Saturday, 21 March 2015

Beatles For Sale

"Beatles For Sale" อัลบั้มดีๆที่ถูกมองข้ามของสี่เต่าทอง
--------------------------
หลังจากความสำเร็จท่วมท้นของ A Hard Day's Night ช่วงกลางๆปี 1964ทั้งหนังและตัวเพลง อีกทั้งอัลบั้มก็ยังแสดงถึงความเติบโตในฐานะนักประพันธ์เพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ ทุกเพลงในอัลบั้มเป็นผลงานการแต่งของสองหนุ่ม แต่แล้วอัลบั้มถัดมา Beatles For Sale ที่ออกตามมาตอนปลายปี พวกเขาก็แสดงความตีบตันและหมดมุกในการแต่งเพลงออกมา จนต้องหันไปขุดเอาเพลงเก่าๆและเพลง cover ออกมาบันทึกเสียงกันอีกครั้ง หน้าปกก็ดูโซ้มโทรม บวกกับชื่ออัลบั้มที่ออกจะแดกดันตัวเอง ทั้งหมดทำให้บรรยากาศในการฟังอัลบั้มนี้ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่
แต่หลายปีผ่านไป Beatles For Sale กลายเป็นงานโปรดในหมู่แฟนๆอีกชุด มันเหมือนกับสี่เต่าทองหยุดวิ่งไล่ล่าความสำเร็จชั่วคราว และมองย้อนกลับไปในวันอดีตที่ลิเวอร์พูลและดนตรีเก่าๆที่สร้างพวกเขาขึ้นมา มีหลายเพลงที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มของ acoustic sound ใน Rubber Soul ที่จะตามมาในปีถัดไป
Beatles For Sale มีการประสานเสียงเยี่ยมๆในแบบของพวกเขาเองให้เราฟังกันหลายเพลงด้วยครับ
ต่อไปเป็นเกร็ดเล็กๆ เพลงต่อเพลง...
************************
No Reply
แรกเริ่มเดิมที จอห์น เลนนอน ตั้งใจจะเขียน 'No Reply' ให้กับ ทอมมี่ ควิกลี่ ศิลปินในสังกัดของไบรอันอีกคนหนึ่ง และควิกลี่ก็ได้บันทึกเสียงเพลงนี้จริงๆ และมีกำหนดการว่าจะออกขายในเดือนสิงหาคม 1964 แต่จนแล้วจนรอดมันก็ไม่ได้ออก (ซิงเกิ้ลแรกของเขาในเดือนกรกฎาคม 1963 'Tip Of My Tongue' จัดเป็นความล้มเหลวอย่างชัดเจนครั้งแรกของบทประพันธ์ของเลนนอน-แมคคาร์ทนี่ย์) แต่ 'No Reply' นั้นมีดีมากเกินกว่าที่จะทิ้งขว้างไป ดังนั้น เดอะ บีเทิลส์จึงนำมันมาบันทึกเสียงเสียเองในวันที่ 30 กันยายน 1964 ในที่สุดมันก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นการบันทึกเสียงที่ทรงพลังและเหมาะสมที่จะเป็นเพลงเปิดอัลบั้มด้วยประการทั้งปวง
I'm A Loser
พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้ม Beatles For Sale กันในระหว่างการทัวร์อเมริกาเหนือและในวันหยุดจากการเล่นคอนเสิร์ทในระหว่างการทัวร์อังกฤษ 'I'm A Loser' เป็นเพียงเพลงที่สองที่พวกเขาบันทึกเสียงกัน วันที่เข้าห้องอัดคือวันที่ 14 สิงหาคม บทเพลงนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลทางดนตรีจากบ๊อบ ดีแลนที่มีต่อบีเทิลส์ และโดยเฉพาะจอห์น เลนนอน และสองสัปดาห์ต่อมา ในนิวยอร์ค เดอะ บีเทิลส์ ก็ได้พบกับบ๊อบ ดีแลนเป็นครั้งแรก
Baby's In Black
เพลงใหม่เพลงแรกของอัลบั้ม เริ่มอัดเสียงกันในวันที่ 11 สิงหาคม เพลงหมองๆที่ฟังดูแปลกๆ ซึ่งผู้ประพันธ์-เลนนอน/แมคคาร์ทนี่ย์ ขับร้องนำร่วมกัน จอห์นชอบบอกผู้ชมก่อนเล่นเพลงนี้ในคอนเสิร์ทว่ามันเป็นเพลงวอลทซ์!
Rock And Roll Music
เป็นเพลงที่สองและเพลงสุดท้ายที่บีเทิลส์นำเพลงของชัคเบอรี่มาเล่น โดยจอห์น เลนนอนรับหน้าที่ร้องนำ เวอร์ชั่นของชัค(เขาแต่งเอง)ออกขายเมื่อเดือนกันยายน 1957 หลังจากจอห์นฟอร์มวงเดอะ ควอรี เมน สคิฟเฟิ่ลของเขาได้หกเดือน และก่อนหน้าที่พอลจะเล่นดนตรีกับวงต่อหน้าแฟนเพลงเป็นครั้งแรกหนึ่งเดือน (จอร์จ แฮริสัน เข้ามาร่วมวงหลังจากนั้นสี่เดือน) 'Rock And Roll Music' เป็นหนึ่งในหกเพลงที่เริ่มต้นบันทึกเสียงและเสร็จสิ้นในวันเดียวกันในเซสชั่นเดียวของวันที่ 18 ตุลาคม และเพลงนี้ยังบันทึกเสียงกันแค่เทคเดียวอีกด้วย
I'll Follow The Sun
หนึ่งในบทประพันธ์ยุคดึกดำบรรพ์ที่สุดของพอล แมคคาร์ทนี่ย์ ย้อนกลับไปในปี 58-59 พอลร้องนำตามระเบียบ เป็นอีกเพลงที่บันทึกเสียงกันในวันที่ 18 ตุลาคม 1964
Mr. Moonlight
จอห์นร้องนำในบทเพลงเก่าของ Dr Feelgood and the Interns ที่ออกมาตั้งแต่เดือนมกราคม 1962 ผลงานการประพันธ์ของ Roy Lee Johnson เดอะ บีเทิลส์ไม่แฮปปี้นักกับการบันทึกเสียงเพลงนี้ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พวกเขาเลยนำมันมาทำใหม่หมดในเซสชั่นที่อัดเพลงกันราวกับโรงงานอุตสาหกรรมในเซสชั่นวันที่ 18 ตุลาคม 1964
Kansas City / Hey-Hey-Hey-Hey!
เป็นอีกเพลงที่อัดกันเทคเดียวและเล่นกันได้อย่างสุดยอด จากเซสชั่น 18 ตุลาคม 1964 พอลตะเบ็งเสียงร้องนำ พวกเขาลองกันอีกเทค แต่มันออกมาไม่ยอดเยี่ยมเท่าเทคแรก Kansas City และ Hey-Hey-Hey-Hey! นั้นตอนแรกเป็นสองเพลงแยกกัน และก็ไม่ใช่ไอเดียของพอลในการที่จะนำมันมาเมดเล่ย์กัน เป็น ลิทเทิ่ล ริชาร์ด ผู้ประพันธ์เพลงหลัง (ใช้นามแฝงว่า Richard Penniman) ที่เป็นคนแรกที่นำสองเพลงนี้มาต่อกันในปี 1959 เพลงแรกเป็นเพลงคลาสสิกของ Leiber/Stoller ตั้งแต่ปี 1952 ส่วน Hey-Hey-Hey-Hey! ออกครั้งแรกในปี 1958
Eight Days A Week
เสียง Fade-up ที่ค่อยๆดังขึ้นๆในตอนต้นเพลงจัดเป็นสิ่งแปลกใหม่ในการบันทึกเสียงเพลงป๊อบ (ผลกระทบนี้จะด้อยลงไปในการฟังจากซีดี เพราะเพลงไม่ได้เริ่มต้นที่หน้าใหม่ของแผ่นเสียง) 'Eight Days A Week' เป็นเพลงที่ติดหูหนึบของเลนนอน-แมคคาร์ทนี่ย์ ซึ่งเขาทั้งสองนั่งแต่งด้วยกันจริงๆ จอห์นร้องนำ พอลประสานเสียง
Words Of Love
เพลงของบัดดี้ ฮอลลี่ เพียงเพลงเดียวที่เดอะ บีเทิลส์นำมาบันทึกเสียงอย่างเป็นทางการ พวกเขาทั้งหมดเป็นแฟนของฮอลลี่ (คำว่า Beatles เองก็เป็นการตั้งตามแบบวงแบ็คอัพของฮอลลี่- The Crickets) เดอะ บีเทิลส์ เลือกที่จะไม่บันทึกเสียงเพลงอื่นๆของบัดดี้ ที่พวกเขารักและนำมาเล่นบนเวทีกันเป็นประจำในสมัยก่อน ซึ่งก็มี 'It's So Easy', 'Maybe Baby', 'Peggy Sue', 'That'll Be The Day', 'Think It Over', 'Crying, Waiting, Hoping', 'Mailman, Bring Me No More Blues' และ 'Reminiscing'
Honey Don't
ริงโก้ร้องนำเพลงเดียวในอัลบั้มนี้ เพลงจากการประพันธ์ของคาร์ล เปอร์กินส์ เพลงเดิมออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 1956 โดยเป็นซิงเกิ้ลหน้าบีของเพลง 'Blue Suede Shoes' อันโด่งดังของคาร์ล ก่อนหน้าอัลบั้มนี้ ครั้งใดที่เดอะ บีเทิลส์เล่นเพลง 'Honey Don't' บนเวทีหรือออกรายการวิทยุ จอห์น จะเป็นคนร้องนำ แต่หลังจากนั้นมันกลายไปเป็นเพลงโชว์ของริงโก้ไปเลย นี่เป็นเพลงสุดท้ายที่พวกเขาบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้ม Beatles For Sale
Every Little Thing
จอห์นกับพอลร้องนำคู่กัน เพลงนี้และอีกสองเพลงที่ตามมาบันทึกเสียงกันในวันที่ 29 กันยายน 1964 ริงโก้ตีทิมปานี่ในเพลงนี้ เป็นครั้งแรก เหมือนจะล้อๆชื่อเพลงเอง
I Don't Want To Spoil The Party
การสร้างสรรค์ที่แท้จริงอีกครั้งจากเลนนอน-แมคคาร์ทนี่ย์ และเขาทั้งสองร้องนำร่วมกัน Beatles for sale มีเพลงที่พวกเขาแต่งเองกันเพียง8เพลงจาก14แทร็คทั้งหมด สาเหตุก็คือพวกเขาไม่มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีเพียงพอในปีที่ธุรกิจยุ่งเหยิงที่สุดของพวกเขา ซึ่ง ณ เวลานั้นพวกเขาอัดเสียงเพลงไปแล้ว 19 เพลง 15ในนั้นเป็นการประพันธ์ของเลนนอน-แมคคาร์ทนี่ย์ Beatles for sale ช่วยเพิ่มยอดให้เป็น 33 และ 23 ตามลำดับ -- ไม่เลวนัก สำหรับเวลา 12 เดือน เสียงประสานในเพลงนี้สุดยอด
What You're Doing
แต่งและร้องโดย พอล แมคคาร์ทนี่ย์ ผู้ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเพลงนี้ของเขาเองว่า "ทำนองเยี่ยม แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่อง" ริงโก้โซโลกลองสั้นๆน่ารักๆ
Everybody's Trying To Be My baby
เพลงเดียวที่จอร์จร้องนำในอัลบั้มนี้ ด้วยเสียงร้องที่เต็มไปด้วยเอ็คโค่อย่างมหาศาล ในเพลงที่มาจากการประพันธ์ของ คาร์ล เปอร์กินส์ ในปี 1958 บีเทิลส์ทุกคนโดยเฉพาะจอร์จ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของดนตรีร็อคอะบิลลี่ของเปอร์กินส์ พวกเขาบันทึกเสียง 'Honey Don't', 'Matchbox' (จะกล่าวถึงใน Past Masters Volume One) และเพลงนี้ในช่วงเวลาแค่สี่เดือน ยังมีอีกหลายเพลงของคาร์ลที่พวกเขาชอบนำมาเล่นในคอนเสิร์ท...
'Blue Suede shoes', 'Lend Me Your Comb', 'Sure To Fall [In Love with You]', Tennessee', 'Your True Love', 'Glad All Over', และ 'Gone, Gone, Gone'
เนื้อเพลงๆนี้ขำดีครับ

No comments: