Friday 20 March 2015

The Fall

"รักคนเหนื่อยเป็นบ้า รักหมาดีกว่าไม่เคยเถียง"
Norah Jones :The Fall ****(Blue Note-2009)
------------------------
แนวดนตรี-Pop, Art Rock, Roots
โปรดิวเซอร์- Jacquire King
อัลบั้ม “อกหัก” นั้นมักมีเสน่ห์เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Blood On The Tracks ของ Bob Dylan, Here My Dear ของ Marvin Gaye หรือ Sea Change ของ Beck แน่ล่ะไม่มีเวลาไหนที่ศิลปินจะเขียนเพลงจากความรวดร้าวในรักได้อารมณ์ไปกว่าตอนที่เหตุการณ์นั้นมาประสบกับพวกเขาเอง! The Fall ของ Norah Jones ก็จัดเป็นหนึ่งใน Break-up album เพราะเธอเขียนและบันทีกเสียงอัลบั้มนี้ไม่นานหลังจากเลิกรากับแฟนหนุ่มมือเบสในวงของเธอ Lee Alexander หลังจากคบหากันมาหลายปี The Fall คือคอนเซ็ปท์อัลบั้มว่าด้วยสภาวะจิตใจของหญิงสาวผู้กำลังสับสนในความรักที่ไต่อยู่บนขอบเหวขาดสะบั้น โหยหาความอบอุ่นในสัมพันธ์ที่เธอคุ้นเคย และบทสรุปที่คลี่คลายด้วยชัยชนะและรอยยิ้มของสาวเจ้า
นี่เป็นอัลบั้มที่ 4 ของนอราห์ ลูกสาว (คนหนึ่ง) ของนักซีต้าร์ชื่อดังที่สุดในโลกชาวอินเดีย Ravi Shankar แต่เธอแทบไม่ได้ใช้ชื่อเสียงของคุณพ่อมาไต่เต้าวงการเลยแม้แต่น้อย อัลบั้ม Come Away With Me (2002) ที่เป็นการผสมผสานเพลงร้องแนว lounge jazz เข้ากับ country และ soul และเสียงร้องที่สวยหวานไม่มีใครเหมือนของเธอ-กลายเป็นปรากฏการณ์แห่งปี ทั้งชื่อเสียงและรางวัลต่างๆที่พร้อมใจกันเดินทางมาหาลูกครึ่งคนสวย ดังพรวดพราดอย่างนี้หลายคนออกจะเป็นห่วงว่าเธอจะเจอปัญหา second album syndrome ที่มักจะเกิดกับศิลปินหน้าใหม่ที่ทำอัลบั้มแรกออกมาประสบความสำเร็จมากๆ แต่นอราห์ไม่ออกอาการเกร็งไม่เห็น เธอกลับทำงานแบบไม่แยแสใครด้วยการนำแนวคันทรี่ออกนอกหน้าไปเลยใน Feels Like Home (2004) และก็ทำได้ดีเสียด้วย Not Too Late (2007) คือพัฒนาการอีกขึ้นที่ทุกเพลงเป็นเพลงที่เธอแต่งเองหรือร่วมแต่งทั้งสิ้นโดยไม่มีเพลง cover แม้ว่าโทนโดยรวมจะง่วงเหงาเกินไปนิด จนเริ่มมีสื่อตั้งฉายา (ไม่ต่างจากสื่อเมืองไทยเลย) เธอไว้น่ารักน่าขำว่า Snorah
The Fall ยังอยู่ในสังกัด Blue Note เหมือนสามอัลบั้มที่แล้ว นอราห์ดูสดใสน่ารักกว่าเดิมในวัย 30 และผมสั้นกำลังดี (ตามสูตรว่าหญิงอกหักมักชอบหั่นผมตัวเองด้วยเหตุผลบางประการ) ผลพวงจากการเลิกกับแฟน ทำให้เธอไม่ได้ใช้วงดนตรีเดิม The Handsome Band อีก นอราห์ใช้บริการจากกนักดนตรีหลากหลายแทบไม่ซ้ำทีมในแต่ละเพลง และบุคคลสำคัญที่มีส่วนในสุ้มเสียงของ The Fall ก็คือ โปรดิวเซอร์ Jacquire King ผู้เคยร่วมงานกับ Tom Waits, Kings of Leon และ Modest Mouse คุณเดาไม่ผิดหรอกครับว่าซาวนด์ของอัลบั้มนี้จะออกมาในแนวใด ถ้าคุณเคยฟังงานที่ King โปรดิวซ์ โดยเฉพาะ Mule Variations ของ Tom Waits แต่ข่าวดีก็คือ ตัวตนของนอราห์ในน้ำเสียงและเพลงที่เธอประพันธ์นั้นเข้มแข็งพอที่จะทำให้ทั้ง 13 เพลงใน The Fall แม้ว่าจะมีดนตรีในแบบที่นอราห์ไม่เคยทำมาก่อน.... แต่ฟังอย่างไรก็ยังเป็นนอราห์ โจนส์อยู่ดี ไม่ต่างอะไรกับการที่เธอเปลี่ยน look ตัดผมสั้นและทำตัว art ขึ้น แต่เราก็ยังจำเธอไม่ผิดตัว
ฟังรอบสองรอบแรกผมรู้สึกเหมือนกันว่าเธอเปลี่ยนไปเยอะจนน่าหวั่นว่าแฟนๆจะรับได้หรือไม่ แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็หายกังวล แม้เธอจะล่องลอยอยู่ในดนตรีโลไฟร็อคที่กลาดเกลื่อนไปด้วยจังหวะ tribal drums เสียงกีต้าร์เอ็ฟเฟ็คฟุ้งฟ่องและออร์แกนหลอนประสาท ไม่มีร่องรอยของดนตรีเนี้ยบหรูคุณหนูผู้ดีแบบอัลบั้มแรก แต่แก่นของบทเพลงคือท่วงทำนอง เสียงร้อง และเนื้อหา ก็ยังเป็นสาวหวานเท่ๆคนเดิมของเราอยู่ เธอตัดสินใจถูกนะที่ยกเครื่องดนตรีใหม่หมด เพราะใน Not Too Late นั้นก็เริ่มได้กลิ่นของความตีบตันและซ้ำซากแล้ว
Chasing Pirates เพลงแรกและซิงเกิ้ลแรก เดินเรื่องด้วยคีย์บอร์ดริฟฟ์หกโน้ตตลอดเพลงและกลอง-เบสหนักอึ้ง นอราห์ร้องเองประสานเสียงเองและเล่น Wurlitzer (เปียโนไฟฟ้าโบราณ) ด้วย “and I don’t know how to slow it down/ Oh my mind’s racing from chasing pirates” เธอร้องบรรยายความวุ่นวายในหัวใจหญิงสาวด้วยเสียงเพราะๆที่ไม่ค่อยจะกลุ้มไปด้วยนักของเธอ สำหรับแฟนเก่าๆ นี่คือสองนาทีกว่าๆที่เธอแนะนำซาวนด์ใหม่ของอัลบั้มให้ลองฟังกันเลยว่ารับได้ไหม Even Though นอราห์แต่งร่วมกับเพื่อนเก่า Jesse Harris ทางเบสออกเร็กเก้ กีต้าร์พร่าก้องย้ำทีละโน้ต เสียงร้องยังลากช้าเหมือนเดิม Light As a Feather นอราห์แต่งร่วมกับ Ryan Adams แต่ถ้าไม่ทราบก่อนก็คงจะบอกได้ยาก นอราห์เล่นกีต้าร์ไฟฟ้าเองเพราะดีเพลงนี้ Young Blood ร็อคขึ้นมาหน่อย เนื้อยาวเหยียดที่นอราห์เขียนได้อย่างไหลลื่น I Wouldn’t Need You เซ็กซี่ โหยหา และเศร้าสุดๆ ใช้การเปรียบเทียบที่แสนง่ายบรรยายความปรารถนาของหัวใจได้อย่างสุดซึ้ง และตอกย้ำด้วยเพลงแห่งการรอตามชื่อ Waiting ที่พ่อ Lee ฟังแล้วคงอึ้ง “And I’m still here waiting/ Waiting for you to come home.” It’s Gonna Be เป็นเพลงที่ก้าวร้าวที่สุดในอัลบั้มโดยเฉพาะการกระหน่ำกลองของ Robert DiPietro You Ruined Me กลายเป็นเพลงที่ดีที่สุดที่อยู่กลางอัลบั้ม เธอไม่อายที่จะยอมเป็น loser ที่ปราชัยย่อยยับในอุ้งมือของคนรัก “but I liked it.”
อัลบั้มยุคซีดีนี้ ส่วนใหญ่มักจะมาแผ่วเอาในช่วงครึ่งหลัง The Fall ก็ทำท่าจะเป็นใน Back to Manhattan แต่แล้วสี่เพลงหลังจากนั้นมันก็กลับมาเข้าฝักอีก December เบาบางหวานซึ้งด้วยดนตรีสามชิ้นเรียบง่าย Stuck เขียนเนื้อเพลงแบบ ballad เล่าถึงการกลับมาเจอคนรักเก่าอีกครั้งในสถานการณ์ไม่คาดฝัน และสรุปด้วยประโยค ‘Why don’t you tell me?” แต่ใน Tell Yer Mama ดูเธอจะทำใจได้ เป็นการหลอกด่าทั้งตัวผู้ชายและบุพการีอย่างแสนจะสุภาพสตรี ประกาศชัยชนะอย่างหมดจดเลยคร้าบ!
นอราห์ปิด The Fall ด้วยการแนะนำผู้ชายคนใหม่ที่แสนดี ไม่โต้เถียง ไม่เคยบ่น และรักเธอมากๆใน Man of the Hour ผู้ชายคนนั้นหมอบอยู่บนหน้าปกอัลบั้มด้วยครับ
Tracklist
1. "Chasing Pirates" Norah Jones 2:40
2. "Even Though" Jones, Jesse Harris 3:52
3. "Light As a Feather" Jones, Ryan Adams 3:52
4. "Young Blood" Jones, Mike Martin 3:38
5. "I Wouldn't Need You" Jones 3:30
6. "Waiting" Jones 3:31
7. "It's Gonna Be" Jones 3:11
8. "You've Ruined Me" Jones 2:45
9. "Back to Manhattan" Jones 4:09
10. "Stuck" Jones, Will Sheff 5:15
11. "December" Jones 3:05
12. "Tell Yer Mama" Jones, Jesse Harris, Richard Julian 3:25
13. "Man of the Hour" Jones 2:56

1962-1966


1962-1966 เป็นอัลบั้มรวมฮิตชุดแรกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ Beatlesมันออกมาในเดือนเมษายน ปี 1973 คู่มากับ 1967-1970เหตุผลที่ออกเพราะว่ามี"ของเถื่อน"ชื่อ Alpha Omega ออกมาชี้โพรงก่อนอีเอ็มไอเลยเต้นดีดตัวปล่อยอัลบั้มคู่สองคู่นี้ตามมาอย่างรวดเร็วคนเลือกเพลงทั้ง 26 เพลงในอัลบั้ม "Red" นี้ คือ Allen Kleinผู้เป็นกึ่งๆผู้จัดการวงของวงที่พอลเกลียดขี้หน้าที่สุดแต่เพลงทั้งหมดก็ผ่านการยอมรับ จาก John และคนอื่นๆทุกเพลงเป็นเพลงที่แต่งในนามของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์มีทั้งเพลงที่เป็นซิงเกิ้ลฮิต และ เพลงดีๆในอัลบั้มที่ไม่ถูกตัดแยกขายปะปนกันไปคุณอาจจะหาข้อตำหนิอัลบั้มนี้ได้มากมายแต่ข้อหาที่เจอบ่อยหน่อยก็คือ เพลงน้อย ขายแพงแต่ผมมักจะแก้แทนให้เสมอ ว่าทำไมเราต้องวัดความคุ้มค่าที่ปริมาณเพลง?มันเป็นเทปม้วนแรกที่ผมซื้อในช่วงปี 1980 หรือ 1981 นี่ล่ะครับ (แน่นอน...เทปไร้ชีพ)ความฝันในวัยเรียนคืออยากเก็บเงินให้ได้เร็วๆจะได้ไปซื้อแผ่นเสียงเก็บเอาไว้เพราะว่ากลัวถ้าผ่านไปหลายๆปี ต้นฉบับ เทปต้นฉบับอาจจะสึกหรอ...คิดแบบเด็กๆ (แต่ปีที่แล้วก็มีข่าวว่าเทปมาสเตอร์กำลังจะแย่จริงๆ โดยเฉพาะจุดที่มีการใช้กาวติดเอาไว้)แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่เคยมีแผ่นเสียงชุดนี้มีแต่เทปที่ซื้อแล้วซื้ออีก เคยไหมครับ เทปชุดที่ยืดเมื่อไหร่ต้องรีบไปซื้อมาแทนทันทีบางทีผมก็ซื้อตุนไว้เลยซีดีชุดนี้ผมก็ตุนไว้อีกชุดเช่นกัน
ปีนี้อัลบั้มนี้จะ re-issue ออกใหม่อีกครั้งโดยนำเวอร์ชั่น remastered 2009 มาทดแทนฉบับ 1993ผมขอประกาศตรงนี้เลยว่าผมชอบฉบับ 1993 มากกว่าครับ เพราะเสียงเป็นธรรมชาติฟังสบายหูกว่าใครยังไม่มีก็รีบไปจัดการหามานะครับ ก่อนที่จะกลายเป็นของหายาก หรือหาไม่ได้
ผมเลือกอัลบั้มชุดนี้เป็น Album of my lifeเป็นเพราะมันเป็นเทปม้วนแรกที่ซื้อหรือ?ไม่ใช่แน่นอนครับ เหตุผลนั้นอาจจะมีผลต่อความรู้สึกดีๆ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักแน่เพลง 26 เพลงนี้ผมมีมันอยู่ใน original album ทั้งหมดแต่ฟังจากที่ไหน ก็ไม่เคยรู้สึกผูกพันและลงตัวเท่ากับฟังจากอัลบั้มปกแดงนี้ปีหลังๆมานี้ ผมอาจจะไม่ได้ฟังอัลบั้มนี้ทุกปีแต่ทุกครั้งที่หยิบมันขึ้นมา ก็อดไม่ได้ที่จะเปิดฟังต่อเนืองจนจบอย่างอิ่มเอมทุกครั้งและถ้าไฟจะไหม้บ้าน หรือเกิดซือนามิจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจะอะไรก็ตามที่ทำให้ผมมีโอกาสครอบครองแค่อัลบั้มเดียวไปชั่วชีวิตที่เหลือผมก็จะเลือกไอ้ปกแดงนี่ล่ะครับ รักนิรันดร์จริงๆเรา
คิดอยู่หลายตลบว่าจะเขียนถึงมันอย่างไรดีใน Album of My Life วันเปิดงานนี้เขียนวิจารณ์ตรงๆเขียนเล่าที่มาที่ไปทีละเพลงเขียนเป็นเรื่องสั้น ให้แต่ละเพลงแอบมีชีวิตแบบ Toy Story และนางมิเชลล์ต้องคร่ำครวญหาสามี Nowhere Man ที่หายไปเมื่อ Yesterday และ...แต่สุดท้ายผมก็อยากจะเขียนแบบนี้ครับผมอยากจะขอบคุณทุกเพลงในอัลบั้มนี้ที่เป็นเพื่อนผมให้ความสุขผมสอนผมให้รู้จักอะไรหลายๆอย่างในชีวิตผมอยากขอบคุณพวกเขาและเธอทีละเพลง... จะหาว่าผมบ้าก็ยอมล่ะ ที่คิดว่าแต่ละเพลงในนี้มีชีวิต เหมือนเป็นญาติสนิทที่ผมรู้กำเนิด รู้เบื้องหลังบางคน ... บางเพลง รู้แม้กระทั่งมีตำหนิมีปานแดงที่ไหนเริ่มนะครับ
ขอบคุณ Love Me Do ที่สอนให้ผมเข้าใจว่าความรักนั้นมันไม่ได้ยุ่งยากไปกว่า การจูนให้ตรงกันของคนสองคน
Please Please Me นายทำให้ฉันเข้าใจว่าชีวิตบางทีก็ต้องมีการเรียกร้อง แม้ปากจะบอกว่าไม่อยากจะบ่น
ขอบคุณ From Me To You ที่ให้ยืมตัวโน้ตมาให้ผมร้องที่เชียงใหม่วันนั้น แม้ว่ามันจะไม่ได้เหมาะกับกาละเทศะเลย แต่เราก็สนุกด้วยกัน
She Loves You ขอบคุณสำหรับเสียงตะโกน เย้ เย เย นั้น ที่ฉันคิดเสมอว่ามันคือเสียงร้องไห้ของไอ้หนุ่มที่มาบอกข่าวดีให้เพื่อนคนนั้น ผมเชื่อว่ามันแอบรักชีอยู่
ขอบคุณ I Want To Hold Your Hand ที่เป็นบทเพลงก่อนวัยเรียนให้ผมในวัยที่ยังไม่เคยสัมผัสมือสาวใด และถึงเวลาจริงๆก็ไม่เคยได้ร้องเพลงนี้ก่อน
ALL My Loving นายช่างเข้าใจความรู้สึกของการพลัดพราก และอารมณ์ของการเขียนจดหมายเสียจริง
Can't Buy Me Love ใช่เลย เงินซื้อคนรักได้ แต่ซื้อความรักไม่ได้ และฉันยังจำฉากใน A Hard Day's Night ที่สุดจะมั่วและแสนสนุกนั้นได้ดี และเราเคยคิดว่าท่อนโซโลกีต้าร์ของจอร์จใน AHDN มันช่างว่องไวอะไรเช่นนั้น อิอิ
And I Love Her ขอบคุณที่เป็นบทเรียนแรกๆของการเล่นอีเลกโทนเป็นเพื่อนฉัน (ควบไปกับ Ob-La-Di, Ob-La-Da)
Eight Days A Week สารภาพว่าฉันไม่ค่อยชอบนายนัก เพราะดูนายจะอ้อนเกินและไม่จริงใจ แต่นั่นมันอดีต สุดท้ายเมื่อนายยืนยัน ฉันก็เชื่อว่าคนรักกันจริงๆมันรุ้สึกอย่างนั้นได้ วันนึงอยากจะให้เกิน 24 ชม. สัปดาห์หนึ่ง 8 วันก็อาจจะน้อยไป
I Feel Fine เคยพูดถึงนายไปทีนึงแล้วใน My Top Ten Forever พร้อมๆกับ In My Life นายคงรู้นะ ทั้งสองเลย ว่าเรารักนายแค่ไหน
Ticket To Ride ขอบคุณสำหรับเสียงส่งกลองที่แสนจะน่ารัก และความเจ็บปวดของการพลัดพรากบนท่วงทำนองที่เบิกบาน
Yesterday เราเคยสงสัยในตัวนาย เราว่า Yesterday Once More เพราะกว่าอีก ขอโทษนะ เรามันโง่เอง นายสอนเราทางอ้อมด้วยว่าไม่ควรปากไม่ดีแล้วจะมาเสียใจทีหลัง อ้อ แล้วเราก็เลิกสงสัยแล้วด้วยว่าทำไมคนชอบเอานายไปร้อง
Help! นายทำให้เราคิดถึงหนังสนุกๆเรื่องนั้น และความดีใจจนเนื้อเต้นของเรา ตอนได้เห็นเพลงนี้ออกทีวีในรายการของ American Top 40 ที่จัดอันดับอะไรซักอย่าง และเพลงนี้เป็นเพลงที่ 1
You've Got To Hide Your Love Away เราไม่ค่อยชอบตอนนาย Hey! เลย แต่ก็ขอบใจนะ เพราะนายคงจะต้องตะคอกหน่อยใช่ไหม กลัวว่าเราจะไม่ hide my love?
We Can Work It Out ขอบคุณที่ทำให้เรานึกได้ว่าเราวิ่งไปถามแม่ว่า work it out แปลว่าอะไร
DayTripper นายทำให้เรารักเสียงแทมโบรีน และเราก็รักนายมากขึ้นทุกปีๆรู้ไหม
Drive My Car เราไม่เคยได้ยินใครร้องเพลงแบบนี้มาก่อน เหมือนพูด แล้วยังมีมาบีบแตรกันกลางเพลงอีก เราสนุกเสมอกับเพลงนี้ และนายหลอกลวงเรามาหลายปีว่าใครเป็นใครในเพลงนี้ (ความจริงเราโง่เอง)
Norwegian Wood ขอบคุณสำหรับเสียงซีต้าร์ที่เราไม่เคยได้ยินจากไหนมาก่อน
Nowhere Man ทำให้เรารู้ว่าเสียงของจอห์น พอล จอร์จ นี้ช่างกลมกล่อมเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างสุดยอด เราชอบการเล่นคำของนายด้วย แม้ว่าเราจะงงๆก็เหอะ
Michelle ทำให้เราพูด(ร้อง) ฝรั่งเศสเป็น และคงมีอีกหลายล้านคนที่เป็นอย่างเรา
Girl เราได้ยินมาว่าจอร์จ มาร์ตินชอบนายนะ เราว่านายเหนือชั้นมากกว่าใครๆ นายไม่เหมือนใครจริงๆ
Paperback Writer นายทำให้ฉันอยากเป็นนาย แต่น่าจะกลายเป็น Facebook Writer ซะมากกว่า
Eleanor Rigby ฉันอยากจะไปงานศพเธอจัง ถ้าจะให้ดีฉันอยากเจอเธอก่อนตาย เราอาจจะได้คุยอะไรกันข้างหน้าต่างบานนั้นซักหน่อย
Yellow Submarine เธอทำให้ฉันใฝ่ฝันจะมีเรือดำน้ำส่วนตัว
เหนื่อยจัง... แต่ก็มีความสุขขอบคุณอีกครั้งสำหรับหน้าปกที่คล้ายๆ Please Please Me ผมกำลังจะเดินขึ้นไปหาพวกคุณนะ ริงโก้,พอล,จอร์จ และ จอห์น รอหน่อยนะ (นานๆก็ได้)

คำสารภาพของวงดนตรีป๊อบวงหนึ่ง

THE STYLE COUNCIL , Confessions Of A Pop Group (1988)

-----------------------

ผมไม่ค่อยประทับใจกับงานของพอล เวลเลอร์นัก ไม่ว่าจะเป็นผลงานยุคอยู่กับ The Jam หรืองานเดี่ยว (เว้น Heavy Soul อันนึงแล้วกัน) มีแต่ที่ออกกับ The Style Council นี่แหละที่ฟังได้ไม่รู้เบื่อ Confessions เป็นงานชุดที่ 4 ของพวกเขา หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมกับสองอัลบั้มแรก Cafe' Bleu และ Our Favorite Shop แต่เริ่มมาเป๋ๆกับ The Cost Of Loving ที่เน้นโซลหนักๆจนแฟนเริ่มสับสนว่าพวกเขาจะมาแนวไหนกันแน่ (พอลออกจาก The Jam มาเพราะเขาต้องการขยายแนวทางดนตรีออกไปในทิศทางของแจ๊สและโซล แต่เขาคิดว่าคงไม่เหมาะที่จะทำกับ The Jam)

Confessions เป็นงานที่ดูเหมือนพอลจะตั้งใจจะให้ออกมาเป็นมาสเตอร์พีซ แผ่นเสียงหน้าแรกมีชื่อเล่นว่า 'piano paintings' ที่ทุกเพลงจะเป็นแนวเน้นเสียงร้องและมีเปียโนแต่งแต้มอย่างชื่อว่า บวกกับเครื่องดนตรีคลาสสิกเล็กๆน้อยๆและเสียงร้องประสานบางเบาล่องลอย ส่วนตัวผมชอบทั้งห้าเพลงในหน้านี้ บางคนบอกว่านี่คือ Pet Sounds แห่งยุค 80's เพลง The Story Of Someone's Shoe ที่นำมาให้ฟังเป็นแทร็คที่ 3 จากหน้านี้ มันเป็นเรื่องราวของวิญญาณอันว่างเปล่าของวัฒนธรรมความรักแบบไม่ทันข้ามคืน เสียงไวบราโฟนนิ๊งหน่องให้อารมณ์ร่วมอย่างน่าประหลาดเมื่อผสานไปกับเสียงร้องอ่อนโยนของวงประสานเสียง Swingle Singers ที่ลอยฟุ้งอยู่เป็น wallpaper ด้านหลังแต่บางขณะก็แอบโอบล้อมแทบจะกอดตัวคนฟัง!

ส่วนหน้าสองมีชื่อว่า Confessions Of A Pop-Group ที่ดูเหมือนจะเป็นสรุปผลงานและแนวทางทั้งหมดที่ Style Council ทำมา ดนตรี upbeat ขึ้นจากความซึมเซาของหน้าแรก ท่วงทำนองที่สดใสดำเนินเกี่ยวก้อยไปกับดนตรีที่รุ่มรวยอารมณ์ของริธึ่มแอนด์บลูส์และแจ๊สแบบกระหนุงกระหนิง เสียงเบสที่หนักอึ้งเหมือนดนตรีเปิดในคลับ เพลงที่เด่นมากในหน้านี้คือ How She Threw It All Away ทีประดับประดาด้วยเครื่องเป่าแพรวพริ้วราวกับเพลงเอกของ Earth, Wind and Fire ยุครุ่งเรือง

Confessions ประสบความ...หายนะทั้งทางด้านยอดขายและเสียงวิจารณ์โดยทั่วไป ตัวอัลบั้มเองไปได้แค่อันดับ 15 ในอังกฤษและก็ร่วงหล่นหายไปในเวลาแค่สามสัปดาห์ แม้แต่allmusic.com ที่ปกติจะรับบทนักวิจารณ์ปากหวานโดยตลอดยังให้อัลบั้มนี้แค่ 1 ดาว

แต่การฟังเพลงเป็นเรื่องปัจเจกนิยมไม่ใช่หรือ(ถ้าคุณไม่หลอกตัวเอง) จะไปสนยอดขายหรือคำวิจารณ์ชาวบ้านไปไย ผมให้อัลบั้มนี้สามดาวครึ่งครับ

L....S....D

"LSD"
*********************
(จากหนังสือ A Hard Day's Write ของ Steve Turner)
ในเมื่อมีผู้ถามมา ก็ขอลัดคิวเล่าให้ฟังกันก่อนเลย สำหรับเพลง Lucy In The Sky With Diamonds ที่ร่ำลือกันไม่เลิกราว่าถ้าย่อชื่อเพลงแล้ว จะได้ความว่า LSD...ยาเสพติดที่ฮ็อทที่สุดแห่งยุค 60's (ชื่อเต็ม Lysergic acid diethylamide)
บ่ายวันหนึ่งตอนต้นปี 1967 Julian Lennon กลับบ้านมาจากสถานรับเลี้ยงเด็ก พร้อมกับภาพวาดที่เขาบอกว่าเป็นเพื่อนร่วมชั้นของเขาคนหนึ่ง เป็นเด็กหญิงอายุสี่ขวบชื่อ Lucy O’Donnell. ขณะที่อธิบายภาพเขียนให้พ่อฟัง จูเลียนบรรยายภาพว่า Lucy – in the sky with diamonds.
วลีนี้ติดใจจอห์นและไปจุดประกายให้กระแสความคิดหลั่งไหล กลายมาเป็นเพลงชวนฝัน Lucy In The Sky With Diamonds เป็นหนึ่งในสามแทรคจากอัลบั้ม Sgt.Pepper ซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสื่อมวลชนเนื่องจากถูกหาว่าเป็นเพลงที่ “เกี่ยวกับยาเสพติด”. แม้ว่าดูจะเป็นไปไม่ได้ที่จอห์นจะเขียนเพลงฝันกลางวันแบบนี้ออกมา โดยไม่เคยทดลองใช้ยามาก่อน แต่เพลงนี้จริงๆแล้วได้อิทธิพลจากความหลงใหลใน surrealism ของจอห์นและงานของ Lewis Caroll (ผู้แต่ง Alice in Wonder Land) ในปริมาณพอๆกัน.
คำเล่าลือที่ว่าเพลงนี้เป็นคำบรรยายเกี่ยวกับภาพหลอนขณะเมายา LSD ถูกทำให้เป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อมีคนสังเกตุว่าตัวย่อของเพลงนี้เอามารวมกันเขียนได้ว่า LSD. แต่จอห์นก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธอย่างสม่ำเสมอ แม้จะได้ให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับยาที่เขา เคย ใช้. เขายืนยันว่าชื่อเพลงนั้นเอามาจากสิ่งที่ Julian เล่าเกี่ยวกับภาพเขียน. จูเลี่ยนเองรำลึกความหลังว่า “ผมไม่รู้ว่าทำไมผมถึงไปเรียกมันว่าอย่างนั้น หรือทำไมมันถึงเด่นออกมากว่าภาพเขียนอื่นๆของผม แต่เห็นได้ชัดว่าผมปิ๊ง Lucy แน่ๆตอนอายุเท่านั้น. ผมมักจะโชว์ทุกอย่างที่ผมสร้างหรือวาดที่โรงเรียนให้พ่อดู และอันนี้ก็เกิดไปจุดประกายไอเดียให้เพลงเกี่ยวกับ Lucy ที่บินอยู่บนฟ้ากับหมู่เพชร”.
Lucy O’ Donnell (ตอนนี้อายุ 36 (หนังสือเล่มนี้ออกพิมพ์ 1999) และทำงานเป็นครูสอนเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ) อาศัยอยู่ใกล้ๆครอบครัว Lennon ใน Weybridge และเธอกับ Julian ก็เคยเป็นนักเรียนที่ Heath House โรงเลี้ยงเด็กที่ดำเงินงานโดยคุณป้าแก่ๆสองคนในบ้านยุค Edwardian ที่เต็มไปด้วยไม้เลื้อย. “ฉันจำ Julian ได้สมัยอยู่ที่โรงเรียน” Lucy บอก เธอไม่ได้รู้ตัวว่าได้เข้าไปอยู่เป็นตำนานในเพลง Beatles จนกระทั่งอายุสิบสาม. “ฉันยังจำเขาได้ดีมาก ยังจำหน้าเขาได้ชัดเจนอยู่เลย เราเคยนั่งโต๊ะข้างๆกัน โต๊ะนักเรียนแบบโบราณน่ะ. บ้านนั้นมันใหญ่มหึมาและเขาก็มีผ้าม่านหนักๆใหญ่ๆไว้แบ่งเป็นห้องๆ. Julian กับฉันเป็นคู่หูเด็กน้อยตัวแสบเลยล่ะ จากที่มีคนเขาบอกฉันน่ะนะ”.
จอห์นอ้างว่าภาพหลอนที่อยู่ในเพลงได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Wool And Water” อันเป็นบทๆหนึ่งในหนังสือของ Lewis Carroll ชื่อ Through The Looking Glass (ภาคต่อของ Alice In Wonder Land) ในที่ซึ่ง Alice ถูกพาล่องเรือพายไปในแม่น้ำโดยราชินีผู้กลายร่างไปเป็นแกะอย่างฉับพลัน.
สมัยจอห์นเป็นเด็ก Alice’s Adventures In Wonderland กับ Through The Looking Glass เป็นหนังสือที่จอห์นโปรดปรานทั้งสองเล่ม. เขาบอกว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้ว่าภาพหลอนที่เขาเห็นในวัยเด็กไม่ได้หมายความว่าเขาบ้า มาจากการอ่านหนังสือเหล่านี้เอง. “Surrealism สำหรับผมคือความจริง” เขาบอก “Psychedelic vision เป็นความจริงสำหรับผมและเป็นอย่างนั้นเสมอมา”.
ด้วยเหตุผลเดียวกัน รายการ The Goon Show อันเป็นรายการวิทยุแนวตลก จึงดึงความสนใจของจอห์นได้เป็นอย่างดี. สคริปท์ของรายการ The Goon Show แรกเริ่มเดิมทีได้รับการเขียนส่วนหลักๆโดย Spike Milligan นักเขียนตลกล้อเลียนผู้ มุ่งเป้าไปที่ความแออัดยุคหลังสงครามและทำให้ตลกแบบเหนือจริงเป็นที่นิยม. ตลกแบบแหกคอกที่ The Beatles ได้รับคำสรรเสริญนั้นได้อิทธิพลมาจาก The Goons อยู่หลายส่วน เช่นเดียวกับลักษณะทางงานเขียนและบทกวีของจอห์น. เขาบอก Spike Milligan ว่า Lucy in the Sky With Diamonds และเพลงอื่นๆอีกหลายเพลง มีส่วนได้รับแรงดลใจมาจากบทพูดของ Goon Show . “เราเคยพูดถึง plasticine ties ใน Goon Show และคำนี้ก็กระดืบเข้าไปอยู่ในเพลง Lucy ท่อนที่ว่า plasticine porters with looking glass ties” Mulligan ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนกับ George Martin กล่าว เขาเคยนั่งอยู่ใน session การอัดเสียง Sgt.Pepper ครั้งหนึ่ง “ผมรู้จัก Lennon ค่อนข้างดีทีเดียว” เขาบอก “เขามักจะคุยเรื่อง comedy อยู่เสมอในอดีต. เขาเป็นแฟนเหนียวแน่นของ Goon Show. ไอ้สิ่งต่างๆเหล่านี้มันเลิกไปก็ตอนที่เขาแต่งงานกับ Yoko Ono น่ะแหละ. ทุกอย่างหยุดหมด. เขาไม่เคยถามหาผมอีกเลยหลังจากนั้น”.
เมื่อพอลมาถึง Weybridge เพื่อทำงานเพลงชิ้นนี้ จอห์นเพิ่งแต่งท่อนแรกกับท่อนคอรัสเสร็จเท่านั้น. ช่วงที่เหลือในการเขียนเพลงนี้ พวกเขาแลกกันใส่เนื้อและภาพของเพลง. พอลเป็นคนคิดเรื่อง newspaper taxi และ cellophane flower. ส่วนจอห์นเป็นคนคิด kaleidoscope eyes.

Twist and Shout

"Twist and Shout"

**********

(from "Revolution In The Head" by Ian Macdonald)

--------------

แต่งโดย Medley-Russell (นามปากกาของ Bert Berns นักแต่งเพลงชาวนิวยอร์ค)
จอห์น-ร้องนำ,ริธึ่มกีต้าร์
พอล-ประสาน,เบส
จอร์จ-ประสาน,ลีดกีต้าร์
ริงโก้-กลอง
บันทึกเสียง- 11 กุมภาพันธ์ 1963 แอบบี้โร้ด 2

หลังจากพวกเขาบันทึกเสียง Baby It's You เรียบร้อยแล้ว นาฬิกาที่สตูดิโอหมายเลขสองชี้ไปที่เลขสิบ-สี่ทุ่ม นั่นหมายถึงพวกเขาอัดเสียงกันมาสิบสองชั่วโมงเต็มๆแล้ว และเวลาอย่างเป็นทางการที่จองเอาไว้ก็หมดไปแล้วด้วย แต่จอร์จ มาร์ตินยังต้องการอีกหนึ่งเพลง อะไรสักอย่างที่จะส่งอัลบั้มนี้ออกไปอย่างระเบิดเถิดเทิง ระหว่างนั้นจอร์จและทีมงานได้หยุดพักและพากันออกไปที่แคนทีนของแอบบี้โร้ดเพื่อดื่มกาแฟแก้วสุดท้าย (หรือในกรณีของจอห์น,นมอุ่นๆสำหรับคอที่ระบมไปหมดของเขา) พวกเขารู้ว่าเค้าจะต้องทำอะไรต่อไป-สิ่งที่เอะอะตึงตังที่สุดในการแสดงของ The Beatles :Twist And Shoutเพลงเก่าของศิลปินครอบครัวผิวดำจากซินซินเนติ-The Isley Brothers เพลงที่เต็มไปด้วยเสียงกรีดร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันเป็นเพลงที่ถูกแฟนๆเรียกร้องเสมอ แต่สำหรับคืนนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเล่นเพลงนี้เลย

กลับมาที่สตูดิโอหมายเลขสอง ,พวกเขาทราบดีว่ามีโอกาสอย่างมากแค่สองครั้งในการที่จะบันทึกเสียงเพลงหฤโหดนี้ลงในม้วนเทป ก่อนที่เสียงของจอห์นจะไม่เหลือ เวลาสี่ทุ่มครึ่ง ,จอห์นปลดเสื้อของเขาลงถึงเอว ขณะที่คนอื่นๆกระตุ้นตัวเองด้วยการให้สตาฟฟ์ในคอนโทรลรูมรับบทเป็น"ผู้ชม"ให้, พวกเขาเริ่มบทเพลง มันเป็นการร้องบรรเลงที่เฉียบขาดและพลุ่งพล่าน สร้างความตะลึงงันให้บรรดาเทคนิเชียนทั้งหมดในห้องอัด พวกบีทเทิ่ลส์เองก็รู้สึกเบิกบานไปด้วย (ตอนท้ายเพลงจะได้ยินพอลแหกปากร้อง 'Hey!' อย่างสะใจ) พวกเขาพยายามจะเล่นอีกเทค แต่ก็พบว่าจอห์นไม่เหลือเสียงอะไรออกมาจากลำคออีกแล้ว ในที่สุดเซสชั่นอันยาวนานก็จบลงแค่นั้น แต่ดูเหมือนบรรยากาศในสตูดิโอยังร้อนระอุอยู่ ไม่เคยมีการบันทึกเสียงอะไรเข้มข้นขนาดนี้มาก่อนใน British Pop Studio

คล้ายๆกับที่พวกเขาทำในการเล่นเพลง Boys ในเพลงนี้พวกเขาเรียบเรียงท่อนเบสให้แจ่มชัดขึ้นโดยเน้นเป็นท่อนริฟฟ์และเสริมด้วยเสียงลีดกีต้าร์ของจอร์จเข้าไปอีก และอาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นการเล่นกลองที่เลิศเลอที่สุดในอัลบั้มนี้ของริงโก้-เขาฟาดมันอย่างถึงพริกถึงขิงเป็นต้นแบบของเฮฟวี่เมทัลได้เลย The Beatles กลายร่างมาเป็นเครื่องจักรกระหน่ำดนตรีไปแล้ว!

ในเวอร์ชั่นของ The Isley Brothers เสียงเบสจะดูหลวมกว่า และภาพรวมจะวุ่นวายด้วยเสียงแซ็กและทรัมเป็ตแบบละติน The Beatles ลดคีย์ลง จอห์นหลีกเลี่ยงเสียงร้องบีบเล็กหวีดหวิวอันเหนือชั้นในแบบเดิมของโรนัลด์ ไอซ์ลี่ย์ มาเป็นการร้องแบบอ่อนไหวใส่อารมณ์น้อยลงแต่ท้าทายดุดันแบบวายร้ายยิ่งขึ้น ด้วยเสียงแหบกร้านของเขา 'C'mon, c'mon, c'mon, c'mon, baby, now!'มันช่างสร้างความคลั่งไคล้ให้แฟนเพลงผิวขาวสาวๆในปี1963ยิ่งนัก

ใครที่เคยฟังพวกเขาเล่นในยุคที่พวกเขายังแสดงในคลับมักยืนยันว่าจอร์จ มาร์ตินไม่อาจ"จับ"เสียงสดๆของเขาได้ มันก็เป็นความจริง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคุณภาพในการบันทึกเสียงของห้องอัดในอังกฤษที่ไม่สามารถบันทึกเสียงเบสอันจำเป็นสำหรับร็อคแอนด์โรลได้ดีพอ ใน Twist And Shout มาร์ตินก็พยายามจะแก้ไขจุดนี้โดยเงยหน้ากลองและปรับเกนบันทึกเสียงให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้บรรยาการอบๆ[ambience]มากขึ้น แม้จะทำเช่นนั้นแล้ว เสียงก้องกระหึ่มของวงที่ออกมาจากขีดสุดของแอมป์ Vox AC30ก็ถูกบันทึกไว้เป็นบางส่วนเท่านั้น แต่แค่นั้นมันก็เป็นความยิ่งใหญ่แห่งห้วงเวลาแล้ว ด้วยความดิบที่ไม่มีศิลปินผิวขาวใดๆจะมาเทียบได้ และด้วยความป่าเถื่อนกว่าที่"ผู้ใหญ่"จะยอมรับ ด้วยประการฉะนี้ มันจึงประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงของBeatles ในยุค Beatlemania: บทเพลงที่ไม่ว่าผู้ปกครองที่ใจกว้างขนาดไหนก็ยังหวาดผว

Guilty...Pleasures

"Guilty Pleasures" (2005)
-----------------
‘Guilty Pleasures’ คำนี้อยู่คนละฝั่งกับคำว่าอินเทรนด์ ชื่ออัลบั้มที่เหมาะสมมากกับการเป็นภาค 2 ของอัลบั้ม Guilty ที่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของสไตร์แซนด์และแบรี่ กิบบ์เมื่อ 25 ปีก่อน มันเป็นความพึงพอใจส่วนตัวที่จะทำเพลงออกมาอย่างนี้ของเธอและแบรี่ และสำหรับผู้ฟัง การเปิดอัลบั้มนี้ให้เพื่อนฝูงฟังก็คงจะไม่มีใครปรบมือให้กับรสนิยม แต่คุณจะมีความสุขไปกับ Guilty Pleasures นี้ถ้าสิ่งที่คุณต้องการคืออัลบั้มป๊อบเพราะๆแบบมีคลาสที่ฟังได้ทั้งชุดโดยไม่สนใจหรืออิงกับแนวดนตรีของโลกภาพนอกสักนิด
Guilty ออกมาในปี 1980 ขณะที่แบรี่พี่ใหญ่แห่ง Bee Geesกำลังมีศักยภาพสุดพรรณนาในโลกดนตรีป๊อบ มันเป็นอัลบั้มที่ดังโคตรๆๆในยุคนั้น คนฟังเพลงบ้านเราไม่มีใครเอาหูหลบเพลง Woman In Love, Guilty และ What Kind Of Fool พ้น การร่วมงานระหว่างบาบร่ากับแบรี่เป็นส่วนผสมที่หลายคนบอกว่าเป็น magic มันไม่ใช่แค่ว่าเอาบาบร่ามาร้องเพลงบีจีส์ แต่บทเพลงเหล่านั้นแบรี่ตัดเย็บมาให้เข้ากับเสียงร้องของเธอโดยเฉพาะ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองเอื้อนเสียง blend เข้าด้วยกัน แม้แต่บาบร่าเองก็ยังบอกว่าเหมือนเธอได้ยิน “เสียงที่สาม” (ผีหรือเปล่า)
Guilty Pleasures ไม่มีเพลงที่เป็นkiller song ขนาดใน Guilty แต่ภาพรวมของมันก็ยังเป็นป๊อบชั้นดีที่เรียบเรียงและทำดนตรีออกมาราวกับนี่เป็นปี 1985 มีจังหวะบอสซาโนวานิ่มๆเยอะหน่อย เพราะเจ้าของอัลบั้มกระซิบคนทำเพลงว่าเป็นแนวที่เธอชอบฟังในช่วงนี้ แบรี่พาลูกชายสองคน-แอชลีย์และสตีเฟนมาช่วยแต่งหลายเพลง เขายังเล่นกีต้าร์และร้องประสานในแทบทุกเพลงด้วย
เสียงร้องของสไตร์แซนด์ในวัย 63 ยังเจิดจรัส แม้จะขุ่นมัวไปบ้างเมื่อเทียบกับสมัยสาวๆแต่เธอก็ยังพริ้วไปกับตัวโน้ตสูงสุดต่ำสุดได้อย่างไม่ออกอาการลำบาก และทุกครั้งที่เธอร้องบัลลาดมันเหมือนแม้นว่าเอกภพจะหยุดฟัง (Our Love) Don’t Throw It All Away (เพลงเก่าแก่ที่แบรี่เคยแต่งให้แอนดี้ กิ๊บบ์น้องชายของเขาผู้ล่วงลับร้องไว้ในปี 1978) คือตัวอย่างที่ดีที่สุด ฟังแล้วอยากให้เธอนำเพลงเพราะๆของบีจีส์มาร้องให้มันยกชุดไปเลย โลภจัง แบรี่ร้องคู่ด้วยสองเพลงคือ Come Tomorrow ดูวอบสไตล์ยุค50’s ที่โมดิไฟด์แล้ว เป็นการเขียนเมโลดี้ที่เยี่ยมที่สุดในรอบหลายปีของแบรี่ และ Above The Law (ชื่อเพลงล้อ Guilty นิดๆ) ที่สองหนุ่มสาว(ใหญ่มาก) หยอกเอินกันอย่างน่าหยิกตีนกา แทร็คอื่นๆที่น่าฟังก็มี Stranger In A Strange Land เพลงรักระหว่างรบที่เป็นซิงเกิ้ลแรก จังหวะกึ่งวอลซ์ คอรัสอลังการ (แบรี่เหมาคนเดียว) Night Of My Life ดิสโก้ขอรับครับท่าน แม้จะเหมือนจิออร์จิโอ มอโรเดอร์ มากกว่าบีจีส์ก็เถอะ ฟังแล้วก็ยิ้ม ก็นี่อัลบั้ม Guilty Pleasures นี่นา Letting Go เพลงเก่าที่แบรี่เคยส่งให้บาบร่าตั้งแต่ปี 1984 แต่เธอหาโอกาสบันทึกเสียงไม่ได้ แนวมิวสิคัลคลอเปียโนแบบที่เธอถนัด จบอัลบั้มอย่างงดงาม
แฟนๆของทั้งบาบร่าและแบรี่ (และบีจีส์) จะมีความหฤหรรษ์ในการเปิดอัลบั้มนี้ฟังรอบแล้วรอบเล่า บาบร่าไม่ได้มีงานคอมเมอร์เชียลป๊อบเยี่ยมๆอย่างนี้มาแสนนาน ส่วนแฟนบีจีส์แค่ได้ยินเสียงแบรี่และเพลงที่เขาแต่งก็แทบจะโทรเรียกรวมพลฉลองกันแล้ว

No Reply At All



"No Reply At All"
แต่งโดย : PHIL COLLINS, MICHAEL RUTHERFORD, ANTHONY BANKS
*****************
เพลงจากอัลบั้มของ Genesis "Abacab" ในปี 1981 เพลงนี้คงทำร้ายจิตใจแฟนเก่าๆของวงอย่างสาหัสไม่น้อยทีเดียว ด้วยจังหวะฟังกี้ร็อคและอารมณ์แบบริธึมแอนด์บลูส์อันไม่เหลือเยื่อใยใดๆกับวันคืนเก่าๆของโปรเกรสซีพร็อคอันซับซ้อนในแบบพวกเขา เรื่องของเรื่องก็คือฟิล คอลลินส์ นักร้องนำและมือกลอง Genesis จ้างวงเครื่องเป่าจาก Earth, Wind and Fire มาเล่นให้ในซิงเกิ้ลฮิต 'I Missed Again' ของเขาจากอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก 'Face Value' แล้วก็เลยติดลมบนอยากทำอย่างนั้นอีกครั้งในอัลบั้มนี้ของ Genesis ณ วินาทีนั้น ความเกรงใจแฟนๆเหมือนจะไม่อยู่ในความคิดของเขา ฟิลเล่าว่า.....
"ผมคิดว่า ไหนๆเราก็จะแปลงโฉมกันใหม่แล้วทำไมไม่ใส่เครื่องเป่าลงไปในเพลงล่ะ? นี่มันเป็นเพลงที่มีสุ้มเสียงของฟังกี้และอาร์แอนด์บีอยู่แล้ว งั้นก็ใส่เครื่องเป่าลงไปกันเถอะ แล้วเราก็ใส่มันลงไป และคนฟังก็ด่ากันเช็ด"
คุณอาจบอกได้ว่านี่มันฟังเหมือนงานเดี่ยวของฟิลชัดๆ แต่ผมยืนยันว่ามันไม่ใช่ 'No Reply At All' เป็นเพลงที่เหมือนงานเดี่ยวของฟิล คอลลินส์ ที่เล่นโดย Genesis ต่างหาก (ต่างกันนะ)
สำหรับเนื้อหาของมันในเพลงนี้ คอนเซ็พท์ก็คือ การไม่สามารถ connect กันได้ระหว่างเขากับ 'you' ที่อาจเป็นคนรักหรือเพื่อนของเขา และการไม่มีคำตอบใดๆก็ทำให้เขาคิดไปต่างๆนาๆ แม้ว่าเนื้อหาจะเต็มไปด้วยความอึดอัด แต่เสียงเครื่องเป่าสุดปรี็ด, กลองไฟฟ้า(ปรบมือ) และดนตรีทุกชิ้นที่แน่นขนัด กับท่วงทำนองที่คึกคักเร้าใจ ทำให้เพลงนี้ฟังสนุกเสมอมา ตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปัจจุบัน
ซิงเกิ้ล 'No Reply At All' ติดอันดับสูงสุดบิลบอร์ดที่ #29 ในวันที่ 22 พ.ย. 1981 อย่างน้อยก็มีเสียงตอบรับจากแฟนๆบ้างล่ะน่า...!
-------------------
Talk to me, you never talk to me
Ooh,and it seems that I can speak
Well, I can hear my voice shoutin' out
But there's no reply at all
Look at me, you never look at me
Ooh, I've been sittin', starin', it seems so long
But you're lookin' through me
Like I wasn't here at all
No reply,you know there's no reply at all
Dance with me, you never dance with me
Ooh, and it seems that I can move
Well, I'm close to you, just close as I can get
Yet there's no reply at all
There's no reply at all
When I get the feelin' you're tryin' to tell me
Is there somethin' that I should know?
What excuse she is tryin' to sell me?
Should I be readin' stop or go?
'Cause I don't know
Be with me, why aren't you ever here with me
Ooh, I've been tryin' to get over there
Oh, but it's out of my reach
And there's no reply at all
There's no reply at all
When I get the feelin' you're tryin' to tell me
Is there somethin' that I should know?
What excuse is she tryin' to sell me?
Should I be readin' stop or go?
'Cause I don't know
Maybe deep down inside
I'm tryin' for no one else but me
I'm too stubborn to say, "The buck stops here
And it's not the one you're lookin' for"
But maybe deep down inside, I'm lyin'
To no one else but me
Oh and my back is up, I'm on my guard
With all the exits sealed, oh
Listen to me, how come you never listen to me
Ooh and it seems there's no way out
'Cause I've been tryin' but we cannot connect
And there's no reply at all
You know There's no reply at all
There's no reply at all
There's no reply at all
Tell me tell me is anybody listenin'? Ooh
There's no reply
There's no reply
Is anybody listnin? Ooh
There's no reply
There's no reply, tell me
Is anybody listenin'? Ooh
There's no reply
There's no reply
Is anybody listenin'? Ooh
There's no reply
There's no reply
Is anybody listenin'? Ooh
There's no reply
There's no reply
...

Like A Rolling Stone



"Like A Rolling Stone"
*******************
(เขียน-พ.ย. ๒๕๕๐)
“Judas!!” เสียงตะโกนจากแฟนเพลงคนหนึ่งใน Manchester Hall ดังก้องขึ้นมาบนเวที แน่นอนว่า บ๊อบ ดีแลนได้ยินมัน ความหมายก็คือเขาคิดว่าดีแลนทำตัวเป็นผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ตัวเองและแฟนเพลง สามปีที่ผ่านมาเขาคือพระเจ้าแห่งดนตรีโฟล์ค เนื้อหาที่งดงามและลึกซึ้งถูกขับร้องผ่านเสียงที่เหน่อกร้านไม่เหมือนใคร กีต้าร์โปร่ง และหีบเพลงปาก ดีแลนต้องการแค่นั้นสำหรับดนตรีของเขา และนั่นเป็นสิ่งที่แฟนเพลงผู้ซื่อสัตย์ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง การแสดงคืนนั้นบ๊อบก็ไม่ได้ทำร้ายจิตใจแฟนเพลงอนุรักษ์นิยมเสียทีเดียว บ๊อบก็เปิดการแสดงในช่วงแรกด้วยแนวโฟล์คกีต้าร์โปร่งแบบเดิมๆ ก่อนที่เขาจะกลับมาในเซ็ทหลังด้วยลีลาร็อคเต็มขั้นที่ดิบและดังชนิดที่แฟนเพลงในยุค 1965 ต้องกระอัก
“I don’t believe you.” ดีแลนคำรามตอบแฟนเพลงกลับลงไป “You’re a liar!” บ๊อบสำทับต่ออีกประโยค ก่อนที่จะหันกลับไปบอกลูกวงของเขาเบาๆพอได้ยินว่า “เล่นแม่งให้ดังสุดๆไปเลยเว้ย”
Like A Rolling Stone คือเพลงสุดท้ายสำหรับคืนนั้นซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่เคยได้ยินเพลงนี้มาก่อน เพราะมันยังไม่ได้ออกขายในตอนนั้น เมื่อพวกเขาถล่มเวทีด้วยพลังเสียงอันเกรี้ยวกราดนั้นจบลง เสียงปรบมือโห่ร้องที่ตามมาก็ทำให้เป็นที่แน่ชัดว่าทิศทางที่บ๊อบ ดีแลนกำลังจะก้าวไปนั้นย่อมมีผู้เดินตามเขาต้อยๆไปอีกมากมาย
เนื้อหาของมันช่างน่าศึกษาและตรงกับเรื่องราวในบ้านเรายิ่งนัก ดีแลนเป็นนักเขียนเพลงระดับมือหนึ่งของวงการมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และเพลงของเขาส่วนมากก็ไม่ได้เข้าใจกันง่ายๆและเป็นที่สนุกสนานของแฟนเพลงในการที่จะตีความกันไปต่างๆนาๆ แต่สำหรับ Like A Rolling Stone เมื่อมองในระดับที่เรียบง่ายที่สุด มันก็เป็นเรื่องชีวิตคนๆหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงกลับตาลปัตร จากความยิ่งใหญ่ไฮโซเรืองอำนาจ กร้าวกร่างไม่เคยเห็นศีรษะผู้ใดในสายตา พลันกลับต้องแหลกสลายกลายเป็นกรวดหินก้อนกระจ้อยที่ได้แต่กลิ้งไร้ทิศทางไปตามท้องถนน ไม่มีหนทางจะกลับบ้าน
Once upon a time you dressed so fine
You threw the bums a dime in your prime, didn't you?
People'd call, say, "Beware doll, you're bound to fall"
You thought they were all kiddin' you
You used to laugh about
Everybody that was hangin' out
Now you don't talk so loud
Now you don't seem so proud
About having to be scrounging for your next meal.
แวบแรกของความรู้สึก เหมือนกับดีแลน จะเยาะเย้ยผู้ยิ่งใหญ่ผู้โชคร้ายนั้นอย่างไร้ความเมตตา ด้วยการถามประโยคซ้ำๆว่า
How does it feel? To be on your own… like a rolling stone
แต่ในแว่บที่สองมันก็ดูเหมือนเป็นคำถามที่แสดงความห่วงไยอยู่ในที แต่ก็ไม่วายขุดเรื่องเก่าๆออกมาหาตะเข็บซ้ำเติม เห็นไหมล่ะ เราเตือนคุณแล้ว จะอย่างไรดีแลนก็จบเพลงด้วยประโยคทองเป็นคำแนะนำที่ซาบซึ้งและแสบสันต์สำหรับผู้มีบารมีตกงานตกกระป๋องผู้นี้
When you’ve got nothing. You got nothing to lose.
You're invisible now, you got no secrets to conceal.
ดีแลนเริ่มต้นเพลงนี้จากการเขียนเรื่องสั้นขนาดยาวประมาณ 20 หน้า และเขาใช้เวลาสามวันในช่วงเดือนมิ.ย. 1965 ในการที่จะสรุปมันลงมาเป็นเนื้อเพลงที่มีท่อนเวิร์ส 4 ท่อนและท่อนสร้อยอันท้าทายนั้น เขาได้คำว่า rolling stone มาจากเพลง Lost Highway ของ แฮงค์ วิลเลี่ยมส์ และท่วงทำนองของมันก็มีทางเดินคอร์ดคล้ายคลึงกับ La Bamba ของริทชี่ วาเลนส์
บ้านเราตอนนี้เท่าที่เห็นก็มีหินกลิ้งๆอย่างนี้อยู่หลายก้อนทีเดียว
From LP Highway 61 Revisited (1965)

Comfortably Numb PINK FLOYD



"Pink Floyd:Comfortably Numb"
-----------------------
บันทึกเสียงระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 1979 ก่อนจะออกสู่หูผู้ฟังในอัลบั้มคู่ Pink Floyd The Wall
แต่งโดย โรเจอร์ วอเตอร์ส และ เดวิด กิลมอร์ และก็ยังแบ่งกันร้องด้วย
********************
เนื้อหาของมันถูกตีความและกล่าวถึงในแง่ความหมายซ่อนเร้นและที่มามากมาย โรเจอร์เล่าว่าเป็นประสบการณ์ตรงของเขาเองที่เคยป่วยเป็นตับอักเสบแต่ต้องออกแสดงทั้งๆที่เดี้ยงเต็มทน หมอต้องฉีดยาให้ ระหว่างเล่นวอเตอร์สก็เบลอๆตลอดงานและรู้สึกว่ามือของเขาลอยๆเหมือน toy balloons
แต่แฟนเพลงบางกลุ่มกลับนึกถึงสภาพของซิด บาเร็ตในช่วงสุดท้ายก่อนที่เขาจะถูกเชิญออกจากวง แฟนกลุ่มนี้ยังยืนยันว่านี่เป็นเพลงที่พูดถึงการเสพยาอย่างชัดเจนที่สุด
แต่ถ้าดูในภาพยนคร์ Pink Floyd The Wall ก็จะไม่ต้องตีความมาก มันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ "พิงค์" นักดนตรีร็อคมีปัญหา ก่อนที่เขาจะแปรสภาพไปเป็นนาซีหลงยุค (รับบทโดยเซอร์บ๊อบ เกลดอฟ) อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะมีอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น...ไว้จะพูดถึงหนังทั้งเรื่องอีกที
Comfortably Numb เป็นเพลงเนิบๆในจังหวะ4/4 ท่วงทำนองและเสียงประสานงดงามแบบพิงค์ ฟลอยด์แท้ๆ และมันไม่ได้มีแค่ท่อนโซโลกีต้าร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกท่อนหนึ่งอยู่ในเพลง....แต่มันมีถึงสองท่อน!
มีการถกเถียงแย่งเครดิตการแต่งเพลงนี้กันอยู่พอสมควร ว่าใครแต่งอะไร ท่อนไหน ระหว่างสองผู้นำของวง แต่จากเดโมของเพลงนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า กิลมอร์เป็นคนแต่งเมโลดี้ท่อนคอรัสและใส่คอร์ดให้ท่อนเวิร์ส ส่วนโรเจอร์ แน่นอนว่าเขาแต่งเนื้อเพลงทั้งหมด และใส่ทำนองของเสียงร้องในท่อนเวิร์ส
นอกจากนั้นยังมีการฟาดฟันกันอีกถึงเรื่องการ arrange โรเจอร์อยากให้ออกมาเป็นร็อคนิ่มๆ แต่กิลมอร์อยากให้ได้หนักๆ พวกเขาทำออกมาสองเวอร์ชั่น และก็ไม่อาจตกลงกันได้ ผลที่ได้ออกมาก็เลยต้องตัดต่อสองแบบเข้าด้วยกัน แบบหลวมๆของโรเจอร์เริ่มตั้งแต่ต้นเพลงจนกระทั่งจบโซโลแรกในเวลา 2:45 หลังจากนั้นเป็นเวอร์ชั่นหนักๆของเดวิด (แต่มันก็ไม่ได้ต่างกันมากมายขนาดรู้สึกได้ชัด)
กิลมอร์อุ่นเครื่องด้วยโซโลแรกที่สวยงามหมดจด แต่ของจริงอยู่ที่โซโลสุดท้ายยาว 2 นาที มันคือนิพพานของการโซโล สมบูรณ์แบบทั้งเทคนิค ท่วงทำนอง จังหวะ และ อารมณ์ ไล่จากคอร์ดเสียงต่ำกับซาวนด์ที่แตกบางๆ เร่งรัดตัวโน้ตไปบนจังหวะเนิบหนัก ก่อนจะออดอ้อนเอื้อนเศร้าและเฟดไปอย่างอ้างว้าง....ไม่ว่าจะฟังกี่ครั้งก็ยังรู้สึกชาอย่างสุขๆเหมือนกับที่เพลงเค้าว่าไว้
ในการทัวร์ The Wall ยุคนั้น จะมีกำแพงค่อยๆสร้างขึ้นมากั้นระห่างผู้ชมกับนักดนตรีทีละน้อย และพอถึงโซโลเพลงนี้ เดวิดจะลอยขึ้นมาด้วยระบบยกไฮโดรลิก ยืนบนสันกำแพง ปักหลักกรีดเสียงกีต้าร์ แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังยอมรับว่าเป็นส่วนที่เขาชอบที่สุดในทัวร์นี้
----------------------
Hello?
Is there anybody in there?
Just nod if you can hear me.
Is there anyone home?
Come on now
I hear you're feeling down.
Well I can ease your pain,
Get you on your feet again.
Relax.
I need some information first.
Just the basic facts,
Can you show me where it hurts?
There is no pain, you are receding.
A distant ship's smoke on the horizon.
You are only coming through in waves.
Your lips move but I can't hear what you say
When I was a child I had a fever.
My hands felt just like two balloons.
Now I got that feeling once again.
I can't explain, you would not understand.
This is not how I am
I have become comfortably numb.
[guitar solo]
I have become comfortably numb.
Ok.
Just a little pinprick.
There'll be no more ...Aaaaaahhhhh!
But you may feel a little sick.
Can you stand up?
I do believe it's working good.
That'll keep you going for the show.

ย้อนเวลารีวิว Rubber Soul THE BEATLES



Rubber Soul-The Beatles (1965)
(รีวิวไว้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘)
------------------
อัลบั้มที่หวานฉ่ำที่สุดของสี่เต่าทองตลอดกาล น่าเสียดายที่มันไม่ถึงกับเพอร์เฟ็คท์เพราะมีเพลงเกรดบีหลายเพลงสอดแทรกเข้ามา คงเป็นเพราะพวกเขาต้องทำงานกับเส้นตายที่กระชั้นชิดจนไม่อาจหาเพลงระดับสุดยอดเข้ามาใส่ได้เต็มอัลบั้ม แต่แค่นี้มันก็มีเพลงระดับห้าดาวเต็มอัลบั้มแล้ว
ทุกวันนี้ เราคุ้นเคยกับ Rubber Soul มากเกินไป รู้จัก รู้เบื้องหลัง และฟังมันมากเกินไป และทุกๆคนดูจะเขียนและพูดถึงมันในลักษณะไม่หนีกันเท่าไหร่ แต่ลองจินตนาการว่าผมต้องวิจารณ์อัลบั้มใหม่นี้ในปลายปี 1965 ด้วยข้อมูลที่จำกัดและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป บทความนั้นจะเป็นอย่างไรนะ?

********************
The Beatles
Rubber Soul (Parlophone)
7.8/10
หลายๆเพลงในอัลบั้ม Help! ชี้ให้เห็นว่า The Beatles กำลังก้าวไปในทิศทางใด (และนั่นคือทิศทางของวงการดนตรีปัจจุบัน) เพลงร็อคแอนด์โรลสนุกๆลดน้อยลง ที่เพิ่มเข้ามาคือป๊อบ บัลลาด และ โฟล์คที่ละเมียดละไม มุมมองใหม่ๆในการเขียนเพลงเช่นใน Help! และ You’ve Got To Hide Your Love Away เค้าที่เห็นรางๆใน Help! ปรากฏชัดใน Rubber Soul อัลบั้มชุดที่หกในรอบสองปีของพวกเขา ซึ่งออกมาพร้อมกับซิงเกิ้ลดับเบิ้ลเอ-ไซด์ Day Tripper / We Can Work It Out (ซึ่งทั้งสองเพลงไม่อยู่ใน Rubber Soul) Day Tripper เป็นร็อคแบบ rave-up ที่มีท่อนริฟฟ์โดดเด่น น่าจะเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับการเล่นแสดงสด ตรงข้ามกับ We Can Work It Out จอห์นกับพอลร้องสลับกันคนละท่อน เนื้อหากล่าวถึงการแก้ปัญหาด้วยการรับฟังกันและกัน จังหวะ-ดนตรีทำได้น่าสนใจมาก เพลงนี้สามารถนำไปใส่ไว้ใน Rubber Soul ได้สบายๆ
เมื่อเทียบกับเพลงในซาวดน์แทร็ค Help! (ที่ออกเมื่อต้นปี-และไม่ต้องพูดถึงตัวหนังที่ออกจะเลอะ) แล้ว Beatles มีพัฒนาการขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ พวกเขาบันทึกเสียง Rubber Soul กันในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน และอัลบั้มก็ออกมาอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคมนี้เอง แต่ความเนี้ยบของงานในแต่ละเพลงนั้นมันเหมือนกับการประดิษฐ์ประดอยนานนับปี ความเอาใจใส่ในการบันทึกเสียง การเรียบเรียงเสียงร้องและการวางเสียงเครื่องดนตรีทำได้อย่างน่าชื่นชม ที่สุดของความเยี่ยมต้องยกให้การแต่งเพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ที่ยังมีจุดเด่นที่เมโลดี้อันงดงามแต่คราวนี้พวกเขาเพิ่มความลึกซึ้งและวิธีการคิดที่แปลกใหม่ในการเขียนเนื้อหาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เชื่อว่าหลายต่อหลายเพลงใน Rubber Soul ต้องกลายเป็นเพลงคลาสสิกของวงการในอนาคต
Drive My Car เป็นเรื่องปกติที่ Beatles จะเปิดอัลบั้มด้วยเพลงจังหวะคึกคัก เพลงนี้เด่นด้วยจังหวะกระตุกๆจาก cowbell จอห์นและพอลประสานเสียงกันแบบแปร่งๆแต่ก็มีเสน่ห์ดี เนื้อหายอกย้อนกว่าที่คิดและมีลูกฮาตอนจบ จอร์จกีต้าร์ได้อารมณ์
Norwegian Wood เนื้อหาออกอีโรติกแต่ทำนองออกไปทางอราบิค ดนตรีเน้นอคูสติก จอห์นร้องนำ จอร์จโซโลเครื่องดนตรีอินเดีย “ซีต้าร์” ให้อารมณ์ที่ลึกลับวังเวง (น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีคนนำเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาใช้ในเพลงป๊อบ)
Nowhere Man จอห์นพอลจอร์จร้องร่วมกัน เนื้อหาฟังดูกวนๆและวกวน ‘Nowhere man making his nowhere plans for nobody’ ทำนองยังเยี่ยม
จอร์จ แฮริสันแต่งสองเพลงในแผ่นนี้คือ Think For Yourself ที่พอลเล่นฟัซซ์เบสได้น่าฟังและ If I needed someone น่าจะเป็นเพลงที่ดีที่สุดของจอร์จที่เขาเคยแต่งมา กีต้าร์พริ้วเด่นมาก (บางคนบอกว่าคล้าย The Byrds)
พอลยังคงสร้างบัลลาดชั้นเยี่ยมตาม And I Love Her และ Yesterday ออกมาอีก คราวนี้คือ Michelle ที่เขาร้องภาษาฝรั่งเศสในบางท่อนด้วย ท่อนคอรัสง่ายๆที่ร้องว่า I Love You, I Love You, I Love You นั้นจับใจได้อย่างง่ายดาย
ในหน้าสองยังมีเพลงอ้อยสร้อยเพราะๆอีกสองเพลงคือ Girl จอห์นร้องในจังหวะวอลซ์ (ท่อนสร้อยสุดสร้างสรรค์ด้วยเสียงสูดหายใจเข้าเต็มปอดหลังร้องคำว่า Ah,,, Girl…Girllll….) และ In My Life บัลลาดหวนหาอดีต จอห์นร้องเช่นกัน จอร์จ มาร์ตินเล่นเปียโนโซโลท่อนกลาง (เสียงคล้าย Harpsichord)
Rubber Soul เป็นงานที่เติบโตขึ้นของเด็กหนุ่มจากลิเวอร์พูล พวกเขาดูจะยังเต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆในการสร้างสรรค์บทเพลง และแฟนๆก็ไม่น่าจะผิดหวังกับมันแต่อย่างใด น่าจับตามองต่อไปสำหรับก้าวต่อไปของพวกเขาครับ

เมื่อพระเจ้าเล่นแจ๊ซ




"เมื่อพระเจ้าเล่นแจ๊ซ"
*************************
Wynton Marsalis & Eric Clapton: Plays the Blues Live From Jazz at Lincoln Center ****
Genre: Blues, Jazz
Released: September 2011
หลังจากแคลปตัน (วัย 66 ) ตะลุยย้อนไปเล่นดนตรีกับ “ราก” ของเขาจนครบทุกแขนง และล่าสุดในงานเดี่ยว ชื่อเดียวกับนามสกุล Clapton เขาจับงานบลูส์-แจ๊ซเก่าๆที่เขาเคยฟังจากวิทยุในวัยเยาว์มาบรรเลง หนทางในการมาเล่นดนตรีกับยอดนักทรัมเป็ตในสายแจ๊ซอย่างวินตัน มาร์ซาลิส (วัย 49) จึงฟังดูเป็นเหตุเป็นผล แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคาดฝัน เพราะแคลปตันไม่เคยออกอัลบั้มกับนักดนตรีแจ๊ซแท้ๆแบบนี้มาก่อน แม้จะเคยเล่นดนตรีกับ David Sanborn, Joe Sample, Steve Gadd และ Marcus Miller มาก่อน แต่ดนตรีที่เล่นมันก็ออกมาเป็นแนวทางของ Slowhand เสียมากกว่า ส่วนมาร์ซาลิสก็เพิ่งออกงานทำนองนี้กับวิลลี่ เนลสันและนอราห์ โจนส์ไปได้ไม่นาน
อัลบั้มนี้เป็นบันทึกการแสดงสดที่โรสเธียเตอร์ในนิวยอร์คเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แคลปตันคุยกับมาร์ซาลิสคร่าวๆถึงโปรเจ็กนี้และทั้งคู่ก็ถูกคอกันเป็นอย่างดี ด้วยความเป็นนัก “สังเคราะห์” ดนตรียุคเก่าทั้งคู่ แคลปตันเลือกบทเพลงทั้งหมดที่จะเล่นในงานนี้ ซึ่งออกไปทางบลูส์-แจ๊ซย้อนลึกไปถึงยุค 20’s-40’s เว้นเพลงเดียวคือ Layla ที่มือเบสของมาร์ซาลิส- Carlos Henriquez เป็นคนเรียกร้องให้นำมาเล่นด้วย แคลปตันมีเวลา 3 วันสำหรับการฝึกซ้อม 12 เพลงกับวงดนตรีที่เขาไม่เคยเล่นด้วยมาก่อนในแนวทางที่ตนเองไม่คุ้นเคย มาร์ซาลิสรับหน้าที่เรียบเรียงดนตรีทั้งหมด (เขายกย่องแคลปตันมากว่าเลือกเพลงมาได้หลากหลายทั้งแนวทาง, จังหวะจะโคนและความหมาย)
มาร์ซาลิสเลือกที่จะประสมลูกทีมเป็นวงในแบบที่ King Oliver ทำไว้ คือมีตัวเขาและ Marcus Printup เล่น trumpet , Carlos Henriquez (bass), Ali Jackson (drums), Marcus Printup (trumpet), Victor Goines (clarinet), Chris Crenshaw (trombone, vocals), Don Vappie (banjo), Chris Stainton (keyboard). โดยมีที่เพิ่มมาอีกสองตำแหน่งที่วงดั้งเดิมของ King Oliver ไม่มีก็คือเปียโนโดย Dan Nimmer และแน่นอน, กีต้าร์ไฟฟ้าโดย Eric Clapton
ทั้งแคลปตันและมาร์ซาลิสมีโอกาสฝากฝีมือโซโลงามๆไว้มากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือ คลาริเน็ตของ Victor Goines และทรอมโบนจาก Chis Crenshaw ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
ถ้าท่านเป็นแฟนของแคลปตันที่ไม่เคยฟังดนตรีแจ๊ซอย่างจริงจังมาก่อนนี่อาจเป็นโอกาสสำคัญที่ท่านจะได้ก้าวเข้าสู่ดนตรีแนวนี้ และในทางเดียวกันแฟนแจ๊ซของมาร์ซาลิสก็จะได้ดื่มด่ำกับอารมณ์บลูส์จากฝีมือของบรมเทพ อย่างแคลปตัน ถือเป็นการร่วมงานที่สร้างสรรค์โอกาสให้แฟนเพลงต่างสาขาโดยแท้จริง
เปิดด้วยสวิงสุดคึกคักใน “Ice Cream” ที่ลูกวงร่วมกันร้องกันอย่างสนุก เพลงแรกก็รู้แล้วว่าพวกเขาไม่ได้มาแบบเกร็งๆหรือจะแข่งกันโชว์ แต่มันเหมือนการซ้อมดนตรีกันยามย่ำค่ำที่ไม่มีผู้ชม แฟนแคลปตันอาจจะทำใจรับยาก สักนิดในเพลงแรก แต่เมื่อขึ้นเพลง “Fourty-Four” ของ Howlin’ Wolf จึงค่อยรู้สึกว่าเป็น”ทาง”ของแคลปตันหน่อย “Joe’s Turner’s Blues” เป็นบลูส์แนวทางใต้ที่ลากยาวช้าและร้องย้ำซ้ำซาก เหมือนจะน่าเบื่อ แต่กลับน่า ฟังมาก “Joilet Bound” เป็น travelin’ Blues สนุกๆ สุ้มเสียงเหมือนหลายเพลงในอัลบั้มล่าสุดของแคลปตัน ส่วน “Kidman Blues” เป็น boogie woogie jump ที่เร้าใจชวนลีลาศ “The Last Time” บลูส์แฝงอารมณ์ขันที่เล่นและร้องกันได้น่ารัก “Just A Closer Walk With Thee” ฉีกไปในแนว spiritual ได้อย่างสวยงาม
แต่แน่นอน highlight อยู่ที Layla ที่มาในรูปแบบที่ไม่มีใครเคยได้ยินหรือนึกฝัน เป็นอีกครั้งที่ผู้ชมไม่อาจบอกได้ว่ามันคือเพลงอะไรหลังจากผ่านไปหลายวินาทีในท่อนอินโทร เหมือนกับที่แคลปตันเคยทำใน Unplugged มาร์ซาลิสเรียบเรียงเพลงคลาสสิกนี้ออกมาช้าและโหยหาอาดูรประหนึ่งเป็นเพลงที่ใช้เล่นในงานศพในนิวออร์ลีน แคลปตันยังโซโล่ในแบบบลูส์เหมือนเดิมเพียงแต่เน้นอารมณ์หนักหนาสาหัสขึ้น (แฟนๆของเขาจะทราบดีว่าแคลปตันจะเล่นดีเป็นพิเศษเสมอเมื่อมีคนมา “ประชัน” ด้วย และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น) มาร์ซาลิสเป่าทรัมเป็ตโซโลยาวเหยียดตบท้ายได้อย่างหมดจดสมกับเป็นมือ1ของโลกดนตรีในเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาหลายปีดีดัก
Taj Mahal เป็นแขกรับเชิญในสองเพลงสุดท้าย และหลังจากจบโน้ตสุดท้ายของเพลง Corinne, Corrina ที่แสนมันส์ เขาตะโกนลั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “What a show!”
ไม่บ่อยครั้งที่วงการดนตรีในปัจจุบันจะมีการร่วมงานข้ามแนวทางดนตรีแบบนี้ และยังสร้างผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ แฟนเพลงของทั้งสองไม่สมควรพลาดอย่างยิ่งครับ
TRACK LIST
Ice Cream 7:38
Forty-Four 7:13
Joe Turner’s Blues 7:48
The Last Time 4:18
Careless Love 7:43
Kidman Blues 4:21
Layla 9:09
Joliet Bound 3:50
Just A Closer Walk With Thee (feat. Taj Majal) 12:20
Corrine, Corrina (feat. Taj Majal) 10:22

What's Going On



"What's Going On"
(เขียน: มีนาคม ๒๕๕๐)
--------------
Mother, mother
There's too many of you crying
Brother, brother, brother
There's far too many of you dying
You know we've got to find a way
To bring some lovin' here today - Ya
Father, father
We don't need to escalate
You see, war is not the answer
For only love can conquer hate
You know we've got to find a way
To bring some lovin' here today
Picket lines and picket signs
Don't punish me with brutality
Talk to me, so you can see
Oh, what's going on
What's going on
Ya, what's going on
Ah, what's going on
In the mean time
Right on, baby
Right on
Right on
Father, father, everybody thinks we're wrong
Oh, but who are they to judge us
Simply because our hair is long
Oh, you know we've got to find a way
To bring some understanding here today
Oh
Picket lines and picket signs
Don't punish me with brutality
Talk to me
So you can see
What's going on
Ya, what's going on
Tell me what's going on
I'll tell you what's going on - Uh
Right on baby
Right on baby
************************
มาร์วิน เกย์ ยอดนักร้องแนวโซลเสียชีวิตในปี 1984 เขาถูกยิงตายโดยผู้ให้กำเนิด-พ่อของเขาเอง เกย์แต่งเพลง What's Going On นี้ไว้ตั้งแต่ปี 1970 มันไม่ใช่แค่เพลงเรียกร้องสันติภาพต่อต้านสงครามทั่วไป แต่ส่วนหนึ่งมันเป็นการเรียกร้องสันติภาพในชีวิตของเกย์เอง ซึ่งสุดท้ายเขาก็ไม่ได้มันมา
เกย์เป็นนักร้องป๊อบอันดับต้นๆของสังกัดโมทาวน์มาหลายปีดีดัก แต่ในช่วงต้นยุค 70 เหตุการณ์ต่างๆประเดประดังเข้ามาในชีวิตเขา จนทำให้เขาไม่อาจทนร้องเพลงรักตลาดๆที่โมทาวน์ยัดเยียดให้อีกต่อไป แทมมี่ เทอเรลล์ นักร้องสาวที่ร้องเพลงคู่กับเขามานานเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ความสัมพันธ์ของเกย์เองกับภรรยา-แอนนา กอร์ดี้ก็ย่ำแย่ รวมทั้งการทะเลาะเบาะแว้งตลอดกาลกับพ่อเขาเองด้วย
เกย์ได้ต้นฉบับของ What's Going On มาจาก เรนัลโด เบนสัน แห่งวงโฟร์ทอปส์ เขาแต่งเพลงนี้ร่วมกับ อัล คลีพแลนด์ หนึ่งในสตาฟฟ์โมทาวน์ แต่เกย์เป็นคนทำให้เพลงนี้เป็นของเขาเองด้วยการแต่งตัวให้มันอย่างหมดจด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสายจากฝีมือของ เดวิด แวน เดอพิตตี้ ที่เกย์ดูแลอย่างใกล้ชิด และเขาเป็นคนใส่ references เกี่ยวกับการเมืองและสงครามลงไป ท่อน Brother, brother there's far too many of you dying นั้นเหมือนกับเขาร้องให้น้องชายของเขาที่เพิ่งกลับจากเวียดนาม ส่วนท่อนที่ร้องให้พ่อของเขาก็ดูเหมือนเขาจะต้องการสงบศึกกับพ่อเสียที
วง Funk Brothers ที่เป็นวงแบ็คอัพประจำสังกัดโมทาวน์โชว์ฝีมือในเพลงนี้ด้วยสัมผัสที่นุ่มนวลเจือแจ๊สอย่างมีรสนิยม อันเป็นสิ่งที่วงไม่เคยทำมาก่อนในยุค60 ที่พวกเขาเล่นกันแต่ป๊อบโจ๊ะๆ
แน่ล่ะ....ผู้บริหารของโมทาวน์ไม่ชอบ What's Going On แต่บารมีของเกย์ก็แก่กล้าพอที่จะงัดข้อกับพวกนั้นได้ What's Going On ออกวางจำหน่ายในเดือนก.พ. 1971 และไปได้อันดับ 2 ในอเมริกา
มีหลายประโยคในเพลงนี้ที่ผมคิดว่าอาจจะนำมาใช้เป็นข้อคิดในปัญหาต่างๆของบ้านเรา ทั้งทางใต้ และโดยส่วนรวม....