Wednesday, 27 July 2016

สืบสานตำนานสุภาพสตรีทริโอ


case/lang/veirs-case/lang/veirs ****












Released: June 2016
Genre: Pop, Alternative Country
Producer: Tucker Martines



Tracklist
1.     "Atomic Number"
2.     "Honey and Smoke"
3.     "Song for Judee"
4.     "Blue Fires"
5.     "Delirium"
6.     "Greens of June"
7.     "Behind the Armory"
8.     "Best Kept Secret"
9.     "1000 Miles Away"
10.  "Supermoon"
11.  "I Want to Be Here"
12.  "Down"
13.  "Why Do We Fight"
14.  "Georgia Stars"

Neko Case (เกิด 1970) สาวอัลเตอร์เนทีพคันทรี่จากอเล็กแซนดร้า,เวอร์จิเนีย เธอสร้างชื่อในการเป็นศิลปินเดี่ยวและอยู่ในวงดนตรี The New Pornographers มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90’s Case เป็นนักร้องเสียงหวานใสทรงพลังและเป็นศิลปินที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ อัลบั้มล่าสุดของเธอมีชื่อราวกับบทกวี The Worse Things Get, The Harder I Fight, the Harder I Fight, the More I Love You ออกมาในปี 2013

k.d. lang (ชื่อจริง Kathryn Dawn Lang) เกิดที่แคนาดา 1961 เคดีมาทางสายคันทรี่ ด้วยความประทับใจในเสียงเพลงและชีวิตของ Patsy Cline เธอออกอัลบั้มคันทรี่ชั้นยอดสองสามชุด ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเองไปที่ดนตรีแนวอื่นๆอย่างไร้ขีดจำกัด สาวหล่อคนนี้มีดีที่เสียงร้องที่หวานกังวานลึกซึ้งชวนหลงใหล ไม่ว่าเธอจะร้องเพลงในแนวใด อัลบั้มล่าสุดของแลงก์คือ Sing It Loud ในปี 2011 ที่ย้อนกลับไปที่อิทธิพลดนตรีคันทรี่อีกครั้ง

Laura Veirs (เกิด 1973, โคโลราโด) สาวแว่นนักร้องนักแต่งเพลงช่างคิด ลอร่ามีเสียงร้องที่เรียบง่าย อ่อนหวาน และเรนจ์ที่กว้างชวาง เพลงที่เธอแต่งมักจะเป็นเรื่องโรแมนติกในมุมมองที่คาดไม่ถึง เรื่องสาระพันในชีวิต และบางครั้งก็เป็นทางสังคมและการเมือง งานเดี่ยวล่าสุดของเธอคือ Warp & Weft ในปี 2013 ที่มี lang และ Case มาช่วยปล่อยเสียงสวยๆไว้ด้วย นั่นถือเป็นการอุ่นเครื่องสำหรับโปรเจ็ค case/lang/veirs

เรื่องของเรื่องมันเริ่มจาก k.d. lang ผู้ที่เริ่มเบื่อๆกับการร้องเพลงบันทึกเสียงในนามศิลปินเดี่ยวและอยากจะปลดเกษียณตัวเอง แต่เธอได้คิดว่าถ้าฟอร์มวงขึ้นมา มันอาจทำให้ชีวิตศิลปินของเธอสดใสขึ้น คิดได้ดังนั้นแลงก์ก็อีเมล์ไปชวน Case และ Veirs มาตั้งวงกัน ภายใน 30 นาทีสองคนนั้นตอบตกลงทันที มันคงยากที่จะปฏิเสธการมีโอกาสได้ร้องเพลงและทำอัลบั้มร่วมกับตำนานอย่าง lang

แม้อาจจะยังไม่ถึงระดับนั้น แต่หลายคนก็จับ supergroup CLV นี้ไปเทียบกับทริโอในตำนาน Dolly Parton/Emmylou Harris/Linda Ronstadt ที่เคยร่วมกันทำอัลบั้ม Trio และ Trio II เป็นมาสเตอร์พีซของวงการคันทรี่มาแล้วในอดีต (ซึ่งเราคงไม่มีโอกาสได้ฟังสามคนนั้นร้องเพลงด้วยกันอีกแล้ว ด้วยปัญหาสุขภาพของลินดา) การเปรียบเทียบอย่างนี้ย่อมเป็นดาบที่คมพอจะเชือดตัวเองด้วยความกดดันและอีกคมคือความเป็นเกียรติสูงสุดของศิลปินที่พวกเธอควรจะปลาบปลื้ม

ในแง่ของการประสานเสียงขับร้องอันกลมกล่อม คงยากที่ผู้หญิงสามคนที่ไหนจะไปเทียบกับทริโอของดอลลี่,เอ็มมี่ลู และ ลินดา แต่ CLV ก็ทำได้ดีในแบบของพวกเธอ ซึ่งหลายต่อหลายเพลง ไม่ได้เป็นไปในแบบ three-part harmony ตรงไปตรงมา ส่วนด้านดนตรีและการประพันธ์ CLV ทำได้ดีมากๆทั้งในแง่ความหลากหลายคมคายของเนื้อหา และดนตรีที่เป็นอัลเทอร์ฯคันทรี่แสนเท่ กีต้าร์ที่เล่นกับเอ็ฟเฟ็คมากมาย เครื่องสายที่สอดแทรกสอดรับอย่างพอเหมาะ (ต้องขอบคุณโปรดิวเซอร์ Tucker Martine-ผู้ควบตำแหน่งแฟนของ Veirs ด้วย)

ทั้งสามสาวเป็นนักแต่งเพลงมืออาชีพ คงไม่ยากอะไรที่แต่ละคนจะแบกเพลงของตัวเองมาจากบ้าน และมาเรียบเรียงแบ่งกันร้อง แต่นั่นคงไม่ทำให้คนฟังรู้สึกได้ถึงความเป็นวงนัก โชคดีที่พวกเธอเลือกวิธีมานั่งแต่ง นั่งคิดเพลงด้วยกันใหม่หมด ทั้ง 14 เพลง โดยที่แต่ละเพลงอาจจะมี”เจ้าภาพ”หลักเป็นหนึ่งในสาม ส่วนมากเจ้าภาพจะเป็นคนร้อง แต่ไม่ทุกเพลง

เมื่อได้อัลบั้ม case/lang/veirs มาใหม่ๆ คิดแค่เพียงว่า การได้ฟังเสียงร้องของ Lang ก็คุ้มค่าแล้ว และแอบเปิดหาฟังเพลงที่เธอร้องนำก่อนเลย น่าแปลกใจที่คนที่น่าจะเป็นนางเอก (หรือพระเอกในกรณีของ Lang) กลับร้องแค่ 4 เพลง และเป็นแนวที่เธอถนัด จังหวะช้าหรือปานกลาง เน้นการถ่ายทอดเสียงที่หวานลึกไม่เหมือนใคร แต่การที่ได้ Case กับ Veirs มาช่วยประสานเสียง น่าจะทำให้ Lang มีความสุขมากมายกว่าการร้องอยู่คนเดียวตลอดหลายปีที่ผ่านมา สี่เพลงที่ Lang ร้องนำคือ Honey and Smoke (สมัยนี้ยังมีการตัดซิงเกิ้ลจริงๆจังๆอยู่ไหม, ถ้ามี ก็น่าจะเป็นเพลงนี้ที่เป็นซิงเกิ้ลแรก) Blue Fires-เวิ้งว้าง อ้อนเหงา, 1,000 Miles Away-แจ๊ซซี่ เลื่อนลอย  และ Why Do We Fight –หวานเศร้า เพลงหลังนี่เป็นบัลลาดในร้านเหล้า (saloon, torch song) ในแบบที่แลงก์ถนัด และเธอก็ร้องได้หยุดโลกหยุดจักรวาลไปเลย ไม่น่าเชื่อว่ากว่าที่แลงก์จะร้องเพลงนี้ได้ดั่งใจต้องใช้เวลาและเทคมากมาย จนสุดท้าย Veirs เล่าว่าต้องตัดเนื้อเพลงบางคำที่ทำให้แลงก์อึดอัดในการร้องออกไป เท่านั้นแหละทุกอย่างก็ฉลุย น่าเสียดายที่ไม่มีใครบอกว่าคำๆนั้นคืออะไร

Laura Veirs น้องนุชสุดท้องในกรุ๊ป เธออาจจะเป็นคนที่ดังน้อยที่สุด แต่ผิดถนัดถ้าคุณจะคิดว่าเธอคือ weakest link งานประพันธ์ที่เธอนำเสนอในอัลบั้มล้วนเยี่ยมยอด ตั้งแต่บทเพลงเพื่อ Judee Sill-Song For Judee, เพลงสนุกชวนเต้นรำที่สุดในอัลบั้มในแนวแคลิฟอร์เนียป๊อบ Best Kept Secret,  เพลงประสานเสียงสามสาวที่เรียบง่ายแต่งามแสนอย่าง I Want To Be Here และเพลงปิดท้ายอัลบั้ม Georgia Stars ที่ขึ้นต้นเหมือนกับ traditional folk แต่ไปๆมาๆกลับร็อคราวกับ Sonic Youth มาร่วมกระหน่ำ

case/lang/veirs เป็นงานที่เกลี่ยและเฉลี่ยความโดดเด่นให้ทั้งสามสาวอย่างพอดิบพอดีจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าสุ้มเสียงของอัลบั้มมันเป็นแนวทางของ Neko Case ที่สุด อาจเป็นเพราะบุคลิกภาพอันร้อนแรงเข้มข้นของเธอหรือเสียงร้องที่คมกริบนั้นก็เป็นได้ เพลงเด่นๆของเธอในชุดคือ Delirium, Behind The Armory และ Down I-5 เพลงสุดท้ายมาจากชื่อถนนที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองที่ทั้งสามสาวอยู่ และเป็นแทร็คที่ดนตรีเข้มข้นลึกซึ้งที่สุดในอัลบั้ม

แต่ถ้าจะมีสักเพลงที่บ่งบอกความเป็น case/lang/veirs ได้ดีที่สุด มันต้องเป็นแทร็คแรก Atomic Number ที่แบ่งประโยคขับร้อง และประสานเสียงกันได้อย่างหมดจดไพเราะและสร้างสรรค์ ผมไม่ทราบว่าหมายเลขอะตอมของทั้งสามสาวเป็นเลขอะไรกันบ้าง แต่เชื่อเต็มหัวใจว่ามันต้องต่อกันติดสนิทแนบอย่างแน่นอน เราถึงได้ฟังโมเลกุลแห่งอัลบั้มที่เลอค่าเพียงนี้ ก็หวังว่า...มันคงไม่ใช่โมเลกุลสุดท้ายนะ