Saturday 23 August 2008

She & Him Volume One



She & Him : Volume One ****
หวานใสแบบ60’s






Zooey Deschanel และ M. Ward โตมากับเพลงของ The Ronettes, Nina Simone และ The Carter Familyเหมือนกัน สาว Zooey เองยังเล่าว่าความทรงจำที่เก่าแก่ที่สุดของเธอก็คือการนั่งดูหนัง The Wizard Of Oz และพยายามร้องเพลง Over the Rainbow ตามไปด้วยตอนเธออายุสองขวบ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่อัลบั้ม Volume One ของคนหนุ่มสาวอย่าง She & Him จะอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีป๊อบของยุคซิกซ์ตี้ส์ เมื่อโลกยังอ่อนเยาว์และบทเพลงยังใสซื่อบริสุทธิ์ การได้ฟังอัลบั้มนี้ในปี 2008 จึงเหมือนเป็นสายลมเย็นที่พัดผ่านมาให้ชื่นใจยามโลกดนตรีอบอ้าวไปด้วยดนตรีที่หนักอึ้งขมึงเกลียว(ซะเป็นส่วนใหญ่)

ความเป็นดาราฮอลลีวู้ดของ Zooey (Almost Famous, ELF) อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ She & Him แต่เชื่อเถิดว่าเธอไม่ได้ใช้ความเป็นดาราเป็นจุดขายใน Volume One นี้อย่างแน่นอน ผู้กำกับ Martin Hynes เสนอให้ Zooey จับคู่กับ M. Ward นักร้องนักแต่งเพลงและนักกีต้าร์เพื่อบันทึกเสียงเพลง When I Get To The Border เพลงเก่าของ Richard Thompson เพื่อประกอบภาพยนตร์ The Go-Getter ให้เขา ทั้งคู่ปิ๊งกันในทางดนตรีโดยทันที Zooey ชื่นชมในความเป็นอัจฉริยะของ Ward และเมื่อ Ward ได้ฟัง demo ของ Zooey เขาก็รู้โดยทันทีว่านี่คือบทเพลงที่เหลือเชื่อ ทั้งคำว่า “เหลือเชื่อ” และ “อัจฉริยะ” นั่นเป็นคำที่ทั้งสองเยินยอกันเองนะครับ “เธอและเขา” เริ่มเข้าห้องอัดบันทึกเสียงอัลบั้ม Volume One นี้กันในปี 2006-7

ความสามารถทางดนตรีของ Ward อาจจะไม่ถึงกับอัจฉริยะ และเพลงที่ Zooey แต่งเกือบทั้งหมดในอัลบั้มนี้ก็ออกจะห่างไกลกับคำว่าเหลือเชื่อ แต่ She & Him เป็นองค์ประกอบทางเคมีที่ให้ผลลัพธ์แสนสุนทรีย์หรับคนที่รักดนตรีแนวนี้ Ward เคยเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมให้ Jenny Lewis ในอัลบั้ม Rabbit Fur Coat มาก่อน ถ้าท่านเคยฟังอัลบั้มนั้นมันก็มีสุ้มเสียงที่คล้ายกับ Volume One พอสมควร อย่างไรก็ตามสตาร์ของอัลบั้มย่อมเป็น She

เสียงร้องของ Zooey อาจจะทำให้ระบบความทรงจำในสมองของคุณวิ่งพล่านเพื่อหาข้อมูลที่ฝังลึกอยู่ว่าเสียงเธอเหมือนใครหนอ เสียงเธอหวานแหลมเล็กคล้าย Carly Simon มีจังหวะการแบ่งวรรคตอนเหมือน Karen Carpenter แต่ฟังทั้งหมดอีกทีก็เหมือนๆจะน่าจะใช่ Carole King ในวัยเยาว์ที่สุด อย่างไรก็ตามเราไม่มีนักร้องสาวเสียงร้องและวิธีการร้องแบบนี้ให้ฟังมานานแล้ว บทเพลงใน Volume One เต็มไปด้วยเนื้อหาใสๆเข้ากับแนวเพลง แต่ต้องชมการเลือกฉากหรือประโยคสั้นๆในเนื้อเพลงที่ใส่เข้ามาอย่างเหมาะเจาะ อาทิ การขี่จักรยานแบบสองคนอยู่คนเดียวเหงาๆใน Black Hole หรือการนั่งคอยอยู่บนหิ้งเหมือนตุ๊กตาใน Why Do You Let Me Stay Here?




อิทธิพลในการทำเพลงแบบ Phil Spector มีให้เห็นตั้งแต่แทร็คแรก Sentimental Heart เปียโนตอกย้ำในจังหวะบัลลาดช้าหวาน เสียงประสาน Ahhhh ให้อารมณ์ซิกซ์ตี้ส์สุดๆ เสียดายที่สั้นไปนิด Why Do You Let Me Stay Here? ซูอี้ร้องด้วยเสียงแบบ ‘flirt’ ที่นิยมกันในยุคนั้นได้อย่างน่ารักน่าชัง This Is Not A Test พักจากเรื่องรักมาเป็นเพลงให้กำลังใจผู้ฟัง ชีวิตไม่ใช่การทดสอบ จะดีจะร้ายจะสูงเสียดฟ้าหรือต่ำลงเหวสุดท้ายก็ผ่านไป “The summit doesn't differ from the deep, dark valley, And the valley doesn't differ from the kitchen sink. “ Ward พรมคอร์ดกีต้าร์โปร่งไปตามจังหวะปานกลาง เสียงคอรัสซ้อนทับหลายชั้นรองรับเสียงร้องไร้ที่ติของ Zooey นอกจากซิกซ์ตี้ส์ป๊อบแล้วดนตรีค้นทรี่แนชวิลล์ก็ยังเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ออกหน้าออกตาหลายเพลง Change Is Hard โดดเด่นด้วยเสียงสไลด์และสตีล ส่วน Got Me นั้นยิ่งดิ่งลึกลงไปในความเป็นคลาสสิกคันทรี่ยิ่งกว่า

แต่ที่ถูกใจผมที่สุดน่าจะเป็น I Was Made For You ที่ She & Him สวมวิญญาณ Girl Group กันสุดฤทธิ์ เสียงร้องของ Zooey ก๋ากั่นล้อไปกับเสียงประสาน doo dub-dee-dubb ของเหล่าลูกคู่ เนื้อร้องก็ต้องประมาณ....” I was takin' a walk When I saw you pass by I thought I saw you lookin' my way So I thought I'd give you a try /When I saw you smile I saw a dream come true So I asked you, maybe Baby whatcha gonna do?” พฤติกรรมแบบนี้ ถ้าเป็นยุค 60’s ต้องถือว่าเป็นสาวมั่นสุดๆแล้ว

Volume One มีเพลง cover สามเพลงคือ You Really Got A Hold On Me ของ Smokey Robinson, I Should Have Known Better ของ John Lennon & Paul McCartney และเพลง tradition Swing Low, Sweet Chariot สองเพลงแรกเล่นกันสบายๆเหมือนนักศึกษาล้อมวงเล่นกันยามหัวค่ำ ส่วนเพลงสุดท้ายที่เป็นโบนัสแทร็คเหมือนเดโมที่บันทึกเสียงกันริมน้ำที่ไหนสักแห่ง (ได้ยินเสียงเหมือนน้ำซัดเข้าฝั่งเบาๆตลอดเพลง)

Zooey ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ side project ดูจากชื่ออัลบั้มก็คงจะหวังได้ว่าจะได้ฟังงานชื่นมื่นจากสองหนุ่มสาวคู่นี้กันอีก

หมายเหตุ-ถ้าท่านรู้สึกว่าเสียงเปียโนอัลบั้มนี้มันเพี้ยนๆชอบกล จงปรบมือให้ตัวเอง เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เป็นความจงใจของศิลปินเพื่อให้ได้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์-เขาว่าอย่างนั้นนะ

Miles Davis Kind Of Blue





















โดนัลด์ ฟาเกน (สตีลลี่ แดน)...."มันคือ sex wallpaper"
คลินท์ อีสต์วู้ด "เอานิวเอจไปไกลๆ ผมขอแค่ Kind Of Blue"
ควินซี่ โจนส์ "มันคือน้ำส้มยามเช้าของผมที่ต้องดื่มทุกวัน"
ดวน ออลแมน "ไอเดียจากการโซโลยาวเหยียดของผม มาจาก Kind Of
Blue"







ใครๆก็ชื่นชม Kind Of Blue หลายคนบอกว่า ถ้าคุณจะมีซีดีแจ๊สแค่แผ่นเดียว ก็ต้องเป็นแผ่นนี้ (แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ดนตรีแจ๊สหลากหลายเกินกว่าที่จะอ้างอิงด้วยอัลบั้มนี้อัลบั้มเดียว) และเมื่อไหร่ที่มีการจัดโพลล์อัลบั้มแจ๊สยอดเยี่ยมตลอดกาล ผมยังไม่เคยเห็นอัลบั้มนี้พลาดอันดับ 1 ไปได้เสียที
แต่อาจจะไม่ทุกคนที่คลั่งไคล้มัน....



อ่านใน JazzLife เล่มสองปกป้าเอลล่า ที่คุณอนันต์เขียนถึงอัลบั้มนี้ไว้อย่างลึกซึ้งในเชิงโครงสร้างดนตรีแล้วก็นึกทึ่ง Flamenco Sketches เล่นกับโครงสร้างของ mode อย่างเมามัน โดยมีการเปลี่ยนโมดถึงห้าโหมดต่อเนื่องกันให้นักดนตรีแต่ละคนโซโลกันเพลินๆ



แต่ในคอลัมน์เดียวกันก่อนหน้านั้น คุณอนันต์ได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ดนตรีสองท่านเกี่ยวกับ Kind Of Blue นี้ และมีความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น



เมื่อคุณอนันต์ถามถึง Flamenco Sketches ที่เป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม อาจารย์ท่านแรกสารภาพว่าเขามักจะไปไม่ถึงเพลงนี้ หลับไปก่อน ส่วนอีกท่านกล่าวสั้นๆว่า เขาก็ชักเริ่มง่วง และให้ข้อมูลเพียงว่ามันเป็นการ"ใช้โหมดเขียน"



ยังมีอีกความเห็นเกี่ยวกับ So What ที่อาจารย์ท่านหนึ่งแสดงความสงสัยว่าทำไมการโซโลในเพลงนี้จึงดูอั้นๆ ขณะที่เวอร์ชั่นอื่นของ So What ที่ออกมาทีหลังมีการ "สอย" (เขาใช้คำนี้) กันยับมากกว่านี้ ทั้งที่เพลงก็เปิดช่องให้มากมาย อีกความเห็นของอาจารย์บอกว่า คนเล่นแซ็กในอัลบั้มนี้ดูเกร็งๆเหมือนโดนโปรแกรม อาจเป็นเพราะต้องมาเล่นอะไรที่ไม่คุ้นเคย



อาจารย์ทั้งสองท่านมีความเห็นตรงกันว่าชอบ Blue In Green ที่สุดในอัลบั้ม และท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยว่าอัลบั้มนี้เป็นงานที่ฟังง่ายเหมาะสำหรับเยาวชน



และที่คนอ่านสามารถรู้สึกได้แม้ว่าอาจารย์ทั้งสองท่านจะไม่กล่าวออกมาตรงๆคือ Kind Of Blue ไม่ใช่งานโปรดของท่านแหงๆ



ไมลส์นำทีมนักดนตรีของเขาในยุคนั้นรวมกับเขาแล้วก็เจ็ดคนเข้าห้องอัดที่ Columbia Studios สองรอบในเดือนมีนาคมและเมษายน 1959 โดยไม่มีการซ้อมเพลงเหล่านี้มาก่อน ทุกคนได้รับทราบแต่โหมดและโครงสร้างหลวมๆ ที่เหลือเป็นการมั่วเอ๊ยอิมโพรไวส์หน้างานล้วนๆ ไมลส์เล่นทรัมเป็ต จอห์น โคลเทรน เทเนอร์แซ็ก แคนนอนบอล แอดเดอร์ลีย์ อัลโตแซ็ก บิล อีแวนส์ เปียโน วินตัน เคลลี่ เปียโน (เฉพาะแทร็ค Freddie Freeloader) พอล แชมเบอร์ส เบส และ จิมมี่ คอบบ์ กลอง ทุกคนได้รับการยอมรับว่าเป็นจอมยุทธผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธประจำกายในระดับสูงสุดของแจ๊สบู๊ลิ้ม



โดยส่วนตัวผมใช้เวลากับอัลบั้มนี้อยู่หลายปีถึงจะเข้าถึงอารมณ์ของมันได้ ผมเห็นด้วยว่ามันไม่ใช่อัลบั้มสำหรับมือใหม่ฟังแจ๊สที่อาจจะหลับคาเครื่องได้อย่างง่ายดาย และมันไม่เหมาะสำหรับคนที่ชอบอะไรเร่าร้อนเผ็ดมันไม่ว่าจะรูปแบบไหนอย่างแน่นอน ตรงข้าม...แน่นอน...มันเหมาะสำหรับคนที่ชอบเหม่อลอยปล่อยอารมณ์ลอยโลด ทำอะไรทอดหุ่ยซึมเซา.... ในบางเวลา....(อย่างผม)



ความเห็นของอาจารย์สองท่าน อาจจะสร้างการถกเถียงในหมู่คนรัก Kind Of Blue กันวุ่นวาย แต่เมื่อไตร่ตรองดู นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ Kind Of Blue เป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นการไม่"สอย"กันยับใน So What การเล่นแซ็กโซโฟนที่เรียบง่ายเหมือนผ้าพับไว้ของทั้งสองตำนานแซ็ก หรือความง่วงเหงาหาวนอนของโทนโดยรวมของอัลบั้ม ทั้งหมดนั้นคือเสน่ห์ของ Kind Of Blue



รีวิวในอะเมซอนอันนึงเขียนได้ถูกใจผมมาก
"วันฝนตก...ผมเปิด Kind of Blue....ทะเลาะกับแฟน....เปิด Kind of Blue....รู้สึกสบายๆ....เปิด Kind Of Blue....."



ใช่เลย! ความอัศจรรย์ของมันคือดูมันจะเป็นซาวน์แทร็คหรือแบคกราวนด์มิวสิกให้กับอารมณ์และสถานการณ์ต่างๆได้หลากหลายอย่างน่าประหลาด มันเป็นอัลบั้มโปรด"หลังวิ่ง"ของผมตลอดกาล และท่อนโซโลอันเพราะพริ้งสวยงามนั่น ไม่ว่าจะใน So What หรือ All Blues ไม่ว่าผมจะฟังกี่ร้อยหน ก็ยังไม่เคยจำมันได้เสียที มันคือความคุ้นเคยที่ยังเคลือบแคลงด้วยความคาดไม่ถึงอยู่ร่ำไป
Kind Of Blue ในความเห็นของผม มันไม่ใช่ซีดีแจ๊สแผ่นเดียวที่คุณต้องมี แต่ถ้าคุณมีมัน มันจะทำให้คุณต้องเสียเงินกับดนตรีแนวนี้ตามมาอีกสุดประมาณ แต่ถึงคุณจะตะบันซื้อไปอีกกี่แผ่น คุณก็จะพบว่า โลกนี้ยังไม่มีภาคสองของ Kind Of Blue....








บทความนี้เคยลงไว้ใน oknation.net /blog/adayinthelife

Note: อีกไม่นานนี้ ทาง Sony จะออก Kind Of Blue boxset มาให้เสียเงินกันอีก ข่าวว่าจะมี outtake แปลกๆนิดหน่อย อาทิ false start take ของ Freddie Freeloader (จะยาวกี่วินาทีหนอ) รวมทั้งดีวีดีเบื้องหลังและสารคดี

Guillemots-RED


Guillemots-Red ***1/2

The Complex Dance!



Fyfe Dangerfield ผู้นำวงมาดเซอร์จากเกาะอังกฤษ Guillemots ไม่ซ่อนเร้นเป้าหมายของการทำอัลบั้มที่สองของวง เขาต้องการงานที่ตีแสกหน้าผู้ฟังด้วยบีทอันหนักแน่นของริธิ่มแอนด์บลูส์ งานเต้นรำบนทำนองที่ติดหูพร้อมจะตรึงใจผู้ฟังแม้ได้ยินเพียงครั้งเดียวในวิทยุ ทางต้นสังกัดยังโฆษณาทับไปอีกว่ามันจะเป็นงานที่น่าตื่นเต้นที่ไม่ได้ฟังกันมานานนับตั้งแต่ Prince ทำงานแหวกแนวบ้าดีเดือดของเขาในยุค 80’s

ข่าวนี้สร้างความมึนให้ผมพอสมควร เพราะในอัลบั้ม Through The Windowpane ที่ออกมาในปี 2006 มันไม่ใช่ Guillemots อย่างที่กล่าวในย่อหน้าแรกเลย บรรยากาศในอัลบั้มแรกนั้นออกเย็นยะเยือก เต็มไปด้วยเครื่องสายเข้มข้นและเสียงฮาร์โมนีซับซ้อน จำได้ว่าปีนั้นผมยกให้ Sao Paolo แทร็คสุดท้ายยาว 11 นาทีกว่าๆเป็นหนึ่งในเพลงแห่งปี การเล่นกับออเคสตร้าในเพลงนี้ทำให้นึกถึงยุครุ่งเรืองของคลาสสิคัลร็อค นอกจากนั้นยังมีเพลงสวยๆอย่าง Little Bear ที่เนิบนวยนาดจนไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะนำมาเปิดอัลบั้ม (เพลงโปรดของเซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์) และ Train To Brazil ที่เล่นกับเครื่องเป่าอย่างครื้นเครง

Guillemots ตั้งวงกันมาตั้งแต่ปี 2004 โดยผู้ก่อตั้งวงก็คือนาย Fyfe นั่นเอง เป็นคนหนุ่มที่น่าจับตาทีเดียว เพราะหมอนี่ครบเครื่องทั้งแต่งเพลงได้ลึกเกินวัย เขียนสกอร์ออเคสตร้าด้วยตัวเอง และเสียงร้องก็ไม่ธรรมดา เขายังเล่นทั้งกีต้าร์และคีย์บอร์ดด้วย สมาชิกหลักคนอื่นๆก็มี MC Lord Magrão - เล่นกีต้าร์และเบส Aristazabal Hawkes – ดับเบิลเบสและเพอร์คัสชั่นและ Greig Stewart ตีกลอง (มีคนหลังที่ชื่อไม่น่าตื่นเต้นอยู่คนเดียว) และยังมีทีมเครื่องเป่าเสริมอีกสองคน Through The Windowpane ได้เข้าชิง Mercury Prize ในปี 2006 แต่ก็ได้แค่ที่สอง ไม่อาจต้านความแรงของ Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not ของ Arctic Monkeys ได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวทางของ Guillemots ในอัลบั้มแรกนั้นจะหลากหลายจับทางยาก แต่คงไม่มีโหรท่านไหนกล้าทำนายว่าอัลบั้มสองของพวกเขาจะออกแนว Timbaland ขนาดนี้ นิตยสาร NME ผู้ทรงอิทธิพลของอังกฤษไม่รีรอที่จะถล่มงานชุดนี้เสียไม่เหลือความดีงาม แถม Uncut เครือเดียวกันก็แจกให้แค่สองดาวซึ่งถือว่าสอบตก ถ้ามองอย่างใจเป็นกลาง ผู้ที่จะผิดหวังกับงานนี้อย่างผิดสังเกตก็คือผู้ที่เคยชื่นชมกับอัลบั้มแรกของวงนั่นเอง

Red ที่ตั้งชื่อตามความร้อนแรงของ content ข้างใน มีด้วยกัน 11 แทร็ค และกว่าครึ่งในนั้นเดินเครื่องด้วยจังหวะที่หนักหน่วงแบบ dance music แต่มันไม่ใช่ dance ธรรมดา เพราะ Guillemots ไม่ได้คายพิษสงเสียหมด ดนตรีของพวกเขายังซับซ้อน มีทางเดินคอร์ดแปลกๆ สำเนียงแปร่งหู และการใช้เครื่องดนตรีที่ไม่มีใครคาดฝันในทุกๆเพลง เสียงร้องของ Fyfe ค่อนข้างจะคล่องตัวและเอาอยู่ในทุกแนว ไม่ว่าจะเป็น falsetto ใน Standing On The Last Star ร็อคตะโกนๆในซิงเกิ้ลแรก Get Over It หรือบัลลาดอ่อนช้อยอย่าง Falling Out Of Reach และ Word

ทั้งหมดนี้ทำให้ Red กลายเป็นงานที่จะเอาไว้เต้นก็คงพอได้ แต่มันก็ไม่ค่อยเหมือนธรรมชาติของเพลง Dance ที่ดนตรีจะไม่ซับซ้อนและแทรกสรรพคุณทางดนตรีไว้มากมายขนาดนี้ ผมก็คาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าผู้ฟังจะยอมรับมันได้ขนาดไหนทั้งแฟนเก่าและใหม่ แต่ถ้าไม่ติดกับงานแรกเกินไป Red น่าจะจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับงานล่าสุดของ Muse และ Beck ได้ คือเป็นงานร็อคคุณภาพในจังหวะจะโคนที่ชวนขยับแข้งขาพองาม

กลิ่นอายของบีทแบบ World Music บนเสียงกลองที่กระหน่ำหนักหน่วงยังพอจับได้อยู่ สำเนียงอารบิกและภารตะมีมาให้ได้ยินเป็นระยะๆตั้งแต่แทร็คแรก Kriss Kross คีย์บอร์ดกระหึ่มและบีทที่ถาโถมไม่ปราณีปราศรัยเป็นการต้อนรับอย่างไม่ให้ตั้งตัวต่อด้วย Big Dog โซลย้วยๆที่ใครฟังก็คงอดคิดถึงจอร์จ ไมเคิลไม่ได้ (โปรดิวเซอร์ของ Red เคยทำงานกับไมเคิลมาก่อน) พักเหนื่อยกันด้วย Falling Out Of Reach ที่น่าจะเป็นเพลงที่ธรรมดาที่สุดและไพเราะที่สุดในอัลบั้มโดยมี Word ตามมาติดๆแต่เพลงหลังนี่อาจจะต้องทนรำคาญเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าที่เล่นครืดคราดคลอเบาๆไปตลอดเพลงอยู่พอสมควร

Clarion เด่นด้วยคีย์บอร์ดเป็นเสียงซีต้าร์ที่เล่นซ้ำเป็นริฟฟ์แต่สำเนียงดันออกไปทางจีนๆ...ทำไปได้ Last Kiss เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเสียงคอรัสสาวๆบ้างแต่จังหวะก็ยังเร่งร้อน Cockateels ค่อยทำให้แฟนเก่าใจชื้นขึ้นหน่อยด้วยดนตรีอลังการในแบบที่พวกเขาเคยทำไว้ เสียงประสานนักร้องหญิงแบบ Arcade Fire สลับกับเครื่องสายหวือหวาน่าฟังมากครับ ปิดท้ายเรียบๆด้วย Take Me Home ที่เป็นคนละเพลงกับของ Phil Collins แต่เป้าประสงค์ดูจะใกล้เคียงกัน

Guillemots เลือกทำงานที่สองในแบบที่ต่างจาก The Feeling พวกเขากล้าที่จะฉีกแนวออกไปจากเดิมค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงซาวนด์หลักๆให้ยังพอจำกันได้ Red เป็นงานที่อาจจะฟังดูฉูดฉาดในรอบแรกๆแต่มีรายละเอียดมากมายที่ต้องฟังกันหลายรอบจึงจะเก็บความดีงามขึ้นมาได้หมดครับ