Wednesday, 27 August 2008

B.B. King: One Kind Favor


B.B. KING One Kind Favor ****



สถาบันแห่งดนตรีบลูส์ท่านนี้อายุอานามปาเข้าไป 82 ปีแล้ว อัลบั้มหลังๆของปู่บีบีดูจะถดถอยไปพอสมควร แต่แฟนๆก็คงให้อภัยสำหรับคนหนุ่มอายุปูนนี้

ไม่มีใครคิดว่าปีนี้ปู่จะกลับมาพร้อมกับอัลบั้มบลูส์เปลือยๆแบบเข้มข้นถึงใจอย่าง One Kind Favor ที่นิตยสาร Rolling Stone ถึงกับออกปากชมว่า "นี่ไม่ใช่อัลบั้มที่ดีที่สุดของบีบีคิงในรอบหลายปีเท่านั้น มันยังเป็นงานในห้องอัดที่เยี่ยมที่สุดชุดหนึ่งในชีวิตการทำงานของเขา"

งานหลังๆของบีบีมักจะอยู่ในความควบคุมของโปรดิวเซอร์ Simon Climie ผู้เชี่ยวชาญด้าน sequencing และ programming อีกทั้งยังพิสมัยในความ"เนียน"ของเนื้อเสียงแบบไม่มีออกนอกลู่นอกทาง จะหวังสำเนียงดิบๆจากงานโปรดิวซ์ของไซมอนนั้นยากเต็มที

ดังนั้นการเปลี่ยนตัวโปรดิวเซอร์มาเป็น T Bone Burnett (ผลงานหลังๆที่ผมชอบมากของเขาคือการโปรดิวซ์ให้ Robert Plant & Alison Krauss และซาวนด์แทร็ค Across The Universe)ที่มีแนวทางแทบจะตรงกันข้ามกับไซมอนจึงส่งผลกระทบอย่างชัดเจน One Kind Of Favor ไม่มีอะไรหรูหรา ดนตรีน้อยชิ้นเน้นฝีมือ จากผู้อาวุโสมากฝีมืออย่าง Dr. John ที่เปียโน Nathan East-Bass และ Jim Keltner กลอง

ปู่บีบีของเราดูกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษทั้งน้ำเสียงและการเล่นกีต้าร์อันเป็นธรรมชาติของนักดนตรีทุกผู้เมื่อได้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นใจ

นี่อาจจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายของปู่ก็เป็นได้ แต่บุรุษผู้ผ่านอะไรต่อมิอะไรมาเหลือเฟืออย่างปู่ดูเหมือนจะไม่หวั่นไหวอะไรต่อวาระสุดท้าย ไม่งั้นท่านคงไม่เลือกเพลง See That My Grave Is Kept Clean ของ Blind Lemon Jefferson มาเปิดอัลบั้ม มันเป็นการมองความตายด้วยมุมมองของนักดนตรีบลูส์ได้สะอารมณ์และเท่ชมัด ...ผมไม่ขออะไรมาก...แค่ดูแลหลุมศพให้สะอาดก็พอแล้ว....


ชื่นใจแทนแฟนๆและตัวปู่ครับที่สามารถผลิตงานชั้นยอดออกมาได้อีกครั้ง!!
------------------------------------
"See That My Grave Is Kept Clean" (Blind Lemon Jefferson)
"I Get So Weary" (T-Bone Walker)
"Get These Blues Off Me" (Lee Vida Walker)
"How Many More Years" (Chester Burnett)
"Waiting For Your Call" (Oscar Lollie)
"My Love Is Down" (Lonnie Johnson)
"The World Is Gone Wrong" (Walter Vinson and Lonnie Chatmon)
"Blues Before Sunrise" (John Lee Hooker)
"Midnight Blues" (John Willie "Shifty" Henry)
"Backwater Blues" (Big Bill Broonzy)
"Sitting On Top Of The World" (Walter Vinson and Lonnie Chatmon)
"Tomorrow Night" (Lonnie Johnson)






Sunday, 24 August 2008

Metallica แสดงที่ St. Petersburg 2008


ผมต้องยอมรับว่าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้อันเหนียวแน่นของ Metallica แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแสดงของพวกเขายังทรงพลังและเต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม และถึงแม้อัลบั้มหลังๆของพวกเขาจะออกทะเลกันไปเรื่อยๆ แต่บนเวทียังหาใครกินพวกเขายาก ยิ่งช่วงหลังได้ข่าวว่าดูแลตัวเองกันดีไม่สำมะเลเทเมาเหมือนตอนวัยรุ่น ก่อนขึ้นเวทีบางคนยังเล่นโยคะอีกด้วย




ขออนุญาตแนะนำไฟล์บันทึกการแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการที่พวกเขาไปเล่นในรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองมาให้ฟังกันครับ เป็นไฟล์ที่ได้จาก soundboard คุณภาพเสียงจึงอยู่ในระดับดีมากๆ (ผมยังคิดว่าถ้าได้มือดีๆมา remaster อีกสักหน่อยเป็นงาน official ได้สบายครับ)


อัลบั้มใหม่ของพวกเขาที่ได้ Rick Rubin พ่อกูรูเครายาวมาโปรดิวซ์ให้คงจะใกล้ออกเต็มทีแล้วล่ะมั้งครับ?
setlist
CD1:01 - Creeping Death02 - For Whom The Bell Tolls03 - Ride The Lightning04 - Harvester Of Sorrow05 - Kirk Solo #106 - The Unforgiven07 - Leper Messiah08 - And Justice for All09 - No Remorse10 - Fade to Black
CD2:01 - Master Of Puppets02 - Whiplash03 - Kirk Solo #204 - Nothing Else Matters05 - Sad But True06 - One07 - Enter Sandman08 - Last Caress09 - Motorbreath10 - Seek and Destroy

download

40 ปี White Album - 1





เป็นธรรมเนียมไปแล้วสำหรับนิตยสาร MOJO ที่ต้องลงเรื่องใหญ่อัลบั้มครบรอบ40ปีของ Beatles ทุกปีมาตั้งแต่ปี 2006 เริ่มต้นด้วย Revolver และมีซีดีพิเศษแถมให้เป็นเพลง cover โดยศิลปินยุคใหม่ยกอัลบั้ม (ผมค่อนข้างประทับใจ Revolver Reloaded มาก แต่ปีที่แล้วกับ Sgt. PEPPER’S ไม่ค่อยดีเท่าไหร่) ปีนี้เป็นปีของอัลบั้ม ‘The Beatles’ หรือชื่อเล่นๆที่ทุกคนรู้จักกันดีกว่าชื่อจริงว่า The White Album

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มคู่ MOJO ก็เลยพิเศษทำเป็นสองเล่มต่อเนื่องกันสองเดือน และซีดีก็แถมเป็นสองแผ่นไล่ตามอัลบั้มจริงด้วย (ซีดีผมยังฟังไปไม่ถึงรอบจึงยังไม่ขอวิจารณ์อะไร) หน้าปกเล่นโทนขาวหม่นเหมือนสีปกอัลบั้มนี้ที่ผ่านการกัดกร่อนของห้วงเวลามาแล้วพอสมควร ไม่เชื่อไปดูได้ปกแผ่นเสียงเก่าๆของอัลบั้มนี้จะออกสีนี้กันแล้วทั้งนั้น

สมัยอัลบั้มนี้ออกจริงๆผมเพิ่งอายุได้ขวบเดียว และตอนจะหามันมาฟังในยุคกลาง 80’s ในบ้านเราในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์กลับกลายเป็นของหายาก หรือจะพูดว่าหาไม่ได้เลยก็ว่าได้ แม้แต่เทปผี มันจึงกลายเป็นอัลบั้มแรกที่ผมได้ฟังครั้งแรกจากแผ่นไวนีลที่ไปหิ้วเข้ามาจากอเมริกา สังกัด Capitol, Stereo รู้สึกจะเป็นแผ่นฮอลแลนด์ แต่เสียงดีเชียวล่ะ ทุกวันนี้ผมยังริปมันจากแผ่นนี้ไว้ฟังใน iPod อยู่ แม้จะมีเสียงซู่ซ่าคลิกๆแก๊กๆมั่งก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหารบกวนอะไร (บางคนได้ยินเสียงพวกนี้ไม่ได้ ต้องรีบหา software มาทำการกลบเกลื่อนเป็นการใหญ่)

White Album เป็นอัลบั้มที่เป็นอะไรที่แตกต่างจาก Sgt. Pepper’s กันแบบสุดขั้วโลกเหนือ-ใต้ ขณะที่ Pepper สร้างขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจและมันสมองที่อยู่ใน Creative Peak, White เป็นงานที่งอกเงยออกมาจากรอยร้าวของความสัมพันธ์ในวงและการทำงานแบบแทบจะเป็นงานโซโล่ Pepper มีความเป็น perfectionist และ concept album แต่เสน่ห์ของ White คือความ imperfection และความหลากหลายอย่างสุดขอบสเป็คตรัม 30 เพลงในอัลบั้มนี้ครอบคลุมแนวทางต่างๆมากมายจนแทบไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นผลงานของวงดนตรีวงเดียว ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือแม้ว่ามันจะไปคนละทิศละทางแต่เมื่อรวมอยู่ในซีดีสองแผ่นนี้แล้วกลับเป็นการฟังที่ต่อเนื่องไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกันของแต่ละเพลง ตำนานเล่าว่าพวกเขาใช้เวลามากเป็นวันๆในการเรียงแทร็ค เพื่อให้ได้ลำดับในการฟังอันยอดเยี่ยมเช่นนี้




ก่อน White Album พวกเขาออกซิงเกิ้ล Hey Jude/Revolution มาเรียกขวัญแฟนๆกันก่อน Revolution เป็นเพลงแรกที่ John หันมาเขียนแนวการเมืองและ/หรือสันติภาพอย่างเต็มตัว แต่เวอร์ชั่นในซิงเกิ้ลนี้ไม่เหมือนใน White Album (กีต้าร์ดังและแหบกร้าวรวมทั้งจังหวะที่ดุดันกว่าหลายเท่า) ส่วน Hey Jude นั้นไม่อยู่ในอัลบั้มเลยด้วยซ้ำ มันเป็นหนึ่งในซิงเกิ้ลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ทั้งๆที่มีความยาวถึง 7 นาที กว่าๆ ทางสังกัดเองยังลังเลว่าด้วยความยาวขนาดนี้มันจะเวิร์คหรือในการตัดเป็นซิงเกิ้ล แต่จอห์นย้อนกลับให้อย่างอหังการ์ว่า “มันต้องเวิร์ค เพราะเราบอกว่ามันจะเวิร์ค” และมันก็เวิร์คจริงๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบารมีของพวกเขา แต่ส่วนสำคัญก็คงต้องยกให้ความเป็น anthem ที่สมบูรณ์แบบของมัน ผมคิดเล่นๆว่าถ้าเพลงนื้มาอยู่ใน White Album ด้วยจะดีไหม นั่นหมายความว่าต้องมีเพลงถูกตัดออกไปสองสามเพลง และสมดุลของอัลบั้มจะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย เพราะ Hey Jude จะโดดเด่น...อาจะเกินไป มาคิดดูแล้วก็ไม่น่าจะเอามันเข้ามารวมล่ะครับ รวมทั้งไอเดียของหลายๆคนที่อยากให้ White เป็นแค่อัลบั้มเดี่ยวแล้วคัดแต่เพลงเด่นๆมาแค่ 13-15เพลง ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ ความมันส์ในการฟังอัลบั้มนี้อยู่ที่ความหลากหลายกระจัดกระจายของเพลงทั้ง 30 เพลง และเพลงอย่าง Why Don’t We Do It In The Road, Long, Long, Long, Don’t Pass Me By, Wild Honey Pie จะไปอยู่ที่ไหนได้ดีและน่าฟังเท่าในอัลบั้มแผ่นคู่นี้อีกเล่า


แฟนๆยุคนั้นอยู่ห่างไกลจากยุคข่าวสารลึกล้ำและรวดเร็วของยุคปัจจุบันมาก ทุกคนจึงฟังอัลบั้มนี้ด้วยความชื่นชม ไม่มีใครทราบว่าเบื้องหลังการทำงานนั้นพวกเขากดดันและเคร่งเครียดกันขนาดไหน

วันนี้ดึกแล้วขอจบแบบห้วนๆแค่นี้ก่อน ไว้จะมาเล่าเกี่ยวกับอัลบั้มนี้กันยาวๆต่อนะครับ

The Golden Age Of Download




ไม่ต้องกังวลไปครับ บทความนี้จะไม่พยายามลงลึกเรื่องเทคนิคทางคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่วุ่นวายน่าเบื่อ แค่อยากจะเล่าถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปในวงการ “แลกเปลี่ยนไฟล์” ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และท่านอาจจะได้พบกับของเล่นใหม่ที่เชื่อว่า music lover ทุกคนเจอเข้าให้ต้องติดหนึบ

การ share files แบบ p2p หรือคอมต่อคอมที่ "ดูเหมือนว่า"ไม่ต้องมีตัวกลาง เป็นความคลาสสิกของวงการดาวน์โหลด กับ Napster ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว (ปัจจุบันก็ยังมีชื่อนี้อยู่ แต่กลายเป็นเว็บโหลดเพลงลิขสิทธิ์แบบเหมาเก็บเงิน) หลังจาก Napster เปลี่ยนแนวไปก็มีโปรแกรมอื่นๆที่ดำเนินรอยตามอีกมากจนไม่มีทางไล่ฟ้องไล่ปิดไหว อาทิ Kazza, Limewire และอีกเพียบ

ตั้งแต่ปี 2001 โลกของการแชร์ไฟล์ก็เปลี่ยนไปด้วยการเข้ามาของ Bittorrent ที่ใช้โปรโตคอลใหม่เฉพาะตัวสามารถทำให้ผู้ใช้สามารถโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆได้ในเวลาที่น้อยลง ประกอบกับความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยุคของ bittorent จึงไม่มีใครโหลด “เพลง” มาฟังกันต่อไป อย่างต่ำต้องเป็น “อัลบั้ม” และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บางไฟล์จะเป็นการโหลดกันทั้ง entire discography ของศิลปินนั้นๆ! อานิสงค์หนึ่งของ torrent ก็คือแนวโน้มที่จะทำไฟล์ mp3 ให้มีคุณภาพสูงขึ้นหรือทำเป็น looseless ไปเลย เพราะไม่ต้องไปกังวลว่าจะมีปัญหาในการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆ คำโบราณๆที่กระแนะกระแหนถึงความด้อยคุณภาพของ mp3 จึงไม่อาจนำมาใช้ในปัจจุบันได้เต็มปาก

แน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดคือ free download ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ ขณะที่อีกฝั่งของค่ายเพลง iTunes ก็ยังคงทำเงินเป็นล่ำเป็นสันจากการโหลดนี้ สาวก iPod ส่วนหนึ่งคือคำตอบของความสำเร็จ แม้จะต้องเสียเงินพอๆกับไปซื้อซีดีก็ตามที

ขณะที่ torrent ยังคงเดินหน้าต่อไปแม้จะมีอุปสรรคบ้างเพราะตัวมันก็สร้างความเดือดร้อนให้ระบบในบางครั้ง (ใครเคยเล่น torrent จะทราบดีว่าถึงจุดหนึ่งคุณจะโหลดกันไม่บันยะบันยัง ทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องคิดเลยว่าที่โหลดเอาไว้นั้นยังไม่ได้ฟัง ดู หรือใช้งานเสีย 90% โหลดไว้ก่อน ไม่รู้ใครสอนไว้)

แต่ torrent ก็ยังมีจุดอ่อน ถ้าคุณต้องการหาอัลบั้มใหม่ของ Coldplay หรือ Madonna นั้นไม่ยากเลย เพราะมีผู้ร่วมป้อนข้อมูลกันเยอะ แต่ถ้าคุณเกิดอยากฟังงานอัลบั้มเก่าๆของ The Fixx เมื่อปี 1983 หรืออัลบั้มเพลงคลาสสิกเสียงดีๆในสังกัด Living Stereo ผมรับรองเลยว่าเหงื่อตกแน่ และต่อให้หา “หัวเชื้อ” นั้นเจอ ถ้ามีผู้ร่วมสังคายนา ‘seed’ ใน torrent นั้นๆไม่มากบางทีก็โหลดกันเป็นชาติ

ช่องว่างนี้เองทำให้น้องใหม่อย่าง one-click hoster เข้ามาเสียบ


One-click hoster คือผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ที่รับฝากไฟล์ต่างๆจากลูกค้าที่จะ upload ขึ้นมาไว้ และจะส่ง URL ให้กลับไป ลูกค้าก็จะสามารถนำ URL นั้นไปแปะไว้ในเว็บไซต์ตัวเอง หรือบอกเพื่อนๆให้ดาวน์โหลดกันได้ โดยทั่วไปจะเป็นไฟล์ขนาดใหญ่กว่าที่จะส่งให้กันทาง e-mail

ฟังดูเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลองและเป็น anti-p2p โดยสิ้นเชิง บริษัทที่ทำ one-click hoster จะได้เงินจากค่าโฆษณา และค่าสมาชิกที่ลูกค้าจ่ายให้ถ้าต้องการยกระดับตัวเองเป็น premium ที่จะโหลดได้เร็ว ไม่ต้องรอนาน และไร้ลิมิต

ความแตกต่างที่ชัดเจนของ one-click hoster กับ Torrent คือความเป็นเอกเทศและเสถียรภาพกว่า ความเร็วในการโหลดก็อยู่ในขั้นเร็วตามอัตภาพของผู้ใช้งานและไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น

ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการนี้จะมาแรงมากๆในสองปีหลังนี้ ทำให้หลายคนเริ่มถอยจาก bittorrent มาเล่นแนวนี้กันบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันประจวบเหมาะกับการโตอย่างสุดๆของ blogger ทั่วโลก (คุณยายข้างบ้านผมยังมี blog ใน wordpress เลย)

ถ้าคุณจะเปิด music blog แล้วมีเพลงให้เพื่อนๆดาวน์โหลดจาก collection ของคุณเอง ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการใช้บริการฝากไฟล์ของ one-click hoster ทั้งหลาย

เจ้าที่ดังที่สุดตอนนี้อย่าง rapidshare.com และ megaupload.com เขาอ้างว่าวันๆจะมีไฟล์ไหลเวียนในเว็บของเขาร่วม....(กลั้นหายใจ)....สองแสนกิ๊กกะไบท์.... และทั้งสองเว็บก็ติดอันดับ top20 ของเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลกอย่างไม่น่าแปลกใจอะไร

อ้อ แต่ทั้งสองเจ้านั้นเค้าไม่รับฝากงานที่มีลิขสิทธิ์ที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรอกนะ ถ้ามีใครท้วงติงมาเขาก็จะลบไฟล์ทันที เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีใครโวยเขาก็เฉยๆ ดูเหมือนกฎหมายจะเปิดช่องไว้ตรงนี้ว่าผู้รับฝากไฟล์ดิจิทัลในโลกอินเตอร์เน็ตไม่ต้องมีหน้าที่เป็นตำรวจเสียเอง ย่อหน้านี้คุณตีความกันได้ใช่ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้น

สองสามปีที่ผ่านมา จึงมี music blogs ที่มีเพลงให้โหลดผ่านทาง one-click hosters นี้มากมาย และเริ่มมีการประสานกันเป็นเครือข่าย มี forum ที่อุทิศตนให้ rapidshare โดยเฉพาะ บาง website update ไฟล์ใหม่ๆที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่ง “อัพ” ขึ้นไปสดๆกันแบบวันต่อวัน (วันละสามเวลาด้วยซ้ำ)

เราจะไม่พูดถึงงานลิขสิทธิ์ที่หาซื้อกันได้อยู่แล้ว แต่นี่เป็นโอกาสทองที่คุณจะได้ฟังงานหายากที่เลิกผลิตไปแล้ว หรือไม่เคยเป็นซีดีมาก่อน และงานแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการที่หลายต่อหลายชิ้นมีคุณค่าทางดนตรียิ่งไปกว่างาน official เสียอีก

นิตยสารดนตรีอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลที่สุดอย่าง Rolling Stone ยังเคยชี้โพรงให้กระรอกด้วยการแนะให้ผู้อ่านไปหางาน remasters ของ Beatles ที่ทำกันเองโดยแฟนๆโดยบอกกันโต้งๆให้ไป search ใน Google ด้วยคีย์เวิร์ดว่า Beatles megaupload ทำให้งานนี้ megaupload ได้ลูกค้าใหม่ไปหลายล้าน

การค้นหาใน Google ทำได้ แต่อาจจะไม่ได้ผลที่น่าพึงพอใจนัก สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ files เพลงแต่ละอันที่ผู้ใช้ upload ขึ้นไปไม่ได้มีการทำ index ที่ดีพอ รวมทั้งชื่อไฟล์ที่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นงานอะไร อันนี้เป็นความจงใจของผู้อัพ เพราะถ้าบอกชื่อโจ๋งครึ่มโอกาสที่จะถูกลบทิ้งก็สูงขึ้นตามลำดับ

การจะหางานดนตรีในสาระบบนี้จึงยังมิอาจทำได้เป็นระบบอย่าง torrent ที่มี search engine มากมาย รูปแบบของการค้นหาจึงออกไปทาง portal site หรือปากต่อปาก ลิงค์ต่อลิงค์มากกว่า แม้จะเสียเวลาไม่น้อยแต่ก็เป็นอะไรที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของ music lover อย่างที่บอก ถ้าใครยิ่งรักดนตรีมานานหรือหลากหลายเท่าไหร่โอกาสที่จะถอนตัวไม่ขึ้นจากวงการนี้ยิ่งมากเป็นเท่าตัว

Recommened Music Blogs

ถ้าคุณมี internet high-speed ระดับ 1 mb ขึ้นไปและเนื้อที่ฮาร์ดดิสก์เหลืออย่างน้อยก็ กิ๊กสองกิ๊ก ลองไปทัวร์ตาม blog เหล่านี้ดูครับ อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่าผู้อ่านระดับ GM2000 คงไม่คิดจะโหลดกันเป็นอาชีพอยู่แล้ว ต่อให้คุณภาพเสียงจะดีขึ้นแค่ไหนก็คงไม่อาจเทียบได้กับแผ่นไวนีลหรือซีดีจริงๆในมือ ก็ถือเสียว่าเป็น “ของเล่น” ทำเพลินๆแล้วกันนะ ที่คัดมานี้เป็นเพียงแค่ทรายกำมือเดียวจากชายหาด และอย่าแปลกใจที่คุณจะรู้สึกตัวอีกทีเมื่อยู่กลางมหาสมุทรของ mp3 แล้ว

Ultimate Bootleg http://www.theultimatebootlegexperience.blogspot.com/รวมงานแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการไว้เยอะที่สุดตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง Led Zeppelin ยัน Coldplay เจ้าของ blog น่าจะคัดงานมาลงพอสมควร คุณภาพใช้ได้ถึงยอดเยี่ยมเกือบทั้งหมด

Beatles Family http://octaner.blogspot.com/อะไรอะไรอะไรที่เกี่ยวกับ Beatles มีให้คุณโหลดกันอาน

New Brasilmidia http://newbrasilmidia.blogspot.com/คนบราซิลเป็นคนขยันหรือว่าตกงานกันเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบ ช่างอัพบล็อกกันได้เป็นเรื่องเป็นราวดีเหลือเกิน บล็อกนี้จะมีศิลปินฝรั่งปนละตินปนกันไป ทีเด็ดคือเต็มไปด้วยไฟล์แบบ “ยกมาทั้งชีวิต”

Jenzen Brazil http://jensenbrazil.blogspot.com/ อีกเจ้าจากบราซิล จับฉ่ายขนานแท้ มีทุกแนวและปริมาณมหาศาลอบย่างเหลือเชื่อ

Floodlitfootprint http://floodlitfootprint.blogcu.com/ บล็อกขวัญใจของนักเขียนดนตรีชื่อดังของบ้านเราคนหนึ่ง แฟนป๊อบ-ร็อคยุค 60-70’s กรี้ดสลบแล้วต้องรีบฟื้นมาโหลดต่อ

VinylHunt http://vinylloungehut.blogspot.com/ เจ้าของบล็อกเป็นวิศวะหนุ่มอเมริกัน ชอบไปหาแผ่นเสียงมือสองเด็ดๆมาริปเป็นเอ็มพีสามมาให้ฟังกัน ส่วนมากเป็นแผ่นที่ไม่มีซีดีวางขาย ออกไปในแนว lounge, easy listening มีหลายบล็อกที่ริปจากไวนีล แต่ของ VinylHunt นี้จะทำได้เนียนสุด ต้องให้เครดิตการ edit ของเขาครับ

80’s History http://historyofthe80s.blogspot.com/2008บล็อกของยุค 80’s นี้เยอะมาก เริ่มต้นที่นี่แล้วไปต่อยอดได้จากลิงค์เพื่อนบ้าน แล้วคุณจะคิดถึงเทปพีค็อกเก่าๆสมัยเยาว์วัย

Grumpy Boss http://grumpyscorner.blogspot.com/ ลุงกรัมปี้มีจานเด็ดคืองานรวมเพลงแบบ theme โดยแกเลือกเพลงเอง เช่นอัลบั้มวันฝนตก อัลบั้มรวมเพลงที่ใช้ชื่อสาวๆ อัลบั้มสำหรับฟังบนเครื่องบิน แกรวมเพลงได้เจ๋งจริงครับ

80’s Mixtape http://80s-tapes.blogspot.com/search/label/1982เจ้านี้มาแปลก ริปจากเทปรวมฮิตเก่าๆยุค 80’s ที่แกสะสมไว้ บางไฟล์ได้ยินเสียงเนื้อเทปชัดเจน

Crime Lounge http://thecrimelounge.blogspot.com/ เจ้าพ่อเจมส์บอนด์และซาวนด์แทร็คหนังสอบสวน-ฆาตกรรม เป็นบล็อกที่ดีไซน์เนี้ยบที่สุดบล็อกหนึ่ง

Lounge Legend http://loungelegends.blogspot.com/ อิ่มไปเลยสำหรับคอเพลงบรรเลงฟังสบายๆอย่าง Ray Conniff, James Last

Willfully Obscure http://wilfullyobscure.blogspot.com/ เจาะไปที่วงฝีมือดีแต่ไม่มีบุญพอจะดังในยุค 80-90’s หาฟังและซื้อยากจริงๆครับ

Crossroads Club http://crossroadsclub27.blogspot.com/ บลูส์เป็นหลัก

Singin’ and Swingin’ http://singinandswingin.blogspot.com/ เพลงหนังและเพลงแสตนดาร์ดเก่าๆยุค 60’s ลงไป

The Disco Vault http://thediscovaults.blogspot.com/ แผ่นเสียง 12 นิ้วและ extended mix ของเพลงดิสโก้ดังๆ

ถ้าท่านผู้อ่านมีอะไรจะปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เชิญได้ที่ winstonbkk@gmail.com ครับ

Saturday, 23 August 2008

She & Him Volume One



She & Him : Volume One ****
หวานใสแบบ60’s






Zooey Deschanel และ M. Ward โตมากับเพลงของ The Ronettes, Nina Simone และ The Carter Familyเหมือนกัน สาว Zooey เองยังเล่าว่าความทรงจำที่เก่าแก่ที่สุดของเธอก็คือการนั่งดูหนัง The Wizard Of Oz และพยายามร้องเพลง Over the Rainbow ตามไปด้วยตอนเธออายุสองขวบ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่อัลบั้ม Volume One ของคนหนุ่มสาวอย่าง She & Him จะอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีป๊อบของยุคซิกซ์ตี้ส์ เมื่อโลกยังอ่อนเยาว์และบทเพลงยังใสซื่อบริสุทธิ์ การได้ฟังอัลบั้มนี้ในปี 2008 จึงเหมือนเป็นสายลมเย็นที่พัดผ่านมาให้ชื่นใจยามโลกดนตรีอบอ้าวไปด้วยดนตรีที่หนักอึ้งขมึงเกลียว(ซะเป็นส่วนใหญ่)

ความเป็นดาราฮอลลีวู้ดของ Zooey (Almost Famous, ELF) อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ She & Him แต่เชื่อเถิดว่าเธอไม่ได้ใช้ความเป็นดาราเป็นจุดขายใน Volume One นี้อย่างแน่นอน ผู้กำกับ Martin Hynes เสนอให้ Zooey จับคู่กับ M. Ward นักร้องนักแต่งเพลงและนักกีต้าร์เพื่อบันทึกเสียงเพลง When I Get To The Border เพลงเก่าของ Richard Thompson เพื่อประกอบภาพยนตร์ The Go-Getter ให้เขา ทั้งคู่ปิ๊งกันในทางดนตรีโดยทันที Zooey ชื่นชมในความเป็นอัจฉริยะของ Ward และเมื่อ Ward ได้ฟัง demo ของ Zooey เขาก็รู้โดยทันทีว่านี่คือบทเพลงที่เหลือเชื่อ ทั้งคำว่า “เหลือเชื่อ” และ “อัจฉริยะ” นั่นเป็นคำที่ทั้งสองเยินยอกันเองนะครับ “เธอและเขา” เริ่มเข้าห้องอัดบันทึกเสียงอัลบั้ม Volume One นี้กันในปี 2006-7

ความสามารถทางดนตรีของ Ward อาจจะไม่ถึงกับอัจฉริยะ และเพลงที่ Zooey แต่งเกือบทั้งหมดในอัลบั้มนี้ก็ออกจะห่างไกลกับคำว่าเหลือเชื่อ แต่ She & Him เป็นองค์ประกอบทางเคมีที่ให้ผลลัพธ์แสนสุนทรีย์หรับคนที่รักดนตรีแนวนี้ Ward เคยเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมให้ Jenny Lewis ในอัลบั้ม Rabbit Fur Coat มาก่อน ถ้าท่านเคยฟังอัลบั้มนั้นมันก็มีสุ้มเสียงที่คล้ายกับ Volume One พอสมควร อย่างไรก็ตามสตาร์ของอัลบั้มย่อมเป็น She

เสียงร้องของ Zooey อาจจะทำให้ระบบความทรงจำในสมองของคุณวิ่งพล่านเพื่อหาข้อมูลที่ฝังลึกอยู่ว่าเสียงเธอเหมือนใครหนอ เสียงเธอหวานแหลมเล็กคล้าย Carly Simon มีจังหวะการแบ่งวรรคตอนเหมือน Karen Carpenter แต่ฟังทั้งหมดอีกทีก็เหมือนๆจะน่าจะใช่ Carole King ในวัยเยาว์ที่สุด อย่างไรก็ตามเราไม่มีนักร้องสาวเสียงร้องและวิธีการร้องแบบนี้ให้ฟังมานานแล้ว บทเพลงใน Volume One เต็มไปด้วยเนื้อหาใสๆเข้ากับแนวเพลง แต่ต้องชมการเลือกฉากหรือประโยคสั้นๆในเนื้อเพลงที่ใส่เข้ามาอย่างเหมาะเจาะ อาทิ การขี่จักรยานแบบสองคนอยู่คนเดียวเหงาๆใน Black Hole หรือการนั่งคอยอยู่บนหิ้งเหมือนตุ๊กตาใน Why Do You Let Me Stay Here?




อิทธิพลในการทำเพลงแบบ Phil Spector มีให้เห็นตั้งแต่แทร็คแรก Sentimental Heart เปียโนตอกย้ำในจังหวะบัลลาดช้าหวาน เสียงประสาน Ahhhh ให้อารมณ์ซิกซ์ตี้ส์สุดๆ เสียดายที่สั้นไปนิด Why Do You Let Me Stay Here? ซูอี้ร้องด้วยเสียงแบบ ‘flirt’ ที่นิยมกันในยุคนั้นได้อย่างน่ารักน่าชัง This Is Not A Test พักจากเรื่องรักมาเป็นเพลงให้กำลังใจผู้ฟัง ชีวิตไม่ใช่การทดสอบ จะดีจะร้ายจะสูงเสียดฟ้าหรือต่ำลงเหวสุดท้ายก็ผ่านไป “The summit doesn't differ from the deep, dark valley, And the valley doesn't differ from the kitchen sink. “ Ward พรมคอร์ดกีต้าร์โปร่งไปตามจังหวะปานกลาง เสียงคอรัสซ้อนทับหลายชั้นรองรับเสียงร้องไร้ที่ติของ Zooey นอกจากซิกซ์ตี้ส์ป๊อบแล้วดนตรีค้นทรี่แนชวิลล์ก็ยังเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ออกหน้าออกตาหลายเพลง Change Is Hard โดดเด่นด้วยเสียงสไลด์และสตีล ส่วน Got Me นั้นยิ่งดิ่งลึกลงไปในความเป็นคลาสสิกคันทรี่ยิ่งกว่า

แต่ที่ถูกใจผมที่สุดน่าจะเป็น I Was Made For You ที่ She & Him สวมวิญญาณ Girl Group กันสุดฤทธิ์ เสียงร้องของ Zooey ก๋ากั่นล้อไปกับเสียงประสาน doo dub-dee-dubb ของเหล่าลูกคู่ เนื้อร้องก็ต้องประมาณ....” I was takin' a walk When I saw you pass by I thought I saw you lookin' my way So I thought I'd give you a try /When I saw you smile I saw a dream come true So I asked you, maybe Baby whatcha gonna do?” พฤติกรรมแบบนี้ ถ้าเป็นยุค 60’s ต้องถือว่าเป็นสาวมั่นสุดๆแล้ว

Volume One มีเพลง cover สามเพลงคือ You Really Got A Hold On Me ของ Smokey Robinson, I Should Have Known Better ของ John Lennon & Paul McCartney และเพลง tradition Swing Low, Sweet Chariot สองเพลงแรกเล่นกันสบายๆเหมือนนักศึกษาล้อมวงเล่นกันยามหัวค่ำ ส่วนเพลงสุดท้ายที่เป็นโบนัสแทร็คเหมือนเดโมที่บันทึกเสียงกันริมน้ำที่ไหนสักแห่ง (ได้ยินเสียงเหมือนน้ำซัดเข้าฝั่งเบาๆตลอดเพลง)

Zooey ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ side project ดูจากชื่ออัลบั้มก็คงจะหวังได้ว่าจะได้ฟังงานชื่นมื่นจากสองหนุ่มสาวคู่นี้กันอีก

หมายเหตุ-ถ้าท่านรู้สึกว่าเสียงเปียโนอัลบั้มนี้มันเพี้ยนๆชอบกล จงปรบมือให้ตัวเอง เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เป็นความจงใจของศิลปินเพื่อให้ได้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์-เขาว่าอย่างนั้นนะ

Miles Davis Kind Of Blue





















โดนัลด์ ฟาเกน (สตีลลี่ แดน)...."มันคือ sex wallpaper"
คลินท์ อีสต์วู้ด "เอานิวเอจไปไกลๆ ผมขอแค่ Kind Of Blue"
ควินซี่ โจนส์ "มันคือน้ำส้มยามเช้าของผมที่ต้องดื่มทุกวัน"
ดวน ออลแมน "ไอเดียจากการโซโลยาวเหยียดของผม มาจาก Kind Of
Blue"







ใครๆก็ชื่นชม Kind Of Blue หลายคนบอกว่า ถ้าคุณจะมีซีดีแจ๊สแค่แผ่นเดียว ก็ต้องเป็นแผ่นนี้ (แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ดนตรีแจ๊สหลากหลายเกินกว่าที่จะอ้างอิงด้วยอัลบั้มนี้อัลบั้มเดียว) และเมื่อไหร่ที่มีการจัดโพลล์อัลบั้มแจ๊สยอดเยี่ยมตลอดกาล ผมยังไม่เคยเห็นอัลบั้มนี้พลาดอันดับ 1 ไปได้เสียที
แต่อาจจะไม่ทุกคนที่คลั่งไคล้มัน....



อ่านใน JazzLife เล่มสองปกป้าเอลล่า ที่คุณอนันต์เขียนถึงอัลบั้มนี้ไว้อย่างลึกซึ้งในเชิงโครงสร้างดนตรีแล้วก็นึกทึ่ง Flamenco Sketches เล่นกับโครงสร้างของ mode อย่างเมามัน โดยมีการเปลี่ยนโมดถึงห้าโหมดต่อเนื่องกันให้นักดนตรีแต่ละคนโซโลกันเพลินๆ



แต่ในคอลัมน์เดียวกันก่อนหน้านั้น คุณอนันต์ได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ดนตรีสองท่านเกี่ยวกับ Kind Of Blue นี้ และมีความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น



เมื่อคุณอนันต์ถามถึง Flamenco Sketches ที่เป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม อาจารย์ท่านแรกสารภาพว่าเขามักจะไปไม่ถึงเพลงนี้ หลับไปก่อน ส่วนอีกท่านกล่าวสั้นๆว่า เขาก็ชักเริ่มง่วง และให้ข้อมูลเพียงว่ามันเป็นการ"ใช้โหมดเขียน"



ยังมีอีกความเห็นเกี่ยวกับ So What ที่อาจารย์ท่านหนึ่งแสดงความสงสัยว่าทำไมการโซโลในเพลงนี้จึงดูอั้นๆ ขณะที่เวอร์ชั่นอื่นของ So What ที่ออกมาทีหลังมีการ "สอย" (เขาใช้คำนี้) กันยับมากกว่านี้ ทั้งที่เพลงก็เปิดช่องให้มากมาย อีกความเห็นของอาจารย์บอกว่า คนเล่นแซ็กในอัลบั้มนี้ดูเกร็งๆเหมือนโดนโปรแกรม อาจเป็นเพราะต้องมาเล่นอะไรที่ไม่คุ้นเคย



อาจารย์ทั้งสองท่านมีความเห็นตรงกันว่าชอบ Blue In Green ที่สุดในอัลบั้ม และท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยว่าอัลบั้มนี้เป็นงานที่ฟังง่ายเหมาะสำหรับเยาวชน



และที่คนอ่านสามารถรู้สึกได้แม้ว่าอาจารย์ทั้งสองท่านจะไม่กล่าวออกมาตรงๆคือ Kind Of Blue ไม่ใช่งานโปรดของท่านแหงๆ



ไมลส์นำทีมนักดนตรีของเขาในยุคนั้นรวมกับเขาแล้วก็เจ็ดคนเข้าห้องอัดที่ Columbia Studios สองรอบในเดือนมีนาคมและเมษายน 1959 โดยไม่มีการซ้อมเพลงเหล่านี้มาก่อน ทุกคนได้รับทราบแต่โหมดและโครงสร้างหลวมๆ ที่เหลือเป็นการมั่วเอ๊ยอิมโพรไวส์หน้างานล้วนๆ ไมลส์เล่นทรัมเป็ต จอห์น โคลเทรน เทเนอร์แซ็ก แคนนอนบอล แอดเดอร์ลีย์ อัลโตแซ็ก บิล อีแวนส์ เปียโน วินตัน เคลลี่ เปียโน (เฉพาะแทร็ค Freddie Freeloader) พอล แชมเบอร์ส เบส และ จิมมี่ คอบบ์ กลอง ทุกคนได้รับการยอมรับว่าเป็นจอมยุทธผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธประจำกายในระดับสูงสุดของแจ๊สบู๊ลิ้ม



โดยส่วนตัวผมใช้เวลากับอัลบั้มนี้อยู่หลายปีถึงจะเข้าถึงอารมณ์ของมันได้ ผมเห็นด้วยว่ามันไม่ใช่อัลบั้มสำหรับมือใหม่ฟังแจ๊สที่อาจจะหลับคาเครื่องได้อย่างง่ายดาย และมันไม่เหมาะสำหรับคนที่ชอบอะไรเร่าร้อนเผ็ดมันไม่ว่าจะรูปแบบไหนอย่างแน่นอน ตรงข้าม...แน่นอน...มันเหมาะสำหรับคนที่ชอบเหม่อลอยปล่อยอารมณ์ลอยโลด ทำอะไรทอดหุ่ยซึมเซา.... ในบางเวลา....(อย่างผม)



ความเห็นของอาจารย์สองท่าน อาจจะสร้างการถกเถียงในหมู่คนรัก Kind Of Blue กันวุ่นวาย แต่เมื่อไตร่ตรองดู นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ Kind Of Blue เป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นการไม่"สอย"กันยับใน So What การเล่นแซ็กโซโฟนที่เรียบง่ายเหมือนผ้าพับไว้ของทั้งสองตำนานแซ็ก หรือความง่วงเหงาหาวนอนของโทนโดยรวมของอัลบั้ม ทั้งหมดนั้นคือเสน่ห์ของ Kind Of Blue



รีวิวในอะเมซอนอันนึงเขียนได้ถูกใจผมมาก
"วันฝนตก...ผมเปิด Kind of Blue....ทะเลาะกับแฟน....เปิด Kind of Blue....รู้สึกสบายๆ....เปิด Kind Of Blue....."



ใช่เลย! ความอัศจรรย์ของมันคือดูมันจะเป็นซาวน์แทร็คหรือแบคกราวนด์มิวสิกให้กับอารมณ์และสถานการณ์ต่างๆได้หลากหลายอย่างน่าประหลาด มันเป็นอัลบั้มโปรด"หลังวิ่ง"ของผมตลอดกาล และท่อนโซโลอันเพราะพริ้งสวยงามนั่น ไม่ว่าจะใน So What หรือ All Blues ไม่ว่าผมจะฟังกี่ร้อยหน ก็ยังไม่เคยจำมันได้เสียที มันคือความคุ้นเคยที่ยังเคลือบแคลงด้วยความคาดไม่ถึงอยู่ร่ำไป
Kind Of Blue ในความเห็นของผม มันไม่ใช่ซีดีแจ๊สแผ่นเดียวที่คุณต้องมี แต่ถ้าคุณมีมัน มันจะทำให้คุณต้องเสียเงินกับดนตรีแนวนี้ตามมาอีกสุดประมาณ แต่ถึงคุณจะตะบันซื้อไปอีกกี่แผ่น คุณก็จะพบว่า โลกนี้ยังไม่มีภาคสองของ Kind Of Blue....








บทความนี้เคยลงไว้ใน oknation.net /blog/adayinthelife

Note: อีกไม่นานนี้ ทาง Sony จะออก Kind Of Blue boxset มาให้เสียเงินกันอีก ข่าวว่าจะมี outtake แปลกๆนิดหน่อย อาทิ false start take ของ Freddie Freeloader (จะยาวกี่วินาทีหนอ) รวมทั้งดีวีดีเบื้องหลังและสารคดี

Guillemots-RED


Guillemots-Red ***1/2

The Complex Dance!



Fyfe Dangerfield ผู้นำวงมาดเซอร์จากเกาะอังกฤษ Guillemots ไม่ซ่อนเร้นเป้าหมายของการทำอัลบั้มที่สองของวง เขาต้องการงานที่ตีแสกหน้าผู้ฟังด้วยบีทอันหนักแน่นของริธิ่มแอนด์บลูส์ งานเต้นรำบนทำนองที่ติดหูพร้อมจะตรึงใจผู้ฟังแม้ได้ยินเพียงครั้งเดียวในวิทยุ ทางต้นสังกัดยังโฆษณาทับไปอีกว่ามันจะเป็นงานที่น่าตื่นเต้นที่ไม่ได้ฟังกันมานานนับตั้งแต่ Prince ทำงานแหวกแนวบ้าดีเดือดของเขาในยุค 80’s

ข่าวนี้สร้างความมึนให้ผมพอสมควร เพราะในอัลบั้ม Through The Windowpane ที่ออกมาในปี 2006 มันไม่ใช่ Guillemots อย่างที่กล่าวในย่อหน้าแรกเลย บรรยากาศในอัลบั้มแรกนั้นออกเย็นยะเยือก เต็มไปด้วยเครื่องสายเข้มข้นและเสียงฮาร์โมนีซับซ้อน จำได้ว่าปีนั้นผมยกให้ Sao Paolo แทร็คสุดท้ายยาว 11 นาทีกว่าๆเป็นหนึ่งในเพลงแห่งปี การเล่นกับออเคสตร้าในเพลงนี้ทำให้นึกถึงยุครุ่งเรืองของคลาสสิคัลร็อค นอกจากนั้นยังมีเพลงสวยๆอย่าง Little Bear ที่เนิบนวยนาดจนไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะนำมาเปิดอัลบั้ม (เพลงโปรดของเซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์) และ Train To Brazil ที่เล่นกับเครื่องเป่าอย่างครื้นเครง

Guillemots ตั้งวงกันมาตั้งแต่ปี 2004 โดยผู้ก่อตั้งวงก็คือนาย Fyfe นั่นเอง เป็นคนหนุ่มที่น่าจับตาทีเดียว เพราะหมอนี่ครบเครื่องทั้งแต่งเพลงได้ลึกเกินวัย เขียนสกอร์ออเคสตร้าด้วยตัวเอง และเสียงร้องก็ไม่ธรรมดา เขายังเล่นทั้งกีต้าร์และคีย์บอร์ดด้วย สมาชิกหลักคนอื่นๆก็มี MC Lord Magrão - เล่นกีต้าร์และเบส Aristazabal Hawkes – ดับเบิลเบสและเพอร์คัสชั่นและ Greig Stewart ตีกลอง (มีคนหลังที่ชื่อไม่น่าตื่นเต้นอยู่คนเดียว) และยังมีทีมเครื่องเป่าเสริมอีกสองคน Through The Windowpane ได้เข้าชิง Mercury Prize ในปี 2006 แต่ก็ได้แค่ที่สอง ไม่อาจต้านความแรงของ Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not ของ Arctic Monkeys ได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวทางของ Guillemots ในอัลบั้มแรกนั้นจะหลากหลายจับทางยาก แต่คงไม่มีโหรท่านไหนกล้าทำนายว่าอัลบั้มสองของพวกเขาจะออกแนว Timbaland ขนาดนี้ นิตยสาร NME ผู้ทรงอิทธิพลของอังกฤษไม่รีรอที่จะถล่มงานชุดนี้เสียไม่เหลือความดีงาม แถม Uncut เครือเดียวกันก็แจกให้แค่สองดาวซึ่งถือว่าสอบตก ถ้ามองอย่างใจเป็นกลาง ผู้ที่จะผิดหวังกับงานนี้อย่างผิดสังเกตก็คือผู้ที่เคยชื่นชมกับอัลบั้มแรกของวงนั่นเอง

Red ที่ตั้งชื่อตามความร้อนแรงของ content ข้างใน มีด้วยกัน 11 แทร็ค และกว่าครึ่งในนั้นเดินเครื่องด้วยจังหวะที่หนักหน่วงแบบ dance music แต่มันไม่ใช่ dance ธรรมดา เพราะ Guillemots ไม่ได้คายพิษสงเสียหมด ดนตรีของพวกเขายังซับซ้อน มีทางเดินคอร์ดแปลกๆ สำเนียงแปร่งหู และการใช้เครื่องดนตรีที่ไม่มีใครคาดฝันในทุกๆเพลง เสียงร้องของ Fyfe ค่อนข้างจะคล่องตัวและเอาอยู่ในทุกแนว ไม่ว่าจะเป็น falsetto ใน Standing On The Last Star ร็อคตะโกนๆในซิงเกิ้ลแรก Get Over It หรือบัลลาดอ่อนช้อยอย่าง Falling Out Of Reach และ Word

ทั้งหมดนี้ทำให้ Red กลายเป็นงานที่จะเอาไว้เต้นก็คงพอได้ แต่มันก็ไม่ค่อยเหมือนธรรมชาติของเพลง Dance ที่ดนตรีจะไม่ซับซ้อนและแทรกสรรพคุณทางดนตรีไว้มากมายขนาดนี้ ผมก็คาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าผู้ฟังจะยอมรับมันได้ขนาดไหนทั้งแฟนเก่าและใหม่ แต่ถ้าไม่ติดกับงานแรกเกินไป Red น่าจะจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับงานล่าสุดของ Muse และ Beck ได้ คือเป็นงานร็อคคุณภาพในจังหวะจะโคนที่ชวนขยับแข้งขาพองาม

กลิ่นอายของบีทแบบ World Music บนเสียงกลองที่กระหน่ำหนักหน่วงยังพอจับได้อยู่ สำเนียงอารบิกและภารตะมีมาให้ได้ยินเป็นระยะๆตั้งแต่แทร็คแรก Kriss Kross คีย์บอร์ดกระหึ่มและบีทที่ถาโถมไม่ปราณีปราศรัยเป็นการต้อนรับอย่างไม่ให้ตั้งตัวต่อด้วย Big Dog โซลย้วยๆที่ใครฟังก็คงอดคิดถึงจอร์จ ไมเคิลไม่ได้ (โปรดิวเซอร์ของ Red เคยทำงานกับไมเคิลมาก่อน) พักเหนื่อยกันด้วย Falling Out Of Reach ที่น่าจะเป็นเพลงที่ธรรมดาที่สุดและไพเราะที่สุดในอัลบั้มโดยมี Word ตามมาติดๆแต่เพลงหลังนี่อาจจะต้องทนรำคาญเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าที่เล่นครืดคราดคลอเบาๆไปตลอดเพลงอยู่พอสมควร

Clarion เด่นด้วยคีย์บอร์ดเป็นเสียงซีต้าร์ที่เล่นซ้ำเป็นริฟฟ์แต่สำเนียงดันออกไปทางจีนๆ...ทำไปได้ Last Kiss เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเสียงคอรัสสาวๆบ้างแต่จังหวะก็ยังเร่งร้อน Cockateels ค่อยทำให้แฟนเก่าใจชื้นขึ้นหน่อยด้วยดนตรีอลังการในแบบที่พวกเขาเคยทำไว้ เสียงประสานนักร้องหญิงแบบ Arcade Fire สลับกับเครื่องสายหวือหวาน่าฟังมากครับ ปิดท้ายเรียบๆด้วย Take Me Home ที่เป็นคนละเพลงกับของ Phil Collins แต่เป้าประสงค์ดูจะใกล้เคียงกัน

Guillemots เลือกทำงานที่สองในแบบที่ต่างจาก The Feeling พวกเขากล้าที่จะฉีกแนวออกไปจากเดิมค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงซาวนด์หลักๆให้ยังพอจำกันได้ Red เป็นงานที่อาจจะฟังดูฉูดฉาดในรอบแรกๆแต่มีรายละเอียดมากมายที่ต้องฟังกันหลายรอบจึงจะเก็บความดีงามขึ้นมาได้หมดครับ