In Penny Lane the barber shaves another customer,We see the banker sitting waiting for a trim.And then the fireman rushes inFrom the pouring rain, very strange.
ท่อนหนึ่งจากบทเพลงอมตะของ The Beatles ในปี 1967 ‘Penny Lane’ จากการประพันธ์ของ Paul McCartney แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อวงที่เป็น side project ของ Paul นี้จะมาจากบทเพลงนี้ Fireman ผู้พรวดพราดจากสายฝนตัวเปียกโชกเข้ามาในร้านตัดผม มันช่างเป็นภาพที่พิลึกยิ่งในสายตาของเด็กน้อยลิเวอร์พูล
Paul ขึ้นชื่อว่าเป็น workaholic ตัวยง ทำงานในชื่อของตัวเองแล้วยังแรงเหลือ ต้องหาเรื่องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ทำงานแฝงเป็นนอมินีให้ตัวเองอยู่บ่อยๆตั้งแต่สมัยอยู่กับ Beatles แล้ว บางครั้งเขาก็ทำเพื่อวัดใจแฟนๆว่าถ้าไม่ใช้ชื่อเสียงของความเป็น Paul McCartney แล้วยังจะรักพอลน้อยเหมือนเดิมหรือไม่ และบางทีเขาก็ใช้ชื่อแฝงเพื่อให้อิสรภาพทางศิลปะแก่ตัวเอง เหมือนกับตอนที่สมมติว่าวง The Beatles กลายไปเป็น Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band อันที่จริงมันก็คือการเล่นกับจิตใจของตัวเองมากกว่า เพราะใครๆก็ทราบว่า Sgt. Pepper คือ Beatles และ Paul McCartney ก็คือ The Fireman
Fireman project เริ่มขึ้นมาเมื่อ 15 ปีก่อน Paul กับ ‘Youth’ (ชื่อจริง Martin Glover) อดีตมือเบสวง Killing Joke และโปรดิวเซอร์ชื่อดังจับมือร่วมกันทำงาน ambience dance music ออกมาสองอัลบั้มคือ Strawberries Oceans Ships Forest (1993) และ Rushes (1998) ดูเหมือนจะเป็นงานอดิเรกยามว่างของอดีตสี่เต่าทองคนนี้มากกว่าที่จะหวังเงินหรือกล่องจากโปรเจ็คนี้ ดนตรีส่วนใหญ่ของ Fireman เป็น electronic dance music ที่ปราศจากเสียงร้องของ Paul ขนาดแฟนพันธุ์แท้จริงๆของเขาก็ยังแค่หาอัลบั้มเหล่านี้มาเก็บไว้ให้ครบๆเฉยๆ
แต่ Electric Arguments มันต่างออกไปจากสองอัลบั้มแรกของ Fireman มันยืนอยู่ระหว่างงาน solo ในนามของ Paul และผลงานแบบเดิมของ Fireman โดยออกจะเอียงไปทางงานโซโลของ Paul มากกว่า ชนิดที่ถ้าจะออกมาในนามของ Paul McCartney ก็ไม่น่าจะแปลกอะไรนัก บทเพลงเกือบทั้งหมดใน Electric Arguments มีเนื้อร้องและ “เป็นเพลง” มากกว่างานเดิมของ Fireman แต่สีสันของ ambience dance จากฝีมือของ Youth ก็ยังสาดกระจายไปทั่วอัลบั้มโดยเฉพาะใน 3 เพลงสุดท้าย
หลังจากได้รับคำชมไปอื้อซ่าและยอดขายก็น่ารักในอัลบั้ม Memory Almost Full (2007) Paul เริ่มได้ไอเดียจะกลับไปทำงานกับ Youth อีกครั้ง แต่เขาไม่มีเพลงในมือเลย การทำงานใน Electric Arguments จึงออกมาแบบประหลาดๆ แต่ละเพลงทำเสร็จในวันเดียวตั้งแต่แต่งเพลงจนบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อย และใช้เวลาประมาณ 1 ปี สำหรับ 13 เพลง (หมายถึง 1เพลง/1วัน แต่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกันทุกวัน) ในอัลบั้มนี้ Paul เองก็ยอมรับว่าเนื้อเพลงในอัลบั้มส่วนใหญ่เป็นการด้นสดๆในห้องอัด (ad-lib) เป็นการทำงานที่ตรงข้ามกับการขัดเกลาอย่างสุดละเมียดอย่างที่เขาเคยทำไว้กับ Nigel Godrich ใน Chaos and Creation….
และนี่คืองานที่ Paul ทำอย่างสบายใจไร้ข้อจำกัดใดๆทั้งในด้านสไตล์ ความยาวของเพลง รวมทั้งความกังวลในยอดขายและชื่อเสียง เป็นงานที่ท้าทายที่สุดของเขานับตั้งแต่อัลบั้ม McCartney II ในปี 1980
ด้วยการทำงานในแบบ happening art เยี่ยงนี้ ทำให้ดนตรีใน Electric Arguments หลากหลายและไปคนละทิศละทางพอสมควร เปิดตัวด้วยบลูส์ร็อคในสาย Led Zeppelin ‘Nothing Too Much Just Out Of Sight’*** ที่นำไปเปิดต่อจาก ‘Nod Your Head’ เพลงสุดท้ายในอัลบั้มก่อนของ Paul ได้สบายๆ ‘Highway’**** เป็นอีกแทร็คเดียวในอัลบั้มที่เป็นร็อคหนักๆ ‘Two Magpies’ อคูสคิกพิคกิ้งแบบ Jenny Wren หรือ Blackbird ‘Sun Is Shining’***** น่าจะเป็น Paul ในแบบ Beatles ที่สุดในอัลบั้ม ทั้งเนื้อหาและท่วงทำนองสดใสในแบบเดียวกับ Good Day Sunshine ใน Revolver แถมด้วยทางเดินเบสในแบบบรมเทพของ Paul ‘Sing The Changes’**** Youth อาจจะใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับ U2 มาใช้ เจิดจ้า ฮึกเหิม และไพเราะ
แทร็คที่เหลือน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทดลองกับแนวที่ไม่ใช่สิ่งที่แฟนคุ้นเคยอันอาจจะเป็นสาเหตุที่ Paul ไม่อยากออกงานนี้ในนามตัวเอง ‘Traveling Light’*** Paul ร้องเสียงทุ้มลึกแบบ Johnny Cash ‘Light From Your Lighthouse’*** เล่นกับเสียงประสานในแบบ Cash อีกครั้งโดย blend ไปกับเสียง Falsetto ในแบบ Paul เองทั้งเพลง ‘Dance ‘Till We’re High’*****คือ Dance Tonight ภาคสวรรค์ ผสมผสานแนว New Age, Ambient และ Gospel เข้ากับเมโลดิกป๊อบแบบพอลๆและซาวนด์ในแบบ Wall Of Sound ของ Phil Spectorได้อย่างน่าทึ่ง ‘Lifelong Passion’***, ‘Is This Love?’*** กระโดดไปในทางของ Indian & Celtic Music ‘Lovers In A Dream’***, ‘Universal Here, Everlasting Now’*** คล้าย Fireman ในสองอัลบั้มแรก เพลงเหล่านี้ทำให้เราระลึกได้ว่านี่คืองานของ Fireman ไม่ใช่ Paul McCartney และ Youth ก็น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยในสุ้มเสียงที่ออกมา
‘Don’t Stop Running’ ***เพลงสุดท้าย Paul อาจจะเตือนตัวเองไม่ให้หยุดนิ่งและวิ่งต่อไป ดูเหมือนจะเป็นการมองโลกในอีกมุมหนึ่งไม่เหมือนคนชราผู้สิ้นหวังอย่างใน Memory Almost Full นี่คือนักดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในวัย 66 ปีกับผลงานดนตรีที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์อีกครั้งหนึ่ง มันอาจจะไม่เหมาะสำหรับแฟนเพลงที่ต้องการแค่เพลงเพราะๆและสไตล์ที่คาดเดาได้จาก Paul แต่ผู้ที่ต้องการความท้าทายและอะไรที่ไม่คุ้นหู ความหาญกล้าอย่างในยุค White Album และงาน solo ยุคแรก นี่คืออัลบั้มที่คุณจะฟังแล้วฟังอีกได้นานเท่านาน