Tuesday, 23 February 2016

Painting With

“ระบายสีแห่งสรรพเสียง”

Animal Collective | Painting With ***1/2
Released : February 2016
Producer: Animal Collective
Genre: Psychedelic Pop
Tracklist:
01 “FloriDada”
02 “Hocus Pocus”
03 “Vertical”
04 “Lying In The Grass”
05 “The Burglars”
06 “Natural Selection”
07 “Bagels In Kiev”
08 “On Delay”
09 “Spilling Guts”
10 “Summing The Wretch”
11 “Golden Gal”
12 “Recycling”


อัลบั้มชุดที่ 10 ของวงดนตรี “ป๊อบแนวทดลอง” ที่โด่งดังที่สุดแห่งยุค-- Animal Collective พบกับพวกเขาในแนวทางที่เข้าถึงง่ายขึ้น ดนตรีอัพบีทและตรงประเด็น ทุกเพลงกระชับไม่ยืดยาว แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้หมายความว่าทั้ง 12 เพลงใน Painting With จะเป็นเพลงป๊อบธรรมดาๆแต่อย่างใด ตรงกันข้าม,แทบทุกโมเมนต์ในความยาว 41 นาทีกว่าๆของอัลบั้มนี้มันเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่จะผลิตสุ้มเสียงแปลกๆและทางเดินของตัวโน๊ตที่ไม่อาจคาดเดา,อย่างที่พวกเขาเคยทำกันมาตลอด ถ้าจะให้สรุปง่ายๆว่าเพลงของวงนี้เป็นอย่างไร คงต้องอ้างอิงจาก Rolling Stone— เสียงประสานแบบไบรอัน วิลสัน, การใช้เครื่องดนตรีแบบหลุดโลก, เพอร์คัสชั่นแบบตะวันออก และ เสียงแปลกๆที่หาที่มาที่ไปไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง

พวกเขาฟอร์มวงกันในบัลติมอร์โดยกลุ่มเพื่อนเก่าแก่และผู้ร่วมงานดนตรีนาม Avey Tare (ชื่อจริง David Portner) Panda Bear (ชื่อจริง Noah Lennox), Deakin (ชื่อจริง Josh Dibb) และ Geologist (ชื่อจริง Brian Weitz) พวกเขาขึ้นชื่อในเรื่องการทำดนตรีแบบไม่สนใจ genre ทั้งผสมผสานและกระโดดข้ามไปมาอย่างไม่แคร์สื่อหรืออะไรทั้งสิ้น รวมทั้งการทดลองในสตูดิโอที่เกินกว่าใครจะจินตนาการในการทำเสียงและดนตรีต่างๆลงไปในบทเพลง

Animal Collective ออกอัลบั้มแรก Spirit They’re Gone, Spirit They’ve Vanished ในปี 2000 และตามด้วย Danse Manatee ในปีต่อมา โลกเริ่มรุ้จักพวกเขาในฐานะของวงดนตรีประหลาดๆที่ทำเพลงลูกผสมในแนวโฟล์คเพี้ยนๆ, นอยซ์ร็อค, แอมเบี้ยนท์โดรน และไซคีดีลิคทำนองสวยๆ ตามด้วยอัลบั้มแสดงสดอีกสองชุดในปี 2002 และ Campfire Songs กับ Here Comes The Indian ในปี 2003 มันเป็นอัลบั้มแรกที่พวกเขาร่วมงานกันทั้ง 4 คนอย่างจริงจัง

ยุคยิ่งใหญ่ของ Animal Collective เริ่มต้นที่อัลบั้ม Sung Tongs ในเดือนพ.ค. 2004 มันเป็นงานที่ลึกลับและเต็มไปด้วยเมโลดี้ที่ซับซ้อนเปราะบาง งานชุดนี้ได้รับการยกย่องทั้งสองฝั่งแอตแลนติก พวกเขาร่วมงานกับตำนานโฟล์คชาวอังกฤษ Vashti Bunyan ในงานอีพี The Prospect Hummer ในปีต่อมา ก่อนจะปล่อยอัลบั้ม Feels ที่ได้ทั้งเงินและกล่องตอนปลายปี 2005 และอีพี People เป็นผลงานในปี 2006

ปี 2007 Animal Collective เซ็นสัญญากับ Domino Records และ Strawberry Jam เป็นอัลบั้มแรกของพวกเขาในสังกัดนี้ ก่อนจะมาถึงงานบันลือโลก Merriweather Post Pavilion งานชุดที่ 8 ที่ออกมาในปี 2009 มันเป็นงานที่เข้าถึงง่ายและลงตัวที่สุดของพวกเขา หลายสำนักยกให้มันเป็นอัลบั้มแห่งปี 2009 และในชาร์ตมันไปได้ถึงท็อป 20 ในอเมริกา พวกเขาออกทัวร์กันอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น แต่ก็ยังมีเวลาปล่อยอีพี Fall Be Kind ออกมาในปีต่อมา

อัลบั้ม Centipede Hz ในปี 2012 ประสบชะตากรรมเหมือนกับงานหลังมาสเตอร์พีซทั่วๆไป คือมันล้มเหลวทั้งด้านการขายและเสียงวิจารณ์เมื่อเทียบกับ Merriweather Post Pavilion พวกเขาแยกย้ายกันไปทำงานส่วนตัวก่อนที่จะกลับมากับ Painting With ในปี 2016

พวกเขาเรียก Painting With ว่าเป็น “อัลบั้ม Ramones ของพวกเรา” มันไม่ได้หมายความว่าทางวงจะหันไปเล่นเพลงร็อคแอนด์โรลที่มีพังค์แอตติจูดแบบ The Ramones แต่นี่คืองานของ Animal Collective ที่ไม่เวิ่นเว้อ ทุกเพลงเข้าเรื่องทันที แต่ก็เต็มไปด้วยวิญญาณแห่งนักทดลองในแบบของพวกเขาเต็มเปี่ยม พวกเขาบันทึกเสียงกันที่ Eastwest Studios ในแคลิฟอร์เนีย สถานที่เดียวกับที่ไบรอัน วิลสัน และ The Beach Boys บันทึกเสียงงานคลาสสิก Pet Sounds และ Smile แนวทางการร้องและเสียงประสานของ Animal Collective และการทดลองกับสุ้มเสียงที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้นได้รับอิทธิพลมาจาก Beach Boys ไม่น้อย การได้มาทำงานในสถานที่เดียวกันย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้สามหนุ่มพอสมควร (ชุดนี้สมาชิกมีสามคนคือ Avey Tare, Panda Bear และ Geologist แต่ไม่ได้แปลว่า Deakin จะไม่ได้อยู่ในวงแล้ว พวกเขาทำงานกันเหมือนเป็นโปรเจ็คไปในแต่ละชุด) และแม้นี่จะเป็นงานอีเล็กโทรนิคส์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็บันทึกเสียงได้ยอดเยี่ยมน่าฟัง

12เพลงใน Painting With ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงจังหวะเร็วที่มีเมโลดี้สวยงาม แต่ความสวยงามนั้นอาจไม่ได้จับต้องได้ง่ายดาย เพราะมันดำเนินไปด้วยเนื้อร้องที่ยากจะเข้าใจแม้จะใช้คำง่ายๆ และความถี่ยิบของคำร้อง อีกทั้งการประสานเสียงแบบเสียงคู่เอ็คโค่ของนักร้องอีกคนตามมาซ้อนทับในแบบ narrator (ที่ออกจะใช้บ่อยเกินไปนิด)ดนตรีอีเล็กโทรนิคส์ของพวกเขายังลึกลับซับซ้อนและจับความได้ว่าได้อิทธิพลมาจากการเน้นย้ำในแนวminimalism แบบ Philip Glass มาพอสมควร (แต่มันเป็นมินิมัลลิซึมแบบไม่”น้อย”เลย) มันอาจจะไม่สำคัญนักว่าคุณเป็นแฟนเก่าหรือเคยฟังงานของ Animal Collective มาก่อนหรือเปล่า เพราะงานของพวกเขาแต่ละชุดก็ไม่ค่อยซ้ำรอยเดิมอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณจะฟังวงนี้ครั้งแรก คงต้องเปิดใจกว้าง และให้เวลากับมันหน่อย เพราะมันอาจเป็นการทำเพลงป๊อบที่ฉีกขนบธรรมเนียมในหลายประเด็น และนั่นคือความสวยงามและคุณค่าของดนตรีของ Animal Collective และผมคงไม่แปลกใจถ้าคุณจะบอกว่า ทำไมเพลงของวงนี้มันถึง “เยอะ” อย่างนี้ แม้จะเป็นงานชุดที่ 10 แล้ว แต่ความร้อนวิชาของ Animal Collective ก็ยังไม่ลดถอยลงเลย

มันคงไม่ประสบความสำเร็จได้ถึงระดับเดียวกับที่ Merriweather Post Pavilion ทำไว้ แต่นี่เป็นอัลบั้มที่ฟังสนุกในหลายๆมิติ และคงจะเรียกความมั่นใจของวงกลับมาได้อย่างแน่นอน แนะนำให้ฟังเพลินๆไปรอบสองรอบและกลับมาดูเนื้อเพลงตามไปด้วยในรอบที่สาม แม้ว่าคุณจะเก่งภาษาแค่ไหนก็ตาม มันยากที่จะตามเนื้อร้องของพวกเขาได้ทันและครบ

เพลงแนะนำ FloriDada, The Burglars, On Delay, Summing The Wretch และ Golden Gal


(หมายเหตุ: หน้าปกมี 3 เวอร์ชั่น จากการวาดของสามสมาชิก)

No comments: