TV ON THE RADIO; DEAR SCIENCE, (****1/2)
ใครที่ชอบดูโพลล์สุดยอดอัลบั้มช่วงท้ายปีคงจะสังเกตเห็นว่าอัลบั้ม Dear Science, (ของแท้ต้องมีคอมม่าต่อท้าย) ของวง Post-punk, electronic จาก New York วงนี้ -TV On The Radio น่าจะมีคะแนนรวมสูงสุด เพราะมันติด Top Ten แทบจะทุกสำนัก แม้แต่สำนักที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่อย่าง pitchfork และ Rolling Stone ก็ยังมีความเห็นตรงกันถึงความเยี่ยมของมัน
บางคนพยายามจะเรียกพวกเขาว่า American Radiohead ลองดูชื่ออัลบั้มนี้สิครับ ชวนให้คิดถึงงานคลาสสิก OK Computer หรือไม่ความจริง TV On The Radio ก็เคยตั้งชื่องานอัลบั้มแรกที่ออกกันเองว่า Ok Calculator มาแล้วตั้งแต่หลายปีก่อน คงจะพอบอกได้ว่าพวกเขาตั้งใจจะวัดรอยเท้ากับพลพรรคของ Thom Yorke จริงๆแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดนตรีของสองวงนี้จะเหมือนกันเป๊ะๆหรอกนะครับ แนวทางแตกต่างกันพอสมควร สิ่งที่อาจจะชวนให้คิดถึง Radiohead อยู่บ้างก็คือการใช้ programming/ drums loops อย่างเต็มพิกัด เพลงแรกใน Dear Sciene, Half Way Home ก็ชวนให้คิดถึง 15 Step เพลงเปิดอัลบั้ม In Rainbows (2007) ของ Radiohead อยู่เหมือนกัน
TV On The Radio ตั้งวงตั้งแต่ปี 2001 มีสมาชิกหลักคือ Tunde Adebimpe (vocals/loops), David Andrew Sitek (guitars/keyboards/loops) และ Kyp Malone (guitars/vocals/loops) ร่วมดัวยมือกลองนาม Jaleel Bunton และ Gerald Smith (bass/keyboards) แนวทางดนตรีของ TV On The Radio นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนผสมของ post-punk, dance, soul, doo-wop, R and B, electronica, free-jazz, a cappella…. แต่เชื่อสิครับ ว่าพวกเขาเขย่าส่วนผสมเหล่านี้ออกมาได้กลมกล่อมน่าฟังอย่างไม่น่าเป็นไปได้จริงๆ
Dear Science, เป็นอัลบั้มเต็ม (LP) แผ่นที่สามของพวกเขา ต่อจาก Return To Cookie Mountain (2006) และ Desperate Youth, Blood Thirsty Babes (2003) ที่ผ่านมางานของพวกเขาได้รับคำชมเชยจากนักวิจารณ์ในแง่บวกมาตลอด แต่สถานะภาพของวงก็ยังคงเป็นวง indie ที่ดังเงียบๆอยู่ดี น่าสนใจว่า Dear Science, น่าจะทำให้ TVOR ก้าวเข้าสู่การเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้นแค่ไหนกับความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบระดับนี้
11 เพลงในอัลบั้มเต็มไปด้วยรายละเอียดหนาแน่นทางดนตรีที่เน้นคีย์บอร์ดและการโปรแกรมมิ่งเป็นหลัก แต่อย่านึกถึงการใช้เครื่องสังเคราะห์เหล่านี้แบบไร้ชีวิต พวกเขาเล่นกับมันได้อย่างมีรสนิยมจนไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเสียงทิ่เกิดจากการเลียนแบบธรรมชาติ ทุกเพลงโดดเด่นด้วยเสียงร้องของสองหนุ่ม Tunde และ Kyp ที่ผลัดและร่วมกันจับไมค์ขับร้องอย่ายอดเยี่ยมในทุกลีลา แม้เนื้อหาที่ทางวงนำเสนอจะหนักอึ้งและซ่อนความหมายมากมาย (จนหลายเพลงยากจะเข้าใจว่าต้องการจะสื่อถึงอะไร ) แต่โทนอารมณ์ใน Dear Sciene, กลับไม่ได้หดหู่หรือชวนแขวนคอตาย มันเต็มไปด้วยเพลง upbeat ดีดดิ้น คึกคัก และเมโลดี้จับใจ ทุกเพลงมีความเยี่ยมยอดในตัวเองราวกับจะเป็นงานรวมเพลงเอกมากกว่าอัลบั้มปกติ
เปิดอัลบั้มด้วย Half Way Home ที่ยาวถึงกว่าห้านาที ค่อยๆสร้างอารมณ์ด้วยเสียงกลองโปรแกรมมิ่งและเสียงปรบมือรัวระริกฉาบด้วยซินเธอะไซเซอร์ที่โอบอุ้มอยู่เบื้องหลัง อารมณ์ของเพลงไม่ต่างอะไรจากการฟังเพลง Progressive Rock จากยุค 70’s ในจังหวะและอารมณ์ของดนตรี electronica อย่าง The Prodigy ยุคแรกๆ วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเสียงกีต้าร์ที่สรุปเรื่องราวทั้งหมด Cryin’ เสียงร้องของ Malone คร่ำครวญถึงความเฮงซวยน่าสลดในโลกใบนี้
หลายปีหลังจาก What’s Goin’ On เราก็ยังต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นไปอย่างไร้เหตุผลสิ้นดี แต่ Cryin’ ยังมีทางสว่างให้เล็กน้อยที่ปลายอุโมงค์ (time to take the wheel and the road from the masters/ take this car, drive it straight into the wall/ build it back up from the floor) มันคือโซลชั้นดีที่ Marvin Gaye แทบจะอยากขึ้นจากหลุมมาขับร้องเอง โดยส่วนตัวผมชอบแทร็คนี้ที่สุดครับ Red Dress ฟังกี้สุดเหวี่ยง กีต้าร์ลิกสั้นๆเริงร่าไปกับคีย์บอร์ดเลียนเสียงเครื่องเป่าตัดฉับกับเนื้อหาอย่างเครียด (..but I’m scared to death that I’m livin’ a life not worth dyin’ for) Family Tree ลดเกียร์ลงเป็นบัลลาดที่เกือบจะเป็น Coldplay เสียงเครื่องสายประคองไปกับเปียโนไฟฟ้าที่อัดเอ็กโค่หนักหน่วง ทำนองงดงามครับ Golden Age Tunde ร้องเสียงหลบและรัวเนื้อร้องในแบบที่ชวนให้นึกถึง Wanna Be Startin’ Something เพลงหนึ่งในอัลบั้ม Thirller ของ Michael Jackson ‘golden age’ อย่างไรก็ตามที่เขาพูดถึงดูเหมือนจะเป็นความหายนะของมนุษยชาติมากกว่าที่จะเป็นยุคพระศรีอาริย์
Dear Science, ปิดปาร์ตี้ด้วย Lover’s Day ที่เหมือนเพลงมาร์ชเดินเข้าสู่การประกาศชัยชนะ(อะไรบางอย่าง?) เพลงนี้ได้เสียงร้องสวยๆของ Katrina Ford (จาก Celebration)มาร่วมประสาน
ไม่น่าแปลกใจที่นี่จะเป็นอัลบั้มขวัญใจนักวิจารณ์ทั่วโลก Dear Sciene, มีทุกอย่างที่พร้อมจะเป็นอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี คุณจะชอบมันถ้าคุณเป็นแฟนดนตรี black music อย่าง Prince แต่ก็มีหูเปิดรับดนตรีอีเล็กโทรนิคสมัยใหม่และความซับซ้อนทั้งทางด้านเนื้อหาและดนตรีในแบบ Progressive Rock เป็นงานที่พิสูจน์ว่าพวกเขาดีเกินไปกว่าที่จะหวังแค่ให้เป็น Radiohead ฉบับอเมริกัน