Friday, 5 November 2010

John Lennon & Yoko Ono- Double Fantasy Stripped Down (2010) ***





Producer-Jack Douglas & Yoko Ono, (Stripped Down), John Lennon, Yoko Ono and Jack Douglas (Original 1980 mix)

Genre-Pop Rock

Released-October 2010

นักข่าวถามโยโกะ โอโนะเมื่อเร็วๆนี้ว่าเธอคิดว่าถ้าจอห์นทราบเขาจะคิดยังไงกับสถานะความเป็นไอคอนขั้นเทพของเขาในทุกวันนี้ เธอตอบว่าจอห์นนั้นเป็นไอคอนมาตั้งแต่สมัยบีทเทิลส์แล้ว เขาคงไม่ตื่นเต้นอะไรหรอก

แต่สิ่งที่จอห์นอาจจะตื่นเต้นในวันเกิด 70 ขวบนี้อาจจะเป็นโครงการฉลองที่ภรรยาของเขาจัดให้ที่มีการรีอิชชูงานทั้งหมดของเขาสารพัดรูปแบบ ทั้งรวมฮิตแผ่นเดียว บ๊อกซ์ 4 แผ่น บอกซ์ครบชุดทุกแผ่น (ในแบบ original mix) แต่เกือบทั้งหมดเป็นงานที่เคยออกมาก่อนแล้ว เว้นแต่แผ่น Home Tapes ใน Signature Box ซึ่งรวม demo versions ที่น่าสนใจไว้หลายเพลง และก็แผ่นที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ Double Fantasy Stripped Down ที่ขายแยกออกมาไม่อยู่ในกล่องใดๆ

Double Fantasy Stripped Down หน้าปกเป็นภาพวาดลายเส้นฝีมือของ Sean Lennon บรรจุซีดีสองแผ่น แผ่นแรกเป็น Stripped Down Mix แผ่นที่สองเป็น Original 1980 mix, remastered เมืองนอกขายราคาแผ่นเดียว แต่บ้านเราไม่ใช่นะ

ไอเดียของ Stripped Down คือ เวอร์ชั่นดั้งเดิมในปี 1980 นั้นเต็มไปด้วยเสียงแต่งแต้มที่มากเกินไป ทั้งเสียงร้องประสานและเครื่องดนตรีที่มากชิ้น รวมทั้งการใช้เอ็คโค่กับเสียงร้องของจอห์น สิ่งที่โยโกะและแจ็คทำใน Stripped Down นี้ก็คือการมิกซ์ทุกแทร็คใหม่ ตัดเสียงที่คิดว่ามันเป็นส่วนเกินออก เร่งเสียงจอห์นให้ดังขึ้น เธอไม่เห็นด้วยกับจอห์นที่ไม่มั่นใจในเสียงร้องของตัวเองและมักจะพยายามหมกเสียงตัวเขาด้วยวิธีการต่างๆนาๆ และโยโกะก็ยังคิดว่าโปรดักชั่นในยุค 80 มันล้าสมัยไปเสียแล้ว การ Stripped Down จะทำให้ได้ซาวนด์ที่ทันสมัยและร่วมสมัยมากกว่า

แน่ล่ะ แนวคิดอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดการถกเถียงตามมามากมายถึงความเหมาะสม แต่โยโกะก็ตัดปัญหาด้วยการใส่ original album มาด้วย ทำนองว่าอย่างไรเสียฉันก็ยังไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับของเดิมนะ ถ้าเธออยากฟังแบบเดิมๆก็ยังมีขายมีให้ฟังกันอยู่ แผ่น Stripped Down จึงเหมือนแถมมาให้ฟังกันเล่นๆ

Double Fantasy เป็นงาน ‘come back’ ของจอห์นหลังจากห่างหายจากวงการไปเลี้ยงลูกและทำหน้าที่ ‘househusband’ เสีย 5 ปี เขาแต่งเพลงใหม่อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน มันเป็นอัลบั้มที่เป็นเฟสใหม่ของชีวิต ที่เขาสื่อสารกับคนยุค 60’sที่กำลังก้าวข้ามสู่ 80’s มาด้วยกันกับเขา เพลงทุกเพลงในอัลบั้มเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาและครอบครัว เขาตั้งใจจะให้มันเป็นกึ่งๆบทสนทนาระหว่างเขากับโยโกะ มีเรื่องเล่าว่าหลังจากบันทึกเสียงเสร็จ จอห์นกับแจ็ค ดักลาสโปรดิวเซอร์ก็ช่วยกันเรียงเพลงเสร็จเรียบร้อย โดยมีเพลงของจอห์นทั้งหมดอยู่หน้าเอ และที่เหลือหน้าบีเป็นเพลงของโยโกะ แต่เมื่อภรรยาคนเก่งของจอห์นทราบเรื่องเธอถึงกับเม้งแตกเหวี่ยงกระจายสั่งให้เรียงเพลงใหม่เป็นสลับกันเพลงต่อเพลงทันที ใครๆก็รู้แม้แต่เธอเองว่าถ้าวางคนละหน้าอย่างนั้น ไวนีลด้านบีของ Double Fantasy คงแทบไม่ได้สัมผัสเข็ม

เรียนตรงๆว่ามันก็เลยเป็นอัลบั้มที่ฟังกันด้วยความกระอักกระอ่วน เพราะเพลงของจอห์นในชุดนี้ไพเราะน่าฟังแทบทุกแทร็ค แต่คุณต้องผ่านด่านเพลงคั่นของโยโกะไปก่อนทุกเพลงเหมือนกัน มหกรรมการยกเข็มและกรอเทปตลอดจนการอัดเทปใหม่ไปเลยจึงเริ่มต้นขึ้น แซวกันอีกว่ายุคซีดีมาถึงทำให้การฟัง Double Fantasy ง่ายขึ้นเยอะ

เมื่อทราบว่าการ ‘stripped down’ นี้จะมีการยกระดับเสียงร้องให้ฟังชัดเจนยิ่งขึ้นในแบบราวกับร้องให้ฟังสดๆต่อหน้า หลายคนเริ่มผวา ว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเพลงอย่าง Kiss Kiss Kiss หรือ Give Me Something ของโยโกะ เพราะเวอร์ชั่นดั้งเดิมก็หลบกระสุนเสียงร้องเธอกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าจะมีการยกให้เด่นดังกว่าเดิมอีกจะเป็นอย่างไรนั่น

แต่โชคดีที่โยโกะมีคุณธรรมเพียงพอที่จะไม่ทำร้ายจิตใจคนฟังอย่างนั้น เธอไม่ได้เน้นเสียงร้องของเธอเหมือนกับที่ทำกับจอห์น และเสียงที่ทำร้ายจิตใจมากๆในหลายๆเพลงเหมือนเธอจะตั้งใจมิกซ์ให้เบาลงและรีบๆเฟดหายไป ทั้งหมดทำให้การฟังเพลงของโยโกะใน Double Fantasy ฉบับปลดเปลื้องนี้สบายหูกว่าเดิมมากเลยครับ

แต่ประเด็นสำคัญก็คงอยู่ที่เพลงของจอห์น เสียงร้องของจอห์นชัดแจ๋วและเดียวดายโดดเด่นอย่างที่แทบไม่เคยได้ยินแบบนี้มาก่อนในทุกๆแทร็ค หลายๆเพลงฟังแล้วเหมือนเป็นเดโมหรืองานที่ยังทำไม่เสร็จเนื่องจากสมองเราอดไม่ได้ที่จะนำมันไปเปรียบเทียบกับ final version เดิมที่เราฟังมาสามสิบปี มันเป็นงานที่น่าฟัง การได้ฟังเสียงจอห์นชัดๆแบบนี้เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยม แต่แทบไม่มีเพลงไหนที่ผมคิดว่าภาพรวมมันจะดีไปกว่าเวอร์ชั่นเดิมชนิดที่ว่าแทนกันได้ อาจจะเว้นก็แต่ Cleanup Time ที่ฟังกี้ได้สุดมันส์ในเวอร์ชั่นใหม่นี้จนทำให้ของเก่าน่าเบื่อไปเลย จอห์นร้องได้อร่อยพอๆกับเบสดีดดิ้นของ Tony Levin

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Stripped Down คือบทสนทนา หรือการพูดก่อนเข้าเพลง รวมทั้งท่อนเฟดที่ยาวกว่าเดิม ที่มีให้ได้ยินพอสมควร ให้บรรยากาศเหมือนเราเข้าไปฟังพวกเขาบันทึกเสียงกันจริงๆ

(Just Like) Starting Over เปิดด้วยเสียงจอห์น “This one for Gene, and Eddy and Elvis….and Buddy” แต่เสียง wishing bell หายไป เสียงประสานดูวับถูกตัดออกไป ทำให้เอ็ฟเฟ็คในช่วงที่จอห์นร้องเดี่ยว “Why don’t we take off alone” ไม่ได้อารมณ์เท่าเดิม ตอนท้ายเพลงให้ฟังกันยาวเหยียดกว่าเดิม I’m Losing You ร็อคกว่าเดิมแต่ไม่เท่าเวอร์ชั่นที่ Cheap Trick back up (หาฟังได้ใน Lennon Anthology) ส่วน Woman และ Watching The Wheels ชัดแจ่มแต่โหวงเหวงเหมือนซ้อมกันสนุกๆ มันเป็นเพลงที่ต้องการการแต่งเติมมากกว่านี้ Beautiful Boy (Darling Boy) กับ Dear Yoko ดูจะไม่แตกต่างมากนัก เว้นแต่ท่อนท้ายของเพลงหลังที่จอห์น แร็ป ให้ฟังกันฮาๆ

จินตนาการว่าท่านได้เป็นแขกรับเชิญเข้าไปรับฟังจอห์น เลนนอน บันทึกเสียงที่ The Hit Factory ในวันใดวันหนึ่งก่อนที่จะถึงขั้นตอนสุดท้าย น่าจะเป็นไอเดียที่ดีในการฟัง Stripped Down ครับ สัมผัสได้ถึงความสุขและความกระตือรือร้นในการกลับมาทำงานดนตรีอีกครั้งของเลนนอน ในเพลง Cleanup Time เขาถึงกับร้องในตอนท้ายเพลงว่า คริสต์มาสใกล้เข้ามาอีกครั้งแล้ว แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่า คริสต์มาสสุดท้ายของเขาคือปี 1979

· 1. Just Like Starting Over

· 2. Kiss Kiss Kiss

· 3. Cleanup Time

· 4. Give Me Something

· 5. I'm Losing You

· 6. I'm Moving On

· 7. Beautiful Boy (Darling Boy)

· 8. Watching The Wheels

· 9. Yes I'm Your Angel

· 10. Woman

· 11. Beautiful Boys

· 12. Dear Yoko

· 13. Every Man Has A Woman Who Loves Him

· 14. Hard Times Are Over

Robert Plant - Band of Joy ****



Released -September 2010

Genre -Folk Rock, Blues, Bluegrass

Producer -Robert Plant, Buddy Miller

ขอคารวะหัวใจศิลปินของผู้ชายผู้มีนามเต็มๆว่า Robert Anthony Plant การตัดสินใจบนเส้นทางดนตรีของเขาช่างเด็ดเดี่ยวและไม่อ้างอิงถึงเงินตราหรือชื่อเสียงที่แสนจะยั่วยวน ปัจจัยเดียวที่แพลนต์ดูจะแคร์ก็คือ ก้าวต่อไปของเขา มันตื่นเต้นและทำให้เขารู้สึกถึงการผจญภัยเพียงพอหรือไม่ ดั่งเพลงหนึ่งในอัลบั้มใหม่นี้ที่อาจจะมีความหมายเป็นนัยๆถึงแนวทางของเขา “You Can’t Buy Me Love”

ในวัย 62 ปีและการทำงานในฐานะศิลปินเดี่ยวมาตั้งแต่ปี 1980 แต่สร้อยต่อท้ายชื่อเขาที่ยังไม่อาจสลัดออกไปได้เวลาคนเรียกขานนามก็คือ อดีตนักร้อง Led Zeppelin ผู้ยิ่งใหญ่ แพลนต์กลับมาร่วมงานดนตรีกับ จิมมี่ เพจ และ จอห์น พอล โจนส์ บวกกับ เจสัน บอแนม ลูกชายของ จอห์น บอแนม ผู้ล่วงลับ ในการแสดงครั้งเดียวที่ O2 ในลอนดอนเมื่อปลายปี 2007 เพื่ออุทิศให้ Ahmet Erthegun ผู้เคยเซ็นสัญญาพวกเขาเข้าสู่สังกัด Atlantic มันเป็นการ reunion ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งร็อค และทุกคนดูจะหวังว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาทำเพลงร่วมกันอีกครั้งของ Led Zeppelin รวมทั้งการออกตระเวณแสดงที่มีแฟนนับล้านคอยเฝ้าชมทั่วโลก แต่แพลนต์เป็นคนเดียวที่ไม่แยแสจะทำอะไรในนาม Zep ต่อ เขามองว่ามันเป็นการแสดงครั้งเดียวจบที่มีช่วงเวลาอันน่าประทับใจและไม่มีประโยชน์อะไรที่เขาจะทำในสิ่งที่เขาทำมาแล้วอีกครั้ง ไม่ว่าเพจและโจนส์จะพยายามอ้อนวอนแค่ใดหรือแม้แต่ใช้ลูกขู่ว่าจะหานักร้องคนอื่นมาแทนก็ตามที!

โรเบิร์ต แพลนต์อาจจะมีเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่เขากล่าวมา สังขารก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง การร้องเพลงที่ต้องใช้พลังระดับ Zep ในค่ำคืนเดียว มันคนละเรื่องกับการออกทัวร์และต้องตะเบ็งร้องแบบนั้นทุกคืน เป็นเดือนๆ มัน เป็นอะไรที่นักร้องต้องแบกรับมากกว่ามือกีต้าร์และมือเบสอย่างแน่นอน แพลนต์ตัดสินใจถูกต้องที่เลือกจะร้องเพลงในแนวทางที่เหมาะสมกับวัยตัวเอง ไม่ต้องการพลังและเสียงที่สูงปรี้ด แต่เน้นลีลาในการถ่ายทอดอารมณ์บทเพลง อัลบั้ม Raising Sands ที่เป็นผลงานของเขาคู่กับ Alison Krauss กลายเป็นผลงานสำคัญแห่งชีวิตของทั้งสองศิลปิน เสียงร้องของหนุ่มสาวต่างวัยคู่นี้โอบอุ้มกันไปอย่างงดงามในบทเพลงคันทรี่-บลูส์-รู๊ท ที่โปรดิวซ์โดยมือทองของ ที-โบน เบอร์เน็ตต์ มันเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายของทุกคนโดยสิ้นเชิง ทั้งเงินและกล่อง

แต่แพลนต์ก็ยังไม่คิดจะทำภาคต่อของ Raising Sands หรือแม้แต่กลับไปทำงานกับ The Strange Sensation ที่เคยทำงาน Mighty Rearranger กันออกมาได้ดีมากๆ เขากลับเลือกที่จะย้อนกลับไปสู่ยุคแรกของการทำงานของเขากับจอห์น บอแน่ม สมัยที่ยังไม่มีใครรู้จักคำว่า Led Zeppelin นั่นคือการกลับไปรื้อฟื้นวง ‘Band of Joy’ ขึ้นมาอีกครั้ง แต่มันก็คงเป็นในนามเท่านั้น เพราะสมาชิกของ Band of Joy ยุค 2010 นี้มีเพียงคนเดียวที่เป็น original member ก็คือตัวแพลนต์เอง แพลนต์ได้ บัดดี้ มิลเลอร์ มาเล่นกีต้าร์และช่วยโปรดิวซ์ร่วม เขามีส่วนสำคัญในสุ้มเสียงของอัลบั้มนี้ทีเดียว อีกคนที่หลายคนคงรู้จักคือ แพ๊ตตี กริฟฟิน ที่มาฝากเสียงสวยๆของเธอไว้หลายเพลง ทำให้คิดถึงเสียงของอลิสันเหมือนกัน เพียงแต่แพ๊ตตี้ไม่ได้ร้องประกบกับแพลนต์เหมือนอลิสันใน Raising Sands เพียงแต่เป็นการประสานเสียงหวานๆบางเบาเท่านั้น

Band of Joy เป็นการต่อยอดของแนวทางของ Raising Sands ที่กว้างขวางและเข้มข้นกว่าเดิม มันอาจจะไม่มีเสน่ห์เคลิบเคลิ้มเหมือนอัลบั้มหนุ่มสาวชุดนั้น แต่เซนส์ของการผจญภัยไปในดินแดนดนตรีอันสาบสูญของ Band of Joy นั้นเป็นประสบการณ์ดนตรีที่ท่านไม่ควรจะพลาดจริงๆ หลายเพลงพาคุณหลุดเข้าไปในยุคต้นๆของการก่อตัวของเพลงบลูส์ , บางอารมณ์กระเจิงไปกับอารมณ์รักบริสุทธิ์ของบทเพลงในยุค 50’s แต่บางจังหวะคุณเริ่มเอะใจว่าแพลนต์หักมุมพาคุณหลบหนีพุ่งทะยานสู่อนาคต หรืออย่างน้อยมันก็เป็นดนตรีที่คุณไม่อาจระบุยุคสมัย เสียงร้องของแพลนต์ในอัลบั้มถือว่าอยู่ในฟอร์มสดมากๆ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาได้ร้องในคีย์ที่เขารับมือได้แต่น้ำเสียง,พลัง และลีลาของเสือเก่าก็ยังไม่ส่อแววถดถอยแม้แต่น้อย

เพลงส่วนใหญ่เป็น cover หรือไม่ก็เพลง traditional หรือเพลงที่แพลนต์เอามาต่อยอด

Angel Dance เพลงเก่าอายุสิบขวบของ Los Lobos แพลนต์ชอบลักษณะการเดินเพลงแบบอาขยานของเพลงนี้และเสกมนต์ขลังของอคูสติกบลูส์ในแบบ Led Zeppelin ชุดที่สามเข้าไป ต่อเนื่องทางอารมณ์ในแนว Southern Gothic ในเพลง House of Cards ของริชาร์ด ทอมป์สัน Central Two O Nine เพลงเดียวในอัลบั้มที่เป็นเครดิตการแต่งของแพลนต์และมิลเลอร์ แต่ก็เป็นการต่อยอดจากเพลงบลูส์ของ Lightnin’ Hopkins Band of Joy แจมกันได้สนุกในเพลงนี้

แพลนต์เลือกเพลงของ Low จากอัลบั้ม The Great Destroyer ในปี 2005 มาเล่นในชุดนี้ถึงสองเพลงคือ Silver Rider ที่หลอกหลอนเวิ้งว้างกับ Monkey ที่อึกทึกครึกโครมอลหม่าน สองเพลงนี้กลืนไปกับเพลงบลูส์โบราณรอบๆมันอย่างแนบเนียน

ใครที่อยากฟังแพลนต์ร้องเพลงหวานๆเหมือนสมัย Honey Drippers คงจะได้โอกาสใกล้เคียงใน I’m Falling In Love Again เพลงเก่าจากปี 1966 ของ The Kelly Brothers เป็นดูว็อปที่ออดอ้อนน่าฟังที่ไพเราะไม่แพ้ Sea of Love หรือ Young Boy Blues ต่อกันได้กับ The Only Sound That Matters ของ Milton Mapes ที่เศร้าหวานงดงาม

จากปี 1965 เพลงของ Barbara Lynn ดาวรุ่งอาร์แอนด์บีของเท็กซัสในยุคนั้นในเพลง You Can’t Buy Me Love น่าจะเป็นเพลงที่เรียกเหงื่อแพลนต์ได้มากที่สุด ไม่ถึงกับเป็นเพลงที่ฟังแล้วลุกขึ้นเต้น แต่ก็กระฉึกกระฉักที่สุดในแผ่น แพลนต์บอกว่ามันคือ “Black American Pop จาก New Orleans ปี 1963ร็อคเบาๆตามมาคือ Harms Swift Way ที่ฟังคล้ายงานของ Traveling Wilburys เพลงท้ายๆในชีวิตของ Townes Van Zandt

แพลนต์มักจะพิถีพิถันกับเพลงท้ายๆของอัลบั้มเสมอ และใน Band of Joy ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น Satan Your Kingdom Must Come Down เป็นเพลง traditional blues แบนโจให้เสียงชวนขนลุกคลอไปกับการขับร้องที่ไร้ที่ติของแพลนต์

เพลงสุดท้าย Even This Shall Pass Away ฉีกแนวไปเลยจากเพลงอื่น มันเป็นการนำบทกวีในปี 1867 ของ Theodore Tilton มาใส่ทำนอง การบรรเลงของ Band of Joy ในเพลงนี้ราวกับแพลนต์จะเปิดไฟเขียวให้นักดนตรีทุกคน ใส่ กันได้ตามแต่จะเห็นงาม สุ้มเสียงแปลกๆจึงผุดขึ้นมาเต็มไปหมด หลายช่วงทำให้นึกถึงงานยุค Mighty Rearranger

Robert Plant สามารถทำมาหากินง่ายๆและได้เงินมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการทัวร์สักรอบกับ Led Zeppelin หรือร้องเพลงเก่าๆในแบบ Rod Stewart หรือไม่ก็ไปร้องคู่กับอลิสันอีกซักอัลบั้ม แต่เขากลับเลือกทางที่ดูจะ ขาย ยากที่สุดกับ Band of Joy ผลลัพธ์: มันเป็นงานที่แฟนเพลงและตัวเขาเองควรภาคภูมิใจและเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่เยี่ยมที่สุดแผ่นหนึ่งในปี 2010 ครับ

Tracklist

01 Angel Dance
02 House of Cards
03 Central Two-O-Nine
04 Silver Rider
05. You Can’t Buy my Love
06 I’m Falling In Love Again
07 The Only Sound That Matters
08 Monkey
09 Cindy, I’ll Marry You One Day
10 Harms Swift Way
11 Satan Your Kingdom Must Come Down
12 Even This Shall Pass Away