Thursday, 26 February 2009

Paul McCartney-ความอลหม่านและการสร้างสรรค์ที่สวนหลังบ้านของเขา


อัลบั้มใหม่ในรอบสี่ปีของพอล แมคคาร์ทนีย์ และเป็นอัลบั้มที่ 20 ในรอบ 35 ปี หลังจาก The Beatles เลิกรากันไปในปี 1970 ผมออกจะตื่นเต้นเมื่อทราบว่าศิลปินคนโปรดจะมาจับมือกับโปรดิวเซอร์ที่ผมชื่นชมในการทำงานชุดนี้ ไนเจล ก็อดริช คือชื่อของเขา เครดิตของพี่เค้าในการเป็นผู้ควบคุมการผลิตอัลบั้ม OK Computer (Radiohead), Mutations (Beck), The Man Who (Travis) รับประกันความยิ่งใหญ่ ในอดีตพอลเคยออกอัลบั้มที่เขาเหมาเล่นดนตรีทุกชิ้นมาสองแผ่นคือ McCartney (1970) และ McCartney II (1980) และใน Chaos… มันก็เกือบจะเป็น McCartney III เขาเล่นดนตรีเกือบทุกชิ้น อาจจะเว้นก็แต่พวกเครื่องสายและกีต้าร์บางพาร์ทเท่านั้น นี่เป็นไอเดียของไนเจล เขามองว่าการที่พอลใช้วงแบ็คอัพที่เขาทัวร์ด้วยกันมาตลอดมาเล่นบันทึกเสียง มันง่ายเกินไปและไม่ท้าทาย ไนเจลยังชอบการตีกลองของพอลอีกด้วย แต่ Chaos ไม่ได้มีซาวนด์เหมือนเดโมที่น่าจะเก็บไว้เปิดให้เมียฟังอย่าง McCartney หรือเต็มไปด้วยเสียงสังเคราะห์กระป๋องแตกอย่างใน McCartney II ตรงข้าม มันมีการบันทึกเสียงที่ปราณีตอลังการ ไม่ต่างจากงานทุกชิ้นที่ไนเจลเคยโปรดิวซ์มา 14เพลงใน Chaos แทบไม่มีเพลงร็อคเกอร์ แต่มันบรรจุไปด้วยเพลงที่ครุ่นคิดอ้อยอิ่ง สรรพเสียงที่ซ้อนทับถักทออย่างละเมียด ด้วยฝีมือการบรรเลงของผู้ชายวัย 63 คนนี้แทบจะคนเดียว มันไม่ใช่อัลบั้มที่ฟังแล้วติดหูทันที คุณต้องให้เวลากับมัน เสียงแบบไนเจลมีให้ได้ยินอย่างไม่ต้องเพ่งใน Chaos แต่โดยรวมๆนี่ก็ยังเป็นงานแบบพอล แมคคาร์ทนีย์อยู่ให้แฟนจำได้ไม่ผิดตัว Chaos ไม่มีเศษเพลงหรือ filler ทุกเพลงแตกต่างและมีคุณค่าในตัวเอง พอลร้องได้ดีกว่าในหลายอัลบั้มที่ผ่านมาของเขา ในแง่ของการควบคุมน้ำเสียง อักขระ ที่ดูตั้งใจมาก แต่มันก็ฟังออกจะเกร็งๆกว่าพอลในแบบเดิมๆอยู่ด้วยเพลงเด่น Fine Line ซิงเกิ้ลแรก สไตล์เหมือนใน Flaming Pie (1997) ท่อนที่ดึงดนตรีช้าให้กีต้าร์โซโลทำได้งามมาก, Jenny Wren “น้องสาว Blackbird” คือคำจำกัดความที่พอลให้ไว้เอง สไตล์การปิกกิ้งและเนื้อหาคือความเกี่ยวดอง, Too Much Rain เพลงที่ดีที่สุดในแผ่น ความเป็นก็อดริชและแมคคาร์ทนีย์มาบรรจบกันพอดีที่เพลงนี้ ทำนองสุดยอด พอลยังเป็นราชาแห่งเมโลดี้เหมือนกับที่เขาเคยเป็น เนื้อหาราวกับจะแต่งมาเพื่อปลอบประโลมชาวอเมริกันที่ประสบภัยจากเฮอริเคนแคทรีน่าซะงั้น, Riding To Vanity Fair มีความเป็นไนเจลมากที่สุดและก็มีความเข้มข้นทางดนตรีที่สุดในแผ่นด้วย ถ้าเอา Beck มาร้องแทนก็ไปใส่ใน Sea Change ได้ทันที แต่พอลก็ร้องแนวนี้เอาเรื่องได้ไม่แพ้หนุ่มๆนะครับ ,English Tea เปียโนบวกเครื่องสายวงเล็ก ทำนองเยี่ยมอีกแล้ว ทำให้นึกถึง Eleanor Rigby หรือ Martha My Dear ยาวแค่สองนาทีกว่า ,Friends To Go ป๊อบสไตล์ Beatles ยุค A Hard Day’s Night พอลตีฉิ่ง…เอ๊ย…ฉาบได้น่ารักมาก ,Anyway บัลลาดอลังการปิดอัลบั้ม เสียงเปียโนอิ่มสุดลิ่มหวานสุดใจไปเลย (แหม แต่อินโทรทำไมไพล่ไปเหมือน ‘People Get Ready’ ของ Curtis Mayfield ได้ล่ะครับ?) ผมไม่คิดว่า Chaos จะขายดีอะไรนัก เพราะมันฟังไม่ง่าย แต่ในแง่ศิลปะ มันคือ Creation ชิ้นสำคัญอีกครั้งจากพอล แมคคาร์ทนีย์ ขอบคุณไนเจลด้วยครับ

No comments: