Saturday 21 February 2009

The Beatles | Sgt. Pepper's (2)


หลังจากเลิกทัวร์กัน พวกเขาก็ใช้เวลาแยกย้ายกันไปทำอะไรตามใจชอบ จอห์น เลนนอน
ได้รับคำเชิญไปเป็นดารานำในหนังของ ริชาร์ด เลสเตอร์ ผู้กำกับหนังสองเรื่องก่อนของ
The Beatles ใน ‘How I Won The War’ (ชื่อไทยในตอนฉายบ้านเรา “พลทหารปืนฝืด”) พอล
แมคคาร์ทนีย์ ได้มีโอกาสไปทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Family Way จอร์จ
แฮริสัน บินไปศึกษาวัฒนธรรมและดนตรีในอินเดีย ส่วนริงโก้ สตาร์
มือกลองอาจจะเป็นคนเดียวที่อยู่เล่นกับลูกที่บ้าน

พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งในราวเดือนพ.ย. 1966 ด้วยมาดใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งทรงผมและหนวดเครา ตลอดจนแฟชั่นการแต่งกายที่ฉูดฉาดไซคีดีลิกจ๋า พวกเขาไม่ได้เข้าห้องอัดกันด้วยเพลงเป็นกอบเป็นกำ หรือคอนเซ็พท์ต่างๆพกมาจากบ้าน ตรงข้าม คอนเซ็พท์ของ Sgt. Pepper’s ถูกสร้างขึ้นไปพร้อมๆกับตัวมัน

ยุคนั้นยังเป็นแฟชั่นว่าเพลงที่ออกเป็นซิงเกิ้ลไปแล้ว ไม่ควรจะมารวมในอัลบั้มอีก (เฉพาะของฝั่งอังกฤษนะที่เป็นอย่างนี้) สองเพลงคลาสสิก Strawberry Fields Forever ของจอห์น และ Penny Lane ของ พอล ที่ออกเป็นซิงเกิ้ลไปก่อน จึงไม่ได้มาอยู่ในอัลบั้ม (แต่มันกลับไปอยู่ในอัลบั้ม Magical Mystery Tour ในบางประเทศที่ออกตามหลังมา) จอร์จ มาร์ตินโปรดิวเซอร์เจอแรงกดดันจากอีเอ็มไอทำให้เขาต้อง”ปล่อย”สองเพลงนี้ออกไปเป็นซิงเกิ้ลแก้คิดถึงก่อน (ภายหลังมาร์ตินออกมายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตการทำงานของเขาที่ปล่อยซิงเกิ้ลนี้ออกไปคุ่กันเอง เพราะเพลงดีทั้งคู่ เลยแย่งอันดับกันเอง ส่งผลให้ไปไม่ถึงอันดับ1 ซึ่ง Release Me ของเองเกิลเบิร์ต ฮัมป์เบอร์ดิงก์คว้าไป)
Strawberry Fields เป็นเพลงที่มีการบันทึกเสียงซับซ้อนยาวเหยียดที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Beatles จอห์นแต่งเพลงนี้เพื่อบรรยายความรู้สึกลึกๆในใจเขาเองโดยผ่านทางสถานที่จริงที่เป็นสถานเลี้ยงเด็กในลิเวอร์พูลใกล้ๆบ้านของเขา งานใน Revolver หลายๆเพลงที่ว่าฟังแล้วมึนตึ้บ เมื่อมาเจอ Strawberry Fields ยิ่งทำให้แฟนๆตะลึงไปกันใหญ่ พวกเขาใส่ทุกอย่างที่นึกได้ประเคนลงไปในเพลงนี้ ทั้งเครื่องดนตรีแปลกๆอย่าง mellotrone, swordmandel หรือวงเครื่องสายเครื่องเป่าให้อุตลุต ส่วน Penny Lane นั้นก็เหมือนเป็นอีกด้านหนึ่งของ Beatles อันนำแสดงโดยพอล แมคคาร์ทนีย์ สองเพลงนี้มีความซับซ้อนในการบันทึกเสียงไม่แพ้กัน โดย Penny Lane จะเน้นไปทางคีย์บอร์ดและเสียงเคาะเล็กๆน้อยๆบวกกับเสียพิคโคโลทรัมเป็ตอันโดดเด่น สองเพลงนี้ยังเป็นเพลงที่เล่าถึงสถานที่ในวัยเด็กของเพวกเขาเหมือนกัน แต่อารมณ์ของ Penny Lane นั้นสดใสฟ้าเปิด ต่างกับความหนืดมืดมัวใน Strawberry Fields อย่างคนละขั้ว

เมื่อปล่อยสองเพลงเด็ดนี้ออกไปแล้ว พวกเขามีแค่เพลงย้อนยุคแบบแจ๊สฮอลล์น่ารักๆของพอล When I’m Sixty-Four อยู่ในมือเท่านั้น งานที่เหลือคือการทำงานเพื่ออัลบั้มใหม่อย่างแท้จริง พวกเขาเริ่มกันที่เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม A Day In The Life ก่อนที่จะมาได้คอนเซ็พท์กันจริงๆตอนบันทึกเสียงเพลง Sgt. Pepper’s และต่อด้วยเพลง With A Little Help From My Friends ที่ริงโก้ สตาร์ได้โอกาสร้องนำ

พอลอาจจะได้ไอเดียชื่อ Sgt. Pepper’s มาจากผู้ช่วยของวง Mal Evans หรือจากคำว่า Salt and Pepper ที่เพี้ยนมา หรือได้มาจากชื่อเครื่องดื่ม Dr. Pepper ก็เป็นไปได้ แต่ความคิดหลักๆในการสร้างคอนเซ็พท์นี้ต้องยกให้พอลเอง เขาอยากจะสร้าง alter ego ของวงขึ้นมา เพื่อตัวพวกเขาเองหรือเพื่อแฟนๆจะได้รู้สึกว่านี่ไม่ใช่ Beatles วงเดิม นี่เป็นวงดนตรีอีกวงที่มีอิสระเสรีในการที่จะทำอะไรก็ได้ที่ Beatles ไม่เคยทำมาก่อน

ไอเดียนี้ ไม่มากก็น้อย อาจจะมีผลทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานของพวกเขาหลุดโลกฉลุยไร้ข้อจำกัด ไม่ต้องมีคำว่า Beatles มาค้ำคอ (พอลเป็นสมาชิกคนเดียวของวงในช่วงนั้นที่”อินเทรน”สุดๆไปกับวงการศิลปะในลอนดอน ทั้งในวงการภาพวาด หนังสือ และดนตรี underground จึงไม่น่าแปลกที่ไอเดียเริ่ดๆหลายอย่างใน Pepper จะมาจากเขา)

พอลต้องการให้อัลบั้มนี้เป็นการแสดงสดของวงของจ่าเป๊บเปอร์ ที่เปิดตัวด้วยการแนะนำวงดนตรี ต่อด้วยการแนะนำนักร้องคนต่อไป เขาคือ บิลลี่ เชียร์ส (ริงโก้) ที่มาร้อง With A Little Help…. ส่วนเพลงอื่นๆก็เป็นการแสดงของวง และมาขมวดปมด้วยเพลงก่อนลา Sgt. Pepper’s (reprise) และจบจริงๆด้วย A Day In the Life จอห์นเคยบอกว่าอัลบั้มนี้เป็นคอนเซ็พท์จริงๆก็แค่ต้นกับปลาย เพลงที่เหลือจะไปอยู่ในอัลบั้มไหนก็ได้ทั้งนั้น ก็มีส่วนถูกของเขา เนื่องจากความที่ Pepper เป็น”ลูกพอล” ทำให้อัลบั้มนี้ไม่เป็นที่โปรดปรานของเต่าทองตัวอื่นๆนัก ริงโก้รู้สึกเฉยมากๆกับงานนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เขาเล่นหมากรุกเก่งขึ้น (เล่นระหว่างรอคิวตีกลอง)
จอห์นเองในช่วงหลังจากนี้เขายิ่งต่อต้านการทำดนตรีแบบอลังการฟุ้งเฟ้อแถมเสแสร้งอย่าง Pepper เข้าไปใหญ่ อย่างไรก็ตามเพลง”ฆ่า”ในอัลบั้มสอง-สามเพลงก็เป็นงานของเขา ส่วนจอร์จ นอกจาก Within You Without You แล้ว บทบาทของเขาออกจะไม่เด่นชัดจริงๆ แม้แต่การโซโลกีต้าร์ก็ถูกพอลขโมยไปเล่นอยู่ไม่น้อย

และที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดคือ โปรดิวเซอร์ จอร์จ มาร์ติน และ ซาวนด์เอ็นจิเนียร์หนุ่ม เจฟฟ์ เอเมอริก ที่เนรมิตเสียงแปลกๆจากไอเดียของเต่าทองลงมาเป็นเสียงให้เราฟังได้ราวกับเล่นกล

ปัจจัยสุดท้ายที่ผมไม่ค่อยอยากจะกล่าวถึงนักคือบทบาทของยาหลอนประสาทยอดนิยมแห่งยุคที่มีชื่อย่อว่า LSD (lysergic acid) ที่มีผลทำให้การรับรู้ของผู้เสพถูกบิดเบือนไปจาก reality กว่าที่คุณจะนึกฝัน ต้องยอมรับว่ายาตัวนี้มีผลต่อการทำงานของ Beatles ขณะทำ Pepper โดยเฉพาะเลนนอนที่ว่ากันว่า”เล่น”มันหนักที่สุด แต่ผมไม่คิดว่า LSD หรือยาอะไรเพียงอย่างเดียวจะทำให้คุณเป็นอัจฉริยะข้ามคืนขึ้นมาได้ อย่าลืมว่ายุคนั้นใครๆก็ใช้มัน แต่ไม่ทุกคนที่กลับมาพร้อมกับ masterpiece และยังอีกหลายคนที่ไม่กลับมาจาก ‘trip’ (คำที่ใช้สำหรับสถานะของผู้เสพที่กำลังล่องลอยไปกับ LSD) เลยด้วยซ้ำไป

No comments: