Sunday, 26 March 2017

Semper Femina

Laura Marling : Semper Femina ***1/2
Genre: Indie Folk
Producer: Blake Mills



Tracklist: Soothing / The Valley / Wildfire / Don’t Pass Me By / Always This Way / Wild  Once / Next Time / Nouel / Nothing, Not Nearly

จะขอบคุณหรือขอโทษคุณพ่อของเธอก็ได้ แต่เขาเป็นเหตุผลที่ทำให้ลอร่า มาร์ลิ่ง สาวบริทิชที่เกิดในปีค.ศ. 1990 คนนี้ มาทำเพลงโฟล์คอันเป็นแนวที่ไม่ใช่วัยของเธอเลย คุณพ่อ-Sir Charles William Somerset Marling เป็นผู้แนะนำให้เธอรู้จักกับดนตรีโฟล์คตั้งแต่วัยกระเตาะ ปัจจุบันลอร่าอายุ 27 ปี และนี่คืออัลบั้มชุดที่ 6 ของเธอ “Semper Femina” และความเป็นโฟล์คก็ยังเจิดจ้าในบทเพลงของเธอเช่นเคยมา (แม้จะมีอย่างอื่นอีกมากในส่วนผสม)

Semper Femina….  คำๆนี้ฟังครั้งแรกแม้จะไม่ทราบความหมาย ก็รู้สึกได้ว่าเป็นชื่อที่ไพเราะและมีความเป็นกวี มันเป็นภาษาละตินที่แปลคร่าวๆได้ว่า “สตรีนั้นย่อมเปลี่ยนแปรเสมอ” ลอร่าคงจะชอบคำๆนี้มาก ถึงกับสักมันไว้ที่ต้นขาของเธอตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ไม่มีชื่อเพลงนี้ในอัลบั้ม แต่คุณจะได้เห็นคำๆนี้ในเนื้อเพลงของเพลง Nouel และอาจกล่าวได้ว่า มันเป็น theme ของอัลบั้มนี้ ซึ่งก็หมายความว่านี่คือ concept album

คุณอาจจะรู้สึกพิลึกๆกับการใช้สรรพนามในอัลบั้มนี้ มันเหมือนกับจะเป็นอัลบั้มของ singer-songwriter ชายที่เขียนเพลงให้ผู้หญิง ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้นก็ไม่แปลก เพราะเป็นความจงใจของลอร่าในขั้นแรกเมื่อเขียนเพลงสำหรับอัลบั้มนี้ ที่เธอจะสมมุติตัวเองเป็นผุ้ชายเขียนเพลงให้กับผู้หญิง แต่ภายหลังลอร่าก็เปลี่ยนใจ ด้วยความรู้สึกว่าเธอไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เธอสามารถเขียนเพลงให้ผู้หญิงโดยตัวตนของเธอเองได้ และหลายๆเพลงก็ดูเหมือนผู้หญิงคนนั้นที่กำลังฟังเพลงของเธอ ก็หาใช่ใครอื่นนอกจากตัวเธอเอง
ลอร่าใช้คำไม่ยากนักในการประพันธ์เพลง แต่ก็เหมือนกวีทั้งหลาย ความยากอยู่ที่การบอกไม่หมด และการตีความต่อเนื่องจากถ้อยคำที่คุณเห็นและได้ยินนั้น บางเพลงก็จัดว่าตีความค่อนข้างง่าย (หรืออาจจะไม่ต้องตีเลยก็ได้) แต่บางเพลงก็คงต้องรอให้เธอมาเขียนคำเฉลยในอนาคตสักวันหนึ่งถึงจะแน่ใจได้ว่าเธอหมายถึงอะไรก็ได้

ตั้งแต่ออกผลงานชุดแรก Alas I Cannot Swim ปี 2008 เป็นต้นมา ลอร่า มาร์ลิ่ง ไม่เคยทำงานไม่ดี (มีแต่ดีมาก หรือ ดีมากๆ เท่านั้น) งานอินดี้โฟล์คของเธออาจจะไม่ได้ฟังง่ายเสนาะหูเข้าถึงคนหมู่มากได้ แต่มันเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับนักฟังตัวจริง ที่พร้อมจะให้เวลาดื่มด่ำกับดนตรีและเนื้อหา หลายอัลบั้มของเธอได้รับการคัดเลือกให้เช้าชิงรางวัล Mercury (แต่ไม่เคยชนะสักชุด) ถ้ามีโอกาส คุณก็ควรจะฟังงานเก่าๆของเธอมาก่อน จะได้เห็นความเติบโตหลายๆอย่างของผู้หญิงคนนี้ ตั้งแต่แนวคิด การทำดนตรี และลีลาในการใช้เสียงร้องถ่ายทอดบทเพลง

แต่ยุคนี้จะหาเวลาอย่างนั้นอาจจะไม่ยาก ผมว่ามันก็โอเคนะ ถ้าคุณจะเริ่มที่อัลบั้มนี้เลย ลอร่าร่วมงานกับ Blake Mills โปรดิวเซอร์หนุ่ม (มีผลงานกับ Alabama Shakes) Semper Femina ยังคงเป็นงานที่คงลายเซ็นสำคัญๆของลอร่าไว้ครบครัน ทั้งการเขียนเนื้อเพลงแบบกวีโฟล์ค แนวดนตรีที่ใช้การพิคกิ้งกีต้าร์นำทางในทางเดินคอร์ดที่ไม่ธรรมดา อันชวนให้คิดถึงผลงานอันยิ่งใหญ่ในยุคทศวรรษ 70’s ของ Joni Mitchell เครื่องสายเบาบางที่สอดประสานเข้ามาอย่างรู้กาลเทศะ ทุกเพลงดำเนินไปด้วยจังหวะอันเนิบช้า เสียงร้องของลอร่าเต็มไปด้วยความมั่นใจและหนานุ่มกว่าครั้งเยาว์วัยมากมาย นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้ รวมทั้งสีสันดนตรีในแนวแฝงอื่นที่นอกเหนือจากโฟล์คที่ดอดเข้ามาร่วมสังสรรค์ในแบบที่คนฟังอาจจะแทบไม่สังเกต

ฟังเพลงโฟล์คแบบนี้ จำเป็นไหมต้องสนใจเนื้อเพลงด้วย? ตอบอย่างฟันธงเลยว่าจำเป็นครับ ไม่งั้นอรรถรสจะหายไปกว่าครึ่ง ลองเอาเนื้อเพลง(ที่ยุคนี้หากันไม่ยาก)มากางดูตามไปเถิดครับ ผมคงไม่ลงรายละเอียด ณ ที่นี้ ให้โอกาสท่านไปตีความกันเอง

จากแทร็คแรก Soothing ที่ออกแนว scary trip hop ของ Portishead จนถึงเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าที่ลุกมาจากภวังค์หลับใหลในแทร็คสุดท้าย Nothing, Not Nearly นี่คือผลงานชิ้นเอกอีกครั้งของลอร่า มาร์ลิ่ง มันยังคงเป็นอัลบั้มที่น่าสะสม แม้ในยุคที่คนจะเลิกสะสมงานเพลงกันแล้ว  และผมจะไม่แปลกใจเลยถ้า Semper Femina จะทำให้ลอร่าได้เข้าชิง Mercury Prize อีกครั้งในปีหน้า


และเธอก็สมควรจะชนะเสียทีแล้วในคราวนี้

No comments: