Wednesday, 28 February 2018

ข่า-มี๊-ล่ะ



Camila Cabello :: Camila ***



Released : January 2018

Producers: Frank Dukes (also exec.) ,Jarami Skrillex, T-Minus, Bart Schoudel ,The Futuristics, SickDrumz and  Jesse Shatkin
Genre: Pop, Latin

Tracklist

Never Be The Same
All These Years
She Loves Control
Havana
Inside Out
Consequences
Real Friends
Something’s Gotta Give
In The Dark
Into It
Never Be The Same (Radio Edit)

Camila Cabello ยืนยันว่าถ้าจะออกเสียงชื่อเธอให้ได้รสชาติอย่างคิวบันจริงๆต้องแบบหัวเรื่องด้านบนนะครับ นี่คืออัลบั้มเดี่ยวชุดเปิดตัวของสาวน้อยลูกครึ่งคิวบัน-อเมริกันวัย 20 ปี อดีตสมาชิกวงเกิร์ลป๊อบ Fifth Harmony และถือเป็น debut ที่เธอทำได้ไม่เลวทีเดียว แม้จะยังขาดอะไรไปบ้างนิดหน่อยในการที่จะเป็นอัลบั้มระดับยอดเยี่ยม

วง Fifth Harmony แจ้งเกิดมาจากการที่พวกสาวๆเข้าประกวดใน X-Factor ในปี 2012 (และจบลงด้วยการคว้าอันดับ 3 มาครอง) ในการแข่งขันรอบหนึ่งที่พวกเธอเลือกเพลง We are never ever getting back together ของ Taylor Swift มาขับร้อง หนึ่งในคณะผู้ตัดสิน Demi Lovato สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศออกไมค์ว่า เธอเห็นว่าในห้าคนนี้ มีอยู่คนเดียวที่ส่องประกายเจิดจ้าออกมา (shine) และแม้จะอึกอักไม่ยอมบอกว่าใครคือสมาชิกคนนั้นในตอนแรก แต่สุดท้าย Demi ก็ชี้ไปที่สาวน้อยวัย 14 ปี (ในขณะนั้น) : Camila Cabello แถมเดมี่ยังกำชับลงไปอีกดอกว่า ฉันคิดว่าคนอื่นๆในวงน่าจะเรียนรู้อะไรจากเธอได้ บรรยากาศกระอักกระอ่วนพอสมควร แต่ คามีล่า ก็ไวพอที่จะตอบกลับไปว่า ฉันคิดว่าเราก็ส่องประกายกันทุกคน

แต่ความจริงก็คือความจริง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่เธออยู่ในวง ทุกคนรู้ดีว่าคามีล่า มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น ทั้งเสน่ห์ส่วนตัวอันร้อนแรง และพลังการขับร้องที่โดดเด่นแตกต่างจากสมาชิกที่เหลือทั้ง 4 (ไม่ได้หมายความว่าอีก 4 คนจะร้องไม่ดี แต่มันแทบไม่มีอะไรที่จะดึงดูดให้กล่าวขวัญ) ใครๆก็คงจะทำนายได้ไม่ยาก ว่าการออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวของคามีล่านั้น มันมีอยู่แค่คำถามเดียว เมื่อไหร่?

ก่อนจะออกอัลบั้มนี้ คามีล่าเปิดตัวกับงานนอกวงด้วยการไปร้องคู่กับ Shawn Mendes ในเพลง I Know What You Did Last Summer (2015) และไปร่วมงานกับแรปเปอร์ Machine Gun Kelly ในเพลง Bad Things ในปีต่อมา ตามด้วยการไป collaborate กับศิลปินอื่นๆอีกมากมาย เธอออกจาก Fifth Harmony อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2016 ท่ามกลางความไม่เซอร์ไพรซ์ของแฟนเพลง

ซิงเกิ้ลแรกของคามีล่าในปี 2017 “Crying In The Club” กลับไม่เปรี้ยงเท่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดีเธอวางแผนจะออกอัลบั้ม debut ในชื่อ The Hurting. The Healing. The Loving ในเดือนกันยายน แต่ทุกอย่างก็ถูกเลื่อนออกไป หลังจากความสำเร็จระบือโลกของซิงเกิ้ลที่สอง “Havana” (คาดว่าเธอเองก็ไม่คาดคิดว่ามันจะดังขนาดนั้น)

Havana เพลงที่มีผู้แต่งร่วมกันถึง 10 คน ครับ คุณอ่านไม่ผิด และผมก็พิมพ์ไม่ผิด 10 คน และสองใน 10 นั้นก็มีคามีล่า และฟาเรลล์ วิลเลี่ยมส์ร่วมอยู่ด้วย เป็นเพลงที่มีความพิเศษจริงๆ ไม่น่าแปลกใจที่มันจะดังไปทั่วโลก และติดอันดับ 1 บิลบอร์ดอยู่หลายสัปดาห์ จังหวะช้าโยก สัดส่วนของดนตรีคิวบัน (เสียงทรัมเป็ตนั่น) และป๊อบ/แร็ปที่กลมกล่อมลงตัว ใช้เสียงร้องของคามีล่าได้อย่างเปี่ยมประโยชน์ที่สุด มันเซ็กซี่ ติดหู ไพเราะ และทรงคุณค่า โดยส่วนตัวผมจัดให้มันเป็นเพลงป๊อบที่ประเสริฐสุดเพลงหนึ่งในปีที่ผ่านมา

ความสำเร็จของเพลงนี้ ทำให้คามีล่ามั่นใจในความเป็นตัวเธอเองมากขึ้น นั่นทำให้ชื่ออัลบั้มเปลี่ยนไปเป็น ‘Camila’ สั้นๆเท่านั้น รวมทั้งการโละเอาหลายๆเพลงออกจากแทร็คลิสต์ ซิงเกิ้ลที่ออกไปแล้วนอกจาก Havana ไม่ถูกนำมาเสนออีกครั้งในอัลบั้ม ที่มีความยาวเพียงแค่ 10 แทร็คนี้ (ไม่นับโบนัสแทร็ค ที่เป็น radio edit ของเพลง Never Be The Same)

แต่ร่องรอยของ The Hurting. The Healing. The Loving ก็ยังคงอยู่ในชื่อเพลงหลายๆเพลง และคำร้อง ผู้ฟังคงอดคิดกันไม่ได้หรอกว่า นี่คือบันทึกห้วงหนึ่งของชีวิตที่เธอจารึกความรู้สึกของการต้องพลัดพรากจากวงดนตรีวงแรกของเธอ กับทางเดินใหม่ที่.... คงไม่มีทางเหมือนเดิม (Never Be The Same) และเธอคงจะจดจำขวบปีเหล่านั้นไปตลอด (All These Years) การเป็นศิลปินเดี่ยว น่าจะเป็นหนทางที่สาวคนนี้จะทำอะไรได้ตามฝันของตัวเองได้มากกว่าเดิม (She Loves Control) เธออาจจะยังโหยหาว่าในวงการนี้จะหาเพื่อนแท้ได้ไหมนะ (Real Friends) แต่ก็นั่นแหละ ทุกอย่างมีได้ก็ต้องมีเสีย (Something’s Gotta Give) คือถ้าจะคิดมากจริงๆ ก็ดูเหมือนจะโยงไปเกี่ยวกับเรื่องการแยกทางกับ Fifth Harmony ได้เกือบทุกเพลง แต่ผมอาจจะคิดมากไปเองก็ได้มั้ง

ดูจะเริ่มเป็นเทรนด์พอสมควร กับการทำอัลบั้มความยาวสั้นๆ มีเพลงไม่กี่เพลง (ยุคสมัยของการทำเพลงเกือบ 80 นาที ให้เต็มซีดีมันผ่านไปแล้ว) แต่ต้องเป็นเพลงหัวกะทิ ไร้ฟิลเลอร์ Camila ก็มาในแนวนั้น ขาดเพียงแต่ว่า มันยังไม่ใช่หัวกะทิทุกเพลงจริงๆ และมีบางเพลงที่เรียกได้เต็มปากว่า filler อย่าง In The Dark

ความสุดยอดของ Havana ทำให้เพลงอื่นๆหมองไป เพราะฟังยังไงก็ไม่มีแทร็คไหนที่มีคุณภาพใกล้เคียง สุ้มเสียงชอง “Camila” เป็นเพลงป๊อบกระจ่างๆ มีความเป็นอคูสติกและริธึ่มในแบบของ Ed Sheeran และเมื่อมีจังหวะ กลิ่นอายของละตินมิวสิกก็จะโชยเข้ามาเสมอ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีงาม เพราะมันเป็นลีลาดนตรีที่น้ำเสียงของคามีล่าโดดเด่นจริงๆ

เพลงช้าดูจะเยอะไปเสียหน่อย นอกเหนือจาก Havana ก็มีเพียง She Loves Control และ Inside Out เท่านั้นที่ชวนขยับแข้งขยับขาจริงๆ แต่ในความเยอะไปหน่อยของเพลงช้านั้นก็มีเพลงไพเราะมากๆอย่าง Real Friends และ Consequences ที่น่าประทับใจแต่แรกฟัง ผมชอบมากกว่าเพลงเปิดหัวสองเพลงนั่น ที่ดูจะเกร็งและกดดันไปสักนิด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยอดเยี่ยมทั้งหมดก็ยังอยู่ที่เสียงร้องของคามีล่า มันเป็นการร้องเพลงที่ดรามาติก พลิ้ว และรัญจวนใจ แบบที่เราจะฟังได้เต็มอิ่ม ไม่ต้องรอเธอโผล่มานิดๆหน่อยเหมือนใน Fifth Harmony

น่าเสียดายครับ เป็นงานที่เกือบจะดี แต่ก็จบแค่พอใช้ได้เท่านั้น สัดส่วนเพลงดูจะไม่ถูกต้อง (ธรรมชาติของนักร้องละตินวัยรุ่นอย่างเธอ ไม่ควรจะทำเพลงช้ามากมาย) และน่าจะเอาซิงเกิ้ลเก่าๆมาใส่จะดูดีกว่าใส่เพลงแถมที่ซ้ำเดิม สรุปว่าเป็นงานป๊อบที่ฟังได้เพลินๆ และน่าจะถูกลืมไปได้ง่ายๆก่อนสิ้นปี อ้อ แต่เสียงจากนักวิจารณ์เมืองนอกค่อนข้างจะชมนะครับ คามีล่ายังมีเวลาอีกยาวไกลมากในเส้นทางนี้ รอดูงานชิ้นต่อไปของเธอครับ



Thursday, 1 February 2018

พ่อมดเพลงป๊อบ


Bruno Mars :: 24K Magic ****
Released : November 2016
Genre : Pop Soul R&B Funk
Producers: Shampoo Press & Curl (also exec.) The Stereotypes Emile Haynie Jeff Bhasker

Tracklist:

28 มกราคมที่ผ่านมา อัลบั้มชุดที่สามของบรูโน มาร์ส, ศิลปินหนุ่มอเมริกันวัย 32 ปี,ชุดนี้คือพระเอกตัวจริงของการแจกรางวัลแกรมมี่ประจำปี 2018 เฉพาะตัวอัลบั้ม มันได้ไปสามรางวัล, Best Engineered Album (ที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิก), อัลบั้ม R&B ยอดเยี่ยม และ รางวัลใหญ่ อัลบั้มแห่งปี นอกเหนือจากนั้น That’s What I Like แทร็คหนึ่งในอัลบั้มนี้ยังกวาดไปอีกสามรางวัล- เพลงแห่งปี, เพลง R&B ยอดเยี่ยม และ Best R&B performance ยังไม่หมด เพลง 24K Magic ยังได้รับรางวัลเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมอีกด้วย (Record of the year)   แกรมมี่ก็มักจะเป็นอย่างนี้ หลายปีที่จะมีศิลปินหอบรางวัลกลับบ้านเต็มอ้อมกอดอยู่คนเดียว

นั่นทำให้เราต้องมาพูดถึงอัลบั้มนี้กันสักหน่อย แม้มันจะออกมาตั้งแต่ปลายปี 2016 นู่น

บรูโน สร้างชื่อมาตั้งแต่สองชุดแรกของเขา Doo-Wops and Hooligans (2010) และ Unorthodox Jukebox (2012) แล้ว ว่าเป็นคนหนุ่มที่ทำเพลงป๊อบได้หลากหลาย ลากแนวทางเก่าๆของศิลปินอื่นมาเป็นของตัวเองได้อย่างแนบเนียน เป็นหนึ่งในศิลปินไม่กี่คนที่มีแววจะเป็น King of Pop คนต่อไปได้ บรูโนทิ้งช่วงหลังจากอัลบั้มก่อนถึงสี่ปี แต่ก็มีซิงเกิ้ลเขย่าโลกอย่าง Uptown Funk ในปี 2014 ที่เขาไป feat. ในตำแหน่งนักร้องนำในเพลงของ Mark Ronson ออกมาก่อนหน้านี้ ความดังถล่มทลายของมันอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ 24k Magic กลายเป็นงานที่เน้นความย้อนยุคแห่งดนตรีป๊อบผิวสียุค 90’s กันอย่างเต็มตัว แนวเร็กเก้ที่ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในเพลงของเขา-หายไป

ด้วยความยาวเพียงแค่เลยครึ่งชั่วโมงมานิดๆ และจำนวนเพลงเพียงเก้าเพลง ไม่มีแขกรับเชิญ (และยังไม่มีการทำ deluxe edition เพิ่ม extra tracks อย่างที่ใครๆเขานิยมทำกัน) นี่จึงเป็นอัลบั้มที่เน้นเนื้อล้วนๆ ไร้ไขมันส่วนเกิน บรูโนกล่าวไว้ว่า “ถ้าผมเอาคุณไม่อยู่ในเก้าเพลง ต่อให้เพิ่มเป็นสิบสามเพลงผมก็เอาคุณไม่อยู่อยู่ดี” น่าแปลกที่กลับไม่รู้สึกว่ามันสั้นเกินไปแต่อย่างใด เป็นไปได้ว่าความรู้สึกว่าต้องฟังอัลบั้มยาวๆ 50-70 กว่านาทีในยุคซีดีนั้นเริ่มเฟดหายไปแล้ว ผู้ฟังส่วนใหญ่สมาธิสั้นลง และฟังเพลงจากการสตรีมมิ่งกันเสียมากกว่า มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์อัลบั้มที่มีความยาวระดับคอมแพ็คแบบนี้ก็เป็นได้ ไม่ต้องมี fillers จัดแต่เพลงที่คุณคิดว่าเยี่ยมจริงๆมานำเสนอกันเลย อย่าให้คนฟังเสียเวลา

การเขียนเพลงของบรูโน ค่อนข้างจะยึดสูตรสำเร็จของเพลงป๊อบอย่างเคร่งครัด ท่อนเวิร์ส คอรัส พรีคอรัส บริดจ์ มาครบทุกเพลง เนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆใคร่ๆ และความหื่นกระหายในกามคุณของคนหนุ่มกลัดมัน บรูโนยังมีปัญหาในเรื่องการค้นหาสุ้มเสียงของตัวเองอยู่ แม้เขาจะทำเพลงออกมาได้ยอดเยี่ยมเกือบทุกเพลง แต่ทุกเพลงนั้นคนฟังก็พาลคิดไปถึงศิลปินรุ่นพี่คนนู้นคนนี้กันได้เสมอ

เมื่อเราฟัง Perm เราได้ยิน James Brown (ก็มันฟังค์เต็มเหนี่ยวซะอย่างนั้น)

เมื่อเราฟัง That’s What I Like นั่นทำให้นึกถึง Jodeci (หลายคนส่ายหัวกับรางวัลมากมายที่เพลงนี้ได้จากแกรมมี่ แต่เพลงแบบนี้ล่ะครับ ที่คนอเมริกันชอบ)

ในเพลงสุดเซ็กซี่ Versace On The Floor มีคนกระซิบว่าเหมือนนักร้องโซลบัลลาด Freddie Jackson
และไม่แปลกที่คุณจะเห็นหน้าของ Babyface ลอยมา เมื่อฟังไปถึง killer ballad แทร็คสุดท้าย -  Too Good To Say Goodbye ก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะเบบี้เฟซเองมาร่วมแต่งเพลงนี้ด้วย หลังจากมาร์สทำมันไม่เสร็จ ค้างคาอยู่หลายปี แทร็คนี้ผมชอบที่สุดในอัลบั้ม แม้มันจะโคตรที่จะสูตรสำเร็จ แต่ก็เป็นสูตรสำเร็จที่ทำได้ถึงและได้ใจยิ่งนัก

และเพลงอื่นๆอีก ที่ฝากคุณไปหลับตานึกกันเอง

แต่ยังไม่มีเพลงไหน ที่ทำให้เราบอกได้ว่า นี่ไง เพลงแบบบรูโน มาร์ส แท้ๆ

ที่น่าสนใจคือ แม้ 24k Magic จะเป็นงานป๊อบที่อัดแน่นด้วยพลัง และดนตรีที่แทบไม่มีที่ติทุกกระเบียด แต่สิ่งที่หายไปอย่างน่าสงสัยคือ ความ hook หรือ catchy ในท่วงทำนอง อันปกติจะเป็นจุดแข็งในเพลงของบรูโน นอกเหนือจากแทร็คสุดท้ายแล้ว ก็แทบไม่มีเมโลดี้ที่น่าจดจำเอาเสียเลย (ไม่ใช่ไม่ไพเราะเลยนะครับ อย่าเข้าใจผิด) แอบคิดเข้าข้างว่าอาจจะเป็นความจงใจอะไรบางอย่างของแก

การบันทึกเสียงในชุดนี้ดีมาก ทั้งไดนามิก ดีเทล และการแยกชิ้นดนตรี ผิดวิสัยเพลงป๊อบแนวนี้ที่มักจะคอมเพรสและเสียงดังกันจนล้น คงต้องชมเชยทีมงานบันทึกเสียงทุกคน โดยเฉพาะ Charles Moniz ในตำแหน่งเอ็นจิเนียร์ และ Tom Coyne มาสเตอริ่งมือฉมัง (ผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างน่าเสียดาย) สมควรอย่างยิ่งกับรางวัลแกรมมี่สาขาการบันทึกเสียงครับ

ส่วนรางวัลอื่นๆที่บรูโนได้จากแกรมมี่ ไม่มีความเห็นนะครับ เพราะไม่ได้ฟังงานอื่นๆในปีนี้มากพอทีจะมาเปรียบเทียบ แต่ที่น่าเสียดายคือ ในฐานะของผู้นำเพลงป๊อบในปัจจุบัน บรูโน น่าจะสร้างอะไรที่แปลกใหม่ให้วงการได้มากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ได้ฟังใน 24K Magic แม้ในทุกบทเพลงมันจะเนี้ยบไปเสียทุกโน้ต แต่โดยรวม ทั้งหมดก็คือเหล้าเก่าเอามาเล่าใหม่ และเพลย์เซฟมากๆ

มาถึงคำถามสำคัญ บรูโน ยิ่งใหญ่พอจะเทียบกับ ไมเคิล แจ็คสัน ในฐานะราชาเพลงป๊อบหรือยัง


 คำตอบของผมคือ ขอฟังอัลบั้มหน้าอีกสักชุดครับ