Sunday, 1 March 2009

Good Vibrations




Good Vibrations
The Beach Boys





Good Vibrations - Beach Boys

แต่งโดย-Brian Wilson, Mike Love
โปรดิวเซอร์-Brian Wilson
ความยาว 3:39
สไตล์-Psychedelic Pop
ปี-1966

ใช้ม้วนเทปในการบันทึกเสียงรวมเวลาแล้วกว่า 90 ชั่วโมง บันทึกเสียงในสตูดิโอสี่แห่ง และงบบานปลายไปถึงห้าหมื่นเหรียญสหรัฐ คุณอาจจะคิดว่านี่เป็นต้นทุนที่สูงเหลือเกินสำหรับการบันทึกเสียงอัลบั้มๆหนึ่งในปี 1966 แต่ขอโทษที... ทั้งหมดนี้มันเพื่อเพลงๆเดียว มหากาพย์แห่ง sunshine pop ของ The Beach Boys ‘Good Vibrations’

ผมเกิดไม่ทันเพลงนี้ และกว่าจะได้ยินมันก็ผ่านไปอีกหลายปี เพราะมันไม่ใช่เพลงฮิตที่จะเปิดกันทั่วไปในบ้านเราสักเท่าไหร่ รู้สึกไม่ค่อยพอใจที่มันเคยเอาชนะ Strawberry Fields Forever/Penny Lane ของ Beatles ในฐานะซิงเกิ้ลยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลในการจัดของนิตยสารดนตรีชื่อดังฉบับหนึ่ง (น่าจะเป็น Q) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90’s

แต่เมื่อได้สัมผัสกับ Good Vibrations แล้ว ความมหัศจรรย์ของมันทำให้ผมยอมรับได้ว่ามันไม่แปลกที่ใครจะโหวตให้มันเป็นเพลง Pop ที่ดีที่สุดที่เคยมีการตัดเป็น single กันมา

Brian Wilson เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของบทเพลงนี้ว่าจากแม่ของเขา Audree ที่พยายามอธิบายให้ฟังว่าทำไมสุนัขถึงเห่าใส่คนบางคนแต่บางคนมันก็กระดิกหางยิ้มแย้มให้ “หมามันสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากคนเหล่านี้ได้ เธอจะมองไม่เห็นมัน แต่เธอจะรู้สึกมันได้ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นเดียวกัน”

ไบรอันไม่ใช่นักเขียนเนื้อเพลง เขาจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่นในการเขียนเนื้อร้องสำหรับ Good Vibrations จากพล็อตในสมองของเขา Tony Asher ผู้เขียนเนื้อเพลงให้หลายเพลงในอัลบั้ม Pet Sounds ของ Beach Boys เป็นคนเริ่มต้นเขียน Good Vibrations แต่สุดท้าย final version เป็นฝีมือของสมาชิกวง Beach Boys อีกคน Mike Love

Derek Taylor เรียก Good Vibrations ว่าเป็น “ซิมโฟนีฉบับกระเป๋า” ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าเป็นการขนานนามที่เข้าท่า ไบรอันใช้เชลโล,เปียโน และ ธีรามีนในเพลงนี้ได้อย่างสุดคลาสสิก เขาลุ่มหลงอยู่กับการเสกสรรปั้นแต่งมันด้วยการบันทึกเสียงซ้ำแล้วซ้อนเล่า ขณะที่บีชบอยคนอื่นๆไปออกทัวร์ ไบรอันก็ยังคงขลุกอยู่กับ “การสั่นอันสวยงาม”ของเขาอยู่ในห้องอัด ตั้งแต่คืนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1966 จวบจนอีกเจ็ดเดือนต่อมา เขาจึงได้ผลลัพธ์สุดท้ายของ Good Vibrations

มันออกเป็นซิงเกิ้ลแบบ stand alone ในวันที่ 10 ตุลาคม 1966 และกลายเป็นเพลงอันดับ1เพลงที่สามของ The Beach Boys ถือเป็นชัยชนะของไบรอันและบีชบอยส์ทั้งในเชิงพาณิชย์,ความคิดสร้างสรรค์และการถ่ายทอดอารมณ์ลงในบทเพลง ต่อเนื่องจากอัลบั้มสุดยอดที่ออกมาในปีเดียวกัน Pet Sounds

น่าเสียดายที่ไม่มี true stereo mix ของเพลงนี้ให้ฟังกัน ไบรอันไม่ค่อยสนใจการทำเพลงเป็นสเตอริโอเท่าไหร่นัก เพราะเขามีหูใช้การได้เพียงข้างเดียว

หลังจากความสำเร็จของ Pet Sounds และ Good Vibrations ทำให้ไบรอันเริ่มมันมือ เขากับเพื่อนๆวางแผนจะทำอัลบั้ม Smile โดยใช้วิธีการเดียวกับที่บันทึกเสียง Good Vibrations โดยกะว่าจะให้อัลบั้มนี้คว่ำ Revolver ของ Beatles ในแง่ศิลปะสร้างสรรค์ลงให้ได้ (สองวงนี้ในช่วงนั้นกำลังแลกหมัดกันอยู่อย่างสนุกโดยเริ่มจาก Beatles ส่ง Rubber Soul ออกมาก่อน และ Beach Boys เอาคืนด้วย Pet Sounds ก่อนที่จะเจอกับหมัดหนักๆจาก Revolver) แต่ไบรอันก็ทำไม่สำเร็จ เขาเจอกับปัญหาโรคซึมเศร้า หวาดระแวง และการใช้ยา จนไม่อาจทำอัลบั้ม Smile ที่กะว่าจะให้มี Good Vibrations เป็นเพลงเอกอยู่ด้วยให้ลุล่วงไปได้ โปรเจ็คถูกทำให้ง่ายขึ้นและกลายมาเป็นอัลบั้ม Smiely Smile ที่มีเพลงนี้รวมอยู่ด้วย

ไม่มีใครคิดว่าในปี 2004 ไบรอันจะสานฝันอันยาวนานของตัวเองสำเร็จจนได้ เขานำโปรเจ็คนี้มาทำใหม่อีกครั้งในชื่อ SMiLE และ Good Vibrations ก็กลับมาในรูปโฉมใหม่ที่อาจจะไม่คลาสสิกเท่าเดิมแต่ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง SMiLE ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของทศวรรษแรกของมิลเลนเนียมนี้ทีเดียว

ไบรอันเคยบอกไว้ว่าจุดประสงค์ของเขาคืออยากให้เพลงนี้ยิ่งใหญ่กว่า You’ve Lost That Lovin’ Feelin’ และอยากให้ตัวเพลงเองส่ง good vibrations ไปให้ผู้ฟังด้วย

ในความเห็นของผมไบรอันทำได้ทั้งสองอย่าง มันเหนือกว่า You’ve Lost… นัก และทุกครั้งที่ผมฟังมัน ก็ราวกับได้รับอะไรดีๆอย่างน่าประหลาดสะเทือนเข้ามาในวิญญาณข้างใน อัศจรรย์



I, I love the colorful clothes she wearsAnd the way the sunlight plays upon her hairI hear the sound of a gentle wordOn the wind that lifts her perfume through the airIm pickin up good vibrationsShes giving me excitationsIm pickin up good vibrations(oom bop bop good vibrations)Shes giving me excitations(oom bop bop excitations)Good good good good vibrations(oom bop bop)Shes giving me excitations(oom bop bop excitations)Good good good good vibrations(oom bop bop)Shes giving me excitations(oom bop bop excitations)Close my eyesShes somehow closer nowSoftly smile, I know she must be kindWhen I look in her eyesShe goes with me to a blossom worldIm pickin up good vibrationsShes giving me excitationsIm pickin up good vibrations(oom bop bop good vibrations)Shes giving me excitations(oom bop bop excitations)Good good good good vibrations(oom bop bop)Shes giving me excitations(oom bop bop excitations)Good good good good vibrations(oom bop bop)Shes giving me excitations(oom bop bop excitations)(ahhhhhhh)(ah my my what elation)I dont know where but she sends me there(ah my my what a sensation)(ah my my what elations)(ah my my what)Gotta keep those lovin good vibrationsA happenin with herGotta keep those lovin good vibrationsA happenin with herGotta keep those lovin good vibrationsA happeninAhhhhhhhhGood good good good vibrations(oom bop bop)(Im pickin up good vibrations)Shes giving me excitations(oom bop bop)(excitations)Good good good good vibrations(oom bop bop)Shes na na...Na na na na naNa na naNa na na na naNa na naDo do do do doDo do doDo do do do doDo do do

คลิปข้างล่างนี้คือ The Beach Boys Live 1976 with Brian's Birthday Party footage (feat. Paul McCartney) ที่ยอดเยี่ยมเหนือคำบรรยายใดๆครับ ต้องชม!



Note:Scroll down to read a 'Good Vibrations' Mixtape at the bottom of this blog!

TUBULAR BELLS





Tubular bells เป็นเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องเคาะ ตัวระฆังทำจากทองเหลือง ลักษณะเป็นท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง30-38มิลลิเมตร ความแตกต่างของระดับเสียงของมันขึ้นอยู่กับความยาวของตัวท่อที่แขวนเรียงกันในแนวดิ่ง มันหนักอึ้งและไม่เป็นที่นิยมใช้กันในวงการนัก เสียงของมันคล้ายระฆังโบสถ์ คุณจะได้ยินเสียงของ tubular bells ได้ในเพลงคลาสสิกหลายเพลงในแนว programmatic อย่าง Symphonie Fantastique ของ Berlioz หรือ 1812 Overture ของ Tchaikovsky

แต่มนุษย์ที่ทำให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาที่สุดย่อมเป็น ไมค์ โอลฟิลด์ กับงานชื่อเดียวกับเครื่องดนตรีนี้ หรืออาจจะกล่าวอีกแบบได้ว่า tubular bells ก็มีบุญคุณทำให้ชื่อเสียงของไมค์ เป็นที่รู้จักในระดับเดียวกัน

ลองเพลย์ที่มีแค่สองเพลง แต่ละเพลงเป็นเพลงบรรเลงยาวเกินยีสิบนาที นักดนตรีคนเดียวเล่นเครื่องดนตรีร่วม30ชิ้น และเขาคนนั้นยังเป็นเด็กหนุ่มอายุแค่17ปีที่เพิ่งได้ออกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก กับตราแผ่นเสียงที่เพิ่งมีงานออกมาเป็นชิ้นแรกเช่นกัน ด้วยปัจจัยเช่นนี้ดูจะไม่เอื้ออำนวยให้กับความสำเร็จแม้แต่น้อย

แต่นี่คือปี 1973 ปีแห่งโปรเกรสซีพร็อค ยุคแห่งมหากาพย์ยาวเหยียด ดนตรีที่ซับซ้อนซ่อนปม และคอนเซ็พท์อัลบั้มท้าทายจินตนาการ มันจึงเป็นไปได้ และเป็นไปแล้วที่ Tubular Bells จะกลายเป็นหนี่งในอัลบั้มเพลงบรรเลงขายดีที่สุดตลอดกาล และมันก็ขึ้นหิ้งไปเรียบร้อยในฐานะหนึ่งในอัลบั้มโปรเกรสซีพที่นักฟังทุกคนต้องมีและศึกษา

ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ของมันอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างช่วยเกื้อหนุน แต่เนื้อแท้ทางดนตรีของ Tubular Bells เป็นสิ่งที่ควรนำมาวิพากษ์วิเคราะห์ ถึงทุกวันนี้ ความน่าตื่นใจที่มันเป็นผลงานของเด็กหนุ่มที่เล่นดนตรีสารพัดชิ้นคนเดียวไม่น่าจะนำมาเป็นเหตุผลหลักถึงความดีงามของมัน มันไม่สำคัญสำหรับคนฟังเลยแม้แต่น้อยว่าสรรพเสียงสี่สิบกว่านาทีที่เขาได้ยินนั้นมันจะมาจากฝีมือของนักดนตรีกี่คน หรืออายุเท่าไหร่

Tubular Bells เป็นงานดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากการประพันธ์ดนตรีแบบคลาสสิก แต่ไม่ได้เล่นด้วยเครื่องดนตรีคลาสสิกแท้ๆ มีธีมหลักจำนวนหนึ่งที่วนกลับมาเป็นระยะๆและพาร์ทสั้นๆที่เชื่อมต่อกันอย่างเห็นรอยต่อได้แต่ไม่รู้สึกสะดุด ไมค์เล่นเครื่องดนตรีหลากหลายด้วยฝีมือระดับเลิศ ความแปรผันของอารมณ์และลีลาของดนตรีในแต่ละช่วงประหนึ่งผู้ฟังท่องไปในคลื่นสมองของชายเสียสติ ตั้งแต่สงบนิ่งเยี่ยงนิพพาน,ร่าเริงเหมือนเด็กน้อย,ยิ่งใหญ่ระทึกขวัญ....จนกระทั่งไปถึงความคลุ้มคลั่งแทบควบคุมไม่ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้างานชิ้นนี้ขาดสิ่งนี้ไป....ความไพเราะและสวยงามของท่วงทำนองที่มีให้ฟังตลอดอัลบั้มตั้งแต่ Theme แรกอันโด่งดังของพาร์ทแรกจนกระทั่งท่อนสุดท้ายใน Part 2 ที่เป็นการนำเอาเพลงพื้นเมือง Sailor’s hornpipe มาบรรเลงแบบเร่งเร้า


ไมค์ โอลฟิลด์เริ่มชีวิตนักดนตรีตั้งแต่อายุเพียง 14 ปีด้วยการตั้งวง Sallyangie กับพี่สาวแซลลี่ สองปีต่อมาเขาได้ไปเป็นมือเบสให้วง The Whole World ของเควิน อายเออร์ส ช่วงราวปี 1971-2 ไมค์ได้มีโอกาสใช้เวลาว่างใน Abbey Road Studio บันทึกเดโมของ Tubular Bells ที่ตอนนั้นเขาให้ชื่อเล่นๆว่า Opus One ไอเดียของไมค์คือเขาอยากให้มันเป็นงานในแนวซิมโฟนิคที่มีหลาย movements โดยเขาจะเล่นเครื่องดนตรีทั้งหมดด้วยตัวเองโดยอาศัยเทคนิคการโอเวอร์ดับ ด้วยเครื่องบันทึกเทปที่เขายืมมาจากเควิน ไมค์ใช้แผ่นการ์ดบอร์ดเล็กๆปิดทับหัวลบของตัวเทปเอาไว้ทำให้เขาสามารถบันทึกเสียงเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ๆลงไปได้โดยไม่ลบของเก่า

Opus One ได้รับการปฏิเสธจากบริษัทแผ่นเสียงทุกแห่งที่ไมค์เอาไปนำเสนอ มีเพียง ริชาร์ด แบรนสันคนเดียวที่พอจะเห็นแวว ขณะนั้นแบรนสันทำกิจการร้านขายแผ่นเสียงอยู่และเพิ่งสร้างสตูดิโอส่วนตัวเสร็จ แบรนสันและ ทอม นิวแมนเจ้าของร่วมห้องอัดอีกคนได้ยินเดโมของไมค์ ทั้งสองชอบไอเดียนี้และจับไมค์เซ็นสัญญา

ไมค์ใช้เวลาหลายเดือนในสตูดิโอของแบรนสันและนิวแมนบันทึกเสียงงานชิ้นเอกของเขา ซึ่งปัจจุบันมีชื่อแล้วจากเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่ไมค์เองยังไม่ทราบชื่อในตอนแรก เขาบอกให้แบรนสันช่วยไปหาเจ้า “ท่อเหล็กยาวๆที่แขวนๆเรียงกัน” นั่นมาให้หน่อย

บันทึกเสียงเรียบร้อยก็ถึงเวลาที่จะหาที่ทางในการขาย เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกครั้งที่ไม่มีบริษัทแผ่นเสียงใดแยแสที่จะปั้มมันออกมา

แบรนสัน ตัดสินใจตั้งบริษัทแผ่นเสียงขึ้นมาเองในนาม Virgin Records และ Tubular Bells ก็เป็นแผ่นเสียงแผ่นแรกของสังกัด ออกเมื่อ 25 พ.ค. 1973 มันประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในอังกฤษและยุโรป แต่ในอเมริกานั้นต้องรอจนมันไปโผล่ในหนัง The Exorcist ในแบบตัดตอนสั้นๆ3นาทียอดขายของ Tubular Bells ถึงได้พุ่งถึง 16 ล้านแผ่นในเวลาต่อมา

ไมค์ปฏิเสธที่จะดูหนังเรื่องนี้จนกระทั่งปลายๆยุค 80’s

เขาชอบมันไหม?

“ผมหัวเราะแทบขาดใจตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะตอนที่เด็กผู้หญิงนั่นเริ่มทำหัวหมุนไปรอบๆ” (นึกว่าขำตอนอ้วกสีเขียว) และไมค์คิดว่าดนตรีของเขาน่าจะไปอยู่ในหนังที่ชาญฉลาดกว่านี้

ท่านจะได้ยินเสียงของ Tubular Bells เพียงครั้งเดียวในแผ่นเสียง ท่อนสุดท้ายของพาร์ทแรก วิเวียน สแตนแชล แขกรับเชิญจากวง Bonzo Dog-Doo-Dah Band ประกาศเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก่อนที่ไมค์จะเล่นมันด้วยท่วงทำนองเดียวกัน เสียงดนตรีชิ้นใหม่จะซ้อนทับลงไปบนเสียงเดิม(ที่ถอยห่างออกไป) เริ่มจาก "Grand piano; reed and pipe organ; glockenspiel; bass guitar; double speed guitar; two slightly distorted guitars; mandolin! Spanish guitar, and introducing acoustic guitar

And plus….TUBULAR BELLS!

หน้าปกแผ่นเสียงเป็นภาพ Tubular Bells ที่หักงอบิดเบี้ยว ราวกับจะผูกมัดอะไรบางอย่างให้ติดกับมันไปตลอดกาล


Beatles ยึดอเมริกาในปี 1964 (พ.ศ. ๒๕๐๗)-2




ขณะที่นักข่าวของอังกฤษในตอนนั้นกำลังพยายามที่จะโค่นบีเทิลส์ลงจากบัลลังก์หลังจากที่พวกเขาปั้นสี่เต่าทองขึ้นมาจากศิลปินเดินดินธรรมดาๆ(เป็นเรื่องไม่น่าแปลกสำหรับสื่ออังกฤษในยุคนั้น)

สื่ออเมริกันกลับอยู่ในช่วงที่หิวกระหายข่าวจากวงป๊อบอังกฤษที่กุมหัวใจเด็กวัยรุ่นทั้งชาติมาแล้ว
นักข่าวอเมริกันชั้นแนวหน้าพากันแห่มาปารีส เพื่อสัมภาษณ์พวกเขา


ไบรอัน เอ็บสไตน์ก็มีแขกมาเยี่ยมเช่นกัน เขาคือ Norman Weiss , theartrical agent จากนิวยอร์ค Weiss ทำงานให้ General Artists Corporation

และเขาอยู่ในปารีสในฐานะผู้จัดการของ Trini Lopez ซึ่งเป็นศิลปินที่แสดงในรายการเดียวกับบีเทิลส์ที่โอลิมเปีย

ก่อนหน้านี้ Sid Bernstein ผู้ร่วมงานของ Weiss ที่ GAC และเป็นโปรโมเตอร์อิสระในนามของบริษัทของเขา-Theatre Tree Productions ได้แสดงเจตจำนงในการดึงตัวบีเทิลส์ไปเปิดการแสดงที่ Carnegie Hall ในนิวยอร์คมาก่อนแล้ว

ซิดถึงขั้นกำหนดวันให้ว่าเป็นวันที่ 12กุมภาพันธ์ แต่ไบรอันยังไม่อยากจะจองตัวให้บีเทิลส์เล่นที่ไหนจนกว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสม

และขณะนี้เวลานั้นมาถึงแล้ว และ Weiss ในนามของ Bernstein ก็ได้ตกลงทำสัญญากับไบรอันเรียบร้อยในกรุงปารีส ด้วยค่าตัว 7,000ดอลลาร์ สี่เต่าทองตกลงจะแสดงสองรอบ

เวสส์ยังเซ็นสัญญาให้พวกเขาไปเปิดการแสดงรอบเดียวที่ Washington DC ในวันที่ 11กุมภาพันธ์อีกด้วย

ในวันที่ 3กุมภาพันธ์ ก่อนที่บีเทิลส์จะสิ้นสุดการแสดงสามสัปดาห์ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักของพวกเขาในปารีส สี่เต่าทองเดินทางไปที่สถานทูตอเมริกันในปารีสเพื่อทำวีซ่าและหนังสืออนุญาตที่จำเป็นในการเข้าเมืองและทำงานในอเมริกา

ในวันที่5 พวกเขาเดินทางกลับอังกฤษ

สองวันต่อมา ในวันศุกร์ที่7 กุมภาพันธ์ เวลาท้องถิ่น 13:20 นาฬิกา เครื่องบินโบอิ้ง 707 ของ Pan American เที่ยวบิน PA101 ได้นำผู้โดยสารจำนวนหนึ่งมาแตะพื้นสนามบิน John F Kennedy International Airport ในนิวยอร์ค

แน่นอน-สี่คนในบรรดาผู้โดยสารเที่ยวนั้นก็คือเด็กหนุ่มสี่คนผู้โด่งดังจากลิเวอร์พูล

การต้อนรับที่มีให้พวกเขานั้นน่าตื่นตระหนกนัก-แม้ว่าจะวัดจากมาตรฐานที่สุดโต่งของ Beatlemania แล้วก็ตาม
เสียงกรีดร้องอย่างดุเดือดจากแฟนๆสามหมื่นคนสาดกระหน่ำลงมาที่เต่าทองทั้งสี่

บีเทิลแต่ละคนให้ฉงนสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงได้รับการต้อนรับที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้

อเมริกาไม่ได้มีดาราเพียงพอต่อความต้องการของพวกเขาแล้วหรือ?
ไม่ใช่อเมริกาหรอกหรือ ที่สร้างสรรค์ดนตรีอันเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อเดอะ บีเทิลส์ในตอนแรกเริ่ม

ทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาทำอยู่-แน่นอน-เป็นการมอบคืนกลับให้ชาวอเมริกัน ในสิ่งที่พวกเขามีอยู่แล้ว

สิ่งที่บีเทิลส์ไม่ได้ตระหนักก็คืออเมริกา,ในห้วงเวลาแห่งการอาดูรหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีเคเนดี้,นั้น ยิ่งกว่าพร้อมที่จะต้อนรับบันเทิงคดีที่จะทำให้พวกเขาลืมความโศกนี้ได้

ราวกับว่าประชากรทั้งหมด(ออกจะฟังดูวิตถารไปหน่อย เมื่อมองจากยุคปัจจุบัน) ตกอยู่ในอำนาจของเดอะ บีเทิลส์โดยสิ้นเชิง--ด้วยความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า

ในวันที่9 กุมภาพันธ์ ต่อหน้าผู้ชมวัยรุ่นนิวยอร์ค 728คนที่อยู่ในอาการคลุ้มคลั่งสุดๆ เดอะ บีเทิลส์ได้แสดงสดในรายการ The Ed Sullivan Show เป็นครั้งแรก

มีรายงานจาก The A C Nielsen rating ว่าจำนวนบ้านที่เปิดดูรายการนี้คือ 23,240,000 หลัง , ก็คือประมาณว่า 73ล้านคน ทำลายสถิติโลกสำหรับจำนวนผู้ชมที่ชมทีวีมากที่สุด

สองวันหลังจากนั้น ท่ามกลางบรรยากาศโกลาหลสุดขีด เดอะ บีเทิลส์ก้าวขึ้นเวทีที่ Washington Coliseum และเปิดคอนเสิร์ทครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา

24ชั่วโมงต่อมา ความอลหม่านในระดับเดียวกันก็ย้ายมาต้อนรับพวกเขา ในการแสดงสองรอบที่ Carnegie Hall อันโด่งดัง ซึ่ง ณ ที่นี้ ต้องใช้ตำรวจถึง 362 นายมาอารักขาเพื่อให้แน่ใจว่าเดอะ บีเทิลส์จะไม่ได้รับภยันตรายใดๆจากแฟนเพลง

เมื่อบีเทิลส์บินออกจากอเมริกาในวันศุกร์ที่ 21กุมภาพันธ์ พวกเขาทิ้งชาวอเมริกันผู้ตกอยู่ในความหลงใหลยิ่งนักไว้เบื้องหลัง-มันเป็นความจริงที่อธิบายไม่ได้และไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่ไบรอัน เอ็บสไตน์ผู้ซึ่งวางแผนแยบยลเกี่ยวกับการมาเยือนอเมริกาไว้ในใจล่วงหน้าแล้ว ก็ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีผู้จัดการคนไหนเขาทำกัน

ไบรอันปฏิเสธข้อเสนอมากมายที่ต้องการให้บีเทิลส์กลับมายังอเมริกาโดยทันทีอย่างสิ้นเชิง (อันเป็นการเพิ่มค่าตัวในการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ยิ่งขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียโอกาสดีๆในการโปรโมทไป)

ด้วยความกลัวที่จะเป็นอะไรที่โหลเกินไป และ การตระหนักถึงความต้องการในที่อื่นๆอีก เดอะ บีเทิลส์จึงไม่ได้กลับมาอเมริกาเหนืออีกจนกระทั่งเดือนสิงหาคม

ถ้าปี 1963เป็นปีที่บีเทิลส์ครองเกาะอังกฤษ 1964 ก็ต้องเรียกว่าเป็นปีที่พวกเขาครองโลก

หลังจากกลายเป็นอมตะไปแล้วในบ้านเกิดตัวเอง ผู้จัดการหนุ่ม ไบรอัน เอ็บสไตน์ เริ่มสอดส่ายสายตาไปยังที่หมายอื่น

ในวันที่9มีนาคม ขณะที่เขานั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานที่ NEMS' new London office (ซึ่งตั้งอยู่ถัดจาก London Palladium แบบมิได้มิจงใจ) เขาได้สำรวจกำหนดการแสดงที่ ออสเตรเลีย,ฮอลแลนด์, เดนมาร์ค,ฮ่องกง และ สวีเดน

ส่วน Arthur Howes โปรโมเตอร์ชาวอังกฤษก็รู้สึกคึกคักนักที่จะทำทัวร์ในบ้านเกิดอีกครั้ง

และไบรอันเองก็อยากที่จะให้มีการแสดงบนเวทีในแบบคริสต์มาสโชว์ในตอนปลายปีอีกครั้งหนึ่ง

และสุดท้ายแล้ว เดอะ บีเทิลส์ ก็ได้ทำทุกสิ่งที่ว่ามาหมดเกลี้ยงในปี1964นี้ และแถมยังบันทึกเสียงสองอัลบั้ม,ซิงเกิ้ลอีกจำนวนหนึ่ง และ ภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่อง