10 เพลงเขย่าโลกของสี่เต่าทอง
คุณอาจจะคิดว่าไม่มีเพลงอะไรที่จะเปลี่ยนโลกได้ แต่เราคิดว่ามี ลองคิดดูสิว่าถ้าไม่มีสิบเพลงบีเทิลส์ในลิสต์นี้แล้วโลกของเราจะเหมือนเดิมอย่างทุกวันนี้หรือ
1.She Loves You
ซิงเกิ้ลจากปี1963ที่ทำให้สี่หนุ่มจากลิเวอร์พูลกลายมาเป็นราชาแห่งดนตรีของเกาะอังกฤษ เราอาจจะเรียกว่ามันเป็นเพลงธีมของบีเทิลมาเนียก็ย่อมได้ คำร้อง Yeah Yeah Yeah คือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จและคือท่อนฮุคที่เด็ดขาดที่สุดที่เลนนอนและแมคคาร์ทนีย์เคยเขียนมา พ่อของพอลแนะนำให้พวกเขาใช้คำว่าเยสแทนเย้ แต่ไม่มีใครสนใจ She Loves You คือซิงเกิ้ลที่ขายดิบขายดีที่สุดของบีเทิลส์และสนุกสนานที่สุดด้วย (แม้บางคนจะคิดว่ามันคือเพลงเศร้าที่ซ่อนเร้นความนัยอยู่ก็ตาม)
2.I Want To Hold Your Hand
อเมริกาคือเป้าหมายสุดท้ายของทีมงานบีเทิลส์และพวกเขาก็พิชิตมันได้ราบคาบด้วยซิงเกิ้ลนี้ มันคือเพลงอันดับ1เพลงแรกของพวกเขาในอเมริกาในช่วงต้นปี 1964 ไม่กี่วันก่อนที่จะถึงการมาเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของวง ไบรอัน เอ็บสไตน์ยืนยันว่าเพลงนี้เป็นผลมาจากการตัดเย็บเฉพาะเพื่อถล่มตลาดอเมริกาโดยตรง ไบรอันพูดไม่ตรงเสียทีเดียว จริงๆแล้วมันเป็นเพลงสำหรับโลกทั้งใบ ส่วนผสมทุกส่วนของ I want to hold your hand นั้นทำจากวัตถุดิบชั้นเลิศทั้งสิ้น บ๊อบ ดีแลนศิลปินอเมริกันฟังคำร้องบางท่อนผิดและคิดว่านี่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเมามัน! (ไม่นานหลังจากนั้นดีแลนก็จะได้ฟังเพลง"ยา"จากบีเทิลส์จนเบื่อ)
3. Yesterday
บันทึกเสียงในปี 1965 Yesterday ไม่เหมือนกับเพลงใดๆที่บีเทิลส์เคยบันทึกเสียงมาก่อนหน้านั้น มันไม่เหมือนกับบีเทิลส์ที่แฟนๆเคยรู้จัก เอาเข้าจริงๆแล้ว มันไม่ใช่บีเทิลส์ด้วยซ้ำ ในการบันทึกเสียงเพลงนี้คุณจะได้ยินแค่เสียงร้องหวานเศร้าของพอล แมคคาร์ทนีย์คลอไปกับอคูสติกกีต้าร์ของเขาและเครื่องสายสี่ชิ้นที่เขียนสกอร์โดยจอร์จ มาร์ติน ไม่มีเต่าทองตัวอื่นเสนอหน้าเข้ามาร่วมร้อง/บรรเลงแต่อย่างใด เพลงบัลลาดโหยหาวันวานนี้กลายมาเป็นเพลงที่ถูกนำมาขับร้องใหม่โดยศิลปินอื่นมากที่สุดในโลกและยังเป็นเพลงที่สถานีวิทยุนำมาเปิดบ่อยทีสุดอีกด้วยดูเหมือนทุกๆคนจะยังคงเชื่อในวันวานอยู่
4.Norwegian Wood (This Bird Has Flown)
ผู้ประพันธ์ จอห์น เลนนอน ต้องการเสียงที่ผิดแผกออกไปสำหรับเพลงรักประหลาดๆเพลงนี้ เขาลองแย๊ปๆให้จอร์จ แฮริสันเล่นซีต้าร์ในเพลงนี้ แม้ว่าจอร์จจะไม่ได้เล่นเลิศเลออะไรนัก แต่โลกก็ตะลึง เพราะแทบไม่มีใครเคยได้ยินเสียงเครื่องดนตรีแขกชิ้นนี้ในเพลงป๊อบตะวันตกมาก่อน จนกระทั่งทุกวันนี้ แฟนบีเทิลส์ก็ยังคงถกกันไม่เลิกว่าใครคือนางเอกที่แท้จริงในเพลงนี้
5.Eleanor Rigby
หลังจากความสำเร็จระบือโลกกับ Yesterday ที่มีแค่พอลกับสตริงควอตเต็ท หนึ่งปีต่อมา พอลและมาร์ตินจับมือกันอีกครั้งกับ Eleanor Rigby คราวนี้จอห์นกับจอร์จมาช่วยร้องประสานให้เสียงร้องนำของพอล และเครื่องสายที่คราวนี้เพิ่มขึ้นเป็นแปดชิ้น เรียบเรียงด้วยลีลาอันรุกเร้า พอลแทบจะไม่เคยเขียนเนื้อเพลงได้ดีกว่านี้อีกแล้วในชีวิตแม้ว่าจอห์นจะอ้างว่าเขาช่วยเขียนเนื้อเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ฟัง Eleanor Rigby เหมือนกับคุณได้ชมหนัง drama-thriller ในเวลาสามนาที
6.Tomorrow Never Knows
ไม่มีวงดนตรีใดจะหลุดโลกได้ขนาดนี้แล้วยังได้ใจแฟนๆอยู่ เพลงสุดท้ายของสุดยอดอัลบั้ม-Revolver ในปี 1966 แต่มันเป็นเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้ม มันมีแค่หนึ่งหรือสองคอร์ดในเพลงนี้ตามสไตล์เพลงแบบอินเดียที่พวกเขากำลังชอบกัน เสียงร้องของเลนนอนถูกดัดแปลงแต่งแต้มจนทำให้ฟังดูเหมือนเขาร้องมาจากอีกด้านของจักรวาลขณะที่ริงโก้ฟาดกลองชุดชองเขาอย่างเมา-มัน ไม่มีซินเธอไซเซอร์ในปี 1966 ดังนั้นพวกเขาจึงใช้เทปลูปและเทคนิคถอยหลังเทปเพื่อที่จะให้ได้ซาวนด์เอ็ฟเฟ็คที่ฟังในตอนนี้ก็ยังขนแขนสแตนอัพ มีวิธีเดียวที่จะฟังเพลงนี้ได้อย่างถูกต้อง ปิดสวิทช์จิตสำนึกของคุณเสียก่อนที่จะเปิดเพลงนี้
7.Strawberry Fields Forever
ในปี1967 บีเทิลส์กลายเป็นวงห้องอัดเต็มตัว พวกเขาไม่แยแสต่อไปว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน หรือต้องเล่นกันกี่เทคกว่าที่จะได้เพลงออกมาในแบบที่พวกเขาต้องการ จอห์นแต่งเพลงนี้ตอนเขาเล่นหนัง How I Won The War อยู่ที่สเปน-คนเดียวโดยไม่มีบีเทิลคนอื่นอยู่ด้วย ในเทคแรกๆของเพลงนี้มันเป็นเพลงอคูสติกชวนฝันก่อนที่จะมีพัฒนาการขึ้นทีละนิดๆผ่านหลายเทค การตัดต่อครั้งแล้วครั้งเล่า การมิกซ์ที่ซับซ้อน และการรื้อทำใหม่ในบางครั้ง กว่าที่มันจะกลายมาเป็นมหากาพย์แห่งไซคีดีลิกอย่างทีเราได้ยิน บีเทิลส์ออกเพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลควบกับ Penny Lane ของพอล นักวิจารณ์และแฟนเพลงค่อนโลกคิดว่ามันคือซิงเกิ้ลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล มันไม่เคยไปถึงอันดับ1ในชาร์ท
8.A day In The Life
เพลงปิดฉากสุดอลังการของ Sgt. Pepper's Loney Hearts Club Band ถ้าไม่มีเพลงนี้อัลบั้มก็คงจะไม่มีทางยิ่งใหญ่อย่างที่มันเป็น จอห์นแต่งท่อนเวิร์ส3ท่อนของเพลงนี้ไว้โดยไม่มีท่อนแยก ซึ่งก็บังเอิญว่าพอลมีท่อนนี้แต่งไว้และมันก็เสียบแทรกกันได้อย่างเข้ากันสวรรค์สร้าง เนื้อเพลงของจอห์นส่วนใหญ่มาจากข่าวในหนังสือพิมพ์ ส่วนของพอลมาจากประสบการณ์วัยละอ่อนของเขาเอง เมื่อนำมารวมกันมันสร้างให้เห็นฉากของวันๆหนึ่งในชีวิตของคนธรรมดาๆคนนึง มันช่างแสนธรรมดาและก็ยังสุดจะลึกล้ำในเวลาเดียวกัน พอลและมาร์ตินช่วยกันใช้เสียงออเคสตร้ากันในแบบสุดโต่ง ทั้งเสียงและความรู้สึกของมันราวกับว่าวันสุดท้ายของโลกจะมาถึงแล้ว
9.I Am the Walrus
สิ่งที่ดีที่สุดจากหนังเลอะเทอะ Magical Mystery Tour มันยังเป็นหน้าบีของ Hello Goodbye ซิงเกิ้ลสุดท้ายของบีเทิลส์ในปี 1967 เพลงนี้สุดจะซับซ้อนในหลายแง่มุม จอห์นได้แรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากเสียงหวอของรถตำรวจ เขาเขียนเนื้อเพลงตามมาด้วยลีลายอกย้อนของนักเขียนคนโปรด ลูอิส แครอล แถมด้วยการใส่คำใบ้ชวนมึนเอาไว้หลายแห่งเพื่อให้แฟนเพลงว่างงานปวดหัวกันเล่น สกอร์ของมาร์ตินในเพลงนี้อาจจะเป็นงานดีที่สุดของเขา (สูสีกับ Eleanor Rigby) นำมารวมกับเสียงประสานจาก Mike Sammers Singers และการตัดต่อเสียงจากละครวิทยุเช็คเสปียร์ลงไป (จากเรื่อง Tragedy Of king Lear, Act IV, Scene VI) ที่บางคนได้ยินเสียงใครบางคนครางว่า "Oh, untimely death." นี่คือเพลงที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางดนตรีมากที่สุดของพวกเขา goo goo g'joob
10.The Abbey Road medley
หน้าบีของ Abbey Road อัลบั้มสุดท้ายของพวกเขาเริ่มต้นด้วย Here Comes The Sun, Because และจบด้วยเมดเลย์สองชุดใหญ่ๆที่พวกเขาเรียกกันว่า 'The Huge Melody' มันประกอบไปด้วยเพลงสั้นๆที่จอห์นและพอลแต่งไม่เสร็จจับมาเรียงร้อยถักทอเข้าด้วยกัน เมื่อฟังแยกเป็นเพลงๆมันอาจจะไม่มีอะไรยิ่งใหญ่นัก แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นเพลงเดียวมันกลับกลายมาเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์สุดยอดครั้งสุดท้ายของพวกเขา นี่ไม่ใช่เรื่องฟลุค และมันก็ไม่ใช่เมดเลย์พื้นๆที่เอาเพลงมาต่อๆกัน มันมีธีมบางธีมอยู่ในการเชื่อมต่อและตลอดเพลงมีการเล่นกับอารมณ์ของผู้ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ และในที่สุดพวกเขาก็ได้ความรักกลับไป มากมายกว่าที่พวกเขาได้เคยให้ไว้
1 comment:
บทความนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ผมเขียนเอง! จาก beatlesmax.com ที่กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณ บดินทร์ เพื่อนรักที่ช่วยผลักดันให้บทความแนวนี้ออกมาได้หลายชิ้นเหมือนกัน แต่ไม่มากพอ
Post a Comment