Friday, 23 December 2016

Day Breaks

Norah Jones : Day Breaks ****
Released: October 2016
Genre: Pop Rock, Jazz
Producers: Norah Jones, Eli Wolf, Sarah Oda



“นอราห์ โจนส์ โคจรครบวง ศิลปินหญิงเจ้าของ 9 รางวัลแกรมมี่ หวนคืนกลับสู่แนวดนตรีที่โดดเด่นด้วยเปียโนและรากฐานของเธอ ในจิตวิญญาณเดียวกับบทเพลงในอัลบั้ม Come Away With Me”

นั่นคือคำประกาศก่อนออกอัลบั้มของ Blue Note Records ที่แทบจะได้ยินเสียงตื่นเต้นละล่ำละลักในตัวหนังสือ

 14  ปีมาแล้วสินะ หลังจากอัลบั้มเปิดตัวของลูกสาว Ravi Shankar คนนี้ที่สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างในวงการ singer-songwriter, Jazz และสังกัด Blue Note ทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ มันคืองาน pop vocal ที่เจือแจ๊สคันทรี่อย่างมีรสนิยม ขับกล่อมโดยเสียงเปียโนเคล้าคู่คลอไปกับเสียงร้องอันราบเรียบเย็นหวานของศิลปินสาววัย 22 ปีในขณะนั้น ผนวกกับภาพปกโคลสอัพในมุมที่สวยหวานชวนค้นหา ใครๆก็อดรักมันไม่ได้

ศิลปินทั่วไปอาจจะรู้สึกกดดันในการที่จะทำอัลบั้มชุดที่ 2 ต่อจากงานแรกที่ประสบความสำเร็จขนาดนั้น แต่นอราห์ไม่ใช่ศิลปินทั่วไป เธอกลับมองว่าความสำเร็จนั้นเป็นใบเบิกทางให้เธอจะทำอะไรก็ได้หลังจากนั้น และอะไรก็ได้ของเธอคือการไม่เดินซ้ำรอยเดิมใน Come Away With Me ทั้งๆที่มันหมายถึงเงินทองมหาศาล เธอสนุกกับการทำเพลงแนวต่างๆแทบไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นคันทรี่ พังค์ร็อค อีเล็กโทรนิคป๊อบ อินดี้ร็อค เพลิดเพลินไปกับการร่วมงานกับศิลปินรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หลากหลายแนวทาง  ตั้งแต่ Ray Charles, Wynton Marsalis, Belle and the Sebastian, Willie Nelson ไปจนถึงออกอัลบั้มคู่กับ Billie Joe Armstrong แห่ง Green Day โดยร้องเพลงของ The Everly Brothers!

นอราห์เป็นที่โปรดปรานและเธอเองก็คงชื่นชอบในการไปร้อง duet กับเพื่อนศิลปิน มากพอที่จะทำอัลบั้มรวมเพลงออกมาได้ชุดหนึ่งเลยทีเดียวใน ….featuring Norah Jones

แต่ไม่ว่าเธอจะโลดแล่นไปในแนวทางไหน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี แฟนเพลงก็ยังพูดถึง Don’t Know Why และอัลบั้มแรกของเธอเสมอ พวกเขาแอบนั่งคอยเงียบๆว่าเมื่อไหร่หนอจะถึงวันที่สาวน้อยจะกลับไปนั่งที่เปียโน เจื้อยแจ้วเพลงอ้อยสร้อยแจ๊สซี่อย่างนั้นให้ฟังกันอีกครั้ง

ดังนั้น, เมื่อคำโปรยของ Blue Note ถึงอัลบั้มชุดที่ ๖ ของนอราห์ออกมาเยี่ยงนั้น ความหวังของแฟนเก่าแก่ที่อาจจะไม่ชอบนอราห์ใน status อื่นๆจึงพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด

แต่นั่นมันไม่ใช่คำพูดของนอราห์ จริงๆแล้วเธอไม่อยากให้เรียกอัลบั้มนี้ว่าเป็น back to basics เพราะเธอไม่คิดว่ามันเป็น Day Breaks มันแค่เกิดขึ้นจากการที่เธอได้ไปร่วมเล่นดนตรีกับ Wayne Shorter และ Brian Blade ในปี 2014 อันทำให้เธออยากบันทึกเสียงร่วมกับพวกเขา โดยเธอเล่นเปียโนอย่างจริงจังไปด้วย นอราห์กล่าวว่า ถ้าเป็นเมื่อปี 2002 เธอไม่มีทางกล้าเล่นเปียโนกับแซ็กของเวนย์หรอก และถึงแม้จะทำได้ก็คงไม่ได้เรื่องแน่ๆ

ใช่, 14  ปีที่ผ่านมา เธอได้เรียนรู้อะไรมากมายเหลือเกิน ที่ชัดเจนมากในพัฒนาการที่สุดก็น่าจะเป็นการเล่นเปียโนนี่แหละ มันโดดเด่นพอๆกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอทีเดียวในอัลบั้มนี้

อย่างไรก็ตาม,ในแง่ของการเปรียบเทียบ Day Breaks ก็เป็นงานที่ใกล้เคียงกับ Come Away With Me ที่สุดเท่าที่นอราห์เคยทำมาแล้ว มันมีกลิ่นอายของแจ๊ส เต็มไปด้วยเพลงความเร็วระดับปานกลางถึงช้า ทุกเพลงเดินเรื่องด้วยเปียโนและเสียงร้อง ตัวบทเพลงผสมผสานเพลงออริจินัลและเพลงคัฟเวอร์ที่คัดสรรมาอย่างดี

แต่ผมไม่กล้าบอกว่านี่จะเป็นงานที่แฟนๆของ Come Away With Me ต้องปลื้มปิติจนน้ำตาหลั่งริน และซื้อมันเป็นสิบแผ่นไล่แจกญาติๆ เพราะรายละเอียดของ Day Breaks มันแตกต่างออกไป จนไม่อาจพูดได้ว่ามันคือ Come Away With Me Again และผมกำลังจะบอกคุณว่ามันมีอะไรบ้าง

มันไม่มีเพลงฟังง่ายที่ติดหูทันทีอย่าง Don’t Know Why เพลงส่วนใหญ่ใน Day Breaks จะลุ่มลึกกว่า เรียกร้องการใช้เวลาในการซาบซึ้งพอสมควร

มันมีความเป็นแจ๊สมากกว่า โดยเฉพาะเสียงโซปราโนแซ็กของ Wayne Shorter อันมีบุคลิกมาดมั่นไม่ผ่อนปรนโอนอ่อนให้ทางสายป๊อบ ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแซ็กของเขา มันเหมือนการตอกย้ำคนฟังว่านี่คือแจ๊สอัลบั้มนะ อย่าลืม ส่วน Brian Blade มือกลองขายดีในวงการแจ๊สดูจะตีสบายๆเหมือนมาพักผ่อน ได้ลุง Lonnie Smith มาเล่นแฮมมอนด์ B-3เท่ๆแทรกเป็นระยะๆสร้างสีสันได้ดีมาก

การบันทึกเสียงของ Day Breaks เป็นไปในแนวแห้งและดาร์ค ต่างจากความอิ่มและสดใสใน Come Away With Me จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรฟังข้าม หลายคนอาจผงะตั้งแต่เพลงแรกๆ ถ้าเทใจมาก่อนว่าจะได้ฟังแบบ debut album

อ้อ! นี่เป็นอัลบั้มที่อ้างว่าบันทึกกันสดๆเทคเดียว ไม่มีการ overdub ใดๆด้วยนะ

อาจจะกล่าวได้ว่า นอราห์ โจนส์ เดินทางย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้นใหม่ในระดับหนึ่งจริงๆ เพื่อทำเพลงในโครงสร้างและบรรยากาศเดิม แต่ประสบการณ์ที่เธอเก็บเกี่ยวมาระหว่าง 14 ปีนี้ รวมทั้งความพยายามส่วนตัวที่จะไม่เดินย่ำรอยเดิม ทำให้สุดท้ายแล้ว Day Breaks ก็ยังคงเป็นการก้าวไปข้างหน้าสำหรับศิลปินคนนี้อยู่ดี

มีสามเพลง cover ในชุดนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เพลงดังอะไรนัก Peace ของ Horace Silver, Don’t Be Denied ของ Neil Young และ African Flower ของ Duke Ellington ทุกเพลงนอราห์เอามาทำเป็นของเธอได้อย่างเนียน โดยเฉพาะการเปลี่ยนสรรพนามอย่างฉลาดในเพลงของนีล ยัง

แทร็คที่เหลือเป็น original ที่นอราห์ประพันธ์คนเดียว และแต่งร่วมกับคนอื่นๆบ้าง บวกกับอีก 1 เพลงของโปรดิวเซอร์ร่วม Sarah Oda ในเพลง “Sleeping Wild”

มุกตลกที่ไม่ค่อยขำล้อเธอว่าเป็น Snorah ไม่ได้ทำให้เธอหวั่นไหวในการที่จะทำเพลงช้าเอื่อยกันเป็นอาชีพ ในชุดนี้ก็เช่นกัน นอกจาก ‘Flipside’ ที่สนุกเร้าใจแล้ว ที่เหลือนี่ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงวัดใจคนขี้เซากันทั้งนั้นว่าจะเอาชีวิตรอดได้จนจบอัลบั้มไหม แต่ก็นั่นแหละ สำหรับคนที่รักเพลงช้าๆ เขาก็จะไม่ง่วงเหงาไปกับเพลงแบบนี้นะ จะไปหาวฟอดกับเพลงแดนซ์หรือร็อคหนักๆมากกว่า มันไม่มีสูตรสำเร็จของการกล่อมนอนด้วยดนตรี (โดยศิลปินไม่ได้ตั้งใจ)

จำเป็นไหมที่จะต้องบอกว่าเพลงไหนโดดเด่น? ในเมื่อความโดดเด่นในรสนิยมคนเราอาจจะเหมือนหรือแตกต่าง เอาเป็นว่า ถ้าไม่มีเวลามากนัก ผมอยากให้คุณฟังเพลงเหล่านี้ก่อน Tragedy, Once I Had A Laugh และ Don’t Be Denied

14 ปีที่แล้ว เธอชวนให้เรา come away with her แฟนเพลงว่าง่ายอย่างผมจะไปกล้าขัดอะไร และคงจะตามเธอต่อไปเรื่อยๆไม่มีกำหนดเลิกรา        
       
Tracklist:

1. Burn
2. Tragedy
3. Flipside
4. It’s A Wonderful Time For Love
5. And Then There Was You
6. Don’t Be Denied
7. Day Breaks
8. Peace
9. Once I Had A Laugh
10. Sleeping Wild
11. Carry On
12. Fleurette Africaine (African Flower)

Tuesday, 6 December 2016

Blues Summit

“ระดับบี.บี.คิง แม้เขาจะตายตอนอายุ 100 ปีก็ยังถือว่าอายุสั้นเกินไป” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวไว้หลังจากการนิทราชั่วนิรันดร์ของ “มหาบุรุษแห่งบลูส์” ในวันที่ 14 พ.ค. 2015 รวมสิริอายุได้ 89 ปี แม้ทุกคนรวมทั้งผมจะรู้อยู่แก่ใจว่าสักวันหนึ่งเราต้องได้รับข่าวนี้ (ถ้าเราไม่ตายก่อนเขา) แต่ก็อดใจหายไม่ได้ แฟนเพลงยุคนี้แทบทุกคนรู้จักคิงมาตั้งแต่เริ่มฟังเพลง เริ่มจำความได้ เขาอยู่มานานและยิ่งใหญ่เหลือเกิน ถ้าแจ๊ซมีหลุยส์ อาร์มสตรอง ร็อค มีเอลวิส เพรสลีย์ สำหรับบลูส์ก็ต้องเป็นเขาล่ะ…Riley B. King ผู้ถือกำเนิดในวันที่ 16 กันยายน 1925 และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักดนตรีบลูส์คนสำคัญที่สุดในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ด้วยเสียงกีต้าร์เอื้อนอ่อนหวานจาก “ลูซิลล์” อาวุธคู่ใจ และเสียงร้องแสนทรงพลังเปี่ยมอารมณ์ของเขา



Pop Music Review ฉบับนี้ขออุทิศให้คิง ด้วยการเขียนถึงอัลบั้มสำคัญของเขาชุดหนึ่งในยุคหลัง: ‘Blues Summit’ อันถือเป็นการกลับมาเข้าฟอร์มอีกครั้งของเขาในยุค 90’s แต่ก่อนที่จะคุยกันถึงอัลบั้ม “สุดยอดบลูส์” นี้ขอย้อนประวัติของท่านอีกครั้งในฉบับกะทัดรัดเป็นการรำลึกเล็กๆน้อยๆที่เราพอจะทำได้

B.B. King ไม่ได้เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นนักดนตรี เขาทำงานในไร่ฝ้ายในวัยเด็ก จวบจนยุค 40’s เขาเริ่มเล่นดนตรีในท้องถนนของ Idianola ก่อนที่จะไปเล่นแบบมืออาชีพเต็มตัวในเมมฟิสในราวปี 1949 คิงเริ่มศึกษางานของนักกีต้าร์รุ่นใหญ่ทั้งบลูส์และแจ๊ซ อย่าง T-Bone Walker, Charlie Christian และ Django Reinhardt ในยุค 50’s เขาไปจับงานดีเจในช่วงสั้นๆที่สถานีวิทยุสำหรับคนดำในเมมฟิส WDIA ช่วงนั้นคิงได้ฉายาว่า ‘Beale Street Blues Boy’ ก่อนที่ต่อมาจะถูกเรียกสั้นๆว่า Blues Boy และย่อจนเหลือ B.B. ในที่สุด แน่นอนมันเป็นชื่อเล่นที่เป็นทางการของเขาตั้งแต่นั้นมา

คิงเริ่มสร้างชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆจากการเล่นดนตรีแสดงสดและออกอากาศทางวิทยุร่วมกับเพื่อนนักดนตรีอย่าง Johnny Ace และ Bobby ‘Blue’ Bland เพลงดังเพลงแรกของคิงมาถึงในปี 1951 ‘Three O’Clock Blues ออกมาในสังกัด RPM และในทศวรรษ50’s นั้นคิงก็ทำแผ่นเสียงขายดีอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการแสดงสดอันเป็นที่เลื่องลือ

นั่นนำมาถึงงานแสดงสดที่นักวิจารณ์และแฟนเพลงหลายท่านลงความเห็นว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของเขา ‘Live at the Regal’ ในปี 1964 ที่ยังอาจนับเป็น live album ที่ดีที่สุดตลอดกาลอีกตำแหน่ง ยุคกลางซิกซ์ตีส์เป็นช่วงเวลาที่เพลงบลูส์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทำให้บี.บี.คิงประสบความสำเร็จตาม (หรือนำ) กระแสอย่างงดงาม  เขามีซิงเกิ้ลที่ข้ามไปฮิตใน soul chart ในเพลง ‘Paying the Cost to be the Boss’ ขึ้นอันดับ 10 ใน R&B chart ในปี 1968 ‘Why I Sing The Blues’ อันดับ 13 ในปีถัดมา

แต่เพลงที่เป็น breakthrough ของคิงจริงๆคือ ‘The Thrill Is Gone’ ผลงานการประพันธ์ของ Roy Hawkins ที่ออกมาในปี 1969 มันแตกต่างจากเพลงอื่นๆของคิงด้วยจังหวะที่เนิบนาบหนักแน่นและพรมไปด้วยเสียงไวโอลิน (แทนที่จะเป็นเครื่องเป่า)ในท่วงทำนองที่อยู่ในไมเนอร์คีย์ มันเป็นเพลงที่ทำให้แฟนเพลงป๊อบต้องหันมามองและฉุกคิดได้ว่าต้องให้ความสนใจกับบลูส์แมนคนนี้จริงจังเสียหน่อยแล้ว คิงตามความสำเร็จของ ‘The Thrill Is Gone’ ด้วยเพลงอย่าง ‘To Know You Is To Love You’ และ ‘I Like To Live The Love’ ในยุค70’s คิงยังได้มีโอกาสบันทึกเสียงร่วมกับเพื่อนเก่า Bobby Bland ในอัลบั้ม ‘For The First Time…Live’ (1974) และ Together again….Live (1976) และในปี 1982 เขาบันทึกการแสดงสดร่วมกับวงแจ๊ซ The Crusaders

คิงได้รับรางวัลแกรมมี่สำหรับอัลบั้ม ‘There Must Be a Better World Somewhere’ ในปี 1981 และอีกครั้งกับ ‘Live at San Quentin’ ในปี 1990 เขาได้รับการบรรจุชื่อใน Blues Foundation Hall of Fame ในปี 1984 และ Rock and Roll Hall of Fame ในปี 1987 รางวัล Songwriters Hall of Fame Lifetime Achievement ในปี 1991 คิงเปิดคลับของเขาเองในชื่อ B.B. King’s Blues Club ในเมมฟิสเมื่อปี 1991 และสาขาที่สองในนิวยอร์คปี 2000

ปี 1989 เขาร่วมร้องและเล่นกีต้าร์กับวง U2 ในเพลง ‘When Love Comes To Town’ ใน Rattle and Hum ทำให้คิงกลับมาเป็นที่รู้จักกับแฟนร็อครุ่นใหม่อีกครั้ง ปีเดียวกันนั้นเขาออก box set ‘King of the Blues’ (สี่แผ่น) และงานรวมดาวบลูส์ ‘Blues Summit’ ที่เราจะพูดถึงในเร็วๆนี้ ตามมาในปี 1993 (ถ้าใจร้อนโดดไปอ่านก่อนก็ได้นะ)

งานเด่นๆในช่วงท้ายของชีวิตก็มี ‘Let The Good Times Roll’ ที่เขาเล่นเพลงของ Louis Jordan ในปี 1999. การร่วมงานกับเพื่อนบลูส์ต่างวัย Eric Clapton ‘Riding With The King’ ในปี 2000 , ฉลองอายุครบ80 ขวบในปี 2005 ด้วยอัลบั้มรวมดาวอีกครั้ง ‘80’ ในปี 2008 และในปีเดียวกันเขาก็ออก studio album สุดท้ายที่คืนกลับไปสู่รากเหง้าของบลูส์อันพิสุทธิ์อีกครั้ง ‘One Kind Favor’ (ผมมีโอกาสเขียนถึงไปแล้วใน GM2000 เล่มเก่าๆ)

คิงยังคงออกทัวร์อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มากมายถึง 300 รอบต่อปีเหมือนในอดีต แต่เขาก็ไม่เคยหยุดหย่อน จนกระทั่งสังขารของเขาเริ่มสะกิดให้หยุดพัก การแสดงของคิงเริ่มเปลี่ยนไป เขาพูดมากขึ้น เล่นกีต้าร์น้อยลง บางการแสดงเริ่มมีเสียงบ่นและโห่จากคนดู ก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมหนอช่างโหดร้ายกับคนวัยเกือบ 90 เช่นนี้ เขาควรจะหยุดพักได้แล้ว จนกระทั่งเร็วๆนี้ผมถึงเพิ่งได้ทราบความจริง คิงจำต้องเล่นต่อไป เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพให้ลูกวงของเขา ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ใหญ่ทีเดียว ปี 2015 คิงเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเหนื่อยอ่อนและขาดน้ำ 2 ครั้ง และสุดท้ายด้วยภาวะหัวใจขาดเลือด เขาก็จากเราไปในที่สุด

กลับมาที่ Blues Summit  หลังจากอัลบั้ม There’s Always One More Time ที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไหร่ ทีมงานของคิงก็วางแผนจะให้เขาทำอัลบั้มบลูส์แบบทรงพลังอีกครั้ง มันเป็นงานรวมดาวศิลปินบลูส์แห่งยุคที่จะมาร่วมร้อง-เล่นกับคิงสดๆในห้องอัด Robert Cray มิเพียงแต่ตอบตกลง เขายังร่วมเขียนเพลงใหม่เอี่ยมให้คิงเพื่ออัลบั้มนี้โดยเฉพาะ ‘Playing With My Friends’ ที่เป็นเพลงเปิดอัลบั้ม Blues Summit ส่วน Joe Louis Walker ก็ยกเพลงเก่า ‘Everybody’s Had The Blues’ ที่เขาบอกว่าเขียนให้คิงมาเล่นกับคิงเอง แน่นอนว่ามันลงตัวสุดๆ ส่วนเจ้าภาพคิงเองก็ยอมน้อยหน้า จัดเพลงใหม่ ‘I Gotta Move Out of This Neighborhood’ มาเหมือนกัน

สุภาพสตรีแห่งบลูส์ห้าท่านมาร่วมขับร้องกับบี.บี.คิงในอัลบั้มนี้ Etta James มีการเปลี่ยนเพลงกะทันหันคืนก่อนหน้าการอัดเสียง ทำให้เธอและคิงต้องเรียนรู้,เรียบเรียง และแต่งใหม่ในบางจุด สำหรับเพลง ‘There’s Something On Your Mind’ แต่คุณจะไม่รู้สึกหรอกว่ามันเพิ่งทำเสร็จ, Katie Webster กับ Since I Met You Baby สุดยอดจริงๆทั้งการร้องของทั้งสองและกีต้าร์อันสุดติ่งของคิง แถมยังมีอารมณ์ขันแบบหน้าตายของเคที่อีกด้วย (ต้องฟังเอง) เล่ากันว่าเคที่เรียบเรียงเพลงนี้มาจากบ้านเลย, Koko Taylor มาในเพลง Something You Got แหล่งข่าวแจ้งว่าบุคลากรในห้องอัดแทบทุกคนต่างตื่นตะลึงไปกับเสียงร้องอันทรงพลังของเธอ และเพลงนี้ก็”โจ๊ะ”ดีจริงๆ. Ruth Brown กับคิงสลับกันยกให้อีกฝ่ายเป็น boss ใน You’re The Boss ส่วน Irma Thomas ก็ขับร้อง We’re Gonna Make It กับคิงอย่างชื่นมื่น อาจเป็นเพราะคิงเพิ่งจัดเค้กวันเกิดเซอร์ไพรส์ให้เธอก่อนการบันทึกเสียง

ที่เหลือก็เป็นการพบกันของรุ่นเฮฟวี่ กับ Buddy Guy ใน I Pity The Fool ที่เข้มข้นสมความคาดหวัง และทีน่าจับตามองที่สุดก็คือการดวลกับ John Lee Hooker ใน You Shook Me สองตำนานนี้มีความเก๋าในวงการบลูส์พอๆกัน แต่เหมือนเส้นทางของทั้งคู่จะไม่เคยบรรจบ และการประชันกันในเพลงเอกของ Willie Dixon นี้ถือเป็นการดวลที่ไม่ธรรมดา มันต่างจากความโครมครามใน I Pity The Fool แต่เต็มไปด้วยความละเมียดและบาดลึกในอารมณ์ที่ต้องตั้งใจฟัง

คนที่คิงยินดีมากมายที่เขามาร่วมด้วยคือ Lowell Fulson ในเพลง ‘Little By Little’ เขาเที่ยวบอกทุกคนในห้องอัดว่า     ” ....นี่แหละ คนที่เป็นกวีแห่งบลูส์ คนที่เขียนเพลงฮิตเพลงแรกให้ป๋า....  “ (Three O’Clock Blues)

การบันทึกเสียงเต็มวงพร้อมกันสดๆทำให้ได้สุ้มเสียงที่ fresh มากมายใกล้เคียงกับคำว่าไร้ที่ติ (ความจริงก็ไม่รู้จะติอะไรจริงๆ) ยิ่งได้กระบี่มือหนึ่งอย่างท่าน Bernie Grundman มาทำมาสเตอร์ให้อีก คงจะเป็นที่รับประกันได้อีกระดับหนึ่งสำหรับคอออดิโอไฟล์

Blues Summit เป็นอัลบั้มบลูส์ที่เหมาะมากสำหรับ beginner แต่ในขณะเดียวกันคอบลูส์ทุกระดับก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความครบเครื่องของมัน ทั้งฝีมืออันจัดจ้าน ความหลากหลายในอารมณ์ตั้งแต่รสชาติอันเศร้าสะท้านไปจนถึงเฮฮาปาร์ตี้ที่กำกับด้วยเสียงกีต้าร์ “ลูซิลล์” ของคิง รวมทั้งแขกรับเชิญที่”ปล่อยของ”กันไม่ยั้งมือ และถ้าคุณจะมีงานของคิงสักชุดในบ้าน จะเลือก Blues Summit ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยครับ

หมายเหตุ—แขกรับเชิญใน Blues Summit ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เหลือเพียง Robert Cray, Buddy Guy, Irma Thomas และ Joe Louis Walker เท่านั้นครับ ชื่อที่เหลือขึ้นไปรอคิงอยู่ก่อนแล้วทั้งหมด

นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมได้เขียนถึง B.B. King ใน GM2000 และอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ขอยืมคำพูดฝรั่งมาหน่อยนะว่า The King Is Gone… but the thrill isn’t gone ครับ, ความยิ่งใหญ่และความตื่นเต้นในบทเพลงของคิงจะอยู่กับเราต่อไปอีกนานแสนนาน