Friday, 27 February 2009

บันทึกตำนาน Pink Floyd at Live8



Saturday 2 July 2005, Hyde Park , London




ใครเป็นต้นตอของความคิดของการจัดคอนเสิร์ต Live8 บ๊อบ เกลดอฟ? อาจจะใช่ แต่เขาอาจได้ไอเดียนี้มาจากบางประโยคของ นิค เมสัน มือกลองของจักรพรรดิแห่งโปรเกรสซีพร็อค Pink Floyd



นิค ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Mojoเมื่อปี 2004 กับคำถามที่ว่า “เป็นไปได้ไหมที่จะมีคอนเสิร์ตรอบเดียวของ Pink Floyd ที่มีโรเจอร์ วอเตอร์ส ร่วมอยู่ด้วย จะเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีของอัลบั้ม Wish You Were Here ก็ยังได้” นิคตอบว่า


“สำหรับผมเองนั้นผมพอจะหลับตานึกภาพผมทำเช่นนั้นได้ แต่ผมมองไม่เห็นว่าโรเจอร์จะอยากนะ ส่วนเดฟนั้นคุณต้องทำให้เขาเกิดแรงกระตุ้นอย่างเต็มพิกัดเลยล่ะถึงจะทำให้เขากลับมาทำงานได้ มันคงจะเป็นอะไรที่เยี่ยมยอดมากถ้าเราจะมาทำอะไรร่วมกันในสิ่งที่เป็นการกุศลอย่างเข่นคอนเสิร์ตไลฟ์เอดครั้งใหม่ งานสำคัญที่มีเนื้อหาเยี่ยงนั้นล่ะจะทำให้เรามารวมกันได้ มันจะแจ่มเจ๋วมาก แต่ผมก็อาจจะเป็นพวกใส่อารมณ์ซาบซึ้งเกินเหตุไปหน่อย คุณก็รู้ว่าพวกเรามือกลองแก่ๆก็มักจะเป็นอย่างนี้แหละ!”


หกเดือนต่อมา เซอร์ บ๊อบ เกลดอฟ โทรมาหานิคที่บ้าน เซอร์บ๊อบเคยเล่นบทนำในภาพยนตร์ Pink Floyd The Wall มาก่อนในยุค 80’s แต่เขากับนิคก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกลดอฟเล่าไอเดียการจัด Live8 ให้นิคฟัง หลังจากงงอยู่พักหนึ่ง นิคก็เข้าใจประเด็น Live8 เป็นคอนเสิร์ตที่ไม่ต้องการเงินบริจาค แต่เป็นงานที่ต้องการความสนใจและใส่ใจจากโลกและผู้นำสำคัญๆของโลก ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดนตรีที่จะเกิดขึ้นในงาน ต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ และ อะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการรียูเนียนของ Pink Floyd


โรเจอร์ วอเตอร์ส (เบส,ร้อง) เดฟ กิลมอร์ (กีต้าร์,ร้อง) นิค เมสัน (กลอง,ซาวนด์เอเฟเฟ็ค) และ ริค ไรท์ (คีย์บอร์ด) คือสมาชิกของ Pink Floyd ในยุครุ่งเรืองที่สุด พวกเขาเล่นคอนเสิร์ทด้วยกันครั้งสุดท้ายที่ Earls Court ในลอนดอน เมื่อปี 1981 หรือประมาณ 24 ปีมาแล้ว โรเจอร์ออกจากวงไปหลังจากอัลบั้ม Final Cut (อัลบั้มออกในปี 1983 และโรเจอร์ ประกาศลาออกจากวงในปี 1985) เดฟ นิค และ ริค ยังคงใช้ชื่อ Pink Floyd และออกงานสตูดิโออัลบั้มมาอีกสองชุดคือ A Momentary Lapse Of Reason (1987) และ The Division Bell (1994) และแม้ว่างานทั้งสองชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จในด้านพาณิชย์เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เป็นการยากเลยที่ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงการขาดหายไปของโรเจอร์ วอเตอร์สผู้ที่ในยุคหลังของวงเป็นแกนหลักในการแต่งเพลงและกำหนดคอนเซ็พท์ของแต่ละอัลบั้ม Pink Floyd ที่ไม่มีโรเจอร์ยังคงความเนี้ยบและพิถีพิถันไว้ แต่มันไม่มีความเฉียบคมของแนวคิดและความเข้มข้มของดนตรีและอารมณ์บีบคั้นก็แทบจะหายไปทั้งหมด


งานเดี่ยวของโรเจอร์ วอเตอร์สนั้นไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายเท่า Pink Floyd เขาออกงานสตูดิโอมาสามอัลบั้มคือ The Pros And Cons Of Hitchhiking (1984) , Radio K.A.O.S. (1987) และ Amused To Death (1992) ในความเห็นของผม งานเดี่ยวของโรเจอร์ยังคงความเป็น Pink Floyd classic มากกว่า Pink Floyd เองเสียอีก เว้นไว้อย่างเดียวคือเสียงกีต้าร์ของเดฟ ที่ไม่ว่าโรเจอร์จะหามือกีต้าร์สุดเซียนอย่างแคลปตันหรือเจฟฟ์ เบ็คมา ก็ยังไม่อาจทดแทนได้


และหลายปีที่ผ่านมา รอยร้าวระหว่างโรเจอร์และสมาชิกของคนอื่นก็ไม่มีวี่แววว่าจะประสานกันได้ ตั้งแต่เขาออกจากวง และมีการฟ้องร้องไม่ให้เดฟและนิคใช้ชื่อ Pink Floyd หากิน แน่นอน โรเจอร์แพ้.... และการที่เดฟ นิค และ ริค ยังสามารถเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีโรเจอร์ได้ พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นอะไรสำหรับการรียูเนียน


แต่สำหรับโรเจอร์ เขาอาจจะหาจังหวะและลู่ทางเหมาะๆสำหรับการเดินทางลงจากอีโก้ของเขาเท่านั้น


กลับมาที่บ้านของนิค เซอร์บ๊อบสารภาพว่าเขาพยายามติดต่ออ้อนวอน เดฟ กิลมอร์แล้วสำหรับการรียูเนียนครั้งนี้ ทั้งโทร ทั้งพยายามจะบุกไปถึงบ้าน แต่มือกีต้าร์วัย 60 เซย์โนอย่างเดียว นิคให้ความเห็นว่าสาเหตุที่เดฟไม่อยากตอบรับโครงการนี้มองได้หลายอย่าง หนึ่งก็คือ ทางวงไม่ได้อยู่ในสถานะของการทำงานมาหลายปีแล้ว สองคือ เดฟกำลังทำโซโล่โปรเจ็คอยู่ และเดฟคงรำคาญกับการที่จะต้องมาตอบปัญหาเรื่องการรียูเนียนระยะยาวและการทำอัลบั้มซึ่งจะต้องตามมาแน่ๆถ้าพวกเขาตอบรับการเล่นใน Live8


ตัว นิค เมสันเองนั้นไม่มีปัญหา เขายินดีอย่างยิ่งสำหรับการรียูเนียนที่จะเกิดขึ้น นิคเคยไปเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตของโรเจอร์มาแล้วในปี 2002 และเขาเพิ่งเขียนหนังสือ personal history ของวงออกขายไปในปี 2004 ในชื่อ Inside Out (เดฟและโรเจอร์มีส่วนช่วยตรวจพรูพด้วย) แต่เขาไม่คิดว่าตัวเขาเองไม่มีปัญญาจะไปตะล่อมเดฟได้สำเร็จแน่ “You can take a horse to the water but you can’t make it drink; in David’s case you can’t even get him near the water. However, bringing the Waters to David might just work…” นิคเผยแผนของเขาให้ฟังภายหลัง ตรงนี้ไม่ขอแปลนะครับ


นิคอีเมล์ไปหาโรเจอร์ซึ่งเมล์ตอบกลับมาทันควัน โรเจอร์โทรหาบ๊อบและเมื่อได้ฟังไอเดียเขาก็เห็นด้วยเต็มที่ สองสัปดาห์ต่อมาบ๊อบโทรกลับไปอีกที และโรเจอร์ก็แทบเดี้ยงเมื่อทราบว่ากำหนดการของคอนเสิร์ทนั้นเหลืออีกไม่ถึงเดือน ไม่มีเวลาจะเอ้อระเหยอีกต่อไป โรเจอร์หยิบโทรศัพท์กดไปหาเดฟ “เฮลโหล...ไอคิดว่าเราควรจะรับงานนี้นะ” เดฟยังไม่แน่ใจด้วยความกังวลว่าเสียงร้องและกีต้าร์ของเขาจะอยู่ในฟอร์มที่ขึ้นสนิมเกินไป เขาขอเวลาเพื่อเช็คความฟิตก่อน


24 ช.ม. ต่อมาเดฟตอบตกลง


ก็เหลืออีกคนเดียวคือ ริค ไรท์ ที่อาจจะเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ริคตอบตกลง แม้ว่าเขาอาจจะยังหวาดผวาอยู่ว่าเขาจะมีปัญหากับโรเจอร์อีกหรือเปล่า (ริคถูกโรเจอร์ตะเพิดออกจากวงตั้งแต่สมัยบันทึกเสียง The Wall)
เดฟให้สัมภาษณ์นักข่าวสั้นๆว่า “เรื่องบาดหมางระหว่างโรเจอร์กับวงถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากเมื่อนำมาเทียบกับเรื่องระดับนี้ (Live8)” ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงโลกก็ทราบว่า Pink Floyd กำลังจะกลับมาแล้ว และพวกเขาทำให้ทั้งโลกหันมามอง Live8 อย่างเต็มตา


Pink Floyd มีเวลาสำหรับซ้อมและเตรียมทุกอย่างแค่ 10 วัน พวกเขาเปิดโรงแรม Connaught ในลอนดอนเพื่อเตรียมการนี้ โรเจอร์และเดฟสุมหัวกันเลือกเพลง เกลดอฟให้ข้อเสนอบางอย่าง และนิคอยากให้เล่นเพลงช้าๆ... การซ้อมเป็นไปอย่างราบรื่น โจ๊กเก่าๆถูกขุดขึ้นมาอุ่นและแจกจ่ายให้ฮากันเป็นระยะๆ วิดีโอเทปเก่าๆถูกแงะขึ้นมาตัดต่อเพื่อประกอบการแสดง โรเจอร์ยังคงคมกริบในการแจงไอเดียในสิ่งที่เขาต้องการ และที่น่าประหลาดใจคือเขายินดีรับฟังความเห็นคนอื่นๆ (ก็เป็นด้วย)


Pink Floyd ยกทัพไปซ้อมเข้มๆสามวันเต็มที Black Island วงสนับสนุนและทีมงานด้านเทคนิคเก่าๆถูกเรียกตัวเข้ามาเสริมเต็มอัตราศึก สถานการณ์ส่วนใหญ่สงบดี จะมีบ้างก็ตอน ริค ไรท์เอ่ยถึงเบส ไลน์บางท่อนที่ กาย แพร็ตเล่นไว้ในทัวร์ครั้งก่อน (กายเป็นลูกเขยของริค) โรเจอร์ได้ยินเข้าถึงกับฉุนขาด “Rick, what you and your son-in-law get up to in private is none of my business.” (โปรดสังเกตว่าขนาดด่ายังมีสัมผัส)


ก่อนหน้างานจริง 1 วัน พวกเขาได้ไปซ้อมที่ Hyde Park สถานที่จริง ทุกอย่างราบรื่น แม้ว่านิคจะมีปัญหากับกลองบ้างนิดหน่อย แต่เขามองว่ามันเป็นธรรมชาติที่จะถูกแก้ไขไปเองในวันจริง


Pink Floyd เล่น Live8 เป็นวงรองสุดท้ายในตอนห้าทุ่มของวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2005 ไฟสนามหรี่มืด เสียงหัวใจเต้นเป็นจังหวะค่อยๆดังขึ้นทีละน้อย มันคือเพลง Speak To Me จากอัลบั้มที่ติดอันดับนานที่สุดในโลก The Dark Side Of The Moon ไฟบนเวทีสว่างขึ้น และเราก็ได้เห็นพวกเขาพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง หลายคนคงยังไม่เกิดด้วยซ้ำตอนที่เขาเล่นด้วยกันครั้งสุดท้าย Pink Floyd เล่นด้วยกันสี่เพลงคือ "Speak to Me/Breathe/Breathe Reprise", "Money", "Wish You Were Here" และ “Comfortably Numb". เป็นเวลาทั้งหมดเกือบ 25 นาที มันคือการแสดงที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ โรเจอร์เล่นเบสอย่างมีชีวิตชีวาและกระดี้กระด้ากว่าเขาเพื่อน ริคพรมคีย์บอร์ดสร้างชั้นบรรยากาศให้บทเพลงอย่างที่เขาถนัด นิคยังหนักแน่นมั่นคงไม่เสื่อมคลาย และ เดฟ กิลมอร์ แม้จะอ้วนหัวล้านไม่เหลือเค้าหนุ่มฮิปปี้ผมสลวย แต่เสียงร้องและฝีมือกีต้าร์ของเขาไม่ถดถอยลงไปแม้แต่นิดเดียว ท่อนโซโลใน Comfortably Numb คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เปล่งออกมาจาก Strat สีดำของเขา คอร์ดสุดท้ายของ Comfortably Numb จบลงพร้อมกับเครื่องดนตรีทุกชิ้น เสียงเอ็คโค่สั้นๆกึกก้องสู่ท้องฟ้าลอนดอน เดฟกล่าว ‘Thank You, Good Night’


โรเจอร์เรียกเพื่อนๆทั้งสามมาโอบไหล่กันยืนเรียงหน้ากระดานและอำลาแฟนเพลง เป็นภาพที่ไม่น่าเชื่อ และถ้า Pink Floyd อยากจะลงจากบัลลังก์อย่างเป็นการถาวร ก็คงไม่มีเวทีไหนและเวลาไหนจะดีไปกว่าที่นี่อีกแล้ว

1 comment:

Unknown said...

ขอบคุณสำหรับตำนาน
น้ำตาแทบไหล จริงๆ