Saturday 21 February 2009

The Beatles | Sgt. Pepper's (3) (Final)


Sgt. Pepper’s
เป็นงานที่ต้องฟังกันต่อเนื่องทั้งอัลบั้มถึงจะได้อรรถรสสมบูรณ์แบบ
แต่ในแต่ละแทร็คก็มึความโดดเด่นในตัวของมันเอง
เรามาดูเบื้องหลังและเกร็ดเล็กน้อยในบางเพลงสำคัญๆกันครับ(ก็เกือบหมดแผ่นนั่นแหละ)



Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Bandเพลงเปิดอัลบั้ม มันเปรียบได้กับบท “โหมโรง” หรือ ‘Overture’ ของดนตรี Opera ก่อนที่จะนำเข้าสู่เนื้อหาที่แท้จริงของ Sgt. Pepper’s พอลร้องนำในตัวบทเพลงที่เดินเรื่องด้วยกีต้าร์สไตล์จิมี่ เฮนดริกซ์ สนับสนุนด้วยเครื่องเป่า French Horns อีกสี่ชิ้น และเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนการแสดงบนเวที จอร์จ มาร์ตินก็ได้โอเวอร์ดับเสียงวงดนตรีอุ่นเครื่อง, เสียงปรบมือและหัวเราะจากเทปบันทึกการแสดงละคร Beyond The Fringe ลงไปอย่างแนบเนียน

With A Little Help From My Friends จอห์นและพอลช่วยกันแต่งเพลงนี้ให้ริงโก้ร้องนำโดยเฉพาะ เดิมมีชื่อเพลงว่า ‘Bad Finger Boogie’ มันเป็นเพลงที่พวกเขาบันทึกเสียงกันเกือบจะเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มในวันที่ 29 มีนาคม 1967 ก่อนที่จะนำมาเกี่ยวก้อยกับแทร็คแรกด้วยเสียงกรีดร้องของแฟนๆ (ตัดต่อมาจากเสียงคนดูในการแสดงของ Beatles เองที่ Hollywood Bowl!) นอกจากเนื้อหาจะแทงใจแฟนๆริงโก้แล้ว ท่วงทำนองก็ยังอยู่ในคีย์ที่สบายๆสำหรับนักร้องสไตล์ริงโก้ พอลช่วยเสริมท่อนเบสหวานละมุนที่เขาบรรจง overdub (อัดทับ) ลงไปภายหลัง

Lucy In The Sky With Diamonds จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคนคิดว่าชื่อเพลงนี้ถ้านำมาย่อแล้วจะได้คำว่า LSD แม้ว่าจอห์นจะออกมาประกาศปาวๆว่าไม่ใช่ เพลงนี้เขาได้ชื่อเพลงมาจาก”ชื่อรูป”ที่จูเลียนลูกชายวัยสี่ขวบเขาวาดเพื่อนนักเรียนหญิงกำลังลอยล่องในนภาต่างหาก ส่วนเนื้อหานั้นจอห์นได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือ Through The Looking Glass ของ Lewis Carroll นักเขียนคนโปรดในวัยเด็กของเขาเสียงร้องและดนตรีที่ฟังดูฟุ้งฝันได้มาจากการใส่ effect ต่างๆและการปรับสปีดอันซับซ้อน โดยเฉพาะเสียงร้องของจอห์นเอง ที่เขาต้องการให้ฟังออกมาไม่เหมือนเสียงของเขาที่สุด

She’s Leaving Home พอลเล่นกับออเคสตร้าในสไตล์ที่เขาเคยทำไว้กับ Yesterday และ Eleanor Rigby แต่คราวนี้ดูเหมือนเขาจะทำได้ไม่กระชับและลงตัวเท่า ไอเดียของเพลงได้มาจากข่าวนักเรียนสาวอายุ 17 ที่หนีออกจากบ้าน ทั้งๆที่พ่อแม่ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่า “เราได้ให้ทุกอย่างแก่เธอที่เงินสามารถซื้อได้แล้วนะ” นี่เป็นเพลงๆเดียวของ Beatles ที่จอร์จ มาร์ตินไม่ได้เป็นคนอะเรนจ์เครื่องสายให้ มันเป็นฝีมือของ Mile Leander จอห์นช่วยร้องและแต่งในท่อนที่เป็นดั่งเสียงทอดถอนใจของผู้เป็นพ่อแม่ (จอห์นเล่าว่าเขาจำมาจากคำบ่นของป้ามิมี่)

Being For The Benefit Of Mr. Kite! ไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะความอัจฉริยะหรือความเกียจคร้าน จอห์นลอกคำโปรยในโปสเตอร์โฆษณาละครสัตว์ยุคปี 1843 ที่เขาได้มาจากร้านขายของเก่าเอามาทำเป็นเนื้อเพลงๆนี้ทั้งยวง แต่ด้วยความเป็นนายทางภาษาทำให้เนื้อหาที่เขียนออกมาดูดีในแบบจอห์นๆอีกเช่นเคย ทีเด็ดของเพลงนี้คือช่วงโซโล่เสียงม้าหมุนที่จอห์นต้องการให้ได้บรรยากาศของงานวัดฝรั่ง มาร์ติน”จัดให้”ด้วยการโยนเทปตัดกลางอากาศแล้วเอามาต่อใหม่แบบสุ่มส่งเดช ไม่น่าเชื่อว่าผลจะออกมาเวิร์คอย่างจัง

Within You Without You เพลงภารตะเพลงที่สองของจอร์จ ต่อจาก ‘Love You To’ ใน Revolver แต่นี่ไม่ใช่เพลงแขกธรรมดาๆ มันเป็นการผสมผสานดนตรีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยเนื้อหาที่เป็นปรัชญาแบบตะวันออกแท้ๆ นอกจากเครื่องดนตรีอินเดียที่เล่นโดยนักดนตรีจาก Asian Music Circle จากลอนดอนแล้ว จอร์จกับ Neil Aspinall ผู้ช่วยและเพื่อนสนิทของวงก็ยังเล่นเครื่องดนตรีแขกอีกบางส่วนเสริมลงไป ประชันกับไวโอลินแปดตัว เชลโลสามตัว กีต้าร์โปร่ง จอร์จร้องนำเองอย่างยอดเยี่ยมโดยไม่มีเต่าทองคนอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว ก่อนจบเพลงจอร์จจงใจใส่เสียงหัวเราะของเขาเองลงไปท้ายเพลงเพื่อเป็นการคลายเครียดให้ผู้ฟังจากดนตรีที่ค่อนข้างจะบีบเค้นอารมณ์ในเพลงนี้ ในอัลบั้มรีมิกซ์ Love (2006) จอร์จ มาร์ตินและลูกชายนำเพลงนี้ไปผสมกับ Tomorrow Never Knows ออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ

When I’m Sixty-Four หลังจากเครียดกันหน้านิ่วกับเพลงของจอร์จ พอลนำท่านผู้ฟังย้อนยุคกลับไปด้วยดนตรีแนวก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มันเป็นเพลงเก่าเก็บที่เขาแต่งไว้นานแล้ว และ Beatles ชอบนำมันมาเล่นในแบบอคูสติกยามเครื่องเสียงมีปัญหาในการแสดงยุคที่พวกเขายังเล่นที่ Cavern Club พวกเขานำมันมาขัดเกลาใหม่และบันทึกเสียงกันในช่วงปลายปี 1966 ระหว่างการบันทึกเสียง ‘Strawberry Fields Forever’ และ ‘Penny Lane’ พวกเขาเชิญนักคลาริเน็ตสามท่านมาร่วมบรรเลงในเพลงนี้และเพลงทั้งหมดถูกปรับสปีดให้เร็วขึ้นเล็กน้อยด้วยเหตุผลทางอารมณ์ของบทเพลง เนื้อหาของเพลงนี้เป็นเรื่องของหนุ่มคิดมากที่กังวลว่าสาวเจ้าจะยังเอ็นดูเขาอยู่ไหมยามเขาเฒ่าชแรแก่ชรา...อยากรู้นัก....

Good Morning, Good Morning จอห์นกดดันพอสมควรกับการแต่งเพลงแข่งกับพอลที่อยู่ในช่วงฟอร์มสดเหลือเกินในตอนนั้น แต่เขาก็เล่นง่ายๆด้วยการนำไอเดียมาจากโฆษณา cornflakes ทางทีวีในตอนเช้า เนื้อหาที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกจากหยิบประโยคต่างๆมาต่อกันแบบกลอนพาไปแต่ก็มีนักวิจารณ์บางคนยกย่องไว่ามีความหมายดีๆซ่อนเร้นอยู่ ทีมเครื่องเป่าจาก Sounds Inc หกท่านช่วยเสริมความคึกคักในยามเช้าของเพลงนี้ จบด้วยเสียงเอ็ฟเฟ็คของสรรพสัตว์ที่ดูเหมือนจะไล่ต่อกันเป็นทอดๆก่อนที่เพลงจะกลืนไปกับ...

………. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (Reprise)การกลับมาเล่นกับ theme เดิมที่ได้เสนอไว้ตอนต้นช่วยทำให้ Sgt. Pepper’s ดูเป็น concept album มากขึ้น ด้วยท่วงทำนองและเนื้อหาที่แทบจะไม่ต่างจากเพลงแรก นอกจากจังหวะที่เร้าใจกว่า (ริงโก้ตีกลองได้ “โจ๊ะ” จริงๆในแทร็คนี้) และประโยคอมตะ ‘It’s getting very near the end’ อันเร้าอารมณ์ยิ่งนัก พวกเขาบันทึกเสียงเพลงนี้เสร็จอย่างง่ายดายในวันที่ 1 เมษายน 1967 ในห้องอัดหมายเลข 1 ที่มีสุ้มเสียงต่างจากเพลงอื่นๆที่อัดในห้องเบอร์ 2 เต่าทองทั้งสี่ร่วมกันแชร์เสียงร้องร่วมกัน โมโนมิกซ์ของเพลงนี้มีอะไรที่แตกต่างจากสเตอริโอหลายอย่าง ทั้งเสียงกีต้าร์และเสียง”ผู้ชม”ที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ

A Day In The Life ดูเหมือนวงของจ่าเป๊บเปอร์จะลงจากเวทีไปแล้ว และวินาทีแรกที่เสียงกีต้าร์โปร่งอินโทรของ ‘A Day In The Life’ คลืบคลานเข้ามา มันประหนึ่งว่า Beatles ตัวจริงได้ทยอยเดินขึ้นมาบนเวทีแทน นี่คือการบันทึกเสียงและบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Beatles ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน และมันทำให้ Sgt. Pepper’s เป็นยิ่งกว่าอัลบั้มชั้นดีที่มีเพลงดีๆมากมายเท่านั้น มันคือบทสรุปและ “ตอนจบ” ที่ฉาบพลังฉายย้อนกลับไปให้ทุกแทร็คใน Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band จอห์นได้ไอเดียมาจากข่าวหลายๆข่าวในหนังสือพิมพ์ Daily Mail ฉบับวันที่ 17 มกราคม และสองวันหลังจากนั้นเขาก็นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงร่วมกับพวก Beatles ในชื่อว่า ‘In The Life Of…’ ท่อนกลางของเพลงที่แสดงชีวิตอันเร่งรีบไร้แก่นสารของหนุ่มชาวกรุงได้มาจากเพลงที่พอลแต่งค้างไว้ซึ่งเข้าล็อคพอดีกับเพลงของจอห์น อีกความยิ่งใหญ่ของบทเพลงคือเสียงออเคสตร้าจากนักดนตรี 40 คน (อัดซ้อนทับกัน4ตลบทำให้ฟังดูเหมือนวง 160 ชิ้น!) ที่ได้รับคำสั่งให้เล่นด้วยโน้ตที่ต่ำที่สุดและเบาที่สุดและค่อยๆเพิ่มความดังและความสูงของเสียงขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งถึงขีดสุด พวกเขาเล่นแบบนี้สองครั้งภายใต้การกำกับวงของพอลเองและครั้งที่สองจบลงด้วยเสียงกระหน่ำเปียโนอย่างกึกก้องที่ดูเหมือนจะดังไปชั่วนิรันดร์ เป็นจุดจบของบทเพลงและอัลบั้ม?
โอ ไม่ ยังมีอะไรอีกนิดหน่อยเป็นเซอร์ไพรซ์ท่านผู้ฟังอีกนิด ลองเงี่ยหูฟังว่าท่านจะได้ยินอะไรอีกไหมหลังจากนี้? แต่ผมเชื่อว่าท่านคนไม่ได้ยินหรอก เพราะจอห์น เลนนอน นึกสนุกให้ทีมงานใส่เสียงความถี่สูงที่มนุษย์ไม่อาจได้ยินได้ลงไปหลายเพลงนี้ (ว่ากันว่าสุนัขจะได้ยินได้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับลำโพงคุณด้วย) แถมก่อนเข็มแผ่นเสียงจะเด้งขึ้น พวกเขายังช่วยกันประสานเสียงแปลกๆฟังไม่ได้ศัพท์ลงไปปิดท้าย ซึ่งถ้าเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไม่มีระบบยกเข็มกลับอัตโนมัติ เสียงบ๊องๆนี้จะวนไปเรื่อยๆตลอดกาล (ภายหลังมีคนตั้งชื่อให้มันว่า Sgt. Pepper’s Inner Groove)

สำหรับในแง่ของออดิโอไฟล์ ท่านน่าจะหาแผ่นที่เป็นระบบโมโนมาฟังเปรียบเทียบกับสเตอริโอด้วย ซึ่งคงจะต้องเป็นแผ่นเสียงยุคก่อนๆหรือไม่ก็ซีดี bootleg เพราะยังไม่มีการทำเป็นซีดีเป็นทางการออกมา โมโนมิกซ์ของ Pepper จะมีความแตกต่างในหลายๆจุดจากสเตอริโอ และเป็นมิกซ์ที่พวก Beatles ดูแลกำกับอย่างละเอียดละออกว่า เพราะยุคนั้นยังเป็นตลาดของโมโนอยู่ ส่วนผู้ที่สนใจสุ้มเสียงแบบโมเดิร์น มีบางแทร็คที่ผ่านการรีมิกซ์ให้ฟังกัน ที่น่าสนใจคือ Penny Lane ในซีดี Anthology2, หลายแทร็คใน The Beatles:Love และ Yellow Submarine Songtrack รวมทั้งใน Anthology DVD ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราคงจะได้ฟังรีมิกซ์ของอัลบั้มนี้กันเต็มๆ และอาจเป็นในระบบ 5.1 หรือ surround ระบบใดระบบหนึ่งด้วย
ปกอัลบั้มนี้ก็เป็นอะไรที่เป็นตำนานของมันเอง เริ่มจากไอเดียของพอลอีกเช่นเคย ที่จินตนาการให้เป็นภาพถ่ายของวงจ่าเป๊บเปอร์ที่ชักรูปกับแฟนๆหลังแสดงเสร็จ ปีเตอร์ เบล็ค นักออกแบบเป็นคนสานไอเดียต่อ พวก Beatles และผู้ร่วมงานคัดเลือกฮีโร่ในดวงใจมาทำเป็น cut-out ยืนถ่ายแบบร่วมกัน รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งของ Beatles เองในยุคใส่สูทผมทรง moptops ที่ดูเหมือนจะมาไว้อาลัยอะไรบางอย่าง ขณะที่จอห์น พอล จอร์จ ริงโก้ ตัวจริงใส่ชุดเต็มยศยืนตระหง่านอยู่ตรงกลาง มันเป็นภาพปกที่ลงทุนมหาศาล แต่ก็ยิ่งกว่าคุ้ม ทุกวันนี้มันยังคงเป็นปกแผ่นเสียงที่ตรึงตาตรึงใจที่สุดในวงการดนตรี และหลายคนยังค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในหน้าปกนี้ไม่จบไม่สิ้น

Sgt. Pepper’s ไม่ใช่งานที่ผมชอบที่สุดของ The Beatles
แต่มันเป็นงานที่ผมจะพกไปติดเกาะด้วยถ้าให้เลือกแค่แผ่นเดียว เสน่ห์ของมันคือ
ทุกครั้งที่ฟัง มันจะมีอะไรใหม่ๆมาให้ได้ยินเสมอ แม้ว่า it was 40 years ago today
ก็ตาม..... หลังจากนั้น พวกเขายังทำงานชั้นเยี่ยมออกมาอีกจำนวนหนึ่ง แต่ในแง่ของ
creative และการร่วมด้วยช่วยกันของวง ทุกๆอย่างดูจะเป็นช่วงขาลงหลังจากนี้ไป....

No comments: