Tuesday 31 March 2015

Doraemon and April Fool's Day

วันโกหกและเรื่องซึ้งๆของโนบิตะและโดราเอม่อน
-------------------------
ในวันโกหกแห่งโลก... 1 เมษายนปีนึง โนบิตะแกล้งไจแอนด์ด้วยการหลอกเขาอย่างสนุกสนาน
พอไจแอนท์จับได้และทำท่าจะ"อัด"เค้าตามสไตล์ของเค้า โนบิตะก็บอกไจแอนท์ว่าไม่ได้นะ นี่มัน April Fool's Day ใครๆเค้าก็โกหกกันทั้งนั้น ไจแอนท์แค้นจัดทีทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็กลับมาพร้อมกับปฏิทินอันใหญ่และชี้ให้โนบิตะเห็นว่าเค้าจำผิด วันนี้เป็นวันที่2เมษายนต่างหาก โนบิตะไม่มีสิทธิโกหกเขาในวันนี้ ไจแอนท์จึงจัดการ"อัด"นายแว่นซะน่วม
เมื่อจบพิธีการอัด ไจแอนท์ยิ้มชั่วๆและบอกโนบิตะว่า "เสียใจด้วยนะ ฉันโกหกนายว่ะ จริงๆวันนี้ก็ 1 เมษาอย่างนายว่านั่นแหละ"
ครับ นั่นเป็นตอนนึงของโดราเอม่อนที่พูดถึงเรื่องวันโกหก
ต่อไปเป็นเรื่องซึ้งๆจากคุณ mayawiz (เมย์วี่เด๊ส) ที่เขียนไว้เมื่อ ๓ ปีก่อน เชิญอ่านได้ พร้อมซับ...น้ำตา
(ผมแก้ไขคำผิดนิดและปรับบางถ้อยคำนิดหน่อยจาก original article)
(เรียงเรียงจาก http://mayawiz.exteen.com/)
-----------------------
พอถึงวันนี้ทีไร ก็จะนึกถึงโดราเอม่อนตอนนึง
เป็นตอนที่เกี่ยวกับตอนจบ(ครั้งแรก)ของโดราเอม่อน
ที่โดราเอม่อนจะกลับอนาคต แล้วโนบิตะโวยวายไม่อยากให้กลับ
แต่สุดท้ายโนบิตะก็ทำใจได้ เพราะเจอตุ๊กตาล้มลุก แล้วนึกถึงคำย่าสอน
"ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรก็ขอให้ลุกขึ้นสู้ เหมือนดังตุ๊กตาล้มลุกตัวนี้"
ทำให้โนบิตะตัดสินใจที่จะบอกลาโดราเอม่อน แล้วเลี้ยงส่ง
แต่ในคืนนั้นเอง โดราเอม่อนกับโนบิตะก็นอนไม่หลับเลยออกไปเดินเล่น
โนบิตะพูดกับโดราเอม่อนว่า
"ไม่ต้องเป็นห่วงฉันหรอกนะ โดราเอม่อน ไม่ว่าเรื่องไหนๆ การบ้าน หรือเรื่องอื่นๆ ฉันจะพยายาม"
"เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงฉันหรอก นายกลับไปอนาคตไปอย่างสบายใจเถอะ"
ดูฉากนี้แล้วผมร้องไห้ รู้สึกได้ว่าโนบิตะเติบโตขึ้นมาก
โดราเอม่อนที่ได้ยินก็ร้องไห้แล้วขอตัวไป
ระหว่างนั้นไจแอ้นท์ก็โผล่มา แกล้งโนบิตะเหมือนเดิม
โนบิตะก็กำลังจะตะโกนเรียกโดราเอม่อนแต่ก็ต้องชะงัก
เขาสัญญากับโดราเอม่อนแล้วนี่นา ว่าไม่ว่าอย่างไรเขาจะจัดการเรื่องของตัวเอง..
โนบิตะพยายามลุกขึ้นสู้กับไจแอ้นท์นับครั้งไม่ถ้วน
แต่ไม่ว่ากี่ครั้ง โนบิตะก็ไม่ร้องเรียนหาโดราเอม่อนเหมือนเช่นเดิมๆ
เป็นฉากที่ประทับใจมาก
โนบิตะลุกขึ้นสู้ เจ็บแค่ไหนก็ลุกขึ้นสู้
จนกระทั่งโดราเอม่อนเป็นห่วงและออกตามหาโนบิตะ
มาเจอโนบิตะตอนกำลังไล่ไจแอ้นท์กลับไปได้
โดราเอม่อนหอบร่างบาดเจ็บของโนบิตะกลับบ้าน
โนบิตะพึมพำว่า
"เห็นมั้ยโดราเอม่อน ฉันทำได้แล้ว ฉันไม่ต้องมีโดราเอม่อน ฉันก็อยู่ได้"
โดราเอม่อนที่ได้ยินก็ร้องไห้ตลอดทาง
ผมที่ดูฉากนั้น ก็ได้รู้สึกโนบิตะเติบโตแล้วจริงๆ
จนกระทั่งคืนนั้นเอง โดราเอม่อนก็กลับไปยังอนาคต
ทิ้งเพียงโนบิตะที่หลับบนฟูกนอน พึมพำถึงโดราเอม่อน
เป็นตอนอวสานตอนแรกของโดราเอม่อนที่ถูกสั่งให้จบ ตอนสมัยพิมพ์ครั้งแรกครับ
สำหรับผมมันเป็นตอนจบที่ประทับใจมาก อ่านตอนเด็กๆ ก็ร้องไห้เลย
รู้สึกเลยว่าโนบิตะนี่เติบโตขึ้นจริงๆ เขาสามารถยืนยันได้แม้กระทั่งจะไม่มีโดราเอม่อนแล้วก็ตาม
โดราเอม่อนก็ควรจบไปแค่นี้ แต่ความนิยมในโดราเอม่อนกลับยังมีอยู่
ก็เลยกลับมาในอีกตอนคือตอน ยาโกหก 800
หลังจากที่โดราเอม่อนกลับไปแล้วโนบิตะก็ซึมเศร้า ไม่พูดไม่ร่าเริง
จนกระทั่งแม่โนบิตะ บอกว่า สัญญาไว้กับโดราเอม่อนไว้แล้วไม่ใช่หรือ
โนบิตะนึกถึงคำสัญญาได้ ก็ช่วยงานแม่ไปซื้อของ
ระหว่างทางก็เจอไจแอ้นท์
ไจแอ้นท์บอกกับโนบิตะว่า โดราเอม่อนกลับมาแล้วน่ะ!
สร้างความดีใจให้กับโนบิตะมาก
โนบิตะรีบวิ่งกลับไปบ้าน ถามแม่ว่าโดราเอม่อนกลับมาแล้วเหรอ
ขึ้นไปหาบนห้อง แต่หาไม่เจอ ก็คิดไปว่าโดราเอม่อนก็ต้องเซอร์ไพร์สแน่ๆ
โนบิตะแคะกระปุกออมสินออกมาว่าจะไปซื้อโดรายากิให้โดราเอม่อน
ระหว่างทางกลับจากการซื้อโดรายากิ
โนบิตะเห็นหลังโดราเอม่อนไหวๆ ก็วิ่งตามไปด้วยความคิดถึง
ปรากฎว่า
เป็นแผนแกล้งของพวกไจแอ้นท์ ซึเนโอะ ที่โกหกโนบิตะว่าโดราเอม่อน
เพราะวันนี้เป็นวัน April Fool's Day
โนบิตะเสียใจมากที่โดนหลอก โกรธมาก
และกลับมาที่ห้อง หยิบกล่องที่โดราเอม่อนให้ไว้ตอนกลับ
เป็นกล่องที่โดราเอม่อนใส่ของวิเศษไว้ ใช้ได้แค่ครั้งเดียว
โนบิตะเสียใจมาก จนเปิดกล่องปรากฎว่าเป็นยาโกหก 800
สิ่งที่พูดไปจะเป็นสิ่งที่โกหกเสมอ
โนบิตะกลับไปแก้แค้นไจแอ้นท์และซึเนโอะทันที
แต่ทว่า หลังจากการแก้แค้นแล้ว
โนบิตะก็พบว่าแก้แค้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้โดราเอม่อนกลับมาได้..
โนบิตะจึงได้ยกเลิกสิ่งที่พูดมาทั้งหมด
เดินกลับบ้านไปอย่างเงียบๆ
แม่โนบิตะเข้ามาถามว่า เจอโดราเอม่อนมั้ย
โนบิตะได้แต่ตัดเพ้อว่า
"โดราเอม่อนไม่มีวันกลับมาหาเขา"
จนกระทั่งโนบิตะเปิดประตู
ได้พบกับ..
บุคคลนั้น..
โดราเอม่อน!!!
ท่ามกลางความงง ความสับสน โนบิตะกับโดราเอม่อนต่างก็ร้องไห้ด้วยความยินดีที่ได้กลับมาเจอกัน
โนบิตะได้แต่สงสัยว่า ทำไม โดราเอม่อนจึงบอกว่าเป็นผลของยาโกหก 800
โนบิตะร้องไห้โฮ
"ไม่ดีใจเลย"
"นับจากนี้ไปชั่วชีวิต ฉันจะไม่อยู่กับโดราเอม่อนอีกแล้ว"
"ฉันเกลียดโดราเอม่อนที่สุด"
ถึงแม้สิ่งที่พูดจะไม่ตรงกับใจของโนบิตะ แต่ฉากในอนิเมก็ช่างสื่อให้ถึงมิตรภาพความรักของสองคนได้ดีจริงๆ
ตอนจบ จบลงโดยที่ ไจแอ้นท์ กับซึเนโอะ มาขอโทษโนบิตะ
ทุกคนต่างดีใจที่ได้เจอโดราเอม่อน

สำหรับผม..
ตอนนี้เป็นตอนที่ดีมากๆ ดีที่สุดของโดราเอม่อน
เป็นอะไรที่ไม่คิดว่าการ์ตูนสำหรับเด็กอย่างโดราเอม่อนจะทำผมร้องไห้จริงๆ
ขนาดผมรู้เรื่องหมดแล้ว มาดูอีกรอบก็อดร้องไห้ไม่ได้จริงๆ
สำหรับคนที่อยากดูแบบอนิเม
สามารถดูได้ผ่าน Link นี้ครับ
http://www.veoh.com/watch/v197802445yckZFYe…
ไม่มีซับนะครับ แต่ดูแค่ภาพก็ซึ้งแล้ว

Monday 30 March 2015

Penny Lane

• ตำนาน Penny Lane
(Lennon-McCartney) 2:57
----------------------------------------------------
• ผู้แต่ง--พอล
• นักดนตรี
พอล-ร้อง,เบส,คีย์บอร์ด
จอห์น-ริธึ่มกีต้าร์,ร้องสนับสนุน,ฮาร์โมเนี่ยม(?),เปียโน,ปรบมือ และ คองก้า
จอร์จ-ร้องสนับสนุน,เพอร์คัสชั่น(?)
ริงโก้-กลอง,แทมโบรีน,ทิวบูลาร์ เบลล์,เพอร์คัสชั่น
จอร์จ มาร์ติน-เปียโน,ปรบมือ
เดวิด เมสัน-ปิ๊คโคโล่ ทรัมเป็ต
พี. กู๊ดดี้, เรย์ สวินฟิลด์, เดนนิส วอลตัน, แมนนี่ วินเตอร์ส-ฟลุ๊ท,พิคโคโล่
ลีออน คาลเวิร์ต,ดันแคน แคมป์เบลล์, เฟรดดี้ เคลย์ตัน, เบิร์ต คอร์ตลีย์-ทรัมเป็ต,ฟลูเกิ้ลฮอร์น
ดิ๊ก มอร์แกน, ไมค์ วินฟิลด์-โอโบ,อิงลิชฮอร์น
แฟรงค์ คลาร์ค-ดับเบิ้ลเบส
• บันทึกเสียง
ที่แอบบี้โร้ดในวันที่ 29-30 ธันวาคม 1966 (สตูดิโอ 2) / 4 มกราคม-6 มกราคม1967 (สตูดิโอ 2) / 10 และ 12 มกราคม 1967 (สตูดิโอ 3) / 17 มกราคม 1967 (สตูดิโอ 2)
• จำนวนเทคทั้งหมด: 9
• การมิกซ์:
ที่แอบบี้โร้ดในวันที 29-30 ธันวาคม 1966 (สตูดิโอ2) / 9 มกราคม 1967 (สตูดิโอ 2) / 12 มกราคม 1967 (สตูดิโอ 3) / 17มกราคม1967(สตูดิโอ2) / 25 มกราคม1967(สตูดิโอ1)
• ทีมงานด้านเทคนิค
โปรดิวเซอร์: จอร์จ มาร์ติน
ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์: เจฟฟ์ เอเมอริค
ผู้ช่วยเอ็นจิเนียร์:ฟิล แมคโดนัลด์
-------------------------
• จุดกำเนิด
Penny Lane เปรียบเสมือนคำตอบของพอลต่อเพลง Strawberry Fields Forever ของจอห์น ทั้งสองเพลงนี้ซึ่งต่างก็เป็นเพลงที่เพรียกหาความทรงจำในวัยเยาว์ได้สร้างสรรค์รูปแบบของความสมบูรณ์แบบในศิลปะของเพลงป๊อบ Penny Lane เป็นชุมชนในลิเวอร์พูลอันมีถนนและสถานีรถประจำทางตัดผ่านซึ่งพอลเคยใช้มันในการเดินทางไปหาจอห์นที่บ้าน "ผมอาศัยอยู่ที่ Peny Lane บนถนนที่มีชื่อว่า New Castle Road ดังนั้นผมจึงเป็นบีทเทิลคนเดียวที่อาศัยอยู่ที่ Penny Lane" จอห์นอธิบายเรื่องนี้ไว้ในปี 1980 หลังจากนั้นเขาก็ย้ายจากตรงนั้นไปอยู่ที่ Woolton... และสุดท้าย เป็นพอลที่เป็นคนอุทิศเพลงให้สถานที่นี้ เขาได้เฝ้าครุ่นคิดถึงหัวข้อนี้ตั้งแต่ปี 1965 และเขาก็ได้นำมันมาใช้เมื่อพอลกำลังค้นหาไอเดียใหม่ๆสำหรับอัลบั้มต่อไป พอลเขียนเพลงนี้ที่บ้านใหม่ในแบบวิคตอเรียนของเขาที่ Cavendish Avenue ในละแวกที่เรียกกันว่า St. John's Wood
ขณะที่จอห์นได้ไล่เรียงชื่อสถานที่ที่เขาเติบโตขึ้นมาในเนื้อเพลงดั้งเดิมของ "In My Life" พอลกลับคิดถึงตัวละครต่างๆในเพลง Penny Lane ไม่ว่ามันจะเป็นตัวละครสมมุติหรือมีชีวิตจริงก็ตาม ตัวอย่างเช่น ช่างตัดผมชื่อ Bioletti นั้นมีอยู่จริง, สถานีดับเพลิงก็อยู่ใกล้ๆ,มีธนาคารอยู่ที่หัวมุม--แม้ว่าตัวละครที่ เป็นนายธนาคารจะเป็นการสร้างจากจินตนาการของพอลก็ตามที--และก็มีการขายดอกป๊อบปี้กันทุกปีในช่วงเวลาของ Remembrance Day (11 พ.ย.) "Blue Suburban Skies" เป็นการใช้วิสัยทัศน์ในแบบกวีและกึ่งไซคีดีลิกปนนิยายปรัมปราในการวาดภาพชุมชนนี้, ซึ่งจะว่าไปก็ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ธรรมดาๆ
จอห์นช่วยพอลแต่งในท่อนที่สาม และทั้งคู่ก็สนุกสนานกันในการใส่เดอร์ตี้โจ๊กเล็กๆลงไป: four of fish and finger pie พอลอธิบายเรื่องนี้ไว้ในปี 1967 "คนทั่วไปจะไม่เก็ท แต่ "finger pie" มันเป็นมุกตลกเล็กๆสำหรับเด็กลิเวอร์พูลที่ชอบอะไรซกมกสักหน่อย"
-------------------------------------------
• ขั้นตอนการผลิต (Production)
เซสชั่นแรกของ Penny Lane เริ่มขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม 1966 พอลต้องการสุ้มเสียงที่สะอาดมากๆ จากการที่เขาได้รับอิทธิพลจากงานบันทึกเสียงทางฝั่งอเมริกาอย่างเช่นใน Pet Sounds ของ The Beach Boys โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลง "God Only Knows" เพลงที่พอลคิดว่ามันเป็นหนึ่งในเพลงที่งดงามที่สุดที่เคยมีการประพันธ์กันมา (จวบจนทุกวันนี้) พอลนั่งเล่นเปียโนอยู่คนเดียวและใช้เวลาหกเทคในการสร้างเบสิกแทร็ค จากนั้นเขาก็ใส่เสียงเปียโนหลังที่สองลงไป,ส่งมันผ่านแอมป์ Vox พร้อมกับใส่ vibrato และ reverb และยังมี honky tonk piano อีกหลังหนึ่งทับซ้อนลงไปอีก ริงโก้เล่นแทมโบรีน สุดท้ายพวกเขาใส่เสียง harmonium ผ่านแอมป์ Vox บวกกับเสียงเพอร์คัสชั่นเข้าไปเป็นอันเสร็จสรรพสำหรับวันแรก วันต่อมา พอลอัดเสียงร้องนำของเขาโดยมีจอห์นร้องประสาน วันนี้พวกเขาชะลอเทปที่อัดลงเล็กน้อย ทำให้ตอนนำมาเล่นกลับเสียงร้องของเขามี pitch ที่สูงขึ้น
ในวันที่ 4 มกราคม 1967 หลังจากจอร์จและจอห์นพยายามเล่นลีดกีต้าร์และเปียโนลงไปในเพลงแต่ได้ผลไม่เป็นที่พึงพอใจ,พอลก็อัดเสียงร้องของเขาลงไปใหม่ และเขาก็ร้องใหม่อีกครั้งในวันต่อมา ส่วนวันที่ 6 มกราคม พอลอัดเสียงเบสไลน์อันลือลั่นของเพลงนี้ด้วย Rickenbacker 4001S โดยมีจอห์นเล่นกีต้าร์ริธึ่มและคองโก้คลอไป ริงโก้ตีกลอง เจฟฟ์ เอเมอริคใช้เทคนิค compress เพลงทั้งเพลงอย่างหนักและอัดเสียงด้วยเทปที่เดินช้ากว่าปกติอีกครั้ง ในเทค 7 จอห์นและจอร์จ มาร์ตินเล่นเปียโนและปรบมือลงไป และสุดท้าย จอร์จ แฮริสัน,จอห์น และ พอล อัดเสียงร้องสนับสนุน
ต่อมาพอลขอให้จอร์จ มาร์ตินเขียนสกอร์สำหรับเครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องเป่าไม้ให้หน่อย และมาร์ตินก็จัดให้ดังนี้ ฟลุ๊ตสี่ตัว, ทรัมเป็ตสอง, พิคโคโล่สอง และฟลูเกิ้ลฮอร์นหนึ่งตัว พวกเขาอัดเสียงเครื่องดนตรีเหล่านี้ในวันที่ 9 มกราคมในแทร็ค 2 ของเทค 9 วันต่อมาริงโก้อัดเสียงทิวบูล่าร์เบลล์ทับซ้อนลงไป และต่อมาในวันที่ 12 มกราคมก็มีการอัดเสียงทรัมเป็ตสองตัว,โอโบสองตัว,อิงลิชฮอร์นสองตัวและดับเบิ้ลเบสหนึ่งตัวลงตามไป
ระหว่างนั้นในวันที่ 11 มกราคม พอลดูทีวีในรายการของบีบีซีและได้เห็นนักทรัมเป็ตคนหนึ่งเล่นเพลง Brandenburg Concerto no.2 ของ Bach แล้วรู้สึกประทับใจ พอลรายงานความรู้สึกนี้ต่อมาร์ติน โปรดิวเซอร์หนุ่ม(ตอนนั้น)บอกเขาว่า นั่นคือ piccolo trumpet หรือบางทีก็เรียกกันว่า Bach trumpet พอลชอบเสียงของมันและมาร์ตินก็ไม่ปฏิเสธว่าพวกเขาสามารถนำมันมาใช้ในเพลงได้ และพอลก็ไม่คิดว่าจะเอาใครก็ได้มาเป่า เขาติดต่อ เดฟ เมสัน สมาชิกวง New Philharmonia Orchestra of London ที่เขาเห็นในทีวีนั่นแหละมาเป่าใน Penny Lane ในวันที่ 17 มกราคม มาร์ตินเป็นคนเขียนโน็ตจากที่พอลร้องให้ฟังและส่งต่อให้เมสันเป่า เมสันนั่งรออยู่สามชั่วโมง ก่อนที่จะเป่าโน๊ตในท่อนโซโลนั้นด้วย B-Flat Piccolo ของเขาในเทคเดียว แม้ว่าเขาจะเป่าได้สุดยอดและหมดจดปานนั้น พอลก็ยังอยากให้เมสันลองอีกสักเทค แต่มาร์ตินไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่ามันเจ๋งแล้วและพอลก็โอเคในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม เมสันก็ยังเป่าท่อนเล็กๆน้อยๆอีกสองส่วนซึ่งถูกนำมาใช้ในตอนท้ายเพลง(conclusion)
มิกซ์ที่ถูกเลือกจากจำนวนการมิกซ์มากมายคือมิกซ์ที่ 11 และถูกส่งไปยัง Capitol ซึ่งกำลังรอซิงเกิ้ลใหม่ของพวกเขาอยู่ แต่กระนั้นในวันที่ 25 มกราคม พวกเขาตัดสินใจว่าจะลบท่อนทรัมเป็ตตอนท้ายออกและทำการมิกซ์ใหม่เพื่อส่งไปอเมริกาอีกครั้ง แต่มันก็ช้าเกินไป Capitol ปั๊มแผ่นโปรโมจากมิกซ์ 11 นั้นมาบางส่วนแล้ว และทุกวันนี้แผ่นเหล่านั้นก็จัดเป็นของหายากของนักสะสม
ใช้เวลาสามสัปดาห์ในการโปรดิวซ์ Penny Lane แต่มันก็คุ้มค่าสำหรับผลงานที่เราได้ยิน

Saturday 21 March 2015

ขวัญ-เรียม





"ขวัญของเรียม"
คำร้อง - ทำนอง พรานบูรพ์
--------------
เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญของเรียม
หวนคิดผิดแล้วขมขื่น ฝืนใจเจียม
เคยโลมเรียมเลียบฝั่ง มาแต่หลังยังจำ
คำที่ขวัญเคยพลอดเคยพร่ำ
ถ้วนทุกคำยังเรียกยังร่ำเร่าร้องก้องอยู่
แว่วๆแจ้วหู ว่าขวัญชู้เจ้ายังคอย
* เรียมเหลือลืมแล้วนั่น ขวัญคงหงอย
หวนคิดผิดแล้วยิ่งเศร้า เหงาใจคอย
อกเรียมพลอยนึกหน่าย คิดถึงสายน้ำนอง
** คลองที่เรียมเคยเที่ยวเคยท่อง
เมื่อเราสองต่างว่ายต่างว่องล่องไล่ไม่เว้น
เช้าสายบ่ายเย็น ขวัญลงเล่นกับเรียม
(ซ้ำ *&**)
********************
"ขวัญเรียม" หรือ "ขวัญของเรียม" เป็นเพลงไทยเก่าๆที่ไพเราะสุดๆอีกเพลงหนึ่งที่ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องแผลเก่าก็จะยิ่งอินและซึ้งกับมันขึ้นไปอีก หนังเรื่องนี้ก็ทำกันมาหลายรอบแล้ว แต่ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นอีกนอกจากที่คุณเชิด ทรงศรีกำกับไว้เมื่อปี ๒๕๒๐ นำแสดงโดยคุณสรพงษ์ ชาตรี ในบท(ไอ้)ขวัญ และคุณนันทนา เงากระจ่างในบท(อี)เรียม ส่วนแผลเก่าเป็นบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ที่ไม่เคยดูเวอร์ชั่นอื่นๆก็เพราะฉบับของคุณเชิดนี้มันยอดเยี่ยมและตราตรึงจนทำให้ผมยอมถูกตราหน้าว่าเป็นคนใจแคบ ปิดประตูรับการตีความใหม่ๆ(และเก่ากว่า)ไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่อยากให้มีภาพอื่นมาเจือจางความประทับใจนี้
(ชมภาพยนตร์เต็มเรื่องได้ที่ http://youtu.be/LYIkIoGW6XE ภาพและเสียงอาจจะไม่สมบูรณ์นัก)
***********************
ขวัญเป็นลูกชายนายเขียน ผู้ใหญ่บ้านบางกะปิ เรียมเป็นลูกสาวตาเรือง อยู่คลองแสนแสบ เรียมมีพี่ชายชื่อ เริญ น้องชายชื่อ รอด ตาเรืองแพ้คดีรุกที่นาที่ผู้ใหญ่เขียนฟ้องร้อง จึงเป็นอริกับผู้ใหญ่เขียนเสมอมา แต่ขวัญกับเรียมรักกัน และแอบไปมาหาสู่เพื่อแสดงความรักกันตลอดมา ขวัญสาบานต่อเจ้าพ่อไทรว่า จะรักและซื่อตรงต่อเรียมตลอดไป ขณะนั้น ครอบครัวเรียมตามมาพบ จึงจับเรียมกลับไป ล่ามเรียมไว้ไม่ให้ไปพบกับขวัญอีก ขวัญซึ่งคิดถึงเรียมก็ลักลอบมาหา ได้พบและทำร้ายจ้อย นักเลงซึ่งสนิทกับครอบครัวเรียมและหลงรักเรียมอยู่ ตาเรืองเห็นว่า จะห้ามปรามขวัญกับเรียมไม่ได้ จึงขายเรียมให้ไปเป็นคนใช้คุณนายทองคำ เศรษฐินีม่ายในบางกอก ด้วยราคาหนึ่งร้อยบาท
คุณนายทองคำเห็นเรียมหน้าตาน่ารักและละม้ายโฉมยง บุตรสาวที่เพิ่งตาย จึงเอ็นดูและเลี้ยงเรียมเหมือนลูก เรียมจึงมีชีวิตเหมือนผู้ดีอยู่ในบางกอก เรียมยังได้พบสมชาย ลูกของพี่ชายคุณนายทองคำ ซึ่งเป็นคนรักของโฉมยง สมชายก็เหมือนคุณนายทองคำที่เมื่อเห็นเรียมก็รักใคร่ คุณนายเห็นทั้งสองสมน้ำสมเนื้อกันก็ส่งเสริม แต่เรียมยังคงรักขวัญอยู่
สามปีผ่านไป ขวัญซึ่งไร้เรียมใช้ชีวิตเหมือนรอวันตายไปวัน ๆ เข้าใจว่า เรียมไปได้ดีในบางกอกจนลืมคนเคยรักคนนี้เสียแล้ว เวลานั้น นางรวย แม่ของเรียมป่วย เรียมจึงขออนุญาตคุณนายกลับบ้านเดิมเพื่อมาเยี่ยมไข้ นางรวยเมื่อลูกสาวมาหาได้ไม่นานก็สิ้นใจ เมื่อกลับมาแล้ว เรียมได้พบกับขวัญ และแสดงให้เขาเข้าใจว่า ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย
หลังเสร็จงานศพนางรวย สมชายมาตามเรียมกลับบางกอก เพราะคุณนายทองคำล้มป่วยลงเช่นกัน เรียมสองจิตสองใจ ใจหนึ่งไม่อยากกลับเพราะรักขวัญ ใจหนึ่งก็คิดถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ที่บางกอก ขณะนั้น สมชายก็พร่ำพรอดรักเรียม ขวัญแอบมาได้ยินก็โกรธจนบ้าคลั่ง เข้าทำลายเรือที่คนทั้งนั้นจะใช้ไปบางกอก ผู้คนจึงออกติดตามจับขวัญ สมชายใช้ปืนยิงขวัญตาย เรียมจึงคว้ามีดของขวัญมาเชือดคอตัวเองตายตามขวัญไป
*************************
คนแต่งเพลงนี้คือคุณ พรานบูรพ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของคุณจวงจันทร์ จันทร์คณา (๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙) ท่านแต่งไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ เพื่อประกอบหนังเรื่องแผลเก่าฉบับดั้งเดิม ผู้ขับร้องในฉบับนี้คือคุณส่งศรี จันทรประภา (เธอแสดงเป็นเรียมในหนังด้วย) โดยมีเนื้อร้องสลับท่อนกับฉบับที่ร้องกันอยู่ในปัจจุบัน คุณบูรพา อารัมภีรเคย"รีวิว"ไว้ว่าเพลงนี้นั้น...."...บรรเลงโดยวงดนตรีบิ๊กแบนด์ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าผสมผสานกันอย่างยอดเยี่ยม...ส่วนเสียงของส่งศรีนั้น ร้องจับใจนัก" อะ ลองฟังกันว่าเป็นอย่างนั้นจริงไหม
http://youtu.be/AidFysFqZag
ในฉบับหนังแผลเก่าของคุณเชิดนั้นผู้ขับร้องเพลงนี้คือคุณผ่องศรี วรนุชครับ ลองฟังกันทั้งม้วนเลยนะครับ ซาวนด์แทร็คแผลเก่า
http://youtu.be/ITcOuv_pMp4
ยังมีนักร้องชั้นนำนำ"ขวัญเรียม"มาร้องอีกมากมาย ซึ่งท่านคงจะหาฟังได้เองไม่ยากใน youtube รวมทั้งน้องแป้งร่ำใน The Voice season 2 (น้องเสียงดีมาก เสียดายที่พลาดไปในจุดเล็กๆน้อยๆจนไม่มีโค้ชคนใดหันมาเมียงมอง)
http://youtu.be/-UklAwRHqMc
อะไรที่ทำให้แผลเก่าและขวัญเรียมคงความเป็นอมตะ? อาจจะเป็นเพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องราวของสาวบ้านนาที่ลืมกำพืดและคนรักไปหลงแสงสี แต่เป็นเพราะการหักมุมในนาทีสุดท้ายที่ทำให้เธอฉุกคิดว่าอะไรและใครที่เธอรักที่สุด ซึ่งถึงตอนนั้นในหัวใจเธอก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรที่จะไถ่โทษได้อีกนอกจากชีวิตที่ต้องสิ้นตามตกกันไป เป็นโศกนาฏกรรมที่เราคงไม่อยากแนะนำให้ลูกหลานเอาเยี่ยงอย่าง แต่ในภาพยนตร์มันซึ้งกันจนน้ำตาล้นออกมานอกโรง
**************************
ขอพ่วงเกร็ดความรู้ภาษาไทยจากครูลิลลี่ครับ
"........พูดถึงประวัติความเป็นมาของแผลเก่า ขวัญเรียมมาเสียนาน มาถึงความรู้ภาษาไทยที่จะทิ้งท้ายกันไว้ดีกว่า มีหลายคนสงสัยและถามกันว่า เคยเห็นเนื้อเพลงหลายเพลง หรือในคำกลอนโบราณหลายบท มักจะมีคำว่า “เรียม” ปรากฏอยู่ด้วย อยากรู้เหลือเกินว่า เรียม นั้น เป็น เรียม เดียวกับ เรียมนางเอกในบทประพันธ์แผลเก่าหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่า คำว่า เรียม ในทีนี้ มิใช่เรียมนางเอกของแผลเก่านะคะ แต่เรียมนี้ เป็น สรรพนามค่ะ เป็นคำใช้แทนตัวผู้พูด สำหรับ ชายพูดกับหญิงอันเป็นที่รัก จัดเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 คำแปลก็คล้าย ๆ กับ เรา พี่ หรือ พี่ชาย พูดกับหญิงที่รักนั่นเองค่ะ ว่าแต่ว่าชาตินี้จะมีใครมาพูดกับคุณครูว่า “รักเธอ ลิลลี่ของเรียม” บ้างไหมหนอ .... สวัสดีค่ะ....."
ทำให้คิดว่าที่คุณไม้เมืองเดิมแต่ง"แผลเก่า"ให้พระเอกชื่อเหมือนผู้หญิงว่าขวัญแต่นางเอกกลับเป็นชื่อเรียมที่เป็นคำแทนตัวเองของผู้ชายน่าจะมีความหมายอะไรลึกซึ้งเกินกว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ...เรียมว่าอย่างนั้นนะ smile emoticon
-------------------------------------

Strangers in the Night

"Frank Sinatra : Strangers In The Night"
------------------
First released : May 1966
Expanded Remaster Edition :2010
Genre: Traditional Pop (Vocal)
Produced By : Jimmy Bowen
Arranged By : Nelson Riddle
Except “Strangers In The Night” arranged by Ernie Freeman
ต้นปี 1966 (พ.ศ. ๒๕๐๙) แฟรงค์ สินาตร้า (1915-1998) ยอดนักร้องอเมริกันฉายา “The Voice” เข้าสู่วัย 51 ปี แม้ว่าดูเหมือนจะเลยยุคทองของเขากับการบันทึกเสียงในสังกัด Capitol Records ไปหลายปีแล้ว แต่แผ่นเสียง LP ของแฟรงค์ก็ยังคงทำยอดขายให้สังกัด Reprise (ตราแผ่นเสียงส่วนตัวของเขาเอง) ได้อย่างสม่ำเสมอ เ ป็นแฟรงค์เองที่ทำให้ format LP นี้เป็นที่ยอมรับในวงการตั้งแต่กลางยุค 50’s ด้วยอัลบั้มคลาสสิกมากมาย อาทิ Songs For Swingin’ Lovers!, In The Wee Small Hours หรือ Sings For Only The Lonely
แต่ในช่วงกลางทศวรรษนี้ ทีมงานของแฟรงค์เล็งเห็นว่า “ท่านประธานแห่งบอร์ด” (อีกฉายาหนึ่งของแฟรงค์) จำเป็นต้องมีซิงเกิ้ลฮิตๆไว้ประดับบารมีซํกเพลงหนึ่ง ถึงจะพอฟัดกับศิลปินรุ่นหลังอย่าง The Beatles ได้ และเพลง Strangers in the Night ก็คือความหวังของ “พ่อตาฟ้าคนเดิม” (อีกฉายาของแฟรงค์!) และทีมงาน เดิมมันเป็นเพลงเยอรมันที่ประพันธ์ทำนองโดย Bert Kaempfert และเนื้อร้องภาษาอังกฤษแต่งโดย Charles Singleton และ Eddie Snyder ซึ่ง Jimmy Bowen โปรดิวเซอร์หนุ่มผู้รับผิดชอบงานนี้เล็งเห็นว่าน่าจะทำให้แฟรงค์เกิดอีกครั้งได้
การบันทึกเสียงเป็นไปอย่างรีบเร่งสุดขีด เพราะว่าเวอร์ชั่นของ Jack Jones ในเพลงเดียวกันนี้จะออกจำหน่ายในอีกสามวัน แต่ Bowen ก็ทำได้ หลังจากบันทึกเสียงเสร็จในวันที่ 11 เมษายนแค่ 24 ชั่วโมง Strangers in the Night ฉบับสินาตร้าก็กระหึ่มทั่วสถานีวิทยุในอเมริกา มันติดอันดับ 1 ในชาร์ตทั่วโลก และกลายเป็นเพลงดังที่สุดในชีวิตของแฟรงค์ สินาตร้า แถมยังน็อคเพลง Paperback Writer ของ Beatles ลงจากอันดับ 1 ในอเมริกาได้ด้วย ว่ากันว่าแฟรงค์สะใจนัก (เขาแสดงออกอย่างชัดแจ้งมาเสมอว่าไม่ชอบเพลงร็อค)
เสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ตรงท้ายเพลงที่แฟรงค์ฮัมเมโลดี้ของเพลงเป็นถ้อยว่า “doo-be-doo-be-doo” และเพลงก็ fade out ไป (ถ้าท่านอยากฟังแฟรงค์ scat ยาวๆก็ต้องไปหาเวอร์ชั่นของเพลงนี้ในอัลบั้ม Nothing But The Best ที่มีความยาวกว่า original 9 วินาที) ท่อนไร้ความหมายนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการ์ตูนชื่อดัง ‘Scooby Doo’ อีกด้วย
ก่อนที่จะเป็นการรีวิวซิงเกิ้ลอย่างเดียว เรามาพูดถึงตัวอัลบั้มกันบ้าง 9 เพลงที่เหลือ บันทึกเสียงในอีก 1เดือนถัดมา โดยเป็นเพลงสแตนดาร์ดส่วนหนึ่ง และเพลงที่เกาะกระแสวงการดนตรีขณะนั้นอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เข้ามากุมบังเหียนออเคสตร้า คือ เนลสัน ริดเดิล อะเรนเจอร์คู่บุญของแฟรงค์ที่ทำงานระดับมหากาฬมาด้วยกันแล้วนับไม่ถ้วน นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองทำงานร่วมกัน ใน LP ชุดนี้เนลสันเปลี่ยนสไตล์การใช้เครื่องสายอันพริ้วเด่นของเขา มาใช้ออร์แกนล้อไปกับเครื่องเป่าเข้มๆแทน ซึ่งฟังแล้วก็แปลกดีแม้จะฟังแล้วไม่อมตะเท่าเสียงของกลุ่มไวโอลินอย่างที่เขาเคยทำ นี่คืออัลบั้มที่ 16 ของแฟรงค์ในสังกัด Reprise
Summer Wind เพลงประพันธ์โดย Bradlike-Mayer-Mercer ต่อมากลายเป็นเพลง “เก่ง” บนเวทีของแฟรงค์อีกเพลง นี่คือเพลงที่เยี่ยมที่สุดในอัลบั้ม แฟรงค์ร้องด้วยน้ำเสียงที่ดีที่สุดของเขา บน ท่วงทำนองที่โศกเศร้าแต่สง่างาม มันคือหนึ่งใน performance ที่น่าจดจำที่สุดในชีวิตการบันทึกเสียงอันยาวนานของเขา
All Or Nothing At All ก็ถือเป็นเพลงประจำตัวของแฟรงค์อีกเพลง เขาเคยบันทึกเสียงเพลงนี้ไว้แล้วตั้งแต่อายุแค่ 23 ปี และนี่เป็นเวอร์ชั่นที่สามของแฟรงค์ ซึ่งเขาทำมันออกมาในจังหวะสวิงคึกคักด้วยเครื่องเป่าสนุกสนานในแบบฉบับของเนลสัน
เพลงป๊อบร่วมสมัยที่เคยโด่งดังจากเสียงร้องของ Petula Clark อาจจะไม่ใช่แนวทางของแฟรงค์ แต่เขาก็เอาตัวรอดไปได้อย่างสบายๆด้วยประสบการณ์เชี่ยวกราก นักวิจารณ์บางท่านอาจจะมองว่า Downtown ของแฟรงค์ในอัลบั้มนี้เป็นเวอร์ชั่นที่น่าขันปนน่าสงสาร แต่ผมกลับคิดว่าแฟรงค์ร้องได้เฮฮาดีพอสมควร
เพลงที่เหลือเป็นเพลงเคยดังสมัยสินาตร้ายังวัยรุ่น อย่าง My Baby Just Cares For Me , You’re Driving Me Crazy และ Yes, Sir That’s My Baby ปิดท้ายด้วยเพลงเก่าจากละครเวที Jumbo ของ Rodgers and Hart “The Most Beautiful Girl In The World” ที่แฟรงค์ร้องประชันกับออเคสตร้าอย่างเร้าใจ
Strangers in the Night ฉบับ 2010 มีเพลงแถมให้สามเพลง คือ Strangers in the Night และ All or Nothing At All บันทึกจากการแสดงที่บูโดกันเมื่อปี 1985 (แฟรงค์ร้องได้เยี่ยมมากๆ) และ alternate version ของ Yes, Sir That’s My Baby สุ้มเสียงโดยรวมของอัลบั้มจัดว่าดีมากครับ
เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีโอกาสฟังอัลบั้มนี้กันอีกครั้ง นี่ย่อมไม่ใช่งานที่เลิศเลอที่สุดของแฟรงค์ แต่มันก็ยังเหนือชั้นกว่างานแสตนดาร์ดของนักร้องคนอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปี 1966 หรือปี 2010 นี้
Tracklist:
"Strangers in the Night" (Bert Kaempfert, Charles Singleton, Eddie Snyder) – 2:25
"Summer Wind" (Heinz Meier, Hans Bradtke, Johnny Mercer) – 2:53
"All or Nothing at All" (Arthur Altman, Jack Lawrence) – 3:57
"Call Me" (Tony Hatch) – 3:07
"You're Driving Me Crazy!" (Walter Donaldson) – 2:15
"On a Clear Day (You Can See Forever)" (Alan Jay Lerner, Frederick Loewe) – 3:17
"My Baby Just Cares for Me" (Donaldson, Gus Kahn) – 2:30
"Downtown" (Hatch) – 2:14
"Yes Sir, That's My Baby" (Donaldson, Kahn) – 2:08
"The Most Beautiful Girl in the World" (Richard Rodgers, Lorenz Hart) – 2:24
Bonus tracks included on the 2010 reissue:
"Strangers in the Night" - 2:14 live performance at the Budokan Hall, Tokyo, Japan, April 18, 1985
"All or Nothing at All" - 3:40 live performance at the Budokan Hall, Tokyo, Japan, April 18, 1985
"Yes Sir, That's My Baby" (Alternate Take) - 2:17

Miss Otis Regrets

"Miss Otis Regrets"

"คุณโอติสเสียใจค่ะที่เธอไม่สามารถมาทานอาหารกลางวันกับคุณผู้หญิงได้ในวันนี้"

สาวใช้ของมิสโอติสบอกกับแขกของเธอที่คาดว่าคงจะมีนัดทานข้าวกลางวันกับเธอไว้
และเธอก็เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันกับมิสโอติสเมื่อคืนนี้
มิสโอติสพบว่าเธอถูกคนรักหักหลัง
และเมื่อเธอตื่นขึ้นและตระหนักจริงๆว่าฝันทั้งหมดของเธอสูญสลาย
เธอก็ไม่คิดจะนอนอยู่เฉยๆ
มิสโอติสออกตามล่าชายคนรักที่ทำเธอเจ็บแสบ
แล้วก็...สังหารเขาซะ
เธอหนีตะรางไม่พ้น แต่ที่ไม่คาดคิดไปกว่านั้นคือมีม็อบกลุ่มนึงมากระชากตัวเธอออกจากรงขัง
แล้วจับเธอไปแขวนคอกับต้นหลิว
สาวใช้เล่าให้แขกมิสโอติสเป็นประโยคสุดท้ายว่า
ก่อนที่เธอจะสิ้นลม มิสโอติสเงยหน้างามๆของเธอขึ้นมาแล้วก็ร้องไห้
และฝากเธอมาบอกว่า เธอเสียใจนะ ที่มาทานมื้อกลางวันด้วยไม่ได้วันนี้

เป็นเพลงที่มีเนื้อหาแปลกประหลาดไม่ใช่เล่น โคล พอร์เตอร์ เขียนเพลงบลูส์เพลงนี้ไว้ในปี 1934 เพื่อตอบรับการท้าทายของเพื่อนๆ
เขาทานอาหารกับมิตรสหายอยู่ในภัตตาคารแห่งหนึ่ง และโคลโม้ว่าเขาสามารถเขียนเพลงเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้
เพื่อนเลยท้าว่า งั้นลองเขียนเพลงที่เกี่ยวกับสิ่งต่อไปที่เราจะได้ยินในภัตตาคารแห่งนี้ และไม่นานจากนั้นบริกรคนนึง
ก็พูดกับแขกโต๊ะข้างๆว่า

"มิสโอติสฝากแสดงความเสียใจที่ไม่สามารถมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยวันนี้"

------------

Miss Otis regrets she's unable to lunch today, madam
Miss Otis regrets she's unable to lunch today
She is sorry to be delayed
But last evening down in Lover's Lane
She strayed, madam
Miss Otis regrets she's unable to lunch today

When she woke up and found
That her dream of love was gone, madam
She ran to the man who had led her so far astray
And from under her velvet gown
She drew a gun and shot her love down, madam
Miss Otis regrets, she's unable to lunch today

When the mob came and got her
And dragged her from the jail, madam
They strung her upon the old willow across the way
And the moment before she died
She lifted up her lovely head and cried, madam
Miss Otis regrets she's unable to lunch today

Miss Otis regrets she's unable to lunch today

http://youtu.be/PVnAQcRIkZo

รักต้องห้าม


"รักต้องห้าม"

คำร้อง – ทำนอง วราห์ วรเวช

---------------

ไยพระพรหมนำฉันให้มาได้เจอ
พานพบเธอ แต่ให้เธอมีเขาผูกพัน
สุดเฉลย เอ่ยความช้ำกรรมเรานั้น
เพียงแรกรัก จิตถูกบั่น สุขที่ฝันพลันมลาย

มองเห็นกัน ค่ำเช้าบ้านเราอยู่เคียง
ยินสำเนียง ยลเธอเคียงกันแล้วอยากตาย
เหมือนคนบาปต้องคำสาปให้ช้ำใจกาย
สุดเปล่าเปลี่ยวระทมเดียวดา
ด้วยพลาดหมายชายที่ใฝ่ปอง

ช้ำอะไรเช่นนี้รักคนมีเจ้าของ
ยามเธอแนบประคองใจอยากเมินแต่ตาคอยมอง
ทั้งที่จ้องแล้วต้องหม่นใจ

ไยพระพรหม แกล้งฉันให้มาใกล้เธอ
ปองรักเธอใฝ่บำเรอให้ช้ำชอกใจ
รักต้องห้ามเหมือนไฟลามเผาใจให้ไหม้
สุดจะผ่อนความร้อนคลายไป เหมือนตกอยู่ใน อเวจี

ไยพระพรหมแกล้งฉัน ให้มาใกล้เธอ
ปองรักเธอใฝ่บำเรอให้ช้ำชอกใจ
รักต้องห้ามเหมือนไฟลาม เผาใจให้ไหม้
สุดจะผ่อนความร้อนคลายไป เหมือนตกอยู่ในอเวจี

อิอิ ไม่รู้พี่ๆเพื่อนๆในห้องตาดู-หูฟังนี้จะฟังเพลงลูกกรุงกันมากน้อยแค่ไหน
ผมก็ไม่ถึงกับเป็นแฟนเพลงแนวนี้ แต่ก็เริ่มมาจากการฟังเพลงพวกนี้แหละ
ที่พี่ๆเปิดกันสนั่นตอนเด็ก ก่อนถึงยุคสตริง ก็ศิลปินและเพลงเหล่านี้ล่ะที่เป็น
ขวัญใจวัยรุ่น ไอคอนของเจนเนอเรชั่น ฟังแล้วไม่น่าเป็นไปได้ใช่ไหม
แม้ใครจะว่าเพลงพวกนี้เป็นแบบร้อยเนื้อทำนองเดียว และก็น่าจะมีส่วนถูก
แต่นานๆกลับมาฟังอีกครั้งก็เรียกอารมณ์ถวิลหาความหลังได้ดี

"รักต้องห้าม" เป็นหนึ่งในสุดยอดเพลงอมตะลูกกรุง ผลงานการประพันธ์ของคุณหมอ
วราห์ วรเวช หรือชื่อจริง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วราวุธ สุมาวงศ์ ท่านแต่งเพลงนี้ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๒แต่กว่าที่คุณ รังษิยา บรรณกรจะนำมาร้องก็อีกสองปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๑๔)

คุณหมอเล่าถึงเพลงนี้ไว้ว่า...

“...อีกหกเดือนต่อมา ผมก็ผลิตชุดที่ 2 ออกมาอีก
โดยมิได้หวังยอดจำหน่ายอีกเช่นกัน
ในชุดนี้ มี เพลงรักต้องห้าม ซึ่ง คุณรังษิยา บรรณกร เป็นผู้ขับร้อง
ปรากฏต่อมาว่า มีผู้นิยมกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ
เป็นระยะยาวนานกว่า 1 ปี ผมเองก็ไม่ทราบว่า เพลงนี้เป็นที่นิยม
ในหมู่นักฟังเพลงไทยเมื่อใด เพราะตัวเองไม่ค่อยมีเวลาฟังเพลงจากวิทยุนัก
เนื่องจากภารกิจประจำในอาชีพแพทย์รัดตัว
จนกระทั่ง พี่ ประเทือง บุญญประพันธ์ ได้ให้ญาติไปหาผมที่โรงพยาบาล
เพื่อขอแผ่นเสียงชุดนี้ ผมจึงได้รู้ว่า เพลงนี้กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่
และในเวลาต่อมา ก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ
วราห์ วรเวช จึงเป็นที่รู้จักทั่วไป ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา...”

นอกจากท่วงทำนองที่ฟังง่ายไพเราะและจับใจทันที ส่วนหนึ่งทีทำให้เพลง"รักต้องห้าม"นี้โดนใจวัยรุ่นยุค ๒๕๑๔ กันถ้วนหน้าก็อาจจะเป็นที่การเขียนเนื้อเพลงที่แทงใจดำเหลือหลาย

แม้จะเริ่มด้วยคำสูงส่งอย่าง "ไยพระพรหมนำฉันให้มาได้เจอ..." แต่บางจังหวะคุณหมอก็เล่นคำง่ายๆตรงๆอย่าง "ยินสำเนียง ยลเธอเคียงกันแล้วอยากตาย" และท่อน killer ของเพลงก็น่าจะเป็นช่วง solo เสียงร้อง "ช้ำอะไรเช่นนี้...รักคนมีเจ้าของ...." และจบด้วยความรวดร้าวที่สุดเท่าที่เนื้อเพลงจะพาไปได้ "สุดจะผ่อนความร้อนคลายไป เหมือนตกอยู่ใน...อเวจี"

นี่เป็นเพลงที่อาจจะบอกได้ว่า เป็นหนึ่งใน guilty pleasures ของผม...

เวอร์ชั่นต้นฉบับของคุณ รังษิยา บรรณกร--สุดคลาสสิก
http://youtu.be/vNAMiQoRXPc

เวอร์ชั่นคุณดาวใจ ไพจิตร--อาจจะเป็นการตีความที่ดีที่สุดของยอดนักร้องท่านนี้
http://youtu.be/e7PViDfvkgU

เวอร์ชั่นคุณอรวี สัจจานนท์--หวานเศร้าตามสไตล์คนร้อง ดนตรีคมชัดทันสมัย
http://youtu.be/lRFnXtDP3RI

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.oknation.net/blog/warnwarnsong/2011/01/20/entry-1
และ
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000143376

A Hard Day's Night liner notes

"The Beatles: A Hard Day's Night"
Liner Notes by Tony Barrow
-----------
Alun Owen เริ่มต้นเขียนบทหนังเรื่องนี้ตอนปลายๆฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว โปรดิวเซอร์ Walter Shenson และผู้กำกับ Richard Lester ก็ไปนั่งชมดาราหน้าใหม่ของพวกเขาทำงานกันในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่บนเวที Finsbury Park หรือที่เรียกกันว่า 'Astoria' ในลอนดอน จอห์นและพอลเริ่มต้นที่จะสะสมบทประพันธ์ใหม่ๆสำหรับซาวนด์แทร็คในขณะที่เดอะ บีทเทิลส์ไปปรากฏตัวที่ 'Olympia' ในปารีสเมื่อเดือนมกราคมที่แล้ว และเช้าวันหนึ่งในตอนต้นเดือนมีนาคม รถไฟคันหนึ่งที่ถูกเหมาเป็นกรณีพิเศษก็ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานี Paddington และการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกของ The Beatles ก็เริ่มต้นขึ้น
ฟิล์มอันทรงคุณค่าม้วนแล้วม้วนเล่าได้ถูกบรรจุเก็บไว้ในกล่องเหล็กของทีมงานถ่ายทำก่อนที่จะมีการตั้งชื่อหนังในสังกัด United Artists picture เรื่องนี้เสียอีก และแล้วจู่ๆริงโก้ก็สร้างชื่อนี้ขึ้นมาในการสนทนาธรรมดาๆหลังจากวันหนึ่งของการถ่ายทำที่ค่อนข้างจะโหดเป็นพิเศษ "มันเป็นคืนแห่งวันที่เหนื่อยสาหัสขอบอก!" ริงโก้ประกาศออกมาขณะที่กำลังทรุดตัวลงบนเก้าอี้ผ้าใบด้านหลังทีมกล้องและช่างเทคนิค และบัดนั้น หนังเรื่องนี้ที่ได้ Wilfred Brambell มาเล่นในบทของคุณปู่(แสนลึกลับ)ชาวไอริชของพอล, ก็ได้ชื่อเสียทีอย่างรวดเร็ว 'A HARD DAY'S NIGHT'
เนื้อหาของหนังเป็นการพรรณนาถึงอะไรแบบว่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง48ชั่วโมงในชีวิตอันชุลมุนของสี่หนุ่มวงดนตรีร็อค ชื่อของพวกเขา จอห์น,พอล,จอร์จ และ ริงโก้ เราจะได้ยินเพลง A Hard Day's Night ตอนต้นๆเลยของหนังขณะที่หนุ่มๆร้องและเล่นไปด้วยในไทเทิลเปิดหนัง เพลงนี้จอห์นร้องคู่กับเสียงของเขาเองด้วยวิธีการดับเบิ้ลแทร็ค ธีมของเพลงนี้ที่ร่าเริงและจับใจมาโผล่ให้ได้ยินในตอนอื่นของหนังด้วยในรูปแบบของออเคสตรัลที่เขียนสกอร์โดยผู้กำกับการบันทึกเสียง จอร์จ มาร์ติน
เพลง 'I Should Have Known Better' ของจอห์นเปิดตัวในตอนต้นของหนังระหว่างฉากบนรถไฟที่สี่หนุ่มเล่นไพ่กันในส่วน guard's van ของรถไฟ
จอห์นและพอลแชร์เสียงร้องกันใน 'If I Fell', เพลงแรกในสี่เพลงที่อยู่ในช่วง theatre/studio อันยาวเหยียด อันเป็นช่วงที่แสดงให้เห็นการซ้อมดนตรีของวงและสุดท้ายก็ออกแสดงในรายการพิเศษทางโทรทัศน์ 'I'm Happy Just To Dance With You' ให้โอกาสจอร์จได้รับหน้าที่ร้องนำ, 'And I Love Her'ปรับสปอตไลท์ไปที่พอล และจอห์นก็มาจอยด้วยกับเขาในเพลงต่อมา 'Tell Me Why'
เพลงสุดท้ายของเจ็ดเพลงอันเกรียงไกรของซาวนด์แทร็คนี้ 'Can't Buy Me Love' ได้กลายเป็นเพลงฮิตทั่วโลกของบีทเทิลส์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ใน 'A Hard Day's Night' มันได้เป็นแบ็คกราวนด์ให้ในหลายๆฉาก--เมื่อหนุ่มๆวิ่งไล่กันข้ามสนามหลังจากหนีออกมาจากสตูดิโอโทรทัศน์ทางทางหนีไฟและในฉากที่มีการวิ่งแข่งอันเหลือเชื่อระหว่างบีทเทิลส์,แฟนๆและตำรวจซึ่งท่านจะได้เห็นบีเทิลส์วิ่งตะบึงไปบนถนนและตรอกซอกซอยด้วยความเร็วเกินจริงเป็นสองเท่า!
การสรรสร้างและขัดเกลาให้เสร็จเรียบร้อยสำหรับบทประพันธ์ใหม่ๆในซาวนด์แทร็ค 'A Hard Day's Night' ถือเป็นการท้าทายครั้้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในฐานะนักเขียนเพลงป๊อบของพวกเขา เมื่อก่อนนี้การเขียนเพลงของพวกเขาจะเกิดขึ้นแบบสบายๆไม่รีบเร่ง แต่ตอนนี้พวกเขามีเส้นตายของการถ่ายหนังรออยู่และเพลงใหม่ๆทั้งหมดจะต้องถูกรวบรวมในระหว่างคอนเสิร์ตในปารีสและการไปเยือนอเมริกา(ที่ตอนนี้เป็นตำนานไปแล้ว) เพื่อช่วยให้งานเดินดีขึ้น สองหนุ่มลงทุนสั่งแกรนด์เปียโนตัวหนึ่งมาไว้ในห้องสวีทที่พวกเขาพักอยู่ที่ George V ในปารีส
เมื่อถึงต้นเดือนมีนาคม งานก็เสร็จสมบูรณ์และเดอะ บีทเทิลส์ก็มีเพลงเกือบโหลที่รอคอยการฝึกซ้อมครั้งสุดท้ายอยู่ มีการระวังกันอย่างดีไม่ให้หนัง A Hard Day's Night ออกมาเป็นแค่เพียงการเดินพาเหรดของการแสดงดนตรีของบีทเทิลส์ และพวกบีทเทิลส์เองก็เห็นด้วยว่าหนังควรจะนำเสนอพวกเขาในแง่มุมต่างๆของบุคลิกส่วนตัวให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอาเข้าจริงๆแล้วมุมด้านฮาๆเคยเป็น,และยังเป็นเรื่องที่สำคัญมหาศาล และจอห์น,พอล,จอร์จ และ ริงโก้ก็ได้รับโอกาสเต็มที่ที่จะแสดงอารมณ์ขันแบบสดๆของพวกเขา
เป็นที่เห็นตรงกันว่าไม่ควรมีเพลงเกินหกเพลงในซาวนด์แทร็คของหนัง ถ้าเพิ่มเพลงมากกว่านี้จะไปแย่งเวลาในการแสดงเนื้อหาของหนังไป แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนจะเป็นอะไรที่ไม่แฟร์เลยที่จะไปตัดโอกาสของเพลงใหม่ๆของพวกเขาในเมื่อแต่ละเพลงนั้นมีคุณภาพขั้นดีเลิศ สุดท้ายก็ตกลงกันที่จะบันทึกเสียงทุกเพลงที่จอห์นและพอลได้แต่งขึ้นมาและจะใส่เพลงพิเศษนอกเหนือจากในหนังไว้ที่หน้าสองของอัลบั้ม
แม้ว่าเราจะได้ยินเสียงของจอร์จ แฮริสันมากมายตลอดอัลบั้ม แต่ในหน้าสองของแผ่นเสียงจะเป็นการแชร์เสียงร้องระหว่างนักแต่งเพลง-จอห์นและพอล พอลเป็นคนแต่งเนื้่อเพลงใน 'Things We Said Today' และเราจะได้ยินเขาร้องคู่กับจอห์นใน 'I'll Cry Instead' และส่วนใหญ่จอห์นจะเป็นเสียงหลักในเพลง'Any Time At All', 'When I Get Home', 'You Can't Do That' และ 'I'll Be Back' ขณะที่จอร์จและพอลร้องแบ็คอัพกันสุดฤทธิ์ในทุกๆเพลงที่กล่าวมา
เมื่อคุณได้ฟังเพลงในหน้าสองแล้วคุณจะเห็นด้วยว่ามันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายนักที่จะขับไล่ไสส่งเพลงเหล่านี้ออกไปเพียงเพราะว่ามันไม่อาจนำไปใส่ในหนัง 'A Hard Day's Night' ได้เหมาะสม และบัดนี้,ด้วยอัลบั้มนี้ในห้องสะสมของคุณ, คุณได้มีการบันทึกเสียงของบีทเทิลส์ทีครบครันและทันสมัย ในขณะดียวกันมันน่าสนใจที่จะรำลึกว่าแผ่นเสียงที่อยู่ในซองนี้เป็นอัลบั้มแรกสุดที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเพลงที่แต่งและเล่นโดย Beatles ล้วนๆ

Come Away With Norah Jones

"เมือเราทั้งหมดไปด้วยกันกับเธอ-นอราห์ โจนส์"
-------------------
Brian Bacchhus หนึ่งในทีม A&R ของ Blue Note เล่าถึงอัลบั้มเปิดตัวของนอราห์ โจนส์ไว้ว่า "เราปล่อยให้เธอค้นหาทิศทางของเธอเอง... เรารู้ว่าถ้าเธอสามารถพัฒนาการเขียนเพลงและเราค้นหาเพลงที่ยิ่งใหญ่ได้, มันจะได้ผล" และมันช่างเป็นทิศทางที่เลิศเลออะไรอย่างนั้น
มันเป็นปีที่สามของทศวรรษที่ 7 ของค่ายบลูโน๊ตเมื่อนอราห์ก้าวเข้ามา ซึ่งเธอทำให้นายใหญ่ของสังกัด Bruce Lundvell และผู้บริหารคนอื่นๆประหลาดใจ นอราห์เป็นบุตรสาวของนักซีต้าร์ ระวี ชังการ์ และสำหรับบางคนอัลบั้มของเธอไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจ แต่ในมุมมองของ Michael Cuscuna ยอดโปรดิวเซอร์ของบลูโน๊ตเขาไม่คิดเช่นนั้น "ผมตื่นเต้นสุดๆเมื่อบรูซเซ็นสัญญานอราห์เข้าค่ายเรา เธอเป็นศิลปินแจ๊ซ เล่นเปียโน และร้องเพลงสแตนดาร์ดร่วมกับอคูสติกเบสและมือกลองแจ๊ซ แต่เมื่อเราฟังเดโมของเธอแล้วพบว่ามันมีทิศทางไปทางป๊อบและคันทรี่ บรูซ,ด้วยความกังวลในทิศทางของความเป็นบลูโน๊ต,ได้เสนอให้เธอไปอยู่ในสังกัด Manhattan ที่ออกไปในทางแนวป๊อบมากกว่าแทน แต่นอราห์บอกว่า "ไม่นะ ฉันอยากจะอยู่กับบลูโน๊ต นั่นคือสังกัดที่ฉันอยากจะเซ็นด้วย ฉันรักค่ายนี้ ฉันโตมากับมัน และนั่นเป็นที่ๆฉันอยากจะอยู่""
ผลลัพธ์ของมันนั้นสุดจะช็อควงการ ไม่มีอัลบั้มใดในสังกัดบลูโน๊ตที่จะประสบความสำเร็จหรือขายดีไปกว่านี้อีกแล้ว คัสคูน่ารำลึกถึงว่า "เราคิดกันว่าถ้าขายได้ซักสองแสนแผ่นเราก็ตื่นเต้นกันแล้ว แต่สุดท้ายมันขายได้ถึง10ล้านชุดด้วยตัวของมันเอง มันแปลกประหลาดเหลือเกิน เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากกับการมองมันขายได้ระเบิดแบบนั้น" ยอดขาย 10 ล้านนั้นเป็นเพียงแค่ในอเมริกาในช่วงแรกเท่านั้น ยอดขายทั่วโลกทะลุไปถึง 25 ล้านชุด และมันกลายเป็นอัลบั้ม"มาตรฐาน"แห่งยุคใหม่ แบบเดียวกับที่ Tapestry ของ Carole King เคยเป็นในยุค70's
มีอัลบั้มเปิดตัวของศิลปินเพียงไม่กี่ชุดที่ขายได้มากกว่าสิ่งที่นอราห์ทำได้เมื่อเธอก้าวขึ้นสู่อันดับ1ของบิลบอร์ดในเดือนมกราคม 2003 ปีต่อมา Come Away With Me คว้ารางวัลแกรมมี่ไป 8 ตัว รวมทั้งรางวัลใหญ่ Album of the year และในระหว่างนั้นมันก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในทางชื่นชมจากแทบทุกสารทิศ ถึงกระนั้นก็ยังมีบางเสียงเอ่ยอ้างว่า มันไม่ใช่"อัลบั้มแจ๊ซจริงๆ" เขาพูดถูก แต่ใครจะสนล่ะ
นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่ามันเป็น "อัลบั้มที่ไม่แจ๊ซที่สุดที่บลูโน๊ตเคยออกมา" และในเวลานั้นเขาก็พูดถูก แต่มันสำคัญหรือ? อย่างที่เรย์ ชาร์ลส์เคยกล่าวไว้ "มันมีดนตรีเพียงสองแบบ...ดีและเลว" นักวิจารณ์คนเดิมที่คิดว่ามัน"ไม่แจ๊ซ"บ่นต่อไปว่า "ทั้งอัลบั้มเต็มไปด้วยเสียงร้องของโจนส์" --ก็แน่ล่ะแล้วไงหรือ? เธอมีเสียงอ่อนหวานน่าฟังที่ชวนเชิญคุณตั้งแต่คำแรกที่เธอร้อง "Don't know why..." ทำไมคนฟังไม่ยอมรับและชื่นชมมันในแบบที่มันเป็น-อัลบั้มที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างปราณีต,บันทึกเสียงและเล่นดนตรีอย่างสุดวิเศษ
ความกลมกลืนกลมเกลียวของทั้งสิบสี่เพลงในอัลบั้มทำให้มันเป็นอะไรที่พิเศษ มันเหมือนกับการได้แอบฟังความคิดส่วนตัวของใครบางคนและมันมีความเติบโตทางวัยวุฒิที่เกินกว่าอายุ 22 ปีของโจนส์ในขณะนั้น นอกจากแทร็คแรกที่เข้าท็อป30ของบิลบอร์ดแล้ว,งาน cover เพลงเก่าของ Hank Willams 'Cold Cold Heart' และเพลง 'Come Away With Me' อันแสนเนียนละมุนก็จัดเป็นแทร็คที่โดดเด่น อย่าไปฟังเสียงนกเสียงกาที่ไหนเลย ฟังอัลบั้มนี้กันเถิด
ที่มา....

Angel

"Angel"
---------------
Spend all your time waiting
for that second chance
for a break that would make it okay
there's always some reason
to feel not good enough
and it's hard at the end of the day
รอคอยมาฃั่วชีวิต...
รอโอกาสอีกสักครั้ง
ที่จะแก้ไขให้อะไรๆมันดีขึ้น
แน่ล่ะ ถ้าเราจะคิดมาก
มันก็มีเหตุผลเสมอที่จะรู้สึกว่าอะไรมันก็ยังไม่ดีพอ
และมันก็สาหัสนักเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง
I need some distraction
oh beautiful release
memories seep from my veins
let me be empty
and weightless and maybe
I'll find some peace tonight
อยากหลุดพ้นจากมโนภาพนี้
ดีเหลือเกินที่ได้ปลดปล่อย
ความทรงจำทั้งหลายไหลซึมออกจากร่าง
ให้ตัวฉันว่างเปล่า
ไร้ซึ่งน้ำหนักใดๆ
และหวังว่า....
ใจฉันคงจะสงบลงได้บ้าง ณ ราตรีนี้
in the arms of the angel
fly away from here
from this dark cold hotel room
and the endlessness that you fear
you are pulled from the wreckage
of your silent reverie
you're in the arms of the angel
may you find some comfort here
ในอ้อมแขนของนางฟ้า
โบยบินไปจากที่นี่
จากโรงแรมอันมืดหม่นและหนาวเหน็บแห่งนี้
และความนิรันดร์ที่ฉันพรั่นพรึง
ถูกฉุดออกมาจากซากปรัก
ของห้วงภวังค์อันไร้สรรพเสียง
ในอ้อมแขนของนางฟ้า
ก็หวังอยู่นะว่าอาจจะพบความสุขได้ที่นี่
so tired of the straight line
and everywhere you turn
there's vultures and thieves at your back
and the storm keeps on twisting
you keep on building the lies
that you make up for all that you lack
it don't make no difference
escaping one last time
it's easier to believe in this sweet madness oh
this glorious sadness that brings me to my knees
ล้านักกับเส้นทางชีวิตที่ถูกขีดไว้
และในทุกๆที่ย่างก้าวไป
หันหลังมาก็พานพบแต่ฝูงแร้งและเหล่าโจร
เกลียวพายุยังหมุนติ้วอยู่เบื้องหน้า
และฉันก็ยังคงสร้างเรื่องปลิ้นปล้อน
เพื่อปกปิดสิ่งที่ขาดหาย
ก็คงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว
การหลบเร้นครั้งสุดท้าย
ง่ายกว่านะที่จะเชื่อในความบ้าคลั่งอันแสนหวาน
....ความโศกาอ้นรุ่งโรจน์
...ที่ทำให้ฉันต้องทรุดลงตรงนี้
in the arms of the angel
fly away from here
from this dark cold hotel room
and the endlessness that you fear
you are pulled from the wreckage
of your silent reverie
you're in the arms of the angel
may you find some comfort here
you're in the arms of the angel
may you find some comfort here
ในห้วงแขนของนางฟ้า
บินไป...บินไป
จากโรงแรมอันมืดมิดและหนาวเหน็บแห่งนี้
จากความไม่มีที่สิ้นสุดที่น่าหวั่นเกรง
ถูกกระชากจากซากแห่งความคิดอันเงียบงัน
มาอยู่ในอ้อมแขนของนางฟ้า
ก็หวังว่าจะพบพานความสุขกับเขาบ้างที่นี่
ในอ้อมแขนของนางฟ้านี้.....

Hey Jude

"Hey Jude"
--------------
โอ้จู๊ดเอ๋ยฉันอยากสอนวอนฟังหน่อย
อย่าได้ปล่อยให้ไม่ดีนะจู๊ดจ๋า
ฟังเพลงที่แสนเศร้าเคล้าน้ำตา
แล้วนำพาผันมันไปให้ดีงาม
อย่าลืมนะรับเธอไว้ในใจเจ้า
แล้วความเหงาหงอยจะไม่ตามทวงถาม
ฉันรู้ว่าหัวใจเจ้าโครมคราม
อย่าครั่นคร้าม,ก้าวออกไป,ได้เธอมา
นาทีใดเจ้าปวดร้าวอย่าก้าวกลับ
จงสดับอย่าแบกโลกไว้เลยหนา
อย่าปิดกั้นหลีกเร้นทำเย็นชา
ไม่นำพาซึ่งใครๆ-ไม่เห็นดี
จู๊ดสู้ๆอย่าทำฉันผิดหวัง
เจ้าจงฟัง,เจอเธอแล้วอย่าถอยหนี
จงรีบเร่งคว้าเธอมาอย่ารอรี
ให้เจ้ามีเธอครองจองหัวใจ
ปล่อยออกไปและให้มันรื่นไหลเข้า
เป็นตัวเจ้าที่รอคอยคนที่ใช่
และรู้ไหมก็เจ้าเองใช่มีใคร
อยู่ที่ไหล่ของเจ้าเอง,บรรเลงไป
จู๊ดเอ๋ยจู๊ดอย่าให้เสียนะงานนี้
เสียงดนตรีเศร้าหวานพาลชวนไผล
จงเปลี่ยนมันเป็นเพลงสุขจากหัวใจ
รับเธอไว้ในวิญญาณ์อย่าช้าพลัน

All of Me

All of me
Why not take all of me
Can't you see
I'm no good without you
Take my lips
I want to lose them
Take my arms
I'll never use them
Your goodbye
Left me with eyes that cry
How can I
Go along without you
You took the part
That once was my heart
So why not
Take all of me
All of me
Why not take all of me
Can't you see
I'm no good without you
Take my lips
I want to lose them
Take my arms
I'll never use them
Your goodbye
Left me with eyes that cry
How can I
Go along without you
You took the part
That once was my heart
So why not
Take all of me
ทั้งหมดของผม
ทำไมไม่เอาไปให้หมด
คุณไม่เห็นหรือไง
ว่าผมไม่มีค่าอะไรเมื่อไม่มีคุณ
เอาริมฝีปากผมไป
ผมไม่อยากได้มันแล้ว
เอาแขนทั้งสองข้างไปด้วย
ผมจะไม่ใช้มันอีกแล้ว
คำร่ำลาของคุณ
ทิ้งผมไว้กับดวงตาที่ร่ำไห้
ผมจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร
ในเมื่อไม่มีคุณ
คุณได้เอาบางส่วนของผมไป
ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวใจของผม
ดังนั้นไยเล่า
ไยไม่เอาไปให้หมดทั้งตัวผมเลย
ทั้งหมดของผม
ทำไมไม่เอาไปให้หมด
ไม่เห็นหรือไงเล่า
ว่าผมแย่แค่ไหน เมื่อไม่มีคุณ
ริมฝีปากคู่นี้ เอาไปเถิด
ผมไม่อยากเก็บมันไว้แล้ว
แขนทั้งสองนี่ก็ด้วย
ผมคงไม่ได้ใช้มันแล้วล่ะ
ยามคุณเอ่ยลา
น้ำตาก็นองหน้าผม
ผมจะอยู่ได้อย่างไร
เมื่อไม่มีคุณ
คุณได้เอาส่วนหนึ่ง
ของหัวใจผมไปแล้ว
งั้นทำไมล่ะ
ไม่เอาผมไปให้หมดทั้งตัวเลย?
--------
All of Me เป็นเพลงเก่าตั้งแต่ปี 1931 แต่งโดย Gerald Marks และ Seymour Simons ศิลปินคนแรกที่นำมันมาร้องคือ Ruth Etting และหลังจากนั้นคนดังๆก็นำมันมาร้องมากมายตั้งแต่ Bing Crosby, Billie Holiday, Louis Armstrong, Dean Martin
แน่นอน รวมทั้ง Frank Sinatra ในปี 1954 ในอัลบั้ม Swing Easy!
ที่น่าสนใจก็คือการใส่อารมณ์ในการร้องให้เข้ากับเนื้อเพลงของสินาตร้าในเพลงนี้ มันช่าง dramatic เป็นพิเศษในแทบจะทุกประโยค แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าเวอร์หรือลิเกเกินไปเลย ลองฟังดูครับ