Monday, 18 August 2014

Led Zeppelin II (remastered 2014)


THEY'RE SO HEAVY

Led Zeppelin II *****
deluxe edition 2014
produced by Jimmy Page
remastered by John Davis
original released 1969

อยู่ดีๆใครจะอยากควักสตางค์ซื้ออัลบั้มเก่าหงำที่ออกมาครั้งแรกเมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน? แน่นอนมันต้องมีเหตุผล ที่อาจจะประมวลได้ดังนี้ 1) แฟนเพลงรุ่นกระเตาะที่เคยแต่ได้ยินสมญานามหรือฟังใน youtubeแต่ไม่เคยมีผลงานชิ้นนี้มานอนกอดลูบคลำตัวเป็นๆมาก่อน 2) แฟนเพลงที่สนใจและลุ่มหลงในด้านคุณภาพเสียงหรือเรียกกันว่าเหล่าออดิโอไฟล์ ซึ่งใคร่จะสัมผัสว่าการนำเอามาสเตอร์เก่ามาปัดฝุ่น (remaster)ใหม่ครั้งนี้จะมีการ"ปรับปรุง"หรือแม่แต่แค่ "เปลี่ยนแปลง" จากเวอร์ชั่นเก่าๆ(ที่เขาเองอาจจะไม่แน่ใจว่ามีอยู่ในตู้ที่บ้านอยู่กี่ฟอร์แมทแล้ว)อย่างไรบ้าง 3) เพลงพิเศษแทร็คใหม่ที่เพิ่มเติมมาจาก original version อันนี้ส่วนมากศิลปินหรือต้นสังกัดมักจะขุดกรุเอางานหายากหรือไม่เคยออกวางจำหน่ายเป็นทางการที่ไหนมาก่อนมาปลุกปั่นกิเลส 4) package อันสวยงาม, สร้างสรรค์ และอลังการ ที่อาจจะมี option ให้เลือกมากมายแล้วแต่สถานะทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค 5) ไม่มีเหตุผลกลใดนอกจากเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ไม่มีวันตาย ความจงรักภักดีต่อศิลปินอยู่ในขีดขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะมีผลงานอะไรออกมาก็ต้องขอสนับสนุนโดยปราศจากความลังเล

มองเผินๆเราอาจจะคิดว่าอภิมหาร็อคแบนด์อย่าง Led Zeppelin เป็นวงดนตรีที่นำของเก่ามา recycle,repackage กันเป็นล่ำเป็นสันพอสมควร แต่ความเป็นจริงแล้วในยุคดิจิตัลพวกเขานำผลงานทั้งหมดมารีมาสเตอร์กันอย่างเป็นทางการเพียงครั้งเดียวในยุค 90's  การ reissue ในปี 2014 นี้จึงจัดเป็นการทำ"ดิจิทัลรีมาสเตอร์"ครั้งที่สองของวงเท่านั้น การรีมาสเตอร์ครั้งนี้จะไม่ปล่อยออกมาทีเดียวหมด เริ่มจากล็อตแรกเป็นสามอัลบั้มแรกก่อน โดยในแต่ละชุดจะมีหลายฟอร์แมต ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงแต่ deluxe edition ของซีดีที่จะมี companion disc แนบมาด้วย (ไม่ได้แถม) ซึ่งเพลงในแผ่นเครื่องเคียงนี้ก็จะมีความน่าสนใจในระดับแตกต่างกันออกไป แต่จะเป็นแทร็คที่มีความเกี่ยวข้องกับวงในยุคของอัลบั้มนั้น

ผมขอเลือก Led Zeppelin II มากล่าวถึงใน GM2000 ฉบับนี้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวในความใกล้ชิดสนิทแนบแต่อ้อนออก ส่วนในด้านความยอดเยี่ยมนั้น ทั้งสามอัลบั้มถือว่ามีจุดเด่นจุดด้อยหักลบกันแล้วกินกันไม่ลง สมควรมีไว้ครองทั้งสามอัลบั้ม
จิมมี่ เพจ อดีตนักกีต้าร์ประจำห้องอัดมือฉมังและสมาชิกวง The Yardbirds และลูกวงที่เขาสรรหามาจากสรวงสวรรค์อย่าง โรเบิร์ต แพลนต์, จอห์น พอล โจนส์ และ จอห์น บอนแฮม ได้ประกาศให้โลกรับรู้ตั้งแต่อัลบั้มแรกของพวกเขาในต้นปี 1969 แล้วว่าพวกเขาคือของจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ตั้งแต่วินาทีแรก รากฐานอันหนักแน่นจากเพลงบลูส์และโฟล์ค ฝีมือและพลังอันเชี่ยวกรากของสมาชิกทุกคน และวิสัยทัศน์ทางดนตรีของเพจที่รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย ทำให้ LedZeppelin อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาเป็นปรากฎการณ์แห่งดนตรีร็อค

พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้มแรกกันด้วยเวลาเพียง 30 ชั่วโมง (เพจยืนยันหนักแน่นในข้อมูลตรงนี้ เพราะเขาเป็นคนจ่ายค่าห้องอัดเอง) แต่มันเป็นในช่วงหลังจากที่พวกเขาฟอร์มวงกันมาแล้วระยะหนึ่งและออกทัวร์ยุโรปมาด้วยกันพักหนึ่งแล้ว ฝีมือและความเข้าขาในกันและกันจึงอยู่ในระดับสื่อสารกันทางจิต แต่ก็เหมือนหลายๆศิลปินที่ทำงานชุดแรกออกมาได้อย่างสุดยอด ปัญหาคือพวกเขายังจะมีอะไรที่จะไปต่ออีกไหมในอนาคต ไม่ต้องพูดกันให้ไกล ก็อัลบั้มที่สองนี่แหละ

แววว่างานชุดต่อมาของ Zep น่าจะมีปัญหาก็คือพวกเขาแทบไม่มีเวลาเป็นชิ้นเป็นอันในการทำอัลบั้มนี้เลย ด้วยเวลาทั้งหมดของพวกเขาหมดไปกับการทัวร์คอนเสิร์ตอันหนักหน่วง (และผลพวงพลอยได้พลอยเสียจากการทัวร์นี้ อาทิ สาวๆ เหล้ายาปลาปิ้ง และการทำลายโรงแรม อันเป็นความสามารถระดับตำนานอีกประการหนึ่งของวง) เพจและลูกทีมอาศัยการแต่งเพลงในห้องพักโรงแรม, ไอเดียลูกริฟฟ์ที่มักจะคิดได้ในขณะอิมโพรไวส์เพลง Dazed and Confused บนเวทีเมื่อคืนก่อนหน้า, บันทึกเสียงตามเมืองต่างๆแล้วแต่จะมีเวลาที่ไหนเมื่อไหร่ โดยแต่ละห้องอัดก็มีสภาพแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่โอลิมปิก และ มอร์แกนสตูดิโอในลอนดอน, เอแอนด์เอ็ม,ควอนตัม,มิเรอร์ซาวนด์ในแอลเอ, ห้องอัดเล็กๆที่ขนานนามกันว่า "กระท่อม" ในแวนคูเวอร์ แพลนต์เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างสนุกว่า "มันโคตรจะบ้าบอ, เราแต่งเพลงกันในโรงแรมแล้วก็ไปอัดแบ็คกิ้งแทร็คในลอนดอน, ไปใส่เสียงร้องในนิวยอร์ค,อัดเสียงฮาร์โมนิก้าทับลงไปที่แวนคูเวอร์ แล้วก็มากลับมามิกซ์ตอนสุดท้ายในนิวยอร์ค"

ถ้าพวกเขาจะตั้งชื่อให้อัลบั้มนี้เป็นชื่ออื่นนอกจาก II มันก็อาจจะเป็น Zep On The Move และแม้ว่าจะอัดเสียงกันหลายต่อหลายที่ ซาวนด์ของอัลบั้มกลับฟังดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวไม่แปลกแยก มันไม่ใช่อัลบั้มที่มีซาวนด์เนี้ยบนิ้ง (ในแง่ของ fidelity ผลงานชุดนี้อ่อนด้อยกว่าชุดแรก) แต่ II มีความดิบสดของสุ้มเสียงที่ไม่เหมือนอัลบั้มใดๆของ Zep และความรีบเร่งฉุกละหุกตลอดการผลิต กลับทำให้มันเต็มไปด้วยความทรงพลังและเซ็กซี่ที่ทุกคนสัมผัสได้ทั้งในดนตรีและเนื้อหา

นอกจากเพจเองที่ทำให้สุ้มเสียงของ Led Zeppelin II ออกมาได้ยอดเยี่ยมแบบนี้ก็ต้องของคุณ Eddie Kramer เอ็นจิเนียร์ชื่อดัง (เขาเพิ่งมิกซ์อัลบั้ม Electric Ladyland ให้จิมี่ เฮนดริกซ์) ที่มานั่งมิกซ์กับเพจด้วยสองวันเต็มๆ เครเมอร์เล่าถึงการมิกซ์เสียงในช่วงกลางเพลง WholeLotta Love ที่ทั้งหลอนทั้งพลิ้วกันอุตลุตว่า "ไอ้ตรงช่วงที่ทุกๆอย่างกำลังอลหม่านนั่น จริงๆแล้วก็คือการผนวกพลังของผมกับเพจพล่านกันไปทั่วคอนโซลเล็กๆ หมุนปุ่มทุกปุ่มที่มนุษย์ชาติเคยรู้จักกันมา"

เมื่อพูดถึง Whole Lotta Love มันคือมหากาพย์อีกด้านของ Zep ที่แม้แต่ Stairway To Heavenก็ยังมิอาจสยบ ริฟฟ์สั้นๆของเพจในแทร็คนี้คือความยิ่งใหญ่ของดนตรีฮาร์ดร็อคที่เทียบได้กับสี่โน๊ตในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน, บอนแฮมได้โชว์ฝีมือกลองระดับอัจฉริยะที่ไม่ได้มีแต่ความหนักหน่วงเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ใครเข้าใจ, และแพลนต์..กับ every inch of his love.....อาจจะมีผู้ชายที่ร้องเพลงได้เซ็กซี่มากมายในโลก แต่จะมีใครเซ็กซี่แบบดิบเถื่อนและมีระดับในตัวเองได้เหมือนโรเบิร์ต?  ถ้าเพลงนี้จะมีปมด้อยหรือราคีก็ตรงข้อหาหยิบยกบางส่วนมาจากเพลง You Need Love ของ Willie Dixon แต่ก็ตกลงกันไปนอกศาลเรียบร้อยไปนานแล้ว Led Zeppelin II มีปัญหากับการละเมิดลิขสิทธิ์ตรงนี้อยู่หลายเพลงทีเดียว

เคล็ดลับที่ไม่ลับที่เพจมักกล่าวถึงเสมอคือหลักการ 'light and shade' (มีหนัก...มีเบา) ในการบรรเลงของ Zep และWhat is and What should never be ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่ากันว่าแพลนต์แอบแต่งเพลงนี้ให้กิ๊กคนโปรดของเขา (เพื่อความสมดุลย์กับ Thank You ที่แต่งให้ภรรยาในอีกไม่กี่แทร็คถัดมา) อารมณ์เพลงนี้ออกไปทาง jazzy พลิ้วๆมาก ก่อนที่จะมาลง 'shade' ในช่วงคอรัสให้สมเป็นวงฮาร์ดร็อคสักหน่อย

The Lemon Song ก็เป็นอีกเพลงที่มีแหล่งอ้างอิงจากเพลงบลูส์เก่าๆ คราวนี้เป็น 'Killing Floor' ของHowlin' Wolf และเนื้อร้องบางส่วนจาก Travellin' Riverside Blues ของ Robert Johnson แต่ฝีมือการบรรเลงของพวกเขาในแทร็คนี้ถือว่ามหาเทพ โดยเฉพาะลูกโซโล่ติดสปีดของเพจและการร่ายมนต์เบสสุดล้ำตลอดเพลงของโจนส์

Thank You เพลงช้าหวานที่แพลนต์แต่งเสียเยิ้มให้มัวรีนภรรยาสุดเลิฟ โจนส์เล่นออร์แกนในแทร็คนี้เสียงร้องของโรเบิร์ตบางช่วงฟังคล้ายร็อด สจ๊วต

ถึงตอนนี้ถ้าเป็นแผ่นเสียงก็ต้องพลิกมาเป็นหน้าบีที่เปิดตัวอย่างสุดสะท้านฟ้าด้วย Heartbreaker ช้า,หนัก เหมือนรถตีนตะขาบที่บดขยี้ไปข้างหน้า นี่คือเพลงโชว์เคสของเพจที่มีท่อน unaccompanied (คนอื่นหยุดหมด) มันลือลั่น ก่อนที่จะโซโล่อย่างเมามันส์พร้อมกับผองเพื่อน ต่อกันแบบแทบไม่เว้นช่องไฟด้วย Livin' Lovin' Maid (She's Just A Woman) ที่น่าจะเป็นเพลงที่"โจ๊ะ"ที่สุดของพวกเขา อาจจะดูง่ายไปหน่อยสำหรับ Zep แต่ก็ไม่บ่อยที่จะเห็นพวกเขาสนุกกันแบบนี้ในบทเพลง สมาชิกของวงส่วนมากจะไม่ค่อยชอบเพลงนี้ แต่ผมชอบนะ มันดูสนุกสนานและติดดินในแบบบ้านๆดี ที่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาก็เล่นกันได้

 Ramble On เนื้อหาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของJ.R.R. Tolkien (Lord of The Rings) (จึงไม่น่าประหลาดใจที่เนื้อเพลงดูสละสลวยสวยงามเป็นพิเศษ)  อคูสติกกีต้าร์โดดเด่น และคาแรกเตอร์ของบทเพลงที่ชี้ไปถึงอนาคตของพวกเขาใน Led Zeppein III

น่าเสียดายที่เพลงโชว์กลองของบอนแฮม Moby Dick กลับไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ช่วงโซโล่กลองของเขาดูเหงาๆ แทร็คนี้อาจจะเหมาะกับการเล่นไลฟ์มากกว่า ซึ่งบองโซ่มักจะโชว์การฟาดกลองด้วยมือเปล่า เรียกโลหิตออกมาเป็นขวัญตาผู้ชมเสมอ
และปิดท้ายด้วย Bring It On Home เพลงบลูส์ของ Willie Dixon ที่แพลนต์และเพจนำมาแต่งต่อโดยไม่ได้ให้เครดิตแก่ดิกซันอีกครั้ง นำมาซึ่งการฟ้องร้องอีกครา เป็นแทร็คที่ Zep ชอบนำมาเล่นในคอนเสิร์ตจนกระทั่งปี 1973

ความจริงความคลาสสิกของอัลบั้มนี้นั้นไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอะไรกันมาก แต่ที่น่าขำก็คือนิตยสารRolling Stone เคยสับและแดกดันผลงานชุดนี้ของพวกเขาเอาไว้ไม่น้อยสมัยออกครั้งแรกเมื่อปี 1969 (ปัจจุบันนิตยสารเล่มนี้กลับลำมายกย่องเซพมานานแล้ว)

สุ้มเสียงของการรีมาสเตอร์ครั้งนี้ของจอห์น เดวิส แม้จะไม่แตกต่างจากเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้อย่างฟ้ากับเหว แต่ก็น่าประทับใจ ไม่มีร่องรอยของ loudness war ที่ compress เสียจนไม่เหลือไดนามิก (เหมือนอย่างที่เดวิสทำไว้ใน Mothership อัลบั้มรวมฮิตชุดสุดท้ายของ Zep เมื่อเจ็ดปีก่อน) เบสแน่นและนุ่มนวล บรรยากาศโดยรอบสะอาดเงียบแต่ก็ยังคงทรงพลังและความ"เดอร์ตี้"ที่เป็นซาวนด์เฉพาะตัวของ Led Zeppelin II อยู่ ถ้าใครจะซื้อเพราะการรีมาสเตอร์อย่างเดียว ผมก็ว่าคุ้มค่า

ส่วน companion disc จัดว่าพอใช้ได้เท่านั้น ไม่มีอะไรหวือหวาถึงขั้นนั่งกันไม่ติดโซฟา โดดเด่นที่สุดก็น่าจะเป็น Whole Lotta Love (rough mix with vocals) ที่น่าจะเป็นแบ็คกิ้งแทร็ค + เสียงร้องของแพลนต์ที่เป็นไกด์ แต่บางช่วงก็เหมือนจะไปอยู่ใน master ด้วย ไม่มีเสียงประสานและเสียงโซโลจากเพจ รวมทั้งช่วง 'jungle' กลางเพลงก็ยังไม่สมบูรณ์ ฟังเผินๆก็เหมือนพวกเขาซ้อมกันนั่นเอง แทร็คนี้แค่ได้ฟังเสียงร้องของแพลนต์ก็คุ้มแล้ว

อีกแทร็คที่น่าฟังมากๆก็คือ rough mix with vocal ของ Ramble On ที่เสียงร้องของแพลนต์เปี่ยมชีวา พอๆกับเบสที่เดินอย่างเริงร่าเข้ากับชื่อเพลงของโจนส์

Heartbreaker ในแบบ rough mix ท่านจะได้ฟังโซโลของเพจในอีกแบบหนึ่ง ทำให้สงสัยว่าจริงๆแล้วท่อนโซโลนี้ของเพจไม่น่าจะเป็นการเล่นสดๆโดยไม่ได้ตระเตรียมมาก่อนเหมือนที่เขาชอบเล่าเอาไว้เพราะมันมีเค้าโครงของการประพันธ์เอาไว้พอสมควร

มี backing track เปล่าๆเอาไว้ให้แฟนคาราโอเกะสามเพลงคือ Thank You และ Living Loving Maid (She's Just A Woman) ส่วน Moby Dick ก็เกือบจะเป็น master version ที่ตัดเสียงโซโล่กลองของบองโซ่ออก! แทร็คนี้ทำให้เราทราบว่าท่อนเดี่ยวกลองของบอนแฮมน่าจะเป็นส่วนที่ตัดต่อเข้ามาใส่ภายหลัง

ปิดท้ายด้วยเพลงหน้าใหม่ที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ La La เป็นเพลงบรรเลงยาว 4:07 นาที จากการประพันธ์ของโจนส์และเพจ แทร็คนี้ดูเหมือนจะเป็นมิกซ์ที่มาจากเทป generation สูงๆ (เสียงไม่ค่อยดี) เพลงนำโดยออร์แกนฝีมือของโจนส์ในช่วงแรก รับช่วงต่อด้วยอคูสติกกีต้าร์และกีต้าร์ไฟฟ้าของเพจ มีลูกโซโล่งามๆหนึ่งช่วง ช่วงท้ายเพลงเหมือนเป็นการแจมอย่างสบายอารมณ์ยามบ่าย

แพ็คเกจทำเป็น gatefold สวยงามตามแบบฉบับของ LP ภาพประกอบสวยงามหายาก แต่ไม่มี linernotes อะไรมากมาย นอกจากรายละเอียดแต่ละแทร็คพอสมควร ถือว่าได้มาตรฐาน แต่ไม่ถึงกับงดงามน่าตะลึง

นี่คือประวัติศาสตร์ของดนตรีร็อคในช่วงรอยต่อของสองทศวรรษอันยิ่งใหญ่ 60's และ 70's ที่ Zep เหมือนจะสร้างสัญลักษณ์เอาไว้ ด้วยการนำอัลบั้มชุดที่สองของพวกเขาแผ่นนี้ เขี่ย Abbey Road..swan song ของ The Beatles ลงมาจากอันดับ 1 ของอัลบั้มชาร์ต 45 ปีผ่านมา ความตื่นเต้นของสุ้มเสียงอัลบั้มปกสิน้ำตาลนี้ยังคงมนต์ขลังไม่เสื่อมคลาย กรุณาเป็นเจ้าของมันเสียเถิดครับ ไม่ว่าคุณจะเคยมีมันแล้วหรือยัง!

หมายเหตุ:
1.ส่วนตัวผมซื้ออัลบั้มชุดนี้ด้วยเหตุผลที่ 2 และ 3 ครับ
2.Led Zeppelin และ Led Zeppelin III ถ้ามีโอกาสจะกล่าวถึงในภายหน้า แต่สั้นๆว่า companion disc ของทั้งสองชุดน่าสนใจกว่า II ครับ

tracklist
disc one:
1.Whole Lotta Love
2.What Is and What Should Never Be
3.The Lemon Song
4. Thank You
5.Heartbreaker
6.Living Loving Maid (She's Just A Woman)
7. Ramble On
8.Moby Dick
9.Bring It On Home

companion disc:
1.Whole Lotta Love (Rough Mix with Vocal)
2.What Is and What Should Never Be (Rough Mix with Vocal)
3.Thank You (Backing Track)
4.Heartbreaker (Rough Mix with Vocal)
5.Living Loving Maid (She's Just A Woman) (Backing Track)
6.Ramble On (Rough Mix with Vocal)
7.Moby Dick (Backing Track)
8.Lala (Intro/Outro Rough Mix)


2 comments:

Anonymous said...

ดีใจที่ได้อ่านรีวิวนี้ครับ...บอส :)

winston said...

I can't not write it.^_^