Sunday 4 July 2010

Rolling Stones: Exile on Main St.


“A Masterpiece of gritty Rock & Roll”


Rolling Stones/Exile on Main St. (deluxe edition) *****

ออกจำหน่าย-พ.ค. 2010 (ต้นฉบับออกเมื่อ พ.ค. 1972)
แนวดนตรี-Rock, blues-rock, country rock, folk, soul, gospel, Boogie-woogie
โปรดิวเซอร์ – Jimmy Miller (Bonus tracks โดย Don Was และ The Glimmer Twins)

พฤติกรรมของคนรักดนตรีที่เกิดไม่ทันงานคลาสสิกที่ออกมาก่อนพวกเขาจะประสีประสาในการฟังเพลงก็คือการออก “ตามล่า” เก็บงานระดับที่วงการยอมรับว่า “ยอดเยี่ยมตลอดกาล” ตามอันดับชาร์ตและโพลล์ต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นนักฟังที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกและรสนิยมของตัวเอง ก็จะพบเป็นประจำว่าหลายครั้งต้องเกาหัวแกรกด้วยความไม่เข้าใจว่างานแบบนี้ล่ะนะที่วงการเขายกย่องกันว่าเหนือชั้นและต้องมีเก็บเอาไว้ ฟังยังไงก็ไม่เห็นจะได้เรื่อง

เหตุการณ์ทุกเหตุย่อมมีคำอธิบายและกรณีอย่างนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อผมคว้า Exile on Main St. ของสโตนส์มาฟังเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน มันเป็น Double LP ที่มีเพลงดังของพวกเขาแค่เพลงเดียว หรืออย่างมากก็สองเพลง ที่เหลือคืออีก 16 เพลงที่บันทึกเสียงกันแบบอู้อี้ ด้วยฝีมือของนักดนตรีที่พร้อมจะเมาหลับหรือไม่ก็ยังไม่สร่าง และบทเพลงบลูส์เก่าๆที่ฟังดูเรื่อยเปื่อยหาจุดโฟกัสไม่ได้

ผมโทษตัวเองก่อนว่าเราคงจะ “หูไม่ถึง” และคงต้องใช้เวลากับมันอีกพอสมควรถึงจะสัมผัสกับความอัจฉริยะที่แท้จริงของ มิค แจ็กเกอร์, คีธ ริชาร์ดส์, มิค เทย์เลอร์, บิล ไวแมน และ ชาร์ลี วัตต์ส ในอัลบั้มนี้ แต่ดูเหมือนเวลาจะไม่ช่วยอะไร กี่ปีผ่าน ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าอัลบั้มนี้มีดีอะไร เมื่อเทียบกับงานอย่าง Sticky Fingers, Let It Bleed หรือ Beggars Banquet ที่ออกมาในยุคที่วงร้อนแรงในขณะนั้น

กุญแจสำคัญที่จะทำให้ฟัง Exile ได้อย่างมีความสุขก็คือ ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ audiophile album ที่บันทึกเสียงอย่างเนี้ยบ มันไม่ใช่อัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงฮิตและท่อนฮุคอย่าง Brown Sugar, Jumpin’ Jack Flash หรือเป็นงานที่ผ่านการโปรดิวซ์และตัดต่ออย่างปราณีตเหมือน เพลง Sympathy For The Devil

ตรงข้าม Exile on Main St. คือมาสเตอร์พีซของงานดิบหยาบ ที่อาจจะถือเป็นต้นธารของดนตรีกรันจ์ งานที่สโตนส์ไม่ใส่ใจจะทำเพลงฮิตเอาไว้เล่นในคอนเสิร์ต มันคือหินกลิ้งในยุคที่ไม่ยึดติดกับอะไร และดำดิ่งไปในรากของแนวดนตรีอเมริกันที่พวกเขารัก โดยเฉพาะบลูส์ คันทรี่ และกอสเพล คุณภาพของการมิกซ์เสียงถือว่าสอบตกถ้าวัดกันด้วยมาตรฐานหูทอง เสียงร้องของมิคถูกกดทับและเบาหวิว ชิ้นดนตรีเบียดกระเสียนกันอย่างไร้มิติราวกับเป็นการบันทึกเสียงแบบโมโน

แต่ทั้งหมดคือเสน่ห์ของอัลบั้มนี้ ที่ไม่เหมือนกับอัลบั้มใดของสโตนส์ และอาจจะไม่เหมือนอัลบั้มใดในโลก! คุณอาจจะทราบมาก่อนว่าส่วนหนึ่งของอัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ชั้นใต้ดินของวิลล่าหรูที่คีธเช่าไว้ในตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่ไม่แปลกถ้าคุณจะคิดว่านี่คืออัลบั้มที่คุณถือเครื่องเล่นเทปเข้าไปแอบอัดด้วยตัวเอง

ดาราร็อคอังกฤษยุคนั้นประสบปัญหาเกี่ยวกับภาษีที่สูงปรี้ดกันถ้วนหน้าและสโตนส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น การอพยพมาบันทึกเสียงกันต่างประเทศหลายๆเดือนก็เป็นทางออกทางหนึ่ง และหลังจากหาสตูดิโอเหมาะๆในฝรั่งเศสไม่ได้ พวกเขาก็เลยตัดสินใจ set up ห้องอัดกันเองที่ Nellcôte แมนชั่นยุคศตวรรษที่ 19 ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศขรึมทะมึนและงดงาม

วงดนตรีชั้นยอดหลายวงทำงานคลาสสิกออกมาจากการย้ายสถานที่มาอัดเสียงในบ้านแบบนี้ อาทิเช่น Led Zeppelin ในงานชุดที่ 4 ของพวกเขา และ Radiohead กับ OK Computer มันอาจจะไม่สะดวกสบายและได้คุณภาพเสียงเทียบเท่าในห้องอัด แต่สิ่งที่ได้คืนมาคืออารมณ์ศิลปินที่พรั่งพรูกว่าอยู่ในห้องอัดมืดๆและซาวนด์แปลกๆที่ได้มาจากฮอลล์ของอาคารเหล่านี้

Stones ไม่ได้พร้อมหน้าพร้อมตาอะไรกันเลยในการทำงานหลายเดือนใน Exile นี้ มิก แจ็กเกอร์ก็เพิ่งแต่งงานกับเบียงก้าและดูจะไม่มีสมาธิกับงานนัก บิล และ ชาร์ลี ก็มีบ้านพักที่อื่นในฝรั่งเศส ส่วนเจ้าบ้านคีธที่ดูเหมือนจะเป็นพระเอกในงานนี้ ก็ต้องขับเคี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ทั้งแฟนสาว ลูกน้อย และการติดเฮโรอีนอย่างหนักของตัวเอง

แต่ Exile ก็เป็นอัลบั้มโปรดตลอดกาลของคีธเสมอ ปกติเขาจะไม่เล่นแผ่นของสโตนส์ แต่ถ้าเจอ Exile ที่ไหน เขาจะขอหยิบยืมมาเปิดทุกครั้งไป แต่ถ้าไปถามมิค แจ็กเกอร์ เขาจะตอบว่านี่ไม่ใช่งานที่สลักสำคัญอะไรนัก

ถ้าคุณเคยฟังแค่ซิงเกิ้ลฮิต Tumbling Dice หนึ่งในเพลงที่มีจังหวะ ‘groove’ หรือ ย้วยยานกวนโอ๊ยได้น่ารักน่าฟังที่สุดของสโตนส์แล้วจะคิดว่านั่นคือตัวแทนของ Exile ก็ขอให้คิดใหม่ เพราะไม่มีเพลงไหนที่ติดหูฟังง่ายในแบบนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับฟังยากฟังเย็นหาความไพเราะกันไม่ได้

ความที่มันเป็น Double LP ทำให้วงมีพื้นที่เล่นในการใส่เพลงแปลกๆลงไปหลายเพลงเหมือนอย่างที่ The Beatles ทำในอัลบั้มปกขาว เราจึงได้ฟังเพลงหลอนๆอย่าง Sweet Virginia หรือ I Just Want To See His Face เพลงเหล่านี้ฟังดูดีเมื่ออยู่ใน Exile เท่านั้น

ทำใจให้ได้กับสไตล์การมิกซ์เสียงแบบดิบไร้มิติ และปูพื้นฐานการฟังเพลงบลูส์ คันทรี่ โซล และ กอสเพล สักนิด ท่านจะได้ฟัง Rolling Stones เล่นดนตรีหลากแนวเหล่านี้ให้ฟัง ในบริบทและอารมณ์ของร็อคแอนด์โรล อีกสุดสายปลายสเปกตรัมของความเนี้ยบและเมโลดี้อ่อนหวานที่ Beatles เคยทำไว้ คงไม่มีประโยชน์นักที่จะมาสาธยายแต่ละเพลงในอัลบั้มกันตรงนี้ โปรดสัมผัสด้วยวิญญาณของท่านเองเถิดครับ ผมคงไม่ต้องเตือนกระมังว่าคนไม่ชอบเพลงร็อค หรือนิยมในความเนี้ยบของตัวโน้ตและการบันทึกเสียง ไม่ควรนำอัลบั้มนี้เข้าใกล้บริเวณบ้านเป็นอันขาด*

ผมเชื่อว่าถ้ามีการ remix ใหม่ Exile น่าจะฟังดีขึ้น แต่ก็คิดว่าพวกเขาตัดสินใจถูกแล้วที่คงมิกซ์เดิมไว้ เพราะมันเสี่ยงที่เดียวที่จะทำลายเสน่ห์ของมัน เพลงบลูส์เท่ๆของโรเบิร์ต จอห์นสันอย่าง Stop Breaking Down Blues อาจจะไม่ต้องการ fidelity อะไรนัก และ เสียงเครื่องเป่าสุดมันส์ใน Rip This Joint ก็ดูจะสมัครใจเป่ากันอย่างเบียดๆอยู่ในมิกซ์แบบเดิมนั่นแหละ แต่การรีมาสเตอร์ในเวอร์ชั่น 2010 นี้ก็ทำให้เสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นคมชัดและทรงพลังขึ้นเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นเก่าๆครับ

ประเด็นหลักที่ทำให้แฟนเก่าที่ซื้อ Exile ไปหลายรอบแล้วต้องควักกระเป๋าอีกครั้งใน Deluxe Edition นี้ก็คือแผ่น Bonus tracks 10 เพลง ที่อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) เพลงเก่าที่พวกเขาไม่ได้ไปทำอะไรเพิ่มเติม แต่เป็นเวอร์ชั่นและตัวเพลงที่ไม่เคยออกขายมาก่อน คือ I’m Not Signifying บลูส์ข้นๆที่น่าฟังมาก, Good Time Woman บูกี้ร็อคที่เป็นเวอร์ชั่นแรกๆของ Tumbling Dice, เพลงบรรเลงสั้นๆชื่อ Title 5 และ alternative version ของ Loving Cup และ Soul Survivor (เวอร์ชั่นนี้คีธร้องแทนที่จะเป็นมิค) สองเพลงหลังทำให้จินตนาการได้ว่าถ้า Exile ได้รับการรีมิกซ์แล้วเสียงจะเป็นอย่างไร (คำตอบ-ฟังดูดีแฮะ) กลุ่ม 2) คือเพลงเก่าที่สโตนส์เอามาแต่งเติมเพิ่มกีต้าร์และเสียงร้องใหม่เข้าไป Plundered My Soul ถึงกับเรียก Mick Taylor กลับมาเล่นกีต้าร์และเป็นซิงเกิ้ลใหม่ของอัลบั้มนี้ด้วย เพลงที่ฉีกไปเลยคือ Following The River ที่ยังกับเป็น Bridge Over Troubled Water ฉบับหินกลิ้ง Pass The Wine ฟังกี้บลูส์ร้อนๆ Dancing In The Light สว่างเหมือนชื่อเพลง อาจจะเป็นเพลงที่ “ใส” ที่สุดใน 28 แทร็คนี้ และ So Divine (Aladdin Story) ที่ใครฟังก็ต้องนึกถึงไบรอัน โจนส์ผู้ล่วงลับ 10 เพลงใน Bonus disc นี้สามารถเป็นงานชั้นยอดของ rock group อื่นได้สบายๆ แต่มันเป็นแค่เพลงที่สโตนส์คัดทิ้ง!

นี่คือการ reissue ที่สมศักดิ์ศรี gritty masterpiece of Rock & Roll อัลบั้มนี้ครับ สมควรและคุ้มค่าแก่การสะสมและศึกษาถ้าคุณไม่อยู่ในข้อแม้ที่ผมกล่าวข้างบน(*)

CD 1:
1. 'Rocks Off'
2. 'Rip This Joint'
3. 'Shake Your Hips'
4. 'Casino Boogie'
5. 'Tumbling Dice'
6. 'Sweet Virginia'
7. 'Torn and Frayed'
8. 'Sweet Black Angel'
9. 'Loving Cup'
10. 'Happy'
11. Turd on the Run'
12. Ventilator Blues'
13. 'I Just Want to See His Face'
14. 'Let It Loose'
15. 'All Down the Line'
16. 'Stop Breaking Down'
17. 'Shine a Light'
18. 'Soul Survivor'

CD 2: (All previously unreleased material)
1. 'Pass the Wine (Sophia Loren)'
2. 'Plundered My Soul'
3. 'I'm Not Signifying'
4. 'Following the River'
5. 'Dancing in the Light'
6. 'So Divine (Alladin Story)'
7. 'Loving Cup' (Alternate Take)
8. 'Soul Survivor' (Alternate Take)
9. 'Good Time Women'
10. 'Title 5'





1 comment:

kilroy said...

สวัสดีครับหมอวินส์ ไม่ได้แวะมาที่บล็อกนี้นานมาก เห็นที่ OK Nation ก็เงียบๆ ไป กลับมาดูที่นี่ใหม่ Update ไปหลายเรื่องแล้ว

จะแจ้งว่าซื้อ Exile เป็นครั้งที่สามไปแล้ว 555... ชอบรีวิวชิ้นนี้ครับ มีจุดยืนเป็นของตัวเองชัดเจน ส่วนทัศนะส่วนตัวนั้นจำได้ว่าวัดกันที่ตอนฟังครั้งแรก ผมชอบ Exile มากกว่า Beggar, Let it Bleed หรือ Sticky อีกน่ะครับ เล่าสู่กันฟังเฉยๆ

Take Care...