Saturday, 11 October 2008

มหาบุรุษแห่งบลูส์




B.B. King One Kind Favor (2008) ****










ทำไมงานรีวิวของผมถึงมีแต่สี่ดาวห้าดาว?


ผมพยายามจะหางานป๊อบ-ร็อคที่น่าสนใจในแต่ละเดือนมาเขียนถึงโดยจะเน้นงานที่ออกใหม่เป็นหลัก แต่ด้วยโควต้าที่จำกัดแค่ฉบับละ2อัลบั้ม มันจึงเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติไปโดยปริยาย งานที่ไม่ได้มาตรฐานหรือน่าผิดหวังแม้บางทีอาจจะมีแง่มุมน่าสนใจ แต่ผมก็เลือกที่จะนำงานที่เปี่ยมคุณภาพมานำเสนอเพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากกว่า


เป็นไงครับ ลีลาพอจะมีแววเป็นนักการเมืองได้หรือยัง?


เดือนนี้นอกจาก Harps And Angels ของ Randy Newman ที่โดดเด่นขึ้นมา ก็มีอีกหลายงานที่อยากเขียนถึง Perfect Symmetry ของ Keane, Death Magnetic ของ Metallica งาน debut ของ Glasvegas หรือป๊อบน่ารักๆจาก Emiliana Torriniแต่ผมเลือกเขียนถึงงานของชายชราที่ชื่อ B.B. King มันเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่อยากจะเขียนถึงปูชณียบุคคลแห่ง electric blues นี้สักครั้งขณะที่แกยังมีชีวิตอยู่ (แม้ว่าแกจะไม่ได้รับรู้ก็ตามที) ด้วยอายุที่ปาเข้าไปถึง 83 ขวบ และสุขภาพที่ถดถอยลงเรื่อยๆ ผมล่ะหวาดเสียวทุกครั้งที่เปิดอินเตอร์เน็ต กลัวว่าจะเจอประโยคทำนอง R.I.P. King Of The Blues...


แต่ผมไม่ควรจะเป็นกังวลเลย เพราะปู่บีบีคิงเองก็ตระหนักเรื่องนี้ อาจจะดีกว่าใครๆ ผมเชื่อว่าแกรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างสบายๆด้วยหัวใจที่กว้างขวางราวลุ่มน้ำมิสซิปซิปปี้และทัศนคติในการมองชีวิตในแง่รื่นรมย์มาตลอด แม้ดนตรีที่แกเล่นจะมีชื่อว่า Blues แต่บลูส์จากเสียงร้องและปลายนิ้วของคิง กลับเป็นเหมือนการรำพันกลั่นความรู้สึกจากส่วนลึก ราวกับเป็นการเยียวยารักษาความปวดร้าวมากกว่าจะเป็นการคร่ำครวญไร้สติ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ยกระดับของคิงให้อยู่ต่างจากศิลปินบลูส์รุ่นเดียวกัน และคงไม่เป็นการเกินเลยไปถ้าจะบอกว่าเขาคือราชันย์แห่งดนตรีบลูส์ที่ไม่มีใครอาจเอื้อมเลื่อยขาเก้าอี้มาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา


แต่ผมไม่ได้เขียนถึง One Kind Favor เพราะสักแต่ว่ามันเป็นงานของ B.B. King แต่มันเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาในรอบหลายปี พูดตรงๆว่าถ้านี่เป็นอัลบั้มสุดท้ายของเขา มันก็สุดจะสมเกียรติ ดนตรีบลูส์นั้นจะว่าไปก็ไม่ใช่ดนตรีที่ซับซ้อนหรือมีทางให้โลดแล่นไปมากนัก ตรงกันข้ามมันออกจะเป็นดนตรีที่ซ้ำซากวนไปวนมาด้วยซ้ำทั้งทางด้านเนื้อหาและท่วงทำนอง แต่บลูส์นั้นวัดกันที่ feel ครับ และ One Kind Favor ก็เป็นงานที่โชว์ feel กันล้วนๆ


เหตุผลสามประการที่ทำให้ One Kind Favor กลายเป็นงานบลูส์ที่แทบจะขึ้นหิ้งไปในทันทีนั้นคือ 1.โปรดิวเซอร์ที่ชื่อ T-Bone Burnett ที่เพิ่งสร้างชื่อมากๆจากการทำงานให้ Robert Plant & Alison Krauss, 2.ทีมนักดนตรีระดับพระกาฬที่ประกอบด้วย Dr. John (Piano), Nathan East (Bass) และ Jim Keltner (Drums) และ3.ตัวบทเพลงที่เป็นเพลงบลูส์เก่าแก่ที่ตัวแกเองโปรดปรานตั้งแต่สมัย 1930-1940's แต่ปู่บีบีไม่เคยนำมาบันทึกเสียงมาก่อน (น่าประหลาดยิ่งนัก) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตัวบีบีเองปล่อยพลังในวัยชราของเขาออกมาได้อย่างน่าขนลุก เสียงร้องของเขาอาจจะอ่อนล้าไปตามวัย แต่มันยังหนักแน่นและดึงทุกอณูอารมณ์ออกมาจากทุกถ้อยวลีอันปวดร้าวที่ถูกขีดเขียนไว้เมื่อนานแสนนานแล้วออกมาได้ เขาอาจจะไม่เล่นกีต้าร์แคล่วคล่องลื่นไหลเหมือนเมื่อสิบปีก่อนในอัลบั้ม Blues On The Bayou (ที่ว่ากันว่าเป็น masterpiece สุดท้ายของแก) แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องซัดกันด้วยอารมณ์เนื้อๆอย่างใน Waiting For Your Call ก็ไม่มีใครในโลกกินแกได้ สำเนียงกีต้าร์แกทั้งหวานและเต็มไปด้วยเมโลดี้ ขณะเดียวกันมันก็เศร้าสุดหัวใจ


เพลงเปิดอัลบั้ม See That My Grave Is Kept Clean ผลงานของ Blind Lemon Jefferson ท่วงทำนองชัฟเฟิลคึกคัก ใครที่ไม่คุ้นเคยกับซาวนด์ของ T-Bone Burnett อาจจะรู้สึกว่ามันหนืดๆและแห้งแล้ง แต่เมื่อคุ้นเคยกับมันแล้วจะพบว่าซาวนด์อย่างนี้มันเหมาะสำหรับ root music อย่าง blues และ country มากกว่าการโปรดิวซ์แบบเนียนเนี้ยบอย่างอัลบั้มหลังๆของคิง เนื้อหาของเพลงและอารมณ์ที่บีบีถ่ายทอดแสดงชัดถึงมนุษย์ผู้ซึ่งบรรลุแล้วในชีวิตอันเปี่ยมคุณค่า เขาไม่แยแสอะไรนักกับวาระสุดท้าย ขอแค่ดูแลหลุมฝังศพให้สะอาดหน่อยก็พอใจแล้ว


ผมปล่อยให้บีบีและลูกวงพาอารมณ์กระเจิงไปกับประวัติศาสตร์แห่งบลูส์อย่างดื่มด่ำ จนถึงเพลงสุดท้าย Tomorrow Night (งานของ Lonnie Johnson) ที่ Elvis Presley เคยนำมาร้อง ประหลาดใจเล็กน้อยที่มีการโซโลแซ็กโซโฟน(เพราะมาก)มาก่อนกีต้าร์ แต่สุดท้ายก็เป็น 'Lucille' กีต้าร์คู่ใจของราชันย์ที่มาปิดสกอร์


สักวันหนึ่งเจ้าของ Lucille ก็คงต้องจากไป และผมไม่อยากให้ใครมาแตะต้องเธออีก และไม่คิดว่าเธอจะยอมส่งเสียงเหมือนเดิมด้วย