ไม่ต้องกังวลไปครับ บทความนี้จะไม่พยายามลงลึกเรื่องเทคนิคทางคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่วุ่นวายน่าเบื่อ แค่อยากจะเล่าถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปในวงการ “แลกเปลี่ยนไฟล์” ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และท่านอาจจะได้พบกับของเล่นใหม่ที่เชื่อว่า music lover ทุกคนเจอเข้าให้ต้องติดหนึบ
การ share files แบบ p2p หรือคอมต่อคอมที่ "ดูเหมือนว่า"ไม่ต้องมีตัวกลาง เป็นความคลาสสิกของวงการดาวน์โหลด กับ Napster ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว (ปัจจุบันก็ยังมีชื่อนี้อยู่ แต่กลายเป็นเว็บโหลดเพลงลิขสิทธิ์แบบเหมาเก็บเงิน) หลังจาก Napster เปลี่ยนแนวไปก็มีโปรแกรมอื่นๆที่ดำเนินรอยตามอีกมากจนไม่มีทางไล่ฟ้องไล่ปิดไหว อาทิ Kazza, Limewire และอีกเพียบ
ตั้งแต่ปี 2001 โลกของการแชร์ไฟล์ก็เปลี่ยนไปด้วยการเข้ามาของ Bittorrent ที่ใช้โปรโตคอลใหม่เฉพาะตัวสามารถทำให้ผู้ใช้สามารถโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆได้ในเวลาที่น้อยลง ประกอบกับความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยุคของ bittorent จึงไม่มีใครโหลด “เพลง” มาฟังกันต่อไป อย่างต่ำต้องเป็น “อัลบั้ม” และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บางไฟล์จะเป็นการโหลดกันทั้ง entire discography ของศิลปินนั้นๆ! อานิสงค์หนึ่งของ torrent ก็คือแนวโน้มที่จะทำไฟล์ mp3 ให้มีคุณภาพสูงขึ้นหรือทำเป็น looseless ไปเลย เพราะไม่ต้องไปกังวลว่าจะมีปัญหาในการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆ คำโบราณๆที่กระแนะกระแหนถึงความด้อยคุณภาพของ mp3 จึงไม่อาจนำมาใช้ในปัจจุบันได้เต็มปาก
แน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดคือ free download ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ ขณะที่อีกฝั่งของค่ายเพลง iTunes ก็ยังคงทำเงินเป็นล่ำเป็นสันจากการโหลดนี้ สาวก iPod ส่วนหนึ่งคือคำตอบของความสำเร็จ แม้จะต้องเสียเงินพอๆกับไปซื้อซีดีก็ตามที
ขณะที่ torrent ยังคงเดินหน้าต่อไปแม้จะมีอุปสรรคบ้างเพราะตัวมันก็สร้างความเดือดร้อนให้ระบบในบางครั้ง (ใครเคยเล่น torrent จะทราบดีว่าถึงจุดหนึ่งคุณจะโหลดกันไม่บันยะบันยัง ทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องคิดเลยว่าที่โหลดเอาไว้นั้นยังไม่ได้ฟัง ดู หรือใช้งานเสีย 90% โหลดไว้ก่อน ไม่รู้ใครสอนไว้)
แต่ torrent ก็ยังมีจุดอ่อน ถ้าคุณต้องการหาอัลบั้มใหม่ของ Coldplay หรือ Madonna นั้นไม่ยากเลย เพราะมีผู้ร่วมป้อนข้อมูลกันเยอะ แต่ถ้าคุณเกิดอยากฟังงานอัลบั้มเก่าๆของ The Fixx เมื่อปี 1983 หรืออัลบั้มเพลงคลาสสิกเสียงดีๆในสังกัด Living Stereo ผมรับรองเลยว่าเหงื่อตกแน่ และต่อให้หา “หัวเชื้อ” นั้นเจอ ถ้ามีผู้ร่วมสังคายนา ‘seed’ ใน torrent นั้นๆไม่มากบางทีก็โหลดกันเป็นชาติ
ช่องว่างนี้เองทำให้น้องใหม่อย่าง one-click hoster เข้ามาเสียบ
One-click hoster คือผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ที่รับฝากไฟล์ต่างๆจากลูกค้าที่จะ upload ขึ้นมาไว้ และจะส่ง URL ให้กลับไป ลูกค้าก็จะสามารถนำ URL นั้นไปแปะไว้ในเว็บไซต์ตัวเอง หรือบอกเพื่อนๆให้ดาวน์โหลดกันได้ โดยทั่วไปจะเป็นไฟล์ขนาดใหญ่กว่าที่จะส่งให้กันทาง e-mail
ฟังดูเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลองและเป็น anti-p2p โดยสิ้นเชิง บริษัทที่ทำ one-click hoster จะได้เงินจากค่าโฆษณา และค่าสมาชิกที่ลูกค้าจ่ายให้ถ้าต้องการยกระดับตัวเองเป็น premium ที่จะโหลดได้เร็ว ไม่ต้องรอนาน และไร้ลิมิต
ความแตกต่างที่ชัดเจนของ one-click hoster กับ Torrent คือความเป็นเอกเทศและเสถียรภาพกว่า ความเร็วในการโหลดก็อยู่ในขั้นเร็วตามอัตภาพของผู้ใช้งานและไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น
ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการนี้จะมาแรงมากๆในสองปีหลังนี้ ทำให้หลายคนเริ่มถอยจาก bittorrent มาเล่นแนวนี้กันบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันประจวบเหมาะกับการโตอย่างสุดๆของ blogger ทั่วโลก (คุณยายข้างบ้านผมยังมี blog ใน wordpress เลย)
ถ้าคุณจะเปิด music blog แล้วมีเพลงให้เพื่อนๆดาวน์โหลดจาก collection ของคุณเอง ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการใช้บริการฝากไฟล์ของ one-click hoster ทั้งหลาย
เจ้าที่ดังที่สุดตอนนี้อย่าง rapidshare.com และ megaupload.com เขาอ้างว่าวันๆจะมีไฟล์ไหลเวียนในเว็บของเขาร่วม....(กลั้นหายใจ)....สองแสนกิ๊กกะไบท์.... และทั้งสองเว็บก็ติดอันดับ top20 ของเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลกอย่างไม่น่าแปลกใจอะไร
อ้อ แต่ทั้งสองเจ้านั้นเค้าไม่รับฝากงานที่มีลิขสิทธิ์ที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรอกนะ ถ้ามีใครท้วงติงมาเขาก็จะลบไฟล์ทันที เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีใครโวยเขาก็เฉยๆ ดูเหมือนกฎหมายจะเปิดช่องไว้ตรงนี้ว่าผู้รับฝากไฟล์ดิจิทัลในโลกอินเตอร์เน็ตไม่ต้องมีหน้าที่เป็นตำรวจเสียเอง ย่อหน้านี้คุณตีความกันได้ใช่ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สองสามปีที่ผ่านมา จึงมี music blogs ที่มีเพลงให้โหลดผ่านทาง one-click hosters นี้มากมาย และเริ่มมีการประสานกันเป็นเครือข่าย มี forum ที่อุทิศตนให้ rapidshare โดยเฉพาะ บาง website update ไฟล์ใหม่ๆที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่ง “อัพ” ขึ้นไปสดๆกันแบบวันต่อวัน (วันละสามเวลาด้วยซ้ำ)
เราจะไม่พูดถึงงานลิขสิทธิ์ที่หาซื้อกันได้อยู่แล้ว แต่นี่เป็นโอกาสทองที่คุณจะได้ฟังงานหายากที่เลิกผลิตไปแล้ว หรือไม่เคยเป็นซีดีมาก่อน และงานแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการที่หลายต่อหลายชิ้นมีคุณค่าทางดนตรียิ่งไปกว่างาน official เสียอีก
นิตยสารดนตรีอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลที่สุดอย่าง Rolling Stone ยังเคยชี้โพรงให้กระรอกด้วยการแนะให้ผู้อ่านไปหางาน remasters ของ Beatles ที่ทำกันเองโดยแฟนๆโดยบอกกันโต้งๆให้ไป search ใน Google ด้วยคีย์เวิร์ดว่า Beatles megaupload ทำให้งานนี้ megaupload ได้ลูกค้าใหม่ไปหลายล้าน
การค้นหาใน Google ทำได้ แต่อาจจะไม่ได้ผลที่น่าพึงพอใจนัก สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ files เพลงแต่ละอันที่ผู้ใช้ upload ขึ้นไปไม่ได้มีการทำ index ที่ดีพอ รวมทั้งชื่อไฟล์ที่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นงานอะไร อันนี้เป็นความจงใจของผู้อัพ เพราะถ้าบอกชื่อโจ๋งครึ่มโอกาสที่จะถูกลบทิ้งก็สูงขึ้นตามลำดับ
การจะหางานดนตรีในสาระบบนี้จึงยังมิอาจทำได้เป็นระบบอย่าง torrent ที่มี search engine มากมาย รูปแบบของการค้นหาจึงออกไปทาง portal site หรือปากต่อปาก ลิงค์ต่อลิงค์มากกว่า แม้จะเสียเวลาไม่น้อยแต่ก็เป็นอะไรที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของ music lover อย่างที่บอก ถ้าใครยิ่งรักดนตรีมานานหรือหลากหลายเท่าไหร่โอกาสที่จะถอนตัวไม่ขึ้นจากวงการนี้ยิ่งมากเป็นเท่าตัว
Recommened Music Blogs
ถ้าคุณมี internet high-speed ระดับ 1 mb ขึ้นไปและเนื้อที่ฮาร์ดดิสก์เหลืออย่างน้อยก็ กิ๊กสองกิ๊ก ลองไปทัวร์ตาม blog เหล่านี้ดูครับ อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่าผู้อ่านระดับ GM2000 คงไม่คิดจะโหลดกันเป็นอาชีพอยู่แล้ว ต่อให้คุณภาพเสียงจะดีขึ้นแค่ไหนก็คงไม่อาจเทียบได้กับแผ่นไวนีลหรือซีดีจริงๆในมือ ก็ถือเสียว่าเป็น “ของเล่น” ทำเพลินๆแล้วกันนะ ที่คัดมานี้เป็นเพียงแค่ทรายกำมือเดียวจากชายหาด และอย่าแปลกใจที่คุณจะรู้สึกตัวอีกทีเมื่อยู่กลางมหาสมุทรของ mp3 แล้ว
Ultimate Bootleg
http://www.theultimatebootlegexperience.blogspot.com/รวมงานแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการไว้เยอะที่สุดตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง Led Zeppelin ยัน Coldplay เจ้าของ blog น่าจะคัดงานมาลงพอสมควร คุณภาพใช้ได้ถึงยอดเยี่ยมเกือบทั้งหมด
Beatles Family
http://octaner.blogspot.com/อะไรอะไรอะไรที่เกี่ยวกับ Beatles มีให้คุณโหลดกันอาน
New Brasilmidia
http://newbrasilmidia.blogspot.com/คนบราซิลเป็นคนขยันหรือว่าตกงานกันเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบ ช่างอัพบล็อกกันได้เป็นเรื่องเป็นราวดีเหลือเกิน บล็อกนี้จะมีศิลปินฝรั่งปนละตินปนกันไป ทีเด็ดคือเต็มไปด้วยไฟล์แบบ “ยกมาทั้งชีวิต”
Jenzen Brazil
http://jensenbrazil.blogspot.com/ อีกเจ้าจากบราซิล จับฉ่ายขนานแท้ มีทุกแนวและปริมาณมหาศาลอบย่างเหลือเชื่อ
Floodlitfootprint
http://floodlitfootprint.blogcu.com/ บล็อกขวัญใจของนักเขียนดนตรีชื่อดังของบ้านเราคนหนึ่ง แฟนป๊อบ-ร็อคยุค 60-70’s กรี้ดสลบแล้วต้องรีบฟื้นมาโหลดต่อ
VinylHunt
http://vinylloungehut.blogspot.com/ เจ้าของบล็อกเป็นวิศวะหนุ่มอเมริกัน ชอบไปหาแผ่นเสียงมือสองเด็ดๆมาริปเป็นเอ็มพีสามมาให้ฟังกัน ส่วนมากเป็นแผ่นที่ไม่มีซีดีวางขาย ออกไปในแนว lounge, easy listening มีหลายบล็อกที่ริปจากไวนีล แต่ของ VinylHunt นี้จะทำได้เนียนสุด ต้องให้เครดิตการ edit ของเขาครับ
80’s History
http://historyofthe80s.blogspot.com/2008บล็อกของยุค 80’s นี้เยอะมาก เริ่มต้นที่นี่แล้วไปต่อยอดได้จากลิงค์เพื่อนบ้าน แล้วคุณจะคิดถึงเทปพีค็อกเก่าๆสมัยเยาว์วัย
Grumpy Boss
http://grumpyscorner.blogspot.com/ ลุงกรัมปี้มีจานเด็ดคืองานรวมเพลงแบบ theme โดยแกเลือกเพลงเอง เช่นอัลบั้มวันฝนตก อัลบั้มรวมเพลงที่ใช้ชื่อสาวๆ อัลบั้มสำหรับฟังบนเครื่องบิน แกรวมเพลงได้เจ๋งจริงครับ
80’s Mixtape
http://80s-tapes.blogspot.com/search/label/1982เจ้านี้มาแปลก ริปจากเทปรวมฮิตเก่าๆยุค 80’s ที่แกสะสมไว้ บางไฟล์ได้ยินเสียงเนื้อเทปชัดเจน
Crime Lounge
http://thecrimelounge.blogspot.com/ เจ้าพ่อเจมส์บอนด์และซาวนด์แทร็คหนังสอบสวน-ฆาตกรรม เป็นบล็อกที่ดีไซน์เนี้ยบที่สุดบล็อกหนึ่ง
Lounge Legend
http://loungelegends.blogspot.com/ อิ่มไปเลยสำหรับคอเพลงบรรเลงฟังสบายๆอย่าง Ray Conniff, James Last
Willfully Obscure
http://wilfullyobscure.blogspot.com/ เจาะไปที่วงฝีมือดีแต่ไม่มีบุญพอจะดังในยุค 80-90’s หาฟังและซื้อยากจริงๆครับ
Crossroads Club
http://crossroadsclub27.blogspot.com/ บลูส์เป็นหลัก
Singin’ and Swingin’
http://singinandswingin.blogspot.com/ เพลงหนังและเพลงแสตนดาร์ดเก่าๆยุค 60’s ลงไป
The Disco Vault
http://thediscovaults.blogspot.com/ แผ่นเสียง 12 นิ้วและ extended mix ของเพลงดิสโก้ดังๆ
ถ้าท่านผู้อ่านมีอะไรจะปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เชิญได้ที่
winstonbkk@gmail.com ครับ