Monday, 27 June 2016

A Moon Shaped Pool


มหาสมุทรแห่งสรรพเสียง
Radiohead : A Moon Shaped Pool ****
Release : May 2016
Producer: Nigel Godrich
Genre: Art Rock / Electronic


ไม่ผิดหวังครับ สำหรับอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Radiohead พวกเขายังเกาะเกี่ยวกันด้วยสมาชิกชุดเดิมอย่างเหนียวแน่น อันประกอบไปด้วย Thom Yorke, Jonny  และ Colin Greenwood, Ed O’ Brien และ Philip Selway รวมทั้ง “The Sixth
Radiohead” Nigel Godrich โปรดิวเซอร์คู่บุญบารมี ที่ทำงานร่วมกับวงมาตั้งแต่มหากาพย์ OK Computer (1997)

A Moon Shaped Pool ทิ้งช่วงจาก The King of Limbs อัลบั้มที่เต็มไปด้วยเสียงอีเล็คโทรนิคส์ 5 ปีเต็ม 11 เพลงในชุดนี้ หลายเพลงเป็นเพลงเก่าที่พวกเขาเคยนำมาเล่นในคอนเสิร์ต หรือจากแหล่งอื่นๆมาก่อน แต่ไม่เคยนำมาบันทึกเสียงอย่างเป็นทางการ พวกเขานำมันมาทำให้สมบูรณ์ในอัลบั้มนี้ สำหรับแฟนเพลงหลายคนอาจจะเป็นข่าวดีที่จะได้มีเวอร์ชั่นที่ final เสียทีสำหรับเพลงเหล่านี้ แต่อีกนัยหนึ่งถ้ามองในแง่ร้าย มันก็อาจหมายถึงความตีบตันในการทำเพลงใหม่ๆของพวกเขาได้เหมือนกัน

แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก นี่เป็น 11 เพลงที่คงมาตรฐานอันสูงส่งของวงดนตรีจากออกซ์ฟอร์ดวงนี้ และเมื่อบวกกับความหลากหลายและสิ่งแปลกใหม่ที่ทางวงนำเสนอ ผมคิดว่ามันมีความยิ่งใหญ่ในระดับเดียวกันกับ In Rainbows (2007) แต่ในคนละฝั่งของสเปกตรัม ซึ่งสีสันของปกอัลบั้มทั้งคู่ก็คงพอจะบอกได้


ภาพรวมของ A Moon Shaped Pool ก็ยังคงเป็น Radiohead ที่คุณคุ้นเคยในช่วงนับจากอัลบั้ม Amnesiac เป็นต้นมาการร้องเพลงแบบทอม ยอร์ค, เสียงอีเล็กโทรนิคส์ที่นำมาใช้อย่างมีรสนิยม, ความมืดหม่นระคนอบอุ่นของอารมณ์เพลง และเนื้อหาที่ใช้ถ้อยคำสั้นๆ แต่ตีความได้ร้อยพันแปด น้องใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในชุดนี้คือเสียงออร์เคสตร้าจากวง London Contemporary Orchestra ที่เขียนสกอร์โดยมือกีต้าร์ของวง—Jonny Greenwood (เขาเคยทำซาวนด์แทร็คภาพยนตร์มาหลายเรื่อง) มันส่งเสริมเติมอารมณ์และความอลังการให้ในหลายๆเพลงอย่างถูกที่ถูกเวลา นับเป็น element ใหม่ที่สร้างพลังและชีวิตชีวาให้ Radiohead อย่างมากล้น

หลายๆศิลปินอาจจะมีปัญหาแทบขาดใจกับการขายอัลบั้มในยุคปัจจุบัน แต่นั่นไม่เกิดกับ Radiohead พวกเขายิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะกังวลอะไรกับเรื่องพวกนี้ โปรโมตด้วยเอ็มวีสองตัวก่อนออกอัลบั้มไม่กี่วัน (Burn The Witch, Daydreaming) ปล่อยเพลงออกสตรีมทุกค่าย (ดังๆ),ขายไฟล์ออนไลน์ ตามด้วยซีดี,แผ่นเสียง และ limited edition ที่ต้องสั่งพิเศษกัน (ไอเดียคูลๆในงานนี้คือมีการตัดมาสเตอร์เทปแท้ๆของงานเก่าๆในอดีตออกมาแจกจ่ายใน limited edition นี้ด้วย) ถ้าเป็นไวนีลจะมีสองแผ่น จัดเป็นอัลบั้มคู่ หน้าปกฝีมือการวาดของ Stanley Donwood ดูจากแผ่นเสียงทำให้นึกถึง Relayer ของ Yes อยู่เหมือนกัน

11 แทร็คใน A Moon Shaped Pool ถูกจัดเรียงแบบตามตัวอักษรหน้าสุดของชื่อเพลง ดูเหมือนจะไม่มีเหตุผล แต่มันก็ออกมาดี (ทางวงให้ความเห็นว่าที่พวกเขาใช้วิธีนี้ในการเรียงเพลง ก็เพราะว่าเรียงแบบนี้แล้วมันเวิร์ค) เปิดอย่างอลังการด้วย Burn The Witch เสียงร้อง ดนตรีของวง เครื่องสาย ท่วงทำนอง ล้วนแล้วแต่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจเป็นที่สุด (แน่นอน,เร้าใจในแบบของ Radiohead) เพลงนี้ก็เป็นเพลงเก่าเก็บ โดยมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึงปี 2002 โดยมีเนื้อเพลงสั้นๆของมันอยู่ใน cover art ของ Hail To The Theif, Daydreaming เพลงที่สองที่เอ็มวีนำแสดงโดยทอม ยอร์คเอง  การเรียบเรียงดนตรีและเครื่องสายในแทร็คนี้ราวกับเป็นซาวนด์แทร็คหนังสั้นในตัวมันเอง ปิดท้ายด้วยการเล่นกับการหมุนเทปย้อนกลับ ให้เสียงร้องของทอม ราวกับการครวญครางของสัตว์ประหลาด แต่ที่จริงเขากำลังร้องว่า ‘Half of my life.’, Decks Dark ยังอยู่ในจังหวะที่เชื่องช้าระทม แต่มีเสียงกลองคมๆที่กระเด็นข้ามเวลามาจากยุค OK Computer เนื้อเพลงเอ่ยถึงเรื่องราวของยานอวกาศและการหลบเร้น แฟนๆเชื่อกันว่านั่นเป็นอะไรที่ต้องตีความอีก18 ตลบมากกว่าที่พวกเขาจะหมายความอย่างนั้นตรงๆ, Desert Island Disk กีต้าร์นีโอโฟล์คมาจากไหน? นี่ถ้าตัดเครื่องสายและอีเล็คโทรนิคส์ออกไปและเติมความหวานอีกนิด คงจะกลายเป็นเพลงของ Nick Drake ได้ ชื่อเพลงอาจนำมาจากรายการดังของ BBC ที่แขกรับเชิญต้องมาเลือกอัลบั้มหรือเพลงไปฟังตอนติดเกาะ 8 ชุด แต่มันเกี่ยวอะไรกับเนื้อหาในเพลงนี้ นั่นเป็นหน้าที่ของคนฟังและแฟนๆต้องเค้นคุ้ยกันเอง,

Ful Stop (สะกดอย่างนี้) หลังจากล่องลอยกันมาหลายเพลง พวกเขาปล่อยเพลง”เร็ว”ออกมาอีกหนึ่งแทร็ค เพลงนี้มีอดีตย้อนไปในปี 2012 ที่ Radioheadเล่นเพลงร็อครวดเร็วนี้ในการแสดงที่ชิคาโก้ แทร็คนี้มีมือกลองรับเชิญชื่อ Clive Deamer ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมถึงต้องใช้บริการของเขา แต่เสียงไฮแฮทซับซ้อนในท่อนกลางเพลงก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้ยินเป็นปกติจากฝีมือฟิลิป เซลเวย์ น่าเสียดายที่ทั้งชุดนี้มีเพลงแบบนี้อยู่แทร็คเดียว, Glass Eyes และ True Love Waits เป็นเปียโนบัลลาดช้าๆที่จะทำให้หัวใจคุณละลายถ้าชอบสไตล์นี้และเสียงร้องเหงาร้าวๆของทอม , Identikit เต็มอิ่มกับเสียงกีต้าร์ของจอนนี่ที่หาฟังได้ยากเย็นเหลือเกินในสมัยนี้ของพวกเขา (ชื่ออัลบั้มอยู่ในเนื้อเพลงๆนี้) ประมาณว่า อยากฟังนักใช่ไหม กีต้าร์น่ะ อะ เอาไปเต็มๆ แต่เพลงเดียวนะ , Present Tense ใครว่าเพลงบอสซาโนว่า ทำให้ดาร์คไม่ได้?

ทอม ยอร์ค เคยบอกไว้ว่า ถ้าเขาจะเขียนเพลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ มันคงจะออกมาทุเรศทุรัง แต่เมื่อเขาทำมันจริงๆใน The Numbers มันกลับกลายเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอัลบั้ม ออร์เคสตร้าในเพลงนี้เต็มอิ่ม ใช้ทุกโน้ตอย่างคุ้มค่า เมื่อฟังมาถึงเพลงนี้ ผมต้องบอกตัวเองว่าเราช่างโชคดีเสียจริง ที่ได้อยู่ร่วมสมัยกับวงดนตรีวงนี้

คุณอาจหาบทความการตีความ,ความหมาย และที่มาที่ไปของแต่ละเพลงใน A Moon Shaped Pool ในอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยาก แต่แนะนำให้คุณอ่านเนื้อเพลง,ฟังเพลง และตีความด้วยเวอร์ชั่นของคุณเองก่อน อ้อ, และอย่าไปคิดว่าเพลงพวกนี้จะไปเกี่ยวข้องอะไรกับการหย่าร้างของ Thom Yorke เมื่อเร็วๆนี้มากนักนะ ผมไม่คิดว่ามันจะตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรอก สำหรับคนอย่าง Yorke และวงดนตรีอย่าง Radiohead แม้แต่ชื่ออัลบั้มเอง.....

Tracklist

8.  The Numbers