Rubber Soul-The Beatles (1965)
(รีวิวไว้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘)
------------------
อัลบั้มที่หวานฉ่ำที่สุดของสี่เต่าทองตลอดกาล น่าเสียดายที่มันไม่ถึงกับเพอร์เฟ็คท์เพราะมีเพลงเกรดบีหลายเพลงสอดแทรกเข้ามา คงเป็นเพราะพวกเขาต้องทำงานกับเส้นตายที่กระชั้นชิดจนไม่อาจหาเพลงระดับสุดยอดเข้ามาใส่ได้เต็มอัลบั้ม แต่แค่นี้มันก็มีเพลงระดับห้าดาวเต็มอัลบั้มแล้ว
ทุกวันนี้ เราคุ้นเคยกับ Rubber Soul มากเกินไป รู้จัก รู้เบื้องหลัง และฟังมันมากเกินไป และทุกๆคนดูจะเขียนและพูดถึงมันในลักษณะไม่หนีกันเท่าไหร่ แต่ลองจินตนาการว่าผมต้องวิจารณ์อัลบั้มใหม่นี้ในปลายปี 1965 ด้วยข้อมูลที่จำกัดและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป บทความนั้นจะเป็นอย่างไรนะ?
********************
The Beatles
Rubber Soul (Parlophone)
7.8/10
Rubber Soul (Parlophone)
7.8/10
หลายๆเพลงในอัลบั้ม Help! ชี้ให้เห็นว่า The Beatles กำลังก้าวไปในทิศทางใด (และนั่นคือทิศทางของวงการดนตรีปัจจุบัน) เพลงร็อคแอนด์โรลสนุกๆลดน้อยลง ที่เพิ่มเข้ามาคือป๊อบ บัลลาด และ โฟล์คที่ละเมียดละไม มุมมองใหม่ๆในการเขียนเพลงเช่นใน Help! และ You’ve Got To Hide Your Love Away เค้าที่เห็นรางๆใน Help! ปรากฏชัดใน Rubber Soul อัลบั้มชุดที่หกในรอบสองปีของพวกเขา ซึ่งออกมาพร้อมกับซิงเกิ้ลดับเบิ้ลเอ-ไซด์ Day Tripper / We Can Work It Out (ซึ่งทั้งสองเพลงไม่อยู่ใน Rubber Soul) Day Tripper เป็นร็อคแบบ rave-up ที่มีท่อนริฟฟ์โดดเด่น น่าจะเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับการเล่นแสดงสด ตรงข้ามกับ We Can Work It Out จอห์นกับพอลร้องสลับกันคนละท่อน เนื้อหากล่าวถึงการแก้ปัญหาด้วยการรับฟังกันและกัน จังหวะ-ดนตรีทำได้น่าสนใจมาก เพลงนี้สามารถนำไปใส่ไว้ใน Rubber Soul ได้สบายๆ
เมื่อเทียบกับเพลงในซาวดน์แทร็ค Help! (ที่ออกเมื่อต้นปี-และไม่ต้องพูดถึงตัวหนังที่ออกจะเลอะ) แล้ว Beatles มีพัฒนาการขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ พวกเขาบันทึกเสียง Rubber Soul กันในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน และอัลบั้มก็ออกมาอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคมนี้เอง แต่ความเนี้ยบของงานในแต่ละเพลงนั้นมันเหมือนกับการประดิษฐ์ประดอยนานนับปี ความเอาใจใส่ในการบันทึกเสียง การเรียบเรียงเสียงร้องและการวางเสียงเครื่องดนตรีทำได้อย่างน่าชื่นชม ที่สุดของความเยี่ยมต้องยกให้การแต่งเพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ที่ยังมีจุดเด่นที่เมโลดี้อันงดงามแต่คราวนี้พวกเขาเพิ่มความลึกซึ้งและวิธีการคิดที่แปลกใหม่ในการเขียนเนื้อหาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เชื่อว่าหลายต่อหลายเพลงใน Rubber Soul ต้องกลายเป็นเพลงคลาสสิกของวงการในอนาคต
Drive My Car เป็นเรื่องปกติที่ Beatles จะเปิดอัลบั้มด้วยเพลงจังหวะคึกคัก เพลงนี้เด่นด้วยจังหวะกระตุกๆจาก cowbell จอห์นและพอลประสานเสียงกันแบบแปร่งๆแต่ก็มีเสน่ห์ดี เนื้อหายอกย้อนกว่าที่คิดและมีลูกฮาตอนจบ จอร์จกีต้าร์ได้อารมณ์
Norwegian Wood เนื้อหาออกอีโรติกแต่ทำนองออกไปทางอราบิค ดนตรีเน้นอคูสติก จอห์นร้องนำ จอร์จโซโลเครื่องดนตรีอินเดีย “ซีต้าร์” ให้อารมณ์ที่ลึกลับวังเวง (น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีคนนำเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาใช้ในเพลงป๊อบ)
Nowhere Man จอห์นพอลจอร์จร้องร่วมกัน เนื้อหาฟังดูกวนๆและวกวน ‘Nowhere man making his nowhere plans for nobody’ ทำนองยังเยี่ยม
จอร์จ แฮริสันแต่งสองเพลงในแผ่นนี้คือ Think For Yourself ที่พอลเล่นฟัซซ์เบสได้น่าฟังและ If I needed someone น่าจะเป็นเพลงที่ดีที่สุดของจอร์จที่เขาเคยแต่งมา กีต้าร์พริ้วเด่นมาก (บางคนบอกว่าคล้าย The Byrds)
พอลยังคงสร้างบัลลาดชั้นเยี่ยมตาม And I Love Her และ Yesterday ออกมาอีก คราวนี้คือ Michelle ที่เขาร้องภาษาฝรั่งเศสในบางท่อนด้วย ท่อนคอรัสง่ายๆที่ร้องว่า I Love You, I Love You, I Love You นั้นจับใจได้อย่างง่ายดาย
ในหน้าสองยังมีเพลงอ้อยสร้อยเพราะๆอีกสองเพลงคือ Girl จอห์นร้องในจังหวะวอลซ์ (ท่อนสร้อยสุดสร้างสรรค์ด้วยเสียงสูดหายใจเข้าเต็มปอดหลังร้องคำว่า Ah,,, Girl…Girllll….) และ In My Life บัลลาดหวนหาอดีต จอห์นร้องเช่นกัน จอร์จ มาร์ตินเล่นเปียโนโซโลท่อนกลาง (เสียงคล้าย Harpsichord)
Rubber Soul เป็นงานที่เติบโตขึ้นของเด็กหนุ่มจากลิเวอร์พูล พวกเขาดูจะยังเต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆในการสร้างสรรค์บทเพลง และแฟนๆก็ไม่น่าจะผิดหวังกับมันแต่อย่างใด น่าจับตามองต่อไปสำหรับก้าวต่อไปของพวกเขาครับ
No comments:
Post a Comment