Wednesday 14 October 2009

Mark Knopfler: Get Lucky


Mark Knopfler-Get Lucky **** (2009)


ออกจำหน่าย – 14 กันยายน 2009
แนวดนตรี-บลูส์ร็อค คันทรี่ เคลติก
โปรดิวเซอร์- Mark Knopfler, Chuck Ainley, Guy Fletcher

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ กับคำถามถึงการกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง (reunion) ของวง Dire Straits มาร์คตอบอย่างสุภาพว่า เขารู้สึกพอใจกับการตัดสินใจยุติการทำงานของวงหลังจากปี 1995 แต่เมื่อผู้สัมภาษณ์คะยั้นคะยอต่อไปอีกว่านั่นหมายถึงการปฏิเสธเงินหลายล้านเหรียญที่เขาจะหามาได้สบายๆจากการทัวร์เล่นเพลงเก่าๆไม่กี่เดือนเชียวนะ มาร์คตอบว่า ทุกวันนี้เขามีความสุขดีกับการทำแผ่นเสียงให้ดีขึ้น เล่นดนตรีใหม่ๆในการแสดงสด และมีความสุขกับความหลากหลายที่เป็นผลพวงตามมา...

นั่นแปลว่าอย่างน้อยในช่วงเวลานี้ แฟนๆที่โหยหาการกลับมาของ Dire Straits ก็คงต้องรอคอยกันต่อไป...!

แต่แฟนเพลงที่เข้าใจโครงสร้างของ Dire Straits ย่อมทราบดีว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระที่จะคาดหวังกับการกลับมาของวงดนตรีวงนี้ เพราะเกือบทุกอย่างใน Dire Sraits ก็คือชายชื่อ มาร์ค นอฟเลอร์ เขาเป็นผู้กำหนดทิศทางของวง แต่งเพลงทั้งหมด ร้องนำ และแน่นอน...เล่นกีต้าร์ จะมีก็แต่ John Illsley มือเบสเท่านั้นที่พอจะมีบทบาทสำคัญในวงอยู่บ้าง (ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันว่าจอห์นอยากให้รียูเนียนใจจะขาด!) เมื่อมาร์คยุบวงก็หมายความว่างานศิลปินเดี่ยวคือทิศทางที่เขาต้องการ เชื่อได้ว่าต่อให้ชื่อวง Dire Straits ยังคงอยู่ มาร์คก็คงจะต้องทำเพลงออกมาในแนวทางนี้ แต่เขาคงไม่อยากให้ชื่อของ Dire Straits มาเป็นอะไรที่ค้ำคออยู่ให้เขาทำงานใหม่ๆได้ไม่ถนัด จึงเป็นเหตุผลที่มาร์คไม่เคยคิดจะเดินย้อนรอยทางตัวเองกลับไป

มาร์ค นอฟเลอร์ ปีนี้อายุ 60 ปีแล้ว เขาสร้างชื่อเสียงมากับวง Dire Straits มาตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกในปี 1977 และประสบความสำเร็จสูงสุดกับ Brothers In Arms อัลบั้มในปี 1985 ที่มีเพลงฮิตสุดยอดอย่าง Money For Nothing….มันทำให้ผู้ชายหน้าผากกว้างและที่คาดศีรษะสีฉูดฉาดคนนี้กลายเป็นร็อคสตาร์ผู้ร้อนแรงที่สุดในวงการดนตรี แต่หลังจากนั้น Dire Straits ก็ออกงาน studio ออกมาอีกอัลบั้มเดียวคือ On Every Street ที่มีแนวทางซึมเซาไม่เหมือนกับ Brothers… ผู้คนยังไม่ทราบว่านั่นคือพิมพ์เขียวของงานเดี่ยวของมาร์คที่จะตามมา

หลังจากนั้นโลกก็รับรู้ว่ามาร์คกลายเป็นศิลปินเดี่ยวและนักทำซาวนด์แทร็คฝีมือดี โดยเริ่มจากอัลบั้ม Golden Heart ในปี 1996 ส่วนงานซาวนด์แทร็คนั้นมาร์คทำมาตั้งแต่ปี 1983 แล้วสำหรับหนังเรื่อง Local Hero ที่มี theme สุดไพเราะ ‘Going Home’

ต่อจาก Kill To Get Crimson เมื่อสองปีก่อน Get Lucky คืองานในนามศิลปินเดี่ยวลำดับที่ 6 ของมาร์ค ซึ่งเท่ากับจำนวน studio album ของ Dire Straits พอดี อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะทำใจได้แล้วกับการเป็นศิลปินเดี่ยวของเขา แม้ว่าในอดีตมาร์คกับ Dire Straits จะแทบเป็นสิ่งเดียวกันดังที่กล่าวมา แต่ดนตรีของเขาในนามศิลปินเดี่ยวก็แตกต่างออกไปจากของวง น้อยนักที่จะเราจะได้ยินจังหวะร็อคเข้มข้นรวดเร็ว,ท่อนริฟฟ์ของกีต้าร์อันเร้าใจ หรือการโซโลกีต้าร์ระดับเวิร์ลคลาสส์ แต่ดนตรีของมาร์คจะออกไปในแนวลุ่มลึกนิ่มนวล กลิ่นอายของดนตรีคันทรี่ เคลติก และบลูส์อ่อนๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นการบรรเลงประกอบคำบรรยายเนื้อเพลงของมาร์ค อดีตนักข่าวและบัณฑิตด้านภาษาผู้ที่มีเรื่องราวจะเล่าขานไม่ขาดสาย การที่อีกมุมหนึ่งของมาร์คเป็นนักทำสกอร์ประกอบภาพยนตร์นั้นเป็นข้อได้เปรียบของเขาที่ไม่ต้องไปจ้างใครมาเรียบเรียงเครื่องสายหรือออเคสตร้าให้บทเพลงของเขา ทั้งหมดนี้ทำให้บทเพลงของมาร์ค นอฟเลอร์ในยุค solo artist เป็นผลงานของ perfectionist ที่งดงามเรียบง่ายและเต็มไปด้วยรายละเอียดทางดนตรี แต่ฟังโดยผิวเผินไม่ตั้งใจหลายคนอาจจะรู้สึกง่วงเหงา และสงสัยว่าทำไมมาร์คไม่ลองขยับอะไรๆที่มันลื่นไหลอย่าง Sultans Of Swing หรือริฟฟ์โจ๊ะๆแบบ Money For Nothing ให้แฟนเก่าๆฟังกันหายคิดถึงบ้าง

ความโดดเด่นของที่ต่างจากงานเดี่ยวอื่นๆของมาร์คก็คือ Get Lucky มีแนวดนตรี Scottish และ Celtic อย่างเด่นชัด เสียงปี่สก็อตอบอวลไปทั่ว พรสวรรค์ในการเขียนเมโลดี้สวยๆของมาร์คยังไม่หายไปไหน สกอร์ออเคสตร้ามีบทบาทไม่แพ้กันเพียงแต่วาดฉากอยู่เบื้องหลังเงียบๆ เพลงอย่าง Border Reiver, Get Lucky, So Far From The Clyde, Piper To The End และ Before Gas & TV งดงามระดับ****ทุกเพลง โดยเฉพาะ Before Gas & TV ที่มีหลายอย่างในบทเพลงชวนให้คิดถึงบทเพลง Brothers In Arms ในทางดนตรี... (แต่เพื่อนๆหลายคนกลับคิดไปถึงเพลงของคาราวาน!) เนื้อหาเพลงนี้พูดถึงเรื่องราวในอดีตยามเด็กของเขา ก่อนที่มีจะมีโทรทัศน์และรถยนต์ พวกเขามีความสุขกันกับการเล่นกีต้าร์และพูดคุยกันรอบกองไฟ (ยุคนี้คงต้องเป็น Before PC and Internet) ไทเทิลแทร็ค Get Lucky ใครชอบเสียงไนล่อนกีต้าร์ของมาร์คคงถูกใจ เสียงบาริโทนของเขาในวัย 60 ประหนึ่งไวน์ที่บ่มได้ที่ Piper To The End ทำนองสุดยอด เนื้อหาเหมือนจะอำลาวงการ แถมเป็นเพลงสุดท้ายเสียอีก

มาร์คไม่ได้ใจร้ายเกินไปที่จะเล่นเพลงร็อค-บลูส์ที่หนักแน่นขึ้นมาหน่อยให้ฟังกันบ้างใน You Can’t Beat The House และ Cleaning My Gun การเล่นกีต้าร์ของมาร์คในทุกวันนี้ยังคงสำเนียงเฉพาะบุคคลที่เราคุ้นเคยและฝีมืออันเอกอุยังอยู่ครบครัน เพียงแต่เขาเล่นมันเพื่อประกอบบทเพลงเท่านั้นไม่ได้โดดเด่นออกนอกหน้าเหมือนในยุค Dire Straits

นี่คืออัลบั้มฟังสบายๆที่เหมาะแก่การฟังอย่างละเมียดค่อยๆดื่มด่ำทั้งทางด้านดนตรีและเนื้อหา แฟนๆที่ตามงานของมาร์คมาตลอดน่าจะไม่ผิดหวัง ส่วนผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับงานของเขาอาจจะเริ่มที่ชุดนี้ หรือ Sailing To Philadelphia ก็ไม่เลวครับ แต่สำหรับแฟนๆที่ยังยึดมั่นถือมั่นกับ Dire Straits…..

Tracklist:
1. "Border Reiver" – 4:35 2. "Hard Shoulder" – 4:33 3. "You Can't Beat the House" – 3:25 4. "Before Gas and TV" – 5:50 5. "Monteleone" – 3:39 6. "Cleaning My Gun" – 4:43 7. "The Car Was the One" – 3:55 8. "Remembrance Day" – 5:05 9. "Get Lucky" – 4:33 10. "So Far from the Clyde" – 5:58 11. "Piper to the End" – 5:47