Saturday, 21 February 2009

The Beatles Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (1)




ความสนุกของการพยายามที่จะบรรยายความยิ่งใหญ่ของอัลบั้ม Sgt. Pepper’s ให้นักฟังรุ่นใหม่ฟังอยู่ที่การสร้างบรรยากาศให้เหมือนเขาไปอยู่ในปี 1967 จริงๆ ต้องยอมรับว่าความเจ๋งของมันส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับห้วงเวลานั้นด้วย มันมีความเป็น Timeless น้อยกว่างานของพวกเขาเองอย่าง Abbey Road หรือ Rubber Soul ความสำคัญของมันจริงๆ ถ้าจะพูดกันอย่างให้สั้นที่สุดก็มีอยู่แค่สองคำ Pioneer และ Influential มันเป็นงานที่บุกเบิกอะไรหลายๆอย่างให้กับวงการดนตรียุคนั้น และมันจะไม่สำคัญหรือยิ่งใหญ่อะไรนักหนา ถ้าการบุกเบิกนั้นไม่มีคนแห่ตามกันและนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีกันต่อมาจวบจนทุกวันนี้

ถ้าคุณไม่ใช่แฟนเพลงหรือคนที่เกิดในยุคนั้น คงจะไม่ง่ายนักที่จะเข้าใจว่าทำไมใครๆถึงต้องยกย่องอัลบั้มชื่อยาวเหยียดแผ่นนี้กันไม่เลิกรา


ยุคนั้น อัลบั้มหรือแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว ในวงการร็อค ไม่ใช่มีเดียหลัก มันเป็นตลาดของซิงเกิ้ลที่มีเพลงแค่สองเพลงหน้า-หลัง อัลบั้มส่วนใหญ่ก็เป็นการจับเพลงต่างๆมารวมกันโดยไม่ได้สนใจความต่อเนื่องหรือความเข้ากันได้ของเพลงนัก หน้าปกก็มักจะเป็นการถ่ายภาพกันแบบง่ายๆ ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับการนำเสนอเนื้อเพลง ไม่มีการพิมพ์เนื้อแถมมาให้บนปก ยุคนั้นการบันทึกเสียงในอีเอ็มไอสตูดิโอหรือที่เรียกกันภายหลังว่า Abbey Road เป็นแค่เทป 4 แทร็ค ซึ่งมีข้อจำกัดมากมายในการบันทึกเสียงที่ซับซ้อน น้อยคนนักที่จะคิดว่าดนตรีร็อคเป็นศิลปะที่จะอยู่ยั่งยืน หรือมีอะไรให้ครุ่นคิด ในสายตาของคนส่วนใหญ่มันยังเป็นแค่ความบันเทิงฉาบฉวยสนองตัณหาผู้ฟังชั่วครั้งชั่วคราว


นั่นคือทั้งหมดก่อนที่จะมีอัลบั้ม Sgt. Pepper’s


มันเป็นอัลบั้มที่ทำให้งานร็อคเป็นที่ยอมรับว่าเป็นศิลปะที่มีความจีรังมากไปกว่าฟังแล้วทิ้ง มันอาจจะไม่ใช่ concept album แรกของโลก แต่ Pepper ก็ทำให้คำๆนี้เป็นของเท่ที่น่าลิ้มลองทั้งของผู้สร้างและผู้เสพในเวลาต่อมา มันเป็นอัลบั้มที่มีดนตรีหลากหลายตั้งแต่ฮาร์ดร็อคยันเพลงแขกแต่กลับมีความต่อเนื่องกันอย่างน่าอัศจรรย์บนคอนเซ็พท์หลวมๆของการเป็นวงสมมติที่ไม่ใช่ Beatles มันคือการแสดงของวง Sgt. Pepper’s และนี่คือกำเนิดที่ทำให้วงโปรเกรสซีพหรือวงอย่าง KISS มีความชอบธรรมในการทำอะไรที่เป็น”การแสดง”หรืออาจจะใช้คำว่าเสแสร้งแกล้งเล่นเป็นอะไรต่างๆนาๆในการนำเสนอผลงานดนตรีของพวกเขา The Beatles ยังใช้มันสมองความคิดสร้างสรรค์ความุมานะและความอึดของทีมงานในการเอาชนะข้อจำกัดของเทป4 แทร็คและเครื่องไม้เครื่องมือที่ห่างไกลความเจริญของยุคดิจิทัลอย่างไม่อาจประมาณได้ สร้างผลงานที่มีความซับซ้อนออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถึงกระทั่งบางนักวิจารณ์ยังกัดว่า งานนี้ over-produced หรือทำได้สมบูรณ์เกินไป (จนน่าเบื่อ)


พวกเขาใช้เวลารวมๆกันแล้วถึง 700 ชั่วโมงในการผลิตอัลบั้มนี้ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่วงบารมีระดับ The Beatles ที่สามารถใช้เวลาในห้องอัดได้อย่างไม่ต้องกลัวใครมาไล่ และพวกเขาคงไม่มีโอกาสทำงานได้ต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ ถ้าพวกเขาไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยมีวงดนตรีวงไหนทำมาก่อนในยุคนั้น


ปี 1966 The Beatles ยุติการออกทัวร์แสดงดนตรี หลังจากการทัวร์อเมริกาครั้งที่ 4 พวกเขาแสดงกันครั้งสุดท้ายที่ซานฟรานซิสโกในเดือนสิงหาคม จอร์จ แฮริสัน มือกีต้าร์ถึงกับเอ่ยออกมาอย่างโล่งอกบนเครื่องบินคืนนั้นว่า “เฮ้อ พอกันที ผมไม่เป็นอีกแล้ว บีเทิล” มีข่าวลือตามมามากมายว่าพวกเขาอาจจะแตกวงกัน เพราะในยุคนั้น การที่วงไม่มีการแสดง ก็หมายถึงไม่มีวงนั้นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คงจะทู่ซี้เล่นกันต่อไปไม่ไหวแล้ว เพราะเหตุการณ์ต่างๆประเดประดังเข้ามามากมายเหลือเกิน ไหนจะการถูกขู่ฆ่าบนเวทีครั้งแล้วครั้งเล่า (ขอบคุณจอห์น เลนนอน สำหรับการให้สัมภาษณ์ว่า “เราดังกว่าพระเยซู”) หรือการถูกไล่เตะก้นในฟิลิปปินส์จากการที่บังอาจไม่ยอมไปเข้าพบสุภาพสตรีหมายเลข1ของประเทศด้วยเหตุผลว่ายังนอนไม่เต็มอิ่ม เมื่อมารวมกับความเบื่อหน่ายในการที่ต้องเล่นดนตรีให้คนดูที่ไม่เคยได้ยินดนตรีเพราะมัวแต่กรี้ดทั้งเพลง แถมเพลงในยุคหลังๆของพวกเขาโดยเฉพาะใน Revolver (1966) มันก็มีความซับซ้อนมากขึ้นจนทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ในการที่พวกเขาสี่คนจะเล่นกันสดๆบนเวที นั่นยิ่งทำให้ The Beatles ไม่อาจอยู่บนท้องถนนของการแสดงสดๆได้อีกต่อไป


แต่ต่อไปพวกเขาจะไม่ต้องแคร์อีกแล้ว ว่าดนตรีของ Beatles จะเล่นบนเวทีไม่ได้ พวกเขาสามารถ”ใส่”ได้ทุกอย่างตามแต่จินตนาการและฝีมือจะพาไปลงไปในแผ่นเสียงแบบไม่ต้องยั้งมือ

1 comment:

winston said...

บทความนี้เป็นผลพวงจากการไปบรรยายในงานเครื่องเสียงของ Audiophile และได้ตีพิมพ์ในหนังสือ audiophile ในสองเดือนต่อมา ในคอลัมน์ของคุณแซม