Saturday 28 February 2009

Beatles ยึดอเมริกาในปี 1964 (พ.ศ. ๒๕๐๗)-1




ในวันที่14มกราคม หลังจากสิบคืนสุดท้ายของ "The Beatles' Christmas Show"
และการกลับเข้าไปเล่นสดในรายการ Val Parnell's Sunday Night at London Palladium
อีกครั้ง , เดอะ บีเทิลส์ ที่ปราศจากริงโก้ (ติดหมอกอยู่ในลิเวอร์พูล)
ออกเดินทางสู่ปารีส เพื่อการแสดงแบบมาราธอนที่ โอลิมเปีย เธียเตอร์

(ในวันที่13พวกเขาได้พักหนึ่งวัน และวันที่ พอล จอห์น จอร์จ ไปถึงสนามบิน
Le Bourget ในกรุงปารีส พวกเขาได้รับการต้อนรับจากวัยรุ่นปารีเซียงจำนวน.....60คน)

ริงโก้และนีล แอสไพนัล ตามมาในวันต่อมา เขามาถึงทันเวลาพอดีสำหรับการแสดงครั้งแรกในฝรั่งเศสของพวกเขา

มันเป็นการเล่นอุ่นเครื่องที่ Cinema Cyrano, Rue Rameau, Versailles ต่อหน้าผู้ชม 200คน ก่อนที่จะเล่นกันยาวเหยียดสามสัปดาห์รวดที่โอลิมเปีย

การแสดงคืนนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของพวกเขาได้เลย แม้แต่พวกบีเทิลส์เองก็ยังไม่พอใจกับการแสดงของตัวเอง การเปิดตัวที่โอลิมเปียในวันที่16มกราคมก็ไม่ได้ดีไปกว่านั้นนัก แอมป์ของพวกเขามีปัญหาถึงสามครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่สงสัยว่า จอร์จเป็นคนก่อวินาศกรรมซะเอง

ผู้ชมในคืนเปิดนี้ส่วนมากเป็นพวกไฮโซของปารีสมากันในชุดหรูหราและดูจะชัดเจนว่าไม่มีความชื่นชมใดๆกันนักระหว่างคนดูกับสี่หนุ่มจากลิเวอร์พูล

การต้อนรับจากสื่อมวลชนก็เย็นชาพอๆกัน ไบรอัน ซอมเมอร์วิลล์ โฆษกคนใหม่ของวงถึงขั้นต้องแสร้งทำเสียงอึกทึกคึกโครมหลังเวทีเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสาธารณชนเป็นพิเศษ

แม้ว่าจะสะดุดไปบ้างกับช่องโหว่ในการไต่เต้าสู่ความสำเร็จอันมหัศจรรย์มาโดยตลอดในการแสดงครั้งนี้ แต่ The Beatles ก็ไม่ได้แคร์กับเรื่องนี้นัก

เพราะหลังจากกลับห้องสวีทของพวกเขาที่โรงแรม George V พวกเขาก็ได้รับโทรเลขแจ้งข่าวว่าในซิงเกิ้ลชาร์ทของ Cashbox สัปดาห์ต่อไป เพลง 'I Want To Hold Your Hand' ของพวกเขากระโดดวูบเดียวจากอันดับที่ 43 ขึ้นสู่อันดับหนึ่ง


นี่เป็นสิ่งสุดยอดปรารถนาที่เหล่าบีเทิลส์และไบรอัน เอ็บสไตน์ รอคอยมานาน แทบไม่เคยมีศิลปินจากเมืองผู้ดีผู้ใดสามารถฝ่าเข้าไปมีชื่อเสียงในอเมริกาได้

เพียงแค่สามวัน 'I Want To Hold Your Hand' ก็ขายได้ 250,000 แผ่นในอเมริกา และในวันที่ 10 มกราคม ยอดก็ทะลุไปถึงล้านแผ่น


ในวันที่ 13มกราคม มันขายได้หนึ่งหมื่นแผ่นในหนึ่งชั่วโมง เฉพาะในนิวยอร์คที่เดียว และความจริงที่ว่า มีอีกสองตราแผ่นเสียงนอกจาก Capitol (Vee Jay และ Swan) ซึ่งต่างก็ปล่อยแผ่นเสียงของบีเทิลส์ออกมาในเวลาเดียวกัน (แถมยังมีอีกอย่างน้อยสองตราคือ Liberty และ Laurie ที่ล้มเลิกการตัดสินใจที่จะถอดถอน 'Please Please Me' ก่อนที่มันจะไปอยู่ในมือ Vee Jay)

มันหมายความว่า ซิงเกิ้ลจากปี 1963 ทั้งหมดและอีกสองอัลบั้มของพวกเขาพากันตบเท้าเดินหน้าเข้าสู่อันดับเพลงอเมริกันด้วยอัตราความแรงที่ไม่น่าเชื่อ

และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่บีเทิลส์จะเดินทางสู่นิวยอร์คไม่กี่วัน พวกเขาวางแผนกันไว้ล่วงหน้าสามเดือนแล้ว ที่จะไปปรากฏตัวในรายการ Ed Sullivan Show ซึ่งจะมีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ

ความประจวบเหมาะนี้(อันเป็นเรื่องบังเอิญโดยแท้จริง) จัดเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

Friday 27 February 2009

Snoppy & Jazzy DAVID BENOIT Jazz For Peanuts






Jazz เป็นดนตรีที่น่าอัศจรรย์ วันหนึ่งมันอาจเป็นซาวนด์แทร็คประกอบหนังฟิล์มนัวร์อันแสนดำมืด แต่วันรุ่งขึ้นคุณก็อาจจะได้ยินมันโลดแล่นเป็นแบคกราวน์ให้การ์ตูนน่ารักๆอย่าง Peanuts ที่มีตัวเอกคือ Snoopy ที่ชาวไทยรู้จักกันดี

Jazz For Peanuts เป็นงาน retrospective ของดนตรีแจ๊สที่เป็นส่วนหนึ่งของการ์ตูนอมตะเรื่องนี้ ตั้งแต่ยุคของ Vince Guaraldi ที่รับหน้าที่ทำเพลงประกอบให้ในตอนแรกๆ และ 20 ปีหลังที่ David Benoit รับไม้ต่อ

ในเมื่อมันเป็นแจ๊ซประกอบการ์ตูนใสๆอย่าง Peanuts คุณจึงไม่ต้องหวังว่าจะได้ฟังการ improvise อย่างหน้าดำคร่ำเคร่ง หรือจังหวะและตัวโน๊ตที่ซับซ้อนเกินวัย Jazz For Peanuts คือแจ๊ซที่เหมาะสำหรับเด็กๆและผู้คิดจะเริ่มลองของกับดนตรีแนวนี้อย่างแท้จริง เพราะมันเต็มไปด้วยบทเพลงที่น่ารัก สดใส ฟังไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้หวานแหววเรื่อยเจื้อยจนหาความเป็นแจ๊ซไม่เจออย่างดนตรีของ Kenny G แต่จะว่าไปตาหัวฟูตลอดกาลก็ยังมาฝากฝีมือไว้ในอัลบั้มกะเค้าด้วยหนึ่งเพลง ซึ่งก็เป็นเหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมาที่พอ G ไปทำงานนอกเค้ามักจะผ่อนคลายและเล่นได้เยี่ยมกว่าในอัลบั้มของตัวเองเสมอ

น่าเสียดายที่มีแค่ 10 เพลง แต่ก็เป็น 10 เพลงที่เยี่ยมยอดน่าฟังทุกเพลง Benoit ไม่ได้ขายของเก่าอย่างเดียว เขานำเพลงเก่ามาบรรเลงใหม่หลายเพลงตั้งแต่เพลงแรก You’re In Love, Charlie Brown ที่แต่งโดย Guaraldi เดวิดปล่อยให้เสียงเครื่องเป่าของ Christian Scott (Trumpet) และ And Suzuki (Tenor Sax) โดดเด่น ก่อนที่เขาจะมาเก็บตกบน Steinway Piano อย่างเพราะพริ้ง อีกสองเพลงที่เป็นเพลงเก่าของ Guaraldi ที่ Benoit นำมาบรรเลงใหม่คือ The Great Pumpkin Waltz และ Be My Valentine เพลงแรกให้ข้อมูลไว้ในซีดีว่าเป็นการบรรเลงของทริโอ เปียโน เบส กลอง แต่กลับมีกีต้าร์ออกมาอิมโพรไวส์หน้าตาเฉย (ผมว่าน่าจะสลับข้อมูลกับ Wild Kids เพลงถัดมาที่ไม่ได้ยินเสียงกีต้าร์แต่มีลิสต์ว่าเล่นโดย Pat Kelley) เพลงที่ Benoit แต่งเองอย่าง Rollerblading, Re-Run’s Theme และ Wild Kids ที่แต่งร่วมกับ Dave Grusin ดูจะมีรายละเอียดทางดนตรีมากกว่าที่ Guaraldi แต่ง แต่ก็ไม่มีเสน่ห์กระจุ๋มกระจิ๋มเท่า โดยเฉพาะเมื่อปิดอัลบั้มด้วยแทร็คอมตะ Linus And Lucy ที่ Benoit ตัดสินใจใช้เวอร์ชั่นเก่าของ Vince Guaraldi Trio เสียเลย (จากตอน A Charlie Brown Christmas ที่ผมแนะนำให้หาซีดีชุดนี้มาฟังด้วยครับ แต่ต้องเป็นเวอร์ชั่นก่อน remaster นะครับ เพราะรีได้เน่ามาก)

นอกจากงานของ Benoit และ VGT แล้วยังมีแทร็คจากแขกอย่าง Wynton Marsalis ใน The Buggy Ride (วินตันเคยมีงานทริบิวต์ให้การ์ตูนเรื่องนี้ในปี 1995-Joe Cool’s Blues) และ Dave Brubeck ในเพลง Benjamin ที่บรูเบ็คโชว์ฝีมือชั้นครู (มาจากตอน NASA Space Station) เพลงที่ตา Kenny G มาวาดลวดลายโซปราโนฉ่ำๆชื่อ Breadline Blues แต่งโดยเจ้าพ่อ GRP Dave Grusin

หาซื้อได้ในเมืองไทยในราคาไม่แพงครับ

The Beatles | Hey Jude เพลงยาวมหากาพย์ของสี่เต่าทอง





Hey Jude เริ่มต้นด้วยเสียงร้องของผู้ชายหนึ่งคนและเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่
7 นาทีต่อมา มันจบลงด้วยเสียงกึกก้องของเครื่องดนตรี 50 ชิ้น
มันเป็นซิงเกิ้ลที่มีความยาวมากที่สุดและขายดีที่สุดของวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ผมได้ยิน Hey Jude ครั้งแรกจากอัลบั้ม 1967-1970 เมื่อประมาณพ.ศ. 2524 มันเป็นเพลงที่ไม่เคยอยู่ในอัลบั้มปกติของพวกเขามาก่อน เพราะในปี 1968 นี่เป็นเพลงที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นซิงเกิ้ลโดยเฉพาะ (เกือบทุกซิงเกิ้ลของ Beatles เป็นอย่างนั้น เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้แฟนๆเสียเงินซ้ำซากหลายครั้ง!) ท่วงทำนองและเสียงร้องของพอล แมคคาร์ทนีย์สร้างความประทับใจให้ผมทันที แต่ว่าท่อนสุดท้ายของมัน ที่เป็นคำร้องเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า(18ครั้ง)ยาวกว่าสามนาทีก็ทำให้ผมมึนไปเหมือนกันว่าพวกเขาทำอะไรกันอยู่(วะ) แต่ในปัจจุบันท่อน na na na นี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามันทำให้ Hey Jude กลายเป็นเพลง sing along สำหรับ stadium ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพลงหนึ่งของโลก

ชีวิตการแต่งงานของจอห์น และ ซินเธีย เลนนอนกำลังอยู่ในช่วงใกล้ล่มสลายในตอนต้นปี 1968 จอห์นต้องการหย่าจากซินเธียเพื่อไปใช้ชีวิตกับคนรักใหม่ของเขา ศิลปินสาวชาวญี่ปุ่น-โยโกะ โอโนะ จอห์นกับซินเธียมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน-จูเลียน เลนนอน จูเลียนถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงรุ่งอรุณของ Beatlemania ในปี 1963 พอล แมคคาร์ทนีย์สนิทกับครอบครัวของจอห์นพอสมควร และเรื่องนี้ก็ทำให้ “อาพอล” เห็นใจซินเธียและจูเลียนยิ่งนัก บ่ายวันหนึ่งเขาขับรถออกนอกเมืองเพื่อไปเยี่ยมสองแม่ลูก ระหว่างทางนี้เองที่พอลแต่งเพลงนี้ขึ้นมาจากการฮัมปากเปล่า

เดิมทีพอลตั้งชื่อเพลงว่า Hey Jules (ใช่แล้วครับ ย่อมาจาก Julian) แต่ภายหลังเขาเปลี่ยนเป็น Jude เพราะว่ามัน “ฟังดูเป็นคันทรี่ตะวันตกกว่า”

เนื้อหาของ Hey Jude โดยรวมก็เป็นการให้กำลังใจแก่ Julian ล้วนๆ ประเด็นของมันก็คือให้ทำความเศร้าโศกให้เป็นพลังในการที่จะต่อสู้โลกต่อไป Take A Sad Song And Make It Better, don’t make it bad, don’t let me down… แม้ว่าพอลจะยืนยันมาตลอดว่าเพลงนี้แต่งให้จูเลียน แต่ก็ยังมีคนคิดไปเป็นอื่น หนึ่งในนั้นคือ จอห์น เลนนอน เขายืนยันว่าพอลแต่งเพลงนี้ให้เขาโดยตัวเองก็ยังไม่รู้ตัว (จิตใต้สำนึก) ในความหมายของจอห์นนี่เป็นเพลงที่เชียร์ให้เขารีบออกไปอยู่กับโยโกะเร็วๆ (Remember to let her into your heart, then you can start to make it better.) และก็ยังมีพวกคิดมากบางกลุ่มไพล่คิดไปว่านี่เป็นเพลงยาเสพติดอีกเพลงของ Beatles ท่อน Remember to let her under your skin, then you begin to make it better จะเป็นอื่นไปได้หรือนอกจากการกล่าวถึงการฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น! ท่อน The movement you need is on your shoulder เป็นท่อนที่จอห์นชอบที่สุดทั้งๆที่พอลคิดว่ามันห่วยจะตาย แต่จอห์นยืนยันว่า “เอามันไว้อย่างงั้นแหละ ไอเข้าใจความหมายของมัน”
ไม่ว่าจะมองว่ามันเป็นเพลงบัลลาด บลูส์ หรือกอสเพล นี่เป็นหนึ่งในเมโลดี้ที่งดงามที่สุดที่พอลเคยเขียนมา และเป็นการร้องที่สุดยอดที่สุดของเขาในเพลงทั้งหมดของ Beatles

ส่วนความหมายลึกๆของมันนั้น ผมเชื่อว่าเขาเขียนให้จอห์นครับ....

บันทึกตำนาน Pink Floyd at Live8



Saturday 2 July 2005, Hyde Park , London




ใครเป็นต้นตอของความคิดของการจัดคอนเสิร์ต Live8 บ๊อบ เกลดอฟ? อาจจะใช่ แต่เขาอาจได้ไอเดียนี้มาจากบางประโยคของ นิค เมสัน มือกลองของจักรพรรดิแห่งโปรเกรสซีพร็อค Pink Floyd



นิค ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Mojoเมื่อปี 2004 กับคำถามที่ว่า “เป็นไปได้ไหมที่จะมีคอนเสิร์ตรอบเดียวของ Pink Floyd ที่มีโรเจอร์ วอเตอร์ส ร่วมอยู่ด้วย จะเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีของอัลบั้ม Wish You Were Here ก็ยังได้” นิคตอบว่า


“สำหรับผมเองนั้นผมพอจะหลับตานึกภาพผมทำเช่นนั้นได้ แต่ผมมองไม่เห็นว่าโรเจอร์จะอยากนะ ส่วนเดฟนั้นคุณต้องทำให้เขาเกิดแรงกระตุ้นอย่างเต็มพิกัดเลยล่ะถึงจะทำให้เขากลับมาทำงานได้ มันคงจะเป็นอะไรที่เยี่ยมยอดมากถ้าเราจะมาทำอะไรร่วมกันในสิ่งที่เป็นการกุศลอย่างเข่นคอนเสิร์ตไลฟ์เอดครั้งใหม่ งานสำคัญที่มีเนื้อหาเยี่ยงนั้นล่ะจะทำให้เรามารวมกันได้ มันจะแจ่มเจ๋วมาก แต่ผมก็อาจจะเป็นพวกใส่อารมณ์ซาบซึ้งเกินเหตุไปหน่อย คุณก็รู้ว่าพวกเรามือกลองแก่ๆก็มักจะเป็นอย่างนี้แหละ!”


หกเดือนต่อมา เซอร์ บ๊อบ เกลดอฟ โทรมาหานิคที่บ้าน เซอร์บ๊อบเคยเล่นบทนำในภาพยนตร์ Pink Floyd The Wall มาก่อนในยุค 80’s แต่เขากับนิคก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกลดอฟเล่าไอเดียการจัด Live8 ให้นิคฟัง หลังจากงงอยู่พักหนึ่ง นิคก็เข้าใจประเด็น Live8 เป็นคอนเสิร์ตที่ไม่ต้องการเงินบริจาค แต่เป็นงานที่ต้องการความสนใจและใส่ใจจากโลกและผู้นำสำคัญๆของโลก ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดนตรีที่จะเกิดขึ้นในงาน ต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ และ อะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการรียูเนียนของ Pink Floyd


โรเจอร์ วอเตอร์ส (เบส,ร้อง) เดฟ กิลมอร์ (กีต้าร์,ร้อง) นิค เมสัน (กลอง,ซาวนด์เอเฟเฟ็ค) และ ริค ไรท์ (คีย์บอร์ด) คือสมาชิกของ Pink Floyd ในยุครุ่งเรืองที่สุด พวกเขาเล่นคอนเสิร์ทด้วยกันครั้งสุดท้ายที่ Earls Court ในลอนดอน เมื่อปี 1981 หรือประมาณ 24 ปีมาแล้ว โรเจอร์ออกจากวงไปหลังจากอัลบั้ม Final Cut (อัลบั้มออกในปี 1983 และโรเจอร์ ประกาศลาออกจากวงในปี 1985) เดฟ นิค และ ริค ยังคงใช้ชื่อ Pink Floyd และออกงานสตูดิโออัลบั้มมาอีกสองชุดคือ A Momentary Lapse Of Reason (1987) และ The Division Bell (1994) และแม้ว่างานทั้งสองชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จในด้านพาณิชย์เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เป็นการยากเลยที่ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงการขาดหายไปของโรเจอร์ วอเตอร์สผู้ที่ในยุคหลังของวงเป็นแกนหลักในการแต่งเพลงและกำหนดคอนเซ็พท์ของแต่ละอัลบั้ม Pink Floyd ที่ไม่มีโรเจอร์ยังคงความเนี้ยบและพิถีพิถันไว้ แต่มันไม่มีความเฉียบคมของแนวคิดและความเข้มข้มของดนตรีและอารมณ์บีบคั้นก็แทบจะหายไปทั้งหมด


งานเดี่ยวของโรเจอร์ วอเตอร์สนั้นไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายเท่า Pink Floyd เขาออกงานสตูดิโอมาสามอัลบั้มคือ The Pros And Cons Of Hitchhiking (1984) , Radio K.A.O.S. (1987) และ Amused To Death (1992) ในความเห็นของผม งานเดี่ยวของโรเจอร์ยังคงความเป็น Pink Floyd classic มากกว่า Pink Floyd เองเสียอีก เว้นไว้อย่างเดียวคือเสียงกีต้าร์ของเดฟ ที่ไม่ว่าโรเจอร์จะหามือกีต้าร์สุดเซียนอย่างแคลปตันหรือเจฟฟ์ เบ็คมา ก็ยังไม่อาจทดแทนได้


และหลายปีที่ผ่านมา รอยร้าวระหว่างโรเจอร์และสมาชิกของคนอื่นก็ไม่มีวี่แววว่าจะประสานกันได้ ตั้งแต่เขาออกจากวง และมีการฟ้องร้องไม่ให้เดฟและนิคใช้ชื่อ Pink Floyd หากิน แน่นอน โรเจอร์แพ้.... และการที่เดฟ นิค และ ริค ยังสามารถเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีโรเจอร์ได้ พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นอะไรสำหรับการรียูเนียน


แต่สำหรับโรเจอร์ เขาอาจจะหาจังหวะและลู่ทางเหมาะๆสำหรับการเดินทางลงจากอีโก้ของเขาเท่านั้น


กลับมาที่บ้านของนิค เซอร์บ๊อบสารภาพว่าเขาพยายามติดต่ออ้อนวอน เดฟ กิลมอร์แล้วสำหรับการรียูเนียนครั้งนี้ ทั้งโทร ทั้งพยายามจะบุกไปถึงบ้าน แต่มือกีต้าร์วัย 60 เซย์โนอย่างเดียว นิคให้ความเห็นว่าสาเหตุที่เดฟไม่อยากตอบรับโครงการนี้มองได้หลายอย่าง หนึ่งก็คือ ทางวงไม่ได้อยู่ในสถานะของการทำงานมาหลายปีแล้ว สองคือ เดฟกำลังทำโซโล่โปรเจ็คอยู่ และเดฟคงรำคาญกับการที่จะต้องมาตอบปัญหาเรื่องการรียูเนียนระยะยาวและการทำอัลบั้มซึ่งจะต้องตามมาแน่ๆถ้าพวกเขาตอบรับการเล่นใน Live8


ตัว นิค เมสันเองนั้นไม่มีปัญหา เขายินดีอย่างยิ่งสำหรับการรียูเนียนที่จะเกิดขึ้น นิคเคยไปเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตของโรเจอร์มาแล้วในปี 2002 และเขาเพิ่งเขียนหนังสือ personal history ของวงออกขายไปในปี 2004 ในชื่อ Inside Out (เดฟและโรเจอร์มีส่วนช่วยตรวจพรูพด้วย) แต่เขาไม่คิดว่าตัวเขาเองไม่มีปัญญาจะไปตะล่อมเดฟได้สำเร็จแน่ “You can take a horse to the water but you can’t make it drink; in David’s case you can’t even get him near the water. However, bringing the Waters to David might just work…” นิคเผยแผนของเขาให้ฟังภายหลัง ตรงนี้ไม่ขอแปลนะครับ


นิคอีเมล์ไปหาโรเจอร์ซึ่งเมล์ตอบกลับมาทันควัน โรเจอร์โทรหาบ๊อบและเมื่อได้ฟังไอเดียเขาก็เห็นด้วยเต็มที่ สองสัปดาห์ต่อมาบ๊อบโทรกลับไปอีกที และโรเจอร์ก็แทบเดี้ยงเมื่อทราบว่ากำหนดการของคอนเสิร์ทนั้นเหลืออีกไม่ถึงเดือน ไม่มีเวลาจะเอ้อระเหยอีกต่อไป โรเจอร์หยิบโทรศัพท์กดไปหาเดฟ “เฮลโหล...ไอคิดว่าเราควรจะรับงานนี้นะ” เดฟยังไม่แน่ใจด้วยความกังวลว่าเสียงร้องและกีต้าร์ของเขาจะอยู่ในฟอร์มที่ขึ้นสนิมเกินไป เขาขอเวลาเพื่อเช็คความฟิตก่อน


24 ช.ม. ต่อมาเดฟตอบตกลง


ก็เหลืออีกคนเดียวคือ ริค ไรท์ ที่อาจจะเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ริคตอบตกลง แม้ว่าเขาอาจจะยังหวาดผวาอยู่ว่าเขาจะมีปัญหากับโรเจอร์อีกหรือเปล่า (ริคถูกโรเจอร์ตะเพิดออกจากวงตั้งแต่สมัยบันทึกเสียง The Wall)
เดฟให้สัมภาษณ์นักข่าวสั้นๆว่า “เรื่องบาดหมางระหว่างโรเจอร์กับวงถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากเมื่อนำมาเทียบกับเรื่องระดับนี้ (Live8)” ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงโลกก็ทราบว่า Pink Floyd กำลังจะกลับมาแล้ว และพวกเขาทำให้ทั้งโลกหันมามอง Live8 อย่างเต็มตา


Pink Floyd มีเวลาสำหรับซ้อมและเตรียมทุกอย่างแค่ 10 วัน พวกเขาเปิดโรงแรม Connaught ในลอนดอนเพื่อเตรียมการนี้ โรเจอร์และเดฟสุมหัวกันเลือกเพลง เกลดอฟให้ข้อเสนอบางอย่าง และนิคอยากให้เล่นเพลงช้าๆ... การซ้อมเป็นไปอย่างราบรื่น โจ๊กเก่าๆถูกขุดขึ้นมาอุ่นและแจกจ่ายให้ฮากันเป็นระยะๆ วิดีโอเทปเก่าๆถูกแงะขึ้นมาตัดต่อเพื่อประกอบการแสดง โรเจอร์ยังคงคมกริบในการแจงไอเดียในสิ่งที่เขาต้องการ และที่น่าประหลาดใจคือเขายินดีรับฟังความเห็นคนอื่นๆ (ก็เป็นด้วย)


Pink Floyd ยกทัพไปซ้อมเข้มๆสามวันเต็มที Black Island วงสนับสนุนและทีมงานด้านเทคนิคเก่าๆถูกเรียกตัวเข้ามาเสริมเต็มอัตราศึก สถานการณ์ส่วนใหญ่สงบดี จะมีบ้างก็ตอน ริค ไรท์เอ่ยถึงเบส ไลน์บางท่อนที่ กาย แพร็ตเล่นไว้ในทัวร์ครั้งก่อน (กายเป็นลูกเขยของริค) โรเจอร์ได้ยินเข้าถึงกับฉุนขาด “Rick, what you and your son-in-law get up to in private is none of my business.” (โปรดสังเกตว่าขนาดด่ายังมีสัมผัส)


ก่อนหน้างานจริง 1 วัน พวกเขาได้ไปซ้อมที่ Hyde Park สถานที่จริง ทุกอย่างราบรื่น แม้ว่านิคจะมีปัญหากับกลองบ้างนิดหน่อย แต่เขามองว่ามันเป็นธรรมชาติที่จะถูกแก้ไขไปเองในวันจริง


Pink Floyd เล่น Live8 เป็นวงรองสุดท้ายในตอนห้าทุ่มของวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2005 ไฟสนามหรี่มืด เสียงหัวใจเต้นเป็นจังหวะค่อยๆดังขึ้นทีละน้อย มันคือเพลง Speak To Me จากอัลบั้มที่ติดอันดับนานที่สุดในโลก The Dark Side Of The Moon ไฟบนเวทีสว่างขึ้น และเราก็ได้เห็นพวกเขาพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง หลายคนคงยังไม่เกิดด้วยซ้ำตอนที่เขาเล่นด้วยกันครั้งสุดท้าย Pink Floyd เล่นด้วยกันสี่เพลงคือ "Speak to Me/Breathe/Breathe Reprise", "Money", "Wish You Were Here" และ “Comfortably Numb". เป็นเวลาทั้งหมดเกือบ 25 นาที มันคือการแสดงที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ โรเจอร์เล่นเบสอย่างมีชีวิตชีวาและกระดี้กระด้ากว่าเขาเพื่อน ริคพรมคีย์บอร์ดสร้างชั้นบรรยากาศให้บทเพลงอย่างที่เขาถนัด นิคยังหนักแน่นมั่นคงไม่เสื่อมคลาย และ เดฟ กิลมอร์ แม้จะอ้วนหัวล้านไม่เหลือเค้าหนุ่มฮิปปี้ผมสลวย แต่เสียงร้องและฝีมือกีต้าร์ของเขาไม่ถดถอยลงไปแม้แต่นิดเดียว ท่อนโซโลใน Comfortably Numb คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เปล่งออกมาจาก Strat สีดำของเขา คอร์ดสุดท้ายของ Comfortably Numb จบลงพร้อมกับเครื่องดนตรีทุกชิ้น เสียงเอ็คโค่สั้นๆกึกก้องสู่ท้องฟ้าลอนดอน เดฟกล่าว ‘Thank You, Good Night’


โรเจอร์เรียกเพื่อนๆทั้งสามมาโอบไหล่กันยืนเรียงหน้ากระดานและอำลาแฟนเพลง เป็นภาพที่ไม่น่าเชื่อ และถ้า Pink Floyd อยากจะลงจากบัลลังก์อย่างเป็นการถาวร ก็คงไม่มีเวทีไหนและเวลาไหนจะดีไปกว่าที่นี่อีกแล้ว

Chinese Democracy History ตำนานแสนนานของอัลบั้มที่คนรอคอยที่สุดในประวัติศาสตร์


ตำนาน...แสนนาน.... ของ CHINESE DEMOCRACY




Chinese Democracy อัลบั้มของวงร็อค Guns N’ Roses ที่แฟนๆคอยแล้วคอยเล่าไม่ต่ำกว่า 14 ปี ออกวางขายจนได้ในวันที่ 23 พ.ย. 2008 ที่ผ่านมา การตอบรับจากนักวิจารณ์ทั่วโลกมีทุกรูปแบบ Rolling Stone และ allmusic ให้สี่ดาวพร้อมคำชื่นชม เว็บอินดี้ชื่อดัง pitchforkmedia มอบดาวให้ 5.8/10 และ NME 4.5/10 แฟนบางกลุ่มก็ชื่นชมและยกให้เป็น masterpiece แต่อีกกลุ่มก็แทบจะฟังให้จบอัลบั้มยังไม่ได้เลย ยอดขายในสัปดาห์แรก มันเปิดตัวในอเมริกาได้แค่อันดับ 3 และอันดับ 2 อังกฤษ ซึ่งด้วยมาตรฐานของทุกวันนี้กับวงระดับนี้ถือเป็นความล้มเหลว Geffen ก็กลุ้มใจเพราะ Axl Rose ไม่โผล่หัวมาช่วยโปรโมทเลยแม้แต่นิดเดียว ความจริงแล้วเขาหายตัวไปอย่างลึกลับกว่าสองเดือนแล้ว.... ชะตากรรมของอัลบั้มที่โลกรอนี้จะกลายเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของ Guns N’ Roses หรือมันจะค่อยๆกลับมาชนะใจผู้ฟังได้เหมือน Appetite For Destruction อัลบั้มแรกของพวกเขาในปี 1987 ก็คงต้องติดตามกันต่อไปสักระยะ

ผมใคร่ขอพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปในปี 1993 และเดินทางไปกับการทำงานอันแสนจะวุ่นวายสับสนสุดเพี้ยนของอัลบั้มนี้ กว่าที่จะได้ออกมาเป็น 14 เพลงใน Chinese Democracy

ปลายเดือนพ.ย. 1993 GNR (ที่ขณะนั้นมีสมาชิกคือ Axl Rose ร้องนำ,เปียโน Slash, Gilby Clarke กีต้าร์ Duff McKagan เบส Matt Sorum กลอง และ Dizzy Reed คีย์บอร์ด) ออกอัลบั้มรวมเพลง punk cover ‘The Spaghetti Incident?’ แม้จะเป็นแค่งานขัดตาทัพแต่อัลบั้มนี้ฟังสนุกใช้ได้นะครับ ต้นปี 1994 โรสไปร้องเพลง Come Together กับ Bruce Springsteen ในงาน induct Elton John เข้า Hall Of Fame เขาจะไม่ปรากฎตัวในที่สาธารณะอีก 6 ปีหลังจากนี้ (ไม่นับในศาล) Geffen Records เริ่มวางแผนจะให้พวก GNR บันทึกเสียงอัลบั้มใหม่กันเสียที ด้วยการจองห้องอัด The Complex ใน L.A. ไว้ให้ แต่ทางวงไม่เคยโผล่มาพร้อมกันแม้แต่ครั้งเดียว เมษายน Duff McKagan มือเบสเจอปัญหาสุขภาพ-ตับอ่อนระเบิด จากการดื่มจัดเกินไป เขากลับตัวจากเหตุการณ์ครั้งนั้นและกลายไปเป็นนักเล่นศิลปะป้องกันตัวอย่างแกร่งแถมไปเรียนต่อได้ปริญญาทางการเงินมาด้วยในเวลาต่อมา มิ.ย. Gilby Clarke กีต้าร์มือสองของวงออกอัลบั้มเดี่ยว Pawnshop Guitars ที่หลายคนยกให้เป็นงานโซโลที่ดีที่สุดของสมาชิก GNR โดยมี Duff, Slash และ Axl เป็นแขกรับเชิญ Gilby ให้สัมภาษณ์กับ Kerrang! ขณะโปรโมทอัลบั้ม โดยมีการพาดพิงถึงโรสในแง่ลบนิดหน่อย ผลก็คือเขาถูกโรสไล่ออกจากวงทันที



ขณะที่การบันทึกเสียงของ GNR ยังไม่ไปไหน และแทบไม่มีใครเข้าถึงตัวโรสได้ Slash ก็เริ่มหันไปสนใจกับงานเดี่ยวของเขาในนาม SVO Snakepit ช่วงนั้น GNR มีงานเข้าคือการทำเพลง Sympathy For The Devil เพื่อเป็นซาวนด์แทร็คให้หนัง Interview With The Vampire เพลงนี้กลายเป็นรอยร้าวลึกสาหัสระหว่างโรสกับ Slash เขายืนยันจะให้ Paul Huge ผู้ที่ไม่มีใครในวงนอกจากโรสชอบหน้ามาเล่นกีต้าร์แทน Gilby และแย่กว่านั้นลับหลัง Slash โรสก็ยังให้ Huge บันทึกเสียงกีต้าร์ซ้อนทับไปบนส่วนของ Slash อีกด้วย สร้างความประทับใจให้มือกีต้าร์หัวฟูยิ่งนัก!!! Slash ยังพยายามจะหาเวลาปรับความเข้าใจกับโรสอีกครั้ง พวกเขาเจอกันใน lounge แห่งหนึ่งแต่โรสคุยผ่านนิตยสารที่ถือบังหน้าอยู่โดยไม่มองตา Slash แม้แต่ครั้งเดียว Sympathy For The Devil ถูกตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ลของ GNR ในเดือนธันวาคม 1994 (ท่านผู้อ่านอาจจะหาฟังได้ในอัลบั้ม Greatest Hits ของวง) Slash นิยามว่าถ้าใครอยากฟังสภาพของวงที่กำลังจะล่มสลายก็ให้ฟังเพลงนี้ได้เลย (ถึงอย่างไร ผมก็ยังคิดว่านี่เป็นการ cover ที่ยอดเยี่ยมของวงอยู่ดี)



กุมภาพันธ์ 1995 อัลบั้ม It’s Five O’Clock Somewhere ของ Slash’s Snakepit ออกวางตลาด Gilby, Duff และ Matt มาร่วมเล่นด้วย Geffen ยังอยากให้ GNR กลับเข้าห้องอัดอีกครั้งเพื่อรักษาชื่อวงเอาไว้ ในปีนี้พวกเขาเข้าห้องอัดกันที่ The Complex กันไม่กี่ครั้ง และแต่ละครั้ง Axl ไม่โผล่หัวมาจนกระทั่งตีสอง กลางปีโรสหมดเวลาส่วนหนึ่งไปกับการขึ้นศาลกับคดีกับสองคนรักเก่าจนต้องตกลงกันนอกศาลในที่สุด สิงหาคม 1995 โรสประกาศลาออกจากวงและจะเอาชื่อวงไปใช้ต่อ? ก่อนหน้านี้มีการยื่นสัญญาบางอย่างให้ Slash และ Duff เซ็น ซึ่งทั้งสองรับไม่ได้ ด้วยความเซ็งระอาเต็มทนทั้งคู่จึงยอมเซ็นยกวงให้โรสไป fast forward ไปถึงเดือนกันยายน 1996 งานทุกอย่างของ GNR หยุดนิ่ง ตุลาคม Slash ประกาศออกจากวงเป็นทางการ เขากับโรสนัดเจอกันลับๆอีกครั้ง โรสเล่าแผนการณ์ที่เขาวางไว้กับอนาคตของวงให้ฟัง ซึ่งทั้งหมด Slash คิดว่ามันตลกสิ้นดี






1997 Todd Sullivan นักบริหารจัดการมือดีถูกส่งเข้ามาเพื่อจัดการกับโรสให้เข้าที่เข้าทาง เขาส่งซีดีหลายแผ่นที่มีโปรดิวเซอร์ต่างๆกันเพื่อให้โรสได้ลองเลือกเผื่อจะถูกใจ โรสโยนแผ่นทั้งหมดทิ้งและขับรถทับแหลกละเอียดโดยไม่ได้ฟังซักแผ่น Todd ได้นั่งคุยกับโรสในเวลาต่อมา และนักร้องเจ้าอารมณ์ได้เปิด demo บางส่วนให้ฟัง Todd ตั้งใจฟังอย่างดีและแนะนำให้โรสโฟกัสกับงานและทำเพลงให้เสร็จเป็นเพลงๆไป โรสจ้องตากลับและทวนประโยคของ Todd ใส่หน้า ไม่นานหลังจากนั้น Todd ก็ได้รับโทรศัพท์ว่าเขาไม่ได้ทำงานกับ GNR อีกต่อไป Moby คือรายต่อไปที่ก้าวเข้าสู่ production ของ Chinese Democracy (ตอนนั้นเริ่มใช้ชื่อนี้แล้ว) Moby มืชื่อในด้าน techno-sound production ที่โรสหวังจะใช้มันในอัลบั้ม แต่ Moby ก็อยู่ได้ไม่นาน เขาคิดว่าโรสมีปัญหาด้านสภาพจิตและยังคิดว่า Chinese… อาจจะไม่มีวันได้ออกเลยด้วยซ้ำ สิงหาคม 1997 Duff ประกาศลาออกจากวงอย่างเป็นทางการ

1998 GNR ยุคใหม่เริ่มต้นทำงานที่ห้องอัด The Rumbo Sound Matt Sorum มือกลองถูกเชิญออกและแทนที่ด้วย Josh Freese, Robin Finck อดีต Nine Inch Nails มาแทนที่ Slash, Duff มีตัวแทนชื่อ Tommy Stinson อดีต The Replacements ส่วน Dizzy Reed กับ Paul Huge ยังอยู่รอดต่อไป

Youth (Martin Glover) ผู้เคยทำงานกับ U2 คือโปรดิวเซอร์รายต่อไป Geffen อยากได้งานใหม่จาก GNR ใจจะขาด และให้รางวัลล่อใจโรสหลายอย่างรวมทั้งเงินล้านเหรียญฟรีๆถ้าอัลบั้มเสร็จทันมีนาคม 1999 แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรดึงโรสมาเข้าห้องอัด Rumbo ได้ เขายังเก็บตัวเงียบอยู่ที่บ้านใน Latigo Canyan Youth ตระหนักว่างานไม่เดินแน่ๆเขาลาออกไป Sean Bevan ผู้เคยโปรดิวซ์ให้ Nine Inch Nails และ Marilyn Manson คือรายต่อไป เริ่มมีความกดดันอย่างหนักใน Geffen Records กับอัลบั้มที่ใช้เงินไปหลายล้านแต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้กำหนดคลอด แต่ปี 1988 ก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกปี

มกราคม 1999 เริ่มมีการเตรียมบทเพลงสำหรับอัลบั้มแสดงสดของ Guns N’ Roses เพื่อกอบกู้สถานการณ์ และลดความกดดันให้โรส มีนาคม 1999 เส้นตายของ Chinese Democracy ผ่านไปโดยไม่มีใครตื่นเต้นอะไร แต่แล้วเพลงใหม่ล่าสุดของวงในรอบแปดปี Oh My God ก็โผล่ขึ้นมาในหนังเรื่อง End Of Days ด้วยซาวนด์ industrial จ๋าๆ แม้ว่าเพลงจะไม่เป็นที่ประทับใจกับใครเอาเสียเลย แต่มันก็เป็นการปลุกกระแส Chinese Democracy ขึ้นมาอีกครั้ง ปลายปีโรสเล่นเพลงใน Chinese…12 เพลงให้นิตยสาร Rolling Stone ฟังเล่นๆ RS เผยว่าอัลบั้มน่าจะออกวางขายได้ในปี 2000 พ.ย. 1999 Live Era 87-93 ออกวางจำหน่าย ยอดขายไปได้ไม่ดีนัก และตัวงานก็ออกมาน่าผิดหวัง
ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ Sean Bevan ถอนตัวจากโปรเจ็ค Roy Thomas Baker อดีตโปรดิวเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่ของ Queen ก้าวเข้ามาแทน พร้อมกับสมาชิกใหม่ Brian Mantia (กลอง) และ มือกีต้าร์ล้ำยุค Buckethead ผู้มักสวมใส่หน้ากากไร้อารมณ์สีขาวและหมวกที่เป็น KFC Bucket โรสสั่งให้บันทึกเสียงเพลงทั้งหมดใหม่อีกครั้งด้วยทีมงานชุดใหม่ มิ.ย. 2000 โรสขึ้นเวทีกับ Gilby Clarke ที่ Cathouse ท่ามกลางความตื่นตะลึงของแฟนๆ วันสุดท้ายของปี 2000 GNR เล่นที่ Houses Of Blues ใน Las Vegas นำทีมโดยโรส Buckethead, Finck ทางวงดูจะ active มากในช่วงนี้ มกราคม 2001 พวกเขาเล่นต่อหน้าคนดูสองแสนคนที่บราซิลในงาน Rock In Rio III และตามมาด้วยแผนการทัวร์ยุโรป แต่ในที่สุดก็มีการยกเลิกไปโดยไม่มีการแจงเหตุผลใดๆ

Tom Zutaut นักบริหารผู้เป็นคนเดียวที่เคยจัดการให้วงเข็นอัลบั้มออกมาได้สำเร็จตั้งแต่ยุค Appetite, Use Your Illusion กลับเข้ามารับงานอีกครั้ง Tom ทำให้งานเดินไปได้ดีพอสมควร Buckethead เริ่มมีปัญหากับวงด้วยความเพี้ยนที่ไม่น้อยไปกว่าโรส เขาต้องมีกรงส่วนตัวในห้องอัด (ในบางอารมณ์เขามีความเชื่อว่าตัวเองเป็นไก่..!!!??) และ Buckethead จะมีความสุขมากถ้าได้ชมหนัง porn สักเรื่องสองเรื่องก่อนบันทึกเสียงโซโล ซึ่งโรสไม่ขำไปด้วยกับพฤติกรรมเหล่านี้ คริสต์มาส 2001 ทั้ง Tom และ Roy Thomas ก็หลุดจากวงโคจรไปเช่นกัน ปลายเดือนธันวา 2001 GNR เล่นสองโชว์ส่งท้ายที่ Las Vegas Slash และภรรยาคนใหม่พยายามจะเข้าไปชม แต่ถูกการ์ดตะเพิด เพราะกลัวว่าจะทำให้โรสเสียสมาธิในการแสดง

โรสเริ่มต้นปี 2002 โดยการให้ทางวงบันทึกเสียงเพลงทั้งหมดใหม่อีกครั้ง Richard Fortus เข้ามาแทน Paul Huge ช่วงฤดูร้อนพวกเขาทัวร์ญี่ปุ่นและยุโรป ตั๋วขายหมดและโชว์ก็ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างดี 29 สิงหาคม พวกเขาไปโผล่อย่างไม่มีใครคาดคิดในงาน MTV Music Video Awards เล่นเพลง Welcome To The Jungle, Madagascar และปิดท้ายอย่างเมามันด้วย Paradise City พ.ย. พวกเขาออกทัวร์อเมริกาเหนือเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี แม้จะเริ่มต้นไม่ดีนักในแวนคูเวอร์เพราะโรสเครื่องบินเสียทำให้มาไม่ทันต้องเลื่อนโชว์แต่โชว์อื่นๆในเดือนนั้นก็ไปได้ค่อนข้างดี 5 ธันวาคม พวกเขาแสดงอย่างยิ่งใหญ๋ที่ Madison Square Garden แต่วันต่อมาก็เกิดเรื่องอีก ทางวงมีโปรแกรมแสดงที่ฟิลาเดลเฟียแต่โรสติดดูเบสบอลทางทีวีอยู่ที่โรงแรมในแมนฮัตตัน มีการประกาศงดการแสดงตอนห้าทุ่ม เกิดจลาจลในหมู่คนดูผู้เดือดดาล โปรโมเตอร์ประกาศเลิกทัวร์ทั้งหมดที่เหลืออยู่

2003 Geffen บอกโรสว่าจะออกอัลบั้ม Greatest Hits แต่โรสไม่ต้องการและสัญญาว่าจะออกอัลบั้มใหม่ให้ได้ในปีนี้ แต่จนแล้วจนรอดปีนั้นก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเหมือนเคย

2004 กุมภาพันธ์ Buckethead ลาออก และเดือนต่อมา Geffen ก็ปล่อย Greatest Hits ออกมาจนได้ ไม่น่าเชื่อว่ามันขายดีเป็นเทน้ำเทท่าถึงสองล้านแผ่นอย่างรวดเร็วและขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษ Contraband อัลบั้มแรกของ Velvet Revolver ที่มีสมาชิกชื่อ Slash, Duff และ Matt Sorum โดยมี Scott Weiland อดีต Stone Temple Pilots ร้องนำออกวางตลาด

2005 Mark Mercuriades แห่ง Sanctuary Records กลายมาเป็นผู้จัดการวง GNR พ.ค..GNR เปิดการแสดงในสถานที่ระดับโรงภาพยนตร์ในนิวยอร์คเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยเล่นเพลงเก่าๆเป็นหลัก นักวิจารณ์และแฟนๆชื่นชม ต้นปี 2006 เริ่มมีการรั่วไหลของเพลงจาก Chinese.. ทาง Internet สถานีวิทยุเริ่มเปิดแทร็ค I.R.S. ที่ได้จากการดาวน์โหลด ก่อนที่ทางวงจะออกมาระงับ

Slash ดอดไปเยี่ยมบ้าน Axl ในคืนวันหนึ่ง โรสออกมาประกาศว่า Slash ยอมรับว่าที่โรสเคยวาดฝันเอาไว้เมื่อวันวานนั้นเขาพูดถูกทุกอย่าง พ.ค. 2006 GNR เล่นโชว์อุ่นเครื่องในนิวยอร์คก่อน World Tour ในคืนแรกของการโชว์นี้ Izzy Stradlin’ อดีตมือกีต้าร์ยุคแรกของวงขึ้นเวทีท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน รวมทั้งตัวเขาเอง แฟนๆกรี้ดกันไม่หยุด แฟนๆแอบเห็น Izzy น้ำตาซึมขณะที่วงเริ่มเพลง It’s So Easy มิ.ย. 2006 หลังการแสดงที่สต็อกโฮล์ม โรสเมาแอ๋กลับโรงแรมตอนตีสามและมีเรื่องตะโกนด่าทอกับหญิงสาวคนหนึ่งจนร.ป.ภ. ต้องมาห้าม โรสตอบโต้ด้วยการฟาดกระจกแตกและกัดขาร.ป.ภ.ผู้โชคร้าย...โปรดฟังอีกครั้ง... “กัด” โรสถูกตำรวจลากเข้าคุกและถูกปรับไป 5,000 เหรียญสหรัฐฯ

กันยายน 2006 หลังโชว์ที่ San Bernardino โรสจัดปาร์ตี้ที่บ้านใน Malibu และเปิดเพลงใน Chinese… ให้แขกเหรื่อฟังเต็มๆ โรสคุยว่า Andy Wallace ผู้เคยมิกซ์อัลบั้ม Nevermind ให้ Nirvana กำลังมิกซ์ Chinese… อยู่ ผู้จัดการวง Merck Mercuriades รีบออกมาเสนอหน้าว่าอัลบั้มจะออกมาตอนปลายปี 2006 เดือนต่อมาโรสประกาศว่าเป็น Merck เองที่ต้องออก ส่วน Chinese… ยังอยู่ในกรุต่อไป ปลายปีนั้น Tower Records ปิดตัวลง เพราะเด็กๆไม่ซื้อซีดีกันอีกต่อไป โรสเองก็รู้สึกหวั่นใจว่าจะมีใครซื้อ Chinese… หรือไม่ เขายังออกมากล่าวเป็นนัยๆว่าอัลบั้มอาจจะออกในเดือนมีนาคม 2007 แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น พ.ค. 2007 มีแทร็คหลุดออกมาอีก ส่วนมากจะเป็นการ remix จากเพลงที่หลุดมาก่อนหน้านี้ ฤดูร้อนปีนั้น โรสเปลี่ยนบรรยากาศไปบันทึกเสียงร้องร่วมกับเพื่อนรัก Sebastian Bach ในงาน Solo ของฝ่ายหลัง Angel Down สามแทร็คในอัลบั้มนี้ที่โรสร่วมร้องเป็นการบันทึกเสียงครั้งแรกของเขาที่ออกมาในรอบหลายปี

มีนาคม 2008 โซดา Dr. Pepper ออกมาประกาศว่าจะแจกโซดาฟรีให้ทุกคนในอเมริกาถ้า Chinese… ออกมาก่อนสิ้นปี 2008 Spring 2008 Scott Weiland ออกจาก Velvet Revolver เกิดข่าวลือว่าโรสอาจจะมาแทนที่ มิ.ย. 2008 เก้าเพลงใน Chinese… หลุดออกมาอีก แฟนๆเริ่มมั่นใจว่าอัลบั้มน่าจะใกล้เสร็จจริงๆแล้ว วิทยุเริ่มเปิดเพลงเหล่านี้ ก่อนที่ทีมงานของวงจะออกมาสกัดอย่างดุดัน สิงหาคม Shackler’s Revenge แทร็คหนึ่งใน Chinese… มีชื่ออยู่ในซาวนด์แทร็คของเกม Rockband 2 ที่จะออกในเดือนกันยายน ตุลาคม 2008 Geffen ประกาศอย่างเป็นทางการว่า Chinese Democracy จะออกวางขายในวันที่ 23 พ.ย. 2008 โดยมีทั้งซีดี ไวนีล และดาวน์โหลด ซิงเกิ้ลแรกคือไทเทิลแทร็ค ตามด้วย ‘Better’

11 พ.ย. 2008 David Fricke แห่ง นิตยสารดนตรีชื่อดัง Rolling Stone เป็นเจ้าแรกที่รีวิว Chinese… โดยบรรยายว่ามันเป็นอัลบั้มร็อคที่ “ยิ่งใหญ่ ห้าวหาญ หลากหลาย และไม่ประนีประนอม....”

Thursday 26 February 2009

The Beatles LOVE เหล้าเก่า-ชงใหม่





ผมไม่ทราบชัดว่าทำไมจอร์จ มาร์ตินที่ประกาศแขวนสตั๊ด..เอ๊ย หูฟังไปแล้วถึงยอมกลับมารับงานนี้อีก เพราะมันเป็นการเสี่ยงไม่น้อยที่ท่านเซอร์จะเอาชื่อมาทิ้งตอนแก่ -กับงานรีมิกซ์ตัดต่อเพลงเก่าของ Beatles เพื่อประกอบโชว์มิวสิคัลกึ่งกายกรรมในลาสเวกัส!

อาจจะเป็นเพราะจอร์จต้องการให้ LOVE เป็นบันไดส่งลูกชายของเขา ไกลส์ มาร์ติน (ที่เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมในอัลบั้มนี้)เข้าสู่วงการให้เป็นที่ยอมรับ หรืออาจเป็นเพราะจอร์จคิดว่างานของเขายังไม่จบ เขาอาจอยากจะฝากชื่อไว้อีกครั้งก่อนตายในอัลบั้มใหม่ของสี่เต่าทองมากกว่างาน In My Life ของเขาเอง

อีกข้อหนึ่งที่มาร์ตินอาจจะค้างใจอยู่ คือเขารู้สึกเสียใจที่ในยุค Beatles เขาให้ความสำคัญแก่จอร์จ แฮริสันน้อยเกินไป ใน LOVE จอร์จได้ไถ่บาปนี้แล้ว เขาได้ทำให้ดนตรีของแฮริสันเจิดจรัสไม่น้อยไปกว่าเพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ (เท่าไหร่)ในที่สุด เพลงเอก Something และ Here Comes The Sun ถูกเรียบเรียงและวางโพสิชัน(ลำดับเพลง) อย่างโดดเด่น รวมทั้งการเขียนสกอร์เครื่องสายในเวอร์ชั่นเดโมของ While My Guitar Gently Weeps ที่มาร์ตินยืนยันว่านี่คงเป็นงานสกอร์ครั้งสุดท้ายที่เขาจะทำให้Beatles ลีลาสกอร์ของมาร์ตินในเพลงนี้ยังยอดเหมือนเคย-มีคลาส,เศร้า และไม่น้ำเน่า (แต่น้ำตาไหลครับ)

ถ้างานนี้เซอร์จอร์จจะทำเพื่อเป็นป๋าดัน ก็ต้องบอกว่าบรรลุ Love ทำให้โลกยอมรับว่าไกลส์ มาร์ติน มีหู,เทสต์ และฝีมือทางดิจิตัลที่เฉียบคม จะมีใครคิดได้ว่าเพลงแขกอ้อยสร้อย Within You Without You จะสามารถเซิร์ฟไปได้อย่างสง่างามบนยอดคลื่นจังหวะเชี่ยวกราดของ Tomorrow Never Knows ท่ามกลางเสียงเจี้ยวจ้าวของเทปลูปที่เปิดถอยหลังพวกนั้น? ใครจะไปทราบว่าเมื่อเอาเสียงโซโลกลองของริงโกจาก The End มาเป็นอินโทรให้ Get Back แล้วจะร้อนเร้าใจขนาดนั้น? และเมื่อเขาจะทำ medley สนุกๆแบบ Stars On 45 ใน Drive My Car/The Word/What You’re Doing ก็ต้องยอมรับว่า Beatles ทำได้ดีกว่าวงดิสโก้จากฮอลแลนด์นั่นเสียอีก(ฮา) งาน mash-up พวกนี้ถ้าจะว่าไปเด็กที่เก่งคอมหน่อยก็ทำได้ถมไป งานนี้วัดกันที่ไอเดียและเทสต์ รายละเอียดที่ว่าเพลงไหนมีอะไรบ้างความจริงไม่อยากเล่ามาก(กว่านี้) ความสนุกอยู่ที่ความเซอร์ไพรซ์

นอกจากเรื่องความสร้างสรรค์ในการตัดต่อแล้วเรื่องคุณภาพเสียงก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง นี่เป็นครั้งแรกที่มีการรีมิกซ์งานของ Beatles อย่างจริงจัง และซีดีของสี่เต่าทองก็ไม่เคยเสียงดีเท่านี้มาก่อน ลองฟังกีต้าร์ดิบกร้านแต่สะอาดเคลียร์ใน Revolution เสียงกีต้าร์ของจอห์นและจอร์จที่เคยม้วนพันกันอยู่ถูกแยกออกสองแชนเนลหรือ I Am The Walrus ที่เสียงสารพัดเบียดกันเอี้ยดแทบทะลัก คุณภาพเสียงอันสุดๆของ LOVE ทำให้ครั่นหูอยากให้ทีมนี้รีมาสเตอร์งานทั้งหมดของ Beatles ออกมาซักพรุ่งนี้เช้า

Love ยังเป็นซีดีแผ่นแรกที่คุณควรหยิบยื่นให้เด็กๆที่อยากลองฟัง Beatles ด้วย เพราะมันเป็นแผ่นเดียวที่รวบรวมความเป็นBeatles ไว้ได้หลากหลายที่สุด ไม่ใช่มีแต่เพลงฮิตหรือเพลงยุคใดยุคหนึ่งเพียงอย่างเดียว

LOVE คู่ควรแล้วกับการเป็นงานทิ้งทวน (Swan Song) ของอัครโปรดิวเซอร์—เซอร์ จอร์จ มาร์ติน (แต่ถ้าท่านยังว่าง....)

Rod Stewart-One Night Only พ่อแหบกับคอนเสิร์ตสบายๆ



DVD review
Rod Stewart
One Night Only! Rod Stewart Live At Royal Albert Hall





สามปีที่ผ่านมา ร็อด สจ๊วตทำแจ็คพ็อตแตกกับอัลบั้มรวมเพลงอมตะนิรันดร์กาล ‘The Great American Songbook’ ที่ตอนนี้ไปถึง Volume สามแล้ว และยังมีท่าทีจะมีต่อไปอีก ( Volume III ไปได้ถึงอันดับ1ในบิลบอร์ดด้วยซ้ำ) ดูจากชุดสูทสุดเนี้ยบบนปกและสถานที่ที่ร็อดเปิดการแสดงในดีวีดีชุดนี้ทำให้พาลคิดไปว่างานนี้คงได้ฟังเพลงแสตนดาร์ดกันเต็มเหยียดแน่ๆ แต่โชคดีครับ ร็อดคงทราบดีว่าถ้าเขาทำอย่างนั้นแฟนๆคงหลับกันคา Royal Albert Hall แหงๆ One Night Only! จึงออกมาเป็นโชว์รวมฮิตของร็อดขุดกันมาตั้งแต่เพลงเก่าสุดๆในยุคเซเวนตี้ส์ แขกรับเชิญอีกสองสามคนช่วยสร้างสีสันให้พองาม

One Night Only! เป็นดีวีดีที่ไม่มีความแหวกแนวสร้างสรรค์อะไรให้ท่าน แต่เหนืออื่นใดมันเป็นคอนเสิร์ตที่ดูสนุก! ร็อดในวัย 60 ปียังดูแข็งแรงใช้ได้ แม้จะเคลื่อนไหวน้อยลง แต่เสน่ห์และลีลาของเขายังกุมสายตาและหัวใจคนดูได้นิ่งสนิทในทุกวินาทีบนเวที นับตั้งแต่เพลงแรก ‘You Wear It Well’ จากอัลบั้มNever A Dull Moment (1972) คนดูก็ลุกขึ้นโยกย้ายส่ายสะโพกกันทั้งฮอลล์อย่างพร้อมเพรียง ร็อดดูผ่อนคลายและเป็นกันเองในชุดกางเกงยีนส์เสื้อกล้ามไนกี้คลุมด้วยเชิ้ตปลดกระดุมอีกที แค่เพลงที่สองเท่านั้นบรรยากาศของคอนเสิร์ทก็ peak ด้วยเพลง tribute ให้ Robert Palmer เพื่อนซี้คู่ดื่มของเขาที่เพิ่งจากไปก่อนการแสดงนี้ไม่นาน ร็อดเล่น ‘Some Guys Have All The Luck’ เมดเลย์ต่อด้วย funky masterpiece ของ Palmer-‘Addicted To Love’

ร็อคเบรกอารมณ์ด้วย ‘Handbags and Gladrags’ จาก Rod Stewart Album (1972) และต่อด้วย ‘Reason To Believe’ จากอัลบั้มสุดยอด Every Pictures Tell A Story (1971) ที่ผู้ชมทั้งฮอลล์เป็นคอรัสให้พ่อแหบโดยเขาไม่ต้องเสียสตางค์จ้าง, Ron Wood เพื่อนเก่าแก่โผล่ขึ้นมาเป็นแขกรับเชิญใน ‘Stay With Me’ (วู้ดทักทายสจ๊วตอย่างน่ารักด้วยการโดดถีบบั้นท้ายพ่อแหบ) โก๋แก่วู้ดสไลด์กีต้าร์ได้ไม่เสียยี่ห้อหินกลิ้งก่อนที่ร็อดจะเชิญเพื่อนกลับเข้าไปหลังเวที เพื่อที่จะโชว์ตัวแฟนสาวคนล่าสุด Penny Lancaster (สูง 6.1 ฟุต และแน่นอน, บลอนด์) ออกมาเดินพาเหรดปี่สก็อตใน ‘Rhythm Of My Heart’ ที่ก่อนเริ่มเพลงร็อดพูดเสียซาบซึ้งว่าอุทิศให้เหล่าทหารหาญ แต่พอแม่เพนนีออกมาดูเหมือนจะไม่มีใครคิดถึงเรื่องนั้นอีก

Hightlight ของการแสดงอยู่ที่ ‘Hot Legs’ Boogie-woogie Rock & Roll สุดมันส์จากปี 1977 ที่ร็อดและแบนด์ทุ่มเทพลังงานลงไปเต็มที่ ลีลาสวิงขาท่าเตะฟุตบอลของเขายังเจ๋งเหมือนเดิม ร็อดจบเซกชั่นแรกด้วย ‘You’re In My Heart’ ที่ผู้ชมร้องกันกระหึ่มราวกับเชียร์บอลเอฟเอคัพ

ร็อดกลับไปเปลี่ยนเป็นทักซิโด้ออกมาพร้อมกับนักดนตรีออเคสตร้าวงใหญ่ เขาร้องแค่ 5 เพลงจาก Great American Songbooks (แม้แต่ร็อดเองก็ยังกลัวผู้ชมจะหลับ) คริสซี่ ไฮนด์มา duet ด้วยในเพลงจาก Casablanca ‘As Time Goes By’

Ron Wood ออกมาร็อคอีกครั้งกับเพลงแจ้งเกิดของเขาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ‘Maggie May’ และคอนเสิร์ตก็จบลงด้วยเพลงดังที่สุดของเขา (อีกเพลง) ‘Sailing’

ถ้าคุณชอบร็อด สจ๊วตคุณต้องชอบ One Night Only! และถ้าคุณไม่เคยฟังหรือดูเขามาก่อน นี่เป็น Introduction ที่ดีมากๆครับ คุณภาพของภาพและเสียงอยู่ในระดับเยี่ยม

Paranoid Android แอนดรอยด์จิตผวา






มีเพลงร็อคจากยุค 90 ไม่กี่เพลงที่กลายมาเป็นเพลงโปรดตลอดกาลของผม และ Paranoid Android จากอัลบั้ม OK Computer ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมรักมันตั้งแต่แรกฟังครั้งแรกในปี 1997 (สมัยนั้นยังซื้อเทปอยู่)ความยิ่งใหญ่ของอัลบั้มนี้มันคล้ายๆกับตอนฟัง Dark Side Of The Moon ของ Pink Floyd เป็นครั้งแรกคือทราบว่ามันเจ๋ง และก็รู้ว่าคงต้องใช้เวลาศึกษาอีกนาน (จนตอนนี้เกือบสิบปีแล้วก็ยังศึกษาไม่ทั่วถึงครับ) ยุคนั้นอัลบั้มนี้ฮือฮากันจริงๆ แต่คงไม่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นงานขึ้นหิ้งระดับยอดเยี่ยมตลอดกาลอย่างที่ยกย่องกันในทุกวันนี้ แต่ Paranoid Android ไม่ใช่เพลงฟังยาก มันมีความ Catchy ติดหูง่ายอยู่ในความซับซ้อนของมัน ลักษณะการวางรูปแบบที่เหมือนเอาหลายๆเพลงมาต่อกันคล้ายๆกับที่ John Lennon ทำไว้ในปี 1968 กับเพลง Happiness Is A Warm Gun ในอัลบั้มThe Beatles (หรือชือเล่นที่รู้จักกันว่า White Album) คือแต่ละท่อนดูจะเป็นเอกเทศต่อกัน ไม่ได้ blend เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเหมือนเพลงที่มีหลาย part ทั่วๆไป ทอม ยอร์ค นักร้องนำมือกีต้าร์และนักแต่งเพลงของ Radiohead ได้ไอเดียในการแต่ Paranoid Android มาจากค่ำคืนหนึ่งที่เขาเข้าไปลุยบาร์ในแอลเอ แล้วถูกพวกปิศาจราตรีรุมทึ้ง เขาเก็บบรรยากาศและอารมณ์นั้นมาแต่งเพลงนี้ พวก Radiohead ซ้อมเพลงนี้อยู่หลายเดือน แต่กว่าทอมจะได้เนื้อเพลงที่สมบูรณ์ก็ล่วงเลยมาจนถึงตีห้ากว่าๆของเช้าวันหนึ่ง ทอมนอนไม่หลับเพราะมีเสียง(ในหัวเขา) ร้องเรียกที่ไม่ปล่อยให้เขาสงบ มันเป็นเสียงของผู้คนที่เขาได้พบในบาร์วันนั้น ท่อนโซโลอันยิ่งใหญ่จากฝีมือกีต้าร์ของ จอนนี่ กรีนวู้ดตอนท้ายเพลงนั้นแรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะเอามาใส่ในเพลงนี้ แต่พวกเขาต้องการอะไรบางอย่างเพื่อ "ปิด" ท้ายเพลง และบังเอิ๊ญบังเอิญที่ท่อนกีตาร์นี้ของจอนนี่มีคีย์และจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะ บางส่วนของการโซโล่นี้เป็นการเล่นถอยหลังซะด้วย ชื่อเพลงนี้ได้มาจากชื่อของตัวละครในหนังสือของ ดักลาส อดัมส์ 'The Hitchhiker's Guide To The Galaxy ตัวละครนั้นมีชื่อว่า Marvin The Paranoid Android Radiohead เล่น Paranoid Android ในคอนเสิร์ทช่วงปี1996 อยู่นานกว่าที่พวกเขาจะบันทึกเสียงกัน เมื่อพวกเขาเล่นเพลงนี้บนเวที โดยมากมักจะลากยาวกันถึง 15 นาที สถานีวิทยุจำนวนมากขอร้องให้วงออกเวอร์ชั่นสั้นๆสำหรับเปิดทางวิทยุ แต่ทางวงปฎิเสธที่จะทำให้
************************************************************************************
Please could you stop the noise, I'm trying to get some restFrom all the unborn chicken voices in my headWhat's this? (I may be paranoid, but not an android)What's this? (I may be paranoid, but not an android)When I am king, you will be first against the wallwith your opinion which is of no consequence at allWhat's this? (I may be paranoid, but no android)What's this? (I may be paranoid, but no android)Ambition makes you look pretty uglyKicking, squealing, gucci little piggyYou don't rememberYou don't rememberWhy don't you remember my name?Off with his head, manOff with his head, manWhy don't you remember my name? I guess he does...Rain down, rain downCome on rain down on meFrom a great heightFrom a great height... height...Rain down, rain downCome on rain down on meFrom a great heightFrom a great height... height...Rain down, rain downCome on rain down on meThat's it sirYou're leavingThe crackle of pigskinThe dust and the screamingThe yuppies networkingThe panic, the vomitThe panic, the vomitGod loves his children, God loves his children, yeah!

Def Leppard-Hysteria




อัลบั้ม Pyromania เมื่อปี 1983 ของ Def Leppard นั้นทำให้แฟนเพลงเฮฟวี่จับตามองวงนี้ไม่กะพริบ มันเป็นซาวดน์ใหม่ที่เป็นความหวังของเมทัลในการบุกป๊อบชาร์ท ด้วยโปรดักชั่นของยอดโปรดิวเซอร์ โรเบิร์ท จอห์น "มัท" แลงก์ ที่กำลังรุ่งสุดขีด จับวงไหนหรือศิลปินใดก็ทำได้ดีไปหมด (และก็สุ้มเสียงออกมาคล้ายๆกันด้วย) Pyromaniaมีความดุดันแบบสะอาดสะอ้านที่ฟังกันได้ทั้งครอบครัว 'Foolin'', 'Photograph' ,'Rock Of Ages' คือเพลงฮิตที่ออกมาเป็นชุด แต่ Hysteria ไม่ได้เดินตามรอย Pyromania อย่างง่ายดาย แลงก์ปฏิเสธการกลับมาโปรดิวซ์ เพราะกำลังง่วนอยู่กับการทำ Heartbeat City ให้วงป๊อบ-ร็อค The Cars (แน่นอนว่าอัลบั้มนี้ก็ดังอีก) พวกเดฟเลยติดต่อไปที่ จิม สไตน์แมน (Bat Out Of Hell) และเริ่มทำงานกันในฮอลแลนด์ในปี 1984 แต่ในที่สุดก็ไปกันไม่ได้ ต้องแยกทางกันไป เดฟ เลพพาร์ดหันไปเรียก ไนเจล กรีน ที่เคยเป็นเอ็นจิเนียร์ให้พวกเขาในอัลบั้ม High 'n' Dry มาก่อนแต่แล้วในช่วง New Year's Eve ของปี 1984 ริก อัลเลน มือกลองอนาคตไกลประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เขาต้องสูญเสียแขนของเขาไปหนึ่งข้าง (ซ้าย) ใครๆรวมทั้งผมก็คิดว่างานนี้เตรียมหามือกลองใหม่ได้เลย แต่ไม่น่าเชื่อ ริกกลับมาได้ในปีถัดมาด้วยแขนขวาข้างเดียวของเขา กับกลองชุดที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ (แต่นับแต่นั้นมา Def Leppard ก็ไม่เคยร็อคได้ในแบบเดิมอีก) งานนี้ทางวงได้ใจแฟนเพลงทั่วโลกที่ไม่ยอมทิ้งเพื่อนร่วมวงในยามที่สาหัสที่สุดของเขา


1985 แลงก์เสร็จงานและกลับมาคุมเกมอีกครั้ง เขารับไม่ได้กับงานที่วงทำกันเอาไว้ และสั่งการให้ทำใหม่ทุกอย่าง ตั้งแต่ต้น! การบันทึกเสียงเป็นไปอย่างยาวนานตลอดปี 1986ในที่สุด Hysteria ก็ออกมาสู่โลกในปี 1987 พร้อมกับซิงเกิ้ลแรก 'Woman' น่าใจหายที่มันทำยอดขายได้ไม่ดีเลย 'Animal' เป็นซิงเกิ้ลที่สอง ค่อยทำงานดีขึ้น ก่อนที่วงจะออกซิงเกิ้ลใน Hysteria ตามมาอีกห้าแผ่น รวมทั้งบัลลาด Love Bites ที่ติดอันดับ 1 บิลบอร์ดยอดขาย12ล้าน6แสนแผ่น ออกเมื่อ ก.ค. 1987

Travis-The Man Who สุข-หวาน-เศร้า



Travis: The Man Who (1999)

Writing To Reach You
The Fear
As You Are
Driftwood
The Last Laugh Of The Laughter
Turn
Why Does It Always Rain On Me?
Luv
She's So Strange
Slide Show
The Man Who ช่วยปิดท้ายการฟังเพลงของศควรรษที่20ของผมได้อย่างสมบูรณ์ ผมซื้อมันมาโดยไม่เคยฟังมาก่อน น่าจะเป็นนิตยสาร Q ของอังกฤษที่เชียร์มันสุดๆ อัลบั้มที่สองต่อจาก Good Feeling ซึ่งผมไปหามาฟังทีหลังและมันแตกต่างกันราวกับคนละวง การเข้ามาในฐานะโปรดิวเซอร์ของไนเจล กอดริชเป็นส่วนสำคัญ บางคนว่านี่คือ Ok Computer Ladies & Kids' edition (ไนเจลเพิ่งสร้างชื่อจากการโปรดิวซ์อัลบั้มมหากาพย์นั้นให้ Radiohead มาเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น)โทนรวมของอัลบั้มนี้เยือกเย็นเศร้าหวานเหมือนกับภาพปกและภาพด้านใน เสียงร้องของฟราน ฮีลลีย์และบทเพลงของเขาแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของอัลบั้ม ไม่มีเพลงร็อคเขย่าสเตเดี้ยมเหมือนในอัลบั้มแรกสักเพลงเดียว แต่แม้จะเป็นเพลงในแนว Bittersweet เหมือนกันหมด รายละเอียดของมันในแต่ละแทร็คก็ต่างกันออกไป ฟรานเขียนเมโลดี้ได้สุดยอด (ในสองอัลบั้มต่อมาของ Travis เขาเขียนเพลงในระดับนี้ได้ไม่กี่เพลงเท่านั้น)

Writing To Reach You เปิดประเด็นความเศร้าเหงา จดหมายที่ไม่มีวันส่ง แต่ยังไงก็อยากจะเขียน "Cause I'm writing to reach you, but I might never reach you..." ฟรานใช้ถ้อยคำธรรมดาๆในการบรรยายความปั่นป่วนในอารมณ์ได้เป็นอย่างดี "Becaue my inside is outside, my left side's on the right side...."The Fear เสียงกลองเชื่อมต่อแทร็ค และเนื้อหาก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวกับ Writing... ฟรานดูจะสนุกกับการหาคำมาสัมผัสกับคำว่า Fear ตลอดเพลง fear...here.... year.... clear... the tear is here...

As You Are อารมณ์เศร้าแบบหงอยๆพัฒนามาเป็นเศร้าแบบก้าวร้าว ฟรานตะโกนร้องท่อนคอรัสด้วยอารมณ์เหมือนคนที่ถึงที่สุดแล้ว แต่วินาทีต่อมาดนตรีก็ดึงเขาลงมาอ้อยสร้อยเหมือนเดิม... พอจะสรุปได้ว่า"เธอ"ในเพลงนี้ช่างเป็นคนที่ร้ายกาจเหลือแสนแต่"ฉัน"ก็ไม่มีทางเลือก ก็มันรักนี่ แม้ว่ามันจะไม่สนุกเท่าไหร่กับการอยู่กับคนแบบนี้Driftwood เพลงที่ upbeat ที่สุดในอัลบั้ม ถ้าเป็นผมจะตัดเป็นซิงเกิ้ลแรกเลย (ไม่รู้จริงๆพวกเขาตัดมันหรือเปล่า?) 'Im sorry that you turned to driftwood. But you've been drfiting for a long, long time...' Driftwood ในที่นี้ฟรานเปรียบเทียบเหมือนคนที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำแล้วแต่จะพาไป เหมือนท่อนไม้ที่ไร้การบังคับ และสุดท้ายก็ต้องถูกกระแทกแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่คนแบบนี้จะไปแนะนำอะไรเขาได้ ก็เขาล่องลอยอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

Why Does It Always Rain On Me? เป็นหนึ่งในเพลงที่เยี่ยมที่สุดในอัลบั้ม เนื้อเพลงเอาใจ loser เต็มที่ เป็นการพยายามหาเหตุผลที่ไม่น่าเป็นไปได้ในความเป็นผู้แพ้ของตน (สายฝนเป็นตัวแทนของความปวดร้าว)สามแทร็คใน The Man Who ที่ไนเจลไม่ได้โปรดิวซ์คือเพลงนี้, Turn และ She's So Strange ซึ่งฟังดูแล้วจะไม่มีซาวนด์แบบกรุ๊งกริ้งที่ไนเจลชอบใส่ (ได้ยินชัดใน The Last Laugh Of The Laughter) แต่ซาวนด์ก็ไม่หนีกันมาก เพราะเขาก็เป็นคนมิกซ์ทั้งสามเพลงนี้อยู่ดี อ้อ สามเพลงนี้คนโปรดิวซ์คือ Mike HedgesLuv เป็นเพลงที่ทำให้หนึ่งในพี่น้องกัลลาเกอร์ (จำไม่ได้ว่าคนไหน) น้ำตาพรากมาแล้ว เมื่อฟรานเล่นและร้องสดๆให้เขาฟัง เนื้อหาว่ากันตรงๆ ฮาร์โมนิกากระชากใจเหลือเกิน เป็นเพลงปลอบใจคนร้องทีเอาไว้ร้องเวลาจะเห็นเธอจาก แต่หากกระนั้น มันกลับทำให้เขาสำนึกว่าเขายังคงรักเธออยู่มากมายแค่ไหน....

Turn... ร็อคช้าๆที่เหมาะสำหรับ Live ที่สุดในอัลบั้ม (ตัดเป็นซิงเกิ้ล) เนื้อหา-- เรามักจะอยากทำอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ทำสักที บางทีสิ่งที่เราต้องทำก็แค่การขยับหักมุมสักครั้งเดียว Turn..Turn..Turn...เนื้อเวิร์สสองนี่งามจริงๆ ยกมาให้ดู
So where's the stars?
Up in the sky
And what's the moon
A big balloon
We'll never know
Unless we grow
There's so much world
Outside the door....
Slide Show เป็นเพลงปิดอัลบั้มหมองๆนี้ได้สมบูรณ์แบบ และถ้าคุณอารมณ์ค้าง นั่งนิ่งไม่ยอมเดินไปปิดซีดี อีกพักใหญ่ๆต่อมา (ซักหกนาทีกว่ามั้ง) คุณจะได้ยินเสียงเพลงร็อคค่อนข้างอึกทึกค่อยๆดังขึ้นมา นั่นละครับ hidden track 'Blue Flashing Light' ยุคนั้น hidden track ไม่ใช่ของเกร่อแบบทุกวันนี้ และสำหรับผมกว่าจะเจอมันก็เล่นไปหลายรอบเหมือนกัน Blue... เป็นเพลงที่ต่างออกไปจากทุกเพลงใน The Man Who มันคล้ายๆบางเพลงใน Ok Computer ผสมกีต้าร์รกรุงรังแต่น่าฟังแบบ Oasis ในสองชุดแรก สำหรับผม hidden track ก็เหมือน Encore ในลีลาหนึ่ง...วันนี้ฟัง 'As You Are' อีกรอบ ทำให้คิดว่าการที่ผมพ่นไปว่านี่เป็นเพลงรัก อาจจะเป็นการตีกรอบที่ตื้นเขิน(โง่)ไปหน่อย You ในที่นี้อาจหมายถึง (และน่าจะเป็นไปได้มากกว่า) พ่อแม่หรือนักการเมืองผู้บริหารบ้านเมือง หรือใครก็ตามที่คุมเขาอยู่....


ปีสุดท้ายของแต่ละทศวรรษ ผมมักจะได้อัลบั้มสุดโปรดสุดรักมาเสมอ ผ่านมาห้าสิบปีแล้วก็ยังไม่พลาด นี่กำลังรออีก4ปีข้างหน้าอย่างใจจดจ่อ1959 Miles Davis Kind Of BLue1969 The Beatles Abbey Road1979 Pink Floyd The Wall1989 The Stone Roses1999 Travis The Man Who2009 ??? Chinese Democracy ????




Brain Salad Surgery


Brain Salad Surgery Emerson, Lake & Palmer 1973 Manticore*****





ชื่ออัลบั้มที่ชวนค้นหานี้เป็น slang ของนักดนตรีบลูส์ในความหมายของคำว่า 'blowjob' นี่คืออัลบั้มที่เยี่ยมที่สุดของโปรเกรสซีพทริโอวงนี้ พวกเขาคือซุปเปอร์กรุ๊พวงแรกของ Prog-Rock คีธ อีเมอร์สัน คีย์บอร์ด จาก The Nice, เกร็ก เล็กมือเบส กีต้าร์ และนักร้องนำจาก King Crimson และมือกลอง คาร์ล พาล์มเมอร์ จาก Atomic Roosterจอห์น พีล ดีเจชื่อดังเคยวิจารณ์อีแอลพีไว้เสียๆหายๆหลายครั้ง เช่นบอกว่าการแสดงของพวกเขาเป็น "การสูญเปล่าอย่างเหลือแสนของเวลา,ความสามารถ และ ไฟฟ้า" และพีลยังเคยวิจารณ์การนำดนตรีคลาสสิกมานำเสนอในแบบอีเลคโทรนิคร็อคของพวกเขาว่าเปรียบเสมือนการ "นำเอามะเขือเทศมาแปะไว้ด้านหลังหวี" (????)แต่อย่างน้อยพวกเขาก็นำเด็กๆเข้าสู่โลกของดนตรีคลาสสิกได้หลายคน อย่างน้อยก็ผมคนนึงล่ะ ที่ฟังคอนแชร์โตของคีธมาก่อนของบีโธเฟนหรือบาร์หมส์ และเลคก็ยังชี้แจงว่า "พีลไม่ค่อยชอบขี้หน้าเรา แต่ผมอยากจะบอกว่า การนำดนตรีคลาสสิกมาเล่นด้วยเครื่องดนตรีอีเลคโทรนิกนั้นคุณจะได้สีสันดนตรีที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ผมจึงคิดว่ามันเป็นการ re-interpretaion ที่คุ้มค่าที่จะทำ"มีแค่ห้าเพลงในอัลบั้มชุดนี้ (หน้าปกเป็น gatefold ที่งามมากจากฝีมือการออกแบบของ HR Giger ผู้ออกแบบตัว Alien) Jerusalem ออร์แกนของคีธฟังแล้วยิ่งใหญ่สุดๆในเพลงของ William Blake เพลงนี้ออกเป็นซิงเกิ้ล (บีบีซีแบนเพลงนี้ด้วยเหตุผลที่ว่ามันลดคุณค่าของเพลงดั้งเดิม) Toccata เป็นการตีความ movement ที่สี่ของ Piano Concerto No.1 ของ Ginastera คีธโชว์เทคนิคซินธ์อันโฉบเฉี่ยว แต่ผมชอบการรัวกลองเป็นปืนกลของคาร์ลเป็นพิเศษ (เป็นลีลาเฉพาะตัวของเขา), Still, You Turn Me On ผมคิดว่าเป็นอคูสติกบัลลาดที่ไพเราะที่สุดของเกร็ก (เกร็กเล่าว่าคีธพยายามล็อบบี้ไม่ให้มันได้ออกเป็นซิงเกิ้ลแม้ทุกคนจะรู้ดีว่ามันน่าจะเป็นที่สุด-ด้วยความริษยา) Benny The Bouncer เพลงเปียโนบอลรูมแบบโบราณที่น่าจะเป็น weakest link เหมือนการเตรียมตัวเข้าสู่ sci-fi rock opera อันยิ่งใหญ่ Karn Evil 9 ที่ยาวเหยียด แบ่งเป็นสาม Impressions โดยอิมเพรสชั่นแรกแบ่งเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกเป็นแทร็คสุดท้ายของหน้าเอของแผ่นเสียง ที่เหลืออยู่เต็มหน้าแผ่นเสียงหน้าบี และมันคือ The Greatest ELP songs ever! (ผมให้มันเจ๋งเท่า Close To The Edge แต่ด้วยลีลาที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าใครอยากฟังว่า Yes กับ ELP ต่างกันอย่างไรก็น่าจะให้เวลาสักนิดฟังสองแทร็คนี้เปรียบเทียบ... แต่มันก็ไม่นิดเท่าไหร่นะ ร่วมชั่วโมงได้)ผมได้ฟัง Brain ครั้งแรกจากแผ่นเสียงในยุค 80's ปัจจุบันก็ฟังจากซีดีรีมาสเตอร์ ที่ทำแพ็คเกจเหมือนแผ่นเสียงเด๊ะ


(ข้อมูลบางส่วนเอามาจาก MoJO ฉบับ Prog Rock ขอรับ)


  • คีธ-ออร์แกน เปียโน ฮาร์พซีคอร์ด แอคคอร์เดียน มู๊กซินธ์สั่งทำพิเศษ และ มู๊กโพลีโพนิค อองซองเบลอ
  • เกร็ก-ร้อง เบส กีต้าร์ และกีต้าร์สิบสองสาย
  • คาร์ล -กลองและเพอร์คัสชั่น

The Yes Album




เยสเป็นวงดนตรีแนวซิมโฟนิคโปรเกรสซีพร็อคและเป็นหนึ่งในห้าของวงดนตรีที่เป็นเสาหลักของวงการดนตรีโปรเกรสซีพ อัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ลอนดอนในหน้าหนาวของปี 1970และออกจำหน่ายในปี 1971 โปรดิวซ์โดย เยสและเอ็ดดี้ ออฟฟอร์ด ชื่ออัลบั้มดูเหมือนจะเป็นอัลบั้มแรกของพวกเขา แค่ความจริงเป็นอัลบั้มที่สาม การตั้งชื่ออย่างนี้แสดงความมั่นใจในผลงานชุดนี้ และมันก็เยี่ยมจริงๆเป็นอัลบั้มคลาสสิกชุดแรกของพวกเขาก่อนที่จะมีงานเด็ดๆตามมาอีกหลายแผ่น Peter Banks มือกีต้าร์ (เขาเป็นคนคิดชื่อวงด้วยหลักการที่ว่าชื่อยิ่งสั้นยิ่งพริ้นท์บนหน้าปกได้ตัวใหญ่ขึ้น-ลองดูหน้าปกแรกของพวกเขาสิครับ) ถูกเชิญออกจากวงด้วยข้อหาไม่ขยันมาซ้อมเท่าที่ควร โรเบิร์ต ฟริปป์แห่ง King Crimson ได้รับเทียบเชิญแต่ฟริปป์ปฏิเสธ ตำแหน่งนี้สุดท้ายจึงมาตกที่ Steve Howeสตีฟเป็นมือกีต้าร์ที่เหมาะสำหรับดนตรีของเยสเป็ฯที่สุด เขาเล่นได้มหากาฬทั้งบู๊และบุ๋น ริฟฟ์แบบฮาร์ดร็อค คันทรี่โฟล์คแบบเช็ต แอทกินส์ หรือ คลาสสิคัลกีต้าร์ก็ไม่ยั่น ขอให้บอกมาเถอะ เยสให้เกียรติเขาด้วยการปล่อยให้สตีฟโชว์เดี่ยวในเพลง The Clap (เวอร์ชั่นเป็นทางการในอัลบั้มเป็นการแสดงสด แต่ในเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์เมื่อปี 2003 จะมีเพลงแถมในแบบสตูดิโอเวอร์ชั่น-ตลกดี) เยสชุดนี้ถึงแม้จะไม่ใช่ยุคคลาสสิกไลน์อัพ เพราะขาดพ่อมดคีย์บอร์ด ริค เวคแมนไป (เขาจะมาในอัลบั้มหน้า) โทนี่ เคย์ เล่นคีย์บอร์ดในชุดนี้ แม้เขาจะไม่มีลีลาที่น่าตื่นตะลึงหรือเทคนิคในการใช้ซินเธอะไซเซอร์ได้ล้ำเท่าริค แต่ผมก็ชอบสไตล์โบราณของเขานะ การใช้ Moog ของเขาก็ฟังดูเข้ากับบทเพลงดี แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะฟังว่าถ้าริคมาเล่นเพลงในชุดนี้จะเป็นอย่างไรก็สามารถหาฟังได้ในเวอร์ชั่นแสดงสดที่จะออกตามมา อาทิเช่นใน Yessongs 5เพลงในหกจากชุดนี้เป็นเพลงคลาสสิคของเยสที่พวกเขานำมาเล่นในการแสดงสดอย่างสม่ำเสมอ แม้ทุกวันนี้


  • Yours Is No Disgrace เยสเปิดอัลบั้มด้วยเพลงยาว9นาที41วินาที สตีฟ โทนี่ และ บิล ดวลเครื่องมือกันอย่างสนุกถึงสองช่วง ดนตรีน่าตื่นเต้นตลอดความยาว

  • Starship Trooper ผู้เชี่ยวชาญยกให้นี่เป็นเพลงระดับชั้นเลิศเพลงแรกของเยส ความยาวเก้านาทีกว่าเช่นกัน แบ่งเป็นสามท่อนที่แต่งโดยสามสมาชิก เนื้อหาได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์ เบสของคริส สไควร์เด่นตลอด (เขาเป็นมือเบสที่เล่น melodic ได้ไพเราะที่สุดคนหนึ่ง) ผมชอบท่อนสอง-Disillusion ที่คริสแต่งที่สุดครับ (แต่ในทอ่นนี้สตีฟกลับเด่นสุดในการสับคอร์ดอคูสติกกีต้าร์)

  • I've Seen All Good People เพลงที่ฟังง่ายที่สุดในชุด ยาว(แค่) เฉียดเจ็ดนาที ทำนองเด่น ประสานเสียงไพเราะ และจังหวะที่ไม่ซับซ้อนเท่าเพลงอื่น

  • A Venture เปียโนแบบบาร็อค ท่วงทำนองสไตล์พอล แมคคาร์ทนีย์ แต่ซ่อนเงื่อนกว่าหลายปม จอห์น แอนเดอร์สันแต่งครับ

  • Perpetual Change งานของจอห์นและคริส ปิดท้ายอัลบั้มอย่างยิ่งใหญ่ที่ความยาว 8.50 นาที


จอห์น แอนเดอร์สัน ร้อง/เพอร์คัสชั่นคริส สไควร์ เบส/ร้องสตีฟ ฮาว กีต้าร์/ vachalia/ ร้องโทนี่ เคย์ เปียโน/ออร์แกน/มู๊กบิล บรูฟอร์ด กลอง/เพอร์คัสชั่น



ผมได้ฟังสามเพลงจากชุดนี้เป็นครั้งแรกจาก Classic Yes (งานรวมฮิตที่มีหน้าปกสวยที่สุดจากฝีมือโรเจอร์ ดีน) และมาได้ฟังเต็มๆจากซีดีฝีมือการทำมาสเตอร์ของ โจ กาสเวิร์ทนิตยสาร MOJO ยกให้นี่เป็นหนึ่งใน30อัลบัมโปรเกรสซีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา สำหรับผมนี่คือ Yes ที่ผมชอบที่สุดครับ (ชอบมากกว่า Fragile หรือ Close To The Edge นิดหน่อย)

Love, Elvis




Elvis Presley-Love, Elvis(Sony-BMG) ****


“Are you lonesome tonight? Well then, you’ve come to the right place.”Liner note ในซีดีแผ่นนี้จั่วหัวว่าอย่างนั้น....รวมเพลงรัก...ของเอลวิส เพรสลีย์...ครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ...ครั้งล่าสุดน่าจะเป็นประมาณสามปีก่อน อัลบั้มคู่...The 50 Greatest Love Songs ที่ฟังกันเต็มอิ่มจริงๆย้อนไปก่อนหน้านั้นก็มี Heart and Soul และ Love Songsความฮือฮาที่สุดของ Love, Elvis ในต่างประเทศก็เห็นจะเป็นภาพปกที่เป็นภาพของราชาร็อคในปี1956 กำลัง “เล่นลิ้น” กับแฟนเพลงสาวคนหนึ่งน่าเสียดายที่ภาพนี้ไม่ได้เป็นปกในบ้านเรา คงเป็นเพราะความหวือหวาเกินไปเลยกลายเป็นภาพเก็กหล่อผมเรียบแปล้อย่างที่เห็น (ก่อนหน้าที่แผ่นนี้จะวางแผง ทางต้นสังกัดก็ได้ออกแบบสอบถามมาทางสื่ออยู่ว่าจะเลือกปกแบบไหนดี ผมก็ตอบไปว่า ถ้าอยากจะให้อื้อฉาวล่ะก็เลือกภาพ ‘The Kiss’ นั่นแหละ รับรองดังแน่ แต่ไม่รับรองว่าจะขายหรือเปล่านะ)อีกจุดขายหนึ่งของ Love,Elvis ก็คือการทำมาสเตอร์โดย Vic Anesini ที่ฝากฝีมือไว้ได้อย่างน่าทึ่งในอัลบั้ม Elvis 56, Ultimate Gospel และ Close-Up แต่แผ่นนี้ไม่ได้มีการระบุว่าใช้เทคโนโลยี DSD ที่หลายคนชื่นชอบนะครับ และใน Love, Elvis เขาก็ทำได้ดีเช่นเดิม ฟังเสียงประสานของ The Jordanaires ใน Can’t Help Falling In Love สิครับ...(หมายเหตุ Elvis Presley อาจจะเป็นศิลปินที่มีงานที่ถูกนำมารีมาสเตอร์มากที่สุดในโลก... คุณว่าไหม?)ซีดี Love, Elvis มีให้ฟังกันจุใจถึง 24 เพลง รวมกว่า 72 นาที ในซีดีแผ่นเดียว แน่นอนว่าต้องมีเพลงที่เป็นสุดยอดเพลงรักของเขาอย่าง Are You Lonesome Tonight, Love Me Tender, Can’t Help Falling In Love, It’s Now Or Never.. ครบครัน แต่ Ernst Mikael Jorgensen และ Roger Semon สองนักทำแคตาล็อคเอลวิสผู้ยิ่งใหญ่ก็คงจะกลัวความซ้ำซาก ท่านจึงได้ใส่เพลงรักที่น่าฟังแต่ไม่ค่อยได้ถูกนำมารวมในงานที่ผ่านๆมา เช่น Anyway You Want Me, Fever เข้ามาด้วยและที่ถูกใจผมมากคือ Doin’ The Best I Can จากภาพยนตร์เรื่อง G.I. Blues หนึ่งในเพลงเอลวิสที่ผมรักที่สุด (ไม่น่าเชื่อว่าในรวมเพลงรักของเขาสามชุดก่อนหน้านี้เพลงนี้ถูกมองข้ามไปโดยตลอด) สำหรับแฟนที่ชอบตามเก็บทุกเพลงทุกเทค ในอัลบั้มนี้มี For The Good Times เทค3ที่ไม่เคยออกที่ไหนมาก่อนมายั่วกิเลส ฟังดูก็แตกต่างจาก master พอสมควร...เรียกว่าคุ้มค่าที่จะหามาเก็บการเรียงเพลงใน Love, Elvis ทำได้ดี ไม่ได้เรียงตาม chronological แต่เน้นอารมณ์ความต่อเนื่อง ซึ่งผมชอบแบบนี้มากกว่า (บางคนอาจจะรู้สึกทะแม่งๆกับเพลง HawaiianWedding Song หรือ If I Can Dream ที่ดูจะหลุดๆคอนเซ็พท์ไปหน่อย แต่ก็ยังดีกว่า Old Shep –เพลงรักหมา ที่อยู่ใน 50 Greatest Love Songs ล่ะน่า..)แฟนเพลงเริ่มรับรู้ความสามารถในการร้องเพลงบัลลาดของเขาตั้งแต่ปี 1956 ด้วยเพลง ‘Love Me Tender’ และเกือบห้าสิบปีต่อมา ผมก็ยังคิดว่านี่เป็นเพลงรักที่เรียบง่ายและยิ่งใหญ่ที่สุดเพลงหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีการร้องเพลงรักกันมา....(เพลงนี้เวอร์ชั่นใน Love, Elvis เป็น stereo เสียด้วยนะครับ...)ได้ซีดีนี้มาเมื่อไหร่ กรุณาดับไฟก่อนเปิดแทร็คแรก ‘Are You Lonesome Tonight’ นะครับ เพราะตำนานเล่าว่า ขณะที่บันทึกเสียงเพลงนี้ เอลวิสก็สั่งให้ดับไฟในห้องอัดหมดเช่นกันและยัง “ว่ากันว่า” ถ้าฟังดีๆ จะได้ยินเสียงเอลวิสเดินชนขาตั้งไมค์ด้วย....มันมืดขนาดนั้น...!!!

John Lennon-รวมฮิตชุดสุดท้าย?




ศิลปินใหญ่ระดับ เลนนอนมีหรือจะไม่เคยออกงานรวมเพลงเอกมาก่อน Working… เป็นชุดที่สี่ของเขาเข้าไปแล้ว และจะเป็นชุดที่ห้าถ้ารวม Imagine Soundtrack ในปี 1988 เข้าไปด้วย (แผ่นนั้นจะเป็นการรวมงานของจอห์นในยุคที่อยู่กับ Beatles ด้วย-ผมคิดว่าเป็นงานที่แสดงความเป็น “จอห์น เลนนอน” ได้เต็มชีวิตดีกว่าแผ่นอื่นๆที่เป็น “จอห์น โอโนะ เลนนอน” เสียมากกว่า) สามชุดก่อนคือ Shaved Fish (1975), Collection (1982) และ Lennon Legend (1997) ล้วนเป็นซีดีแผ่นเดียว Working… เป็นครั้งแรกที่เราจะได้งานรวมเพลงอย่างเต็มอิ่มที่ความยาวรวมกว่าสองชั่วโมงครึ่ง เวลาขนาดนี้ไม่น่าจะมีเพลงสำคัญเพลงใดของจอห์นตกหล่น จำได้ว่าสมัยเด็กๆอัดเทปรวมเพลงจอห์นเล่นๆ แค่เทป C-90 ก็กำลังพอดีๆแล้วด้วยชื่อรองที่น่าเกรงขาม The Definitive Lennon ทำให้ผมมั่นใจว่านี่ต้องเป็นงานรวมเพลงที่สมบูรณ์แบบ หักหน้า Wingspan ของ Paul McCartney ที่ทำออกมาได้ลักลั่นเมือสามสี่ปีก่อน แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง Working… ไม่ถึงกับเลวอนาถ แต่มันน่าจะดีกว่านี้ ขอติเป็นชุดๆตามประสาคนรักโยโกะดังนี้ หน้าปก: ทำราวกับว่าจอห์นเป็นโรเบิร์ต จอห์นสันที่ทั้งชีวิตถ่ายรูปไว้แค่สองภาพไปได้ ภาพฝีมือเอียน แมคมิลลานนี้ไม่เถียงหรอกว่าสวยและแสดงความเป็น “เลนนอน” ได้ดีมาก แต่มันใช้ไปกี่ครั้งแล้ว?การเรียงเพลง: เอาละ งานรวมฮิตทุกชุดของจอห์นที่ผ่านมาก็ไม่ได้เรียงตามวันเวลาเป๊ะๆอยู่แล้ว แต่การที่มี scope ใหญ่ๆอย่างสองซีดีนี้ เป็นโอกาสดีในการที่จะไล่เรียงเพลงให้เห็นพัฒนาการและภาพรวมของดนตรีของจอห์น ซึ่งในยุคหลัง Beatles เป็นต้นมา เพลงของเขาเหมือนเป็นบันทึกแห่งชีวิตในช่วงเวลานั้นๆ การจับเรียงเพลงใหม่ใน Working นี้พอจะมองออกว่าหวังผลในแง่ความราบรื่นในการฟังและการกระจายเพลง “น่าฟัง” ของจอห์นให้ไปทั่วๆแผ่น และหลีกเลี่ยงความน่าเบื่อกับการที่จะต้องเริ่มอัลบั้มด้วย Give Peace A Chance และจบด้วย Grow Old With Meความ “พลาด” ที่ไม่น่าเชื่อของผู้รวมเพลง (โยโกะ?) อีกประการคือการขาดเพลงสำคัญอย่าง How Do You Sleep? จากอัลบั้ม Imagine จะเป็นว่าเพื่อลบความบาดหมางระหว่างจอห์นและพอลเพราะเพลงนี้จอห์นแต่งมาเพื่อด่าเพื่อนรักโดยเฉพาะก็ไม่น่าเป็นไปได้ ที่น่าเสียดายคือนี่คือเพลงที่มีดนตรีที่เฉียบขาดที่สุดเท่าที่จอห์นเคยทำมาในยุค Post-Beatles เวลา 11 ปี (1969-1980) ในการทำงานของจอห์นใน 38 แทร็คในอัลบั้มนี้ท่านจะได้ฟังจอห์นในหลายๆแบบสลับกันไป อาทิ จอห์นนักประท้วงและสันติภาพ-Give Peace A Chance, Imagine, Power To The People จอห์นแฟมิลี่แมน – (Just Like) Starting Over, Beautiful Boy จอห์นคนมีปม-Mother, God จอห์นเดอะร็อกเกอร์-New York City, Stand By Me หรือจอห์นปากหวาน - Woman, Jealous Guy, Oh My Love (ไม่น่าเชื่อว่าเพลงนี้ไม่เคยอยู่ในรวมฮิตใดมาก่อน)ทุกเพลงผ่านการรีมาสเตอร์อย่างจริงจังตลอดห้าปีที่ผ่านมา ในแง่ความคุ้มค่าไม่มีปัญหาครับ แนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มฟังจอห์น เลนนอนทุกท่าน ส่วนแฟนเก่าที่ไม่เคยซื้องานของเขามาหลายปี (ก่อนปี 2000) ก็น่าจะลองฟังสุ้มเสียงของมันกันดู

Paul McCartney-ความอลหม่านและการสร้างสรรค์ที่สวนหลังบ้านของเขา


อัลบั้มใหม่ในรอบสี่ปีของพอล แมคคาร์ทนีย์ และเป็นอัลบั้มที่ 20 ในรอบ 35 ปี หลังจาก The Beatles เลิกรากันไปในปี 1970 ผมออกจะตื่นเต้นเมื่อทราบว่าศิลปินคนโปรดจะมาจับมือกับโปรดิวเซอร์ที่ผมชื่นชมในการทำงานชุดนี้ ไนเจล ก็อดริช คือชื่อของเขา เครดิตของพี่เค้าในการเป็นผู้ควบคุมการผลิตอัลบั้ม OK Computer (Radiohead), Mutations (Beck), The Man Who (Travis) รับประกันความยิ่งใหญ่ ในอดีตพอลเคยออกอัลบั้มที่เขาเหมาเล่นดนตรีทุกชิ้นมาสองแผ่นคือ McCartney (1970) และ McCartney II (1980) และใน Chaos… มันก็เกือบจะเป็น McCartney III เขาเล่นดนตรีเกือบทุกชิ้น อาจจะเว้นก็แต่พวกเครื่องสายและกีต้าร์บางพาร์ทเท่านั้น นี่เป็นไอเดียของไนเจล เขามองว่าการที่พอลใช้วงแบ็คอัพที่เขาทัวร์ด้วยกันมาตลอดมาเล่นบันทึกเสียง มันง่ายเกินไปและไม่ท้าทาย ไนเจลยังชอบการตีกลองของพอลอีกด้วย แต่ Chaos ไม่ได้มีซาวนด์เหมือนเดโมที่น่าจะเก็บไว้เปิดให้เมียฟังอย่าง McCartney หรือเต็มไปด้วยเสียงสังเคราะห์กระป๋องแตกอย่างใน McCartney II ตรงข้าม มันมีการบันทึกเสียงที่ปราณีตอลังการ ไม่ต่างจากงานทุกชิ้นที่ไนเจลเคยโปรดิวซ์มา 14เพลงใน Chaos แทบไม่มีเพลงร็อคเกอร์ แต่มันบรรจุไปด้วยเพลงที่ครุ่นคิดอ้อยอิ่ง สรรพเสียงที่ซ้อนทับถักทออย่างละเมียด ด้วยฝีมือการบรรเลงของผู้ชายวัย 63 คนนี้แทบจะคนเดียว มันไม่ใช่อัลบั้มที่ฟังแล้วติดหูทันที คุณต้องให้เวลากับมัน เสียงแบบไนเจลมีให้ได้ยินอย่างไม่ต้องเพ่งใน Chaos แต่โดยรวมๆนี่ก็ยังเป็นงานแบบพอล แมคคาร์ทนีย์อยู่ให้แฟนจำได้ไม่ผิดตัว Chaos ไม่มีเศษเพลงหรือ filler ทุกเพลงแตกต่างและมีคุณค่าในตัวเอง พอลร้องได้ดีกว่าในหลายอัลบั้มที่ผ่านมาของเขา ในแง่ของการควบคุมน้ำเสียง อักขระ ที่ดูตั้งใจมาก แต่มันก็ฟังออกจะเกร็งๆกว่าพอลในแบบเดิมๆอยู่ด้วยเพลงเด่น Fine Line ซิงเกิ้ลแรก สไตล์เหมือนใน Flaming Pie (1997) ท่อนที่ดึงดนตรีช้าให้กีต้าร์โซโลทำได้งามมาก, Jenny Wren “น้องสาว Blackbird” คือคำจำกัดความที่พอลให้ไว้เอง สไตล์การปิกกิ้งและเนื้อหาคือความเกี่ยวดอง, Too Much Rain เพลงที่ดีที่สุดในแผ่น ความเป็นก็อดริชและแมคคาร์ทนีย์มาบรรจบกันพอดีที่เพลงนี้ ทำนองสุดยอด พอลยังเป็นราชาแห่งเมโลดี้เหมือนกับที่เขาเคยเป็น เนื้อหาราวกับจะแต่งมาเพื่อปลอบประโลมชาวอเมริกันที่ประสบภัยจากเฮอริเคนแคทรีน่าซะงั้น, Riding To Vanity Fair มีความเป็นไนเจลมากที่สุดและก็มีความเข้มข้นทางดนตรีที่สุดในแผ่นด้วย ถ้าเอา Beck มาร้องแทนก็ไปใส่ใน Sea Change ได้ทันที แต่พอลก็ร้องแนวนี้เอาเรื่องได้ไม่แพ้หนุ่มๆนะครับ ,English Tea เปียโนบวกเครื่องสายวงเล็ก ทำนองเยี่ยมอีกแล้ว ทำให้นึกถึง Eleanor Rigby หรือ Martha My Dear ยาวแค่สองนาทีกว่า ,Friends To Go ป๊อบสไตล์ Beatles ยุค A Hard Day’s Night พอลตีฉิ่ง…เอ๊ย…ฉาบได้น่ารักมาก ,Anyway บัลลาดอลังการปิดอัลบั้ม เสียงเปียโนอิ่มสุดลิ่มหวานสุดใจไปเลย (แหม แต่อินโทรทำไมไพล่ไปเหมือน ‘People Get Ready’ ของ Curtis Mayfield ได้ล่ะครับ?) ผมไม่คิดว่า Chaos จะขายดีอะไรนัก เพราะมันฟังไม่ง่าย แต่ในแง่ศิลปะ มันคือ Creation ชิ้นสำคัญอีกครั้งจากพอล แมคคาร์ทนีย์ ขอบคุณไนเจลด้วยครับ

Led Zeppelin: Life Before Led (3-final)




มกราคม 1965 Eric Clapton ลาออกจาก The Yardbirds และ จิมมี่ เพจก็ได้รับคำเชิญจากวงเป็นครั้งแรกให้มาเล่นกีต้าร์แทน เพจปฏิเสธ และแนะนำ Jeff Beck แทน แต่เมื่อเขาถูกเชิญอีกครั้งหลังจากความผิดหวังในการรวมตัวกับนักดนตรีที่เล่นใน Beck’s Bolero ไม่นาน คราวนี้เพจไม่รีรอ เขาเริ่มต้นกับ Yardbirds ด้วยการเล่นเบสแทนที่ Paul Samwell-Smith แต่ไม่นาน เขาก็เปลี่ยนมาเล่นกีต้าร์คู่กับเบ็ค พวกเขามักจะเล่นริฟฟ์ไปพร้อมๆกันและผลัดกันโซโล สไตล์ของเจฟฟ์ดูจะไฮเปอร์กว่าของเพจที่เต็มไปด้วยความสุขุม,มั่นใจ
เจฟฟ์ เบ็ค ออกจาก The Yardbirds ไปหลังจากการทัวร์อเมริกาในปี 1966 จิมมี่ เพจควบตำแหน่งกีต้าร์ต่อคนเดียว เขาทำหน้าที่ประคองวงต่อไปได้อย่างไม่เลว จนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิของปี 1968 พวกเขาก็สลายวง ทั้งๆที่ยังมีสัญญาทัวร์แถบสแกนดิเนเวียอยู่ ปีเตอร์ แกรนต์ผู้จัดการวงของ Yardbirds ในตอนนั้น (เขากลายมาเป็นผู้จัดการของ Led Zeppelin ในเวลาต่อมา) แจ้งให้เพจทราบว่า เขายังมีสิทธิใช้ชื่อวง Yardbirds อยู่
และเพจก็ยังต้องการจะใช้สิทธินั้น สิ่งที่เขาต้องหามาโดยด่วนก็คือ มือเบส (Chris Deja มือเบสคนเก่าของ Yardbirds ยังสองจิตสองใจอยู่ว่าจะเล่นต่อหรือไม่) นักร้อง และ มือกลอง สำหรับวง Yardbirds “ใหม่” นี้




Note: ผลงานบันทึกเสียงที่เพจทำไว้ร่วมกับ The Yardbirds มีดังนี้


ซิงเกิ้ล Happenings Ten Years Time Ago / Psycho Daisies (ตุลาคม 1966) เป็นซิงเกิ้ลเดียวที่ออกมาในยุคที่มีทั้งเพจและเบ็ค เบ็คเล่นลีดกีต้าร์ในทั้งสองเพลง Happenings… นั้นเพจเล่นริธึ่มกีต้าร์ (และอาจจะเล่นโซโลบางท่อน) ส่วนใน Psycho… เพจเล่นเบส (และอาจจะกีต้าร์ด้วย)


Yardbirds ในยุคเพจ/เบ็ค ยังบันทึกเสียงเพลง ‘Stroll On’ สำหรับซาวนด์แทร็คหนัง ‘Blow Up’ ด้วย(เพลงนี้ได้ไอเดียมาจากเพลง ‘The Train Kept A-Rollin’’


ลองเพลย์ ‘Little Games’ ออกมาในปี 1967 ยุคนี้เพจเล่นลีดคนเดียว เพราะเบ็คออกไปแล้ว เขานำ bow (คันชักไวโอลิน)มาเล่นในอัลบั้มนี้สองเพลงคือ Tinker Tailor Soldier Sailor และ Glimpses


อัลบั้ม The Yardbirds: "LIVE YARDBIRDS! FEATURING JIMMY PAGE” ออกมาในปี 1971 จากการแสดงในนิวยอร์คเมื่อปี 1968 เพจสั่งระงับการผลิตอัลบั้มนี้ในเวลาค่อมา อาจจะเป็นเพราะมันเต็มไปด้วยเสียงปรบมือปลอมๆที่อัดทับลงไป


The Yardbirds “BBC Sessions” ออกมาในปี 1997 แต่มีแค่ 6 เพลงที่มีเพจเล่นด้วย


ค่ำคืนหนึ่งในเซสชั่นการบันทึกเสียงอัลบั้ม Hurdy Gurdy Man ของ Donovan จอห์น พอล โจนส์ ในฐานะนักเรียบเรียงเสียงประสานในวันนั้น ได้เอ่ยปากขอเข้าร่วมวง ‘The New Yardbirds’ กับ จิมมี่ เพจที่มาเล่นกีต้าร์ในวันนั้นพอดี โจนส์อาจจะไม่ได้ต้องการเพจมากไปกว่าที่จะหา “ที่” ที่เขาจะสามารถแสดงฝีมือออกมาได้เต็มที่เหมือนกับเพจในช่วงก่อนหน้านั้น ด้วยฝีมือระดับโจนส์ที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง จับแนวดนตรีได้กว้างขวาง แถมยังอะเรนจ์เพลงได้อีก เพจจึงรับเขามาเป็นสมาชิกของวงคนที่สอง (ต่อจากเขา) ทันทีบีเจ วิลสัน แห่ง Procol Harum และ Clem Cattini อดีตวง Tornadoes คือสองมือกลองที่เพจสนใจจะจีบมาเข้าก๊วน แต่ทั้งสองคนก็ไม่เล่นด้วย เทอรี่ รีด...(ยังจำเขาได้ไหม นักร้องที่แพล็นต์ยกย่อง) คือคนต่อไปที่ถูกหมายหัว เพจอยากได้เขามาร้องนำและเป็นกีต้าร์มือสอง แต่รีดเพิ่งเซ็นสัญญากับมิคกี้ โมสต์ไปไม่นานนี้เอง อย่างไรก็ตาม เทอรี่ได้แนะนำเพจให้ลองไปคุยกับโรเบิร์ต แพลนต์ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีดู ตอนนั้นแพลนต์ตะบันไมค์อยู่กับวง Hobbstweedle จิมมี่ เพจจับรถขึ้นเหนือเดินทางไปเบอร์มิงแฮมเพื่อชมการแสดงของ Hobbstweedle ด้วยตาตัวเอง คืนนั้นแพลนต์และวงเล่นที่โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งหนึ่งที่คนดูนั่งดูอย่างเซ็งๆ แต่ลีลาของเขานั้นสุดจะไดนามิค แพลนต์ดูจะเป็นแฟนตัวเอ้ของ Moby Grape และคืนนั้นพวกเขาก็เล่นกันแต่เพลงเวสต์โคสต์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก สิ่งหนึ่งที่แล่นอยู่ในสมองของจิมมี่ก็คือ ไอ้หนุ่มผมทองคนนี้มันต้องมีปัญหาด้านบุคลิกภาพหรือเป็นคนที่ทำงานกับใครไม่ได้แหงๆ เพราะลีลาระดับนี้และก็ร้องมาสองสามปีแล้ว มันทำไมยังไม่ดังกระฉ่อนเกาะอีก? แน่นอนว่าเพจลากแพลนต์ลงใต้มาได้อย่างง่ายดาย และโชคซ้ำซ้อน แพลนต์ช่วยแก้ปัญหาเรื่องมือกลองให้เพจอีกด้วย แม้ว่าจะมีมือกลองมาขอออดิชั่นมากมาย แต่แพลนต์ก็แนะว่าลองไปฟังนาย จอห์น บอนแฮมตีดูก่อนเถิด เพจเคยได้ยินชื่อเสียงของเขามาก่อนแล้ว เพจไม่มีปัญหาใดๆในการมองทะลุว่าบอนแฮมคือขุมพลังสุดท้ายที่เขาค้นหา แต่บองโซก็ยังอิดออด เพราะเสียดายค่าจ้าง 40 ปอนด์/สัปดาห์ที่เขาได้ประจำจากการเล่นแบ็คอัพให้นักร้องอเมริกันโฟล์ค ทิม โรส แต่แพลนต์ก็ยืนยันว่ายังไงก็ต้องเอาเพื่อนเก่าของเขาคนนี้มาตีกลองให้ได้ “เขาเป็นมือกลองคนเดียวทีผมเห็นว่าเยี่ยม.” และสุดท้าย บองโซก็ทะยานขึ้นลำเรือเดียวกับ เพจ, แพลนต์ และ โจนส์ พวกเขาซ้อมกันครั้งแรกที่ชั้นใต้ดินของอาคารใน Gerrad Street, London ก่อนที่จะออกเดินทางสู่สแกนดิเนเวีย เพื่อเล่นในทัวร์ที่ Yardbirds มีสัญญาเอาไว้ นั่นคือเดือนกันยายน 1968 ทัวร์ของพวกเขาสร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้ชมสแกนดิเนเวียนทุกผู้ในทุกการแสดง และนาทีนั้น เพจสำนึกว่าวงดนตรีที่เขารวบรวมขึ้นมาใหม่นี้มีคุณค่าในตัวเองเกินกว่าที่จะใช้ชื่อเดิมๆของ Yardbirds พวกเขายิ่งใหญ่พอที่จะมีนามของตัวเอง และในวันที่ 15 ตุลาคม 1968 สี่หนุ่มก็ขึ้นเวทีที่มหาวิทยาลัยSurreyด้วยชื่อที่ครั้งหนึ่งคีธ มูนเคยแนะเอาไว้แบบขำๆ อาจจะเป็นในวงเหล้าหลังจาก Beck’s Bolero sessions : LEAD ZEPPELIN แต่เพื่อป้องกันความสับสนในการออกเสียง พวกเขาตัดตัวเอออกไป (ไอเดียของปีเตอร์ แกรนต์)



Ladies and Gentleman….Led Zeppelin !

Led Zeppelin: Life Before Led (2)






ในเวลาเดียวกัน จิมมี่ เพจก็เดินหน้าสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองในฐานะมือกีต้าร์ห้องอัดชั้นนำของอังกฤษ เขาเล่นในเพลง Twist And Shout ของ Brian Pools & The Tremeloes (อันดับ 4 ในอังกฤษ, 4 กรกฎาคม 1963) , ฝากฝีมือการเล่นในแบบของ Eddie Cochran ไว้ในเพลง Just Like Eddie ของ Heinz ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เพลงนี้ติดอันดับ 5 ในอังกฤษ ปีต่อมาเขาเล่นในเพลง Heart Of Stone ของ The Rolling Stones และเพลง Shout ของ Lulu (เพลงนี้เป็นเพลงแจ้งเกิดของเธอ ติดอันดับ7ในเดือนมิ.ย. 1964) เขามีส่วนสำคัญในเพลง Tobacco Road ของ The Nashville Teens (อันดับ6 ก.ค. 1964) เล่นในเพลงฮิตที่สุดของ Dave Berry – The Crying Game (อันดับ5 สิงหาคม 1964) และแม้แต่ทอม โจนส์ ก็ยังใช้บริการของจิมมี่ในเพลงอันดับ1เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1965 ของเขา-- It’s Not Unusual
งานเซสชั่นที่กล่าวมาข้างบนอาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แต่ก็มีอยู่หลาย sessions ที่เพจเล่นกีต้าร์ไว้ให้ที่กลายเป็นตำนานร็อคไปแล้ว เพลงอันดับ1 เพลงแรกของ The Kinks ‘You Really Got Me’ (มันอาจจะเป็นเพลงเฮฟวี่/ฮาร์ดร็อคเพลงแรกๆของโลก) และเสียงกีต้าร์ที่ได้ยินในเพลงนี้ก็อาจจะเป็นฝีมือของเพจ (เดฟ เดวี่ส์แห่ง The Kinks ยืนยันว่าแม้เพจจะอยู่ในห้องอัดวันนั้น แต่เสียงกีต้าร์นั้นเป็นของเขา แต่ ริทชี่ แบลคมอร์แห่ง Deep Purple กลับบอกว่าเป็นเพจแน่ๆ เพราะเพื่อนของเขา Jon Lord เล่นคีย์บอร์ดในเพลงนี้ และลอร์ดก็มั่นใจว่าเขาไม่เห็นศีรษะของเดฟแต่อย่างใด-สรุปว่ายังสรุปไม่ได้)มกราคม 1965 เพจเล่นในเพลง Baby Please Don’t Go ของวงไอริชชื่อดังที่กำลังสร้างชื่อในอังกฤษ Them ที่มีนักร้องชื่อ แวน มอริสัน เพลงนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นฝีมือเพจแน่ๆ แต่บิลลี่ แฮริสันมือกีต้าร์ของ Them ก็ยังอ้างว่า อย่างน้อยเขาก็เป็นคน “คิด” ท่อนริฟฟ์นี้เอง เพจยังไปโผล่ในซิงเกิ้ลแรกของ The Who ‘I Can’t Explain’ อีกด้วย พีท ทาวน์เซนต์มือกีต้าร์ของ Who ยังจำวันนั้นได้ดี เขาถามเพจ (ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน) ว่านายมาทำไมที่นี่วะ เพจตอบอย่างนิ่มนวลว่า เขามาเพื่อ “ให้น้ำหนักแก่เสียงกีต้าร์อีกนิดหน่อย กันจะมาเล่นริธึ่มเสริมลงไปแค่นั้น” และเพจก็ยังลามไปเล่นใน “Bald Headed Woman’ ที่เป็นหน้าบีของซิงเกิ้ลด้วยจอห์น พอล โจนส์ ก็วิ่งเข้าห้องอัดวุ่นวายไม่แพ้เพจจี้ แถมบางวันพวกเขายังเดินชนกันในสตูดิโอด้วยซ้ำ อย่างเช่นในการบันทึกเสียงเพลงเก่าของสโตนส์ As Tears Go By โดย แมรี่แอน เฟธฟูล โจนซี่เล่นเบสและเพจจี้เล่นกีต้าร์ ซิงเกิ้ลแรกของร็อด สจ๊วตในฐานะศิลปินเดี่ยว ‘Good Morning Little School Girl’ (กันยายน 1964)โจนส์ก็ไปช่วยเล่นด้วย เขายังอุตส่าห์หาเวลาไปออกงานเดี่ยวได้1แผ่นซิงเกิ้ล ‘A Foggy Day In Vietnam’ ในปีนั้น ยอดขายมันหายไปกับสายหมอก นอกจากเล่นเบสแล้วโจนส์ยังเป็น Musical Director ร่วมกับ Mickie Most ในเซสชั่นต่างๆมากมาย อาทิของ Rolling Stones, Nico, Tom Jones, Wayne Fontana และ The Walker Brothers เป็นต้นขณะที่โจนส์มี มิคกี้ โมสต์เป็นคู่หู เพจก็จับคู่กับโปรดิวเซอร์/ผู้จัดการของหินกลิ้ง Andrew Loog Oldham แอนดรูว์มีสังกัดของตัวเองชื่อ Immediate และเพจก็ปักหลักเป็นโปรดิวเซอร์และมือกีต้าร์ประจำสังกัดตั้งแต่สิงหาคม 1965แม้งานจะมาไม่ขาดสาย แต่เพจก็ยังรู้สึกว่าเขายังขาดอะไรไปอยู่ในชีวิตการเป็นนักดนตรี สิ่งนั้นก็คือการที่เขาจะแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา เพจลองออกงานเดี่ยวเป็นโซโลซิงเกิ้ลเมื่อต้นปี 1965 She Just Satisfies แต่มันก็ยังไม่เพียงพอกับความปรารถนาในจิตใจและไฟสร้างสรรค์ที่เดือดพล่านของนักกีต้าร์หนุ่ม
------
16 พฤษภาคม 1966 เป็นวันที่จิมมี่ เพจเริ่มได้กลิ่นทิศทางใหม่ที่เขาจะหลุดพ้นไปจากงานเซสชั่นแบบเดิมๆ ที่ IBC Studios ในลอนดอน เพจ. โจนส์. นิคกี้ ฮอปกินส์ (เปียโน) และ คีธ มูน มือกลองราชาปาร์ตี้แห่ง The Who มารวมหัวกันเพื่อจะเล่นดนตรีให้ Jeff Beck ในเพลง Beck’s Bolero มันเป็นเซสชั่นที่ยอดเยี่ยมเหลือเชื่อ ทุกคนเล่นกันได้เข้าขาและเฉียบขาดแม้จะไม่เคยซ้อมกันมาก่อน หลังจากเซสชั่นนี้จบลง ทุกคนประทับใจกับปฏิกิริยาอันเข้มข้นที่เกิดขึ้นในห้องอัด ถึงกับมีการพูดคุยจะตั้งวงกันเป็นการถาวร จอห์น พอล โจนส์ เป็นคนเดียวที่ไม่แสดงท่าทีจะเข้าร่วม เพจเล่าว่า พวกเขากะว่าจะตั้งชื่อวงว่า ‘Led Zeppelin’ ชื่อที่มาจากคำประชดประชันของมูน ว่าวงคงจะร่วงไม่เป็นท่าเหมือนเรือเหาะที่ระเบิดกลางหาวลำนั้น แต่วงในฝันนี้ก็ไม่ได้เกิด ตำนานเล่าว่าสาเหตุใหญ่คือพวกเขาหานักร้องนำไม่ได้ (สองตัวเลือกที่ปฏิเสธตำแหน่งไปคือ Steve Winwood ซึ่งกำลังจะฟอร์มวง Traffic และ Steve Marriott ของ The Small Faces) Beck’s Bolero กลายเป็นหน้าบีของซิงเกิ้ลดังของเบ็คในปี 1967 Hi-Ho Silver Lining และเพจก็คงยังต้องค้นหาหนทางและที่ๆที่เขาจะแสดงผลงานของเขาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

Wednesday 25 February 2009

Queen Mariachillout การ tribute ที่สร้างสรรค์

สองสามปีที่ผ่านมา อัลบั้มทริบิวต์ในแนวบอสซาโนวาออกกันมาให้เกลื่อนไปหมด ตั้งแต่ Rolling Stones, Guns N' Roses, Beatles จนลามไปที่ U2 และ Pink Floyd แต่ Queen Mariachillout แหวกแนวไปอีกทาง ด้วยการนำเพลงของ Queen มาเล่นในแนว Mariachi ในลีลาที่ Chill Chill แล้วตั้งชื่อไว้เก๋ไก๋ว่า Mariachillout
Mariachi เป็นสไตล์ดนตรีที่มีต้นกำเนิดที่เม็กซิโก เครื่องดนตรีมักจะมีไวโอลิน ทรัมเป็ต กีต้าร์เม็กซิกัน กีต้าร์ห้าสาย และเบสตัวเล็กๆ
ผมไม่มีข้อมูลว่าอัลบั้มนี้ออกมาเมื่อไหร่ ใครเล่น หรือพูดอีกทีก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลย แต่ต้องบอกว่าเพลงของ Queen เมื่อนำมาเล่นในสไตล์นี้มันช่างไพเราะและสง่างามอะไรเช่นนี้ แนะนำให้หามาลองฟัง แล้วคุณจะอมยิ้มไปกับความน่ารักของบทเพลงครับ แต่คุณควรจะคุ้นเคยกับเพลงของ Queen มาพอสมควรนะครับ
ผมไม่แน่ใจว่าแนวทางนี้จะไปได้กับดนตรีของวงอื่นๆหรือเปล่า แต่เชื่อว่าคงไม่มีการแห่กันทำตามแบบบอสซาโนวาครับข้อมูลเพิ่มเติมที่....นี่ครับ
Tracks:01 - Another One Bites The Dust02 - We Will Rock You03 - Radio Ga Ga04 - Who Wants To Live Forever05 - I Want To Break Free06 - Bohemian Rhapsody07 - Crazy Little Thing Called Love08 - Love Of My Life09 - Fat Bottomed Girls10 - We Are The Champions11 - Killer Queen12 - I Want It All





Tuesday 24 February 2009

John Lennon ที่ผมระลึกถึง ๒๕ ปีหลังการเสียชีวิต


(บทความนี้เขียนขึ้นในปี 2005)


John Lennon 25 years later
พิธีกรรมรำลึกเลนนอน


วันสุดท้ายของเขา-8 ธันวาคม 1980 จอห์นยังให้สัมภาษณ์อย่างเฮฮาในอีกไม่กี่ชั่วโมงก่อนตาย เขาเล่าว่าวันหนึ่งเขานอนเล่นอยู่บนเตียงกับ Sean ลูกชายวัย 5 ขวบ จอห์นถามลูกว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นอะไร? เด็กน้อยคิดอยู่พักใหญ่ก่อนจะตอบว่า ไม่อยากเป็นอะไร ผมโตขึ้นอยากเป็นแค่แดดดี้ธรรมดาๆ จอห์นเข้าใจความหมายของ Sean 5 ปีแรกของเด็กคนนี้จอห์นไม่จับงานดนตรีเลย เพื่ออยากจะใช้เวลากับลูกให้เต็มที่ เขาไม่เคยได้สิ่งนี้ในวัยเด็กจากพ่อแม่ และกับจูเลียนลูกชายคนแรกที่เกิดกับภรรยาคนแรก-ซินเธีย เขาก็แทบไม่มีเวลาให้ การที่ Sean บอกว่าเขาแค่อยากเป็นแดดดี้ธรรมดาๆ ก็หมายความว่าเขาไม่อยากให้พ่อกลับไปเล่นดนตรีอีก ช่วงสามสี่เดือนนั้น จอห์นหันกลับมาเข้าห้องอัดเพื่อทำเพลงอีกครั้ง จอห์นบอกลูกว่า "ฟังนะ การเล่นดนตรีทำให้พ่อมีความสุขมาก และเมื่อพ่อมีความสุข พ่อก็จะได้มาเล่นกับหนูอย่างสนุกยิ่งขึ้นไงล่ะ"แต่ความสุขทั้งสองอย่างของจอห์นก็ต้องมลายลงในแค่คืนนั้น บทสัมภาษณ์จบลงด้วยการยืนยันว่าเขาจะทำงานต่อไปจนวันตาย และจอห์นมั่นใจว่าวันนั้นยังคงอีกนานจะมาถึง

25 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรกับ โยโกะ โอโนะภรรยาหม้ายของจอห์น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือโยโกะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการคงสถานะอันยิ่งใหญ่ของจอห์น เลนนอนให้ค้างฟ้าอยู่อย่างไม่มีทีท่าจะดับสูญ โยโกะไม่เคย"ขาย"จอห์นถูกๆด้วยการปล่อยเรื่องในแง่ลบของเขาออกมาแม้แต่ครึ่งเรื่อง เธอใจเย็นพอที่จะนำงานเก่าๆของจอห์นออกมารีมาสเตอร์แค่ปีละแผ่นสองแผ่น โดยเธอจะลงมาควบคุมการรีมาสเตอร์ด้วยตัวเองทุกครั้ง และแทบทุกงานที่ออกมามีคุณภาพเสียงที่น่าพอใจมากๆ โยโกะไม่เคยพลาดเมื่อมีการแจกรางวัลต่างๆให้จอห์น เธอพร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ถึงเขาอย่างไม่มีเบื่อหน่าย และวันดีคืนดี เธอก็จะหาเรื่องมาถล่มใส่ พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตคู่หูนักแต่งเพลงในวง Beatles ของจอห์นสักครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าพอลจะไม่อาจขึ้นมาเบียดความเป็นตำนานของจอห์นได้ ผลงานที่ถือเป็นชัยชนะของเธออย่างแท้จริงคือ boxset John Lennon Anthology ที่ออกมาในปี 1998 ทั้งความปราณีตของอาร์ทเวิร์ค และตัวบทเพลงที่คัดแบ่งมาเป็นสี่แผ่นสี่ยุคตั้งแต่ยุคยังอยู่ในอังกฤษ-ย้ายมานิวยอร์ค-ยุค "สุดสัปดาห์ว้าเหว่"ที่เขาและเธอแยกจากกันอยู่หลายเดือน และยุคสุดท้ายที่พวกเขามาพำนักที่ดาโกต้าและออกอัลบั้มสุดท้าย 'Double Fantasy'

แต่ก็ไม่ทุกอย่างที่โยโกะทำให้จอห์นจะเข้าท่าเข้าทางไปหมด ดีวีดี Lennon Legend นั้นเจอข้อหาที่ว่ามีหลายเพลงที่ไม่ได้ใช้วิดีโอคลิปเวอร์ชั่นดั้งเดิม และความพยายามจะเสนอหน้าตัวเธอเองมากเกินเหตุ อัลบั้ม Acoustic ก็ถูกด่าขรม ด้วยคุณภาพเสียงที่ย่ำแย่ แถมเอาเพลงเก่าจาก Anthology มาขายเสียมากเกินครึ่งอัลบั้ม, การพยายามชูตัวจอห์นในแง่การเป็น Working Class Hero ก็ดูจะไม่มีใครเออออกับเธอไปด้วย ล่าสุดอัลบั้ม Peace, Love And Truth ที่มีขายในบ้านเรานั้นก็ออกอาการหนักด้วยการเอาเพลง Give Peace A Chance มาให้นักร้องเอเชียร้องทับลงไปเป็นรีมิกซ์ แต่ท่านผู้อ่านครับ ไอ้ที่ด่าๆกันนี่ แฟนๆก็ยังตามซื้อกันหมดอยู่ดี

ในแง่ดนตรี สิ่งที่จอห์นทำได้ยิ่งใหญ่ที่สุด คือผลงานที่เขาทำไว้กับ The Beatles ในปี 1962-1970 แต่ในแง่ความเป็นตำนานและฮีโร่ มันเป็นผลจากงานและการใช้ชีวิตของเขาในช่วงหลังจากแตกวงแล้ว (และผมเชื่อว่าเกือบ50%มาจากเพลง Imagine) อาจกล่าวได้ว่าจอห์นไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆในแง่ดนตรีเลยในช่วงทศวรรษ70's ความโชติช่วงของจอห์น-ศิลปินเดี่ยวนอกจากงานเพลงแล้ว มีอะไรที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ? อาจสรุปได้ 3 ประการคือ ภาพของนักเรียกร้องสันติภาพในยุคต้น 70's, การใช้ชิวิตที่เหลวแหลกในช่วง 73-74 ที่รู้จักกันในชื่อ 'Lost Weekend' ที่จอห์นถูกโยโกะไล่ (หรืออาจจะหนีออกมาเอง) จากนิวยอร์คมาเมาหัวราเหล้าข้ามปีกับก๊วนๆและเมย์ แพง เล(คู่)ขาที่แอลเอ ก่อนที่จะกลับมาสู่อ้อมกอดเมียรักอีกครั้ง ชีวิตที่เละเทะของเขาในช่วงนี้กลับทำให้จอห์นดู'ติดดิน' เป็นผู้เป็นคนเหมือนเราท่านที่มีโอกาสที่จะเป็นอย่างเขาได้กันทั้งนั้น (สิ่งนี้พอล แมคคาร์ทนีย์ไม่มี แม้เขาจะเคยถึงขั้นติดคุกที่ญี่ปุ่นมาแล้วก็ตามที) และสุดท้ายคือโศกนาฏกรรมของความตายของเขา ในช่วงเวลาที่ทุกคนตื่นเต้นกับการกลับมาของราชาตัวจริงของยุคซิกซ์ตี้ส์

เพื่อระลึกถึงการครบรอบวันตายจอห์น ผมหยิบงานสามอัลบั้มแรกที่จอห์นทำกับโยโกะในแนวอวองการ์ดในช่วงปี 1968-1969 มาฟังในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มันเป็นงานของจอห์นที่ผมยังไม่เคยฟัง ด้วยหวาดผวาในชื่อเสียงอันน่าเกรงขามของมัน Two Virgins ที่มีหน้าปกของสองหนุ่มสาวขี้อาย (จอห์นบอกไว้ว่างั้น) เกินกว่าที่จะใส่อาภรณ์ใดๆ จอห์นและโยโกะบันทึกเสียงงานชุดนี้ที่บ้านของจอห์นในวันที่ซินเธียไม่อยู่ เป็นคืนแรกที่พวกเขาได้อยู่ด้วยกัน และพอทำอัดเสียงเสร็จพวกเขาก็เมกเลิฟกันตอนรุ่งสางพอดี 'เสียง'ที่อยู่ในแผ่นนี้ประกอบไปด้วยเสียงกรีดร้องอันน่าผวาของหญิงโย ส่วนจอห์นก็เล่นเทปย้อนหลังมั่ง อัดเสียงนกนอกหน้าต่างมั่ง บางทีก็ไปดีดเปียโนดึ๋งๆทำท่าจะเป็นเพลงเหมือนกัน ฟังเพลงนี้แล้วเข้าใจเลยว่าทำไมนักวิเคราะห์ดนตรีจึงบอกว่า Revolution 9 เพลงสุดเพี้ยนสไตล์เดียวกันนี้ในอัลบั้ม 'The Beatles'นั้นมีแบบแผนอยู่ในตัว เพราะ Two Virgins นี่สิไร้รูปแบบ(มั่ว)จริงๆ มาแผ่นที่สองชื่อ Unfinished Music No.2 : Life With The Lions เพลงแรกยาวยี่สิบกว่านาที Cambridge 1969 ที่บันทึกจากการแสดงสด โยโกะหอนโต้ตอบกับเสียงหอน (feedback) จากกีต้าร์ของจอห์นตลอดเพลง ระทึกขวัญนัก ส่วนอีกแผ่นแพ็คเกจหวานคลาสสิก พร้อมของชำร่วย Wedding Album นัยว่าเป็นงานฉลองการแต่งงานของพวกเขา โดดเด่นด้วยเพลง John & Yoko ที่ทั้งสองผลัดกันเรียกชื่ออีกฝ่ายสลับกันในลีลาต่างๆ ยาวยี่สิบกว่านาทีเหมือนกัน ว้าว ใครฟังแล้วไม่ยิ้มให้เตะป้าโยได้เลย (แต่ท่านอาจยิ้มไม่ออกเมื่อทราบว่าเสียงจังหวะในเพลงนี้อัดมาจากเสียงหัวใจของลูกในท้องของพวกเขาที่ไม่มีโอกาสได้ลืมตาดูโลก {แท้ง} กรื๋ย!) ฉลากคำเตือนสำหรับสามชุดนี้ : ไม่ควรฟังเกินชีวิตละ1ครั้ง

หลังจากสามอัลบั้มน่าตื่นหูนั้นไปแล้ว ผมก็หยิบงานที่เหลือของจอห์นมาฟังเรียงกันไป เริ่มจากสี่ซิงเกิ้ลแรก Give Peace A Chance, Cold Turkey, Instant Karma! และ Power To The People ทุกเพลงมีพลังในตัวเองอัดแน่น แต่ก็เป็นพลังในช่วงเวลาของมัน, อัลบั้ม Live Peace In Toronto 1969 ครั้งแรกที่จอห์นเล่นดนตรีกับคนอื่นที่ไม่ใช่ Beatles ในรอบหลายปี มีเพลงร็อคแอนด์โรลดีๆหลายเพลงเช่น Blue Suede Shoes, Dizzy Miss Lizzy , Plastic Ono Band (1970) งานเดี่ยวจริงๆชุดแรกที่นักวิจารณ์โปรดปรานนัก จอห์นระบายความกดดันทั้งชีวิตลงไปใน10เพลงนี้ ด้วยดนตรีร็อคที่ดิบดุแต่ minimalist, Imagine (1971) ประสบความสำเร็จที่สุด และสมบูรณ์แบบที่สุด, Sometime In New York City(1972) อัลบั้มคู่ การพยายามมาจับประเด็นการเมืองเต็มตัว ล้มเหลวในทุกๆด้าน มีเพลง Woman Is The Nigger Of The World พอกู้หน้า, Mind Games (1973) กลับมาทำป๊อบอีกครั้ง ฝีมือการแต่งเพลงดูอ่อนล้าไป มีtitle track เยี่ยมอยู่เพลงเดียว, Walls And Bridges (1974) โยโกะไม่มีส่วนในงานนี้ กลับมาเข้าฟอร์มทั้งการแต่งเพลงและการร้อง ดนตรีหลากหลายและสนุก แต่เนื้อหาแอบคิดถึงภรรยาอยู่หลายช่วง, Rock And Roll (1975) รวมเพลงร็อคแอนด์โรลที่เขาชอบ ฟังคึกดี เสียงร้องโหนไปหน่อยทั้งชุด แต่ Stand By Me สุดยอด และ Double Fantasy (1980) ที่ผมอดทนฟังโดยไม่ข้ามแทร็คเพื่อจอห์นโดยเฉพาะ (อัลบั้มนี้จะเป็นเพลงจอห์นสลับกับของโยโกะตลอด) ผมรักทุกเพลงของจอห์นในอัลบั้มนี้ Milk And Honey งานที่จอห์นทำค้างไว้ก่อนตาย โยโกะรวบรวมมันออกมาในปี 1984 หลายเพลงในชุดนี้ชี้ให้เห็นว่าจอห์นน่าจะทำเพลงร็อคมากขึ้นกว่าใน Double Fantasy ซึ่งน่าจะเอาเพลง I'm Stepping Out ติดไปด้วย เพราะเนื้อหาเหมาะมาก ผมเกือบจะหยิบบอกซ์ Anthology มาฟังต่อแต่รู้สึกเหนื่อยเกินไป เก็บเอาไว้ฉลอง 30 ปีดีกว่า

โยโกะให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง กับคำถามที่ว่า เพลงจอห์นที่เธอชอบสุดคือเพลงไหน เธอตอบแบบน่าหมั่นไส้ว่าชอบทุกเพลง แต่ถ้าจะให้บอกตอนนี้ก็คงเป็น 'Watching The Wheels' จาก Double Fantasy เพลงนี้จอห์นเขียนตอบคนที่ชอบหาว่าเขาขี้เกียจไม่ทำอะไรเลยในช่วงที่เขาหยุดไปเลี้ยงลูกห้าปี แต่จอห์นบอกว่าเขามีความสุขดีที่อยู่นอกวงโคจร และชอบที่จะดูมันหมุนไปเรื่อยๆโดยที่เขาไม่ต้องหมุนตามไปด้วย ถ้าวิญญาณเขายังไม่ไปไหน จอห์นคงจะดูเมียรักหมุนกงล้อแห่งเลนนอนไปอย่างชื่นชม
"ฉันเคยถามเขาว่าเธอพอใจกับสิ่งที่ฉันทำไหม? เขาตอบว่าใช่ และฉันคิดว่าเขากำลังยิ้มอยู่ด้วย" โยโกะกล่าวปิดท้าย

อ้าว นี่ผมลืมเปิดไปเพลงนี่ Happy X'mas (War Is Over) สุขสันต์คริสต์มาสผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ สงครามจบลงได้ ถ้าคุณต้องการจริงๆ


Monday 23 February 2009

The Beatles-Revolution 1 เวอร์ชั่น UNCUT หลุด!





แม้ว่าจะเคยปล่อยงานรวม outtakes ในชื่อ Anthology ออกมาในช่วงกลางยุค 90's เป็นซีดีถึงหกแผ่น ยังไม่รวมถึง Bootleg albums อีกนับไม่ถ้วน (หมายความตามนั้นจริงๆ) แต่ The Beatles ก็ยังมีงานที่น้อยคนนักจะได้ฟังนอนนิ่งอยู่ในโกดัง...เอ๊ย คลังเก็บมาสเตอร์ของอีเอ็มไออีกมากมาย แทบจะทุกเสียงที่พวกเขาบันทึกเสียงกันไว้หลังจากปี 1963 เป็นต้นมายังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

ในบรรดางาน unreleased ทั้งหมดนั้น Revolution Take 20 ที่บันทึกเสียงกันในช่วงบ่ายสองครึ่งถึงตีหนึ่งในวันที่ 4 มิ.ย. 1968 ถือเป็นงานระดับ "จอกศักดิ์สิทธิ์" (Holy Grail) ที่แฟนๆแสวงหากันมานานนับปี นับจากที่ Mark Lewisohn เขียนบรรยายไว้ในหนังสือ Beatles Complete Recording Sessions ของเขาในปี 1988 แต่สิ่งที่แฟนๆจะทำกันได้ก็มีเพียงแค่จินตนาการตามตัวหนังสือของ Mark (ผู้ซึ่งเป็น "คนนอก" ไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ฟังเพลงนี้)

บัดนี้ ไม่มีปี่มีขลุ่ยหรือเครื่องดนตรีอะไรนำ จู่ๆ Revolution Take 20 ในแบบเต็มๆไม่ตัดต่อยาวเกือบ 11 นาทีก็หลุดออกมาให้ดาวน์โหลดกันตามบล็อกต่างๆ รวมทั้งฟังกันได้สบายๆใน youtube ไม่มีใครทราบว่ามันมาจากไหนและใครนำพามันออกมา

Beatles มีเพลงชื่อ Revolution อยู่สามเพลงคือ Revolution ที่เป็นซิงเกิ้ลและเต็มไปด้วยเสียงริฟฟ์กีต้าร์ของเลนนอนและแฮริสันแตกพร่าสนั่นตลอดเพลง Revolution 1 ที่อยู่ใน White Album ที่หนักไปทางอคูสติกนิ่มนวลกว่าและช้ากว่า และ Revolution 9 ที่เป็นเพลง Avant-Garde ไร้รูปแบบอยู่ในหน้าสุดท้ายของ White Album เช่นกัน

Revolution Take 20 ที่ว่านี้ก็คือ Revolution 1 ที่ยังไม่ตัดต่อเรียบร้อย มันมีเสียงร้องและท่อนดนตรีบางชิ้นที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน และที่สำคัญมันยาวกว่า official version ถึงเจ็ดนาที

ช่วงเจ็ดนาทีสุดท้ายนี่ล่ะครับคือ climax Beatles โดยเฉพาะ John Lennon หลุดโลกกันสุดขั้วและเต็มไปด้วย sound effects และ tape loops มากมายที่ถั่งโถมกันเข้ามาเป็นระลอก แน่นอน...มีเสียงน่ารักๆของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ชื่อ Yoko Ono รวมอยู่ในเสียง"แปลกๆ" เหล่านั้นด้วย ตลอดเวลาที่บันทึกเสียงเพลงนี้ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า John Lennon นอนร้องอยุ่บนพื้นสตูดิโอตลอดเวลาเพราะเขาต้องการให้เสียงร้องเขาฟังต่างออกไปจากการยืนร้องปรกติ

บางส่วนของช่วงหลุดโลกท้ายเพลงนี้ได้ถูกนำไปใช้ใน Revolution 9 อีกครั้ง ที่คุณฟังแล้วอาจจะนึกถึงได้ ถ้าคุณฟัง Revolution 9 มามากพอ (เกินกว่าหนึ่งครั้ง!??)

ฉะนั้น อาจจะตั้งชื่อเทคนี้ไว้เล่นๆได้ว่า Revolution 1+9

ปัญหาที่น่าสะพรึงกลัวอีกข้อเดียวก็คือ ที่เราได้ฟังอยู่นี้มัน "ของจริง" หรือเปล่า หรือว่าเป็นฝีมือเซียนออดิโอบางคนที่ตัดต่อแต่งเติมและสร้างเสริมขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากหนังสือของ Lewisohn น่ากลัวเหมือนกันนะครับ เพราะเทคโนโลยีดิจิตัลในเรื่องพวกนี้มันรุดหน้าไปมากเหลือเกิน

คุณก็ตัดสินเอาเองแล้วกันครับ แต่ผมน่ะตัดสินใจแล้วครับ

More Info

Led Zeppelin: Life Before Led (1)


เส้นทางชีวิตของนักดนตรีสี่คนสมาชิกของ Led Zeppelin ไขว้กันไปมาอย่างสะเปะสะปะเล็กน้อย ก่อนที่ค้อนของพระผู้เป็นเจ้าจะเขี่ยจิมมี่ เพจ, จอห์น พอล โจนส์, โรเบิร์ต แพลนต์เข้ามาอยู่รวมกัน บทความนี้จะเล่าเรื่องความเป็นมาของเหตุการณ์ก่อนที่จะเป็น Led Zeppelin อย่างที่เรารู้จักกันดี

9 มกราคม 1944 เด็กชาย เจมส์ แพทริค เพจ ถือกำเนิดขึ้นที่ Heston, Middlesex เขาเป็นสมาชิกคนแรกของวงทื่ลืมตาดูโลก เลส พอลเป็นกีต้าร์ตัวแรกของเขาที่เพจได้มาในแบบมือสอง มือกีต้าร์คนโปรดของเขาในช่วงวัยรุ่นคือ เจมส์ เบอร์ตัน, เช็ท แอทกินส์ และ คลิฟฟ์ กัลลัพ (อยู่ในวงของจีน วินเซ็นต์) แผ่นเสียงแผ่นแรกในชีวิตของหนุ่มเพจคือ The Girl Can’t Help It ของ ลิทเทิล ริชาร์ดในปี 1957

นีล คริสเตียน roadie ของวง Red E Lewis & The Red Caps เป็นคนแรกที่เห็นแววในตัวเพจในปี 1959 เขาใช้ลูกตื้ออ้อนวอนให้ผู้ปกครองของเพจปล่อยให้ลูกชายมาเล่นดนตรีกับวง (ต้องออกจากโรงเรียนมาเลย) ด้วยค่าตัว 15 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ต่อมาคริสเตียนกับเพจก็ฟอร์มวงกันเองในชื่อ Neil Christian & The Crusaders

เพจเริ่มสร้างสุ้มเสียงของเขาเองหลังจากเล่นในวงกับนีลมาได้สักปีสองปี และในปี 1962 เขาก็รู้สึกว่าเขาโตเกินกว่าที่จะอยู่ในวง Crusaders อีกต่อไป (เพจและวงมีซิงเกิ้ลออกมาหนึ่งแผ่นชื่อ The Road To Love)

ด้วยความเหนื่อยล้าและปัญหาสุขภาพจากการตรากตรำทัวร์กับ Crusaders ทำให้เพจกลับมาเข้าโรงเรียน Sutton Art School แต่ก็ยังเล่นดนตรีอยุ่เป็นช่วงๆกับวง The Cyril Davies All Star ไมค์ ลีนเดอร์ โปรดิวเซอร์และนักเรียบเรียงของเดกกาเรคคอร์ดส์ประทับใจการเล่นของเพจกับวงนี้และชักชวนเพจให้มาเล่นกีต้าร์ในเพลง Your Mama’s Out Of Town ของ The Carter-Lewis Group นั่นเป็นการเริ่มต้นของการเป็นนักกีต้าร์รับจ้างในห้องอัดของเพจ (session musician) และการเป็น “มือปืนห้องอัด” นี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับ อนาคตเลด เซพพลินอีกคน

จอห์น บาลวิน คือชื่อดั้งเดิมของจอห์น พอล โจนส์ เขาโผล่มายังโลกที่ Sidcup, Kent ในวันที่ 3 มกราคม 1946 พ่อแม่ของเขาเป็น Musical Comedy (พ่อของโจนส์มีรสนิยมทางดนตรีกว้างขวางมาก ทำให้จอห์นดูดซับดนตรีหลากหลายตั้งแต่รัชมานินอฟยันชาร์ล มิงกัส หรือ บิ๊ก บิล บูซซี่)

จอห์นเริ่มจับเครื่องดนตรีที่เปียโน, ออร์แกน และกีต้าร์ ก่อนที่จะมาพบว่าสิ่งที่เขาชอบที่สุดคือเสียงทุ้มลึกของกีต้าร์เบส อายุ 14 จอห์นเริ่มออกทัวร์กับพ่อแม่ของเขา และในปี 1963 เขาเข้าประจำการในฐานะมือเบสของ Jet Harris & Tony Meehan (เพจเคยเล่นกีต้าร์ให้วงนี้ในเพลง ‘Diamonds’ ซึ่งถือเป็นเพลงอันดับ1เพลงแรกของเพจในฐานะมือกีต้าร์เซสชั่น) แต่วงนี้ก็อยู่ได้แค่ 18 เดือน จอห์น พอล โจนส์ เลยหันไปเป็นมือเบสรับจ้างเต็มตัว

31 พฤษภาคม 1948 คุณแม่ของจอห์น เฮนรี่ บอนแฮมใช้เวลาถึง 26 ชั่วโมงในการคลอดบุตรชายคนนี้ จอห์นเกือบเอาชีวิตไม่รอด หัวใจเขาไม่เต้นในตอนเกิด แต่น่าอัศจรรย์ที่แพทย์และพยาบาลสามารถช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ไม่นานนักพลังทั้งมวลก็มาสู่ตัวบอนแฮม หลังจากเขาได้ดูหนังเรื่องหนึ่งของมือกลองตำนานแจ๊ส จีน ครุปปาที่ท่านโชว์การโซโลกลองไปบนกลองทุกชิ้น บอนแฮมก็ไม่รีรอที่จะเลียนแบบฮีโร่ของเขา ในวัยห้าขวบ บอนแฮมเข้ายึดเครื่องครัว ใช้มืดและซ่อมฟาดไปบนกล่อง,กระป๋อง และอะไรก็ได้แถวๆนั้น ก่อนที่บองโซจะทำลายข้าวของในครัวหมด ทางบ้านก็ซื้อสแนร์ดรัมให้เขาตอนอายุ 10 ขวบ และทยอยซื้อให้จนครบชุดในอีกห้าปีต่อมา แม้มันจะอยู่ในสภาพเหมือนโบราณวัตถุสนิมเขรอะ แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดเขาจากความปรารถนาในการจะเป็นดรัมเมเยอร์....เอ๊ย...ดรัมเมอร์...ได้

หลังจากคุณครูใหญ่เขียนไว้ในสมุดพกว่าเขา “เป็นคนกวาดถนนที่ดียังไม่ได้เลย” บอนแฮมก็เริ่มออกเล่นกับวงท้องถิ่นตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากวง The Blue Star Trio และ Terry Webb & The Spiders เสียงกลองของเขาได้รับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง She’s A Mod ของThe Senators ในปี 1964 วงต่อมาในช่วงสั้นๆของเขาคือ A Way Of Life ที่เล่นในแนวของครีม/จิมมี่ เฮนดริกซ์ ก่อนที่เขาจะมาอยู่กับวงที่เน้นแนวบลูส์มากขึ้นอย่าง Crawling King Snakes ที่ๆที่เขาได้พบกับนักร้องนาม โรเบิร์ต แพลนต์

แพลนต์แหกปากร้องครั้งแรกในชีวิตที่ Bromwich, Worcestershire ในวันที่ 20 สิงหาคม 1948 พ่อเขาเป็นวิศวกร แพลนต์เริ่มต้นมากับดนตรีโฟล์คอเมริกันก่อนที่จะก้าวมาสนใจบลูส์และโซล แผ่นเสียงแผ่นแรกของเขาคือ Shop Around ของ สโมคกี้ โรบินสันในต้นปี 1960 สามปีต่อมาเขาก็เริ่มที่จะออกมาร้องเพลงให้ชาวบ้านฟังเองบ้าง “ผมเป็นไอ้นักร้องที่ไว้เคราไม่ขึ้นผู้ซึ่งเคยเล่นฮาร์โมนิกาและร้องแต่เพลงเก่าๆของมัดดี้ วอเตอร์ส” แพลนต์อธิบายตัวเองในยุคนั้นไว้อย่างนั้น

หลังจากออกจากวง The Crawling King Snakes แพลนต์ก็ไปร้องและเล่นให้วงต่างๆอีกหลายวงในเบอร์มิงแฮม เขาออกซิงเกิ้ล You Better Run กับวง Listen ในปี 1966 และยังออกงานเดี่ยวอีกสองเพลงคือ Our Song/Long Time Coming

1968 แพลนต์และบองโซโคจรมาพบกันอีกครั้งในวง Band Of Joy ระหว่างการทัวร์ครั้งหนึ่งของวง แพลนต์ได้พบกับยอดนักร้องอีกคน-- เทอรี่ รีด ซึ่งแพลนต์ชื่นชมและประทับใจสไตล์การร้องของเทอรี่มากๆ หนึ่งปีต่อมา เทอรี่เป็นบุคคลสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของแพลนต์และบอนแฮมไปโดยสิ้นเชิง

Sunday 22 February 2009

The Fireman : Electric Arguments



The Fireman : Electric Arguments (2008) ***1/2




In Penny Lane the barber shaves another customer,We see the banker sitting waiting for a trim.And then the fireman rushes inFrom the pouring rain, very strange.

ท่อนหนึ่งจากบทเพลงอมตะของ The Beatles ในปี 1967 ‘Penny Lane’ จากการประพันธ์ของ Paul McCartney แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อวงที่เป็น side project ของ Paul นี้จะมาจากบทเพลงนี้ Fireman ผู้พรวดพราดจากสายฝนตัวเปียกโชกเข้ามาในร้านตัดผม มันช่างเป็นภาพที่พิลึกยิ่งในสายตาของเด็กน้อยลิเวอร์พูล

Paul ขึ้นชื่อว่าเป็น workaholic ตัวยง ทำงานในชื่อของตัวเองแล้วยังแรงเหลือ ต้องหาเรื่องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ทำงานแฝงเป็นนอมินีให้ตัวเองอยู่บ่อยๆตั้งแต่สมัยอยู่กับ Beatles แล้ว บางครั้งเขาก็ทำเพื่อวัดใจแฟนๆว่าถ้าไม่ใช้ชื่อเสียงของความเป็น Paul McCartney แล้วยังจะรักพอลน้อยเหมือนเดิมหรือไม่ และบางทีเขาก็ใช้ชื่อแฝงเพื่อให้อิสรภาพทางศิลปะแก่ตัวเอง เหมือนกับตอนที่สมมติว่าวง The Beatles กลายไปเป็น Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band อันที่จริงมันก็คือการเล่นกับจิตใจของตัวเองมากกว่า เพราะใครๆก็ทราบว่า Sgt. Pepper คือ Beatles และ Paul McCartney ก็คือ The Fireman

Fireman project เริ่มขึ้นมาเมื่อ 15 ปีก่อน Paul กับ ‘Youth’ (ชื่อจริง Martin Glover) อดีตมือเบสวง Killing Joke และโปรดิวเซอร์ชื่อดังจับมือร่วมกันทำงาน ambience dance music ออกมาสองอัลบั้มคือ Strawberries Oceans Ships Forest (1993) และ Rushes (1998) ดูเหมือนจะเป็นงานอดิเรกยามว่างของอดีตสี่เต่าทองคนนี้มากกว่าที่จะหวังเงินหรือกล่องจากโปรเจ็คนี้ ดนตรีส่วนใหญ่ของ Fireman เป็น electronic dance music ที่ปราศจากเสียงร้องของ Paul ขนาดแฟนพันธุ์แท้จริงๆของเขาก็ยังแค่หาอัลบั้มเหล่านี้มาเก็บไว้ให้ครบๆเฉยๆ

แต่ Electric Arguments มันต่างออกไปจากสองอัลบั้มแรกของ Fireman มันยืนอยู่ระหว่างงาน solo ในนามของ Paul และผลงานแบบเดิมของ Fireman โดยออกจะเอียงไปทางงานโซโลของ Paul มากกว่า ชนิดที่ถ้าจะออกมาในนามของ Paul McCartney ก็ไม่น่าจะแปลกอะไรนัก บทเพลงเกือบทั้งหมดใน Electric Arguments มีเนื้อร้องและ “เป็นเพลง” มากกว่างานเดิมของ Fireman แต่สีสันของ ambience dance จากฝีมือของ Youth ก็ยังสาดกระจายไปทั่วอัลบั้มโดยเฉพาะใน 3 เพลงสุดท้าย

หลังจากได้รับคำชมไปอื้อซ่าและยอดขายก็น่ารักในอัลบั้ม Memory Almost Full (2007) Paul เริ่มได้ไอเดียจะกลับไปทำงานกับ Youth อีกครั้ง แต่เขาไม่มีเพลงในมือเลย การทำงานใน Electric Arguments จึงออกมาแบบประหลาดๆ แต่ละเพลงทำเสร็จในวันเดียวตั้งแต่แต่งเพลงจนบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อย และใช้เวลาประมาณ 1 ปี สำหรับ 13 เพลง (หมายถึง 1เพลง/1วัน แต่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกันทุกวัน) ในอัลบั้มนี้ Paul เองก็ยอมรับว่าเนื้อเพลงในอัลบั้มส่วนใหญ่เป็นการด้นสดๆในห้องอัด (ad-lib) เป็นการทำงานที่ตรงข้ามกับการขัดเกลาอย่างสุดละเมียดอย่างที่เขาเคยทำไว้กับ Nigel Godrich ใน Chaos and Creation….

และนี่คืองานที่ Paul ทำอย่างสบายใจไร้ข้อจำกัดใดๆทั้งในด้านสไตล์ ความยาวของเพลง รวมทั้งความกังวลในยอดขายและชื่อเสียง เป็นงานที่ท้าทายที่สุดของเขานับตั้งแต่อัลบั้ม McCartney II ในปี 1980

ด้วยการทำงานในแบบ happening art เยี่ยงนี้ ทำให้ดนตรีใน Electric Arguments หลากหลายและไปคนละทิศละทางพอสมควร เปิดตัวด้วยบลูส์ร็อคในสาย Led Zeppelin ‘Nothing Too Much Just Out Of Sight’*** ที่นำไปเปิดต่อจาก ‘Nod Your Head’ เพลงสุดท้ายในอัลบั้มก่อนของ Paul ได้สบายๆ ‘Highway’**** เป็นอีกแทร็คเดียวในอัลบั้มที่เป็นร็อคหนักๆ ‘Two Magpies’ อคูสคิกพิคกิ้งแบบ Jenny Wren หรือ Blackbird ‘Sun Is Shining’***** น่าจะเป็น Paul ในแบบ Beatles ที่สุดในอัลบั้ม ทั้งเนื้อหาและท่วงทำนองสดใสในแบบเดียวกับ Good Day Sunshine ใน Revolver แถมด้วยทางเดินเบสในแบบบรมเทพของ Paul ‘Sing The Changes’**** Youth อาจจะใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับ U2 มาใช้ เจิดจ้า ฮึกเหิม และไพเราะ

แทร็คที่เหลือน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทดลองกับแนวที่ไม่ใช่สิ่งที่แฟนคุ้นเคยอันอาจจะเป็นสาเหตุที่ Paul ไม่อยากออกงานนี้ในนามตัวเอง ‘Traveling Light’*** Paul ร้องเสียงทุ้มลึกแบบ Johnny Cash ‘Light From Your Lighthouse’*** เล่นกับเสียงประสานในแบบ Cash อีกครั้งโดย blend ไปกับเสียง Falsetto ในแบบ Paul เองทั้งเพลง ‘Dance ‘Till We’re High’*****คือ Dance Tonight ภาคสวรรค์ ผสมผสานแนว New Age, Ambient และ Gospel เข้ากับเมโลดิกป๊อบแบบพอลๆและซาวนด์ในแบบ Wall Of Sound ของ Phil Spectorได้อย่างน่าทึ่ง ‘Lifelong Passion’***, ‘Is This Love?’*** กระโดดไปในทางของ Indian & Celtic Music ‘Lovers In A Dream’***, ‘Universal Here, Everlasting Now’*** คล้าย Fireman ในสองอัลบั้มแรก เพลงเหล่านี้ทำให้เราระลึกได้ว่านี่คืองานของ Fireman ไม่ใช่ Paul McCartney และ Youth ก็น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยในสุ้มเสียงที่ออกมา

‘Don’t Stop Running’ ***เพลงสุดท้าย Paul อาจจะเตือนตัวเองไม่ให้หยุดนิ่งและวิ่งต่อไป ดูเหมือนจะเป็นการมองโลกในอีกมุมหนึ่งไม่เหมือนคนชราผู้สิ้นหวังอย่างใน Memory Almost Full นี่คือนักดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในวัย 66 ปีกับผลงานดนตรีที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์อีกครั้งหนึ่ง มันอาจจะไม่เหมาะสำหรับแฟนเพลงที่ต้องการแค่เพลงเพราะๆและสไตล์ที่คาดเดาได้จาก Paul แต่ผู้ที่ต้องการความท้าทายและอะไรที่ไม่คุ้นหู ความหาญกล้าอย่างในยุค White Album และงาน solo ยุคแรก นี่คืออัลบั้มที่คุณจะฟังแล้วฟังอีกได้นานเท่านาน

Keane-Perfect Symmetry


KEANE Perfect Symmetry ***

“Everybody’s changing and I don’t feel the same” Tom Chaplin นักร้องนำวง Keane ร้องไว้ในเพลงดังเพลงหนึ่งของพวกเขาจากอัลบั้ม Hopes And Fears (2004) งานเปิดตัวที่ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในวง Britpop ที่น่าจับตามองที่สุดวงหนึ่งหลัง Coldplay 4 ปีต่อมา CHANGE ก็เป็นความจำเป็นสำหรับวงทริโอจาก East Sussex วงนี้ พอๆกับคนอเมริกันต้องการความเปลี่ยนแปลงจากประธานาธิบดีคนใหม่ Barack Obama

Keane สร้างชื่อขึ้นมาจากการเป็นวงป๊อบร็อคที่ไร้เสียงกีต้าร์ มีสมาชิกแค่สามคน นอกจาก Tom นักร้องเสียงสวรรค์แล้วก็มี Tim Rice-Oxley เล่นคีย์บอร์ดและเบส และ Richard Hughes กลอง พวกเขาเคยมีมือกีต้าร์ประจำวงมาก่อนชื่อ Dominic Scott แต่เขาลาออกจากวงไปก่อนที่จะประสบความสำเร็จ การหายไปของเสียงกีต้าร์ไม่ได้สร้างปัญหาให้วง แต่กลับกลายเป็นการสร้างเอกลักษณ์และสุ้มเสียงที่แตกต่างจากวง Britpop ทั่วไปที่ร้อยทั้งร้อยมักจะมีเสียงกีต้าร์นำหน้ามาก่อน Tim และ Tom รู้จักกันมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ...แม่ของทั้งสองเป็นเพื่อนกัน Tim แต่งเนื้อร้องและดนตรีส่วนใหญ่ แต่เสียงของ Tom ก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อยกว่ากัน (พวกเขายังเคยหยอกเย้ากันเองว่า เสียงร้องของ Tom นั้น “เทพ” ขนาด เปลี่ยน shit ให้เป็น hit ได้เสมอ) Tom Chaplin คือเสียงของโบโน ....ที่เคลือบช็อคโกแล็ตไว้บางๆ

Hopes And Fears กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน มันเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองของอังกฤษในปีนั้น และยอดขายทั่วโลกเกือบหกล้านแผ่น ด้าน “กล่อง” พวกเขาก็ได้รางวัล Best British Album ในปี 2005 จากงาน Brit Awards ทุกอย่างดูสดใสสำหรับหนุ่มหน้าใสทั้งสามคน แต่แล้ว Tom ก็เจอภาวะร็อคสตาร์ใจแตกเข้าให้เต็มเปา เขาหลุดเข้าไปในบ่วงของแอลกอฮอล์และยาเสพติดอย่างแทบถอนตัวไม่ขึ้น ในระหว่างการทัวร์เพื่อสนับสนุนอัลบั้มที่สอง Under The Iron Sea (2006) Tom ออกมาประกาศยอมรับว่าเขาต้องเข้ารับการบำบัดเสียแล้วและต้องระงับการทัวร์ไปในหลายประเทศ ข่าวดีคือ Tom ไม่เหมือนกับขี้ยาซุปเปอร์สตาร์ Pete Doherty และ Amy Winehouse เขาเอาชนะใจตัวเองได้เด็ดขาด ปัจจุบันเขาคือ Chaplin คนใหม่ที่สดใสไร้ยา วิ่งวันละ 5 ไมล์ทุกวัน

มีร่องรอยว่า Keane เริ่มแสวงหาความเปลี่ยนแปลงมาแล้วตั้งแต่อัลบั้มที่สอง โดยเฉพาะในซิงเกิ้ล Is It Any Wonder? ที่ฟังแล้วคิดถึง U2 ในยุค Achtung Baby ด้วยเสียงซินเธอะไซเซอร์ที่ดังสนั่นและบิดเบี้ยวจนผิดธรรมชาติ แต่ภาพรวมของอัลบั้มก็ยังไม่ฉีกไปจาก Hopes… นัก เพลงที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองไพเราะและฮึกเหิมในแบบ anthem เปียโนและคีย์บอร์ดยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของดนตรี

สื่อหลายสำนักเรียก Keane ว่าเป็น New Coldplay จะถือเป็นคำยกย่องก็ได้ (บางคนอาจจะไม่ทราบว่าอดีตก่อน Tim จะตั้งวง Keane นาย Chris Martin แห่ง Coldplay เคยออกปากชักชวน Tim มาเล่นคีย์บอร์ดให้ Coldplay มาแล้ว แต่ Tim ปฏิเสธไป) วินาทีนี้ถ้า Keane คิดจะวัดรอยเท้ากับ Coldplay การที่จะผูกมัดตัวเองกับการใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นคงจะเป็นอุปสรรคในการขยายจินตนาการทางดนตรีไปเสียเปล่า ผมเห็นด้วยกับการที่ Keane หันหลังให้กับการประสมวงในแบบเดิมๆและเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่เต็มตัวใน Perfect Symmetry

Viva La Vida ของ Coldplay ออกมาได้หลายเดือนแล้ว แม้จะไม่ถึงกับหยุดโลก แต่ก็ทำให้ทุกวงที่คิดจะเทียบชั้นต้องปาดเหงื่อ มันมีสุ้มเสียงที่หลากหลายแตกต่าง สร้างสรรค์แต่ไม่ยากที่จะเข้าถึง และยังไม่ทิ้งความเป็น Coldplay ไป จะว่าไปทาง Keane ก็ไม่เคยบอกว่าจะแข่งกับ Coldplay แต่ถ้าจะลองเปรียบเทียบกันแล้วก็น่าสนุก ขณะที่ Coldplay ฝากความหวังไว้เต็มที่กับปรมาจารย์โปรดิวเซอร์ Brian Eno Keane กลับโปรดิวซ์อัลบั้มกันเองเกือบทั้งหมด

อาวุธหลักของพวกเขาใน Perfect Symmetry คือการนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในยุค 80’s กับดนตรีซินธ์ป๊อบในแบบ A-Ha, Pet Shop Boys และร็อคหนักแน่นในแบบ Simple Minds บวกกับ White Soul Sound ของ David Bowie โดยมี Jon Brion (Fiona Apple, Rufus Wainwright) และ Stuart Price (Madonna) มาช่วยและร่วมโปรดิวซ์ในบางเพลง

นอกจาก Keane ยังอนุญาตให้เสียงกีต้าร์เข้ามาเพ่นพ่านในอัลบั้มได้เต็มตัวเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ยังมีแนวร่วมเครี่องดนตรีชิ้นอื่นๆตามมาอีกหลายอย่าง เช่น violin, cello และ musical saw ในเพลงปิดอัลบั้ม Love Is The End, แซกโซโฟนใน Pretend That You’re Alone เสียงกีต้าร์ในอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือของ Tim และ Tom เอง

เหมือนเป็นการประกาศให้แฟนๆเตรียมพร้อม พวกเขาชิมลางด้วยการเปล่อยซิงเกิ้ล Spiralling ออกมาให้โหลดกันฟรีๆก่อนพักใหญ่ มันเป็นเพลงที่แตกต่างจาก Keane ในแบบเดิมๆเหมือน...สีเหลืองกับสีแดง จังหวะกระตุกกระชาก เสียงร้องเข้มข้น และดำเนินเรื่องด้วยเสียงซินเธอะไซเซอร์ฉูดฉาด เสียงประสานวู้..วู้...นั่นช่างฟังดูพิลึกพิลั่น และเหมือนกลัวประหลาดน้อยไป Tom ยังทำท่าจะ rap ในช่วงท้ายเพลงเสียอีก มันเป็นการเปิดตัวที่ทำให้แฟน Keane กลุ่มหนึ่งถึงกับวงแตกวิ่งกระเจิงพร้อมตะโกนทั้งน้ำตาว่าคงไม่มีโอกาสได้ฟัง Keane ในแบบเดิมๆอีกแล้ว

แต่เดี๋ยวก่อน...ฝรั่งเขาใช้คำว่า ‘grow on you’ สำหรับเพลงแบบนี้ เมื่อคุณให้เวลากับมัน Spiralling เป็นหนึ่งในเพลงที่ “งามพิศ” แล้วในที่สุดคุณจะอดไม่ได้ที่จะ วู้...วู้...ตามไปกับพวกเขาด้วย เพลงนี้ได้รางวัลเพลงแห่งปีจาก “Q” นิตยสารดนตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอังกฤษ (ขณะที่ Coldplay คว้ารางวัลอัลบั้ม และ best act in the world ไป)

10 เพลงที่เหลือในอัลบั้มกลับมีความเป็น Keane ในแบบเดิมๆมากกว่า Spiralling ซิงเกิ้ลที่สอง The Lovers Are Losing คือ Keane ในแบบที่แฟนๆรอคอย (จากการโหวตของแฟนๆใน keanethailand.com เพลงนี้ก็นำโลด) เวลาจะทำเพลงแบบนี้ pop sense ของพวกเขาหาใครกินยากจริงๆ Better Than This มีเสียงคีย์บอร์ดในแบบ Ashes To Ashes (เพลงดังในยุคต้น 80’s ของ David Bowie) ที่เหมือนเสียจนไม่แน่ใจว่าเป็นการ sampling หรือเปล่า Tom ร้องเสียงหลบ (falsetto) อย่างสนุกคลอไปด้วยเสียงปรบมือครื้นเครง

ริฟฟ์กีต้าร์เริ่มทำงานใน You Haven’t Told Me Anything ที่โปรดิวซ์โดย Jon Brion ส่วน Stuart Price ผู้เคยโปรดิวซ์อัลบั้มดิ้นสะบัด Confessions On The Dancefloor ให้ Madonna มาช่วยโปรดิวซ์ในเพลง Again and again และ Black Burning Heart ที่โครงสร้างคล้ายเพลงในยุคแรก เพียงแต่ประดับประดาด้วยซินฯหนาเปอะจนจำกันแทบไม่ได้

เพลงที่คุณควรจะใส่ใจกับเนื้อหาสักหน่อยคือไทเทิลแทร็ค ที่ดูจงใจจะให้ยิ่งใหญ่เป็น epic ว่าด้วยเรื่องของการพลีชีพในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ (สมัยนี้สื่อเขาเรียกว่า “ระเบิดฆ่าตัวตาย”) และทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือการเลือกที่จะอยู่กับคนที่คุณรักและสร้างสิ่งดีงาม

Perfect Symmetry เป็นงานที่ไม่ค่อยจะสมดุลย์เหมือนชื่ออัลบั้มนัก เพลงที่โดดเด่นไหลลงมากองกันที่หน้าอัลบั้มเสียเกือบหมด ไม่ได้หมายความว่าเพลงที่เหลือจะแย่ ปัญหาอาจจะอยู่ที่การเรียงเพลง? แต่อัลบั้มคลาสสิกอย่าง Joshua Tree ก็มีลักษณะ front-loaded อย่างนี้เหมือนกัน ถ้าจะจับ Perfect Symmetryไปยืนแลกหมัดกับ Viva La Vida อาจจะสูสีในยกแรกๆแต่ยกหลังๆคงต้องยอมให้ Chris Martin เขาไปอีกระยะหนึ่งครับ แฟนเก่าๆอย่าเพิ่งถอดใจไปกับซิงเกิ้ลแรก แก่นแท้ความเป็น Keane เพราะๆของพวกเขายังอยู่ดีครับ เพียงแต่แต่งตัวใหม่สดใสเฟี้ยวฟ้าวขึ้นมาหน่อย และการที่เขานำซาวนด์แบบซินธ์ป๊อบ 80’s มาใช้ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเชยหรือย้อนยุคอะไร
(Deluxe edition จะมี demo ของทุกเพลงในอัลบั้มด้วยครับ ฟังแล้วก็ดิบๆและตลกดีเหมือนกัน)