Saturday, 11 October 2008

มหาบุรุษแห่งบลูส์




B.B. King One Kind Favor (2008) ****










ทำไมงานรีวิวของผมถึงมีแต่สี่ดาวห้าดาว?


ผมพยายามจะหางานป๊อบ-ร็อคที่น่าสนใจในแต่ละเดือนมาเขียนถึงโดยจะเน้นงานที่ออกใหม่เป็นหลัก แต่ด้วยโควต้าที่จำกัดแค่ฉบับละ2อัลบั้ม มันจึงเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติไปโดยปริยาย งานที่ไม่ได้มาตรฐานหรือน่าผิดหวังแม้บางทีอาจจะมีแง่มุมน่าสนใจ แต่ผมก็เลือกที่จะนำงานที่เปี่ยมคุณภาพมานำเสนอเพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากกว่า


เป็นไงครับ ลีลาพอจะมีแววเป็นนักการเมืองได้หรือยัง?


เดือนนี้นอกจาก Harps And Angels ของ Randy Newman ที่โดดเด่นขึ้นมา ก็มีอีกหลายงานที่อยากเขียนถึง Perfect Symmetry ของ Keane, Death Magnetic ของ Metallica งาน debut ของ Glasvegas หรือป๊อบน่ารักๆจาก Emiliana Torriniแต่ผมเลือกเขียนถึงงานของชายชราที่ชื่อ B.B. King มันเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่อยากจะเขียนถึงปูชณียบุคคลแห่ง electric blues นี้สักครั้งขณะที่แกยังมีชีวิตอยู่ (แม้ว่าแกจะไม่ได้รับรู้ก็ตามที) ด้วยอายุที่ปาเข้าไปถึง 83 ขวบ และสุขภาพที่ถดถอยลงเรื่อยๆ ผมล่ะหวาดเสียวทุกครั้งที่เปิดอินเตอร์เน็ต กลัวว่าจะเจอประโยคทำนอง R.I.P. King Of The Blues...


แต่ผมไม่ควรจะเป็นกังวลเลย เพราะปู่บีบีคิงเองก็ตระหนักเรื่องนี้ อาจจะดีกว่าใครๆ ผมเชื่อว่าแกรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างสบายๆด้วยหัวใจที่กว้างขวางราวลุ่มน้ำมิสซิปซิปปี้และทัศนคติในการมองชีวิตในแง่รื่นรมย์มาตลอด แม้ดนตรีที่แกเล่นจะมีชื่อว่า Blues แต่บลูส์จากเสียงร้องและปลายนิ้วของคิง กลับเป็นเหมือนการรำพันกลั่นความรู้สึกจากส่วนลึก ราวกับเป็นการเยียวยารักษาความปวดร้าวมากกว่าจะเป็นการคร่ำครวญไร้สติ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ยกระดับของคิงให้อยู่ต่างจากศิลปินบลูส์รุ่นเดียวกัน และคงไม่เป็นการเกินเลยไปถ้าจะบอกว่าเขาคือราชันย์แห่งดนตรีบลูส์ที่ไม่มีใครอาจเอื้อมเลื่อยขาเก้าอี้มาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา


แต่ผมไม่ได้เขียนถึง One Kind Favor เพราะสักแต่ว่ามันเป็นงานของ B.B. King แต่มันเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาในรอบหลายปี พูดตรงๆว่าถ้านี่เป็นอัลบั้มสุดท้ายของเขา มันก็สุดจะสมเกียรติ ดนตรีบลูส์นั้นจะว่าไปก็ไม่ใช่ดนตรีที่ซับซ้อนหรือมีทางให้โลดแล่นไปมากนัก ตรงกันข้ามมันออกจะเป็นดนตรีที่ซ้ำซากวนไปวนมาด้วยซ้ำทั้งทางด้านเนื้อหาและท่วงทำนอง แต่บลูส์นั้นวัดกันที่ feel ครับ และ One Kind Favor ก็เป็นงานที่โชว์ feel กันล้วนๆ


เหตุผลสามประการที่ทำให้ One Kind Favor กลายเป็นงานบลูส์ที่แทบจะขึ้นหิ้งไปในทันทีนั้นคือ 1.โปรดิวเซอร์ที่ชื่อ T-Bone Burnett ที่เพิ่งสร้างชื่อมากๆจากการทำงานให้ Robert Plant & Alison Krauss, 2.ทีมนักดนตรีระดับพระกาฬที่ประกอบด้วย Dr. John (Piano), Nathan East (Bass) และ Jim Keltner (Drums) และ3.ตัวบทเพลงที่เป็นเพลงบลูส์เก่าแก่ที่ตัวแกเองโปรดปรานตั้งแต่สมัย 1930-1940's แต่ปู่บีบีไม่เคยนำมาบันทึกเสียงมาก่อน (น่าประหลาดยิ่งนัก) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตัวบีบีเองปล่อยพลังในวัยชราของเขาออกมาได้อย่างน่าขนลุก เสียงร้องของเขาอาจจะอ่อนล้าไปตามวัย แต่มันยังหนักแน่นและดึงทุกอณูอารมณ์ออกมาจากทุกถ้อยวลีอันปวดร้าวที่ถูกขีดเขียนไว้เมื่อนานแสนนานแล้วออกมาได้ เขาอาจจะไม่เล่นกีต้าร์แคล่วคล่องลื่นไหลเหมือนเมื่อสิบปีก่อนในอัลบั้ม Blues On The Bayou (ที่ว่ากันว่าเป็น masterpiece สุดท้ายของแก) แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องซัดกันด้วยอารมณ์เนื้อๆอย่างใน Waiting For Your Call ก็ไม่มีใครในโลกกินแกได้ สำเนียงกีต้าร์แกทั้งหวานและเต็มไปด้วยเมโลดี้ ขณะเดียวกันมันก็เศร้าสุดหัวใจ


เพลงเปิดอัลบั้ม See That My Grave Is Kept Clean ผลงานของ Blind Lemon Jefferson ท่วงทำนองชัฟเฟิลคึกคัก ใครที่ไม่คุ้นเคยกับซาวนด์ของ T-Bone Burnett อาจจะรู้สึกว่ามันหนืดๆและแห้งแล้ง แต่เมื่อคุ้นเคยกับมันแล้วจะพบว่าซาวนด์อย่างนี้มันเหมาะสำหรับ root music อย่าง blues และ country มากกว่าการโปรดิวซ์แบบเนียนเนี้ยบอย่างอัลบั้มหลังๆของคิง เนื้อหาของเพลงและอารมณ์ที่บีบีถ่ายทอดแสดงชัดถึงมนุษย์ผู้ซึ่งบรรลุแล้วในชีวิตอันเปี่ยมคุณค่า เขาไม่แยแสอะไรนักกับวาระสุดท้าย ขอแค่ดูแลหลุมฝังศพให้สะอาดหน่อยก็พอใจแล้ว


ผมปล่อยให้บีบีและลูกวงพาอารมณ์กระเจิงไปกับประวัติศาสตร์แห่งบลูส์อย่างดื่มด่ำ จนถึงเพลงสุดท้าย Tomorrow Night (งานของ Lonnie Johnson) ที่ Elvis Presley เคยนำมาร้อง ประหลาดใจเล็กน้อยที่มีการโซโลแซ็กโซโฟน(เพราะมาก)มาก่อนกีต้าร์ แต่สุดท้ายก็เป็น 'Lucille' กีต้าร์คู่ใจของราชันย์ที่มาปิดสกอร์


สักวันหนึ่งเจ้าของ Lucille ก็คงต้องจากไป และผมไม่อยากให้ใครมาแตะต้องเธออีก และไม่คิดว่าเธอจะยอมส่งเสียงเหมือนเดิมด้วย

Wednesday, 8 October 2008

RANDY NEWMAN harps and angels

Randy Newman Harps And Angels ****

คนรุ่นใหม่อาจจะรู้จักหนุ่มใหญ่ใส่แว่นชาวอเมริกันคนนี้ในบทบาทของนักแต่งเพลงให้ภาพยนตร์ของ Disney/Pixar (Toy Story, Bug’s Life, Monster Inc.) แต่แรนดี้ นิวแมนเป็นอะไรมากกว่านั้นมาก่อนหน้านี้ เขาเป็น singer-songwriter คนสำคัญของอเมริกาในรอบสี่สิบปี ในแนวทางที่ต่างออกไปจากศิลปินอย่าง Bob Dylan เนื้อหาที่เขาเขียนจะเต็มไปด้วยการเสียดสีและอารมณ์ขัน ด้วยมุมมองผ่านตัวละครที่”เชื่อถือไม่ค่อยได้”ที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นส่วนมาก แต่บางอัลบั้มของเขาก็เป็นงานเขียนแบบอัตตชีวประวัติจากมุมมองของตัวเองโดยตรงอย่าง Land Of Dreams และ Harps And Angels ก็ดูจะเป็นในแนวทางนั้น

การที่นักฟังรุ่นใหม่จะไม่คิดว่าเขาเคยทำอะไรนอกเหนือจากเพลงประกอบหนังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าเปลกอะไร เพราะงานเพลงใหม่ก่อนหน้านี้ของเขาต้องย้อนกลับไปถึงแปดปีที่แล้วกับ Bad Love (1999) และก่อนนั้นคือ Land Of Dreams (1984) จนหลายคนคิดว่าแรนดี้คงไม่ทำงาน solo อีกแล้ว

การได้ฟัง Harps And Angels ในปีนี้จึงเหมือนได้รางวัลพิเศษจากแรนดี้ หลังจากเขาปล่อยซิงเกิ้ลออกมาเรียกน้ำย่อยเมื่อปีที่แล้ว A Few Words In Defense Of Our Country

Harps and Angels คือแรนดี้ นิวแมนในวัย 65 ปีที่ยังคงเฉียบคมกริบในการเขียนเนื้อหาที่ทั้งเจ็บแสบ ขำขัน และเมื่อถึงเวลาจะซาบซึ้งเขาก็ทำได้ถึงขั้วหัวใจ ท่วงทำนองและการเรียบเรียงยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีแบบ New Orleans และ Dixieland ที่เขาถนัด แต่ก็มีการหยอด topping รายทางด้วยสีสันทางดนตรีด้านอื่น ที่เหนือชั้นสมเป็น film composer มือเทพคือการเรียบเรียงออร์เคสตร้าที่จับอารมณ์เพลงได้ไม่มีพลาดและรุ่มรวยไปด้วยรสนิยม

ท่ามกลาง 10 เพลงป๊อบใน Harps and Angels ที่มีการเรียบเรียงดนตรีอย่างมีชั้นเชิงน่าสนใจ แต่สองแทร็คที่โดดเด่นขึ้นมากลับเป็นเพลงบัลลาดช้าหวานที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้น Losing You แรนดี้ใช้คำง่ายๆบรรยายเรื่องราวความรักที่แสนจะธรรมดาแต่ด้วยวิธีการร้องและเล่นเปียโนของเขาทำให้ทุกถ้อยคำมีความหมายอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะประโยคที่ว่า When you’re young and there’s time you forget the past/ You don’t think but you will but you do/ But I know that I don’t have time enough/ and I’ll never get over losing you ส่วน Feels Like Home เป็นเพลงที่แรนดี้แต่งไว้นานแล้วและก็มีศิลปินอื่นนำไปร้องกันหลายเจ้าแต่เขาไม่เคยบันทึกเสียงมาก่อน ถือเป็นงานระดับ masterpiece อีกชิ้นของแรนดี้ ผมคิดเอาเองว่าแรนดี้อาจจะจงใจเลือกสองเพลงนี้ไว้ในอัลบั้มเพื่อเป็นเหมือนการบันทึกความรู้สึกของชีวิตรักของเขา ด้านหนึ่งใน Losing You ที่เป็นการอาลัยรักเก่าของภรรยาคนแรก ส่วน Feels Like Home คือความสุขสงบในชีวิตรักทุกวันนี้ “I never thought I’d love anyone so much…” เป็นเพลง “ขอแต่งงาน” ที่ไม่เลวนะครับ

ท่านผู้อ่านอาจจะฟัง Harps And Angels อย่างเพลิดเพลินไปกับอรรถรสและลีลาทางดนตรีที่มีให้อย่างเหลือเฟือและการบันทึกเสียงที่ยอดเยี่ยม (นิตยสาร Stereophile เพิ่งยกให้เป็น album of the month) แต่ถ้าให้ความสำคัญกับเนื้อหาไปด้วยจะทำให้ฟังสนุกยิ่งขึ้นไทเทิลแทร็ค Harps And Angels เล่าถึงประสบการณ์เฉียดตายของผู้เล่าที่แรนดี้นำมาเล่าอย่างฮาแต่ขมวดปมได้อย่างน่าคิดว่าเขาคิดว่ามันมีชีวิตหลังความตายจริงๆและเมื่อยังมีโอกาสคุณก็ควรทำชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่งั้นเมื่อถึงวันนั้น คุณอาจจะไม่ได้ยินได้เห็น ‘Harps and angels’ มารับ แต่จะกลายเป็น trombones, kettle drums, pitchforks and tambourines แทน

A Few Words In Defense Of Our Country ในอัลบั้มนี้เป็นคนละเวอร์ชั่นกับ iTunes single ดนตรีเป็นคลาสสิคนิวแมนแท้ๆ เปียโนพริ้งพราย ทำนองไพเราะ และการร้องแบบกึ่งพูด คนไม่ชอบ George Bush ฟังแล้วรับรองต้องสะใจถึงขั้นก๊าก แรนดี้แกทำทีเหมือนจะเห็นใจบุชด้วยการบอกว่าถึงแม้ผู้นำเราจะแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน แต่ในโลกก็ยังเคยมีผู้นำที่เฮงซวยกว่านี้อีกเยอะ ก่อนแกจะร่ายยาวถึง ฮิตเลอร์ สตาลิน ซีซาร์..ฯลฯ Korean Parents ว่าถึงความห่วงไยที่มีต่อเด็กๆอเมริกันที่วันๆเอาแต่เล่นเกมและเรื่องไร้สาระ ดนตรีตะวันออกที่สอดแทรกเข้ามาทำได้เก๋ไก๋ทีเดียว A Piece Of The Pie ดนตรีซับซ้อนเอะอะราวกับเป็นภาพยนตร์ในตัว เพลงนี้ก็แดกดันสังคมอเมริกันอีกล่ะ แต่มาจี้เส้นเอาตรงมาใช้พี่ Jackson Browne ของผมมาเป็น punch line เสียนี่! Easy Street สลับอารมณ์ด้วยดนตรีที่เรียบง่ายฟังสบาย แต่เนื้อหาก็ยังแฝงนัยให้ขบอยู่ไม่วาย

ไม่ว่าท่านจะรู้จักแรนดี้ นิวแมนจากงานคลาสสิคในยุค70’s อย่าง 12 Songs และ Good Old Boys หรือจากงานซาวน์แทร็คหนังแอนิเมชั่น นี่เป็นอัลบั้มที่คุณจะไม่น่าจะผิดหวัง 10 แทร็คอาจจะน้อยไปนิดเมื่อดูจากตัวเลข แต่น้ำหนักชั่งเมื่อเช้าตาชั่งคุณภาพดนตรีชี้ไปที่ขวาสุดครับ