Thursday 17 September 2009

Arctic Monkeys ***-*-*-*-* Humbug


Arctic Monkeys-Humbug ****


แนวดนตรี-Post Punk, Alternative Rock, Psychedelic Rock
Producer: Josh Homme, James Ford* (เฉพาะเพลงที่ 4 และ 7)


Tracklist:

1. "My Propeller" 3:28
2. "Crying Lightning" 3:42
3. "Dangerous Animals" 3:24
4. "Secret Door"* 3:41
5. "Potion Approaching" 3:32
6. "Fire and the Thud" 3:50
7. "Cornerstone"* 3:17
8. "Dance Little Liar" 4:43
9. "Pretty Visitors" 3:40
10. "The Jeweller's Hands" 5:42


ออกจำหน่าย-สิงหาคม 2552




เผลอแว่บเดียว หนุ่มๆจากเชฟฟิลด์ (Alex Turner-vocal, guitar/Jamie Cook-guitar/Nick O’Malley-bass/Matt Helders-drums) กลุ่มนี้ก็เดินทางมาถึงอัลบั้มที่สามแล้ว พวกเขาคือวงดนตรีโพสต์พังค์-ป๊อบที่โดดเด่นที่สุดจากเกาะอังกฤษหลังจาก Franz Ferdinand อัลบั้มแรกของ The Monkeysในปี 2006 Whatever People Says I Am, That's What I'm Not นั้นอัดแน่นด้วยพลังและความสดใหม่ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้อัลบั้มแรกของ Oasis หรือ The Stone Roses มันเป็นอัลบั้มที่ขายได้ "เร็ว" ที่สุดตลอดกาลในขณะนั้น (ก่อนที่จะถูกทำลายในปีต่อมาด้วยฝีมือของ Leona Lewis) ด้วยแนวคิดทางการตลาดที่หักล้างสูตรสำเร็จเก่าๆอย่างพลิกแผ่นดิน งานที่สอง Favourite Worst Nightmare ตามมาอย่างทันใจในปี 2007 หลายเพลงในนั้นทำขึ้นมาประหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเล่นยังเล่นดนตรีให้แรงและเร็วกว่าเดิมได้อีก แต่ครึ่งหนึ่งของอัลบั้มก็เริ่มชี้ไปในแนวทางใหม่ที่ผ่อนคลาย,อ่อนโยน และหลอนเวิ้งว้าง....


Alex Turner นักร้องนำและนักแต่งเพลงผู้แทบจะเป็นทุกอย่างของวงร่วมมือกับเพื่อนร่วมวงการ Miles Kane จากวง The Rascals ทำงาน"คั่นเวลา"ออกมาในปี 2008 ในนามของ The Last Shadows Puppets (ที่อดคิดไม่ได้ว่ามันเหมือนจะเป็นงานเดี่ยวของเขากลายๆ) แต่มันเป็นงานที่สำคัญกว่าการเป็นแค่งานคั่นเวลาหรืองานอดิเรก โลกได้ฟังเทอร์เนอร์ในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างจากความกราดเกรี้ยวของ Arctic Monkeys เขาและไมลส์ทำเพลงย้อนยุค-เล่นกับเครื่องสาย ดนตรีที่อิงได้กับซาวนด์แทร็คหนังคาวบอยอิตาเลียน และการร้องเพลงแบบ crooner มันได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์แทบจะถ้วนหน้า


และ Humbug ก็ควรจะถูกมองว่ามันเป็นการเดินทางของวงที่เป็นรอยบรรจบจาก The Last Shadows Puppets และ Favourite Worst Nightmare พวกเขาแทบจะไม่ใส่ใจกับความดุเดือดของพลังแบบพังค์ หรือการเล่นดนตรีด้วยความเร็วระดับ 150 BPM อย่างใน Brianstorm อีกต่อไป arctic monkeys หันไปทำงานร่วมกับ Josh Homme แห่ง Queens of the Stone Age ในฐานะโปรดิวเซอร์ และมันก็มีอิทธิพลของ Josh ในด้าน soundscape และ guitar soundให้ได้ยินกังวานไปทั่วใน Humbug แต่ไม่มากเกินไปจนทำให้มันกลายเป็น Prince of the stone age เพลงของพวกเขายังคงเป็นเพลงแบบ arctic monkeys ที่คมคาย แม่นยำ ดนตรีแน่นขนัดอันเต็มไปด้วยเมโลดี้ที่ไพเราะอย่างน่าประหลาด...อย่างที่ไม่มีใครจำผิดวง เพียงแต่คราวนี้พวกเขาสุขุมขึ้น หลากหลายและหลักแหลมขึ้น และไม่มีความเร่งร้อน...แทบไม่มี...เหลืออยู่


The Monkeys อาจจะเลือกเพลงอย่าง Pretty Visitors หรือ Potion Approaching ที่ยังมีดีเอ็นเอของความรีบเร่งและริฟฟ์ดุๆแบบสองอัลบั้มแรกมาเป็นเพลงเปิดหัว Humbug เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แฟนๆก็ได้ แต่พวกเขาไม่ทำ พวกเขากลับเลือกที่จะนำเสนอแนวทางใหม่โดยพลัน และนับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเปิดอัลบั้มด้วยเพลงค่อนข้างช้าอย่าง My Propeller อิทธิพลของ Josh ได้ยินชัดมาตั้งแต่หัววัน จังหวะหนักแน่น กีต้าร์ก้องกังวานอยู่ห่างๆ เสียงร้องของเทอร์เนอร์ขรึมลึกล่องลอย ก่อนที่พวกเขาจะกลับมาร้องด้วยเสียงร้องแบบที่เราคุ้นเคยราวกับว่ากลัวแฟนเพลงจำไม่ได้ในนาทีสุดท้าย Crying Lightning ซิงเกิ้ลแรก แม้จะเป็นเพลงป๊อบที่ออกจะประหลาดๆ แต่เมื่อกรอกหูไปไม่กี่รอบคุณก็ไม่อาจหนีมันพ้น พวกเขาร็อคกันหนักขึ้นด้วย Dangerous Animals นี่สิ Arctic Monkeys! เพลงๆเดียวแต่ใส่อะไรต่อมิอะไรเข้ามาอลหม่านไปหมดตั้งแต่อินโทรอะแคปเปลลาหลอนๆ ท่อนสร้อยที่ร้องชื่อเพลงทีละตัวอักษรแบบเชยๆแต่กลับฟังเข้าท่า และเนื้อหาแบบ S&M! Secret Door และ Fire And The Thud เลิกดุดันชั่วคราว มันเป็นความหวานหลอนที่ชวนให้นึกถึง Last Shadow Puppets Cornerstone อาจจะเป็นเพลงรักแท้ๆเพลงเดียวในอัลบั้ม เรื่องราวของผู้ชายที่ตามหาคนรักที่หายไป แต่เจอแต่คนคล้ายๆ และทุกครั้งเขาจะถามหล่อนเหล่านั้นว่า จะให้เขาเรียกเธอด้วยชื่อของแฟนเก่าเขาได้ไหม? Dance Little Liar เทอร์เนอร์ร้องด้วยพลังของคนใกล้หมดสติจากยาสลบขณะที่วิญญาณ John Bonhamเข้าสิงน้องแมทท์ของเราเต็มตัว แทร็คเดียวที่อารมณ์ของเพลงถูกสร้างขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจนถึงไคลแมกซ์ Monkeys ปิดอัลบั้มยาว 39 นาทีนี้ด้วยเพลงยาวเกือบ 6 นาที The Jeweller’s Hand


แฟนเพลงที่ยังหวังว่าพวกเขาจะยังเล่นเพลงพังค์ป๊อบร็อคผสมริฟฟ์เท่ๆถล่มทลายกันด้วยพลังคนหนุ่มเหมือนสองอัลบั้มแรกก็เป็นอันต้องผิดหวังอย่างไม่ต้องสงสัย นี่คือการเติบโตของวงอย่างแกร่งกล้าที่เสียงไม่น้อยกับการสูญเสียแฟนเก่า มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการฟังมากกว่าสามสี่รอบขึ้นไป ด้วยรายละเอียดของดนตรีที่มากมายและทางเดินของการประพันธ์ที่ซ้อนซับและซ่อนเงื่อนงำเรียงรายไว้ตามรายทาง อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ยกระดับการเขียนเนื้อเพลงของเขาไปอีกขั้นหนึ่งที่เล่นกับการใช้สัญลักษณ์และการสร้างฉากในบทเพลง อีกทั้งหลายเพลงยังเต็มไปด้วยความมืดหม่นของบรรยากาศฟิล์มนัวร์และความคุกรุ่นในกามวิสัยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันก็ยังมีการใช้คำง่ายๆและกินใจอย่างใน Cornerstone หรือประโยคทีเด็ดอย่าง "What came first, the chicken or the dickhead?" ใน Pretty Visitors ฝีมือกลองของ Matt Helders ยังคงเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ควบคู่ไปกับเสียงร้องของอเล็กซ์ แมทท์มีอะไรหลายอย่างที่ชวนให้คิดถึง John Bonham และ Keith Moonแม้โครงสร้างดนตรีจะไม่เปิดโอกาสให้เขาโชว์ได้มากนัก และฝีมือกีต้าร์ของ Jamie Cook ก็พัฒนาไปอีกขึ้นทั้งในแง่เทคนิคฝีมือและแนวคิดในการใช้เสียงจากกีต้าร์ของเขาเพื่ออารมณ์ของบทเพลง


ผลงานนี้ได้พิสูจน์ว่าการตัดสินใจใช้บริการของ Josh Homme เป็นความคิดที่ถูกต้อง นี่เป็นก้าวที่ไกลที่สุดนับจากพวกเขาออกอัลบั้มแรกมา ถ้าท่านยังไม่เคยฟังงานของพวกเขามาก่อนจะเริ่มจาก Humbug นี้ก็ไม่น่าจะผิดหวังอะไร แต่ถ้าจะให้สนุกก็น่าจะตามเก็บกันตั้งแต่อัลบั้มแรก คงไม่เกินเลยเกินไปถ้าจะบอกว่าแค่ถึงตอนนี้พวกเขาก็กลายเป็นตำนานหนึ่งของ British Rock แล้วครับ