Sunday, 22 February 2009

The Beatles | White Album (2)


The Beatles
White Album Recording Sessions





ตั้งแต่วันแรกที่ The Beatles เข้าห้องอัดที่ Abbey Road ตอนบ่ายสองโมงครึ่งของวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 1968 (พ.ศ. 2511) เพื่อเริ่มบันทึกเสียงเพลง Revolution บทประพันธ์ใหม่เอี่ยมของ John Lennon จนกระทั่งสองวันที่พวกเขานั่งตัดต่อเรียงเพลงกันข้ามวันข้ามคืนในวันที่16/17 ตุลาคม 1968 มันเป็นเวลาเกือบห้าเดือนเต็มที่สี่เต่าทองใช้ในการสร้างสรรค์อัลบั้มใหม่ของเขาที่เรารู้จักกันในนาม ‘The White Album’ ผลลัพธ์ที่ได้คือ 32 เพลงที่เต็มไปด้วยความหลากหลายหรืออาจจะเรียกได้ว่าไร้เอกภาพที่สุดเท่าที่พวกเขาทำมา แต่เมื่อมันมารวมกันอยู่ในซองแผ่นเสียงสีขาวนั้นแล้ว ก็กลับเป็นเสน่ห์และความประทับใจอีกครั้งสำหรับแฟนเพลงโดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทราบถึงเบื้องหลังการทำงานในแต่ละวินาที ที่แม้จะไม่ถึงกับเต็มไปด้วยการขัดแย้งตลอดเวลา แต่มันก็ห่างไกลจากความร่วมมือร่วมใจกันในยุคของ Revolver (1966) หรือ Sgt. Pepper’s (1967) มากมายนัก


Geoff Emerick คือวิศวกรบันทึกเสียงหนุ่มผู้ร่วมงานกับ Beatles มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เขามีส่วนในการคิดค้นสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆในการบันทึกเสียงให้กับสี่เต่าทองร่วมไปกับ George Martin โปรดิวเซอร์ของวง น่าแปลกที่ Geoff เพิ่งนึกจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ในการ “บันทึกเสียงดนตรีของ Beatles’ มาเมื่อ 2 ปีก่อน (2006) นี้เอง ข้อมูลหลายอย่างจากหนังสือเล่มนี้ (Here, There and Everywhere) ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดจากหนังสือของ Lewisohn ได้เป็นอย่างดี (Mark Lewisohn นักประวัติศาสตร์ Beatles ได้เขียนสารคดีบันทึกถึงการบันทึกเสียงของวงไว้อย่างละเอียดและน่าอัศจรรย์ใน The Complete Beatles Recording Sessions (1988) อันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่แฟนๆต้องมี) แม้ว่าในหลายจุดผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจในความเที่ยงตรงหรือซื่อสัตย์ของผู้เขียนเท่าไหร่นัก ตามประสาของหนังสือที่เขียนจากมุมมองของคนๆเดียว โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นที่ทราบกันไม่กี่คนอย่างนี้

การบันทึกเสียง White Album ส่วนใหญ่ดำเนินไปในห้องอัดหมายเลข 2 และ 3 ของ EMI studios แต่บางครั้งพวกเขาก็ข้ามไปใช้ห้องอัดขนาดใหญ่หมายเลข 1 (ที่มักจะใช้ในการบันทึกเสียงเพลงคลาสสิค) ด้วย ซิงเกิ้ล Hey Jude ที่บันทึกเสียงกันในช่วงนี้แต่ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม พวกเขาเปลี่ยนบรรยากาศไปบันทึกเสียงกันที่ Trident Studios ด้วยสาเหตุอาจเป็นเพราะพวกเขาอยากลองบันทึกเสียงกันด้วยเทป 8 แทร็คกันบ้าง (ในอีเอ็มไอช่วงนั้นยังใช้เทป 4 แทร็คกันอยู่)

Geoff Emerick บรรยายบรรยากาศของการบันทึกเสียงใน sessions นี้ว่าเหมือนอยู่ในหม้ออบความดันที่เต็มไปด้วยความขมึงเกลียว สี่หนุ่ม The Beatles แทบจะไม่มีอารมณ์ขันกันในแบบยุคแรกๆให้ได้เห็น มันอาจจะเป็นเพราะความกดดันจากธุรกิจ, การเสียชีวิตของผู้จัดการวง Brian Epstein เมื่อปีก่อน,การเข้ามาของ “คนนอก” อย่าง Yoko Ono แฟนสาวคนใหม่ของ Lennon หรือพ่อมดอีเล็กโทรนิคส์กำมะลออย่าง Magic Alex ที่ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าพวก 18 มงกุฎที่มาต้มตุ๋นสี่เต่าทองโดยเฉพาะ (เขาเป็นอดีตช่างซ่อมทีวีที่เข้ามาตีสนิทกับ John และคุยโม้โอ้อวดว่าสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการบันทึกเสียงต่างๆให้ Beatles มากมาย แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้ซักอย่าง) แต่เหนืออื่นใด มันอาจจะเป็นเพราะพวกเขาเบื่อหน้ากันเต็มทนแล้วจากการทำงานด้วยกันมาเกือบสิบปี Geoff เล่าว่า ระหว่างการบันทึกเสียงฟิวส์ของแต่ละคนพร้อมจะขาดอยู่ทุกวินาที อาทิ ถ้าJohn ไปกระแนะกระแหนอะไรถึง Maharishi กูรูชาวอินเดียที่ George เคารพ George ก็ไม่ลังเลที่จะตอบโต้ บางทีพวกเขาก็ “ใส่” กันระหว่างล้อมวงรอบไมค์เพื่อบันทึกเสียง backing vocal เสียอย่างงั้น Ringo เองก็ออกอาการแทบจะทุกครั้งที่ Paul วิจารณ์การเล่นกลองของเขา หรือถ้า George กล้าตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำแนะนำทางดนตรีของPaul สุดหล่อมือเบสประจำวงก็จะออกลูกยั๊วะใส่ทันควัน และสุดท้ายถ้ามีสมาชิกคนใดบังอาจไปพูดจาระคายเคือง Yoko John ก็จะตอบโต้อย่างเจ็บแสบด้วยลิ้นอสรพิษของเขา (คู่ที่ดูจะทะเลาะกันน้อยที่สุดกลับเป็น John และ George) สรุปก็คือโดยรวมแล้วบรรยากาศเป็นพิษเสียจริงๆ

การนำเพื่อนสาวเข้ามานั่งอยู่ในห้องอัดด้วย ฟังดูก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไรมากมาย แต่ในเวลาที่ผ่านมาของ The Beatles พวกเขาไม่เคยอนุญาตให้มีแขกรับเชิญเข้ามาสอดแทรกเป็นการถาวรอย่างนี้ Geoff เล่าว่าช่วงแรก Yoko ก็มานั่งทำตาแป๋วเฉยๆ John อาจจะให้โอกาสเธอแหกปากตะโกนหรือร้องบางท่อนในบางเพลงของเขาบ้าง (Revolution, Everybody’s Got Something To Hide Except Me And My Monkey) แต่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนคนอื่นจะรับไม่ได้คือ ครั้งหนึ่งที่พวกเขานั่งฟัง playback จากการบันทึกเสียงที่เพิ่งเสร็จไปใน control room แล้ว John ดันเอ่ยปากถามความเห็นจาก Yoko ว่าเธอคิดยังไงกับสิ่งที่ได้ฟัง และท่ามกลางความตกตะลึงของทุกผู้ เธอกล้าให้คำวิจารณ์ออกมา “เอ้อ มันก็ค่อนข้างดีอยู่หรอกนะ” เธอพูดด้วยเสียงเล็กๆของเธฮ “แต่ฉันว่าน่าจะเล่นให้เร็วกว่านี้อีกสักหน่อย” Geoff เล่าว่าวินาทีนั้นถ้ามีเข็มหล่นก็คงได้ยินกันทั้งห้อง ทุกคนทำหน้าเหรอหรากันหมด รวมทั้งจอห์นเอง Geoff คิดว่าศิลปินระดับพอลนั้น จะให้รับคำวิพากษ์เจ็บๆจาก John เขารับได้อยู่แล้ว แม้แต่จะเป็นจาก George หรือ Ringo ก็ตามที แต่เขาไม่คิดว่าพอลจะรับได้จากคำวิจารณ์จากผู้หญิงญี่ปุ่นตัวเล็กๆที่เป็นใครที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ John ก็ดูจะไม่แคร์อะไร เรื่องเล็กน้อยนี้มีผลทำให้ความเป็นทีมของวงที่เหลือยู่น้อยนิดแตกสลายลงไปอีก

ความกดดันทั้งหมดนี้ แม้แต่ Ringo Starr ผู้ที่เป็นที่รู้กันว่าเป็นคนสบายๆยังไงก็ได้ก็ยังหมดความอดกลั้น หลังจากเจอคำวิจารณ์เรื่องการเล่นกลองของเขาในเพลง Back In The U.S.S.R. จาก Paul Ringo ก็ตัดสินใจถอนตัวลาออกในวันที่ 22 สิงหาคม และหนีไปพักผ่อนชายทะเลทันที โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลับมาตีกลองให้วงต่อ พร้อมกับการต้อนรับอย่างดีจากสมาชิกด้วยดอกไม้เต็มห้อง พร้อมกับยาหอม “นายเป็นมือกลองที่เยี่ยมที่สุดในโลก” แต่ความจริงก็คือ The Beatles ที่เหลือดูจะไม่แคร์กับการหายไปของมือกลองจมูกงาม พวกเขาช่วยกันเล่นกลองในเพลง Back In The U.S.S.R. กันต่อ Paul ตีกลองเองใน Dear Prudence ไม่ว่า Ringo จะรู้เรื่องนี้หรือไม่ในตอนนั้น แต่ถ้าเขาไม่กลับมา ก็เป็นไปได้ที่ The Beatles จะเดินหน้าต่อไปได้สบายๆ อย่างไรก็ตามการไปเที่ยวทะเลครั้งนี้ทำให้ Ringo ได้เพลงใหม่อีกเพลงคือ Octopus’s Garden

ตัว Geoff เองก็ลาออกจากการเป็นวิศวกรบันทึกเสียงกลาง session ฟางสองเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นตอนเหตุการณ์ที่ Paul แลกคารมกับ Martin ขณะบันทึกเสียงเพลง Ob-La-Di, Ob-La-Da ครั้งที่กี่ร้อยก็ไม่ทราบ มันเป็นขั้นตอนการบันทึกเสียงร้อง Paul และ Martin ฟังแล้วยังไม่ค่อยพอใจ เขาบอกผ่านอินเตอร์คอมจาก control room ชั้นบนลงไปที่ ห้องอัดอย่างแสนสุภาพและเกรงใจว่า “Paul คุณช่วยร้องเฉพาะบรรทัดสุดท้ายของแต่ละท่อนเวิร์สใหม่หน่อยได้ไหม?” Paul ถอดหูฟังออก มองขึ้นมาข้างบนแ ล้วตอบกลับมาว่า “ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้ดีกว่า ทำไมคุณแม่งไม่เดินลงมาร้องเองล่ะวะ?” Geoff เล่าว่า Martin หน้าซีดเผือด และพยายามกล้ำกลืนอารมณ์อย่าเห็นได้ชัด สิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้คือ คนเงียบๆนุ่มๆอย่าง Martin กลับตะโกนกลับลงไปว่า “งั้นก็ช่วยร้องแม่งอีกทีแล้วกัน” “ผมยอมแล้ว ผมไม่รู้จะทำยังไงที่จะช่วยคุณได้แล้ว” Geoff เล่าว่าวินาทีนั้นเขาตัดสินใจว่าอยู่ไม่ได้อีกแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เขาก็เพิ่งโดน John อัดไป ขณะที่กำลังพยายามทำทุกวิถีทางที่ทำเสียงกีต้าร์แตกพร่าดังสนั่นอย่างที่ John ต้องการในเพลง Revolution จอห์นก็หมดความอดทน และเอ่ยให้คำแนะนำว่า “อย่างนาย ถ้าไปเป็นทหารซัก 3 เดือนคงจะดีเหมือนกัน” มันเป็นการเสียดสีทำนองว่า Geoff เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำอะไรไม่ได้เรื่อง แต่อย่างน้อยซาวนด์ที่ Geoff ทำให้กับเสียงกีต้าร์ของ John และ George ใน Revolution (single version) จากการต่อกีต้าร์เข้ากับ Recording console โดยตรงก็กลายเป็นเสียงที่น่าประทับใจและเป็นต้นแบบให้กับเสียงกีต้าร์แบบ Grunge ในอีกหลายทศวรรษต่อมา

Geoff ไม่เหมือนกับริงโก้ เขาออกจากการบันทึกเสียง White Album แล้วไม่กลับมาอีกเลย จนกระทั่งพวกเขาบันทึกเสียง Abbey Road กันในปี 1969

หลังจาก Geoff ถอนตัวออกไป (วันสุดท้ายที่เขาทำหน้าที่คือ 16 ก.ค. 1968) The Beatles ได้วิศวกรคนใหม่ชื่อ Ken Scott ผู้ที่ต่อมาได้เป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดังให้กับงานของ David Bowie มารับช่วงต่อจนกระทั่ง session สุดท้ายในเดือนตุลาคม แม้ผลงานที่ออกมาจะเป็น Beatles ที่เป็น back to basic ในทางที่สวนกับความอลังการของ Sgt. Pepper แต่ Geoff กลับมีความเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขาจงใจให้เกิดแต่แรก แต่เป็นความพยายามที่จะอธิบายผลลัพธ์ด้วยโจทย์ที่ตั้งขึ้นมาภายหลังมากกว่า

ฉบับหน้าจะเป็นการเปิดเผยเกร็ดต่างๆในแต่ละเพลง ด้วยข้อมูลใหม่ๆที่ยังไม่(ค่อย)มีใครทราบมาก่อน รวมทั้งความแตกต่างของ stereo และ mono version ของแผ่นเสียงชุดนี้ที่บางเพลง ต่างกันแทบจะเป็นคนละเพลงไปเลย

3 comments:

winston said...

ตอนที่ 3 ของบทความนี้ยังเขียนไม่เสร็จครับ และผมก็เบี้ยวไปดื้อๆเลย แต่ซักวันคงจะมาต่อให้จบ(น่า)

Anonymous said...

รออ่านตอนที่สองใน GM2000 มาหลายฉบับ เห็นทิ้งช่วงไปนึกว่าไม่เขียนต่อแล้ว ตอนหลังเลยไม่ได้ซื้อหยิบเปิดอ่านในร้านหนังสือดูก่อนว่าเขียนตอนต่อหรือยัง 555...

เวอร์ชั่นของตอนที่หนึ่งที่เขียนในบล็อกเมื่อนำไปตีพิมพ์มีการแก้ไขและมีการนำความเห็นของคอลัมน์นิสต์ด้านดนตรีของไทยมาเสริม ช่วยเพิ่มคุณค่าของบทความขึ้นมาก

เท่าที่อ่านไปได้สองตอน ขอยกให้เป็น candidate บทความเกี่ยวกับ White Album ที่เขียนและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่คอลัมน์นิสต์ด้านดนตรีของไทยเคยเขียนกันมา

winston said...

เท่าที่อ่านไปได้สองตอน ขอยกให้เป็น candidate บทความเกี่ยวกับ White Album ที่เขียนและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่คอลัมน์นิสต์ด้านดนตรีของไทยเคยเขียนกันมา

-----------

เพราะมีคนเขียนกันจริงๆไม่กี่คน...555
ขอบคุณมากครับ