Tuesday, 29 March 2011

Clapton


Clapton (2010)-Eric Clapton ****

แนวดนตรี-Blues, Rock

โปรดิวเซอร์-Eric Clapton, Doyle Bramhall II, Justin Stanley

Eric Clapton เคยมีอัลบั้มชื่อเดียวกับตัวเขามาก่อนแล้ว ตอนออกโซโลอัลบั้มชุดแรกในปี 1970 แต่การที่เขาตัดสินใจใช้นามสกุลของเขาเป็นชื่ออัลบั้มชุดที่ 20 ของเขานี้ ย่อมมีความหมายอะไรบางอย่างมากกว่าการคิดอะไรไม่ออก ช่วงหลายปีหลังมานี้ แคลปตันเดินทางไปเยี่ยมผู้ร่วมงานทางดนตรีของเขาในอดีตกาลแทบจะครบทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไปเล่นคอนเสิร์ตกับ John Mayall รียูเนียนกับ Jack Bruce และ Ginger Baker ในนาม Cream, หวนอดีต Blind Faith กับ Steve Winwood, เล่นเพลงของ Derek and the Dominos แทบจะยกอัลบั้มในสมัยที่ได้หนุ่มมือสไลด์กีต้าร์อัจฉริยะ Derek Trucks มาร่วมวงด้วย, ออกแสดงกับมือกีต้าร์ที่เคยอยู่วง Yardbirds ด้วยกัน Jeff Beck, ออกอัลบั้มคู่กับศิลปินคนโปรด J.J. Cale, ทำอัลบั้ม tribute ให้ Robert Johnson นักกีต้าร์ผู้มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุด ดูเหมือนแคลปตันจะเยี่ยม ญาติทางดนตรีของเขาครบถ้วนแล้ว

แต่ยัง.. ‘Clapton’ เป็นงานที่แคลปตันเดินทางกลับไปลึกยิ่งกว่านั้น ดนตรีที่ดังจากวิทยุที่บ้านของเขาในวัยเด็ก Blues, New Orleans Jazz, Standard ที่เขาชื่นชอบ ก่อนที่ร็อคแอนด์โรลจะเดินทางมาถึง มีเพลงใหม่ใน ‘Clapton’ เพียงแค่ 2 เพลง และเขาร่วมแต่งด้วยแค่เพลงเดียว แต่ทั้ง 14 เพลงก็ไปด้วยกันได้ดี

คราวนี้เขาไม่ได้เรียกใช้บริการของ Simon Climie มาเป็นโปรดิวเซอร์อีก อาจจะเป็นเพราะเขาต้องการ sound ที่ดิบและติดดินในแบบแผ่นเสียงของ J.J. Cale มากกว่างานที่เนี้ยบทุกโน้ตด้วย Pro-tools ในแบบของ Simon

อัลบั้มนี้เริ่มต้นด้วยการที่แคลปตันอยากทำงานร่วมกับ J.J. อีกครั้งเพราะเขายังไม่ค่อยพอใจกับ The Road To Escondido อัลบั้มที่แล้วที่เขาทำกับ Cale นัก แต่แผนก็เปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไป โดยสุดท้ายมีเพลงของ Cale 2 เพลงและเขาร่วมเล่นกีต้าร์อีกในบางเพลง และที่เหลือเป็นเพลงเก่าๆที่แคลปตันรักและไม่เคยนำมาบันทึกเสียงมาก่อน

นักดนตรีหลักใน ‘Clapton’ คือ Doyle Bramhall II มือกีต้าร์คู่บุญที่รับบทโปรดิวเซอร์ร่วมกับแคลปตันด้วย ฝีมือของ Doyle ในชุดนี้ดูจะบรรลุไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว, มือกลองรุ่นเก๋า Jim Keltner ที่ฝากฝีมือไว้ในอัลบั้มดังๆมากมายของหลากหลายศิลปิน, Willie weeks เล่นเบสทั้งไฟฟ้าและอคูสติก ส่วนคีย์บอร์ดคือ Walt Richmond

นักดนตรีหลักทั้งห้าคน(รวมแคลปตัน) เล่นเปิดในเพลง Travelin’ Alone เพลงเก่าของ Melvin Jackson ที่แคลปตันเคยซื้อแผ่นเสียงไว้ตั้งแต่อายุ 15 เป็น blues jam ที่เข้มข้นและน่าตื่นเต้น Rockin’ Chair เพลงของ Hoagy Carmichael จังหวะโยกเยกนุ่มนวลสบายๆ ได้ Derek Trucks มาสไลด์กีต้าร์เพราะๆ แคลปตันร้องอย่างสบายอารมณ์โดยมีเสียงประสานเคลิ้มๆของ Nikka Costa คลอไปด้วย เพลงของ Cale สองเพลงคือ River Runs Deep และ Everything Will Be Alright ก็ยังคงเป็นเพลงในแบบฉบับของเขาอยู่ แต่ได้เครื่องสายจาก The London Session Orchestra มาโอบอุ้มให้ความอลังการขึ้นอย่างงดงาม

Judgement Day บลูส์สนุกๆของ Snooky Pryor แคลปตันร้องได้เฮฮาล้อไปกับเสียงฮาร์โมนิกาอันโดดเด่นของ Kim Wilson ฟังแล้วครึกครื้นยิ่งนัก

เพลงแสตนดาร์ดชื่อดังสองเพลงที่แคลปตันนำมาร้องในชุดนี้คือ How Deep Is The Ocean ของ Irving Berlin ได้เทพแจ๊ซ Wynton Marsalis เป่าทรัมเป็ตให้หมดจด ส่วน Autumn Leaves ของ Johnny Mercer เพลงปิดอัลบั้ม แคลปตันฝากโซโลอันน่าจดจำไว้ถึงสองโซโล ท่อนแรกเป็นอคูสติก และท่อนปิดท้ายเป็นอีเล็กทริคที่นุ่มนวลและเปี่ยมอารมณ์อย่างที่สุด Ry Cooder เคยเตือนแคลปตันไว้ว่าการนำเพลงแบบนี้มาใส่ในอัลบั้มบลูส์แบบนี้อาจจะทำให้ผู้ฟัง หัวทิ่ม ได้ แต่แคลปตันก็วางเพลงได้ดี ฟังแล้วไม่รู้สึกอะไรอย่างที่ Cooder กลัว สองเพลงนี้ยืนยันว่าแคลปตันได้ก้าวผ่านพรมแดนของแนวดนตรีไปแล้ว มันไม่ใช่การ cover แบบ Rod Stewart แต่คือการนำเพลงแนวอื่นที่ไม่ใช่แนวถนัดมาทำเป็นของตัวเองได้อย่างเนียนแนบ

ถ้าอยากฟังแคลปตันในแบบ laid back ร็อคนุ่มๆเหมือนในยุค 461 Ocean Boulevard หรือ Slow Hand ก็มี 2 เพลงคือ That’s No way To Get Along ผลงานของ Robert Wilkins ที่ Rolling Stones เคยนำไปดัดแปลงเป็นเพลง Prodigal Son มาแล้ว แคลปตันร้องคู่กับ Cale และปล่อยให้ Doyle โซโลกีต้าร์โดดเด่น ส่วน Run Back To Your Side ยิ่งร็อคมากขึ้น Derek, Doyle และ แคลปตันแจมกีต้าร์กันอย่างเมามัน มันเป็นเพลงที่เชื่อว่าแฟนๆของแคลปตันอยากจะฟัง และอยากให้มีแบบนี้อีกมากๆ

นอกจาก Wynton Marsalis ที่มาในทาง jazz แล้ว แคลปตันยังได้ Allen Toussaint มาเล่นเปียโนให้ในเพลง When Somebody Thinks You’re Wonderful และ My Very Good Friend The Milkman ที่ออกไปในแนวนิวออร์ลีนแจ๊ซสนุกๆแบบของอัลเลน

ซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้มคือ Diamonds Made From Rain ที่ได้ Sheryl Crow มาร้องด้วย เป็นบัลลาดที่ฟังง่ายและน่าจะติดหูที่สุดในอัลบั้ม และเป็นอีกเพลงที่แคลปตันฝากโซโลไว้ได้แสนไพเราะ

ชื่ออัลบั้ม ‘Clapton’ น่าจะมาจากบทเพลงเหล่านี้คือตัวตนของเขา บอกความเป็นมาของดนตรีในหัวใจของเขาตั้งแต่วัยเด็ก และความเป็นตัวของตัวเองในปัจจุบันที่ดูเหมือนเขาจะทำเพลงในแบบที่เขาอยากทำจริงๆไม่ได้อิงตลาดหรืออะไรอีกต่อไป นี่เป็นอัลบั้มที่อาจจะฟังยากและน่าเบื่อเสียหน่อยสำหรับคนไม่คุ้นเคยกับเพลงแนวนี้ แต่เมือท่านทำความรู้จักกับมันดีพอแล้ว ไม่น่าพลาดที่จะหลงรัก ‘Clapton’ ครับ นี่คืออัลบั้มที่ดีที่สุดของเขาในรอบหลายปี คุณค่าของมันอยู่ในระดับดียวกับอัลบั้ม Unplugged แม้จะไม่งดงามน่าหลงใหลเท่าก็ตาม

Track listing

1. "Travelin' Alone" (Lil' Son Jackson) – 3:56

2. "Rocking Chair" (Hoagy Carmichael) – 4:04

3. "River Runs Deep" (JJ Cale) – 5:52

4. "Judgement Day" (Snooky Pryor) – 3:13

5. "How Deep Is the Ocean" (Irving Berlin) – 5:29

6. "My Very Good Friend the Milkman" (Lyrics:Johnny Burke, Music: Harold Spina) – 3:20

7. "Can't Hold Out Much Longer" (Walter Jacobs) – 4:08

8. "That's No Way to Get Along" (Robert Wilkins) – 6:07

9. "Everything Will Be Alright" (Cale) – 3:51

10. "Diamonds Made from Rain" (Doyle Bramhall II, Nikka Costa, Justin Stanley) – 4:22

11. "When Somebody Thinks You're Wonderful" (Harry M. Woods) – 2:51

12. "Hard Times Blues" (Lane Hardin) – 3:45

13. "Run Back to Your Side" (Bramhall, Eric Clapton) – 5:17

14. "Autumn Leaves" (Joseph Kosma, Johnny Mercer, Jacques Prévert) – 5:40


Queen: Greatest Hits (2011)

แนวดนตรี: Rock

Producer: Queen, Roy Thomas Baker, Mike Stone, Brian May, Mack

Queen ฉลองครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งวงด้วยการย้ายสังกัดจาก EMI ไปอยู่กับ Island Records และ re-issue studio albums ทั้ง 15 ชุดของพวกเขาในปีนี้ โดยผ่านการ remaster จากฝีมือของ Bob Ludwig Mastering engineer ชื่อดังแห่งยุค และทุกอัลบั้มจะมี expanded disc แถมมาด้วยอีก 1 แผ่น โดยจะทะยอยออกเป็นระลอก เริ่มที่ 5 แผ่นแรก จาก Queen ถึง A Night At The Opera ในเดือนมีนาคมนี้ แต่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาพวกเขาได้ปล่อย Greatest Hits I และ II ออกมาให้แฟนๆ ชิม กันก่อน มองที่เปลือกนอกแทบไม่เห็นอะไรแปลกใหม่ นอกจากภาพปก Greatest Hits ที่เป็นภาพถ่ายของสมาชิกทั้ง 4 คนแบบตรงๆไม่ได้จ้ดมุมเอียงๆแบบ original และใน Greatest Hits II โลโกดูคมชัดขึ้น แต่ tracklist ของทั้งสองชุดก็ยังคงเหมือนเดิมกับที่ออกเมื่อหลายปีก่อน ไม่มีเพลงแถม ไม่มีดีวีดีประกอบอะไรทั้งสิ้น ในมุมมองของแฟนบางกลุ่มนี่อาจเป็นความพยายามที่ไร้สาระ แต่ความเป็นจริงก็คือ Greatest Hits เป็นงานรวมเพลงของศิลปินร็อคที่สมบูรณ์แบบที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่เคยมีมา ในระดับเดียวกับ Legend ของ Bob Marley, Their Greatest Hits 1971-1975 ของ Eagles หรือ History ของ America จึงถือเป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรมแล้วที่ไม่มีการไปแตะต้อง original tracklist แต่อย่างใด

คุณภาพเสียงของเพลงของ Queen ในเวอร์ชั่นซีดีที่ผ่านมาก็ไม่ได้จัดว่าเลวร้ายอะไร แต่เท่าที่ฟังผลงานของ Ludwig ในการรีมาสเตอร์ครั้งนี้อยู่ในระดับน่าพอใจ มันไม่ได้ผ่านการ remix จึงไม่ควรคาดหวังอะไรที่น่าตื่นหูมากนัก ลืมเรื่อง Loudness war ที่เป็นการตะบี้ตะบันเพิ่มความดังของเสียงในทุกย่านความถี่ไปได้ คุณจะไม่ได้ยินสิ่งนี้ใน Greatest Hits โทนเสียงโดยรวมอุ่นอิ่มขึ้น รายละเอียดคมชัดเจน โดยเฉพาะเสียงเบสของ John Deacon ที่ทำให้เรายอมรับฝีมือของเขามากขึ้น เสียงประสานที่เป็นเอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของ Queen ฟังแล้วกระหึ่มเต็มรูหูยิ่งกว่าเดิม เป็นสัญญาณที่ดีว่าเราน่าจะได้ฟังงานรีมาสเตอร์ที่มีคุณภาพในอีก 15 อัลบั้มที่จะตามออกมา

Queen Greatest Hits ออกมาในปี 1981 รวบรวมเพลงดังของพวกเขาในปี 1974-1980 ตั้งแต่ Seven Seas Of Rhye ถึง Flash รวม 17 เพลง ในยุคที่ออกมาเป็นแผ่นเสียงและคาสเซ็ตต์ในปีนั้น tracklist ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป โดยจะดูว่าประเทศไหนมีเพลงอะไรดังบ้าง บางประเทศจึงมีเพลงอย่าง Love Of My Life, Under Pressure หรือ Keep Yourself Alive ที่ประเทศอื่นไม่มี แต่ 17 เพลงในซีดีนี้จะไล่เรียงจาก original UK version เป็นหลัก ซึ่งก็เหมือนกับใน original CD ที่ออกมาในครั้งแรกทุกประการ

ความคลาสสิกของงานรวมฮิตชุดนี้อยู่ที่คุณภาพของทั้ง 17 เพลงที่ยิ่งใหญ่และหลากหลาย คัดมาจากช่วง peak ที่สุดของหนึ่งในวงดนตรีที่ดีที่สุดตลอดกาล และการเรียงเพลงที่ไม่ได้อิงช่วงเวลาที่ออกจำหน่าย แต่จัดเรียงใหม่เพื่อความรื่นรมย์ในการฟัง อัลบั้มนี้จึงเปิดด้วยเพลงดังที่สุดตลอดกาลของพวกเขา Bohemian Rhapsody และปิดด้วยเพลงสุดยอด sport anthem We Are The Champions ในขณะที่การรวมเพลงของศิลปินในยุคหลังๆมักจะออกไปในแนวทางเรียงตามเวลา ซึ่งถ้า Greatest Hits เริ่มต้นด้วย Seven Seas… และจบด้วย Flash เชื่อว่าพลังของอัลบั้มนี้จะถดถอยไปอีกมาก

Freddie Mercury นักร้องนำผู้ล่วงลับของวงเป็นคนคิดที่จะใช้คำว่า Queen เป็นชื่อวง ถือเป็นเรื่องหาญกล้านักสำหรับวงดนตรีชายล้วนในยุคนั้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นเกย์ของเขา ซึ่งเฟรดดี้ก็รู้อยู่แก่ใจตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว แต่มิติอื่นๆที่เขาต้องการนำเสนอคือความอลังการและยิ่งใหญ่ในแบบชนชั้นผู้นำ และที่สำคัญเขาคิดว่าชื่อนี้มัน ‘sounds splendid!’

ทั้ง 17 เพลงท่านจะได้ฟังดนตรีจากฝีมือของผู้ชาย 4 คนที่โลดแล่นไปในแนวดนตรีต่างๆแทบไม่ซ้ำทางกัน แต่ด้วยลายเซ็นในสุ้มเสียงเฉพาะตัวของแต่ละสมาชิกทำให้ไม่ว่า จะเล่นเพลงแบบใด มันก็ยังคงความเป็น Queen อยู่ นั่นคือเสียงร้องนำของ Freddie, การประสานเสียงที่โอ่อ่าและแม่นยำที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ และเสียงกีต้าร์ที่มีซาวนด์เฉพาะตัวของ Brian May

จากฮาร์ดร็อคดุๆใน Seven Seas of Rhye, ดนตรี vaudeville สุดพริ้วใน Killer Queen ที่เริ่มมีสุ้มเสียงแบบ ควีนๆ, มหากาพย์โอเปร่าร็อค Bohemian Rhapsody, Modern Gospel-Rock แบบ Somebody To Love, Stadium rock ที่ง่ายๆแต่ทรงพลังของ We Will Rock You หรือเร้าอารมณ์แบบ Now I’m Here, Funk+disco ใน Another One Bites The Dust, เล่นกับซินเธอะไซเซอร์ได้อย่างมีรสนิยมใน Play The Game, หรือกลับไปสู่รากเหง้าร็อคแอนด์โรลในแบบเอลวิสใน Crazy Little Thing Called Love---- Freddie, Brian, John และ Roger แวะเวียนไปในหมู่บ้านต่างๆของดนตรีร็อคได้อย่างไม่เคอะเขิน ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Greatest Hits เป็นงานที่น่าอัศจรรย์ชุดหนึ่งของวงการดนตรี ถ้าคุณยังไม่มีผลงานของ Queen มาก่อน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดทั้งในแง่คุณภาพดนตรีและสุ้มเสียง แต่ถ้าคุณมีผลงานของพวกเขามาแล้วแต่ก็อยากฟังผลงานการรีมาสเตอร์ของ Bob Ludwig ก็น่าจะไม่ผิดหวังเช่นกัน เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีอะไรแตกต่างถึงขนาดพลิกโลกไปจากเวอร์ชั่นเดิม

หวังว่าเราคงจะได้เห็นงานรีมาสเตอร์ของ original albums ของพวกเขาวางแผงในประเทศไทยเดือนมีนาคมนี้ แล้วผมจะหยิบยกมาพูดถึงอีกครับ

Tracklist:

BOHEMIAN RHAPSODY

ANOTHER ONE BITES THE DUST

KILLER QUEEN

FAT BOTTOMED GIRLS

BICYCLE RACE

YOU’RE MY BEST FRIEND

DON’T STOP ME NOW

SAVE ME

CRAZY LITTLE THING CALLED LOVE

SOMEBODY TO LOVE

NOW I’M HERE

GOOD OLD-FASHIONED LOVER BOY

PLAY THE GAME

FLASH

SEVEN SEAS OF RHYE

WE WILL ROCK YOU

WE ARE THE CHAMPIONS

Duran Duran : All You Need Is Now













Duran Duran-All You Need Is Now (2010/2011) ***

Producer: Mark Ronson

Genre: Pop Rock, New Romantics

คุณจำเป็นต้องมีชีวิตในช่วงวัยรุ่นอยู่ในยุค 80’s จึงจะเข้าใจถึงความโด่งดังของ Duran Duran ในยุคนั้นอย่างแท้จริง พวกเขาอาจจะไม่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์มากมายนัก นอกเหนือจากการเป็นวงในแนวนิวโรแมนติกส์ที่มีฝีมือเหนือกว่าวงอื่นๆในยุคเดียวกัน และผลงานที่เป็น masterpiece ของดนตรีแนวนี้อย่างอัลบั้มที่สองของพวกเขา Rio

All You Need Is Now คืออัลบั้มที่ 13 ของพวกเขาไปแล้ว ไม่มีใครคิดว่าวงดนตรีชื่อตลกๆวงนี้จะอยู่ยงคงกระพันมาถึงปัจจุบัน ขณะที่วงเพื่อนๆล้มหายตายจาก ยุบวง รียูเนียนกันใหม่ก็มากมาย แต่ความจริงก็คือ Duran Duran ไม่เคยไปไหน เราอยากจะเรียกว่าอัลบั้มนี้คือการกลับมาของพวกเขาก็ไม่ค่อยจะเต็มปากนัก หรือจะเรียกว่าพวกเขาย้อนกลับไปในยุค 80’s ก็ไม่เชิง จะให้ถูกต้องที่สุดก็คือพวกเขาดึงอารมณ์และสไตล์ในแบบ 80’s ของพวกเขาเองกลับมาสู่ผลงานปัจจุบัน ผสมผสานกับสุ้มเสียงร่วมสมัยอีกพองาม ทำให้ All You Need Is Now เป็นอัลบั้มที่สร้างความสุขให้แฟนๆ Duran ที่สุดในรอบหลายปี

Mark Ronson โปรดิวเซอร์มือทองผู้มีชื่อเสียงจากการทำงานกับ Amy Winehouse, Lily Allen และ Adele รับหน้าที่โปรดิวซ์อัลบั้มนี้เต็มตัว เขาฟุ้งไว้ก่อนหน้านี้ว่า All You Need Is Now คืองานในจินตนาการที่เป็นอัลบั้มต่อจาก Rio ที่ไม่เคยมีจริง ในชีวิตจริงอัลบั้มของ Duran ที่ออกต่อจาก Rio คือ Seven and the Ragged Tiger ที่หนุ่มๆทั้งห้า(ในยุคนั้น) พยายามฉีกแนวออกจากดนตรีนิวโรแมนติกส์ไปในทางฟังกี้-ดิสโก้โดยมี Nile Rodgers จาก Chic มาช่วยโปรดิวซ์ และเมื่อฟัง 9 เพลงจาก All You Need Is Now ฉบับ iTunes นี้แล้วก็ต้องยอมรับว่าคำคุยล่วงหน้าของ Ronson นั้นไม่เกินเลย คิดเล่นๆว่าถ้าอัลบั้มนี้ออกต่อจาก Rio จริงๆ อาจจะล้มเหลวก็ได้ ในฐานะที่มันเดินอยู่กับที่ซ้ำรอยเดิม แต่เมื่อมาฟังมันในต้นปี 2011 ยี่สิบเก้าปีหลังจาก Rio มันกลับเป็นงานที่ฟังดูเข้ากับยุคสมัยได้ไม่เลว เมื่อรวมกับแผนการตลาดอันแยบยลด้วยการปล่อยซิงเกิ้ล และตามด้วยเวอร์ชั่น digital download ใน iTunes 9 เพลง และทิ้งให้แฟนๆคอยเล่นอีก 2 เดือน ก่อนจะปล่อยซีดี deluxe edition ที่มี 12 เพลงตามมาอีก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากว่านี่จะเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของหนุ่มๆวัย 50 something ทั้งสี่คนนี้

ดูเหมือนพวกเขาจะพยายามลืมๆแนวทางที่ทำไว้ในอัลบั้มก่อนกับ Timbaland ใน Red Carpet Massacre (2007) ที่แม้จะเป็นงานที่ได้มาตรฐาน แต่มันขาดความเป็น Duran ไปโดยสิ้นเชิง ใน All You Need Is Now พวกเขาจับมือกับ Mark Ronson ขับสปอร์ตย้อนเวลากลับสู่ทศวรรษที่ 80 โดยไม่มีการลังเลหรือละอายใจใดๆทั้งสิ้น ตัว Ronson เองในช่วงนี้ก็ดูจะกำลังอินกับดนตรียุคนี้อยู่แล้วจากงานเดี่ยวของเขาใน Record Collection (ที่ไซมอนกับนิคก็ไปช่วยด้วย) นี่จึงเป็นดรีมทีมแห่งการย้อนสู่ยุคสีลูกกวาดอย่างแท้จริง ซิงเกิ้ลแรก All You Need Is Now อาจจะไม่มีอะไรโดนใจนัก นอกจากบีทหนักๆในแบบ Wild Boys แต่เหมือนจะเป็นการประกาศการดำรงอยู่ด้วยตัวของตัวเองไม่แคร์อะไรของพวกเขามากกว่า จากนั้นพวกเขาก็เริ่มเดินทางสู่ความสนุกสนานและแดนซ์ฟลอร์ตั้งแต่ Blame The Machines, Being Followed พักเล็กน้อยด้วยบัลลาดสไตล์ Save A Prayer ใน Leave A Light On ที่แม้จะไม่คลาสสิกเท่า แต่ก็ไพเราะไม่เบา เสียงร้องของไซมอนอยู่ในฟอร์มที่สดมากๆในวัยนี้ Safe (In The Heat Of The Moment) ได้ Ana Matronic จาก Scissor Sisters มาร่วมให้เสียง ฟังกี้ป๊อบสุดสะเด่าเพลงนี้ได้รับการคาดหมายว่าน่าจะเปิดกันกระหึ่ม Gay Club ได้ไม่ยาก! อัดกันต่อเนื่องไปเลยด้วย Girl Panic!หลานสาวของ Girls On Film ที่ทำออกมาเอาใจ old school Duranians กันโดยเฉพาะ เด็กๆยุคนี้อาจจะแซวว่าสงสัยจะดิ้นกันน้ำหมากกระจายก็ งานนี้ แต่ด้วยความมันส์ขนาดนั้นก็คงหยุดๆยายๆป้าๆกันยากล่ะครับ The Man Who Stole A Leopard เพลงช้าโชว์ดนตรีลึกล้ำยาว 6 นาทีได้ Kelis มาให้เสียง เบรคอารมณ์ได้อย่างน่าสนใจก่อนจะขย่มฟลอร์ครั้งสุดท้ายในซินธ์ป๊อบเร้าใจแบบใน Rio แท้ๆอีกเพลง Runway Runaway และเพื่อให้เหมือนกับ Rio part II เต็มที่ พวกเขาจึงจบด้วยเพลงช้าที่ค่อยๆสร้างอารมณ์ทีละนิดๆ-- Before The Rain เหมือนที่ Rio จบด้วย The Chauffeur

บรรยายกันมาขนาดนี้ก็คงไม่ต้องสรุปว่านี่คืองานสำหรับคนชอบ Duran และดนตรีนิวโรแมนติกส์ในแบบเดิมๆ เด็กๆที่อยากสัมผัสความยิ่งใหญ่ของดนตรีแนวนี้แต่ไม่อยากย้อนกลับไปฟังของเก่าแก่ก็น่าจะเริ่มที่นี่ได้ รวมทั้งแฟนที่ตามงานของ Mark Ronson มาตลอดก็ไม่น่าจะผิดหวัง น่าสนใจอย่างยิ่งว่าอีก 3 เพลงที่จะออกมาเพิ่มเติมในเดือนก.พ.จะมีสุ้มเสียงอย่างไร

Tracklist:

1. "All You Need Is Now" – 4:46

2. "Blame the Machines" – 4:06

3. "Being Followed" – 3:47

4. "Leave a Light On" – 4:36

5. "Safe (In the Heat of the Moment)" (featuring Ana Matronic) – 3:59

6. "Girl Panic!" – 4:31

7. "The Man Who Stole a Leopard" (featuring Kelis) – 6:13

8. "Runway Runaway" – 3:04

9. "Before the Rain" – 4:12

Warpaint: The Fool














Warpaint-The Fool (2010) ****



Producer: Tom Biller

Genre: Psychedelic Rock, Dream Pop, Indie Rock

Released: October 2010

สาวๆท่าทางธรรมดาๆสี่คนจากแอลเอ กับผลงานอัลบั้มแรกอย่างเป็นทางการของพวกเธอ หลังจากเคยมี EP ออกมา 1 แผ่นเมื่อปี 2009 ผมไม่เคยฟัง EP แผ่นนั้นมาก่อน แต่ชื่อเสียงของ Warpaint ก็เป็นที่โจษจันว่าเป็นความหวังใหม่ของวงการดนตรีในปี 2010 กระนั้นผมก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ยินเสียงอะไรแบบนี้จากพวกเธอ นี่ไม่ใช่อัลบั้มร็อคฟังสนุกๆของผู้หญิงที่มารวมวงกันและเล่นดนตรีพอใช้ได้อย่างที่ผมคาดเอาไว้ แต่ The Fool เป็นงานที่มืดหม่น ซับซ้อน มันคือการผจญภัยไปในสรรพเสียงที่นำทางโดยไกด์เสียงหวานแต่แทบไม่เคยยิ้มแย้ม Warpaint ได้สร้าง sound ของตัวเองขึ้นมาในแบบที่ยากจะเจาะจงไปว่าพวกเธอเล่นดนตรีแนวไหน และเหนืออื่นใด ฝีมือของพวกเธอเหนือชั้นไม่ด้อยไปกว่าความคิดสร้างสรรค์ นี่คืออัลบั้มแห่งการแจมยาวเหยียดจากผู้หญิงสี่คนที่ประดุจมีการเชื่อมต่อทางจิตวิญญาณถึงกันและกัน งานชั้นเลิศอย่างนี้คือเหตุผลสำคัญที่คนรักดนตรีไม่อาจหยุดเสพงานใหม่ๆจากศิลปินหน้าใหม่ได้

Warpaint ปัจจุบันมีสมาชิกคือ Emily Kokal (ร้อง,กีต้าร์) Jenny Lee Lindberg (เบส,ร้อง) Therasa Wayman (ร้อง,กีต้าร์,กลอง,คีย์บอร์ด) และ Stella Mozgawa (กลอง,คีย์บอร์ด,ร้อง,กีต้าร์) พวกเธอตั้งวงกันมาตั้งแต่ 6 ปีก่อนในปี 2004 และมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกก่อนหน้านี้สามคน พวกเธอเริ่มต้นด้วยการตระเวณแสดงกันในแอลเออยู่สามปี มีสาวกติดตามอยู่พอสมควร และเริ่มเขียนเพลงกันเองอย่างเช่น เพลง ‘Stars’, ‘Elephants’ และ ‘Beetles’ เพลงเหล่านี้ต่อมาพวกเธอก็ได้นำมาบันทึกเสียงใน EP ชุดแรก ‘Exquisite Corpse’ ที่บันทึกเสียงกันตอนปลายปี 2007 โปรดิวซ์โดย Jack Bercovici และได้อดีตมือกีต้าร์คนดังของ Red Hot Chili Peppers –John Frusciate มามิกซ์เสียงและทำมาสเตอร์ให้ พวกเธอออก EP นี้กันแบบไม่มีสังกัด แต่ต่อมา Manimal Vinyl ก็ซื้องานนี้ไปออกในปี 2009 และได้รับเสียงวิจารณ์ออกไปในแง่บวก โลกได้เริ่มรู้จักสุ้มเสียงของ Warpaint ไซคีดีลิคหลงยุคที่ขับร้องโดยนักร้องสาวสามคนที่ล่องลอยหลอนฟุ้งบนเมโลดี้ที่ดิบแต่งดงามนั้น หลังจากได้มือกลองคนใหม่ Stella Mozgawa ในปี 2009 พวกเธอได้เซ็นสัญญากับ Rough Trade การเข้ามาของ Stella เป็นการเติมเต็มซาวนด์ของ Warpaint ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะได้ฟังพวกเธอ cover เพลง Ashes To Ashes ของ David Bowie ไว้ได้อย่างน่าฟังในอัลบั้ม tribute ให้ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้

9 เพลงใน The Fool ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่เต็มไปด้วยความยาว 5-6 นาทีที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการทำเพลงป๊อบไม่ว่าจะยุคไหนๆ แทบทุกแทร็คมีทางเดินคดเคี้ยวและยืดยาว มันเป็นประสบการณ์การฟังเพลงที่ตื่นหูตื่นใจหลังจากที่แทบจะไม่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นในวงการดนตรีมาแสนนาน เพลงเดินเรื่องด้วยเสียงเบสอันลึกล้ำและน่าฉงนงงงวยในทิศทางของ Jenny Lee Lindberg และเสียงกลองอันเหนือชั้นเกินสตรีทั่วไปของ Stella เพื่อนำทางให้ชั้นต่างๆของสรรพเสียงที่วางกันมาอย่างพิลึกพิลั่น

Set Your Arms Down เพลงเปิดอัลบั้มจับผู้ฟังทุกท่านลงนั่งนิ่งอย่างไร้ทางต่อสู้ด้วยจังหวะที่อืดแน่นนิ่งเหมือนภาพ super slow-motion เสริมให้เสียงร้องนางพรายของพวกเธอหลอกหลอนหนักข้อขึ้น อารมณ์เพลงถูกสร้างก่อสูงจนท้ายเพลงที่ราวกับแต่ละนางต่างโซโล่ไปคนละทางด้วยอารณ์กระเจิดกระเจิงหายไปในความมืด แค่เพลงนี้เพลงเดียวก็มั่นใจได้แล้วว่านี่ไม่ใช่งานธรรมดาเสียแล้ว Warpaint เพลงที่สองที่ชื่อเหมือนวงยังต่อกันด้วยอารมณ์หลอกหลอนในชั้นเชิงที่กระชับขึ้นกว่าเดิมด้วยจังหวะที่รุกเร้าเขย่าประสาท คุณอาจจะนึกถึง influence ของพวกเธอได้มากมายจาก Joy Division, The Cure, Echo and the Bunnymen, Bjork และโดยเฉพาะเสียงร้องของ Cat Power แต่ Warpaint ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าพวกเธอลอกแนวทางของใครมาตรงๆแต่อย่างไร Undertow เร็กเก้เบสไลน์และทำนองแสนเซ็กซี่ของเสียงร้องแบบเกิร์ลกรุ๊ปยุคใหม่ทำให้เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่เข้าถึงง่ายที่สุดเพลงหนึ่งของอัลบั้ม นอกเหนือจาก Baby ที่ตัดเครื่องดนตรีอื่นๆออกเหลือแต่เสียงร้องอันเปล่าเปลือยและอคูสติกกีต้าร์จนแทบไม่เหลือความหลอนเหมือนแทร็คอื่น เพราะขาดใจ!

คงไม่จำเป็นต้องบรรยายเพลงอื่นๆในอัลบั้มที่ถ้าจะต้องพูดถึงคงต้องเล่ากันตั้งแต่ต้นยันจบเพลง เพราะแต่ละเพลงเต็มไปด้วยการผจญภัยไปทั่วหัวระแหง นี่เป็นอัลบั้มที่ต้องใช้เวลาในการย่อยและดูดซึมพอสมควรด้วยรายละเอียดมากมายในนั้น คุณจะชอบ The Fool ถ้าชอบร็อคในแนวไซคีดีลิค,อารมณ์หม่นหมองและหลอนหลอกแบบ Gothic แต่ขับร้องด้วยเสียงร้องหวานๆล่องลอยของสุภาพสตรีที่ออกจะน่ากลัวนิดๆครับ!

Tracklist

1. "Set Your Arms Down"

2. "Warpaint"

3. "Undertow"

4. "Bees"

5. "Shadows"

6. "Composure"

7. "Baby"

8. "Majesty"

9. "Lissie's Heart Murmur"

Elvis' Dance


















“บางคนอาจจะเต้นแท็ปด้วยเท้าของเขา, บางคนอาจจะดีดนิ้วไปตามจังหวะ และบางคนอาจจะเต้นโยกหน้าเด้งหลัง ผมก็แค่ทำมันทุกอย่างพร้อมๆกัน, ผมเดาว่าอย่างนั้นนะ”-เอลวิส เพรสลีย์

เมื่อเราคิดถึงเอลวิส เพรสลีย์ ราชาร็อคแอนด์โรล นอกจากการสไตล์การร้องเพลงและรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของเขาแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขานคือลีลาการโยกย้ายร่างกายของเขา สะโพกที่สั่นไหวอย่างไร้รูปแบบของเอลวิสเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งอันตรายต่อสังคมมาแล้ว

เขาไปเอาลีลาการเต้นแบบนี้มาจากไหน? อันนี้มีหลายทฤษฎีด้วยกันนะครับ ในการสัมภาษณ์หลายๆครั้งเอลวิสเล่าว่าการเต้นกระเส่าสั่นของเขานั้นเป็นผลโดยตรงมาจากความตื่นเต้นของเขาก่อนการแสดงครั้งสำคัญที่ Overton Park Shell หลังจากเขาบันทึกเสียงที่ Sun Studio ได้ไม่นาน วันนั้นเอลวิสตื่นเวทีขนาดหนัก และขาของเขาก็เริ่มสั่นผับๆ แต่มันกลับทำให้คนดูบ้าคลั่งไปเลย ตอนเขาออกไปอีกทีตอน encore เอลวิสก็สั่นอีกครั้ง “ยิ่งผมสั่นแค่ไหน ดูเหมือนพวกเขาจะยิ่งบ้าหนักเข้าไปอีก” เอลวิสเคยอธิบายเอาไว้ และนั่นคือกำเนิดของการเขย่าขาบรรลือโลกของราชาร็อคแอนด์โรล

แต่ในการให้สัมภาษณ์อีกครั้งเขากลับบอกว่าการเต้นสะโพกสะท้านทรวงของเขานั้นเริ่มมาจากตอนที่เขาซ้อมดนตรีกับ Scotty Moore และ Bill Black ที่ Sun Studio แต่ก็คล้ายกันตรงที่มันเกิดจากความตื่นเต้นและทำให้เขาสั่นระรัวขึ้นมาสดๆในห้องอัดนั้น เขาเล่าไว้ว่า “นาทีที่ดนตรีเริ่มขึ้น ผมก็ไม่ได้เป็นตัวผมเองต่อไป แม้ว่าผมจะอยากหยุดการพล่านไปทั่วนั้นผมก็ทำไม่ได้ เพราะว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีมากพอๆกับถ้อยคำที่ผมกำลังร้องอยู่” และก็มีบางครั้งเอลวิสก็ไม่ปิดบังว่าส่วนหนึ่งของการเต้นแบบนี้เอามาจากการเต้นพร้อมๆกันของวงกอสเพลสี่คนที่เขาชื่นชอบ ในช่วงที่เขาเหล่านั้นเต้นแบบ ‘rocking spirituals’

เพื่อนสมัยเรียนบางคนอ้างว่า เขาเคยเห็นเอลวิสสั่นสะท้านแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ขณะเล่นกีต้าร์คนเดียว ซึ่งเขาก็อดหัวเราะกับภาพที่เห็นไม่ได้ (ถ้าเขาได้ถ่ายคลิปไว้ก็ดีสินะ :P)

ปฏิกิริยาอันบ้าคลั่งที่แฟนๆมีต่อเขาและวงในการแสดงครั้งแรกๆสร้างความงงงวยให้เอลวิสและทีมงานอยู่พักนึง จนในที่สุดพวกเขาก็พบว่ามันมาจากขาสั่นๆของเขานั่นเอง Scotty Moore มือกีต้าร์คู่บารมีเอลวิสเล่าว่า “สาวๆบ้ากันไปเลย! มันเหมือนกับเอลวิสยืนอยู่บนลูกบอลกลิ้งไปกลิ้งมา ในแบบเกร็งตัว มือไม้สั่นไหวเล่นไปกับจังหวะและทุกสิ่งทุกอย่าง...” มันเหมือนกับว่าเขาจะทรงตัวไม่ได้บนลูกบอลนั้น ทำให้เอลวิสไม่มีทางอื่นนอกจากต้องสั่นไปทั้งร่างเหมือนกับใบไม้ต้องลม Bob Neal ผู้เป็นผู้จัดการของเอลวิสในยุคแรกแนะนำให้เอลวิสทำแบบนั้นต่อไปไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม เพราะแฟนๆชอบ!

ยังไม่หมดแค่นั้น ในหลายปีต่อมาก็มีทฤษฎีอื่นๆผุดขึ้นมาอีก อาทิ เขาหัดเต้นแบบระยางค์หลวมนี้ในการเต้นที่ Catholic Youth Organization, เขาเต้นกับสาวๆกลุ่มใหญ่ใน High School, เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเต้นของ Charlie Burse นักร้องเพลงบลูส์แห่ง Beale Street, เขาได้การเคลื่อนร่างแบบนี้มาจากการศึกษาท่าทางของดาราหนัง Gilda Gray ‘shimmy queen”, หรือว่าเขาก๊อปปี้สไตล์การเต้นมาจาก Wynonie Harris, Bo Diddley, Little Richard, Johnny Ray หรือ Jim ‘Big Chief’ Wetherington ความจริงแท้เกี่ยวกับที่มาของการเต้นของเอลวิสก็คงจะคล้ายๆกับที่มาของการร้องเพลงในแบบของเขา เอลวิสนำสิ่งที่เขารู้มาผสมผสานคลุกเคล้ากันเพื่อสร้างสิ่งใหม่

หรืออาจจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า เขาเต้นไม่เหมือนใครเลย

ในยุคแรกๆของการแสดงของเขา มีมุกหนึ่งที่เขาชอบเล่นกันบนเวที เอลวิสจะออกมายืนนิ่งไม่ไหวติง และ Scotty ก็จะเดินมาทำท่า “ไขลาน” เขาด้านหลัง ราวกับว่าเอลวิสเป็นของเล่นชิ้นหนึ่ง และเอลวิสก็จะหยิบกีต้าร์ขึ้นมา เริ่มดีด และคนดูก็บ้าไปตามระเบียบ เสียงคนดูกึกก้องจนนักดนตรีฟังไม่ออกว่าเอลวิสร้องถึงไหนแล้ว พวกเขาได้แต่เล่นไปตามการเคลื่อนไหวของเอลวิสเท่านั้น

แน่นอนว่าในหลายๆมุมมอง คิดว่าการเต้นของเอลวิสนั้นขัดต่อศีลธรรม แม้ว่าเขาจะยืนยันว่า มันเป็นเพราะเขา “อิน” ไปกับดนตรีมากกว่าสิ่งอื่นใด “ผมไม่ได้พยายามจะขายเซ็กซ์อะไรเลย” เอลวิสยืนกราน แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงของเขาอันโด่งดังในรายการ Ed Sullivan Show ในปี 1956 ก็มีการสั่งห้ามกล้องไม่ให้ถ่ายต่ำกว่าเอว ของเอลวิสลงมา

ในยุค 60’s เอลวิสไม่ได้แสดงบนเวที แต่ทุ่มเวลาแทบจะทั้งทศวรรษไปกับการแสดงภาพยนตร์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่ขายเพลงไปด้วย เขามีส่วนร่วมในการออกแบบท่าเต้นในหนังหลายๆเรื่อง ตั้งแต่ Jailhouse Rock ร่วมกับ Alex Romero และอีกหลายๆเรื่องกับ Lance LeGualt

ท่านจะได้เห็นเอลวิสเต้น twist ในหนัง Girls! Girls! Girls! และ It Happened at the World’s Fair เรื่องหลังนี้เขาเต้น waltz ด้วย และการเต้นแบบ choreography dancing ใน Viva Las Vegas (เพลง C’mon Everybody)

ยุค 70’s เอลวิสคืนเวทีอีกครั้ง เขาไม่ได้เต้นสั่นขามากมายเหมือนเดิมแล้ว แต่มีบางอย่างที่เพิ่มเข้ามาแทนในแบบที่ไม่มีใครจะคาดฝันได้ มันคือการโชว์คาราเต้ระหว่างการแสดง แต่แม้ว่าเขาจะไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรมากนักในยุคท้ายๆ แฟนๆก็ยังคงรักเอลวิสไม่ได้น้อยลงเลยสักนิด