโลดี้ที่งดงามที่สุดที่พอลเคยเขียนมา และเป็นการร้องที่สุดยอดที่สุดของเขาในเพลงทั้งหมดของ Beatles

ส่วนความหมายลึกๆของมันนั้น ผมเชื่อว่าเขาเขียนให้จอห์นครับ....

บันทึกตำนาน Pink Floyd at Live8



Saturday 2 July 2005, Hyde Park , London




ใครเป็นต้นตอของความคิดของการจัดคอนเสิร์ต Live8 บ๊อบ เกลดอฟ? อาจจะใช่ แต่เขาอาจได้ไอเดียนี้มาจากบางประโยคของ นิค เมสัน มือกลองของจักรพรรดิแห่งโปรเกรสซีพร็อค Pink Floyd



นิค ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Mojoเมื่อปี 2004 กับคำถามที่ว่า “เป็นไปได้ไหมที่จะมีคอนเสิร์ตรอบเดียวของ Pink Floyd ที่มีโรเจอร์ วอเตอร์ส ร่วมอยู่ด้วย จะเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีของอัลบั้ม Wish You Were Here ก็ยังได้” นิคตอบว่า


“สำหรับผมเองนั้นผมพอจะหลับตานึกภาพผมทำเช่นนั้นได้ แต่ผมมองไม่เห็นว่าโรเจอร์จะอยากนะ ส่วนเดฟนั้นคุณต้องทำให้เขาเกิดแรงกระตุ้นอย่างเต็มพิกัดเลยล่ะถึงจะทำให้เขากลับมาทำงานได้ มันคงจะเป็นอะไรที่เยี่ยมยอดมากถ้าเราจะมาทำอะไรร่วมกันในสิ่งที่เป็นการกุศลอย่างเข่นคอนเสิร์ตไลฟ์เอดครั้งใหม่ งานสำคัญที่มีเนื้อหาเยี่ยงนั้นล่ะจะทำให้เรามารวมกันได้ มันจะแจ่มเจ๋วมาก แต่ผมก็อาจจะเป็นพวกใส่อารมณ์ซาบซึ้งเกินเหตุไปหน่อย คุณก็รู้ว่าพวกเรามือกลองแก่ๆก็มักจะเป็นอย่างนี้แหละ!”


หกเดือนต่อมา เซอร์ บ๊อบ เกลดอฟ โทรมาหานิคที่บ้าน เซอร์บ๊อบเคยเล่นบทนำในภาพยนตร์ Pink Floyd The Wall มาก่อนในยุค 80’s แต่เขากับนิคก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกลดอฟเล่าไอเดียการจัด Live8 ให้นิคฟัง หลังจากงงอยู่พักหนึ่ง นิคก็เข้าใจประเด็น Live8 เป็นคอนเสิร์ตที่ไม่ต้องการเงินบริจาค แต่เป็นงานที่ต้องการความสนใจและใส่ใจจากโลกและผู้นำสำคัญๆของโลก ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดนตรีที่จะเกิดขึ้นในงาน ต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ และ อะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการรียูเนียนของ Pink Floyd


โรเจอร์ วอเตอร์ส (เบส,ร้อง) เดฟ กิลมอร์ (กีต้าร์,ร้อง) นิค เมสัน (กลอง,ซาวนด์เอเฟเฟ็ค) และ ริค ไรท์ (คีย์บอร์ด) คือสมาชิกของ Pink Floyd ในยุครุ่งเรืองที่สุด พวกเขาเล่นคอนเสิร์ทด้วยกันครั้งสุดท้ายที่ Earls Court ในลอนดอน เมื่อปี 1981 หรือประมาณ 24 ปีมาแล้ว โรเจอร์ออกจากวงไปหลังจากอัลบั้ม Final Cut (อัลบั้มออกในปี 1983 และโรเจอร์ ประกาศลาออกจากวงในปี 1985) เดฟ นิค และ ริค ยังคงใช้ชื่อ Pink Floyd และออกงานสตูดิโออัลบั้มมาอีกสองชุดคือ A Momentary Lapse Of Reason (1987) และ The Division Bell (1994) และแม้ว่างานทั้งสองชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จในด้านพาณิชย์เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เป็นการยากเลยที่ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงการขาดหายไปของโรเจอร์ วอเตอร์สผู้ที่ในยุคหลังของวงเป็นแกนหลักในการแต่งเพลงและกำหนดคอนเซ็พท์ของแต่ละอัลบั้ม Pink Floyd ที่ไม่มีโรเจอร์ยังคงความเนี้ยบและพิถีพิถันไว้ แต่มันไม่มีความเฉียบคมของแนวคิดและความเข้มข้มของดนตรีและอารมณ์บีบคั้นก็แทบจะหายไปทั้งหมด


งานเดี่ยวของโรเจอร์ วอเตอร์สนั้นไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายเท่า Pink Floyd เขาออกงานสตูดิโอมาสามอัลบั้มคือ The Pros And Cons Of Hitchhiking (1984) , Radio K.A.O.S. (1987) และ Amused To Death (1992) ในความเห็นของผม งานเดี่ยวของโรเจอร์ยังคงความเป็น Pink Floyd classic มากกว่า Pink Floyd เองเสียอีก เว้นไว้อย่างเดียวคือเสียงกีต้าร์ของเดฟ ที่ไม่ว่าโรเจอร์จะหามือกีต้าร์สุดเซียนอย่างแคลปตันหรือเจฟฟ์ เบ็คมา ก็ยังไม่อาจทดแทนได้


และหลายปีที่ผ่านมา รอยร้าวระหว่างโรเจอร์และสมาชิกของคนอื่นก็ไม่มีวี่แววว่าจะประสานกันได้ ตั้งแต่เขาออกจากวง และมีการฟ้องร้องไม่ให้เดฟและนิคใช้ชื่อ Pink Floyd หากิน แน่นอน โรเจอร์แพ้.... และการที่เดฟ นิค และ ริค ยังสามารถเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีโรเจอร์ได้ พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นอะไรสำหรับการรียูเนียน


แต่สำหรับโรเจอร์ เขาอาจจะหาจังหวะและลู่ทางเหมาะๆสำหรับการเดินทางลงจากอีโก้ของเขาเท่านั้น


กลับมาที่บ้านของนิค เซอร์บ๊อบสารภาพว่าเขาพยายามติดต่ออ้อนวอน เดฟ กิลมอร์แล้วสำหรับการรียูเนียนครั้งนี้ ทั้งโทร ทั้งพยายามจะบุกไปถึงบ้าน แต่มือกีต้าร์วัย 60 เซย์โนอย่างเดียว นิคให้ความเห็นว่าสาเหตุที่เดฟไม่อยากตอบรับโครงการนี้มองได้หลายอย่าง หนึ่งก็คือ ทางวงไม่ได้อยู่ในสถานะของการทำงานมาหลายปีแล้ว สองคือ เดฟกำลังทำโซโล่โปรเจ็คอยู่ และเดฟคงรำคาญกับการที่จะต้องมาตอบปัญหาเรื่องการรียูเนียนระยะยาวและการทำอัลบั้มซึ่งจะต้องตามมาแน่ๆถ้าพวกเขาตอบรับการเล่นใน Live8


ตัว นิค เมสันเองนั้นไม่มีปัญหา เขายินดีอย่างยิ่งสำหรับการรียูเนียนที่จะเกิดขึ้น นิคเคยไปเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตของโรเจอร์มาแล้วในปี 2002 และเขาเพิ่งเขียนหนังสือ personal history ของวงออกขายไปในปี 2004 ในชื่อ Inside Out (เดฟและโรเจอร์มีส่วนช่วยตรวจพรูพด้วย) แต่เขาไม่คิดว่าตัวเขาเองไม่มีปัญญาจะไปตะล่อมเดฟได้สำเร็จแน่ “You can take a horse to the water but you can’t make it drink; in David’s case you can’t even get him near the water. However, bringing the Waters to David might just work…” นิคเผยแผนของเขาให้ฟังภายหลัง ตรงนี้ไม่ขอแปลนะครับ


นิคอีเมล์ไปหาโรเจอร์ซึ่งเมล์ตอบกลับมาทันควัน โรเจอร์โทรหาบ๊อบและเมื่อได้ฟังไอเดียเขาก็เห็นด้วยเต็มที่ สองสัปดาห์ต่อมาบ๊อบโทรกลับไปอีกที และโรเจอร์ก็แทบเดี้ยงเมื่อทราบว่ากำหนดการของคอนเสิร์ทนั้นเหลืออีกไม่ถึงเดือน ไม่มีเวลาจะเอ้อระเหยอีกต่อไป โรเจอร์หยิบโทรศัพท์กดไปหาเดฟ “เฮลโหล...ไอคิดว่าเราควรจะรับงานนี้นะ” เดฟยังไม่แน่ใจด้วยความกังวลว่าเสียงร้องและกีต้าร์ของเขาจะอยู่ในฟอร์มที่ขึ้นสนิมเกินไป เขาขอเวลาเพื่อเช็คความฟิตก่อน


24 ช.ม. ต่อมาเดฟตอบตกลง


ก็เหลืออีกคนเดียวคือ ริค ไรท์ ที่อาจจะเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ริคตอบตกลง แม้ว่าเขาอาจจะยังหวาดผวาอยู่ว่าเขาจะมีปัญหากับโรเจอร์อีกหรือเปล่า (ริคถูกโรเจอร์ตะเพิดออกจากวงตั้งแต่สมัยบันทึกเสียง The Wall)
เดฟให้สัมภาษณ์นักข่าวสั้นๆว่า “เรื่องบาดหมางระหว่างโรเจอร์กับวงถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากเมื่อนำมาเทียบกับเรื่องระดับนี้ (Live8)” ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงโลกก็ทราบว่า Pink Floyd กำลังจะกลับมาแล้ว และพวกเขาทำให้ทั้งโลกหันมามอง Live8 อย่างเต็มตา


Pink Floyd มีเวลาสำหรับซ้อมและเตรียมทุกอย่างแค่ 10 วัน พวกเขาเปิดโรงแรม Connaught ในลอนดอนเพื่อเตรียมการนี้ โรเจอร์และเดฟสุมหัวกันเลือกเพลง เกลดอฟให้ข้อเสนอบางอย่าง และนิคอยากให้เล่นเพลงช้าๆ... การซ้อมเป็นไปอย่างราบรื่น โจ๊กเก่าๆถูกขุดขึ้นมาอุ่นและแจกจ่ายให้ฮากันเป็นระยะๆ วิดีโอเทปเก่าๆถูกแงะขึ้นมาตัดต่อเพื่อประกอบการแสดง โรเจอร์ยังคงคมกริบในการแจงไอเดียในสิ่งที่เขาต้องการ และที่น่าประหลาดใจคือเขายินดีรับฟังความเห็นคนอื่นๆ (ก็เป็นด้วย)


Pink Floyd ยกทัพไปซ้อมเข้มๆสามวันเต็มที Black Island วงสนับสนุนและทีมงานด้านเทคนิคเก่าๆถูกเรียกตัวเข้ามาเสริมเต็มอัตราศึก สถานการณ์ส่วนใหญ่สงบดี จะมีบ้างก็ตอน ริค ไรท์เอ่ยถึงเบส ไลน์บางท่อนที่ กาย แพร็ตเล่นไว้ในทัวร์ครั้งก่อน (กายเป็นลูกเขยของริค) โรเจอร์ได้ยินเข้าถึงกับฉุนขาด “Rick, what you and your son-in-law get up to in private is none of my business.” (โปรดสังเกตว่าขนาดด่ายังมีสัมผัส)


ก่อนหน้างานจริง 1 วัน พวกเขาได้ไปซ้อมที่ Hyde Park สถานที่จริง ทุกอย่างราบรื่น แม้ว่านิคจะมีปัญหากับกลองบ้างนิดหน่อย แต่เขามองว่ามันเป็นธรรมชาติที่จะถูกแก้ไขไปเองในวันจริง


Pink Floyd เล่น Live8 เป็นวงรองสุดท้ายในตอนห้าทุ่มของวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2005 ไฟสนามหรี่มืด เสียงหัวใจเต้นเป็นจังหวะค่อยๆดังขึ้นทีละน้อย มันคือเพลง Speak To Me จากอัลบั้มที่ติดอันดับนานที่สุดในโลก The Dark Side Of The Moon ไฟบนเวทีสว่างขึ้น และเราก็ได้เห็นพวกเขาพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง หลายคนคงยังไม่เกิดด้วยซ้ำตอนที่เขาเล่นด้วยกันครั้งสุดท้าย Pink Floyd เล่นด้วยกันสี่เพลงคือ "Speak to Me/Breathe/Breathe Reprise", "Money", "Wish You Were Here" และ “Comfortably Numb". เป็นเวลาทั้งหมดเกือบ 25 นาที มันคือการแสดงที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ โรเจอร์เล่นเบสอย่างมีชีวิตชีวาและกระดี้กระด้ากว่าเขาเพื่อน ริคพรมคีย์บอร์ดสร้างชั้นบรรยากาศให้บทเพลงอย่างที่เขาถนัด นิคยังหนักแน่นมั่นคงไม่เสื่อมคลาย และ เดฟ กิลมอร์ แม้จะอ้วนหัวล้านไม่เหลือเค้าหนุ่มฮิปปี้ผมสลวย แต่เสียงร้องและฝีมือกีต้าร์ของเขาไม่ถดถอยลงไปแม้แต่นิดเดียว ท่อนโซโลใน Comfortably Numb คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เปล่งออกมาจาก Strat สีดำของเขา คอร์ดสุดท้ายของ Comfortably Numb จบลงพร้อมกับเครื่องดนตรีทุกชิ้น เสียงเอ็คโค่สั้นๆกึกก้องสู่ท้องฟ้าลอนดอน เดฟกล่าว ‘Thank You, Good Night’


โรเจอร์เรียกเพื่อนๆทั้งสามมาโอบไหล่กันยืนเรียงหน้ากระดานและอำลาแฟนเพลง เป็นภาพที่ไม่น่าเชื่อ และถ้า Pink Floyd อยากจะลงจากบัลลังก์อย่างเป็นการถาวร ก็คงไม่มีเวทีไหนและเวลาไหนจะดีไปกว่าที่นี่อีกแล้ว

Chinese Democracy History ตำนานแสนนานของอัลบั้มที่คนรอคอยที่สุดในประวัติศาสตร์


ตำนาน...แสนนาน.... ของ CHINESE DEMOCRACY




Chinese Democracy อัลบั้มของวงร็อค Guns N’ Roses ที่แฟนๆคอยแล้วคอยเล่าไม่ต่ำกว่า 14 ปี ออกวางขายจนได้ในวันที่ 23 พ.ย. 2008 ที่ผ่านมา การตอบรับจากนักวิจารณ์ทั่วโลกมีทุกรูปแบบ Rolling Stone และ allmusic ให้สี่ดาวพร้อมคำชื่นชม เว็บอินดี้ชื่อดัง pitchforkmedia มอบดาวให้ 5.8/10 และ NME 4.5/10 แฟนบางกลุ่มก็ชื่นชมและยกให้เป็น masterpiece แต่อีกกลุ่มก็แทบจะฟังให้จบอัลบั้มยังไม่ได้เลย ยอดขายในสัปดาห์แรก มันเปิดตัวในอเมริกาได้แค่อันดับ 3 และอันดับ 2 อังกฤษ ซึ่งด้วยมาตรฐานของทุกวันนี้กับวงระดับนี้ถือเป็นความล้มเหลว Geffen ก็กลุ้มใจเพราะ Axl Rose ไม่โผล่หัวมาช่วยโปรโมทเลยแม้แต่นิดเดียว ความจริงแล้วเขาหายตัวไปอย่างลึกลับกว่าสองเดือนแล้ว.... ชะตากรรมของอัลบั้มที่โลกรอนี้จะกลายเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของ Guns N’ Roses หรือมันจะค่อยๆกลับมาชนะใจผู้ฟังได้เหมือน Appetite For Destruction อัลบั้มแรกของพวกเขาในปี 1987 ก็คงต้องติดตามกันต่อไปสักระยะ

ผมใคร่ขอพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปในปี 1993 และเดินทางไปกับการทำงานอันแสนจะวุ่นวายสับสนสุดเพี้ยนของอัลบั้มนี้ กว่าที่จะได้ออกมาเป็น 14 เพลงใน Chinese Democracy

ปลายเดือนพ.ย. 1993 GNR (ที่ขณะนั้นมีสมาชิกคือ Axl Rose ร้องนำ,เปียโน Slash, Gilby Clarke กีต้าร์ Duff McKagan เบส Matt Sorum กลอง และ Dizzy Reed คีย์บอร์ด) ออกอัลบั้มรวมเพลง punk cover ‘The Spaghetti Incident?’ แม้จะเป็นแค่งานขัดตาทัพแต่อัลบั้มนี้ฟังสนุกใช้ได้นะครับ ต้นปี 1994 โรสไปร้องเพลง Come Together กับ Bruce Springsteen ในงาน induct Elton John เข้า Hall Of Fame เขาจะไม่ปรากฎตัวในที่สาธารณะอีก 6 ปีหลังจากนี้ (ไม่นับในศาล) Geffen Records เริ่มวางแผนจะให้พวก GNR บันทึกเสียงอัลบั้มใหม่กันเสียที ด้วยการจองห้องอัด The Complex ใน L.A. ไว้ให้ แต่ทางวงไม่เคยโผล่มาพร้อมกันแม้แต่ครั้งเดียว เมษายน Duff McKagan มือเบสเจอปัญหาสุขภาพ-ตับอ่อนระเบิด จากการดื่มจัดเกินไป เขากลับตัวจากเหตุการณ์ครั้งนั้นและกลายไปเป็นนักเล่นศิลปะป้องกันตัวอย่างแกร่งแถมไปเรียนต่อได้ปริญญาทางการเงินมาด้วยในเวลาต่อมา มิ.ย. Gilby Clarke กีต้าร์มือสองของวงออกอัลบั้มเดี่ยว Pawnshop Guitars ที่หลายคนยกให้เป็นงานโซโลที่ดีที่สุดของสมาชิก GNR โดยมี Duff, Slash และ Axl เป็นแขกรับเชิญ Gilby ให้สัมภาษณ์กับ Kerrang! ขณะโปรโมทอัลบั้ม โดยมีการพาดพิงถึงโรสในแง่ลบนิดหน่อย ผลก็คือเขาถูกโรสไล่ออกจากวงทันที



ขณะที่การบันทึกเสียงของ GNR ยังไม่ไปไหน และแทบไม่มีใครเข้าถึงตัวโรสได้ Slash ก็เริ่มหันไปสนใจกับงานเดี่ยวของเขาในนาม SVO Snakepit ช่วงนั้น GNR มีงานเข้าคือการทำเพลง Sympathy For The Devil เพื่อเป็นซาวนด์แทร็คให้หนัง Interview With The Vampire เพลงนี้กลายเป็นรอยร้าวลึกสาหัสระหว่างโรสกับ Slash เขายืนยันจะให้ Paul Huge ผู้ที่ไม่มีใครในวงนอกจากโรสชอบหน้ามาเล่นกีต้าร์แทน Gilby และแย่กว่านั้นลับหลัง Slash โรสก็ยังให้ Huge บันทึกเสียงกีต้าร์ซ้อนทับไปบนส่วนของ Slash อีกด้วย สร้างความประทับใจให้มือกีต้าร์หัวฟูยิ่งนัก!!! Slash ยังพยายามจะหาเวลาปรับความเข้าใจกับโรสอีกครั้ง พวกเขาเจอกันใน lounge แห่งหนึ่งแต่โรสคุยผ่านนิตยสารที่ถือบังหน้าอยู่โดยไม่มองตา Slash แม้แต่ครั้งเดียว Sympathy For The Devil ถูกตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ลของ GNR ในเดือนธันวาคม 1994 (ท่านผู้อ่านอาจจะหาฟังได้ในอัลบั้ม Greatest Hits ของวง) Slash นิยามว่าถ้าใครอยากฟังสภาพของวงที่กำลังจะล่มสลายก็ให้ฟังเพลงนี้ได้เลย (ถึงอย่างไร ผมก็ยังคิดว่านี่เป็นการ cover ที่ยอดเยี่ยมของวงอยู่ดี)



กุมภาพันธ์ 1995 อัลบั้ม It’s Five O’Clock Somewhere ของ Slash’s Snakepit ออกวางตลาด Gilby, Duff และ Matt มาร่วมเล่นด้วย Geffen ยังอยากให้ GNR กลับเข้าห้องอัดอีกครั้งเพื่อรักษาชื่อวงเอาไว้ ในปีนี้พวกเขาเข้าห้องอัดกันที่ The Complex กันไม่กี่ครั้ง และแต่ละครั้ง Axl ไม่โผล่หัวมาจนกระทั่งตีสอง กลางปีโรสหมดเวลาส่วนหนึ่งไปกับการขึ้นศาลกับคดีกับสองคนรักเก่าจนต้องตกลงกันนอกศาลในที่สุด สิงหาคม 1995 โรสประกาศลาออกจากวงและจะเอาชื่อวงไปใช้ต่อ? ก่อนหน้านี้มีการยื่นสัญญาบางอย่างให้ Slash และ Duff เซ็น ซึ่งทั้งสองรับไม่ได้ ด้วยความเซ็งระอาเต็มทนทั้งคู่จึงยอมเซ็นยกวงให้โรสไป fast forward ไปถึงเดือนกันยายน 1996 งานทุกอย่างของ GNR หยุดนิ่ง ตุลาคม Slash ประกาศออกจากวงเป็นทางการ เขากับโรสนัดเจอกันลับๆอีกครั้ง โรสเล่าแผนการณ์ที่เขาวางไว้กับอนาคตของวงให้ฟัง ซึ่งทั้งหมด Slash คิดว่ามันตลกสิ้นดี






1997 Todd Sullivan นักบริหารจัดการมือดีถูกส่งเข้ามาเพื่อจัดการกับโรสให้เข้าที่เข้าทาง เขาส่งซีดีหลายแผ่นที่มีโปรดิวเซอร์ต่างๆกันเพื่อให้โรสได้ลองเลือกเผื่อจะถูกใจ โรสโยนแผ่นทั้งหมดทิ้งและขับรถทับแหลกละเอียดโดยไม่ได้ฟังซักแผ่น Todd ได้นั่งคุยกับโรสในเวลาต่อมา และนักร้องเจ้าอารมณ์ได้เปิด demo บางส่วนให้ฟัง Todd ตั้งใจฟังอย่างดีและแนะนำให้โรสโฟกัสกับงานและทำเพลงให้เสร็จเป็นเพลงๆไป โรสจ้องตากลับและทวนประโยคของ Todd ใส่หน้า ไม่นานหลังจากนั้น Todd ก็ได้รับโทรศัพท์ว่าเขาไม่ได้ทำงานกับ GNR อีกต่อไป Moby คือรายต่อไปที่ก้าวเข้าสู่ production ของ Chinese Democracy (ตอนนั้นเริ่มใช้ชื่อนี้แล้ว) Moby มืชื่อในด้าน techno-sound production ที่โรสหวังจะใช้มันในอัลบั้ม แต่ Moby ก็อยู่ได้ไม่นาน เขาคิดว่าโรสมีปัญหาด้านสภาพจิตและยังคิดว่า Chinese… อาจจะไม่มีวันได้ออกเลยด้วยซ้ำ สิงหาคม 1997 Duff ประกาศลาออกจากวงอย่างเป็นทางการ

1998 GNR ยุคใหม่เริ่มต้นทำงานที่ห้องอัด The Rumbo Sound Matt Sorum มือกลองถูกเชิญออกและแทนที่ด้วย Josh Freese, Robin Finck อดีต Nine Inch Nails มาแทนที่ Slash, Duff มีตัวแทนชื่อ Tommy Stinson อดีต The Replacements ส่วน Dizzy Reed กับ Paul Huge ยังอยู่รอดต่อไป

Youth (Martin Glover) ผู้เคยทำงานกับ U2 คือโปรดิวเซอร์รายต่อไป Geffen อยากได้งานใหม่จาก GNR ใจจะขาด และให้รางวัลล่อใจโรสหลายอย่างรวมทั้งเงินล้านเหรียญฟรีๆถ้าอัลบั้มเสร็จทันมีนาคม 1999 แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรดึงโรสมาเข้าห้องอัด Rumbo ได้ เขายังเก็บตัวเงียบอยู่ที่บ้านใน Latigo Canyan Youth ตระหนักว่างานไม่เดินแน่ๆเขาลาออกไป Sean Bevan ผู้เคยโปรดิวซ์ให้ Nine Inch Nails และ Marilyn Manson คือรายต่อไป เริ่มมีความกดดันอย่างหนักใน Geffen Records กับอัลบั้มที่ใช้เงินไปหลายล้านแต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้กำหนดคลอด แต่ปี 1988 ก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกปี

มกราคม 1999 เริ่มมีการเตรียมบทเพลงสำหรับอัลบั้มแสดงสดของ Guns N’ Roses เพื่อกอบกู้สถานการณ์ และลดความกดดันให้โรส มีนาคม 1999 เส้นตายของ Chinese Democracy ผ่านไปโดยไม่มีใครตื่นเต้นอะไร แต่แล้วเพลงใหม่ล่าสุดของวงในรอบแปดปี Oh My God ก็โผล่ขึ้นมาในหนังเรื่อง End Of Days ด้วยซาวนด์ industrial จ๋าๆ แม้ว่าเพลงจะไม่เป็นที่ประทับใจกับใครเอาเสียเลย แต่มันก็เป็นการปลุกกระแส Chinese Democracy ขึ้นมาอีกครั้ง ปลายปีโรสเล่นเพลงใน Chinese…12 เพลงให้นิตยสาร Rolling Stone ฟังเล่นๆ RS เผยว่าอัลบั้มน่าจะออกวางขายได้ในปี 2000 พ.ย. 1999 Live Era 87-93 ออกวางจำหน่าย ยอดขายไปได้ไม่ดีนัก และตัวงานก็ออกมาน่าผิดหวัง
ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ Sean Bevan ถอนตัวจากโปรเจ็ค Roy Thomas Baker อดีตโปรดิวเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่ของ Queen ก้าวเข้ามาแทน พร้อมกับสมาชิกใหม่ Brian Mantia (กลอง) และ มือกีต้าร์ล้ำยุค Buckethead ผู้มักสวมใส่หน้ากากไร้อารมณ์สีขาวและหมวกที่เป็น KFC Bucket โรสสั่งให้บันทึกเสียงเพลงทั้งหมดใหม่อีกครั้งด้วยทีมงานชุดใหม่ มิ.ย. 2000 โรสขึ้นเวทีกับ Gilby Clarke ที่ Cathouse ท่ามกลางความตื่นตะลึงของแฟนๆ วันสุดท้ายของปี 2000 GNR เล่นที่ Houses Of Blues ใน Las Vegas นำทีมโดยโรส Buckethead, Finck ทางวงดูจะ active มากในช่วงนี้ มกราคม 2001 พวกเขาเล่นต่อหน้าคนดูสองแสนคนที่บราซิลในงาน Rock In Rio III และตามมาด้วยแผนการทัวร์ยุโรป แต่ในที่สุดก็มีการยกเลิกไปโดยไม่มีการแจงเหตุผลใดๆ

Tom Zutaut นักบริหารผู้เป็นคนเดียวที่เคยจัดการให้วงเข็นอัลบั้มออกมาได้สำเร็จตั้งแต่ยุค Appetite, Use Your Illusion กลับเข้ามารับงานอีกครั้ง Tom ทำให้งานเดินไปได้ดีพอสมควร Buckethead เริ่มมีปัญหากับวงด้วยความเพี้ยนที่ไม่น้อยไปกว่าโรส เขาต้องมีกรงส่วนตัวในห้องอัด (ในบางอารมณ์เขามีความเชื่อว่าตัวเองเป็นไก่..!!!??) และ Buckethead จะมีความสุขมากถ้าได้ชมหนัง porn สักเรื่องสองเรื่องก่อนบันทึกเสียงโซโล ซึ่งโรสไม่ขำไปด้วยกับพฤติกรรมเหล่านี้ คริสต์มาส 2001 ทั้ง Tom และ Roy Thomas ก็หลุดจากวงโคจรไปเช่นกัน ปลายเดือนธันวา 2001 GNR เล่นสองโชว์ส่งท้ายที่ Las Vegas Slash และภรรยาคนใหม่พยายามจะเข้าไปชม แต่ถูกการ์ดตะเพิด เพราะกลัวว่าจะทำให้โรสเสียสมาธิในการแสดง

โรสเริ่มต้นปี 2002 โดยการให้ทางวงบันทึกเสียงเพลงทั้งหมดใหม่อีกครั้ง Richard Fortus เข้ามาแทน Paul Huge ช่วงฤดูร้อนพวกเขาทัวร์ญี่ปุ่นและยุโรป ตั๋วขายหมดและโชว์ก็ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างดี 29 สิงหาคม พวกเขาไปโผล่อย่างไม่มีใครคาดคิดในงาน MTV Music Video Awards เล่นเพลง Welcome To The Jungle, Madagascar และปิดท้ายอย่างเมามันด้วย Paradise City พ.ย. พวกเขาออกทัวร์อเมริกาเหนือเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี แม้จะเริ่มต้นไม่ดีนักในแวนคูเวอร์เพราะโรสเครื่องบินเสียทำให้มาไม่ทันต้องเลื่อนโชว์แต่โชว์อื่นๆในเดือนนั้นก็ไปได้ค่อนข้างดี 5 ธันวาคม พวกเขาแสดงอย่างยิ่งใหญ๋ที่ Madison Square Garden แต่วันต่อมาก็เกิดเรื่องอีก ทางวงมีโปรแกรมแสดงที่ฟิลาเดลเฟียแต่โรสติดดูเบสบอลทางทีวีอยู่ที่โรงแรมในแมนฮัตตัน มีการประกาศงดการแสดงตอนห้าทุ่ม เกิดจลาจลในหมู่คนดูผู้เดือดดาล โปรโมเตอร์ประกาศเลิกทัวร์ทั้งหมดที่เหลืออยู่

2003 Geffen บอกโรสว่าจะออกอัลบั้ม Greatest Hits แต่โรสไม่ต้องการและสัญญาว่าจะออกอัลบั้มใหม่ให้ได้ในปีนี้ แต่จนแล้วจนรอดปีนั้นก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเหมือนเคย

2004 กุมภาพันธ์ Buckethead ลาออก และเดือนต่อมา Geffen ก็ปล่อย Greatest Hits ออกมาจนได้ ไม่น่าเชื่อว่ามันขายดีเป็นเทน้ำเทท่าถึงสองล้านแผ่นอย่างรวดเร็วและขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษ Contraband อัลบั้มแรกของ Velvet Revolver ที่มีสมาชิกชื่อ Slash, Duff และ Matt Sorum โดยมี Scott Weiland อดีต Stone Temple Pilots ร้องนำออกวางตลาด

2005 Mark Mercuriades แห่ง Sanctuary Records กลายมาเป็นผู้จัดการวง GNR พ.ค..GNR เปิดการแสดงในสถานที่ระดับโรงภาพยนตร์ในนิวยอร์คเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยเล่นเพลงเก่าๆเป็นหลัก นักวิจารณ์และแฟนๆชื่นชม ต้นปี 2006 เริ่มมีการรั่วไหลของเพลงจาก Chinese.. ทาง Internet สถานีวิทยุเริ่มเปิดแทร็ค I.R.S. ที่ได้จากการดาวน์โหลด ก่อนที่ทางวงจะออกมาระงับ

Slash ดอดไปเยี่ยมบ้าน Axl ในคืนวันหนึ่ง โรสออกมาประกาศว่า Slash ยอมรับว่าที่โรสเคยวาดฝันเอาไว้เมื่อวันวานนั้นเขาพูดถูกทุกอย่าง พ.ค. 2006 GNR เล่นโชว์อุ่นเครื่องในนิวยอร์คก่อน World Tour ในคืนแรกของการโชว์นี้ Izzy Stradlin’ อดีตมือกีต้าร์ยุคแรกของวงขึ้นเวทีท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน รวมทั้งตัวเขาเอง แฟนๆกรี้ดกันไม่หยุด แฟนๆแอบเห็น Izzy น้ำตาซึมขณะที่วงเริ่มเพลง It’s So Easy มิ.ย. 2006 หลังการแสดงที่สต็อกโฮล์ม โรสเมาแอ๋กลับโรงแรมตอนตีสามและมีเรื่องตะโกนด่าทอกับหญิงสาวคนหนึ่งจนร.ป.ภ. ต้องมาห้าม โรสตอบโต้ด้วยการฟาดกระจกแตกและกัดขาร.ป.ภ.ผู้โชคร้าย...โปรดฟังอีกครั้ง... “กัด” โรสถูกตำรวจลากเข้าคุกและถูกปรับไป 5,000 เหรียญสหรัฐฯ

กันยายน 2006 หลังโชว์ที่ San Bernardino โรสจัดปาร์ตี้ที่บ้านใน Malibu และเปิดเพลงใน Chinese… ให้แขกเหรื่อฟังเต็มๆ โรสคุยว่า Andy Wallace ผู้เคยมิกซ์อัลบั้ม Nevermind ให้ Nirvana กำลังมิกซ์ Chinese… อยู่ ผู้จัดการวง Merck Mercuriades รีบออกมาเสนอหน้าว่าอัลบั้มจะออกมาตอนปลายปี 2006 เดือนต่อมาโรสประกาศว่าเป็น Merck เองที่ต้องออก ส่วน Chinese… ยังอยู่ในกรุต่อไป ปลายปีนั้น Tower Records ปิดตัวลง เพราะเด็กๆไม่ซื้อซีดีกันอีกต่อไป โรสเองก็รู้สึกหวั่นใจว่าจะมีใครซื้อ Chinese… หรือไม่ เขายังออกมากล่าวเป็นนัยๆว่าอัลบั้มอาจจะออกในเดือนมีนาคม 2007 แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น พ.ค. 2007 มีแทร็คหลุดออกมาอีก ส่วนมากจะเป็นการ remix จากเพลงที่หลุดมาก่อนหน้านี้ ฤดูร้อนปีนั้น โรสเปลี่ยนบรรยากาศไปบันทึกเสียงร้องร่วมกับเพื่อนรัก Sebastian Bach ในงาน Solo ของฝ่ายหลัง Angel Down สามแทร็คในอัลบั้มนี้ที่โรสร่วมร้องเป็นการบันทึกเสียงครั้งแรกของเขาที่ออกมาในรอบหลายปี

มีนาคม 2008 โซดา Dr. Pepper ออกมาประกาศว่าจะแจกโซดาฟรีให้ทุกคนในอเมริกาถ้า Chinese… ออกมาก่อนสิ้นปี 2008 Spring 2008 Scott Weiland ออกจาก Velvet Revolver เกิดข่าวลือว่าโรสอาจจะมาแทนที่ มิ.ย. 2008 เก้าเพลงใน Chinese… หลุดออกมาอีก แฟนๆเริ่มมั่นใจว่าอัลบั้มน่าจะใกล้เสร็จจริงๆแล้ว วิทยุเริ่มเปิดเพลงเหล่านี้ ก่อนที่ทีมงานของวงจะออกมาสกัดอย่างดุดัน สิงหาคม Shackler’s Revenge แทร็คหนึ่งใน Chinese… มีชื่ออยู่ในซาวนด์แทร็คของเกม Rockband 2 ที่จะออกในเดือนกันยายน ตุลาคม 2008 Geffen ประกาศอย่างเป็นทางการว่า Chinese Democracy จะออกวางขายในวันที่ 23 พ.ย. 2008 โดยมีทั้งซีดี ไวนีล และดาวน์โหลด ซิงเกิ้ลแรกคือไทเทิลแทร็ค ตามด้วย ‘Better’

11 พ.ย. 2008 David Fricke แห่ง นิตยสารดนตรีชื่อดัง Rolling Stone เป็นเจ้าแรกที่รีวิว Chinese… โดยบรรยายว่ามันเป็นอัลบั้มร็อคที่ “ยิ่งใหญ่ ห้าวหาญ หลากหลาย และไม่ประนีประนอม....”