Friday, 23 December 2016

Day Breaks

Norah Jones : Day Breaks ****
Released: October 2016
Genre: Pop Rock, Jazz
Producers: Norah Jones, Eli Wolf, Sarah Oda



“นอราห์ โจนส์ โคจรครบวง ศิลปินหญิงเจ้าของ 9 รางวัลแกรมมี่ หวนคืนกลับสู่แนวดนตรีที่โดดเด่นด้วยเปียโนและรากฐานของเธอ ในจิตวิญญาณเดียวกับบทเพลงในอัลบั้ม Come Away With Me”

นั่นคือคำประกาศก่อนออกอัลบั้มของ Blue Note Records ที่แทบจะได้ยินเสียงตื่นเต้นละล่ำละลักในตัวหนังสือ

 14  ปีมาแล้วสินะ หลังจากอัลบั้มเปิดตัวของลูกสาว Ravi Shankar คนนี้ที่สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างในวงการ singer-songwriter, Jazz และสังกัด Blue Note ทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ มันคืองาน pop vocal ที่เจือแจ๊สคันทรี่อย่างมีรสนิยม ขับกล่อมโดยเสียงเปียโนเคล้าคู่คลอไปกับเสียงร้องอันราบเรียบเย็นหวานของศิลปินสาววัย 22 ปีในขณะนั้น ผนวกกับภาพปกโคลสอัพในมุมที่สวยหวานชวนค้นหา ใครๆก็อดรักมันไม่ได้

ศิลปินทั่วไปอาจจะรู้สึกกดดันในการที่จะทำอัลบั้มชุดที่ 2 ต่อจากงานแรกที่ประสบความสำเร็จขนาดนั้น แต่นอราห์ไม่ใช่ศิลปินทั่วไป เธอกลับมองว่าความสำเร็จนั้นเป็นใบเบิกทางให้เธอจะทำอะไรก็ได้หลังจากนั้น และอะไรก็ได้ของเธอคือการไม่เดินซ้ำรอยเดิมใน Come Away With Me ทั้งๆที่มันหมายถึงเงินทองมหาศาล เธอสนุกกับการทำเพลงแนวต่างๆแทบไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นคันทรี่ พังค์ร็อค อีเล็กโทรนิคป๊อบ อินดี้ร็อค เพลิดเพลินไปกับการร่วมงานกับศิลปินรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หลากหลายแนวทาง  ตั้งแต่ Ray Charles, Wynton Marsalis, Belle and the Sebastian, Willie Nelson ไปจนถึงออกอัลบั้มคู่กับ Billie Joe Armstrong แห่ง Green Day โดยร้องเพลงของ The Everly Brothers!

นอราห์เป็นที่โปรดปรานและเธอเองก็คงชื่นชอบในการไปร้อง duet กับเพื่อนศิลปิน มากพอที่จะทำอัลบั้มรวมเพลงออกมาได้ชุดหนึ่งเลยทีเดียวใน ….featuring Norah Jones

แต่ไม่ว่าเธอจะโลดแล่นไปในแนวทางไหน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี แฟนเพลงก็ยังพูดถึง Don’t Know Why และอัลบั้มแรกของเธอเสมอ พวกเขาแอบนั่งคอยเงียบๆว่าเมื่อไหร่หนอจะถึงวันที่สาวน้อยจะกลับไปนั่งที่เปียโน เจื้อยแจ้วเพลงอ้อยสร้อยแจ๊สซี่อย่างนั้นให้ฟังกันอีกครั้ง

ดังนั้น, เมื่อคำโปรยของ Blue Note ถึงอัลบั้มชุดที่ ๖ ของนอราห์ออกมาเยี่ยงนั้น ความหวังของแฟนเก่าแก่ที่อาจจะไม่ชอบนอราห์ใน status อื่นๆจึงพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด

แต่นั่นมันไม่ใช่คำพูดของนอราห์ จริงๆแล้วเธอไม่อยากให้เรียกอัลบั้มนี้ว่าเป็น back to basics เพราะเธอไม่คิดว่ามันเป็น Day Breaks มันแค่เกิดขึ้นจากการที่เธอได้ไปร่วมเล่นดนตรีกับ Wayne Shorter และ Brian Blade ในปี 2014 อันทำให้เธออยากบันทึกเสียงร่วมกับพวกเขา โดยเธอเล่นเปียโนอย่างจริงจังไปด้วย นอราห์กล่าวว่า ถ้าเป็นเมื่อปี 2002 เธอไม่มีทางกล้าเล่นเปียโนกับแซ็กของเวนย์หรอก และถึงแม้จะทำได้ก็คงไม่ได้เรื่องแน่ๆ

ใช่, 14  ปีที่ผ่านมา เธอได้เรียนรู้อะไรมากมายเหลือเกิน ที่ชัดเจนมากในพัฒนาการที่สุดก็น่าจะเป็นการเล่นเปียโนนี่แหละ มันโดดเด่นพอๆกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอทีเดียวในอัลบั้มนี้

อย่างไรก็ตาม,ในแง่ของการเปรียบเทียบ Day Breaks ก็เป็นงานที่ใกล้เคียงกับ Come Away With Me ที่สุดเท่าที่นอราห์เคยทำมาแล้ว มันมีกลิ่นอายของแจ๊ส เต็มไปด้วยเพลงความเร็วระดับปานกลางถึงช้า ทุกเพลงเดินเรื่องด้วยเปียโนและเสียงร้อง ตัวบทเพลงผสมผสานเพลงออริจินัลและเพลงคัฟเวอร์ที่คัดสรรมาอย่างดี

แต่ผมไม่กล้าบอกว่านี่จะเป็นงานที่แฟนๆของ Come Away With Me ต้องปลื้มปิติจนน้ำตาหลั่งริน และซื้อมันเป็นสิบแผ่นไล่แจกญาติๆ เพราะรายละเอียดของ Day Breaks มันแตกต่างออกไป จนไม่อาจพูดได้ว่ามันคือ Come Away With Me Again และผมกำลังจะบอกคุณว่ามันมีอะไรบ้าง

มันไม่มีเพลงฟังง่ายที่ติดหูทันทีอย่าง Don’t Know Why เพลงส่วนใหญ่ใน Day Breaks จะลุ่มลึกกว่า เรียกร้องการใช้เวลาในการซาบซึ้งพอสมควร

มันมีความเป็นแจ๊สมากกว่า โดยเฉพาะเสียงโซปราโนแซ็กของ Wayne Shorter อันมีบุคลิกมาดมั่นไม่ผ่อนปรนโอนอ่อนให้ทางสายป๊อบ ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแซ็กของเขา มันเหมือนการตอกย้ำคนฟังว่านี่คือแจ๊สอัลบั้มนะ อย่าลืม ส่วน Brian Blade มือกลองขายดีในวงการแจ๊สดูจะตีสบายๆเหมือนมาพักผ่อน ได้ลุง Lonnie Smith มาเล่นแฮมมอนด์ B-3เท่ๆแทรกเป็นระยะๆสร้างสีสันได้ดีมาก

การบันทึกเสียงของ Day Breaks เป็นไปในแนวแห้งและดาร์ค ต่างจากความอิ่มและสดใสใน Come Away With Me จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรฟังข้าม หลายคนอาจผงะตั้งแต่เพลงแรกๆ ถ้าเทใจมาก่อนว่าจะได้ฟังแบบ debut album

อ้อ! นี่เป็นอัลบั้มที่อ้างว่าบันทึกกันสดๆเทคเดียว ไม่มีการ overdub ใดๆด้วยนะ

อาจจะกล่าวได้ว่า นอราห์ โจนส์ เดินทางย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้นใหม่ในระดับหนึ่งจริงๆ เพื่อทำเพลงในโครงสร้างและบรรยากาศเดิม แต่ประสบการณ์ที่เธอเก็บเกี่ยวมาระหว่าง 14 ปีนี้ รวมทั้งความพยายามส่วนตัวที่จะไม่เดินย่ำรอยเดิม ทำให้สุดท้ายแล้ว Day Breaks ก็ยังคงเป็นการก้าวไปข้างหน้าสำหรับศิลปินคนนี้อยู่ดี

มีสามเพลง cover ในชุดนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เพลงดังอะไรนัก Peace ของ Horace Silver, Don’t Be Denied ของ Neil Young และ African Flower ของ Duke Ellington ทุกเพลงนอราห์เอามาทำเป็นของเธอได้อย่างเนียน โดยเฉพาะการเปลี่ยนสรรพนามอย่างฉลาดในเพลงของนีล ยัง

แทร็คที่เหลือเป็น original ที่นอราห์ประพันธ์คนเดียว และแต่งร่วมกับคนอื่นๆบ้าง บวกกับอีก 1 เพลงของโปรดิวเซอร์ร่วม Sarah Oda ในเพลง “Sleeping Wild”

มุกตลกที่ไม่ค่อยขำล้อเธอว่าเป็น Snorah ไม่ได้ทำให้เธอหวั่นไหวในการที่จะทำเพลงช้าเอื่อยกันเป็นอาชีพ ในชุดนี้ก็เช่นกัน นอกจาก ‘Flipside’ ที่สนุกเร้าใจแล้ว ที่เหลือนี่ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงวัดใจคนขี้เซากันทั้งนั้นว่าจะเอาชีวิตรอดได้จนจบอัลบั้มไหม แต่ก็นั่นแหละ สำหรับคนที่รักเพลงช้าๆ เขาก็จะไม่ง่วงเหงาไปกับเพลงแบบนี้นะ จะไปหาวฟอดกับเพลงแดนซ์หรือร็อคหนักๆมากกว่า มันไม่มีสูตรสำเร็จของการกล่อมนอนด้วยดนตรี (โดยศิลปินไม่ได้ตั้งใจ)

จำเป็นไหมที่จะต้องบอกว่าเพลงไหนโดดเด่น? ในเมื่อความโดดเด่นในรสนิยมคนเราอาจจะเหมือนหรือแตกต่าง เอาเป็นว่า ถ้าไม่มีเวลามากนัก ผมอยากให้คุณฟังเพลงเหล่านี้ก่อน Tragedy, Once I Had A Laugh และ Don’t Be Denied

14 ปีที่แล้ว เธอชวนให้เรา come away with her แฟนเพลงว่าง่ายอย่างผมจะไปกล้าขัดอะไร และคงจะตามเธอต่อไปเรื่อยๆไม่มีกำหนดเลิกรา        
       
Tracklist:

1. Burn
2. Tragedy
3. Flipside
4. It’s A Wonderful Time For Love
5. And Then There Was You
6. Don’t Be Denied
7. Day Breaks
8. Peace
9. Once I Had A Laugh
10. Sleeping Wild
11. Carry On
12. Fleurette Africaine (African Flower)