คุณคงเคย...เปิดแผ่นซีดีทิ้งเอาไว้ ฟังจนเงียบไป นึกว่าจบแล้ว แต่เวลาผ่านไปสิบห้านาทีขณะที่คุณกำลังล้างจานเพลินๆ กลับมีเสียงดนตรีที่คุณสาบานว่าไม่เคยได้ยินมาก่อนแผดขึ้นมา ฟังไปฟังมา มันก็เพลงของไอ้วงที่เราเปิดเมื่อกี้นี่หว่า....
นั่นละครับ hidden track ปัญหาคือมันจะซุกจะซ่อนไปทำไม ทำให้เสียภาษีน้อยลง หรือว่าไปขโมยเพลงใครเขามา
ไม่น่าเชื่อครับ ในบางกรณี การซุกเพลงเกิดขึ้นเพราะเหตุผลดังกล่าวจริงๆ เช่นในบางอัลบั้ม live ของ The Ramones หรือ The Spaghetti Incident? ของ GNR ที่เอาเพลงของชาร์ลส์ แมนสันมาเล่น (Look at your game, girl) อันถือเป็นเรื่องน่าประนามที่เอาเพลงของฆาตกรโหดมาเผยแพร่
แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะซุกเพื่อความสนุกสนานมากกว่า หรือไม่ก็เพลง hidden track นั้นไม่เข้าพวกกับเพลงอื่นๆในอัลบั้มก็เลยต้องซุกแยกออกไป
คำจำกัดความของ hidden track ก็คือเพลงหรือบางส่วนของดนตรีที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นเสียง ซีดี หรือ เทป ด้วยกรรมวิธีในการที่จะทำให้ผู้ฟังทั่วไปไม่อาจจะค้นหาหรือแม้แต่ทราบว่ามันมีอยู่ได้ ส่วนใหญ่การซุกเพลงจะเป็นไปด้วยความจงใจ แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่เป็นความบกพร่องโดยสุจริต (สาบาน!)
กรรมวิธีในการซุกเพลงถ้าเป็นในแผ่นไวนีล ส่วนมากก็ใช้วิธีหลอกกันดื้อๆด้วยการไม่ใส่ชื่อเพลงลงบนปกซะงั้น แต่บางเจ้าก็ลงทุนทำแผ่นเสียงเป็น double-grooved โดยเพลงที่จะซุกถูกซ่อนไว้ในร่องที่สอง (บอกตามตรงว่าผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจ)
พอมาเป็นซีดี ก็มีลีลาในการซุกได้น่าเกลียดยิ่งขึ้นแต่ก็มีบางรายยังใช้วิธีซุกแบบเดิมๆคือไม่ใส่ชื่อเพลงบนปก แต่มีแทร็คขึ้นตามปกติในเครื่องเล่น เช่น Train In Vain ของ The Clash ใน London Calling แต่เพลงนี้ดั้งเดิมในไวนีลเป็นการซุกโดยสุจริต เพราะพวกเขาใส่เพลงนี้เข้ามาในวินาทีสุดท้าย ปั้มชื่อเพลงไม่ทัน (เชื่อมันไหม)
วิธีการซุกที่เป็นที่นิยมสุดๆก็คือใส่เพลงที่ต้องการซ๋อนแอบเอาไว้หลังอีกเพลงนึง (ส่วนมากจะเป็นเพลงสุดท้าย) โดยทิ้งช่วงเป็นความเงียบงันนานๆหลายนาที อาทิเช่น Endless, Nameless ของ Nirvana ใน Nevermind
อีกวิธีที่แสบสันต์และเชื่อว่าหลายคนยังไม่คาดว่ามันจะมาไม้นี้ ก็คือการซุกซ่อนเอาไว้หน้าแทร็ค 1 หรือจะเรียกว่าแทร็ค 0 ก็ได้ วิธีการฟังเพลงซุกแบบนี้ต้องเปิดเพลงแรกก่อนแล้วกดปุ่มรีไวน์ถอยหลังจนเกินเข้าไปในแทร็ค 0 หรือเรียกว่าช่วง pregap อัลบั้มใหม่ของ Damien Rice ก็ใช้วิธีการนี้ และรวมถึงอัลบั้ม Think Tank ของ Blur ด้วย
วิธีการใส่แทร็คสั้นๆที่ไม่มีเสียงอะไรหลายๆแทร็คก่อนที่จะได้ฟังแทร็คที่ซุกเอาไว้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง อัลบั้ม Broken ของ Nine Inch Nails ให้เราฟังหกเพลงหลักแล้วก็ยัดแทร็คเงียบๆมาอีก 91 แทร็ค ก่อนที่จะมีเพลงซุกซ่อนอยู่อีกสองเพลง
บางทีก็มีพวกสิ้นคิดใช้วิธีนี้-แทร็คที่ซุกซ่อนจะเล่นได้เฉพาะเมื่อใส่ซีดีเข้าไปในคอมพิวเตอร์เท่านั้น
The Beatles อาจจะเป็นศิลปินคนแรกที่เล่นพิเรนแบบนี้ กับเพลง Her Majesty ใน Abbey Road (แต่ตอนหลังในยุคซีดีกลับมีชื่อเพลงนี้บนปก) หรือบางคนก็นับ Can You Take Me Back ที่เป็นเพลงสั้นๆระหว่าง Cry Baby Cry และ Revolution9 บางทีอาจจะต้องย้อนกลับไปถึงปี 1967 กับ Sgt. Pepper's ที่มีการเล่นกับ groove ใน Sgt. Pepper's Inner Groove หรือเสียง high frequency noise หลัง A Day In The Life
น่าขำที่บางทีเพลง hidden tracks เหล่านี้กลับกลายเป็นเพลงฮิตกว่าเพลงที่ไม่ซุกเสียอีก เช่น Can't Take My Eyes Off You ของ Lauryn Hill หรือ Big Yellow Taxi ของ Counting Crows
1 comment:
เป็นแนวทางที่ผมอยากจะเขียนอีกเยอะๆ แต่ก็ยังไม่มีแนวนี้ตามมาอีก
Post a Comment