Tuesday 18 November 2014

Slipknot .5

ตำนานโหดไอโอว่า,ฉบับที่ 5
Slipknot: .5: The Gray Chapter 
****
Genre: Heavy Metal
Producer: Slipknot and Greg Fidelman
Released: October 2014



All Hope Is Gone คือความเติบโตของวงร็อควงหนึ่งที่น่าสนใจ แฟนที่ผิดหวังมักจะแดกดันว่าชื่ออัลบั้มหมายถึงความสิ้นหวังของแฟนเพลงที่จะให้พวกเขากลับไปเล่นแนวเดิมๆ แต่สิ่งที่พวกเขาพูดถึงจริงๆในตัวเพลงคือความสิ้นหวังของสังคมและการตอบโต้กับความรุนแรงและถ้อยคำไร้สัจจะของผู้นำ เบื้องหลังความเมามันของบทเพลงทั้งหมดนี้ เนื้อหาที่พวกเขาต้องการสื่อออกมาก็เป็นสิ่งที่ท่านผู้ฟังน่าจะใส่ใจไปด้วยครับ

ย่อหน้าด้านบนคือส่วนหนึ่งของบทรีวิวอัลบั้ม All Hope Is Gone ของ Slipknot ที่ผมเขียนไว้เมื่อหกปีที่แล้ว (2008) ไม่คิดว่าทางวงจะทิ้งช่วงนานขนาดนี้กว่าจะออกอัลบั้มใหม่ และจริงๆแล้วถือว่าเราโชคดีด้วยซ้ำที่ยังได้ฟังอัลบั้มนี้ เพราะหกปีที่ผ่านมานั้นพวกเขาประสบเคราะห์หามยามร้ายอย่างสาหัสจนเกือบจะต้องสลายวง

เริ่มจากการเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันของ Paul Gray มือเบสและนักแต่งเพลงตัวหลักของวงในวันที่ 24 พ.ค. 2010 ด้วยสาเหตุของการได้รับยา morphine และ fentanyl มากเกินไป (overdose)โดยอุบัติเหตุ การตายของเกรย์ส่งผลต่อการทำงานของวงอย่างเห็นได้ชัด ข่าวคราวเรื่องการทำอัลบั้มใหม่ถูกเลื่อนมาตลอด และมีการขัดตาทัพด้วยอัลบั้มรวมฮิต Antennas To Hell ในเดือนมิ.ย.2012 (สัญญาณอีกอย่างหนึ่งของวงดนตรีที่กำลังจะแตกดับก็คือการออกอัลบั้มรวมฮิต) แฟนๆหลายคนถอดใจไปแล้วว่าคงจะไม่ได้ยินงานใหม่ๆจาก Slipknot อีก จนกระทั่งมีข่าวออกมาว่าพวกเขาเริ่มทำงานเพื่ออัลบั้มชุดที่ 5 กันในช่วงปลายปี 2013 โดยคอรี่ เทย์เลอร์ นักร้องนำแย้มๆว่ามันจะเป็นอัลบั้มที่มืดหม่นมากๆและมีแนวดนตรีออกมาอยู่ที่จุดตัดระหว่าง Iowa อัลบั้มชุดที่สองกับ Vol.3 (The Subliminal Verses) อัลบั้มชุดที่สาม แต่ข่าวร้ายก็ตามมาอีก Joey Jordison มือกลองที่ร่วมหัวจมท้ายกับวงมา 18 ปี ถูกเชิญออกจากวงด้วยเหตุผลส่วนบุคคล (จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครมาชี้แจงชัดๆว่าโจอี้ออกจากวงเพราะเหตุใดกันแน่ มีแค่โจอี้โพสต์ในเฟซบุ๊คของเขาว่า เขาไม่ได้เป็นคนลาออกจาก Slipknot เท่านั้น)

การเสียทั้งนักแต่งเพลงหลักและมือกลองอย่างโจอี้ที่มีลีลาเฉพาะตัวจนแทบจะเรียกได้ว่าเสียงกลองของเขาเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวง ทำให้แฟนๆออกอาการเป็นห่วงว่าสมาชิกที่เหลือจะทำอัลบั้มใหม่กันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ และใครจะมาแทนที่สองคนนี้

แต่พวกเขาก็ยังเดินหน้าต่อไป มีนักดนตรีสองคนมาแทนที่เกรย์และโจอี้ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องที่ทางวงปิดเงียบกันอีก (ความลับเยอะเหลือเกิน ก็อย่างนี้ล่ะครับวงใส่หน้ากาก) ว่าเขาสองคนนั้นเป็นใคร

สมาชิกที่เหลือ 7 คนของวงตอนนี้ก็คงมี Corey Taylor ร้องนำ, Mick Thomson กีต้าร์+เบส, Shawn Crahan เพอร์คัสชั่น+ร้องประสาน, Craig Jones แซมปลิ้ง+คีย์บอร์ด, Jim Root กีต้าร์+เบส, Chris Fehn-เพอร์คัสชั่น+ร้องประสาน และ Sid Wilson เล่นเทิร์นเทเบิ้ล (สแครชแผ่น)

The Negative One เป็นเพลงใหม่เพลงแรกในรอบหกปีที่แฟนๆได้ฟัง ออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2014 ตามติดด้วย The Devil and I ในเวลาไม่ถึงเดือนต่อมา พวกเขาประกาศชื่ออัลบั้มใหม่ .5: The Gray Chapter และปล่อยมันออกมาในเดือนตุลาคม 2014 เป็นที่รู้กันว่าคำว่า Gray นั้นมาจากนามสกุลของ Paul Gray และอัลบั้มนี้ไม่มากก็น้อยอุทิศให้เขาในหลายแง่มุม

Slipknot ที่ไม่มีพอล เกรย์ และ โจอี้ จอร์ดิสัน ก็ยังคงเป็น Slipknot วงเดิมที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไร พวกเขายังคงแนวทาง nu-metal ที่ผสมผสานเมทัลเข้ากับการร้องแบบต่างๆมากมายรวมทั้งแร็พ เอกลักษณ์ของดนตรีของพวกเขาคือการใช้กีต้าร์จูนต่ำ,เพอร์คัสชั่นแน่นหนาหนักหน่วงและหลากหลาย รวมทั้งเสียงจากแซมเปิ้ลและการครูดแผ่นเสียง ส่วนการร้องนั้นมีสารพัดไม่ว่าจะเป็นเสียงสำรอกในลำคอ,กรีดร้อง,แร็พเร็วจี๋ และนานๆทีก็ทำเสียงหล่อบนท่วงทำนองอันสวยงาม ทั้งหมดนี้ยังอยู่ใน .5: The Gray Chapter ไม่ไปไหน และไม่ว่ามือกลองคนใหม่นี้จะเป็นใครต้องยอมรับว่าเขาสวมบทบาทโจอี้ได้ไม่บกพร่อง ชนิดที่ไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าโจอี้ออกไปแล้ว

ส่วนในด้านการประพันธ์เพลง ทุกเพลงในอัลบั้มใหม่เป็นเครดิตการแต่งของ “Slipknot” และพวกเขาก็ช่วยกันเขียนออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีร่องรอยว่าบทเพลงของพวกเขาจะเป๋ไปเมื่อขาดเกรย์ ถ้าไม่นับดนตรีที่บอกไปแล้วว่าไม่มีถดถอย เนื้อร้องของพวกเขาก็ยังเด็ดขาดเหมือนเดิม รุนแรงแข็งกร้าว ใช้คำสั้นๆแต่มาเรียงร้อยจัดวางต่อเนื่องกันแล้วต้องตีความไม่น้อย , เนื้อหาในเพลงของพวกเขายื่นไปแตะในเรื่องราวต่างๆมากมาย ทั้งการเมือง,อุตสาหกรรม,ปรัชญา, ความตาย.ความสับสนทางจิต-ด้านมืดของอารมณ์, ความโกรธ...และความรัก แน่นอนว่าเนื้อเพลงของพวกเขาไม่เหมาะและไม่เคยเหมาะกับเยาวชน,ผู้พิสมัยความงดงามและด้านสดใสแห่งภาษา และพวกมือถือสากปากถือศีลทั้งหลาย

ด้วยเหตุประการทั้งปวงที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า แฟนเก่าของ Slipknot ไม่น่าจะไม่ชอบ .5:The Gray Chapter และคนที่ไม่เคยชอบก็คงจะไม่ชอบพวกเขาต่อไป!

เปิดอัลบั้มด้วย XIX ที่เน้นเสียงร้องแบบเป็นผู้เป็นคนของคอรีย์ เทย์เลอร์โดยมีเสียงคีย์บอร์ด, glockenspiel และกีต้าร์โปร่งโอบอุ้ม มันคือการประกาศการเดินหน้าต่อไปของวงอย่างชัดเจนด้วยการชักชวนให้คนฟัง “Walk with me, walk with me/ don’t let this symbolism kill your heart / just like we should’ve done right from the start.” ส่วนมากแล้วเพลงแรกในอัลบั้มของพวกเขาจะเป็นเพลงสั้นๆและมีเนื้อร้องฟังไม่ได้ศัพท์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจนกันตั้งแต่แทร็คแรก มีความรู้สึกได้ว่าเพลงนี้จะระเบิดออกเป็นความรุนแรงในทุกวินาที แต่มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ต่อเนื่องไปกับแทร็คสอง Sarcastrophe ที่ขึ้นต้นมาด้วยสไตล์คล้ายคลึงกัน จนกระทั่งหนึ่งนาทีกว่าๆผ่านไป พวกเขาจึงกระหน่ำพลังลงมาเต็มสูบให้แฟนๆโล่งอกว่าวงโปรดของเขายังดุดันไม่เสื่อมคลาย และเมื่อพวกเขาจัดเต็ม มันก็คือเต็มจริงๆ ทั้งเสียงร้องสารพัดพิษ,ท่อนริฟฟ์หนักหน่วง,คอรัสอันบ้าคลั่ง และเสียงคีย์บอร์ด+แซมปลิ้งเติมความอลหม่าน เนื้อเพลงยากที่จะเข้าใจในเวลาอันสั้น จำได้อย่างเดียวว่าพวกเขาอวยพรให้ว่า ‘live long and die for me.’ 

เครื่องติดแล้วก็คงจะหยุดยาก AOV แทร็คที่สาม เต็มไปด้วยพลังในแบบอัลบั้มแรกและคอรัสใหญ่โตเหมือนใน All Hope Is Gone คอรีย์แร็พระเบิดในช่วงกลางเพลง ก่อนที่เพลงจะผ่อนช้าลงเปิดโอกาสให้มือเบสนิรนามเอื้อนสายหวานๆให้ฟังกันพักนึง ประโยคสำคัญในเพลงนี้-: “Approaching original violence / If it’s over, you can tell me it’s no use.”--ลองตีความกันสิครับ

The Devil In I ลดความซับซ้อนลง เป็นแทร็คที่พวกเราร้องตามกันสบายๆเหมาะแล้วที่จะเป็นซิงเกิ้ล แต่เมื่ออยู่ในอัลบั้มมันกลายเป็นเพลงให้พักโสตประสาทมากกว่า Killpop เพลงสั้นๆที่มีเมโลดี้สวยงาม ไม่แปลกหรอก เพราะมันเป็นเพลงรัก แต่เป็นเพลงรักที่ออกจะสยองขวัญและโรคจิตไม่น้อย “Maybe I should let her go..but only when she loves me / How can I just let her go? Not until she loves me….” เนื้อเพลงยังสื่อถึงการทรมานคนที่เขารักอีกด้วย แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับการตีความ ช่วงท้ายเพลงดนตรีเร่งดีกรีขึ้นถึงความรุนแรงเกือบขีดสุดอีกครั้ง

Skeptic เนื้อเพลงน่าจะหมายถึงพอล เกรย์เป็นอย่างยิ่ง “The world will never see another crazy motherf_cker like you. The world will never know another man as amazing as you.” และอีกหลายท่อน ลีลาในการเรียบเรียงเพลงนี้ซับซ้อนเอาเรื่อง-ถ้าคุณจะตั้งใจชำแหละมัน แต่อย่าลำบากขนาดนั้นเลย มีความสุขกับความเมามันสุดขีดที่พวกเขาเล่นให้ฟังดีกว่า Goodbye ปกติเพลงชื่อนี้น่าจะเป็นเพลงปิดท้าย แต่มันมาอยู่ตรงนี้เพราะมันไม่ใช่เพลงอำลา แต่เป็นเพลงที่บอกว่าการเอ่ยคำอำลาจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาจะทำบนโลกนี้ต่างหาก ถึงตรงนี้จะสังเกตว่าพวกเขาย้ำบ่อยมากถึงการยืนหยัดสู้ต่อไปไม่ว่าอุปสรรคจะสาหัสแค่ไหน 

Nomadic จัดเต็มอีกครั้งในสไตล์ Iowa ของแท้ ริฟฟ์ขนาดมหึมาที่เคลื่อนไหวรวดเร็วไปพร้อมๆกับเมโลดี้ที่น่าฟังแต่จับทางลำบาก และอื่นๆอีกมากมายที่ต้องนับถือคนมิกซ์ที่จัดที่วางให้ดนตรีแต่ละชิ้นได้ทั่วถึง รวมทั้งอุตส่าห์มีโซโล่กีต้าร์สั้นๆในแนวนีโอคลาสสิคัล! The One That Kills The Least น่าสนใจที่มีการนำบางท่อนจาก XIX มาใส่ด้วย แต่เปลี่ยนเป็น “Come with me, come with me” เนื้อร้องน่าสนใจตรงชื่อเพลงนี่แหละ....พวกที่ฆ่าน้อยที่สุด..มันก็ยังฆ่าเราทั้งหมดอยู่ดี...?

ถ้าจะมีสักเพลงที่ถูกบรรจุเป็น anthem ใหม่ในการแสดงสดของ Slipknot จากอัลบั้มชุดนี้ มันต้องเป็น Custer อย่างแน่นอน คุณจะสามารถจินตนาการผู้ชมเรือนหมื่นก้มหัวมองพื้นแล้วกระโดดตามจังหวะของมันไปอย่างพร้อมเพรียงในท่อนคอรัส Cut – Cut – Cut me up and F_ck – F_ck – F_ck me up ได้ไม่ยากเย็น มันส์จริงๆขอรับแทร็คนี้ The Negative One ซิงเกิ้ลแรกที่ออกมาทักทายและมันก็ทำหน้าที่ได้ดี เป็นเสมือนตัวแทนของเพลงทั้งหมดจากอัลบั้ม แฟนๆก็ยังคงตีความกันไม่เลิกว่าใครหนอคือ the negative one? แต่ผมไม่เชื่อว่าพวกเขาหมายถึงโจอี้

ปิดท้ายด้วยเพลงช้าๆให้ดูดดื่มกับความหมาย If Rain Is What You Want  ซึ่งก็ต้องตีความกันอีกล่ะ ว่าอะไรคือสายฝนในเพลงนี้ ที่พวกเขาบอกว่า if rain is what you want / then take your seats / enjoy the fall……

และถ้าเมทัลหนักๆในแบบของพวกเขาเป็นสิ่งที่คุณต้องการ เชิญหาที่นั่งฟัง และมีความสุขกับความโหดเหี้ยมหฤหรรษ์ของ .5:The Gray Chapter กันได้เลยครับ

Tracklist:
1.         "XIX"     3:10
2.         "Sarcastrophe"             5:06
3.         "AOV"  5:32
4.         "The Devil in I"              5:42
5.         "Killpop"            3:45
6.         "Skeptic"           4:46
7.         "Lech"              4:50
8.         "Goodbye"        4:35
9.         "Nomadic"        4:18
10.       "The One That Kills the Least"             4:11
11.       "Custer"            4:14
12.       "Be Prepared for Hell"              1:57
13.       "The Negative One"      5:25

14.       "If Rain Is What You Want"       6:20

Thursday 18 September 2014

Song Reader

เบ็คแต่งแบ่งเพื่อนเล่น
Various Artists : Warby Parker presents Song Reader twenty songs by Beck ***1/2
Released: July 2014
Genre: Pop/Rock


เมื่อเราคิดถึง Beck Hansen หรือที่ใครๆในวงการเรียกเขาเพียงชื่อสั้นๆว่า Beck เรามักไม่คิดถึงเขาในแง่นักประพันธ์เพลงมาก่อน แต่เป็น Beck ที่เก่งกาจในเรื่องสไตล์ดนตรี, การผสมผสานแนวทางต่างๆที่ไม่น่าไปกันได้เข้าด้วยกัน และเป็นศิลปินที่เล่นกับการบันทึกเสียงได้อย่างฉกาจฉกรรจ์ เป็น Beck ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งทางดนตรี เป็นหนุ่มอินดี้ตลอดกาล ที่แทบไม่เคยทำเพลงเชยๆโหลๆ ครานี้, เราคงต้องมองเขาในอีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งความจริงเขาก็เป็นมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่เข้าวงการ Beck Hansen: The Composer

มองเผินๆอัลบั้มรวมเพลงจากหลากหลายศิลปิน Song Reader นี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า การจับเอาศิลปินหน้าใหม่บ้าง ไม่ใหม่บ้าง และเก่าบ้าง20 คนมาทำเพลงที่ Beck แต่งเอาไว้ลงบันทึกเสียง แล้วก็จับมารวมเป็น collection ไม่น่ามีอะไรตื่นเต้น ก็เหมือนงาน songbook หรือ tribute ที่มีทั่วไปดาษดื่น แต่เบื้องหลังของ Song Reader กลับมีอะไรซับซ้อน ย้อนรอย และน่าสนใจในไอเดียมากกว่าที่เราเห็น มันเป็นแนวคิดที่ทั้งย้อนยุคสุดกู่ และย้อนรอยสวนทางกับโลกดนตรีปัจจุบันชนิดสลับขั้วของชายหนุ่มนักดนตรีคนหนึ่งที่แต่งเพลง-บันทึกเสียง-แล้วก็นำออกมาขายอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่วัยละอ่อน ที่เขาโด่งดังไปกับเพลงตำนานอินดี้อย่าง Loser หรือมหากาพย์ cut and paste 'Odelay' ในปี 1997

Song Reader เป็นแนวคิดที่ย้อนกลับไปในสมัยที่ผู้คนยังมีเวลาว่างพอที่จะซื้อโน้ตเพลงไปหัดร้อง-เล่นเองที่บ้าน ในขณะที่ปัจจุบันแค่จะหาเวลาฟังเพลงที่ดาวน์โหลดมาฟรีๆแฟนเพลงก็ยังถือเป็นเรื่องค่อนข้างจะเหนื่อย Beck ได้ไอเดียนี้มานานมากตั้งแต่ยุคกลาง 90's ที่มี publisher ท่านหนึ่งได้สู้อุตส่าห์ transcript เพลงของเขาเป็นตัวโน้ตลง sheet music ส่งมาให้เขาเป็นของขวัญ Beck มองไปที่มันแล้วคิดว่าการที่ sonic ideas ของเขาถูกถ่ายทอดออกมาลงในแผ่นกระดาษอย่างนี้มันไม่ค่อยจะเข้าทีเท่าไหร่ แต่มันกลับจุดประกายให้เขาทำอะไรที่เหมาะสำหรับมันโดยเฉพาะ นั่นก็คือการตั้งใจเขียนเพลงออกมาขายเป็น sheet music เหมือนในยุคต้นศตวรรษที่ 20 โดยเขาไม่จำเป็นต้องบันทึกเสียงมันก่อน

มันก็เหมือนจะง่ายๆ ก็แค่ตัด process การบันทึกเสียงออกไป เพราะการแต่งเพลงก็เป็นชีวิตประจำวันของเขาอยู่แล้ว แต่คนคิดมากอย่าง Beck ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะเขาไม่ได้ต้องการให้มันเป็น sheet music ดาษๆที่ไม่มีใครสนใจ Beck รู้ดีว่าเขาจะแต่งเพลงอย่างที่เขาเคยแต่งไม่ได้ เพราะในแบบนั้นเขาทราบดีว่าเขาแต่งเพื่อเสียงร้องและการทำดนตรีของเขาเอง แต่ใน project Song Reader Beck ต้องการเพลงที่เป็นสากล,ยืนยง และเหมาะสมในการหลากหลายแห่งการตีความ และแม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เราก็รู้สึกได้ว่านี่เป็นความหาญกล้า ที่จะเขียน American Songbook ชุดใหม่ออกมาในทศวรรษที่ 21

คงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี กว่าที่จะรู้ว่า 20 เพลงนี้จะมีเพลงไหน หรือไม่มีเลย ที่จะกลายไปเป็นเพลงที่ผู้คนกล่าวถึง นำไปร้องเล่นกันเหมือนเพลงของ Gershwin หรือ Cole Porter แต่แม้จะไม่มีสักเพลง แต่ก็ถือว่า Beck ได้ทำอะไรที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ เขาอยากให้คนนำเพลงของเขาไปร้องรำทำเพลงกันที่บ้าน เหมือนสมัยที่คนอเมริกัน 54 ล้านครัวเรือนซื้อ sheet music ของเพลง Sweet Leilani ไปเล่นกันที่บ้านในทศวรรษ 30's (เพลงนี้ Bing Crosby บันทึกเสียงเอาไว้ในปี 1937) อย่างไรก็ตามโปรเจ็ค sheet music ของ Song Reader ก็ออกมาเป็นตัวตนในปี 2012 เป็นรูปเล่มสวยงามพร้อมอาร์ทเวิร์คของแต่ละเพลงในแบบหวนอดีต ทุกเพลงจะมีการเรียบเรียงเปียโนและคอร์ดกีต้าร์ให้ รวมทั้งบางส่วนของพาร์ทเครื่องเป่า และบางเพลงก็มีคอร์ดของ ukulele ให้ด้วย แต่ในนั้นก็จะมีหมายเหตุว่า อย่างไรเสียคุณก็ไม่จำเป็นต้องเล่นตามนี้เป๊ะๆหรืออาจจะไม่สนใจการเรียบเรียงนี้เลยก็ได้ จะใช้เครื่องดนตรีอะไรก็ได้ จะเล่นช้าหรือเร็วก็ไม่ว่ากัน ซึ่งจะว่าไปแล้วถึง Beck ไม่ระบุอย่างนั้น มันก็มีแนวโน้มที่คนจะเล่นเพลงจาก Song Reader ในแต่ละเพลงไปอย่างร้อยพ่อพันแม่ เพราะไม่เคยมีใครได้ยินเพลงเหล่านั้นมาก่อน ย้ำอีกทีว่า Beck หรือใครๆ ไม่เคยบันทึกเสียง 20 เพลงนี้อย่างเป็นทางการออกขายก่อนที่ sheet music นี้จะอยู่ในมือผู้บริโภค

กระแสตอบรับของ Song Reader ไม่ถึงกับเป็นปรากฏการณ์ช็อคโลก แต่ก็เริ่มมีผู้คนซื้อเพลงของเบ็คไปหัดร้องเล่นกัน และอัพขึ้น youtube หลายเพลงดูแล้วสนุกสนานและสร้างสรรค์ราวกับมืออาชีพ บางคลิปอาจจะดูตลกและถึงขั้นว่าจะทำให้งานประพันธ์ของ Beck เสียหาย แม้แต่เหล่าศิลปินเองก็ตอบรับไอเดียนี้ด้วยการนำเพลงต่างๆของ Song Reader มาเล่นกันด้วยความอยากรู้และท้าทายที่ซ่อนเร้นอยู่ในโปรเจ็ค  นี่เป็นความแตกต่างระหว่างการเล่นเพลงจาก sheet music ในยุคของ Beck กับยุคของ Bing Crosby ที่ในยุคนั้นต่างคนต่างเล่นกันไป ไม่มีใครรู้ว่าคนอื่นๆเล่นเพลงนี้กันแบบไหน เว้นแต่คุณอยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน แต่ยุคนี้,คุณอาจจะได้ฟังเวอร์ชั่นของเพื่อนบ้านที่ห่างออกไปหลายหมื่นไมล์ที่เพิ่งอัดเสียงกันเมื่อวานนี้ได้ไม่ยาก

Level ต่อไปของ Song Reader คือคอนเสิร์ตรวมดาวในปลายปี 2013 ที่ Beck ขึ้นเวทีกับผองเพื่อนในแอลเอ (โดยมีคุณพ่อของเบ็ค, เดวิด แคมป์เบล ยืนกำกับออเคสตร้าอยู่เบื้องหลัง) เพื่อเล่น 14 เพลงจากคอลเลกชั่นนี้ โดยมีชื่อศิลปินหลายคนที่ต่อมาก็มาอัดเสียงมันจริงๆในซีดีชุดนี้  (และหลายชื่อที่เสียดายที่ไม่ได้มาบันทึกเสียง) เว็บไซต์โรลลิ่งสโตน รีวิวว่า นี่เป็นการพิสูจน์ว่างานแต่งเพลงในซีรีส์นี้ของเบ็คไม่ใช่งานชิ้นเอกของเขา แต่เหมือนจะเป็นการทำแบบฝึกหัดในการเขียนเพลงหลายๆแนวมากกว่า แต่อย่างไรก็เถิด ความล้มเหลวของเบ็คก็ยังดูดีกว่าความสำเร็จของศิลปินหลายคน

ผมออกจะดีใจที่โครงการนี้ครบวงจรด้วยการทำเป็นอัลบั้มออกมา จะได้มีเพลงของ Beck ศิลปินคนโปรดไว้ฟังเป็นเรื่องเป็นราวอีกแผ่น แต่อีกใจหนึ่งก็หวั่นว่านี่ Beck กำลังทำลายโปรเจ็คอันสุดสร้างสรรค์ของเขาลงกับมือหรือเปล่า เพราะการออกอัลบั้มนี้มา ถึงไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่มันก็เท่ากับเป็นการตีตราให้แต่ละเพลงมี definitive version และหลังจากนี้ไป ใครๆที่นำเพลงเหล่านี้ไปเล่น ก็จะมีความรู้สึกว่ากำลัง cover เพลงอยู่ ในขณะที่ก่อนหน้านี้..ทุกคนที่เล่นเพลงใดเพลงหนึ่งจาก 20 เพลงใน Song Reader นี้จะรู้สึกว่าตัวฉันเองเป็น original

แต่ใครจะไปรู้ อนาคตอาจจะมี Song Reader Songbook CD โดยศิลปินคนอื่นๆออกตามมาอีกมากมายก็ได้ และผมก็อยากจะเห็นใครซักคน เล่นมันแบบยกชุดดูซักที แต่ใครคนนั้นไม่ควรจะเป็น Beck เอง

ถ้าคุณไม่เคยฟังเพลงใดๆใน Song Reader มาก่อน ผมก็ไม่แน่ใจว่าคุณควรจะอุ่นเครื่องด้วยการลองคลิกฟังการ rendition ของเหล่าศิลปิน youtube กันก่อน หรือว่าจะพุ่งตรงมาฟังงานในซีดีนี้เลย แต่ถ้าจะให้แนะนำแบบอุดมคติ ถ้าคุณพอจะเล่นดนตรีเป็นบ้าง, ก็น่าจะหา sheet music ชุดนี้มาลองหัดร้องเล่นดูก่อนซักพัก ก่อนที่จะมาฟังซีดีชุดนี้กัน

แม้จะเป็นงานหยิบยี่สิบที่มีศิลปินมากมายและมาคนละทิศละทางในแนวทาง แต่ Song Reader CD นี้ก็ฟังดูกลมเกลียวและเป็นการรวมเพลงที่ฟังแล้วน่าตื่นใจและไหลลื่น,รื่นหู มันไม่ใช่อัลบั้มรวมบิ๊กเนมอะไรมากมาย ตรงกันข้าม มันกลับเต็มไปด้วยชื่อที่เราไม่คุ้นเคย แต่ฟังแล้วเห็นอนาคตอันสดใสชองพวกเขา โดยเฉพาะ Moses Sumney หนุ่มโฟล์ค-โซลที่มาจากไหนก็ไม่ทราบ ได้รับเกียรติมาเปิดอัลบั้มด้วยชื่อเพลงเกรียนๆ Title Of This Song การเล่นกับเสียงร้อง multi-layer ของเขาจัดว่าไม่ธรรมดามากๆ ต่อด้วย Fun. ดาวรุ่งของวงการในเพลงที่ผมชอบที่สุดในซีรีส์ Please Leave A Light On When You Go ถึงแม้ควีนและเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่จะมาร้องให้เบ็คไม่ได้ แต่ Fun. ก็ทำหน้าที่นั้นแทนแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ เสียดายที่เพลงสั้นไปหน่อย (ความเสียดายนี้พบในอีกหลายแทร็ค ดูเหมือนศิลปินแต่ละคนจะไม่ค่อยกล้าที่จะ extend เพลงออกไปยาวนักจากที่เบ็คเขียนไว้) Jeff Tweedy (Wilco) ร้อง The Wolf Is On The Hill ในแบบของเขา-alternative country ที่ฟังแล้วก็ไม่คิดว่าเป็นเพลงที่เบ็คแต่ง ที่น่าสนใจก็คือดูเหมือนไม่ว่าใครที่นำเพลงจาก Song Reader มาร้องในซีดีนี้ก็ฟังดูเหมือนเป็นเพลงของพวกเขาเองไปเสียหมด อย่าง Just Noise ที่นอราห์ โจนส์ขับร้องในแนว honky tonk pop นั้นก็แสนจะเป็นเธอ รวมทั้งเนื้อหาน่ารักๆนั้นด้วย

เสียดายที่ Jenny Lewis ที่ร้อง Last Night You Were A Dream ในคอนเสิร์ตไม่ได้ตามมาร้องในอัลบั้มนี้ด้วย แต่เป็น Lord Huron ที่รับหน้าที่แทน, Bob Forrest เล่น Saint Dude ในแบบ straight ballad rock ที่คุณจะไม่เคยคิดว่าเบ็คทำเพลงตรงไปตรงมาแบบนี้เป็นด้วยหรือ Highlight อีกช่วงมาอยู่ที่กลางอัลบั้ม Jack White ศิลปินผู้ที่น่าจะมีบารมีพอกับเบ็ค(หรือมากกว่า) ที่จะทำงานแบบนี้ (หมายถึงทำ Song Reader ของเขาเอง) รับ I'm Down มาเล่น ด้วยสไตล์คันทรี่-บลูส์ในแบบที่เอาไปใส่ในงานเดี่ยวสองชุดของเขาได้สบายๆ เพลงนี้มีเนื้อเพลงที่ผมชอบมากอยู่ท่อนหนึ่ง :"Fix my spelling on the suicide note.." โอ แสนจะเบ็คจริงๆ แจ็คทำเพลงนี้ออกมาไร้ที่ติ เบ็คคงจะเห็นแล้วว่าคนที่จะมา"เล่นต่อ"จากแจ็ค น่าจะลำบากอยู่ในการถูกเปรียบเทียบ เขาจึงรับมือเองด้วย Heaven's Ladder (เป็นอะไรกับ Stairway To Heaven?) พอเบ็คมาร้องเองมันก็เป็นเพลงของเบ็คจริงๆ ทุกอย่างลงตัวไปหมด อารมณ์เพลงนี้มีกลิ่นอายของ Beatles และซาวนด์ที่ชวนให้นึกถึงอัลบั้ม New ของเซอร์ พอล แมคคาร์ทนีย์

Juanes ศิลปินชาวโคลัมเบียนำ Don't Act Like Your Heart Isn't Hard มาร้องในภาษาสเปน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดี เสียอย่างที่มันเป็น performance ที่แสนราบเรียบ (=ง่วง), Laura Marling สาวนีโอโฟล์คคนดังมาในเพลง Sorry ที่สนิทแนบราวแต่งให้เธอโดยเฉพาะเจาะจง, ส่วนแฟนๆ Pulp น่าจะถูกใจกับการที่ได้ท่าน Jarvis Cocker มาขับร้อง Eyes That Say "I Love You" ในแบบสุดดราม่า, มีเพลงบรรเลงสองเพลงที่ทำให้นึกถึงดนตรีในยุคของ George Gershwin เป็นอย่างยิ่ง The Last Polka โดย Marc Ribot และ Mutilation Rag โดย Gabriel Kahane &yMusic

ช่วงท้ายอัลบั้มเบ็ควางเพลงฟังยากไว้หลายเพลง เช่นการร้องแบบ comedy-dramatic ของท่านแจ็ค แบล็คในเพลง We All Wear Cloaks หรือ America, Here's My Boy โดย Swamp Dogg ซึ่งฟังแล้วถึงกับอยากให้เบ็คเขียนโอเปร่าซักเรื่อง และที่โดดเด่นที่สุดอีกแทร็คคือ Why Did You Make Me Care? โดย Sparks มันเป็นเพลงที่ฟังดูเหมือนเดินทางกลับสู่ปัจจุบันที่สุดใน Song Reader หรืออาจจะเลยไปข้างหน้าด้วยซ้ำไป

แฟน Beck คงไม่พลาดนะ แม้เขาจะร้องเองแค่เพลงเดียว แต่ยังไงก็ต้องเก็บเพลงที่เขาแต่งไว้กันล่ะ รวมทั้งนักสะสมประเภท completist ของศิลปินแต่ละคนในนี้ก็คงต้องหามาครอบครอง ส่วนนักฟังที่อยากจะเริ่มฟัง Beck ไม่ควรเริ่มที่อัลบั้มนี้ครับ แฟนเพลงทั่วไปที่อยาก"ลองของ"ดนตรีย้อนยุคที่เล่นแบบไม่ค่อยย้อนนักโดยศิลปินหลากหลาย น่าสัมผัสครับ และเราก็ต้องมาตามดูกัน ว่าโปรเจ็คแบบนี้จะมีศิลปินอื่นเล่นสนุกตามกันไหม? หรือว่าเบ็คต้องทำการ "ท้า" แบบ ice bucket challenge

01. Moses Sumney – “Title of This Song”
02. Fun. – “Please Leave A Light On When You Go”
03. Tweedy – “The Wolf Is On The Hill”
04. Norah Jones – “Just Noise”
05. Lord Huron – “Last Night You Were A Dream”
06. Bob Forrest – “Saint Dude”
07. Jack White – “I’m Down”
08. Beck – “Heaven’s Ladder”
09. Juanes – “Don’t Act Like Your Heart Isn’t Hard”
10. Laura Marling – “Sorry”
11. Jarvis Cocker – “Eyes That Say ’I Love You’”
12. David Johansen – “Rough On Rats”
13. Jason Isbell – “Now That Your Dollar Bills Have Sprouted Wings”
14. The Last Polka – “Marc Ribot”
15. Eleanor Friedberger – “Old Shanghai”
16. Sparks – “Why Did You Make Me Care?”
17. Swamp Dogg – “America, Here’s My Boy”
18. Jack Black – “We All Wear Cloaks”
19. Loudon Wainwright III – “Do We? We Do”
20. Gabriel Kahane with Ymusic – “Mutilation Rag”