Saturday 21 March 2015

ขวัญ-เรียม





"ขวัญของเรียม"
คำร้อง - ทำนอง พรานบูรพ์
--------------
เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญของเรียม
หวนคิดผิดแล้วขมขื่น ฝืนใจเจียม
เคยโลมเรียมเลียบฝั่ง มาแต่หลังยังจำ
คำที่ขวัญเคยพลอดเคยพร่ำ
ถ้วนทุกคำยังเรียกยังร่ำเร่าร้องก้องอยู่
แว่วๆแจ้วหู ว่าขวัญชู้เจ้ายังคอย
* เรียมเหลือลืมแล้วนั่น ขวัญคงหงอย
หวนคิดผิดแล้วยิ่งเศร้า เหงาใจคอย
อกเรียมพลอยนึกหน่าย คิดถึงสายน้ำนอง
** คลองที่เรียมเคยเที่ยวเคยท่อง
เมื่อเราสองต่างว่ายต่างว่องล่องไล่ไม่เว้น
เช้าสายบ่ายเย็น ขวัญลงเล่นกับเรียม
(ซ้ำ *&**)
********************
"ขวัญเรียม" หรือ "ขวัญของเรียม" เป็นเพลงไทยเก่าๆที่ไพเราะสุดๆอีกเพลงหนึ่งที่ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องแผลเก่าก็จะยิ่งอินและซึ้งกับมันขึ้นไปอีก หนังเรื่องนี้ก็ทำกันมาหลายรอบแล้ว แต่ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นอีกนอกจากที่คุณเชิด ทรงศรีกำกับไว้เมื่อปี ๒๕๒๐ นำแสดงโดยคุณสรพงษ์ ชาตรี ในบท(ไอ้)ขวัญ และคุณนันทนา เงากระจ่างในบท(อี)เรียม ส่วนแผลเก่าเป็นบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ที่ไม่เคยดูเวอร์ชั่นอื่นๆก็เพราะฉบับของคุณเชิดนี้มันยอดเยี่ยมและตราตรึงจนทำให้ผมยอมถูกตราหน้าว่าเป็นคนใจแคบ ปิดประตูรับการตีความใหม่ๆ(และเก่ากว่า)ไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่อยากให้มีภาพอื่นมาเจือจางความประทับใจนี้
(ชมภาพยนตร์เต็มเรื่องได้ที่ http://youtu.be/LYIkIoGW6XE ภาพและเสียงอาจจะไม่สมบูรณ์นัก)
***********************
ขวัญเป็นลูกชายนายเขียน ผู้ใหญ่บ้านบางกะปิ เรียมเป็นลูกสาวตาเรือง อยู่คลองแสนแสบ เรียมมีพี่ชายชื่อ เริญ น้องชายชื่อ รอด ตาเรืองแพ้คดีรุกที่นาที่ผู้ใหญ่เขียนฟ้องร้อง จึงเป็นอริกับผู้ใหญ่เขียนเสมอมา แต่ขวัญกับเรียมรักกัน และแอบไปมาหาสู่เพื่อแสดงความรักกันตลอดมา ขวัญสาบานต่อเจ้าพ่อไทรว่า จะรักและซื่อตรงต่อเรียมตลอดไป ขณะนั้น ครอบครัวเรียมตามมาพบ จึงจับเรียมกลับไป ล่ามเรียมไว้ไม่ให้ไปพบกับขวัญอีก ขวัญซึ่งคิดถึงเรียมก็ลักลอบมาหา ได้พบและทำร้ายจ้อย นักเลงซึ่งสนิทกับครอบครัวเรียมและหลงรักเรียมอยู่ ตาเรืองเห็นว่า จะห้ามปรามขวัญกับเรียมไม่ได้ จึงขายเรียมให้ไปเป็นคนใช้คุณนายทองคำ เศรษฐินีม่ายในบางกอก ด้วยราคาหนึ่งร้อยบาท
คุณนายทองคำเห็นเรียมหน้าตาน่ารักและละม้ายโฉมยง บุตรสาวที่เพิ่งตาย จึงเอ็นดูและเลี้ยงเรียมเหมือนลูก เรียมจึงมีชีวิตเหมือนผู้ดีอยู่ในบางกอก เรียมยังได้พบสมชาย ลูกของพี่ชายคุณนายทองคำ ซึ่งเป็นคนรักของโฉมยง สมชายก็เหมือนคุณนายทองคำที่เมื่อเห็นเรียมก็รักใคร่ คุณนายเห็นทั้งสองสมน้ำสมเนื้อกันก็ส่งเสริม แต่เรียมยังคงรักขวัญอยู่
สามปีผ่านไป ขวัญซึ่งไร้เรียมใช้ชีวิตเหมือนรอวันตายไปวัน ๆ เข้าใจว่า เรียมไปได้ดีในบางกอกจนลืมคนเคยรักคนนี้เสียแล้ว เวลานั้น นางรวย แม่ของเรียมป่วย เรียมจึงขออนุญาตคุณนายกลับบ้านเดิมเพื่อมาเยี่ยมไข้ นางรวยเมื่อลูกสาวมาหาได้ไม่นานก็สิ้นใจ เมื่อกลับมาแล้ว เรียมได้พบกับขวัญ และแสดงให้เขาเข้าใจว่า ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย
หลังเสร็จงานศพนางรวย สมชายมาตามเรียมกลับบางกอก เพราะคุณนายทองคำล้มป่วยลงเช่นกัน เรียมสองจิตสองใจ ใจหนึ่งไม่อยากกลับเพราะรักขวัญ ใจหนึ่งก็คิดถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ที่บางกอก ขณะนั้น สมชายก็พร่ำพรอดรักเรียม ขวัญแอบมาได้ยินก็โกรธจนบ้าคลั่ง เข้าทำลายเรือที่คนทั้งนั้นจะใช้ไปบางกอก ผู้คนจึงออกติดตามจับขวัญ สมชายใช้ปืนยิงขวัญตาย เรียมจึงคว้ามีดของขวัญมาเชือดคอตัวเองตายตามขวัญไป
*************************
คนแต่งเพลงนี้คือคุณ พรานบูรพ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของคุณจวงจันทร์ จันทร์คณา (๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙) ท่านแต่งไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ เพื่อประกอบหนังเรื่องแผลเก่าฉบับดั้งเดิม ผู้ขับร้องในฉบับนี้คือคุณส่งศรี จันทรประภา (เธอแสดงเป็นเรียมในหนังด้วย) โดยมีเนื้อร้องสลับท่อนกับฉบับที่ร้องกันอยู่ในปัจจุบัน คุณบูรพา อารัมภีรเคย"รีวิว"ไว้ว่าเพลงนี้นั้น...."...บรรเลงโดยวงดนตรีบิ๊กแบนด์ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าผสมผสานกันอย่างยอดเยี่ยม...ส่วนเสียงของส่งศรีนั้น ร้องจับใจนัก" อะ ลองฟังกันว่าเป็นอย่างนั้นจริงไหม
http://youtu.be/AidFysFqZag
ในฉบับหนังแผลเก่าของคุณเชิดนั้นผู้ขับร้องเพลงนี้คือคุณผ่องศรี วรนุชครับ ลองฟังกันทั้งม้วนเลยนะครับ ซาวนด์แทร็คแผลเก่า
http://youtu.be/ITcOuv_pMp4
ยังมีนักร้องชั้นนำนำ"ขวัญเรียม"มาร้องอีกมากมาย ซึ่งท่านคงจะหาฟังได้เองไม่ยากใน youtube รวมทั้งน้องแป้งร่ำใน The Voice season 2 (น้องเสียงดีมาก เสียดายที่พลาดไปในจุดเล็กๆน้อยๆจนไม่มีโค้ชคนใดหันมาเมียงมอง)
http://youtu.be/-UklAwRHqMc
อะไรที่ทำให้แผลเก่าและขวัญเรียมคงความเป็นอมตะ? อาจจะเป็นเพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องราวของสาวบ้านนาที่ลืมกำพืดและคนรักไปหลงแสงสี แต่เป็นเพราะการหักมุมในนาทีสุดท้ายที่ทำให้เธอฉุกคิดว่าอะไรและใครที่เธอรักที่สุด ซึ่งถึงตอนนั้นในหัวใจเธอก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรที่จะไถ่โทษได้อีกนอกจากชีวิตที่ต้องสิ้นตามตกกันไป เป็นโศกนาฏกรรมที่เราคงไม่อยากแนะนำให้ลูกหลานเอาเยี่ยงอย่าง แต่ในภาพยนตร์มันซึ้งกันจนน้ำตาล้นออกมานอกโรง
**************************
ขอพ่วงเกร็ดความรู้ภาษาไทยจากครูลิลลี่ครับ
"........พูดถึงประวัติความเป็นมาของแผลเก่า ขวัญเรียมมาเสียนาน มาถึงความรู้ภาษาไทยที่จะทิ้งท้ายกันไว้ดีกว่า มีหลายคนสงสัยและถามกันว่า เคยเห็นเนื้อเพลงหลายเพลง หรือในคำกลอนโบราณหลายบท มักจะมีคำว่า “เรียม” ปรากฏอยู่ด้วย อยากรู้เหลือเกินว่า เรียม นั้น เป็น เรียม เดียวกับ เรียมนางเอกในบทประพันธ์แผลเก่าหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่า คำว่า เรียม ในทีนี้ มิใช่เรียมนางเอกของแผลเก่านะคะ แต่เรียมนี้ เป็น สรรพนามค่ะ เป็นคำใช้แทนตัวผู้พูด สำหรับ ชายพูดกับหญิงอันเป็นที่รัก จัดเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 คำแปลก็คล้าย ๆ กับ เรา พี่ หรือ พี่ชาย พูดกับหญิงที่รักนั่นเองค่ะ ว่าแต่ว่าชาตินี้จะมีใครมาพูดกับคุณครูว่า “รักเธอ ลิลลี่ของเรียม” บ้างไหมหนอ .... สวัสดีค่ะ....."
ทำให้คิดว่าที่คุณไม้เมืองเดิมแต่ง"แผลเก่า"ให้พระเอกชื่อเหมือนผู้หญิงว่าขวัญแต่นางเอกกลับเป็นชื่อเรียมที่เป็นคำแทนตัวเองของผู้ชายน่าจะมีความหมายอะไรลึกซึ้งเกินกว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ...เรียมว่าอย่างนั้นนะ smile emoticon
-------------------------------------

Strangers in the Night

"Frank Sinatra : Strangers In The Night"
------------------
First released : May 1966
Expanded Remaster Edition :2010
Genre: Traditional Pop (Vocal)
Produced By : Jimmy Bowen
Arranged By : Nelson Riddle
Except “Strangers In The Night” arranged by Ernie Freeman
ต้นปี 1966 (พ.ศ. ๒๕๐๙) แฟรงค์ สินาตร้า (1915-1998) ยอดนักร้องอเมริกันฉายา “The Voice” เข้าสู่วัย 51 ปี แม้ว่าดูเหมือนจะเลยยุคทองของเขากับการบันทึกเสียงในสังกัด Capitol Records ไปหลายปีแล้ว แต่แผ่นเสียง LP ของแฟรงค์ก็ยังคงทำยอดขายให้สังกัด Reprise (ตราแผ่นเสียงส่วนตัวของเขาเอง) ได้อย่างสม่ำเสมอ เ ป็นแฟรงค์เองที่ทำให้ format LP นี้เป็นที่ยอมรับในวงการตั้งแต่กลางยุค 50’s ด้วยอัลบั้มคลาสสิกมากมาย อาทิ Songs For Swingin’ Lovers!, In The Wee Small Hours หรือ Sings For Only The Lonely
แต่ในช่วงกลางทศวรรษนี้ ทีมงานของแฟรงค์เล็งเห็นว่า “ท่านประธานแห่งบอร์ด” (อีกฉายาหนึ่งของแฟรงค์) จำเป็นต้องมีซิงเกิ้ลฮิตๆไว้ประดับบารมีซํกเพลงหนึ่ง ถึงจะพอฟัดกับศิลปินรุ่นหลังอย่าง The Beatles ได้ และเพลง Strangers in the Night ก็คือความหวังของ “พ่อตาฟ้าคนเดิม” (อีกฉายาของแฟรงค์!) และทีมงาน เดิมมันเป็นเพลงเยอรมันที่ประพันธ์ทำนองโดย Bert Kaempfert และเนื้อร้องภาษาอังกฤษแต่งโดย Charles Singleton และ Eddie Snyder ซึ่ง Jimmy Bowen โปรดิวเซอร์หนุ่มผู้รับผิดชอบงานนี้เล็งเห็นว่าน่าจะทำให้แฟรงค์เกิดอีกครั้งได้
การบันทึกเสียงเป็นไปอย่างรีบเร่งสุดขีด เพราะว่าเวอร์ชั่นของ Jack Jones ในเพลงเดียวกันนี้จะออกจำหน่ายในอีกสามวัน แต่ Bowen ก็ทำได้ หลังจากบันทึกเสียงเสร็จในวันที่ 11 เมษายนแค่ 24 ชั่วโมง Strangers in the Night ฉบับสินาตร้าก็กระหึ่มทั่วสถานีวิทยุในอเมริกา มันติดอันดับ 1 ในชาร์ตทั่วโลก และกลายเป็นเพลงดังที่สุดในชีวิตของแฟรงค์ สินาตร้า แถมยังน็อคเพลง Paperback Writer ของ Beatles ลงจากอันดับ 1 ในอเมริกาได้ด้วย ว่ากันว่าแฟรงค์สะใจนัก (เขาแสดงออกอย่างชัดแจ้งมาเสมอว่าไม่ชอบเพลงร็อค)
เสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ตรงท้ายเพลงที่แฟรงค์ฮัมเมโลดี้ของเพลงเป็นถ้อยว่า “doo-be-doo-be-doo” และเพลงก็ fade out ไป (ถ้าท่านอยากฟังแฟรงค์ scat ยาวๆก็ต้องไปหาเวอร์ชั่นของเพลงนี้ในอัลบั้ม Nothing But The Best ที่มีความยาวกว่า original 9 วินาที) ท่อนไร้ความหมายนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการ์ตูนชื่อดัง ‘Scooby Doo’ อีกด้วย
ก่อนที่จะเป็นการรีวิวซิงเกิ้ลอย่างเดียว เรามาพูดถึงตัวอัลบั้มกันบ้าง 9 เพลงที่เหลือ บันทึกเสียงในอีก 1เดือนถัดมา โดยเป็นเพลงสแตนดาร์ดส่วนหนึ่ง และเพลงที่เกาะกระแสวงการดนตรีขณะนั้นอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เข้ามากุมบังเหียนออเคสตร้า คือ เนลสัน ริดเดิล อะเรนเจอร์คู่บุญของแฟรงค์ที่ทำงานระดับมหากาฬมาด้วยกันแล้วนับไม่ถ้วน นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองทำงานร่วมกัน ใน LP ชุดนี้เนลสันเปลี่ยนสไตล์การใช้เครื่องสายอันพริ้วเด่นของเขา มาใช้ออร์แกนล้อไปกับเครื่องเป่าเข้มๆแทน ซึ่งฟังแล้วก็แปลกดีแม้จะฟังแล้วไม่อมตะเท่าเสียงของกลุ่มไวโอลินอย่างที่เขาเคยทำ นี่คืออัลบั้มที่ 16 ของแฟรงค์ในสังกัด Reprise
Summer Wind เพลงประพันธ์โดย Bradlike-Mayer-Mercer ต่อมากลายเป็นเพลง “เก่ง” บนเวทีของแฟรงค์อีกเพลง นี่คือเพลงที่เยี่ยมที่สุดในอัลบั้ม แฟรงค์ร้องด้วยน้ำเสียงที่ดีที่สุดของเขา บน ท่วงทำนองที่โศกเศร้าแต่สง่างาม มันคือหนึ่งใน performance ที่น่าจดจำที่สุดในชีวิตการบันทึกเสียงอันยาวนานของเขา
All Or Nothing At All ก็ถือเป็นเพลงประจำตัวของแฟรงค์อีกเพลง เขาเคยบันทึกเสียงเพลงนี้ไว้แล้วตั้งแต่อายุแค่ 23 ปี และนี่เป็นเวอร์ชั่นที่สามของแฟรงค์ ซึ่งเขาทำมันออกมาในจังหวะสวิงคึกคักด้วยเครื่องเป่าสนุกสนานในแบบฉบับของเนลสัน
เพลงป๊อบร่วมสมัยที่เคยโด่งดังจากเสียงร้องของ Petula Clark อาจจะไม่ใช่แนวทางของแฟรงค์ แต่เขาก็เอาตัวรอดไปได้อย่างสบายๆด้วยประสบการณ์เชี่ยวกราก นักวิจารณ์บางท่านอาจจะมองว่า Downtown ของแฟรงค์ในอัลบั้มนี้เป็นเวอร์ชั่นที่น่าขันปนน่าสงสาร แต่ผมกลับคิดว่าแฟรงค์ร้องได้เฮฮาดีพอสมควร
เพลงที่เหลือเป็นเพลงเคยดังสมัยสินาตร้ายังวัยรุ่น อย่าง My Baby Just Cares For Me , You’re Driving Me Crazy และ Yes, Sir That’s My Baby ปิดท้ายด้วยเพลงเก่าจากละครเวที Jumbo ของ Rodgers and Hart “The Most Beautiful Girl In The World” ที่แฟรงค์ร้องประชันกับออเคสตร้าอย่างเร้าใจ
Strangers in the Night ฉบับ 2010 มีเพลงแถมให้สามเพลง คือ Strangers in the Night และ All or Nothing At All บันทึกจากการแสดงที่บูโดกันเมื่อปี 1985 (แฟรงค์ร้องได้เยี่ยมมากๆ) และ alternate version ของ Yes, Sir That’s My Baby สุ้มเสียงโดยรวมของอัลบั้มจัดว่าดีมากครับ
เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีโอกาสฟังอัลบั้มนี้กันอีกครั้ง นี่ย่อมไม่ใช่งานที่เลิศเลอที่สุดของแฟรงค์ แต่มันก็ยังเหนือชั้นกว่างานแสตนดาร์ดของนักร้องคนอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปี 1966 หรือปี 2010 นี้
Tracklist:
"Strangers in the Night" (Bert Kaempfert, Charles Singleton, Eddie Snyder) – 2:25
"Summer Wind" (Heinz Meier, Hans Bradtke, Johnny Mercer) – 2:53
"All or Nothing at All" (Arthur Altman, Jack Lawrence) – 3:57
"Call Me" (Tony Hatch) – 3:07
"You're Driving Me Crazy!" (Walter Donaldson) – 2:15
"On a Clear Day (You Can See Forever)" (Alan Jay Lerner, Frederick Loewe) – 3:17
"My Baby Just Cares for Me" (Donaldson, Gus Kahn) – 2:30
"Downtown" (Hatch) – 2:14
"Yes Sir, That's My Baby" (Donaldson, Kahn) – 2:08
"The Most Beautiful Girl in the World" (Richard Rodgers, Lorenz Hart) – 2:24
Bonus tracks included on the 2010 reissue:
"Strangers in the Night" - 2:14 live performance at the Budokan Hall, Tokyo, Japan, April 18, 1985
"All or Nothing at All" - 3:40 live performance at the Budokan Hall, Tokyo, Japan, April 18, 1985
"Yes Sir, That's My Baby" (Alternate Take) - 2:17

Miss Otis Regrets

"Miss Otis Regrets"

"คุณโอติสเสียใจค่ะที่เธอไม่สามารถมาทานอาหารกลางวันกับคุณผู้หญิงได้ในวันนี้"

สาวใช้ของมิสโอติสบอกกับแขกของเธอที่คาดว่าคงจะมีนัดทานข้าวกลางวันกับเธอไว้
และเธอก็เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันกับมิสโอติสเมื่อคืนนี้
มิสโอติสพบว่าเธอถูกคนรักหักหลัง
และเมื่อเธอตื่นขึ้นและตระหนักจริงๆว่าฝันทั้งหมดของเธอสูญสลาย
เธอก็ไม่คิดจะนอนอยู่เฉยๆ
มิสโอติสออกตามล่าชายคนรักที่ทำเธอเจ็บแสบ
แล้วก็...สังหารเขาซะ
เธอหนีตะรางไม่พ้น แต่ที่ไม่คาดคิดไปกว่านั้นคือมีม็อบกลุ่มนึงมากระชากตัวเธอออกจากรงขัง
แล้วจับเธอไปแขวนคอกับต้นหลิว
สาวใช้เล่าให้แขกมิสโอติสเป็นประโยคสุดท้ายว่า
ก่อนที่เธอจะสิ้นลม มิสโอติสเงยหน้างามๆของเธอขึ้นมาแล้วก็ร้องไห้
และฝากเธอมาบอกว่า เธอเสียใจนะ ที่มาทานมื้อกลางวันด้วยไม่ได้วันนี้

เป็นเพลงที่มีเนื้อหาแปลกประหลาดไม่ใช่เล่น โคล พอร์เตอร์ เขียนเพลงบลูส์เพลงนี้ไว้ในปี 1934 เพื่อตอบรับการท้าทายของเพื่อนๆ
เขาทานอาหารกับมิตรสหายอยู่ในภัตตาคารแห่งหนึ่ง และโคลโม้ว่าเขาสามารถเขียนเพลงเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้
เพื่อนเลยท้าว่า งั้นลองเขียนเพลงที่เกี่ยวกับสิ่งต่อไปที่เราจะได้ยินในภัตตาคารแห่งนี้ และไม่นานจากนั้นบริกรคนนึง
ก็พูดกับแขกโต๊ะข้างๆว่า

"มิสโอติสฝากแสดงความเสียใจที่ไม่สามารถมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยวันนี้"

------------

Miss Otis regrets she's unable to lunch today, madam
Miss Otis regrets she's unable to lunch today
She is sorry to be delayed
But last evening down in Lover's Lane
She strayed, madam
Miss Otis regrets she's unable to lunch today

When she woke up and found
That her dream of love was gone, madam
She ran to the man who had led her so far astray
And from under her velvet gown
She drew a gun and shot her love down, madam
Miss Otis regrets, she's unable to lunch today

When the mob came and got her
And dragged her from the jail, madam
They strung her upon the old willow across the way
And the moment before she died
She lifted up her lovely head and cried, madam
Miss Otis regrets she's unable to lunch today

Miss Otis regrets she's unable to lunch today

http://youtu.be/PVnAQcRIkZo

รักต้องห้าม


"รักต้องห้าม"

คำร้อง – ทำนอง วราห์ วรเวช

---------------

ไยพระพรหมนำฉันให้มาได้เจอ
พานพบเธอ แต่ให้เธอมีเขาผูกพัน
สุดเฉลย เอ่ยความช้ำกรรมเรานั้น
เพียงแรกรัก จิตถูกบั่น สุขที่ฝันพลันมลาย

มองเห็นกัน ค่ำเช้าบ้านเราอยู่เคียง
ยินสำเนียง ยลเธอเคียงกันแล้วอยากตาย
เหมือนคนบาปต้องคำสาปให้ช้ำใจกาย
สุดเปล่าเปลี่ยวระทมเดียวดา
ด้วยพลาดหมายชายที่ใฝ่ปอง

ช้ำอะไรเช่นนี้รักคนมีเจ้าของ
ยามเธอแนบประคองใจอยากเมินแต่ตาคอยมอง
ทั้งที่จ้องแล้วต้องหม่นใจ

ไยพระพรหม แกล้งฉันให้มาใกล้เธอ
ปองรักเธอใฝ่บำเรอให้ช้ำชอกใจ
รักต้องห้ามเหมือนไฟลามเผาใจให้ไหม้
สุดจะผ่อนความร้อนคลายไป เหมือนตกอยู่ใน อเวจี

ไยพระพรหมแกล้งฉัน ให้มาใกล้เธอ
ปองรักเธอใฝ่บำเรอให้ช้ำชอกใจ
รักต้องห้ามเหมือนไฟลาม เผาใจให้ไหม้
สุดจะผ่อนความร้อนคลายไป เหมือนตกอยู่ในอเวจี

อิอิ ไม่รู้พี่ๆเพื่อนๆในห้องตาดู-หูฟังนี้จะฟังเพลงลูกกรุงกันมากน้อยแค่ไหน
ผมก็ไม่ถึงกับเป็นแฟนเพลงแนวนี้ แต่ก็เริ่มมาจากการฟังเพลงพวกนี้แหละ
ที่พี่ๆเปิดกันสนั่นตอนเด็ก ก่อนถึงยุคสตริง ก็ศิลปินและเพลงเหล่านี้ล่ะที่เป็น
ขวัญใจวัยรุ่น ไอคอนของเจนเนอเรชั่น ฟังแล้วไม่น่าเป็นไปได้ใช่ไหม
แม้ใครจะว่าเพลงพวกนี้เป็นแบบร้อยเนื้อทำนองเดียว และก็น่าจะมีส่วนถูก
แต่นานๆกลับมาฟังอีกครั้งก็เรียกอารมณ์ถวิลหาความหลังได้ดี

"รักต้องห้าม" เป็นหนึ่งในสุดยอดเพลงอมตะลูกกรุง ผลงานการประพันธ์ของคุณหมอ
วราห์ วรเวช หรือชื่อจริง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วราวุธ สุมาวงศ์ ท่านแต่งเพลงนี้ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๒แต่กว่าที่คุณ รังษิยา บรรณกรจะนำมาร้องก็อีกสองปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๑๔)

คุณหมอเล่าถึงเพลงนี้ไว้ว่า...

“...อีกหกเดือนต่อมา ผมก็ผลิตชุดที่ 2 ออกมาอีก
โดยมิได้หวังยอดจำหน่ายอีกเช่นกัน
ในชุดนี้ มี เพลงรักต้องห้าม ซึ่ง คุณรังษิยา บรรณกร เป็นผู้ขับร้อง
ปรากฏต่อมาว่า มีผู้นิยมกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ
เป็นระยะยาวนานกว่า 1 ปี ผมเองก็ไม่ทราบว่า เพลงนี้เป็นที่นิยม
ในหมู่นักฟังเพลงไทยเมื่อใด เพราะตัวเองไม่ค่อยมีเวลาฟังเพลงจากวิทยุนัก
เนื่องจากภารกิจประจำในอาชีพแพทย์รัดตัว
จนกระทั่ง พี่ ประเทือง บุญญประพันธ์ ได้ให้ญาติไปหาผมที่โรงพยาบาล
เพื่อขอแผ่นเสียงชุดนี้ ผมจึงได้รู้ว่า เพลงนี้กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่
และในเวลาต่อมา ก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ
วราห์ วรเวช จึงเป็นที่รู้จักทั่วไป ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา...”

นอกจากท่วงทำนองที่ฟังง่ายไพเราะและจับใจทันที ส่วนหนึ่งทีทำให้เพลง"รักต้องห้าม"นี้โดนใจวัยรุ่นยุค ๒๕๑๔ กันถ้วนหน้าก็อาจจะเป็นที่การเขียนเนื้อเพลงที่แทงใจดำเหลือหลาย

แม้จะเริ่มด้วยคำสูงส่งอย่าง "ไยพระพรหมนำฉันให้มาได้เจอ..." แต่บางจังหวะคุณหมอก็เล่นคำง่ายๆตรงๆอย่าง "ยินสำเนียง ยลเธอเคียงกันแล้วอยากตาย" และท่อน killer ของเพลงก็น่าจะเป็นช่วง solo เสียงร้อง "ช้ำอะไรเช่นนี้...รักคนมีเจ้าของ...." และจบด้วยความรวดร้าวที่สุดเท่าที่เนื้อเพลงจะพาไปได้ "สุดจะผ่อนความร้อนคลายไป เหมือนตกอยู่ใน...อเวจี"

นี่เป็นเพลงที่อาจจะบอกได้ว่า เป็นหนึ่งใน guilty pleasures ของผม...

เวอร์ชั่นต้นฉบับของคุณ รังษิยา บรรณกร--สุดคลาสสิก
http://youtu.be/vNAMiQoRXPc

เวอร์ชั่นคุณดาวใจ ไพจิตร--อาจจะเป็นการตีความที่ดีที่สุดของยอดนักร้องท่านนี้
http://youtu.be/e7PViDfvkgU

เวอร์ชั่นคุณอรวี สัจจานนท์--หวานเศร้าตามสไตล์คนร้อง ดนตรีคมชัดทันสมัย
http://youtu.be/lRFnXtDP3RI

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.oknation.net/blog/warnwarnsong/2011/01/20/entry-1
และ
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000143376

A Hard Day's Night liner notes

"The Beatles: A Hard Day's Night"
Liner Notes by Tony Barrow
-----------
Alun Owen เริ่มต้นเขียนบทหนังเรื่องนี้ตอนปลายๆฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว โปรดิวเซอร์ Walter Shenson และผู้กำกับ Richard Lester ก็ไปนั่งชมดาราหน้าใหม่ของพวกเขาทำงานกันในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่บนเวที Finsbury Park หรือที่เรียกกันว่า 'Astoria' ในลอนดอน จอห์นและพอลเริ่มต้นที่จะสะสมบทประพันธ์ใหม่ๆสำหรับซาวนด์แทร็คในขณะที่เดอะ บีทเทิลส์ไปปรากฏตัวที่ 'Olympia' ในปารีสเมื่อเดือนมกราคมที่แล้ว และเช้าวันหนึ่งในตอนต้นเดือนมีนาคม รถไฟคันหนึ่งที่ถูกเหมาเป็นกรณีพิเศษก็ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานี Paddington และการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกของ The Beatles ก็เริ่มต้นขึ้น
ฟิล์มอันทรงคุณค่าม้วนแล้วม้วนเล่าได้ถูกบรรจุเก็บไว้ในกล่องเหล็กของทีมงานถ่ายทำก่อนที่จะมีการตั้งชื่อหนังในสังกัด United Artists picture เรื่องนี้เสียอีก และแล้วจู่ๆริงโก้ก็สร้างชื่อนี้ขึ้นมาในการสนทนาธรรมดาๆหลังจากวันหนึ่งของการถ่ายทำที่ค่อนข้างจะโหดเป็นพิเศษ "มันเป็นคืนแห่งวันที่เหนื่อยสาหัสขอบอก!" ริงโก้ประกาศออกมาขณะที่กำลังทรุดตัวลงบนเก้าอี้ผ้าใบด้านหลังทีมกล้องและช่างเทคนิค และบัดนั้น หนังเรื่องนี้ที่ได้ Wilfred Brambell มาเล่นในบทของคุณปู่(แสนลึกลับ)ชาวไอริชของพอล, ก็ได้ชื่อเสียทีอย่างรวดเร็ว 'A HARD DAY'S NIGHT'
เนื้อหาของหนังเป็นการพรรณนาถึงอะไรแบบว่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง48ชั่วโมงในชีวิตอันชุลมุนของสี่หนุ่มวงดนตรีร็อค ชื่อของพวกเขา จอห์น,พอล,จอร์จ และ ริงโก้ เราจะได้ยินเพลง A Hard Day's Night ตอนต้นๆเลยของหนังขณะที่หนุ่มๆร้องและเล่นไปด้วยในไทเทิลเปิดหนัง เพลงนี้จอห์นร้องคู่กับเสียงของเขาเองด้วยวิธีการดับเบิ้ลแทร็ค ธีมของเพลงนี้ที่ร่าเริงและจับใจมาโผล่ให้ได้ยินในตอนอื่นของหนังด้วยในรูปแบบของออเคสตรัลที่เขียนสกอร์โดยผู้กำกับการบันทึกเสียง จอร์จ มาร์ติน
เพลง 'I Should Have Known Better' ของจอห์นเปิดตัวในตอนต้นของหนังระหว่างฉากบนรถไฟที่สี่หนุ่มเล่นไพ่กันในส่วน guard's van ของรถไฟ
จอห์นและพอลแชร์เสียงร้องกันใน 'If I Fell', เพลงแรกในสี่เพลงที่อยู่ในช่วง theatre/studio อันยาวเหยียด อันเป็นช่วงที่แสดงให้เห็นการซ้อมดนตรีของวงและสุดท้ายก็ออกแสดงในรายการพิเศษทางโทรทัศน์ 'I'm Happy Just To Dance With You' ให้โอกาสจอร์จได้รับหน้าที่ร้องนำ, 'And I Love Her'ปรับสปอตไลท์ไปที่พอล และจอห์นก็มาจอยด้วยกับเขาในเพลงต่อมา 'Tell Me Why'
เพลงสุดท้ายของเจ็ดเพลงอันเกรียงไกรของซาวนด์แทร็คนี้ 'Can't Buy Me Love' ได้กลายเป็นเพลงฮิตทั่วโลกของบีทเทิลส์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ใน 'A Hard Day's Night' มันได้เป็นแบ็คกราวนด์ให้ในหลายๆฉาก--เมื่อหนุ่มๆวิ่งไล่กันข้ามสนามหลังจากหนีออกมาจากสตูดิโอโทรทัศน์ทางทางหนีไฟและในฉากที่มีการวิ่งแข่งอันเหลือเชื่อระหว่างบีทเทิลส์,แฟนๆและตำรวจซึ่งท่านจะได้เห็นบีเทิลส์วิ่งตะบึงไปบนถนนและตรอกซอกซอยด้วยความเร็วเกินจริงเป็นสองเท่า!
การสรรสร้างและขัดเกลาให้เสร็จเรียบร้อยสำหรับบทประพันธ์ใหม่ๆในซาวนด์แทร็ค 'A Hard Day's Night' ถือเป็นการท้าทายครั้้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในฐานะนักเขียนเพลงป๊อบของพวกเขา เมื่อก่อนนี้การเขียนเพลงของพวกเขาจะเกิดขึ้นแบบสบายๆไม่รีบเร่ง แต่ตอนนี้พวกเขามีเส้นตายของการถ่ายหนังรออยู่และเพลงใหม่ๆทั้งหมดจะต้องถูกรวบรวมในระหว่างคอนเสิร์ตในปารีสและการไปเยือนอเมริกา(ที่ตอนนี้เป็นตำนานไปแล้ว) เพื่อช่วยให้งานเดินดีขึ้น สองหนุ่มลงทุนสั่งแกรนด์เปียโนตัวหนึ่งมาไว้ในห้องสวีทที่พวกเขาพักอยู่ที่ George V ในปารีส
เมื่อถึงต้นเดือนมีนาคม งานก็เสร็จสมบูรณ์และเดอะ บีทเทิลส์ก็มีเพลงเกือบโหลที่รอคอยการฝึกซ้อมครั้งสุดท้ายอยู่ มีการระวังกันอย่างดีไม่ให้หนัง A Hard Day's Night ออกมาเป็นแค่เพียงการเดินพาเหรดของการแสดงดนตรีของบีทเทิลส์ และพวกบีทเทิลส์เองก็เห็นด้วยว่าหนังควรจะนำเสนอพวกเขาในแง่มุมต่างๆของบุคลิกส่วนตัวให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอาเข้าจริงๆแล้วมุมด้านฮาๆเคยเป็น,และยังเป็นเรื่องที่สำคัญมหาศาล และจอห์น,พอล,จอร์จ และ ริงโก้ก็ได้รับโอกาสเต็มที่ที่จะแสดงอารมณ์ขันแบบสดๆของพวกเขา
เป็นที่เห็นตรงกันว่าไม่ควรมีเพลงเกินหกเพลงในซาวนด์แทร็คของหนัง ถ้าเพิ่มเพลงมากกว่านี้จะไปแย่งเวลาในการแสดงเนื้อหาของหนังไป แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนจะเป็นอะไรที่ไม่แฟร์เลยที่จะไปตัดโอกาสของเพลงใหม่ๆของพวกเขาในเมื่อแต่ละเพลงนั้นมีคุณภาพขั้นดีเลิศ สุดท้ายก็ตกลงกันที่จะบันทึกเสียงทุกเพลงที่จอห์นและพอลได้แต่งขึ้นมาและจะใส่เพลงพิเศษนอกเหนือจากในหนังไว้ที่หน้าสองของอัลบั้ม
แม้ว่าเราจะได้ยินเสียงของจอร์จ แฮริสันมากมายตลอดอัลบั้ม แต่ในหน้าสองของแผ่นเสียงจะเป็นการแชร์เสียงร้องระหว่างนักแต่งเพลง-จอห์นและพอล พอลเป็นคนแต่งเนื้่อเพลงใน 'Things We Said Today' และเราจะได้ยินเขาร้องคู่กับจอห์นใน 'I'll Cry Instead' และส่วนใหญ่จอห์นจะเป็นเสียงหลักในเพลง'Any Time At All', 'When I Get Home', 'You Can't Do That' และ 'I'll Be Back' ขณะที่จอร์จและพอลร้องแบ็คอัพกันสุดฤทธิ์ในทุกๆเพลงที่กล่าวมา
เมื่อคุณได้ฟังเพลงในหน้าสองแล้วคุณจะเห็นด้วยว่ามันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายนักที่จะขับไล่ไสส่งเพลงเหล่านี้ออกไปเพียงเพราะว่ามันไม่อาจนำไปใส่ในหนัง 'A Hard Day's Night' ได้เหมาะสม และบัดนี้,ด้วยอัลบั้มนี้ในห้องสะสมของคุณ, คุณได้มีการบันทึกเสียงของบีทเทิลส์ทีครบครันและทันสมัย ในขณะดียวกันมันน่าสนใจที่จะรำลึกว่าแผ่นเสียงที่อยู่ในซองนี้เป็นอัลบั้มแรกสุดที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเพลงที่แต่งและเล่นโดย Beatles ล้วนๆ

Come Away With Norah Jones

"เมือเราทั้งหมดไปด้วยกันกับเธอ-นอราห์ โจนส์"
-------------------
Brian Bacchhus หนึ่งในทีม A&R ของ Blue Note เล่าถึงอัลบั้มเปิดตัวของนอราห์ โจนส์ไว้ว่า "เราปล่อยให้เธอค้นหาทิศทางของเธอเอง... เรารู้ว่าถ้าเธอสามารถพัฒนาการเขียนเพลงและเราค้นหาเพลงที่ยิ่งใหญ่ได้, มันจะได้ผล" และมันช่างเป็นทิศทางที่เลิศเลออะไรอย่างนั้น
มันเป็นปีที่สามของทศวรรษที่ 7 ของค่ายบลูโน๊ตเมื่อนอราห์ก้าวเข้ามา ซึ่งเธอทำให้นายใหญ่ของสังกัด Bruce Lundvell และผู้บริหารคนอื่นๆประหลาดใจ นอราห์เป็นบุตรสาวของนักซีต้าร์ ระวี ชังการ์ และสำหรับบางคนอัลบั้มของเธอไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจ แต่ในมุมมองของ Michael Cuscuna ยอดโปรดิวเซอร์ของบลูโน๊ตเขาไม่คิดเช่นนั้น "ผมตื่นเต้นสุดๆเมื่อบรูซเซ็นสัญญานอราห์เข้าค่ายเรา เธอเป็นศิลปินแจ๊ซ เล่นเปียโน และร้องเพลงสแตนดาร์ดร่วมกับอคูสติกเบสและมือกลองแจ๊ซ แต่เมื่อเราฟังเดโมของเธอแล้วพบว่ามันมีทิศทางไปทางป๊อบและคันทรี่ บรูซ,ด้วยความกังวลในทิศทางของความเป็นบลูโน๊ต,ได้เสนอให้เธอไปอยู่ในสังกัด Manhattan ที่ออกไปในทางแนวป๊อบมากกว่าแทน แต่นอราห์บอกว่า "ไม่นะ ฉันอยากจะอยู่กับบลูโน๊ต นั่นคือสังกัดที่ฉันอยากจะเซ็นด้วย ฉันรักค่ายนี้ ฉันโตมากับมัน และนั่นเป็นที่ๆฉันอยากจะอยู่""
ผลลัพธ์ของมันนั้นสุดจะช็อควงการ ไม่มีอัลบั้มใดในสังกัดบลูโน๊ตที่จะประสบความสำเร็จหรือขายดีไปกว่านี้อีกแล้ว คัสคูน่ารำลึกถึงว่า "เราคิดกันว่าถ้าขายได้ซักสองแสนแผ่นเราก็ตื่นเต้นกันแล้ว แต่สุดท้ายมันขายได้ถึง10ล้านชุดด้วยตัวของมันเอง มันแปลกประหลาดเหลือเกิน เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากกับการมองมันขายได้ระเบิดแบบนั้น" ยอดขาย 10 ล้านนั้นเป็นเพียงแค่ในอเมริกาในช่วงแรกเท่านั้น ยอดขายทั่วโลกทะลุไปถึง 25 ล้านชุด และมันกลายเป็นอัลบั้ม"มาตรฐาน"แห่งยุคใหม่ แบบเดียวกับที่ Tapestry ของ Carole King เคยเป็นในยุค70's
มีอัลบั้มเปิดตัวของศิลปินเพียงไม่กี่ชุดที่ขายได้มากกว่าสิ่งที่นอราห์ทำได้เมื่อเธอก้าวขึ้นสู่อันดับ1ของบิลบอร์ดในเดือนมกราคม 2003 ปีต่อมา Come Away With Me คว้ารางวัลแกรมมี่ไป 8 ตัว รวมทั้งรางวัลใหญ่ Album of the year และในระหว่างนั้นมันก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในทางชื่นชมจากแทบทุกสารทิศ ถึงกระนั้นก็ยังมีบางเสียงเอ่ยอ้างว่า มันไม่ใช่"อัลบั้มแจ๊ซจริงๆ" เขาพูดถูก แต่ใครจะสนล่ะ
นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่ามันเป็น "อัลบั้มที่ไม่แจ๊ซที่สุดที่บลูโน๊ตเคยออกมา" และในเวลานั้นเขาก็พูดถูก แต่มันสำคัญหรือ? อย่างที่เรย์ ชาร์ลส์เคยกล่าวไว้ "มันมีดนตรีเพียงสองแบบ...ดีและเลว" นักวิจารณ์คนเดิมที่คิดว่ามัน"ไม่แจ๊ซ"บ่นต่อไปว่า "ทั้งอัลบั้มเต็มไปด้วยเสียงร้องของโจนส์" --ก็แน่ล่ะแล้วไงหรือ? เธอมีเสียงอ่อนหวานน่าฟังที่ชวนเชิญคุณตั้งแต่คำแรกที่เธอร้อง "Don't know why..." ทำไมคนฟังไม่ยอมรับและชื่นชมมันในแบบที่มันเป็น-อัลบั้มที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างปราณีต,บันทึกเสียงและเล่นดนตรีอย่างสุดวิเศษ
ความกลมกลืนกลมเกลียวของทั้งสิบสี่เพลงในอัลบั้มทำให้มันเป็นอะไรที่พิเศษ มันเหมือนกับการได้แอบฟังความคิดส่วนตัวของใครบางคนและมันมีความเติบโตทางวัยวุฒิที่เกินกว่าอายุ 22 ปีของโจนส์ในขณะนั้น นอกจากแทร็คแรกที่เข้าท็อป30ของบิลบอร์ดแล้ว,งาน cover เพลงเก่าของ Hank Willams 'Cold Cold Heart' และเพลง 'Come Away With Me' อันแสนเนียนละมุนก็จัดเป็นแทร็คที่โดดเด่น อย่าไปฟังเสียงนกเสียงกาที่ไหนเลย ฟังอัลบั้มนี้กันเถิด
ที่มา....

Angel

"Angel"
---------------
Spend all your time waiting
for that second chance
for a break that would make it okay
there's always some reason
to feel not good enough
and it's hard at the end of the day
รอคอยมาฃั่วชีวิต...
รอโอกาสอีกสักครั้ง
ที่จะแก้ไขให้อะไรๆมันดีขึ้น
แน่ล่ะ ถ้าเราจะคิดมาก
มันก็มีเหตุผลเสมอที่จะรู้สึกว่าอะไรมันก็ยังไม่ดีพอ
และมันก็สาหัสนักเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง
I need some distraction
oh beautiful release
memories seep from my veins
let me be empty
and weightless and maybe
I'll find some peace tonight
อยากหลุดพ้นจากมโนภาพนี้
ดีเหลือเกินที่ได้ปลดปล่อย
ความทรงจำทั้งหลายไหลซึมออกจากร่าง
ให้ตัวฉันว่างเปล่า
ไร้ซึ่งน้ำหนักใดๆ
และหวังว่า....
ใจฉันคงจะสงบลงได้บ้าง ณ ราตรีนี้
in the arms of the angel
fly away from here
from this dark cold hotel room
and the endlessness that you fear
you are pulled from the wreckage
of your silent reverie
you're in the arms of the angel
may you find some comfort here
ในอ้อมแขนของนางฟ้า
โบยบินไปจากที่นี่
จากโรงแรมอันมืดหม่นและหนาวเหน็บแห่งนี้
และความนิรันดร์ที่ฉันพรั่นพรึง
ถูกฉุดออกมาจากซากปรัก
ของห้วงภวังค์อันไร้สรรพเสียง
ในอ้อมแขนของนางฟ้า
ก็หวังอยู่นะว่าอาจจะพบความสุขได้ที่นี่
so tired of the straight line
and everywhere you turn
there's vultures and thieves at your back
and the storm keeps on twisting
you keep on building the lies
that you make up for all that you lack
it don't make no difference
escaping one last time
it's easier to believe in this sweet madness oh
this glorious sadness that brings me to my knees
ล้านักกับเส้นทางชีวิตที่ถูกขีดไว้
และในทุกๆที่ย่างก้าวไป
หันหลังมาก็พานพบแต่ฝูงแร้งและเหล่าโจร
เกลียวพายุยังหมุนติ้วอยู่เบื้องหน้า
และฉันก็ยังคงสร้างเรื่องปลิ้นปล้อน
เพื่อปกปิดสิ่งที่ขาดหาย
ก็คงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว
การหลบเร้นครั้งสุดท้าย
ง่ายกว่านะที่จะเชื่อในความบ้าคลั่งอันแสนหวาน
....ความโศกาอ้นรุ่งโรจน์
...ที่ทำให้ฉันต้องทรุดลงตรงนี้
in the arms of the angel
fly away from here
from this dark cold hotel room
and the endlessness that you fear
you are pulled from the wreckage
of your silent reverie
you're in the arms of the angel
may you find some comfort here
you're in the arms of the angel
may you find some comfort here
ในห้วงแขนของนางฟ้า
บินไป...บินไป
จากโรงแรมอันมืดมิดและหนาวเหน็บแห่งนี้
จากความไม่มีที่สิ้นสุดที่น่าหวั่นเกรง
ถูกกระชากจากซากแห่งความคิดอันเงียบงัน
มาอยู่ในอ้อมแขนของนางฟ้า
ก็หวังว่าจะพบพานความสุขกับเขาบ้างที่นี่
ในอ้อมแขนของนางฟ้านี้.....

Hey Jude

"Hey Jude"
--------------
โอ้จู๊ดเอ๋ยฉันอยากสอนวอนฟังหน่อย
อย่าได้ปล่อยให้ไม่ดีนะจู๊ดจ๋า
ฟังเพลงที่แสนเศร้าเคล้าน้ำตา
แล้วนำพาผันมันไปให้ดีงาม
อย่าลืมนะรับเธอไว้ในใจเจ้า
แล้วความเหงาหงอยจะไม่ตามทวงถาม
ฉันรู้ว่าหัวใจเจ้าโครมคราม
อย่าครั่นคร้าม,ก้าวออกไป,ได้เธอมา
นาทีใดเจ้าปวดร้าวอย่าก้าวกลับ
จงสดับอย่าแบกโลกไว้เลยหนา
อย่าปิดกั้นหลีกเร้นทำเย็นชา
ไม่นำพาซึ่งใครๆ-ไม่เห็นดี
จู๊ดสู้ๆอย่าทำฉันผิดหวัง
เจ้าจงฟัง,เจอเธอแล้วอย่าถอยหนี
จงรีบเร่งคว้าเธอมาอย่ารอรี
ให้เจ้ามีเธอครองจองหัวใจ
ปล่อยออกไปและให้มันรื่นไหลเข้า
เป็นตัวเจ้าที่รอคอยคนที่ใช่
และรู้ไหมก็เจ้าเองใช่มีใคร
อยู่ที่ไหล่ของเจ้าเอง,บรรเลงไป
จู๊ดเอ๋ยจู๊ดอย่าให้เสียนะงานนี้
เสียงดนตรีเศร้าหวานพาลชวนไผล
จงเปลี่ยนมันเป็นเพลงสุขจากหัวใจ
รับเธอไว้ในวิญญาณ์อย่าช้าพลัน

All of Me

All of me
Why not take all of me
Can't you see
I'm no good without you
Take my lips
I want to lose them
Take my arms
I'll never use them
Your goodbye
Left me with eyes that cry
How can I
Go along without you
You took the part
That once was my heart
So why not
Take all of me
All of me
Why not take all of me
Can't you see
I'm no good without you
Take my lips
I want to lose them
Take my arms
I'll never use them
Your goodbye
Left me with eyes that cry
How can I
Go along without you
You took the part
That once was my heart
So why not
Take all of me
ทั้งหมดของผม
ทำไมไม่เอาไปให้หมด
คุณไม่เห็นหรือไง
ว่าผมไม่มีค่าอะไรเมื่อไม่มีคุณ
เอาริมฝีปากผมไป
ผมไม่อยากได้มันแล้ว
เอาแขนทั้งสองข้างไปด้วย
ผมจะไม่ใช้มันอีกแล้ว
คำร่ำลาของคุณ
ทิ้งผมไว้กับดวงตาที่ร่ำไห้
ผมจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร
ในเมื่อไม่มีคุณ
คุณได้เอาบางส่วนของผมไป
ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวใจของผม
ดังนั้นไยเล่า
ไยไม่เอาไปให้หมดทั้งตัวผมเลย
ทั้งหมดของผม
ทำไมไม่เอาไปให้หมด
ไม่เห็นหรือไงเล่า
ว่าผมแย่แค่ไหน เมื่อไม่มีคุณ
ริมฝีปากคู่นี้ เอาไปเถิด
ผมไม่อยากเก็บมันไว้แล้ว
แขนทั้งสองนี่ก็ด้วย
ผมคงไม่ได้ใช้มันแล้วล่ะ
ยามคุณเอ่ยลา
น้ำตาก็นองหน้าผม
ผมจะอยู่ได้อย่างไร
เมื่อไม่มีคุณ
คุณได้เอาส่วนหนึ่ง
ของหัวใจผมไปแล้ว
งั้นทำไมล่ะ
ไม่เอาผมไปให้หมดทั้งตัวเลย?
--------
All of Me เป็นเพลงเก่าตั้งแต่ปี 1931 แต่งโดย Gerald Marks และ Seymour Simons ศิลปินคนแรกที่นำมันมาร้องคือ Ruth Etting และหลังจากนั้นคนดังๆก็นำมันมาร้องมากมายตั้งแต่ Bing Crosby, Billie Holiday, Louis Armstrong, Dean Martin
แน่นอน รวมทั้ง Frank Sinatra ในปี 1954 ในอัลบั้ม Swing Easy!
ที่น่าสนใจก็คือการใส่อารมณ์ในการร้องให้เข้ากับเนื้อเพลงของสินาตร้าในเพลงนี้ มันช่าง dramatic เป็นพิเศษในแทบจะทุกประโยค แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าเวอร์หรือลิเกเกินไปเลย ลองฟังดูครับ

"คุยมันส์ๆกับสตีฟ ฮอฟฟ์แมน" (ตอน1)


ถอดความจากเว็บไซต์ monoandstereo.com ไม่แน่ใจว่าบทสัมภาษณ์นี้มีมานานแค่ไหนแล้วนะครับ แต่คาดว่าน่าจะประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวบางอย่างอาจจะไม่อัพเดท แต่เนื้อหาส่วนใหญ่น่าสนใจและคิดว่าน่าจะให้ประโยชน์และข้อคิดกับคนรักดนตรีและเครื่องเสียงพอสมควรครับ (หมายเหตุ--ไม่ได้แปลมาทั้งหมดนะครับ)
---------------
สตีฟ ฮอฟฟ์แมนมิใช่เป็นเพียงแค่ตำนานตัวจริงในวงการออดิโอไฟล์เท่านั้น เขายังเป็นคนที่มีหัวใจเปิดกว้างที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยพูดคุยด้วย เขาเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ต่อเสียงดนตรี ถ้าคุณคุ้นเคยกับอัลบั้มaudiophileของ DCC นั่นก็แปลว่าคุณรู้จักสตีฟแล้ว เขาเป็นนักมายากลแท้ๆเมื่อว่ากันที่เรื่องของการให้ลมหายใจแห่งชีวิตแก่เสียงดนตรี เราจะได้ยินผลงานของเขาได้ในอัลบั้มอย่าง Hotel California ของ Eagles, Highway 61 Revisited ของ Bob Dylan และ Blue ของ Joni Mitchell
----------
ถาม-อะไรที่ลากคุณเข้ามาสู่วงการออดิโอและมันเริ่มที่ตรงไหน?
สตีฟ-ผมทำงานในวงการวิทยุตั้งแต่เรียนไฮสคูลและหลังจากนั้นก็กระโดดเข้ามาในบริษัทแผ่นเสียงแห่งหนึ่งเลยและก็ค่อยๆไต่ขึ้นมาด้วยตัวเอง ผมเริ่มทำงานมาสเตอริ่งในปี 1982 เมื่อผมรู้สึกไม่พอใจกับงานมาสเตอร์ของเหล่าวิศวกรที่ทำกับงานรวมเพลงของผม....
ถาม-คุณคิดว่าวงการ audiophile mastering เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่?
สตีฟ-Mobile Fidelity Sound Labs เริ่มต้นมันในยุคทศวรรษ 70's ด้วยซีรีส์ half-speed mastered ของพวกเขาในการรีอิชชูแผ่นเสียงดังๆ
ถาม-คุณคิดว่าตัวคุณเองเป็นออดิโอไฟล์ไหม?
สตีฟ-เป็นสิ,แน่นอน!
ถาม-นักฟังทั่วไปมักกระเสือกระสนกันเพื่อหาความสมบูรณ์แบบของการฟังดนตรีจากเครื่องเสียง คุณคิดว่ามันเป็นไปได้ไหมที่เราจะฟังดนตรีที่มีคุณภาพด้วยเครื่องเสียงราคาปานกลางที่ชาวบ้านทั่วไปพอจะเอื้อมถึง?
สตีฟ-แน่นอนว่าเป็นไปได้ เราควรจะสามารถได้ยินความแตกต่างได้ในเครื่องเสียงที่เรียบง่ายที่สุด
ถาม-บางคนบอกว่าพวกแผ่นอดิโอไฟล์นั้นมันทำมาเพื่อกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้?
สตีฟ-audiophile pressings ควรจะทำเพื่อทุกๆคน มันเป็นความฝันของผม แต่น่าเสียดายที่ราคาของแผ่นมันกลับสูงเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่อยากจะจ่าย เหตผลก็คือค่ายเพลงเล็กๆต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ค่ายใหญ่ๆเพื่อทำแผ่นแบบนี้ และค่าใช้จ่ายนี้ก็จะแพงเสมอ!
ถาม-ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีหูฟังและแอมป์หูฟังที่มีคุณภาพออกมามากมาย และนักฟังจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆก็สามารถเอื้อมถึง"คำตอบ"นี้ คุณฟังเพลงผ่านหูฟังบ้างไหมและคุณรู้สึกอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้ คุณคิดว่าความมหัศจรรย์แห่งเสียงจะเกิดขึ้นได้กับหูฟังไหม?
สตีฟ-ผมพยายามจะไม่ฟังเพลงผ่านหูฟัง ผมพบว่ามันไม่เป็นธรรมชาติและน่ารำคาญสิ้นดี แน่นอน,ตอนผมทำงานวิทยุอยู่หลายปีนั้นผมก็ใส่หูฟังทั้งวัน ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าผมเอียนมันเต็มทนแล้ว!
ถาม-ระหว่างทรานซิสเตอร์กับหลอด คุณอยู่ข้างไหน?
สตีฟ-ผมเป็นชาวหลอดนะ เครื่องเคราของผมอันไหนถ้าเป็นหลอดได้ผมจะเลือกเป็นหลอดทั้งหมด!
ถาม-คุณมีชุดเครื่องเสียงในฝันไหม,ถ้ามันมีสิ่งนั้นจริงๆ?
สตีฟ-ชุดในฝัน? ผมตอบไม่ได้เพราะผมยังไม่ได้ฟังทุกอย่างทั้งหมดและผมก็ไม่มีทางทำได้! ถ้ามันทำให้ดนตรีมีเสียงออกมาประหนึ่งมีชีวิตและเป็นจริง นั่นแหละคือชุดในฝันสำหรับผม!
ถาม-คุณจำได้ไหมว่ามีชุดเครื่องเสียงไหนที่ทำให้คุณทึ่งสุดๆในแง่ของคุณภาพเสียง?
สตีฟ-ที่ Universal Studios ที่พวกเขาจัดไว้ที่ห้อง Main Projection นั้นเสียงดีจริงๆ และเป็นงานโฮมเมดล้วนๆด้วยสิ
ถาม-คุณคิดว่ามันเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้เครื่องเสียงฟังออกมาเหมือนดนตรีเล่นสดจริงๆ?
สตีฟ-ไม่นะ และนั่นไม่ควรจะเป็นเป้าหมาย เราควรจะเน้นในจุดที่ว่าเราจะทำดนตรีในหลายๆรูปแบบนั้นให้ฟังออกมาดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การที่จะนำวงซิมโฟนีมาอัดเสียงให้ออกมาเหมือนวงมาเล่นสดในห้องที่บ้านของคุณนั้นเป็นหนทางสู่ความวิกลจริต!
ถาม-อะไรเป็นเป้าหมายของคุณในการทำมาสเตอริ่ง อะไรที่คุณอยากให้ผู้ฟังได้รับ?
สตีฟ-คำของผมก็คือ "ลมหายใจของชีวิต" ถ้ามันให้เสียงเหมือนกับว่ามีคนที่มีชีวิตและหายใจอยู่กำลังเล่นดนตรีให้คุณฟังแทนที่จะเป็นการบันทึกเสียง นั่นแปลว่าผมทำงานสำเร็จแล้ว
ถาม-ดนตรีที่ผมรักส่วนมากจะบันทึกเสียงกันในช่วงปี 50's-70's และเครื่องไม้เครื่องมือในสมัยนั้นก็มักจะเป็นเครื่องหลอดเป็นหลัก คุณคิดว่านั่นทำให้มันมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์รวมทั้งอารมณ์ต่างๆของการบันทึกเสียงหรือไม่?
สตีฟ-ใช่,นั่นเป็นยุคทองของการบันทึกเสียงอนาล็อกโดยแท้และผมก็เกิดไม่ทันมัน ทุกวันนี้ใครๆก็อัดเสียงกันได้และมันก็ส่งผลให้คุณภาพของมันตกต่ำ ผมเคยได้ยินการบันทึกเสียงทีแสนงดงามและเต็มไปด้วยชีวิตชีวาจาก
เมื่อ50ปีก่อน เสียงมันมหัศจรรย์เหลือเกิน!
ถาม-ตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือในการอัดเสียงแบบอนาล็อกตกยุคไปหมดหรือยัง?
สตีฟ-ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น แต่ก็มีสตูดิโอรวยๆบางแห่งยังใช้มันอยู่ แต่ในเมื่อไม่มีใครทำเครื่องแบบนี้ออกมาอีกแล้วถ้าเกิดเครื่องอัดเทปเกิดเจ๊งขึ้นมาตอนอัดๆอยู่นั่นก็อาจเป็นหายนะ! อีกไม่นานของพวกนี้ก็จะกลายเป็นอดีต,ผมกลัวอย่างนั้นนะ
ถาม-คุณคิดยังไงกับ SACD? คิดว่ามันจะอยู่ได้นานไหมหรือจะมีฟอร์แมตใหม่ๆที่สูงกว่าเข้ามาแทนที่?
สตีฟ-SACD มันก็โอเค แต่มันไม่ติดตลาดแล้วจะไปยุ่งกับมันทำไม? ยกเว้นค่ายเพลงใหญ่ๆจะมาอุ้มมันนั่นแหละ ไม่งั้นมันก็รอวันตายได้
ถาม-คุณคิดว่า CD นี่เป็นความผิดพลาดหรือไม่? และมันเชยไปแล้วหรือยัง?
สตีฟ-ความผิดพลาด? ไม่หรอก,แค่มันถูกทำออกมาลวกๆไปหน่อย ผมเคยฟังซีดีที่ให้เสียงเยี่ยมๆ มันอยู่ที่การทำมาสเตอร์! อีกห้าปีซีดีจะตายสนิท!
ถาม-คุณรู้สึกยังไงกับดิจิทัลดาวน์โหลดและยุคใหม่ทั้งหมดของวงการดิจิทัล?
สตีฟ-ดิจิทัลดาวน์โหลดทำให้ผมเบื่อหน่าย มันไม่มีอะไรเซ็กซี่เลยซักนิด!
ถาม-แล้วไวนีลล่ะ มันจะอยู่ต่อไป หรือจะอยู่ในวงแคบๆของคนรักเสียงเพลงจริงๆ?
สตีฟ-ไวนีลทำให้ผมประหลาดใจเสมอ ผมคิดไม่ออกว่าจะเกิดอะไรกับมันต่อไป ที่มันยังอยู่กับเราทุกวันนี้ผมก็แปลกใจแล้ว แต่LP ดีๆสามารถให้เสียงที่ดีอย่างเหลือเชื่อ อย่างที่คุณก็คงทราบดี

Leave Your Lover



"Leave Your Lover"
Sam Smith
*****************************
I don't have much to give, but I don't care for gold
What use is money, when you need someone to hold?
Don't have direction, I'm just rolling down this road
Waiting for you to bring me in from out the cold
You'll never know the endless nights, the rhyming of the rain,
Or how it feels to fall behind and watch you call his name
Pack up and leave everything,
Don't you see what I can bring
Can't keep this beating heart at bay
Set my midnight sorrow free,
I will give you all of me
Just leave your lover, leave him for me.
Leave your lover, leave him for me.
We sit in bars and raise our drinks to growing old
Oh, I'm in love with you and you will never know,
But if I can't have you I want this life alone
Spare you the rising storms and let the rivers flow
You'll never know the endless nights, the rhyming of the rain
Or how it feels to fall behind and watch you call his name
Pack up and leave everything,
Don't you see what I can bring
Can't keep this beating heart at bay
Set my midnight sorrow free,
I will give you all of me
Just leave your lover, leave him for me
Leave your lover, leave him for me.
Leave your lover, leave him for me.
------------------------
ฉันเองก็ไม่มีอะไรจะให้มากนักหรอกนะ แต่ไอ้เงินทองน่ะฉันไม่ใส่ใจหรอก
มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าจริงๆแล้วที่คุณต้องการคือใครสักคนในอ้อมกอด?
ไม่มีเป้าหมายจะก้าวเดิน ได้แต่สะเปะสะปะไปบนท้องถนน
เฝ้าคอยแต่เธอจะรับฉันเข้าไปจากความหนาวเหน็บ
เธอไม่มีทางรู้จักราตรีที่ไม่มีวันสิ้นสุด สายฝนที่สัมผัสกับความเศร้า
หรือความรู้สึกอันปวดร้าวยามฉันเห็นเธอเรียกชื่อเขา
เก็บข้าวของและทิ้งทุกอย่าง
ไม่เห็นหรือว่าฉันทำอะไรให้เธอได้บ้าง
ฉันไม่อาจห้ามหัวใจดวงนี้ให้อยู่เฉยได้แล้ว
ช่วยปลดปล่อยฉันออกจากความระทมยามเที่ยงคืนนี้เถิด
ฉันจะให้เธอในทุกอย่างที่ฉันมี
แค่เลิกกับคนรักของเธอ ทิ้งเขามาหาฉัน
ทิ้งเขาเสีย เลิกกับเขาเพื่อฉันได้ไหม
เรานั่งในบาร์ ยกแก้วชนกันเพื่อเฉลิมฉลองกับเวลาที่ผ่านพ้นของอายุ
โอ, ฉันกำลังตกหลุมรักเธอเต็มเปา และเธอก็ช่างไม่รู้เสียเลย
แต่ถ้าฉันไม่อาจมีเธอได้จริงๆ ฉันก็คงจะอยู่ของฉันคนเดียว
เก็บพายุรักนี้ไว้ในใจ และปล่อยอะไรๆไปตามยถากรรม
ช่วยทิ้งทุกอย่างได้ไหม
ไม่เห็นหรือไงว่าฉันจะทำอะไรให้เธอได้บ้าง
หัวใจที่เต้นเร้านี้สุดจะห้ามหักแล้ว
ช่วยพาฉันออกไปจากความทุกข์ทรมานยามราตรีนี้เถิด
ฉันจะให้ทุกอย่างที่เป็นตัวฉัน
แค่เธอทิ้งเขา
ทิ้งเขามาหาฉัน
ทิ้งคนรักของเธอ
เพื่อฉันได้ไหม?

"21 สุดยอดเพลงรักแห่งวาเลนไทน์และวิธีใช้ในแต่ละเพลง"


*********************
‪#‎love‬ ‪#‎valentine‬
1.I Just Called To Say I Love You (Stevie Wonder)
.... เปิดใส่โทรศัพท์ให้คนที่คุณแอบรักแต่ไม่กล้าบอก
2.Can't Help Falling In Love (Elvis/UB40)
... เพลงแห่งการสารภาพรักด้วยเหตุผลง่ายๆ-- ผมทนไม่ได้ที่จะไม่รักคุณ
3.My Girl (The Temptations)
....บรรยายความสุขล้นในรักของคุณให้เพื่อนๆอิจฉา
4.I Will Always Love You (Whitney Houston/Dolly Parton)
....เพลงแห่งการลาจากกันด้วยดี แต่ไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีน้ำตา
5.Oh My Love(John Lennon)
....เมื่อรักไม่ได้ทำให้คุณตาบอด แต่ตาสว่างและโลกสวย
6.Love Will Keep Us Together (Captain & Tenille)
....ยามสุขล้นและมั่นใจในรักอันแสนมั่นคง
7.Without You (Mariah Carey/Badfinger)
....คำขู่ครั้งสุดท้าย..เผื่อเธอจะไม่ทิ้ง...ฉันตายแน่ๆถ้าปราศจากเธอ
8.How Deep Is Your Love(Bee Gees)
..สำหรับสาวลึกล้ำสุดจะหยั่ง แต่ถามไปอาจจะแย่กว่าเดิม
9.Can't Take My Eyes Off You (Boys Town Gang)
.... ไม่ควรใช้กับคนสวย(หรือหล่อ)นัก เพราะเค้าจะคุ้นกับคำชมพวกนี้แล้ว ควรใช้กับคนหน้าตาดีปานกลาง แต่มีเสน่ห์ทำให้คุณละสายตาไม่ได้จริงๆ
10.I Can't Stop Loving You(Ray Charles)
....ยามอกหักสิ้นหวังแล้ว แต่ไม่คิดจะลืม แม้เลิกกันไปก็จะรักอยู่อย่างนี้จะทำไม จะฟังคนเดียวหรือให้"เค้า"ฟังด้วยก็ได้
11.I'll Make Love To You(Boyz II Men)
....เพลงพร้อม...ห้องพร้อม...เทียนพร้อม....
12.My One And Only Love(Frank Sinatra/Ella Fitzgerald/Johnny Hartman)
.... ใช้ยามต้องการยืนยันอะไรบางอย่าง ว่าคุณเป็นรักเดียวของฉันนะ แต่เพลงนี้เข้มข้นในความจริงใจมาก
13.Here, There and Everywhere(Beatles)
....ยามรักรุ่งเรืองร้อนแรง ไม่อยากจากกันแม้เสี้ยวแห่งเสี้ยววินาที
14.Love Me Tender.(Elvis)
....บรรยากาศเงียบๆ ตาจ้องตา
15.This Guy's In Love With You(Herb Alpert)
....อีกเพลงเพื่อการสารภาพรัก ถ้าคุณเป็นหญิงก็แค่เปลี่ยนเป็น This Girl ฟังดูดีกว่า I'm in love with you นะ มันอ้อมๆน่ารักดี
16.(Everything I Do) I Do It For You(Bryan Adams)
....รักต้องทุ่ม ใช้กรณีต้องเทหมดหน้าตัก หรือต้องการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราให้เค้ามากแค่ไหน
17.Let's Get It On (Marvin Gaye)
..... Fifty Shades of Gaye
18.Just The Way You Are(Billy Joel)
... บอกคนรักของคุณว่าอย่าเหนื่อยที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อเอาใจคุณเลย แบบนี้แหละ รักแล้ว
19.If (Bread)
..... สำหรับรักที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แต่ถ้า..ล่ะ.. จะฝันเสียอย่างใครจะห้าม
20.Have I Told You Lately (Van Morrison/Rod Stewart)
.... เมื่อคุณไม่แน่ใจว่าเคยบอกรักเธอไปแล้วหรือยัง แต่ก็อยากจะบอกอีกทีล่ะ
21.I'm Yours(Jason Mraz)
... ตามชื่อเพลง ใช้ในสถานการณ์ยอมตกร่องปล่องชิ้น สิ้นสภาพความเป็นตัวของตัวเองทุกประการ

Tug of War

เทปม้วนแรกของพอล (ที่ผมซื้อ) (เขียนเมื่อปี 2007)
------------------------------------------------------------
Paul McCartney-Tug Of War (1982)
Produced by George Martin
Genre: Pop Rock

Tug Of War เป็นอัลบั้มแรกของพอล แมคคาร์ทนีย์ที่ผมซื้อมาฟังในแบบ real-time กล่าวคือไม่ได้ซื้อย้อนหลัง ฟังตอนมันออกใหม่ๆเลย ผมเดาว่าผมคงเคยได้ยิน Ebony And Ivory จากวิทยุหรือที่ไหนสักแห่งมาก่อนแล้ว แต่น่าจะไม่เคยฟังเพลงอื่นๆก่อนที่จะได้ฟังจากเทปอีเอ็มไอม้วนนั้นที่ซื้อจากร้านเล็กๆชั้นใต้ดินของราชดำริอาเขตตอน summer ของปี ๒๕๒๕ นั้น (ผมเป็นคนไม่ค่อยฟังวิทยุมาตั้งแต่ไหนแต่ไร) ราคาปกถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 70 บาท...(ใช่ไหม)
Tug Of War คือการเริ่มต้นอย่างจริงจังของ phase ที่ 3 ของชีวิตนักดนตรีของพอล ถ้าเราจะนับ Beatles เป็น phase 1 และ Wings คือ phase 2 นับแต่นี้ไปพอลคือ solo artist ที่ทำงานในชื่อของตัวเอง (ไม่นับ side projects บ๊องส์ๆที่เขาทำออกมาแก้เซ็งเป็นระยะๆ) งานเดี่ยวก่อนหน้านี้ของเขาคือ McCartney II ที่เป็นงาน"โซโล"จริงๆ คือพี่แกเล่นคนเดียวทุกอย่าง งานจึงออกมาเหมือนงานทดลองหรือเดโมที่น่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ (แต่บางคนก็ชอบความแหวกของมัน) แต่ Tug Of War เป็นสิ่งตรงข้าม มันคือ Pop ที่เนี้ยบสุดๆ พอลเชิญ จอร์จ มาร์ตินกลับมาโปรดิวซ์ให้อีกครั้ง (ก่อนหน้านี้และหลังจาก Beatles ทั้งสองเคยร่วมงานกันแค่ใน single Live And Let Die) เพื่อความมั่นใจว่างานนี้ดนตรีต้องออกมาสมบูรณ์แบบ พอลยังคัดเลือกนักดนตรีฝีมือระดับโลกอย่าง Steve Gadd, Stanley Clarke มาร่วมงานด้วย รวมทั้งซี้เก่าอย่างRingo Starr และตำนานร็อคแอนด์โรล Carl Perkins
Tug Of War เป็นงานของพอลในวัย 40 ที่มองโลกในแง่มุมที่ต่างออกไป จอห์น เลนนอน ถูกยิงตายในเดือนธันวาคม 1980 ก่อนที่พอลจะบันทึกเสียงอัลบั้มนี้อย่างจริงจัง เขาใช้เวลาร่วมหนึ่งปีในการทำงานอัลบั้มนี้ ซึ่งผลออกมาคุ้มค่า ทั่วโลกยกย่องว่านี่เป็นการกลับมาของพอลอีกครั้งสำหรับงานป๊อบ และยอดขายก็ไม่ได้ขี้เหร่แต่อย่างใด พอลเปิดตัวด้วยซิงเกิ้ลที่เขาร้องกับ Stevie Wonder ตำนานโมทาวน์ในเพลง Ebony and Ivory ที่เขาได้ไอเดียจากบทสุนทรพจน์ของ Spike Milligan เปียโนมีทั้งคีย์ดำและขาวที่ต้องเล่นไปด้วยกันจึงจะได้ harmony ก็เหมือนกับโลกเราที่ต้องมีทั้งคนขาวและดำอยู่ด้วยกัน.. Take It Away เป็นซิงเกิ้ลที่สองที่คึกคักน่าฟังด้วยเสียงกลองจากสองตำนาน ริงโก้และสตีฟ แกดด์ เสียงคีย์บอร์ดเลียนเสียงเครื่องเป่าได้เกือบเหมือนจริง Here Today เป็นอคูสติกบัลลาดเศร้าๆที่พอลเขียนให้จอห์น แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่ออดีตเพื่อนรักตรงๆ Get It พอลร้องกับคาร์ล เพอร์กินส์อย่างสนุก Ballroom Dancing ร็อคแอนด์โรลแบบ 50's ทำนองสวย เล่าเรื่องสมัยยุค Ballroom เฟื่องฟุ้ง
Somebody Who Cares คือเพลงที่ผมชอบที่สุดในแผ่น พอลเล่นสแปนิชกีต้าร์ และมันเป็นเพลงเดียวที่เขาแต่งสดๆในห้องอัดต่อหน้าสตีฟ แกดด์และสแตนลีย์ คลาร์ค (อย่างจงใจจะโชว์-เพื่อสร้างอารมณ์ให้สองนักดนตรี-แกว่าไว้อย่างนั้น)
ไทเทิลแทร็คมีเนื้อร้องที่ฟังตอนนี้แล้วน่าตกใจว่าสิ่งที่เขาพูดไว้นั้นเป็นจริงจริงๆ "In years to come, we may discover, that the air we breathe and the life we lead is all about, but it won't be soon enough, for me."
วันนี้ผมเอา Tug Of War มาฟังอีกครั้ง สลับไปกับ Memory Almost Full มันห่างกันถึง 24 ปี...เชียวหรือนั่น...วันนั้นเมื่อ24ปีก่อนความรู้สึกของผมหลังจากฟัง Tug Of War จบก็คือ ถึงจอห์นจะตายไป และ The Beatles จะไม่มีทางกลับมาอีก ผมก็คงไม่เดือดร้อน เพราะผมยังมีพอล แมคคาร์ทนีย์ที่ทำงานดีๆอย่างนี้ออกมาให้ฟัง ใครจะไปคิดว่าในปี 2007 ผมก็ยังบอกตัวเองได้ด้วยประโยคเดิมนี้อีก เพียงแต่แฟนทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าเวลาคงเหลือไม่มากเท่าไหร่แล้ว....
tracklist: Tug of War / Take It Away / Somebody Who Cares / What's That You're Doing? / Here Today / Ballroom Dancing / The Pound Is Sinking / Wanderlust / Get It / Be What You See / Dress Me Up as A Robber / Ebony and Ivory